ปัจเจกนิยมเพื่อประชาชน บทสัมภาษณ์ เดือนวาด พิมวนา




เรื่อง วรวิช ทรัพย์ทวีแสง ภาพ วาด รวี

ตีพิมพ์ครั้งแรก Underground Buleteen 15, ตุลาคม 2554



บนเส้นทางอันคดเคี้ยวเลี้ยวลดภายในใจมนุษย์ ยังมีแง่มุมน่าพิศวงและสร้างความประหลาดใจได้เสมอ นั่นแสดงให้เห็นว่าแม้แต่มนุษย์เองก็ยังไม่รู้จักและเข้าใจตนเองดีพอ ซอกหลืบของจิตใจที่ยังรอการสำรวจเหล่านี้เองคือเสน่ห์ดึงดูดให้ เดือนวาด พิมวนา พยายามค้นลึกผ่านงานเขียนของเธอ ด้วยการเก็บตัวและเฝ้ามองมนุษย์ในฐานะปัจเจกชนที่พยายามชำแหละความเป็นมนุษย์ของตัวเอง


ผลงานทั้ง 6 เล่มของเดือนวาด ได้แก่ หนังสือเล่มสอง, ช่างสำราญ, คุณสงคราม, สัมพันธภาพ, แดดสิบแปดนาฬิกา และ ทุกข์หฤหรรษ์ เนื้อหาส่วนใหญ่ดิ่งลงสู่ภาวะทางจิตใจของมนุษย์อันเป็นปฏิกิริยาสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ของผู้คนในรูปแบบต่าง ๆ  ในปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ เห็นได้ชัดว่า งานของเดือนวาดไม่เคยอ้างอิงสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองเลย 


ทว่าหลังจากเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ผ่านเหตุการณ์ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 งานเขียนของเธอบนหน้านิตยสารรายสัปดาห์ และเว็บไซต์ข่าวทางเลือกประชาไท ดูเหมือนจะอิงกับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น ๆ ยิ่งขึ้น จนกระทั่งเธอปรากฏตัวบนเวทีคอนเสิร์ต ‘เราไม่ทอดทิ้งกัน’ จัดโดย ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกรณีสลายการชุมนุมเดือน เม.ย. - พ.ค. 2553 (ศปช.) ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2553 ถือเป็นการประกาศตัวชัดในฐานะนักเขียนว่าจะใช้บทกวีในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อคนเสื้อแดง


ทำไมนักเขียนจึงจำเป็นต้องแสดงออกถึงสำนึกทางสังคมมากกว่าคนอื่น

จริง ๆ มันไม่ใช่ภาระ แต่อาชีพนี้มันคืออาชีพของคนที่ต้องแสดงจิตสำนึกโดยตรงอยู่แล้วในตัวงานเขียน ในขณะที่อาชีพอื่น ๆ มันไม่ได้เป็นภาระที่เขาจะต้องแสดงสำนึกโดยตรง อาจจะเป็นทางอ้อม คุณมีสำนึกในลักษณะที่ คือมันอาจจะไม่ใช่การแสดงออกโดยตรง ทุกคนต้องมีสำนึก ต้องแสดงออกต่อสังคมอยู่แล้วในการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ไม่อยากบอกว่านักเขียนมีภาระมากกว่าคนอื่น มันไม่ใช่ แต่ที่เราเห็นว่านักเขียนอาจจะชัดกว่าคนอื่น เพราะว่างานของนักเขียนคืองานของการแสดงความคิดเห็น อยู่กับการสังเกตการณ์สังคม สังเกตการณ์โลก ลักษณะของคนทำงานเขียนก็คือ ต้องมีสังคมเป็นวัตถุดิบ มันก็โดยตรงเลย คุณต้องแสดงออกถึงจิตสำนึกของคุณ ถึงความคิดของคุณต่อสังคมต่อโลกต่อมนุษย์ที่รายล้อมอยู่


เพราะฉะนั้นคงจะไม่ใช่ภาระโดยตรงว่า พอเป็นนักเขียนแล้วจำเป็นจะต้องมีสำนึกมากกว่าคนทั่วไป ก็ควรจะต้องมีกันทุกคนอยู่แล้ว แต่คนที่จะเห็นจิตสำนึกของการแสดงออกของความคิดต่อสังคมต่อโลกได้ชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นนักเขียน เพราะเป็นคนที่แสดงออกโดยตรงด้วยงานเขียน


แล้วในกรณีงานเขียนเพื่อความบันเทิงละ

มันต้องแยกกันนะ เพราะว่าในโลกอารยะนี้มีศิลปะอยู่หลายแขนงด้วยกัน คือโลกไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องมีศิลปะในแบบที่ซีเรียสจริงจังเท่านั้น ในโลกนี้มีศิลปะที่แบ่งออกเป็นความบันเทิงหลากหลาย และในความบันเทิงนั้น สมมติว่าคุณเขียนงานแนวขำขัน ไม่ใช่งานที่จะไปวิพากษ์สังคมอะไรก็ตาม อ่านแล้วได้ความสนุกอย่างเดียว จรรยาบรรณของคุณก็ต้องดูในอีกระดับหนึ่ง  มันก็เหมือนกับคนทำอาชีพอื่นว่า คุณก็ต้องไปดูจรรยาบรรณของคุณในการแสดงเนื้องานตรงนั้น ว่าขำขันตรงนั้น คุณมีความรับผิดชอบให้มันไม่เกินเลย ไม่ส่งผลเสีย ซึ่งมันมีผลไปในทางใดทางหนึ่ง มากน้อยยังไงบ้าง ทุกวิชาชีพก็ต้องมีอยู่แล้ว เพียงแต่ก็ไม่ถูกต้องที่จะไปตัดสินว่า คุณเขียนงานเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวแสดงว่าคุณไม่มีจิตสำนึก มันจะมีจิตสำนึกอยู่ในนั้นอยู่แล้ว 


แต่ถ้าหากว่าคุณทำโดยที่ เราก็สามารถมองออกว่า จิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมของคุณ ซึ่งเอาไปวัดกับมาตรฐานของการทำงานในแบบเดียวกันแล้วมันมีมากน้อยแค่ไหน คือไม่ได้เอามาเปรียบกับมาตรฐานอื่นนะ สมมุติว่าคุณทำงานในลักษณะที่เป็นขำขัน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเอามาตรฐานจิตสำนึกมาเปรียบกับคนที่ทำงานในแนวทางสร้างสรรค์ ก็เปรียบในกลุ่มงานของคุณนั่นแหละว่า โดยมาตรฐานจิตสำนึกแล้ว คุณดีหรือไม่ดี ซึ่งก็คิดว่าดูได้ไม่ยาก และก็มีทั้งดีและไม่ดี 


