ผู้ไล่คว้าในทุ่งกว้าง บทสัมภาษณ์ครั้งแรกของ อุทิศ เหมะมูล

 



เรื่อง เขี้ยว คาบจันทร์ ภาพ ชัยพร อินทุวิศาลกุล

พิมพ์ครั้งแรก Underground Buleteen 4 เจ้าสาวของกวี เมษายน-มิถุนายน 2548



มีนาคม 2547 นิยายขนาด 330 หน้าพ็อกเก็ตบุคชื่อ “ระบำเมถุน” ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สเกล เขียนคำนำโดย แดนอรัญ แสงทอง ปกเป็นภาพเขียนสีคล้ายภาพนามธรรม แต่แท้จริงแล้วคืองานคอนเซ็ปชวลอาร์ตของผู้เขียนชื่อ “ผ้าเช็ดสี” ขั้นตอนการทำงานคือวาดภาพเหมือนของคน แต่ตัวงานคือผ้าเช็ดสีขณะที่วาดภาพเหมือนเหล่านั้น


“ระบำเมถุน” เป็นผลงานเล่มแรกของนักเขียนหนุ่ม นามปากกาใหม่นาม อุทิศ เหมะมูล เขาคือบัณฑิตจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่คลั่งไคล้การทำหนัง เคยทำหนังสั้นของตนเองชื่อ พิภพบรรฑูรย์ เคยเป็นผู้กำกับศิลป์ภาพยนตร์เรื่อง ดอกไม้ในทางปืน และยังเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ประจำนิตยสาร Movietime นอกจากนี้แล้วยังเคยร่วมกับเพื่อนอีก 4 คน เขียนวิจารณ์บริโภคนิยมในคอลัมน์ บบส. (บริโภคนิยม เบ็ดเสร็จ) ที่จุดประกาย เสาร์สวัสดี 


จากเด็กหนุ่มที่มีพรสวรรค์ในการวาดรูป เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อจะเป็นจิตรกร ชีวิตศิลปินอันผกผันของเขานำเขาเดินผ่านเส้นทางการทำหนังจนมาลงเอยที่การเป็นนักเขียน 


มีนาคม 2548 ผลงานเล่มที่สอง รวมเรื่องสั้น “ปริมาตรรำพึง” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์หวีกล้วยก็ปรากฏตัวขึ้นในบรรณพิภพ ตอกย้ำความหนักแน่นในการเลือกที่จะทำงานเขียนของอุทิศ เหมะมูล 


และด้วยรวมเรื่องสั้นที่มีฝีไม้ลายมือน่าสนใจเล่มใหม่นี้ นักเขียนหนุ่มเจ้าของผลงานที่ทำให้แดนอรัญ แสงทองกล่าวว่า “มันเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นและน่าทึ่งจนแทบไม่น่าเชื่อว่า นี่คือนวนิยายเรื่องแรกของเขา...” กำลังจะกลายเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่นับจับตามองที่สุดในขณะนี้


ระบำเมถุนเริ่มต้นเขียนปีอะไร

ประมาณปลายปี 45


ระหว่างนั้นก็เขียนเรื่องสั้นที่รวมอยู่ในปริมาตรรำพึงไปด้วย?

เริ่มจากปี 44  ปีหนึ่งเขียนได้ประมาณ 3-4 เรื่อง เขียนไปได้ประมาณ 4-5 เรื่อง ก็เริ่มเขียนเรื่องยาวที่เป็นส่วนแรกส่งสยามรัฐ ยังไม่ได้คิดว่าจะเป็นนิยาย


ถือว่าเป็นเรื่องแรกจริง ๆ ไม่มีเรื่องอื่นที่ขยำทิ้งไปก่อนหน้านี้

ไม่มี


แดนอรัญแก้เยอะมั้ย

ไม่เยอะ คำผิดแกแทบจะไม่ได้ยุ่งเลย แกจะบอกแค่เรื่องว่า- เพราะตอนแรกมันไม่มีส่วนสุดท้าย มันจบแค่ฟ้าหลังฝน แล้วผมก็คิดว่ามันจบแล้ว ก็ส่งไปให้เขาอ่าน เขาก็บอกว่า เฮ้ย มันยังไม่จบว่ะ คำนำฉบับแรกที่เขาเขียนมาให้ผม เขาจะซัดเต็มที่มากเลย เขาขู่ผมเยอะมาก ก่อนที่จะเขียนคำนำให้ผมเนี่ย เพราะผมไม่เคยรู้จักเขามาก่อน ก็ใช้วิธีแบบบ้านนอก ๆ ก็คือ เอาวะ ก็ส่งต้นฉบับไปเลย ก็บอกว่าเป็นนวนิยาย ถ้ามีเวลาช่วยอ่าน และถ้าเป็นไปได้ อยากจะให้เขียนคำนำให้ ประมาณอาทิตย์หนึ่ง เขาก็เขียนไปรษณียบัตรกลับมา


คิดยังไงถึงส่งไปให้แดนอรัญ

เพราะว่าชอบเขาเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว


จากเรื่องเงาสีขาว

ครับ ผมอ่านหลังอสรพิษ อ่านอสรพิษก่อน 


แต่ปกติไม่อ่านงานไทย

โดยปกติไม่อ่าน (หัวเราะแหะ ๆ)






แล้วทำไมถึงอ่านอสรพิษ เพราะมันแปลไปยุโรป?

