เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง






เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง เป็นทั้งชื่อเรื่องสั้น และชื่อเล่มของรวมเรื่องสั้นบางเรื่องของฮิวเมอริสต์ หรือ อบ ไชยวสุ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี 2529  หนึ่งในคณะนักเขียนสุภาพบุรุษ กลุ่มนักเขียนหนุ่มซึ่งรวมตัวกันทำหนังสือในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  หนังสือเล่มนี้ยังอยู่ในรายชื่อของ สารานุกรมหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ซึ่งคณะวิจัยโดยทุนสนับสนุนของสำนักงานกองทุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดทำไว้เมื่อปี 2542

เรื่องสั้น เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง เป็นเรื่องราวของ ข้าพเจ้าซึ่งเป็นนักเขียน พยายามเร่ขายต้นฉบับนิยายซึ่งเขียนมา 3 ปี แต่ขายไม่ได้ จึงไปโดดน้ำตายที่สะพานพุทธพร้อมกับต้นฉบับนิยาย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้โดด เพราะมีคนชิงกระโดดลงไปก่อน ข้าพเจ้าจึงสวมรอยให้คนที่โดดน้ำตายเป็นตัวเอง โดยเอาต้นฉบับที่ถือไปให้ตำรวจ บอกว่าเป็นของคนที่โดดน้ำตาย แล้ว ข้าพเจ้าก็หลบลี้หนีหน้าหายไป คอยติดตามข่าวคราวของตนเองทางหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็ปรากฏว่า นาย เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งซึ่งก็คือ ข้าพเจ้ากลายเป็นนักเขียนโด่งดังหลังจากตายไปแล้ว ต้นฉบับนิยายที่ขายไม่ออกนั้น ก็กลายเป็นนิยายขายดีพิมพ์เป็นหลายแสนเล่ม ต่อมาเมื่อ ข้าพเจ้าทราบความว่าภรรยาซึ่งบัดนี้กลายเป็นคนร่ำรวยจากค่าประกันชีวิตและค่าลิขสิทธิ์ของ ข้าพเจ้า  กำลังจะแต่งงานใหม่ ข้าพเจ้าหรือ เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งจึงตัดสินใจกลับไปหาภรรยา เพื่อที่จะใช้ชีวิตอย่างมีชื่อเสียงและมั่งคั่ง แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านและบอกกับภรรยาและผู้พิมพ์หนังสือ (ซึ่งกำลังจะแต่งงานกับภรรยา) ให้ทราบความจริงแล้ว ทั้งสองต่างก็คัดค้านว่า ข้าพเจ้าจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะถ้าหาก เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งยังมีชีวิตอยู่ หนังสือก็คงจะไม่ขายดีอีกต่อไป และสิ่งที่ลงทุนไปแล้วทั้งหมดก็จะขาดทุนย่อยยับ ข้าพเจ้าหรือ เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งจึงจำเป็นต้องยอมรับว่าตัวเองได้ตายไปแล้วจริง ๆ

ฮิวเมอริสต์เขียนประโยคเปิดเรื่องไว้ว่า ข้าพเจ้า เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง - - เป็นอีกข้าพเจ้าหนึ่ง ไม่ใช่ข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องดังที่ใส่ชื่อผู้เขียนเอาไว้...นอกจากนี้ โดยตลอดครึ่งแรกของเรื่อง ข้าพเจ้า (ในฐานะผู้เขียนจริง ๆ ฮิวเมอริสต์) จะคอยโผล่มาตามวงเล็บเป็นระยะเพื่อย้ำว่า ข้าพเจ้านี้ ไม่ใช่ข้าพเจ้า