มันไม่ใช่ว่า ถ้าทำงานในแบบนั้นแล้วจะไม่ต้องตรวจสอบ ไม่ต้องคิดเรื่องจิตสำนึก ไม่ว่าทำงานอะไรก็ต้องมีจิตสำนึกต่อสังคม มันเป็นพื้นฐานของทุกคน จริง ๆ มันต้องมีโดยความเป็นมนุษย์ แต่ว่าโดยการทำงานนั้นมันไม่ต้องถูกตัดสิน คนที่ทำงานในแบบที่เป็นความบันเทิงก็คืออาชีพหนึ่งของเขา ที่ไม่จำเป็นต้องมาถูกตัดสินว่าคุณมีจิตสำนึกน้อยกว่าคนทำงานศิลปะซึ่งกำลังพูดถึงอะไรที่มันสูงส่ง




วรรณกรรมเรื่องแต่งหรือบทกวีจะมีอิทธิพลต่อผู้อ่านในสังคมมากกว่าข่าวสาร หรือการนำเสนอความจริงในแบบอื่น ๆ หรือเปล่า

วรรณกรรมมีอิทธิพลน้อยกว่าถึงน้อยที่สุด  แต่มีความสำคัญในระยะยาว


ความรู้สึกของคนต่อการเสพข่าว แน่นอนว่าตัวคนมันทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เกิดการตัดสินต่อสังคมเยอะมาก ความจริงเรื่องราวอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ว่าทุกอย่างขับเคลื่อนไปเพราะมีคนอธิบายมัน สุดท้ายเราถึงบอกว่าความจริงถูกลดทอนลงไปเรื่อย ๆ  บางครั้งความจริงแทบจะไม่เหลืออยู่เลย  ยิ่งในสังคมที่มีความแตกแยก คือมีการต่อสู้กันมีลักษณะของอคติและฉันทคติค่อนข้างสูง ความพยายามที่จะเบี่ยงเบนเรื่องราวเพื่อรับใช้ความคิดของตัวเองของสังคมกลุ่มหนึ่งมันจะมีผลมาก


อันที่จริงการสื่อสารในยุคสมัยของเรา มันได้ทำให้เราเข้าถึงความจริงมากกว่าที่ผ่านมา แต่ว่าการสื่อสารมาก บวกกับสังคมซึ่งมีลักษณะของการพยายามตีความแล้วก็มีการต่อสู้กัน มันก็คือการต่อสู้กันระหว่างคนที่พยายามทำให้ความจริงหนีหาย กับตัวความจริงที่พยายามปรากฏขึ้นมา ตัวการสื่อสารซึ่งเรากำหนดไม่ได้มันพยายามเผยความจริงอยู่ตลอดเวลา และเราก็หนีไม่พ้นด้วย


อย่างเช่นว่าคนดูข่าวถึงเรื่องกรณีคลิปต่าง ๆ ของศาลบ้าง เบื้องหลังของคนนั้นคนนี้บ้าง  คลิปคือภาพ คือการปรากฏขึ้น การสื่อสารทำให้มันเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วคุณห้ามมันไม่ได้ในเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ แต่ในอีกส่วนหนึ่งผู้คนก็ใช้วาทกรรมในการอธิบายให้คนเชื่อให้ได้ ที่นี้ก็จะต้องแยกว่าคุณจะเชื่ออันไหน ซึ่งไอ้สองสิ่งนี้ที่กำลังบอกว่า ความจริงกับสิ่งที่คนกำลังอธิบายซึ่งถ้าหากมันไม่ได้เดินไปด้วยกันมันก็คือการต่อสู้กัน ฉะนั้นคนก็จะทำให้ความจริงหายไปมากที่สุด กลายเป็นสิ่งที่เขาได้จัดตั้งไว้แล้วว่า มันคือสิ่งนี้ ยุคนี้จึงเกิดวาทกรรมเยอะมากเพื่อจะช่วงชิงความหมาย 


แต่ในขณะเดียวกันจะบอกว่า โลกเราถูกขับเคลื่อนด้วยคนซึ่งสามารถโฆษณาชวนเชื่อ สามารถที่จะอธิบายสิ่งต่าง ๆ ด้วยวาทกรรมใหม่ ๆ ด้วยเหตุผลที่เราแทบจะไม่เคยเห็นมาก่อน ว่าเคยมีเหตุผลนี้อยู่ แต่ก็สามารถทำให้คนเชื่อได้เยอะด้วย ถามว่าสิ่งนี้จะทำให้โลกขับเคลื่อนไปในทางนี้หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ เพราะในอีกทางหนึ่งมีสิ่งที่ขัดแย้งกันอยู่ เทคโนโลยีการสื่อสารและสิ่งที่เปิดเผยความจริงทำงานอยู่ตลอดเวลา แล้วคุณก็หนีไม่พ้น สุดท้ายก็ต้องเกิดการเลือกที่จะเชื่อ ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคนที่จะเชื่อ ถ้าหากว่าวิจารณญาณนั้นมีอคติและมีฉันทคติมันก็เป็นไปตามคนนั้น 


เพราะฉะนั้นมันก็มีความแฟร์อยู่เหมือนกันบนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งลวงหรือถูกบิดเบือนไปมากน้อยแค่ไหน มันปกปิดไม่ได้ ความจริงของยุคสมัยนี้ปกปิดได้ยากมาก ๆ และมนุษย์ยังใช้วิจารณญาณที่จะเลือกได้ ก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณ


แล้วโดยส่วนตัวในฐานะคนเขียนวรรณกรรม จะเลือกแสดงออกอย่างไร

เราจะไม่ยืนอยู่ในจุดที่คลุมเครือ จะไม่ยืนอยู่ในจุดที่อธิบายต่อตัวเองไม่ได้ คนอื่นจะไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร แต่จะต้องอธิบายต่อตัวเองได้ว่า เรายืนอยู่ในจุดนี้เพราะเหตุผลอะไร แล้วก็จะต้องไม่มีข้อแม้ที่ทำให้เรารู้สึกขัดแย้งและไม่สบายใจ


คือเท่าที่ผ่านมาจากสถานการณ์ทางการเมืองซึ่งยุ่งเหยิงมาก ๆ มันดูไม่น่าจะเป็นเรื่องง่ายเหมือนกันในการเลือก เพราะเดี๋ยวก็มีข้อมูลตรงนั้นมาอีกแล้ว มีข้อมูลหักล้างตรงนี้มาอีกแล้วทั้งสองฝั่ง ซึ่งพอมองกลับไปทีละจุดมันจะยุ่งเหยิงมาก ๆ แต่ก็คิดว่าถ้าถอยออกมาให้ห่างสักนิดหนึ่ง ดูไปที่โครงสร้างแล้วก็ลดทอนรายละเอียดของเรื่องราวต่าง ๆ ให้น้อยลง ลดทอนเรื่องตัวบุคคล ซึ่งมันมีความเป็นมนุษย์และเราก็ไม่อยากที่จะไปตัดสินมากนัก แต่ทุกเรื่องจะต้องมีหลัก มีโครงสร้างของมัน ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร


แรกๆ ที่เราเผชิญปัญหาแล้วรู้สึกว่า เราไปเจอกับรายละเอียด กับแง่มุม กับเรื่องคนดีคนเลวซึ่งเป็นตัวบุคคล แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง โครงสร้างต่างๆ มันเริ่มชัดขึ้นมาว่า แท้จริงมันมาจากจุดใหญ่ๆ แค่สักจุดสองจุดสามจุด ซึ่งเราจะเริ่มรู้แล้วว่า รายละเอียดต่างๆ ที่เผชิญ ที่เราเห็นว่ามันยุ่งอันที่จริงมันมีที่มา มันเหมือนมีสายโยงมาจากตรงนั้นตรงนี้ ท้ายที่สุดสายโยงมันมีที่มาอยู่ไม่กี่ที่ แต่ว่ามันออกมาโยงกันมั่วไปหมด เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับสายระโยงระยาง ซึ่งมันยุ่งเหยิงแล้วมันก็พันกัน และนำเสนอในสิ่งที่มันขัดแย้ง เดี๋ยวใช่เดี๋ยวไม่ใช่  ฉะนั้นในรายละเอียดเราอาจจะตัดสินไม่ได้  แต่ว่าถ้าดูที่มาดูที่จุดยอดสุดของมันเราจะตัดสินได้


พอมีคนถามเราว่าเรื่องนั้นล่ะ เชื่อได้ยังไง แล้วเรื่องนี้ล่ะคุณเชื่อได้ยังไง เราบอกว่า คุณดูว่ามันมีที่มาจากอคติหรือฉันทคติซึ่งเป็นสายโยงซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นกลางมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว คือคำที่เขาพูดในรายละเอียดฝั่งหนึ่งอาจจะพูดแล้วถูกมาก แต่ว่าความถูกต้องสุดท้ายก็มาจากระโยงของฉันทคติที่มีต่อฝักฝ่ายหนึ่ง ระโยงระยางของฉันทคติที่มีต่อฝักฝ่ายหนึ่งนี่แหละ มันทำให้เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปเชื่อสิ่งนั้นแม้จะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะมันอยู่ในโครงข่ายที่ผิด


ถ้าหากเราไม่ได้ดูตัวโครงสร้าง ยิ่งมาดูเรื่องตัวบุคคลยิ่งไม่ได้เลย ตัวบุคคลนี่ยิ่งต้องตัดออกไป ปัญหาบ้านเราคือปัญหาการเมือง คือปัญหาทางโครงสร้าง แม้ว่าเราจะรู้ว่าคนนั้นก็มีความเลวและมีความดี มีการโจมตีโดยมุ่งไปที่นิสัยบุคคลบ้างอะไรบ้าง แต่ว่ามนุษย์เป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว แต่เราอยู่ด้วยกันได้ด้วยโครงสร้างที่แข็งแรงของระบอบอะไรสักระบอบหนึ่ง ก็อยู่กันในฐานะพลเมืองซึ่งต้องยึดถือต่อกฎหมายต่อกติการ่วมกัน เราไม่ได้อยู่ด้วยความเป็นมนุษย์ที่ต้องดีเท่ากัน ถ้าเราอยู่แบบนั้นมนุษย์โลกจะต้องเจ๊งมาตั้งแต่บรรพกาล เพราะว่ามันมีมนุษย์ที่เลวมาตั้งนานแล้ว เราเอาสิ่งนี้มาเพื่อกำหนดการอยู่ร่วมไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องตัดไปเลยในเรื่องตัวบุคคล หรือในเรื่องความเป็นมนุษย์ข้างใน


ทีนี้มาสู่จุดที่เป็นโครงครอบซึ่งต้องยึดไว้ร่วมกันเพื่อการอยู่ร่วมกันได้ ก็คือกฎหมายหรือว่าโครงสร้างของการปกครอง เรื่องรัฐธรรมนูญเรื่องอะไรก็ตาม ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นกฎที่ยากเกินไปที่คุณจะปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกัน แต่ใครละเมิดสิ่งนี้ ใครทำให้สิ่งนี้ถูกทำลายไป ใครทำให้กฎการอยู่ร่วมทั้งหมดต้องล่มสลายลง ทำให้เกิดการไม่เชื่อถือไปในทุกหย่อมหญ้า คือเราตัดสินได้ในโครงสร้างว่าอะไรบ้างที่ทำให้เราอยู่ร่วมได้ ไม่ใช่ว่าคนนั้นเลวคนนี้ดีแล้วอยู่ร่วมกันไม่ได้ แต่โครงสร้างที่บิดเบือน โครงสร้างที่ถูกทำลายต่างหาก ทำให้อยู่ร่วมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นใครเล่าที่ทำให้โครงสร้างถูกทำลาย





เขาก็บอกว่าระบอบทักษิณเป็นโครงสร้างเหมือนกัน

นั่นเป็นความเชื่อของคนอีกฝั่งหนึ่ง ว่าระบอบทักษิณมาจากนิสัยของทักษิณ ว่านิสัยของทักษิณเป็นโครงสร้างที่เขาอยู่ร่วมไม่ได้ ทักษิณดีเลวแค่ไหนไม่รู้  แต่เขาเป็นพลเมืองคนหนึ่งซึ่งมีสิทธิ์ทำงานการเมือง และการทำงานการเมืองของทักษิณยังอยู่ภายใต้กฎแห่งการอยู่ร่วม


เขาว่ามันเป็นระบอบนะครับ

นั่นก็คือคำอธิบายในเชิงอคติหรือฉันทคติซึ่งเป็นระโยงระยาง อย่างที่บอกแล้วว่ามันโยงมาจากที่เดียวกัน ถ้าคุณอธิบายด้วยวิธีคิดอย่างนี้ เราจะต้องฟังคุณทุกอย่างเหรอ สมมุติเราโดนถามว่า คุณคือคนที่เห็นคนตายใช่ไหม แต่ผมจะตัดสินคุณว่า คุณยังไม่เห็นคนตายอีกหลายที่ คุณยังไม่เห็นคนตายที่ภาคใต้ คุณยังไม่เห็นคนตายที่ถูกฆ่าตัดตอน คุณยังไม่เห็นคนตายอีกตั้งหลายที่ แล้วคุณมาสะเออะเห็นคนตายแค่เดือนพฤษภาคม แค่นี้ก็เห็นว่าคุณสองมาตรฐานแล้ว ด้วยคำถามแบบนี้เราจะบอกอย่างไรกับรายละเอียดที่ถูกโยนเข้ามา