ใช่ ก็เลยอยากรู้ว่า มันมีดีอะไร? แล้วก็เลยซื้อมาอ่าน แล้วก็เห็นว่ามันมีพลังดีทีเดียว ก่อนหน้านี้ เราก็ไม่รู้ว่านักเขียนไทยจะเป็นยังไง เพราะเราไม่เคยอ่าน แต่พออ่านเล่มนี้แล้วเราก็รู้สึกว่า- ตอนแรกยังเห็นไม่ชัด พออ่านอสรพิษจบ เราก็เลยไปหา เงาสีขาว อ่าน พออ่านแล้วก็รู้สึกว่าเป็นงานที่สนุกมาก


ก่อนหน้าจะอ่านอสรพิษไม่รู้จักแดนอรัญ?

รู้ครับ รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเงาสีขาว รู้ว่าคน ๆ นี้เป็นใคร รู้จาก GM ครั้งแรก ตอนที่เขาสัมภาษณ์ แล้วก็ติดตามเขาตั้งแต่นั้นมา


อ่านหนังสือมาตั้งแต่ตอนไหน?

ทุกอย่างเริ่มต้นที่ ป.ว.ช. 1 (เทคนิกโคราช)


อ่านหนังสือก่อนดูหนัง?

อ่านหนังสือก่อน


จำวรรณกรรมเล่มแรกที่อ่านได้ไหม

บันทึกใต้ถุนสังคมของดอสโตเยสกี (หัวเราะเขินๆ) เล่มแรกในชีวิต ผมชอบความทะลึ่งตึงตังของเขา ผมไม่คิดว่างานแบบนี้ก็เขียนได้ด้วย ก่อนหน้านี้มีแต่หนังสือพิมพ์กับหนังสือการ์ตูน เพลงก็ไม่เคยฟังเลย ที่บ้านตั้งแต่ทีวีพังก็ไม่ได้ซื้อทีวีใหม่ วิทยุก็ไม่มี


ตอนที่หยิบบันทึกใต้ถุนสังคมขึ้นมาอ่านนี่รู้หรือยังว่าวรรณกรรมคืออะไร

รู้ครับรู้


แสดงว่าต้องมีพื้นก่อน

คงมาจากศิลปะ ผมคิดว่ามันคงเป็นลักษณะของทิศทางที่จะถูกจริตด้วย จำได้เลยมีดวงกมลที่โคราช และเป็นดวงกมลที่ใหญ่มาก ช่วงนั้นผมซื้อหนังสือมาเก็บ เก็บได้เยอะมาก รู้แค่งู ๆ ปลา ๆ ไม่รู้ว่าคือใครบ้าง ในนั้นรู้สึกว่าจะมีพี่น้องคารามาซอฟ แล้วก็ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ผ่านมา 5-6 ปี ถึงจะรู้ว่าคนเหล่านี้เป็นใคร ตอนแรกคิดว่าคงซื้อเพราะชื่อ งานไทยผมก็ซื้อ ตอนนั้นรู้สึกจะมี 3 คน มีของคมทวน คันธนู มีของสุชาติ สวัสดิ์ศรี จินตนาการ 3 บรรทัด ซึ่งก็ไม่รู้จักเหมือนกันว่าคือใคร แต่ผมไม่อ่านบทกวีหวาน ๆ อยู่แล้ว


ฟังเพลงก่อนหรือหลังอ่านหนังสือ

มาพร้อม ๆ กัน มาเป็นชุด พอดีก็- ตอนมัธยมเป็นเด็ก ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จนไปอยู่ในสังคมที่ต่าง ไปอยู่ ป.ว.ช. ต้องไปอยู่กับเพื่อน แล้วโดยสภาพที่เป็นไป มันจะเริ่มคัดคนที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันให้อยู่ด้วยกัน ก็ตอนนั้นแหละที่เพื่อนที่มีความรู้จะบอก เคยอ่านนี่หรือยัง เคยฟังนี่หรือยัง เพื่อนที่อยู่โคราชคนหนึ่งก็คือน้องของคุณพิสิฐ ภูศรี 


บรรยากาศที่โคราชเป็นอย่างไรบ้าง

ก็มีการอ่านนะ เพลงก็มีหลายแนว เวลาเดินผ่านหอพักก็มีตั้งแต่สกอร์เปียน บองโจวี ยันคาราวาน คาราบาว พงสิทธิ์ คัมภีร์


มีบรรยากาศที่เรียกว่าแสวงหามั้ย

มีนะ แต่จะไปแค่ไหนผมไม่แน่ใจ แต่มีอารมณ์นั้นอยู่ แต่เป็นส่วนน้อย ไอ้บรรยากาศแบบอุดมการณ์อะไรบางอย่าง คนที่เรียนศิลปะมา หรือจะเป็นพวกสถาปัตย์ มันมาเพราะบรรยากาศแบบนี้อยู่แล้วละ แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองแบบ- มีอะไร อยากจะทำอะไร มีอะไรให้ค้นหา และก็เข้ามาค้นหา แต่ว่าจะพบหรือไม่พบ จะหลงสะเปะสะปะออกไปก็อีกเรื่องหนึ่ง 


คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าเป็นวิชาชีพ?

ผมคิดว่าส่วนใหญ่คือไม่รู้ว่าจะทำอะไร และก็มันน่าตลกตรงที่ การเรียนศิลปะมันเป็นที่ของคนสอบไม่ติดที่อื่น ก็มาเรียนศิลปะ คนที่รักจริงไม่กี่คน ก็มาละลายหายไปกับระบบการศึกษา หรืออะไร ๆ  ก็ทำให้เฉื่อยชาลงไป


ตอนนั้นยังไม่คิดจะเขียนอะไร

เขียนเป็นบันทึก  จริง ๆ แล้วช่วงแรกเป็นช่วงที่เขียนอย่างดุเดือดมาก จนถึงมหาลัย แต่ว่ามันไม่ได้ออกมาเป็นรูปเรื่องสั้น หรือนวนิยาย เป็นบันทึก เป็นระบายมากกว่า