เรื่องสั้น เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง นี้จึงเป็นเรื่องล้อความเป็นตัวตนของนักเขียนอย่างน้อยสองระดับ คือ ระดับแรก ในระดับภาษา โดยอาศัยคำว่า ข้าพเจ้าและคำว่า เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งนัยหนึ่งเป็นการแยกแยะระหว่าง ข้าพเจ้า ที่เป็นฮิวเมอริสต์ กับ ข้าพเจ้า ที่เป็นตัวละครในเรื่อง (เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง) ซึ่งเป็นนักเขียนเหมือนกัน  และอีกนัยหนึ่ง การย้ำซ้ำ ๆ ว่า ข้าพเจ้าทั้งสองมิใช่บุคคลเดียวกันนั้น ก็เป็นการย้ำเพื่อล้อ ความเป็นตัวตนของนักเขียน ซึ่งถูกแยกออกมาจากผู้เขียนในฐานะคน ๆ หนึ่ง

นอกจากนี้ การที่ ข้าพเจ้า” (ตามท้องเรื่อง) นั้น มีชื่อว่า เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งก็ยังสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงทางไวยกรณ์ ซึ่งผู้อ่านก็ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า ข้าพเจ้าในทางไวยกรณ์แล้วก็คือ เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งจึงทำให้เกิดภาพล้อซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง

ระดับที่สอง ชะตากรรมของ เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งหรือ ข้าพเจ้า (ซึ่งได้โดดน้ำตายไปแล้ว) ก็กลายเป็น เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งอีกคนหนึ่ง (ที่ตายไปแล้ว) ที่หาใช่คนเดียวกับ เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ แม้ว่า ข้าพเจ้าในฐานะเอกพจน์บุรุษที่หนึ่งซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ปรารถนาจะกลับไปเป็นเอกพจน์บุรุษที่หนึ่งที่มีชื่อเสียงนั้นก็ไม่สามารถจะทำได้ เนื่องจากเอกพจน์บุรุษที่หนึ่งคนนั้นได้ตายไปแล้ว

เรื่องสั้นเรื่องนี้ นอกจากจะชี้ให้เห็นถึงตัวตนของนักเขียนที่แยกตัวเป็นอิสระออกไปจากตัวตนดั้งเดิมแล้ว ความหมายทางภาษาที่ซ้อนทับของคำว่า ข้าพเจ้ากับคำว่า เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งยังมีลักษณะของการตั้งคำถามย้อนกลับ คือ คำว่า ข้าพเจ้านี้เป็นคำที่ใช้เรียกแทนตัวเอง หรือผู้พูด ซึ่งในทางไวยกรณ์ได้จัดประเภทของคำนี้ว่าคือ เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง  เอกพจน์ ก็คือ เพียงจำนวนเดียว เพียงหนึ่ง บุรุษที่หนึ่ง ก็คือ คำเรียกแทนตัว คือตัวตน (ผม, ฉัน, ข้าพเจ้า, กู เป็นต้น) เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งก็คือ คำเรียกแทนตัวที่มีหนึ่งเดียว ต้องมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ถ้ามากกว่านั้นก็ย่อมไม่ใช่เอกพจน์ แต่เป็นพหูพจน์ (สองขึ้นไป) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นก็คือ เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งนั้น กลับมีมากกว่าหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ ข้าพเจ้า ในฐานะ ฮิวเมอริสต์ กับ ข้าพเจ้า ในฐานะ เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง ไปสู่ ข้าพเจ้าในฐานะเอกพจน์บุรุษที่หนึ่งซึ่งยังมีชีวิตอยู่ กับ ข้าพเจ้าในฐานะเอกพจน์บุรุษที่หนึ่งที่ตายไปแล้ว เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง จึงไม่ใช่เอกพจน์บุรุษที่หนึ่งอีกต่อไป

ความยอกย้อนที่เกิดขึ้นนี้ จึงทำให้เรื่องสั้นดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับตัวตนของนักเขียนเท่านั้น หากยังกล่าวถึง/แสดงให้เห็น (อย่างจงใจ) ถึงการที่ ภาษาไม่สามารถรักษาความหมายดั้งเดิมของมันไว้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำเนินควบคู่ (จนแทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) กับการที่ ตัวตน” (ของนักเขียน) ไม่สามารถรักษาความเป็นตัวตนไว้ได้ นี่จึงเป็นชิ้นงานวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์และเปลี่ยนแปลงระหว่างตัวตนและภาษาชิ้นเอกและร่วมสมัยตราบจนกระทั่งปัจจุบัน

Comments