คำถามเหล่านี้ถูกโยนเข้ามาในบริบทของการต่อสู้ แม้เราจะคิดว่าคุณถามด้วยเหตุผลเพียงว่า  คุณได้เลือกฝ่ายแล้ว ถ้าเราจะตอบคำถามเหล่านี้  เหตุผลก็คือเราไม่อยากคลุมเครือในตัวเอง  องค์ประกอบที่ทำให้เรามีความรู้สึกรู้สาต่อความตายในช่วงเมษา-พฤษภานั้น คือมันดำเนินมาตั้งเป็นปีแล้ว มันดำเนินมาด้วยเรื่องอะไร มันก็ดำเนินมาด้วยทุกเรื่องอย่างที่บอกตั้งแต่ต้นก็คือว่า องค์ประกอบสำคัญคือความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม


เราเป็นคนที่ไม่ยุ่งเรื่องการเมืองมากที่สุดแล้วนะ ปัจเจกสูงที่สุดแล้ว  แต่เราวัดจากตัวเองว่า เมื่อข่าวสารมาอยู่ตรงหน้า แล้วเราต้องรับข่าวสารนี้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตรงนั้นเราหนีไม่พ้น ต้องมีความรู้สึกร่วมกับเรื่องราวเหล่านั้น นั่นเพราะอะไร เพราะมันมีโครงสร้างของรายละเอียดที่เรารับรู้แล้วว่ามันมาจากโครงสร้างที่อยุติธรรมมาก มันมาจากโครงสร้างที่ถูกบิดเบือนกันทั้งโครงสร้างเลย มันมาจากสิ่งที่ควรจะได้รับความเคารพนับถือแต่เราสูญเสียความนับถือ สูญเสียหมดเลย และจนกระทั่งมาถึงการตายที่มันเนื่องมาจากสิ่งนั้น


แต่ว่าเราเป็นคนไทยคนหนึ่งซึ่งอยู่ในประเทศไทย และอยู่ในสถานการณ์ที่ผ่านโครงสร้างที่ถูกบิดเบือน ถูกทำลายลง กฎหมายถูกทำลาย ความอยุติธรรมเข้าแทนที่ทุกสิ่งทุกอย่างในทุกระบบ เพราะฉะนั้นนี่คือที่มาขององค์ประกอบว่า ความตายที่เราเห็นตรงหน้าแล้วเรารู้สึกกับมันเป็นไปตามธรรมชาติมาก ๆ 


จริง ๆ เราเป็นคนที่เชื่อคนเดียวได้นะ ไม่ต้องมีพวก ถ้าจะหาแนวร่วมคงล้มเหลวเพราะหว่านล้อมคนไม่เป็น แต่ด้วยความคิดนี้ในทางกลับกัน คนอื่นก็ไม่มีผลต่อเราเหมือนกัน ไม่ใช่พันธนาการในการคิด ถ้าเราจะเลือกหรือเราจะเชื่อ เราจะมีจุดยืนอย่างไร ความสัมพันธ์ต่างๆ ในโลกอย่างเช่นว่า เพื่อนของเราคิดอย่างไร ผู้ใหญ่ของเราคิดอย่างไร คนรอบข้างเราคิดอย่างไร ผู้ที่มีบุญคุณต่อเราคิดอย่างไร คนที่เรารักมากๆ แล้วเกิดไม่ได้เห็นเหมือนเราคิดอย่างไร ไม่รู้ว่าเป็นคนที่แห้งแล้งหรือเปล่านะ แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่มีผลต่อการเลือก ไม่ใช่องค์ประกอบที่ทำให้เราต้องลำบากในการคิดที่จะเลือกอะไร 


จริงๆ เขียนบทกวีไปและพยายามพูดหลายครั้ง สำหรับคนที่ได้มีความสัมพันธ์กันมาแล้ว เราจะไม่ไปมีความรู้สึกว่า ต้องเลิกคบหาเกี่ยวข้อง หรือรู้สึกไม่ดีกับคุณ เพราะว่าคุณคิดไม่เหมือนเรา แต่แน่นอนด้วยวิธีคิดที่ต่างก็มีจุดยืนอยู่ของตัวเอง มันก็ต้องพูด มันก็ต้องเดินหน้า และเมื่อเราเดิน เขาก็เดิน มันต้องสวนกัน เวลาที่เราพูด และเขาพูด คำมันต่างกันมันก็ต้องชนกัน มันก็ต้องแย้งกัน สิ่งนี้จะต้องเป็นไปโดยปริยายอยู่แล้ว โดยที่เราไม่ต้องตั้งใจไปสู้รบกับใคร ไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าว่า คนนั้นชื่อนั้นคิดไม่เหมือนเราแล้วเดี๋ยวเราจะอัดเขา เพราะว่าเขาเป็นคนคนนั้นที่คิดไม่เหมือนเรา ก็ไม่ใช่ นี่เป็นเรื่องวิธีคิดของคนคิดต่าง ก็เต็มที่เลยเพราะคุณคิดต่าง และคุณมีสิทธิ์จะยืนอยู่ตรงนั้น แล้วก็คิดต่างกับเรา


และโดยความสัมพันธ์ที่ผ่านมา เราอาจจะเป็นคนที่เคยรักกันและก็มีมิติอื่นๆ ต่อกันในทางที่ดี สำหรับเราแล้วจะไม่แตะต้องตรงนั้น เรายังโอเคอยู่ แต่ว่าสิ่งนี้ต้องปรบมือทั้งสองข้าง ถ้าคุณโอเคกับเราด้วยก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน


ประกาย ปรัชญา เห็นเหมือนกันตั้งแต่แรกหรือเปล่า

นับเป็นโชคดีมากๆ เลย ก็นึกว่าถ้าเกิดมันไม่เหมือนกันก็คงแย่ กับพี่ประกายเห็นอยู่กันอย่างนี้นะ ก็มีความคิดสอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในบางเรื่องก็ไปคนละทาง คือมันไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่ เราก็เห็นได้ว่ามีความต่างกันอยู่ในบางเรื่อง ซึ่งก็ถือว่าเป็นโชคดีถ้าเกิดว่าเรื่องนี้คิดต่างกันก็ยังมองไม่ออกเลยว่ามันจะเป็นยังไง เพราะเราเชื่อว่าพี่ประกายเป็นคนที่เราเคลมไม่ได้ แล้วเราก็เป็นคนที่พี่ประกายก็เคลมไม่ได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าคิดต่างกัน มันจะต่างกันอยู่อย่างนั้น