ตอนนี้เขียนหนังสือจริงจังอย่างเดียว

คิดว่ามาทางนี้แล้ว






เขียนอย่างจริงจังมากี่ปีแล้ว

ประมาณ 4 ปีมั้งครับ หลังจากที่ไป- ไอ้นั่นก็อยากทำ ไอ้นี่ก็อยากทำ


เล่าจากจุดนั้นให้ฟังหน่อย

อยากเป็นศิลปิน รู้ว่าตัวเองวาดรูปได้ มั่นใจว่ามีความสามารถทางนี้ ตั้งแต่ตอนเรียนประถม คนที่บ้านก็จะชม โอ้ย เขียนรูปเก่ง พอเริ่มมัธยมก็พยายามที่จะเรียนทางสายศิลป์ แต่มันก็จับอะไรไม่ได้เป็นจริงเป็นจัง ก็รู้สึกว่าเรามาทางวาดรูปนี่แหละ


จบ ม.3 ก็ยังไม่รู้ว่าโรงเรียนศิลปะมันมีด้วยเหรอในประเทศนี้ เพราะโลกแคบมาก แต่ก็มีคนแถวบ้านเข้ามาสอบที่โคราช เราก็ให้เขาช่วยดูว่ามันมีโรงเรียนเกี่ยวกับศิลปะหรือเปล่า เขาก็เห็นว่ามี เราก็เลยมาสอบ พ่อก็ไม่อยากให้ออกไปไหน เขาอยากให้เรียนเกี่ยวกับช่างกลหนัก เราก็ไปแอบสอบ ก็สอบติด แล้วก็เรียน เรียนที่โน่นก็เปลี่ยนเป็นอีกคน ได้รู้ ได้มีประสบการณ์ ทั้งจากศิลปะ วรรณกรรม เพลง หนัง ที่นั่นก็พบครูที่แท้คนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นอาจารย์ที่จบจากศิลปากรนี่แหละครับ เขาก็ให้แรงบันดาลใจ แล้วบอกว่า เธอไม่ควรจะอยู่ที่นี่นะ ถ้าจบจากที่นี่จะทำยังไง จะไปรับจ้างเขียนรูปเหรอ ไปเอ็นฯเถอะ ไปเรียนต่ออีกหน่อย ก็ได้แรงยุ ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่า อนาคตมันคืออะไร รู้แต่ว่าอยากจะวาดรูป แต่จะไปลงเอยตรงไหนก็ไม่รู้ ก็มาสอบจนติดศิลปากร โลกก็กว้างขึ้นอีก ก็...เจออะไรที่เป็นศูนย์กลางขึ้นมา อยากเห็นอะไรก็ได้เห็น อยากดูอะไรก็ได้ดู แล้วก็ได้รู้จักกับคนหลายคน ก็จริงจังกับงานศิลปะมาตลอด แนวความคิดมาเปลี่ยนตรงที่คิดว่าการทำงานศิลปะมันทำอะไรก็ได้ มันไม่ใช่แค่เพนติ้งหรือทำประติมากรรม ตอนนั้นงานแบบคอนเซ็ปชวลอาร์ตเข้ามา อินสตอลเลชั่น เปอฟอร์มแมนซ์ มันหลากหลายขึ้น การรวมเอาดนตรีเข้ามา หรือว่าสื่อผสม มันชัดขึ้น จุดนั้นละมั้งที่พลิกผัน แล้วก็รู้สึกว่าทำไมเราต้องมานั่งทำแบบนี้ จากความคิดตรงนั้นเราก็ได้เพื่อนเพิ่มขึ้น จากแขนงอื่น ๆ เราไปดูหนัง ไปเจอคนนั้นคนนี้


ช่วงระหว่างนั้นก็เขียนหนังสืออยู่ตลอด แต่อาจจะไม่เป็นเรื่องสั้นหรือนิยาย แต่เขียนเป็นบันทึกในรูปของเรื่องสั้น จนเกิดความคลั่งไคล้ในภาพยนตร์ และก็อยากจะทำหนัง ก็เจอกับคุณสนทยา  เจอกับคนหลาย ๆ คนที่ดูหนัง เราก็รู้สึกว่าคุยกันได้แบบ- เรียกว่าใกล้ชิด ออกรสมากกว่าคนที่เรียนศิลปะมาด้วยกันเสียอีก เหมือนกับความสนใจเราไม่ได้พุ่งไปแค่การเพนติ้ง ความเป็นโลกของศิลปะอย่างเดียว นั่นมัน- ดูเหมือนแคบมาก คนที่เรียนศิลปะไม่ได้เอาอย่างอื่นเลย เขาไม่สนใจหนังสือ ไม่ได้อยากฟังเพลง คือโลกด้านอื่นมันไม่กว้างออก มันมีแต่ศิลปะ มันมีแต่- โอย ศิลปินคนนั้น คนนี้ มันเป็นแนวดิ่ง ไม่ใช่แนวกว้าง จริง ๆ แล้วเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันเกี่ยวพันกันหมด ให้แรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน ไอ้การรู้แค่เฉพาะส่วนมันไม่ช่วยให้โลกทัศน์เรากว้างขึ้น ผมได้มากจากคนที่ดูหนังด้วยกัน


ตอนนั้นอยากทำหนังแล้ว?

อยากจะทำหนังละ (หัวเราะ) แล้วจะเอาสิ่งนี้แหละมาเป็นงานวิทยานิพนธ์ของเรา


ได้ด้วยเหรอ?