ที่พูดถึงเรื่องความยุติธรรมกับนักเขียนนี้ เพราะมีแบบอย่าง เช่น ศรีบูรพา ที่จะต้องผดุงความเป็นธรรมอย่างนั้นหรือเปล่า

เราคิดว่าเราเป็นธรรมชาติมากเลยนะ ถ้าเพื่อนๆ ที่คบหากันมาก็จะรู้ว่าเราไม่ค่อยเอ่ยอ้างนักเขียนใหญ่ ไม่ใช่คนที่มีไอดอลคนหนึ่งแล้วก็เดินตามอะไรอย่างนั้น ส่วนใหญ่จะดุ่ยๆ ไปเอง ไม่ว่าจะวิธีคิดหรือวิธีพูดอะไร เราค่อนข้างจะเลี่ยงด้วยซ้ำไป เพราะรู้สึกว่ามันเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาดำเนินมา เป็นการค้นพบของเขา เป็นความสำเร็จของเขา ซึ่งเราก็ไม่เชื่อว่า เราจำเป็นจะต้องเดินตามนั้นหรืออะไร เราก็ดุ่ยไปเรื่อยๆ  แม้กระทั่งการทำงานถ้าหากว่าดุ่ยๆ ไป มันเรียกว่าสไตล์อะไรก็ยังไม่รู้ ทำไปถ้ามันสำเร็จมีคนตอบรับก็โอเค ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ก็ผ่านไป ก็ทำใหม่ ก็แค่นั้น แต่เราเป็นคนที่เดินตามคนอื่นยากมาก


กำลังจะบอกว่า  มันมาเองโดยธรรมชาติ ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปดูเส้นทางในการทำงานของเราเท่าที่ผ่านมา ที่เราพูดมานี่มันไม่น่าจะเกินเลย คือมันไม่น่าจะมาอยู่ตรงนี้ได้ มันน่าจะแย้งๆ กันด้วยซ้ำ มันไม่น่าจะใช่เราที่มาพูดเรื่องการเมืองเรื่องสังคม เพราะเราไม่ใช่คนที่ชอบยุ่งเรื่องการเมืองเลย และโดยวิธีการทำงานก็จะมุ่งไปที่ความสนใจต่อสภาวะความเป็นมนุษย์ ซึ่งเราว่าเราไปได้ไม่จน คิดกับตัวเองอย่างนี้นะว่า เรามุ่งไปที่ความเป็นมนุษย์เชื่อไหมว่าเราสามารถคิดประเด็นได้ไม่จนหรอก 


แต่วันนี้เรายืนอยู่ตรงไหน ยืนอยู่ตรงจุดที่เรามาพูดเรื่องสังคม ซึ่งถ้าเป็นเนื้องานมันก็คืองานเพื่อชีวิต ซึ่งคนอื่นเขาได้ผ่านกันมานานมากแล้ว


แล้วอะไรที่ทำให้รู้สึกร่วมไปกับสถานการณ์การเมือง

มันก็รวมๆ มันมาจากทุกทิศทุกทาง เราไม่ได้เป็นคนที่พุ่งใส่สถานการณ์เข้าไปกินไปอยู่ ไปค้นหาข่าวแบบใกล้ชิดอะไร ตอนแรกก็แค่ติดตามข่าว ไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ตด้วยซ้ำ แค่ตามข่าวอย่างธรรมดาที่สุดทางโทรทัศน์  ในช่วงแรกก็ดูสนธิ ลิ้มทองกุล ตั้งแต่จัดรายการช่องเก้า เป็นแฟนรายการมาตั้งแต่เริ่ม เป็นการสนใจดูตามธรรมดา กระทั่งถูกถอดจากช่องเก้าก็ตามมาดูเอเอสทีวี ตอนที่ไล่ทักษิณเราก็ยังนั่งดูเอเอสทีวีอยู่เลย เราตามข่าวช่องเหลืองมาตลอด แต่ว่ามันไม่ได้มีความรู้สึกอยากไปร่วม แค่อยากรู้ข่าว


กระทั่งว่าช่วงหนึ่งมีการลงชื่อ ไม่เอาระบอบทักษิณ เราก็ยังมีชื่อร่วม แต่ว่านั่นก็คือไม่ใช่ด้วยความรู้สึกสนใจอะไรมากเลย คล้ายๆ แห่ตาม เพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้สำคัญมาก เอาชื่อไปลงก็ไม่เป็นไร อะไรอย่างนี้ ไม่ได้คิดมากไง

ตอนนั้นเห็นด้วยกับสนธิไหม

ไม่ได้เห็นด้วยหรอก จริง ๆ ไม่เห็นด้วยเลย แต่ว่าตามข่าว แล้วก็มีความรู้สึกว่ามันเป็นข่าวด้านเดียวที่เขาป้อนมา เราก็รับรู้ไปตามนั้น ถ้าเห็นด้วยเราคงมีความรู้สึกอยากเข้าไปร่วมในการชุมนุมกับทางเหลืองบ้าง แต่มันไม่มีความคิดที่อยากจะเข้าไปร่วมเลย ก็ยังมีความรู้สึกว่า ไม่เอาหรอก เรื่องการเมือง


แต่มีความรู้สึกว่ามันเริ่มล่อแหลม เริ่มน่าสนใจ มันเป็นข่าวที่ว่าไม่ตามไม่ได้ แต่ก็ติดตามข่าวอย่างประมาณธรรมดามากที่สุดแล้ว พอต่อมา สถานการณ์ม็อบพันธมิตรรุนแรงขึ้น อันนี้เริ่มแล้ว  ตอนรัฐประหารรู้สึกว่า น่าจะเป็นพี่ประกายเป็นคนจุดประกาย เพราะพี่ประกายเป็นคนที่รับไม่ได้ เรายังเฉยๆ อยู่นะ ตอนรัฐประหารขึ้นมาพี่ประกายบอกว่า ส้นตีน ทำได้ยังไง 


คือตอนนั้นแม้จะตามข่าวเหลืองมาตลอด แต่รู้สึกงงว่า รัฐประหารไปแล้วจะมานั่งยินดีกับการรัฐประหารเหรอ มีการมอบดอกไม้กันด้วยเหรอ ตอนนั้นพี่ประกายจะเริ่มโกรธแล้ว แต่เราก็ดูๆ มาตลอดจากหลังรัฐประหารเป็นต้นมา 


พอม็อบชักแรงขึ้นๆ พอเริ่มยึดก็ โอย ไม่ได้แล้ว เริ่มตอนนั้นแหละ ยึดทำเนียบฯ ยึดอะไรนั่นแหละ ที่รู้สึกว่าเราไม่เอาด้วยแล้ว เราเริ่มเป็นปฏิปักษ์ชัดเจน ประกอบกับข่าวสารต่างๆ ที่ปล่อยออกมาทางอินเตอร์เน็ต เรื่องการประชุมกันของผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งทำให้เห็นโครงสร้าง เรื่องคลิปต่างๆ ที่ถูกปล่อยออกมา


ข่าวสารที่เราเคยฟังมาเคยได้รับมา มันเริ่มคลี่คลายไปหลายๆ ข้อ แต่ว่ามันก็ยังเชื่ออะไรไม่ได้มากเพราะมันเป็นสองฝ่ายโจมตีกันไปโจมตีกันมา มันต้องไปดูที่โครงสร้างบนสุดว่าสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ถ้าทำให้เราเชื่อว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง เราก็ไม่จำเป็นต้องไปลงในรายละเอียดมากนัก จนตอบตัวเองได้ว่า ไม่ใช่แล้ว เราไม่เชื่อทางนี้แล้ว เราเลือกข้างทันที จากตรงนี้แหละ จากที่โครงสร้างมันปรากฏชัดขึ้นมา มันจึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องมองเรื่องชั้นบน ชั้นล่าง เรื่องชนชั้นนำกับเรื่องประชาชน สิทธิ์ของประชาชนมีความชอบธรรมมาก เพราะว่าดำเนินไปตามครรลอง ที่มันอยู่ในกรอบของกฎหมายที่เราอยู่ร่วมกัน ถ้าคุณทำกับประชาชนแบบนี้ เป็นชนชั้นนำด้วย เป็นคนชั้นกลาง เป็นคนที่มีสิทธิ์มีเสียงมากกว่าชาวบ้าน คืบคลานไปจนกระทั่งเกิดการหมิ่นแคลน


มันเป็นเรื่องตลก คุณก็รู้ว่าคุณมีการศึกษามากกว่าชาวบ้านอยู่แล้ว แต่คุณก็ออกมาพูดดังๆ ที่จะบอกว่า ชาวบ้านไม่มีการศึกษา สิ่งนี้แม้ใช่ก็ไม่ผิด  แต่สิ่งที่ผิดชัดเจนก็คือ คุณเป็นคนมีการศึกษาที่ดูถูกคนอื่น คุณเป็นคนที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นแล้วยังดูถูกคนที่ไม่มีโอกาส คุณเป็นคนชนชั้นนำซึ่งมีโอกาสในชีวิตมากกว่าคนอื่นและกำลังหมิ่นแคลนต่อสิทธิ์ของคนที่ไม่มีโอกาสในชีวิตมากนัก  สุดท้ายก็ต้องบอกว่าเราไม่ได้คิดมากเลยในการเลือก และไม่ได้รู้สึกคลางแคลงว่าคิดผิดหรือเปล่าอะไรอย่างนี้  ตัวเราเองก็คือประชาชนคนหนึ่งที่ถูกหมิ่นแคลน เรามีความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวของตัวเอง  แทบจะไม่ต้องคิดแทนประชาชน ไม่หรอก เพราะเราเองคือประชาชนคนหนึ่งที่รู้สึกว่าเราถูกหมิ่นแคลน เพราะฉะนั้นเราจะพูดก็พูดเพื่อตัวเองไม่ได้เพื่อใครหรอก





งานที่ออกมาก็จะมีเรื่องสถานการณ์เข้าไปแทรกอยู่ด้วย

แน่นอน ในช่วงที่ผ่านมาก็ต้องบอกว่า เรากระโดดลงไปโดยใช้เนื้องานในการต่อสู้ด้วย เราร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้อย่างเต็มอกเต็มใจ 


แต่งานที่ได้ออกมาแบบนั้นสามารถถูกมองว่าเป็นงานที่ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง จะเรียกว่างานชิ้นนี้ล้มเหลว หรือผู้อ่านเองต่างหากที่ล้มเหลว เพราะไม่สนใจต่อสถานการณ์บ้านเมือง

เราก็เคยอ่านงานเขียนที่อิงอยู่กับสถานการณ์มาก่อน เคยตัดสินงานที่เขียนขึ้นมาเพื่อสถานการณ์หนึ่ง แต่เราก็รู้ว่าตัวเองตัดสินในสถานะของคนอ่านคนหนึ่งซึ่งคาดหวังในแง่ของศิลปะชิ้นหนึ่ง ซึ่งต้องไม่ถูกลดทอนลงไป เพราะว่าถ้าคุณทำงานเพื่อสถานการณ์หนึ่ง คุณค่าของมันก็จะต้องอิงอยู่กับสถานการณ์ด้วย ต้องอิงกับช่วงเวลานั้นๆ ด้วย พอเวลาผ่านไปถ้าหากตัวเนื้องานมีคุณค่าทางศิลปะมันจะข้ามพ้นไปอีกช่วงหนึ่ง 


เพราะฉะนั้น บริบทของงานที่รับใช้สถานการณ์ ไม่ว่าจะทางการเมืองหรือสถานการณ์อะไรก็ตาม  มันผ่านไปแล้วก็จะถูกลดคุณค่าที่อิงอยู่กับสถานการณ์ลง แต่ถ้างานยังสามารถถูกอ่านได้ หรือว่าเพลงก็ยังน่าฟังหรืออะไรก็ตาม ก็แสดงว่ามันมีคุณค่าทางศิลปะอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะสามารถอยู่ไปได้และสามารถเสพมันในฐานะศิลปะได้อยู่ดี


มันมีความเชื่อหนึ่งของนักเขียนว่างานรับใช้สถานการณ์เป็นงานศิลปะชั้นต่ำ

นั่นเป็นการตัดสิน ทำไมต้องไปตัดสินล่ะ เรากำลังพูดถึงสภาพความเป็นจริงว่า แน่นอน มันจะต้องมีคุณค่าในแง่ที่ว่าคนเขียนตั้งใจให้มันเกิดขึ้นเพื่ออะไร เราไม่ปฏิเสธว่ามันเป็นงานโฆษณาชวนเชื่อ ใช่ ในสถานการณ์หนึ่ง นักเขียนคนนั้นยืนอยู่ในสถานะที่ถ้าคุณถามเขาในช่วงสถานการณ์นั้น เขากำลังต่อสู้อยู่ เราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เราต่อสู้ด้วยอะไร เราก็ต่อสู้ด้วยรูปแบบทางศิลปะอยู่ดี  ถ้าคุณมีฝีมือทางศิลปะจะเขียนรับใช้อะไรในโลกนี้ศิลปะก็ไม่มีวันเป็นศิลปะชั้นต่ำไปได้