มันไม่ได้นี่แหละ (หัวเราะ) มันถึงต้องจบ 5 ปีครึ่ง คือเราก็พยายามเสนอว่า มันไม่ใช่แค่วิดิโออาร์ตที่เอามาทำให้เป็นภาพเซอร์ ๆ แอบสแทรค ๆ ผมรู้สึกว่ามันติงต๊องฉิบหาย มันไม่ใช่แบบนั้นครับ เราจะทำให้มันเล่าเรื่อง เราจะทำเป็นโครงการใหญ่ อินสตอลเลชั่น ใช้ห้องทั้งห้องทำโน่นทำนี่ มันก็เกี่ยวกับทุน  เราไปเล่นเรื่องที่เกินกำลังตัวเอง แต่เราก็ยังหวังว่าเราจะทำมันได้ แค่กล้องวิดิโอตัวหนึ่งยังไม่มีปัญญาซื้อ ก็ยืมคนนั้นยืมคนนี้ ก็ทำจนสำเร็จ


ก็เอาไปเสนอเป็น thesis เขาก็ไม่ให้ผ่าน ช่วงนั้นพ่อเสียชีวิต ผมก็ได้เงินทุนมาจำนวนหนึ่ง ผมก็บ้าบอคอแตก เอาเงินก้อนนั้นไปละลายกับอะไรก็ไม่รู้ อยากจะทำได้ไปเสียหมด ผมไม่ได้แค่ทำหนังอย่างเดียว ผมถึงขนาดจัดงานนิทรรศการศิลปะของตัวเอง เหมือนกับเป็นคูเรเตอร์ให้ตัวเองเลย แล้วก็เอาศิลปิน เอาคนนั้นคนนี้มา ดึงศิลปินจากเชียงใหม่ ดึงคุณสนทยามาฉายหนัง จัดเทศกาล art festival ของตัวเองในมหาวิทยาลัย แล้วก็เอาเงินของตัวเองนี่แหละให้ทุน มาสร้างชุมชนศิลปะกัน ของคนรุ่นใหม่อะไรอย่างนี้ ก็บ้า ๆ บอ ๆ ละลายเงิน แต่เพื่อนที่ได้มาตอนทำไอ้นี่เยอะมาก บางคนตอนนี้ไปเป็นช่างภาพ บางคนไปอยู่ญี่ปุ่น ก็ยังทำงานศิลปะกันอยู่ เริ่มรู้จักรุ่นพี่ดัง ๆ 


ช่วงนั้นเป็นช่วงเด็กแสบ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เป็นก๊วนที่เกเรคณะมาก เขาไม่เอา


เราก็คอยจ้องที่จะเล่นคณะตัวเอง ไอ้ความเป็นมาดอะไร เป็นที่หนึ่งของประเทศ ไอ้ความจองหองบางอย่าง เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่เข้าท่า ความภูมิใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ  มันเหมือนในเรื่องสั้น (ในเล่มปริมาตรรำพึง) พอเข้ามาเขาก็จะบอกว่าคุณเก่ง คุณต้องภูมิใจ คือ- ถ้ามองในแง่ดี เขาก็อยากให้เรามั่นใจ เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ได้อะไรมากมายหรอก แต่ตัวเด็กเองมันก็สนุกและก็หลงไปกับสิ่งเหล่านี้  การได้โก้ ได้เท่ เวลาเดินไปไหน ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน  ถ้าบอกว่าศิลปากร คนก็จะบอกว่าเก่งจังเลย เข้าได้ยังไง ไม่ได้พูดให้หมั่นไส้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ


ผมก็ไปกวนเขาไว้ จนอาจารย์ไม่เอา เพื่อนก็รำคาญ ถ้าเรียนด้วยกันเพื่อนจะคอยมองหน้าผม ถ้าเขาถามว่า “มีอะไรจะถามอีกมั้ย” เพื่อนก็จะมองก๊วนผม และก็คงคิดว่า- กูขอร้องละ กำลังจะหมดชั่วโมงอยู่แล้ว...  ก็จะเป็นแบบนี้ ช่วงนั้นแหละที่ได้รู้จักกับแก๊งเชียงใหม่-เชียงใหม่จัดวางสังคม ได้รู้จักวสันต์ สิทธิเขตต์ ได้รู้จักคนอื่น ๆ ได้รับความสนใจจากคนข้างนอก จนเรียนจบความสัมพันธ์ที่มีกับมหาวิทยาลัยก็ดีขึ้น เราโตขึ้นด้วย ไม่ของร้อนเหมือนตอนเป็นนักศึกษา


ไอ้เรื่องทำหนังก็คาบเกี่ยวมาถึงเรียนจบ ทำหนังได้ตั้ง 2 เรื่องแน่ะ


แล้วก็ฝันอยู่ตลอด มันเริ่มมาแล้ว คือมันไม่ได้มาในรูปเรื่องสั้น หรือนิยาย แต่มันเป็นพล็อตหนัง เป็นเรื่องเป็นราว  เขียนบทหนังไว้ 4-5 เรื่อง มีความหวังอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องเอาไปเสนอขอทุนที่เกอเธ่ จะไปเสนอสมาคมฝรั่งเศส ซึ่งมันไม่เขยื้อนออกไปไหนจากวงที่เราคุยกัน ช่วงนั้นแหละครับที่เริ่มตระหนักว่า ชีวิตมันไม่ไปไหนเพราะว่าเราพึ่งเครื่องมือตัวอื่นมากเกินไป ก็เริ่มมองเห็นว่าปากกาด้ามเดียวมันทำอะไรได้มากกว่า รู้สึกว่าถอยออกมาอยู่กับตัวเอง แล้วทำอะไรได้คล่องตัวขึ้น ไม่ต้องเข้าไปยุ่งกับคนมากมาย ไม่ต้องทำงานเป็นกลุ่ม ผมไม่ค่อยชอบ มันมีปัญหาเยอะ ผมไม่ใช่คนที่จะอดทนกับปัญหาเหล่านั้นได้ ก็รู้ข้อจำกัดของตนเอง ประสบการณ์นี้ก็ได้มากจากตอนที่ทำหนัง


ตอนนี้ยังอยากทำหนังอยู่หรือเปล่า

มีครับ ยังกลับมา ยังรู้สึกว่าตัวเองทำได้ ช่วงหลังยังกลับมา ถ้าได้ดูหนังดี ๆ ก็จะรู้สึกว่ามีแรงบันดาลใจอยากทำหนัง 


ประสบการณ์ตอนที่ทำเรื่องดอกไม้ในทางปืนทำให้รู้จักคนมากขึ้น รู้จักสังคมมากขึ้น แต่ข้างในมันไม่ไปไหน ก็สนุกกับการสังสรรค์เฮฮา ยิ่งเป็นดีเจด้วยอีก โหย ทีนี้ ชีวิตเผาผลาญไปกับการกินเหล้าทุกวัน แล้วก็คุยว่าตัวเองเคยเจ๋งยังไง พอตื่นขึ้นมา เช้าวันหนึ่งก็จะรู้สึกว่า มึงแม่งเป็น loser คนหนึ่งที่พอนั่งอยู่ในวงเหล้าก็พูดถึงความฝัน ไม่เคยลงมือทำเสียที แล้วก็หมดชีวิตไปกับสภาพแบบนั้น


แล้วก็มีครั้งหนึ่ง เกือบที่จะได้ทำหนังจริง ๆ แต่ว่ามันไม่ใช่หนังของตัวเอง เหมือนกับหลายคนที่อยากทำหนังของตัวเอง พอเข้าไปอุตสาหกรรมหนังไทย เขาก็ขอให้ทำหนังเรื่องนี้ก่อน แล้วเดี๋ยวจะได้ทำหนังของตัวเอง ก็เกือบจะได้ทำ เขียนบทอะไรเรียบร้อย ก็โชคดีที่มันไม่กระเตื้องไปไหน โชคดีที่ชะตาชีวิตกดเราไว้ ไม่ให้ทำอะไรได้รวดเร็ว ก็เลยรู้สึกขอบคุณชะตา เมื่อหลายครั้งตัวเองพยายามที่จะแส่ไปทำอะไรบ้า ๆ บอ ๆ แล้วไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำ ทุกวันนี้ขอบคุณ

      

ทำหนังกับเขียนหนังสือ อันไหนเป็นตัวของตัวเองมากว่า

เขียนหนังสือครับ รู้สึกว่าการเขียนหนังสือมันอยู่กับตัวเองมากตั้งนานแล้ว เหมือนกับเถลไถลไปตั้งนานแล้ว ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่ทำอยู่นี่คือใช่ จนเหมือนกับอกหักจากทุกสิ่งแล้วก็ เพิ่งรู้ว่านี่ จับปากกาอยู่ในมือนี่หว่า







ตอนนี้มีความมั่นใจในงานเขียนของตัวเองแค่ไหน

ในระดับหนึ่ง เชื่อว่าตัวเองจะพัฒนาไปได้ดีกว่าที่เห็น หวังว่าความสามารถของตัวเองจะไปได้ไกลกว่านี้


พอใจกับระบำเมถุนมากน้อยแค่ไหน

ตอนแรกพอใจ ดีใจมาก พอมีเรื่องอื่นมาเราก็รู้สึกว่าเราก็รักเรื่องอื่น มันท้าทายกว่าเมื่อเราเริ่มต้นที่จะเขียนใหม่ พองานเสร็จแล้วมันก็..


มีแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้เขียนเรื่องนี้

หลายเรื่องหลายราว ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในอดีตของตัวเอง มันก็ผสมกัน บางเรื่องก็นานมาแล้ว บางเรื่องก็เป็นเรื่องใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง


มีฉากบ้านเกิดมั้ย

เป็นสภาพโดยรวม บรรยากาศของมัน 


เพราะอะไรจึงเลือกวิธีการนำเสนออย่างนี้

ผมคิดว่าตอนแรกเลยน่าจะเป็นลักษณะของบุคลิกส่วนตัวของผม ปรกติผมเป็นคนใจลอยอยู่แล้ว เป็นคนเหม่อลอย แล้วก็คิดอะไรแบบง่วง ๆ ซึ่งผมก็พยายามจับลักษณะอันนี้ จะทำยังไงให้มันออกมาเป็นเรื่องเป็นราวได้ ผมชอบวิธีอันหนึ่งสมัยตอนเรียน พอดีผมไปเวิร์คชอปกับทาง about caf?  เขาให้กระดาษแผ่นใหญ่ ๆ มาอันหนึ่ง แล้วเขาก็บอกว่า ให้เขียนอะไรก็ได้ที่แวบเข้ามาในหัว แล้วก็จด ทุกอันที่เขียนมันก็ไม่เกี่ยวกันเลย แต่ละประโยค ผมรู้สึกค่อนข้างถูกจริตกับวิธีแบบนี้ แล้วเวลาอ่านวรรณกรรมก็เห็นว่ามีนักเขียนหลายคนเขียนแนวทางแบบนี้


แต่การดำเนินเรื่องสับไปสับมาแบบนี้ผมได้จากหนังเยอะกว่า ส่วนหนังสือที่ใช้วิธีเดียวกัน ที่ผมอ่านเจอ หลังจากเขียนระบำเมถุนเสร็จแล้วก็มีของไมเคิล คันนิงแฮม ผมก็เพิ่งอ่านหลังจากที่มันแปลเป็นภาษาไทยแล้ว