ในมุมของการเขียนงานวรรณกรรมคิดอย่างไร

ในมุมของงานเขียนเราจะไม่ไปเรียกร้อง คือทุกอย่างเรารับได้นะ ขอให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เราถึงบอกว่า เราไม่ได้เห็นด้วยกับคำว่าศิลปะต้องรับใช้ประชาชนเท่านั้นจึงจะมีคุณค่า เพราะนี่ก็เป็นการตัดสินเพื่อไปลดทอนคุณค่าของศิลปะแนวอื่นๆ อีกเหมือนกัน  เราว่ามันมีความจริงในตัวของมันอยู่ซึ่งไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องถูกลดทอนด้วยคำตัดสิน


ทำไมงานที่กำเนิดขึ้นมาจากนักต่อสู้คนหนึ่ง เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้ หรือใครก็ได้ที่ทำงานในสถานการณ์การเมือง แต่ว่าเขาคือกวี เขาคือศิลปินซึ่งเมื่อสร้างงานขึ้นมา เขาก็จะต้องสร้างมันในฐานะของศิลปะ แต่เพราะว่าในสถานการณ์นั้นเขาก็ใช้มันเพื่อการต่อสู้ เพื่อสถานการณ์ เพราะความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น


ทำไมเราจะต้องบอกว่ามันไม่ดี เรามองว่ามันมีเกียรติในตัวของมันเอง แต่ว่าถ้าข้ามผ่านกาลเวลาไปแล้ว เชื่อไหมว่าเรายอมรับได้ สมมุติว่าในสถานการณ์หนึ่ง เราเขียนงานเขียนบทกวีการเมืองเพื่อที่วันนี้เล่นคนนั้น วันนั้นเล่นคนนี้ แล้วถ้ามันผ่านไปอีก 5 ปีคนมาอ่านมัน เขาก็ไม่รับรู้แล้วที่เราเขียน เขียนเล่นใคร นี่คือความจริงในตัวมันที่เราต้องยอมรับ ทีนี้เขาก็จะดูแต่ในแง่ศิลปะ นี่แหละจริง ถ้าคุณทำงานโดยไม่มีศิลปะอยู่ในนั้นมันข้ามผ่านไปไม่ได้


งานที่รับใช้สถานการณ์คุณค่าก็ต้องอยู่ที่การรับใช้สถานการณ์นั่นแหละ คุณก็จะต้องยอมรับว่ามันเป็นไปเพื่อการต่อสู้ และถ้าคุณไม่ได้คิดถึงการสร้างสรรค์ในแง่ศิลปะที่มากพอมันก็จะไม่ถูกยอมรับในแง่ศิลปะ  นี่ก็คือความตรงไปตรงมาตามธรรมชาติของมัน เราจะไม่เถียงว่ามันมีคุณค่ามากกว่า หรือมันมีคุณค่าน้อยกว่า


แล้วโดยส่วนตัวให้ความสำคัญกับทั้งสองส่วนหรือเปล่า

สำคัญทั้งสองส่วนโดยเฉพาะเวลานี้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับภาวะของเราในปัจจุบัน เราถึงพูดตรงๆ ว่าเรากำลังต่อสู้ในทางการเมืองด้วยบทกวีด้วยงานเขียนทางศิลปะ บังเอิญว่าเราเป็นนักเขียน แล้วก็เราจะยอมรับได้อย่างหน้าชื่นตาบานเลย ถ้าถูกวิจารณ์ว่าในทางศิลปะแล้ว ผมว่าคุณยังไม่เท่าไหร่ แต่ก็ต้องดูในแง่ศิลปะในงานชิ้นนั้นนะว่าเราเขียนไม่ดีจริง ๆ


คุณจะหมิ่นแคลนศิลปะไม่ได้นะ ไม่ว่าใครจะพูดก็ตาม ว่าศิลปะต้องรับใช้ประชาชน ถ้าไม่รับใช้แล้วก็ไร้ความหมาย เราไม่ได้เชื่ออย่างนั้นเพราะว่าเรานับถือศิลปะ


และในภาวะหนึ่ง ในจุดที่เรารู้ว่านี่เป็นแค่สถานการณ์หนึ่งซึ่งจะต้องผ่านไป แต่เป็นสถานการณ์หนึ่งที่เราเต็มใจเข้าไปร่วม และก็บอกง่ายๆ ว่าเขียนเพื่อการต่อสู้ เราไม่รู้สึกว่า สิ่งนี้จะถูกลดทอนคุณค่า


คือการบอกว่าเราทำงานเพื่อการเมืองทำให้งานชิ้นนี้ถูกลดทอนลงไม่ได้ จนกว่าจะรู้ว่างานชิ้นนั้นข้ามผ่านในแง่ศิลปะไม่ได้ ถ้าสมมุติว่าเราทำได้ทั้งสองอย่างล่ะ


มันต่างกับสมัยที่เขียนก่อนหน้านี้ไหม

ต่างแน่นอน ด้วยภาวะของคนสร้างต่างแน่นอน แต่เราไม่ได้รู้สึกขัดแย้งทางความคิดนะ


ความเป็นศิลปะมันต่างด้วยไหม กรอบศิลปะที่เราใช้ในการเขียนก่อนที่จะมีการเมืองเข้ามา

ไม่ต่าง กรอบศิลปะยังไม่ต่าง ถ้าคุณมีฝีมือมากพอต่อให้เป็นงานทางการเมือง งานเพื่อประชาชน งานเพื่อสังคม งานเพื่ออะไรก็ตาม บางทีแล้วศิลปะการนำเสนอยังดีกว่าคนที่ตั้งใจทำเพื่อศิลปะเพียว ๆ ด้วยซ้ำไป ถ้าคุณมีฝีมือมากพอ


พูดถึงเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ทำไมเราร้องเพลงนี้กันจนถึงวันนี้ จะมีหรือไม่มีสถานการณ์ก็ตาม แต่เพลงยังเพราะอยู่ไหม มันอยู่มาได้เพราะอะไร เพลงตั้งกี่สิบปีแล้ว ศิลปะหลายชิ้นก็เหมือนกัน ทำขึ้นเพื่อสถานการณ์ทางการเมืองแต่ว่าเราร้องเพลงได้ด้วยจิตใจที่คลี่คลาย เราอ่านได้ด้วยจิตใจที่คลี่คลายทางสถานการณ์ไปแล้ว แต่ว่ามันยังมีคุณค่าทางศิลปะซึ่งทิ้งไม่ได้ เราทิ้งงานชิ้นนี้ไปไม่ได้ แล้วเราก็ยังอยากเสพ เรายังอยากยกย่อง ยังอยากที่จะกลับมาอ่านต่อ