ชอบหนัง The Hours มั้ย

ดีครับ ดีทีเดียว และอีกคนก็คือเกรแฮม สวิฟท์ ที่แปลเป็นไทยแล้ว ชื่อ Last Order เล่มนี้รู้สึกจะได้บุคเกอร์ไพรส์ เท่าที่อ่านมาก็มีสองคนนี้แหละ ที่เล่นกับเรื่องนี้ด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นของคันนิงแฮมหรือของสวิฟท์เนี่ย เขาจะเล่าจากบุคคล (มุมมองบุรุษที่สาม) ใช้บุคคลพูด คนนี้พูดอย่างนี้ แล้วก็เปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่ง อีกตัวละครหนึ่งพูด


ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณก็มีลักษณะคล้าย ๆ อย่างนี้

ใช่ครับ ผมชอบมากเรื่องนี้ 


ได้อ่านบอดีอาร์ตติสไหม

อ่านแล้ว ชอบครับ ก็ดี รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นกลุ่มควัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา หรือเป็นเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดูมันไหลเข้าหากัน ผมอยากอ่านงานเดอลิโรเล่มอื่น ๆ ถ้ามีคนแปล มีนักเขียนรุ่นใหม่ ๆ อีกหลายคนที่น่าจะมีใครแปล ก็ไม่มี ไปแปลอะไรกันก็ไม่รู้


มันขายไม่ได้ไง

แย่นะครับ ก็ไม่รู้จะพูดว่าไง


ตอนนี้รายได้คือการเขียนคอลัมน์อย่างเดียว

ครับ ซึ่งไม่พอ ต่อให้เขียนเยอะขนาดไหนก็ไม่พอ ต้องไปเสียตังค์ดูหนังอีก ผมแทบไม่เหลืออะไรเลย


แล้ววางแผนไว้ยังไง 

ผมต้องอยู่กับไอ้นี่ (ชี้ไปที่หนังสือ) ผมต้องคั้นคอมัน มันต้องรักผม อย่าทรยศเด็ดขาด (หัวเราะ) ผมพยายามบอกตัวเองว่าเดือนหนึ่งต้องเขียนเรื่องสั้นให้ได้เรื่องหนึ่ง มากสุดก็ 2 เรื่อง แล้วก็ส่งไปตามหน้านิตยสาร ก็พยายามเขียนเรื่องให้ลง อยากจะให้เดือนหนึ่งอย่างน้อยมีลง หรือโชคดีก็จะมีเรื่องสั้นตัวเองลง 2 เรื่อง ก็พยายามเก็บเล็กเก็บน้อยกับเรื่องพวกนี้


แล้วไม่รับจ๊อบอื่น

แค่นี้ผมก็ไม่มีเวลาทำอย่างอื่นแล้ว โดยปรกติอาทิตย์หนึ่งผมต้องเขียนบทวิจารณ์ 2 เรื่อง ผมก็ใช้วิธีคือ ผมเขียนทีเดียวเลย ไปหามา แล้วก็ลุยดูภายใน 2 อาทิตย์ ผมก็หามา 16 เรื่อง แล้วก็ลุยดูภายใน 2 อาทิตย์ แล้วก็เขียนให้เสร็จ แล้วผมก็จะได้ฟรี 6 สัปดาห์ ซึ่งผมก็จะให้กับการเขียนหนังสือ ผมจัดเวลาแบบนี้ใช้กับการเขียนนิยาย ก็จะใช้เวลา 6 สัปดาห์ นั่งเขียนนิยาย


นั่งทำงานวันหนึ่งกี่ชั่วโมง

ประมาณ 6 ชั่วโมง ตื่นเช้ามาก็เริ่มเลย ได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่อง


ทะเยอทะยานกับการเขียนหนังสือมากน้อยแค่ไหน

คิดว่าทะเยอทะยานนะ ถ้าไม่ทะเยอทะยานก็คงไม่เขียนหนังสือมั้งครับ ไม่มีความทะเยอทะยานเขียนหนังสือไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่รับผิดชอบชีวิตตัวเอง รับผิดชอบความฝันตัวเอง รับผิดชอบชะตากรรมตัวเอง รับผิดชอบคุณธรรมของตัวเอง ผมคิดว่าการเขียนหนังสือเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบสูง ถ้าไม่มีความทะเยอทะยานผมคิดว่าทำไม่ได้หรอก ผมเชื่อเรื่องนี้


นอกจากแดนอรัญแล้วอ่านงานนักเขียนไทยคนอื่นมั้ย

ผมพยายามค่อย ๆ อ่าน งานของเรวัติ ผมก็อ่าน ก็ชอบรวมเรื่องสั้นของเขา (ชีวิตสำมะหาอันใด) หรือเรื่อง แม่ ของนอม ล่าสุดผมเพิ่งอ่านหนุ่มหน่ายคัมภีร์ ผมก็พยายามอ่าน ก็พยายามตามอยู่


คิดอย่างไรกับวรรณกรรมแนวที่พยายามสร้างสรรค์ให้เกิดรูปแบบใหม่ ๆ งานที่เน้นไอเดีย?

ผมคิดว่าความเป็นไอเดียมันเหมาะที่จะเป็นเรื่องสั้น มันเป็นเรื่องของการจุดประกายความคิด แต่มันไม่ใช่เรื่องที่ยั่งยืน สิ่งที่ทำให้เรากระทบกับงาน ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราอ่านนี้มันเป็นสิ่งที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน มันจะไม่ใช่รูปแบบหรือไอเดีย


นักเขียนรุ่นใหม่ ๆ ที่ผมตามอ่านทั้งของไทยและของต่างประเทศมันมีลักษณะร่วมอย่างหนึ่ง ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเป็นลักษณะที่ไม่ค่อยดีเลยคือเราไปติดกับความเป็นไอเดีย ความเป็นแก็กจนลืมโครงสร้างของงาน แล้วพอไปจับอยู่แต่ตรงนั้นมันก็เลย- พอมารวมกันมันไม่มีที่ไป มันไม่รู้จะไปไหน แล้วงานรุ่นใหม่ ๆ มักจะเป็นแบบนี้เสมอ คือเริ่มต้นด้วยท่าทีที่ดูเหมือนมีอะไร แต่พอตอนหลังรู้สึกว่าเหนื่อยละ ขี้เกียจแล้ว ไม่เอาละ ขอแบบธรรมดาง่าย ๆ แล้ว จากตอนแรกไม่ได้คิดแบบนี้  น้ำเสียงทะเยอทะยานมาเลย แบบไอ้นั่นก็จะเอา ไอ้นี่ก็อยากจะได้ ดูแบบคิดมาก ดูแบบ โห รู้ไปหมดเลย พอมาถึง 70% ของเรื่องเริ่มแบบ ขี้เกียจแล้ว คือมีลักษณะของความเป็นคนสมาธิสั้นเยอะ


ผมคิดว่าอันนี้แหละคือปัญหาของนักเขียนรุ่นใหม่ ๆ อาจจะรวมตัวผมเข้าไปด้วยก็ได้ เพราะผมก็พยายามจะรู้ข้อบกพร่องนี้ แน่นอนที่สุดผมไม่อยากให้ตัวเองเป็นคนสมาธิสั้น พยายามพูดเท่าที่ตัวเองรู้ ไม่เกินตัว พยายามที่จะบอกตัวเองว่า สิ่งที่ตัวเองพูดอยู่เนี่ย ให้มันเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด และก็ให้มันมีอายุยืนนานที่สุด






สนใจงานเชิงปรัชญาความคิดหรือเปล่า

ก็อ่านเท่าที่มีคนแปลมาครับ คอนสตรัคชั่น ดีคอนสตรัคชั่น ก็อ่านงานบาร์ธ (โรลอง บาร์ธ) งานฟูโก (มิเชล ฟูโก) ก็ตามให้รู้ว่าเขาจะไปยังไง แต่ผมก็ไม่ค่อยสนุกกับการอ่านพวกนี้ มันจะมีคนที่สนุก ผมรู้สึกว่ามัน... ไม่ค่อยให้จินตนาการกับผม แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องอ่าน ต้องรู้ ต้องตาม รู้ว่าเขาไปถึงไหนแล้ว


สนใจความเป็นไปของสังคมไหม

สนใจครับ (เสียงกระตือรือร้น) แต่พูดหรือไม่พูดก็อีกเรื่องหนึ่ง


อยากจะให้งานมันสะท้อนสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือเปล่า

ผมเชื่อเรื่องคน คนมันก็อยู่ในสังคมอยู่แล้ว สถานการณ์ที่เขาเจอมันเป็นเรื่องสังคมล้วน ๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ผมไม่ได้ระบุเท่านั้นเองว่ามันเกิดปีไหน แล้วปีนั้นเกิดอะไรขึ้น เพียงแต่ตัดสิ่งนั้นออก เท่านั้นเอง แต่เรื่องของมนุษย์ก็ยืนอยู่บนพื้นฐานของสังคม ของสภาพแวดล้อมอยู่แล้ว ผมไม่เคยกังวลว่างานผมจะสะท้อนสังคมหรือไม่ เพราะผมเชื่อว่าเมื่อมันเป็นเรื่องของคน มันก็เป็นเรื่องของสังคมอยู่แล้ว


มีท่าทีของการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอยู่ในงานของคุณนะ

ช่วงหลังจะไม่มีแล้ว คิดว่าจะมีน้อยลง ผมไม่ให้มันมี ถ้าตรวจเจอผมจะตัดมันออก ตัดมันออก ไม่ใช่ว่าผมเมินเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่... ผมไม่รู้สิ มันเป็นเรื่องที่ผมประดักประเดิดเสมอ ทุกครั้งที่มันอยู่ในงานผม ผมก็จะรู้สึกประดักประเดิด แล้วมันแย่ตรงที่เวลาที่ผมอ่านงานของคนอื่นแล้วมันมีสิ่งนี้อยู่ ผมก็รู้สึกประดักประเดิด ไม่รู้สิ อย่างกรณีล่าสุด คือเราทุกคนแหละก็จะรู้สึกร่วมไปกับมัน แล้วก็มีวิธีการที่รู้สึก ที่จะช่วยเหลือ แต่การตั้งโครงการเรื่องสั้นสึนามิหรืออะไร ผม- ผมไม่รู้ว่างานสร้างสรรค์มันเป็นโรงงานผลิตเรื่องทางสังคมตั้งแต่เมื่อไร คือผมไม่เข้าใจสิ่งนี้ไง แล้วมันเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหรือเปล่าว่าเกิดวันนี้ปุ๊ป อาทิตย์หน้ามีเรื่องสั้นลงตามหน้านิตยสาร ต้อง “รีบ” รู้สึกกันหน่อย ต้อง “รีบ” เห็นใจกันหน่อย ต้อง “รีบ” เขียน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่อง... นี่มันไม่ใช่เรื่องคุณธรรม หรือมนุษยธรรมแล้วละครับ ผมว่ามันกลายเป็นหน้าที่หรือภาระอะไร ซึ่งถ้าพูดแบบชั่ว ๆ ก็คือ ผมไม่ขอแบกรับ ถ้าผมรู้สึก ผมจะเขียนมันเอง แต่มันจะ 10 ปี หลังจากนี้ หรือเมื่อไรก็ตาม มันน่าจะดีกว่า ดีกว่าที่จะต้องมารีบเร่ง


แล้วอย่างงานใน บบส. ?

ไม่มีแล้วครับ ผมพยายามจะไม่ทำแล้ว อะไรบางอย่างในตัวผมก็ตายไป หลาย ๆ อย่างก็ตายไป ผมก็พยายามที่จะน่ารักกับทุก ๆ คน  และถ้าไม่ชอบ ผมก็จะไม่พูดถึง ผมพยายามไม่สร้างปัญหาด้วยการปากพล่อยอีกแล้ว หรือไม่พยายามยัดเยียดความไม่พอใจ หรือความคิดของตัวเองให้กับสื่อสาธารณะ ณ จุดนี้ ผมพยายามที่จะอยู่อย่างสงบที่สุด


แล้วการวิจารณ์หนังละ

วิจารณ์หนังผมไม่ได้วิจารณ์ว่ามันดีหรือไม่ดี ผมพยายามพูดถึงเรื่องของหนังว่ามันพูดถึงเรื่องอะไร มีอะไรที่ดี มีอะไรที่ไม่ดี ในตัวหนัง ในแง่ของสุนทรียศาสตร์ทางภาพยนตร์เป็นยังไง ไปกับเรื่องได้มั้ย และก็หนังเรื่องนี้เกี่ยวพันกับสภาพสังคมยังไง เหมาะกับอะไร อย่างนี้หรือเปล่า มันเป็นลักษณะชวนคุยมากกว่า ไม่ใช่วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน แล้วก็มีให้ข้อมูลบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ


เขียนบทกวี?

มีเขียนบ้างครับ แต่ว่า ผมคิดว่าผมไม่มีความสามารถทางนั้น 


ในปริมาตรรำพึง มีท่วงทำนองแบบกวีนะ

ผมเขียนกวีไว้เยอะเหมือนกันแหละครับ และก็บางทีก็ทำจากบทกวีมาเป็นเรื่องสั้น บางทีก็ทำจากเรื่องสั้นย่อเป็นบทกวี ก็แล้วแต่วิธีการ แต่จะให้เขียนกวีเป็นจริงเป็นจังเลยนี่คงจะ- น่าจะเป็นรำพึงรำพันมากกว่า


กำลังจะมีนิยายเรื่องใหม่ เป็นอย่างไรบ้าง

หลาย ๆ อย่างก็ยังคล้ายกับระบำเมถุน แต่ก็ไม่เสียทีเดียว ชัดเจนกว่า คล่องแคล่วกว่า มีเป้าหมายที่จะไป ไม่ดูคลุมเครือเหมือนระบำเมถุน 


ยังวาดรูปอยู่ ?

ก็ยังวาดรูปอยู่ พยายามที่จะไม่ห่างหายจากสิ่งนี้ เป็นไปได้ก็จะเพนต์แลนด์สเคปอยู่บ่อย ๆ อาจจะไม่ได้ทำงานศิลปะดูมีแนวความคิดอะไร แต่ยังอยากจะเพนต์อะไรที่มันสดชื่น


ในฐานะนักเขียนไทย รู้สึกว่าถูกเย้ายวนจากสไตล์ของลาตินอเมริกามั้ย

ไม่ครับ สไตล์นี้แข็งแรงมาก ผมไม่คิดว่ามันจะเหมาะ คือโครงสร้างของเมจิกคัลเรียลริสต์มันค่อนข้างแข็งแรงกับความเป็นลาตินอเมริกาอยู่แล้ว ผมไม่แน่ใจว่ามันจะเหมาะกับการปรับใช้ในภูมิภาคอื่น ใครก็ได้ เขียนให้ดูหน่อย ผมรู้ว่ามีคนพยายามเขียน และผมก็รู้ว่ามันประดักประเดิดมาก มันไม่เข้า มันเหมือนสวมอะไรที่มันแข็งแรงอยู่แล้ว ตัวของมันมีความเข้มข้นอยู่แล้ว ไปสวมกับอะไรตัวของมันก็เป็นสิ่งนั้นอยู่แล้ว มันชัดกว่าคนที่จะเอามันไปใช้ รูปแบบ ยูนิฟอร์มมันแรงอยู่แล้ว ผมคิดว่ามันไม่เหมาะสำหรับผมหรอก


ช่วงนี้ชอบเรื่องสั้นเล่มไหนเป็นพิเศษ

มิเกล สตรีท ดีมากเลย ของ วี เอส ไนปอล เป็นรวมเรื่องสั้นที่ทุกเรื่องเหมือนเป็นนิยาย ตัวละครตัวเดียวกันหมดเลย เป็นแต่ละเรื่อง ๆ เป็นเรื่องสั้นที่ดีและน่าแนะนำให้ทุกคนอ่าน


คำถามสุดท้ายมีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษที่ทำให้ไม่อยากเข้าสังคมวรรณกรรม

ทุกคนแยกย้ายกันไปทำงานของตัวเอง ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่า อย่างที่ผมเล่าให้ฟัง ชีวิตช่วงหนึ่งที่ต้องอยู่กับคนเยอะ ๆ  ก็กินเหล้าคุยกัน แล้วก็ไม่ไปไหนเสียที มันจบแค่นั้น ทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิม ผมไม่ค่อยเห็นจุดของการมาคุยกัน ซึ่งผมเชื่อในการทำงาน การแยกย้ายออกไปทำหน้าที่ของแต่ละคน ให้ผลงานพูดแทน แต่นี่คือในแง่ของคนทำงานนะ แต่ในแง่ขององค์กรหรือสมาคม เขาก็มีหน้าที่ สมควรทำสิ่งนี้ต่อไปนี้ ผมแค่พูดในฐานะของคนทำงานเท่านั้นเอง ถ้าผมเลือกได้ผมก็อยู่เงียบ ๆ หนังสือมันบอกอยู่แล้ว


Comments