เราว่าสิ่งนี้มีอยู่จริง จะเถียงเหรอว่าถ้าคุณทำงานเพื่อประชาชนแล้ว เมื่อสถานการณ์ผ่านไป งานที่เขียนถึงแต่พฤษภา 53 จะต้องตกไปหมด และไม่มีคุณค่า คุณตัดสินได้จริงๆ เหรอ ถ้าเราทำงานบนพื้นฐานศิลปะ คุณจะเอาศิลปะเหล่านี้ไปทิ้งที่ไหน


ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยในแนวทางการเขียนอิงสถานการณ์อย่างนี้ บอกว่ามันเป็นการพาวงการวรรณกรรมถอยหลัง และสร้างความเกลียดชัง ยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง ทำไมไม่เขียนเรื่องรัก

เรายอมรับว่าถูกผลักมาตรงนี้ได้เพราะความเกลียดของคนอื่นเหมือนกัน  เพราะความรู้สึกทนไม่ได้ต่อความเกลียดนั้น  คุณอยากอยู่ในโลกแห่งความรักโดยที่ปล่อยให้มันถูกกระทืบไปเหอะ เพราะว่ามันขัดแย้งกัน ไม่ชอบขัดแย้งไม่อยากจะแหย่ขาเข้าไป


คือถ้าหากว่าคนคนหนึ่งกระทืบอีกคนหนึ่งอยู่ คุณเห็นอะไร เห็นความอยุติธรรม หรือเห็นความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นคุณอธิบายสิ่งที่คุณเห็นอย่างไร คุณก็ปฏิบัติอย่างนั้น


ถ้าไม่ได้เข้ามาใกล้ๆ จนกระทั่งเห็นความอยุติธรรม แต่อยู่ห่างจนกระทั่งเห็นเพียงว่า ใครมันตีกันอยู่ไกล ๆ ตัดสินไม่ได้ใครผิดใครถูก  และก็ไม่เข้ามาใกล้ด้วย แต่เราไม่ได้อยู่ห่างขนาดนั้น เราอยู่ใกล้จนกระทั่งเห็นว่าคนนี้เป็นฝ่ายกระทืบ และคนนั้นโดนกระทืบ ฉะนั้นความขัดแย้งที่เห็นอยู่ไกลๆ  เมื่อคุณตัดสินใจแล้วว่าจะไม่มองมัน  คุณก็ไม่เห็นแน่ว่ามันมีบ่อแห่งความอยุติธรรมเกิดขึ้นแล้วในประเทศนี้ วงการวรรณกรรมต้องถอยหลังอยู่แล้วเพราะประเทศมันถอยหลังไปสุดกู่  อารยธรรมเดินหน้าไม่ได้หรอกถ้าปล่อยให้ความยุติธรรมล้มหัวคะมำอยู่อย่างนั้น





งานที่เรียกว่าเพื่อการต่อสู้นี้มันเป็นอย่างไร

สังคมในยุคนี้เป็นยุคที่ถูกเปิดเปลือย สถานการณ์ทำให้ต่างฝ่ายต่างจ้องจะเปิดเปลือยกันและกัน บวกกับสภาพการณ์ของยุคสมัย ซึ่งทั้งเทคโนโลยี ข่าวสาร และการสื่อสาร ทำให้การเปิดเปลือยมีประสิทธิผลกับความรู้สึกความเชื่อของเราได้มากขึ้น  แต่ยุคนี้การเปิดเปลือยโดยการกระชากหน้ากาก ของคนที่เราคิดว่าเราเกิดแล้วตายไปอีกสองชาติ ก็คงจะไม่รู้ว่าคนบางคนเขาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด


คือเมืองไทยต้องบอกว่า พวกสร้างภาพมีเยอะมากๆ  แล้วถูกทำให้เชื่ออย่างสนิทใจ ถ้าเป็นสมัยก่อนเราคงไม่สามารถเปิดเปลือยกันได้ขนาดนี้ นี่เป็นสิ่งที่เราชอบมากเลย ชอบเฝ้าดูคน ดูสภาพการณ์ทางจิตใจว่า คุณซับซ้อนหรือเปล่า คุณชั้นเดียวหรือว่าคุณกี่ชั้น คุณพูดสิ่งนี้เพื่อสิ่งนี้จริงๆ หรือคุณพูดสิ่งนี้เพื่อสิ่งอื่น นี่เป็นความสนุกในการทำงานของเรามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว


ก็กลายเป็นการต่อสู้ด้วยความสนุกของเรา  คือเราชอบดูด้านมืดของมนุษย์อยู่แล้ว ยิ่งเป็นด้านมืดของคนที่ดูขาวๆ ก็ยิ่งน่าสนใจ  เรารู้สึกว่า ไอ้เรื่องนี้น่าคิด แล้วก็อธิบายมันใหม่ด้วยการสังเคราะห์ในแบบของเรา  สุดท้ายแล้วลักษณะแบบนี้มันเรียกว่าอะไรไม่รู้  นี่ก็ยังคงเป็นสไตล์ที่เรามีความสนุกที่จะทำมันอยู่ ยังเป็นสไตล์เดิม  เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนไม่ได้อิงสถานการณ์ จะมุ่งไปที่รายละเอียดของความเป็นมนุษย์ 


แต่ตอนนี้ต้องอธิบายสภาพการณ์ซึ่งขยายออกไปสู่สังคมหนึ่งหรือสถานการณ์หนึ่งซึ่งมีความเป็นมนุษย์เข้ามาประกอบด้วย เป็นมนุษย์ในแบบที่อยู่ในโครงสร้างของสังคมกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ที่น่าจับตาว่า บวกกับสภาพการณ์เหล่านี้แล้ว เขาใช้ความซับซ้อนแบบไหนแล้วเราจะอธิบายอย่างไรให้มันง่ายขึ้นตามสไตล์ของเรา

ยกตัวอย่างบทกวี ‘อาชญารมณ์ต่อเนื่อง’ ที่อ่านในที่ชุมนุมเสื้อแดง จะบอกได้ไหมว่ากำลังเอาสถานการณ์มาเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะ

ก็ใช่ ก็ยอมรับ มันก็รับใช้กันไปมาวนเวียนอยู่นี่แหละ คือมันเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว  เมื่อจะเขียนเราก็ต้องมีวิธีการอธิบาย นี่ก็คือภาคส่วนของศิลปะที่เราพยายามจะทำว่ามันต้องมีกลวิธีการนำเสนอ เราจะใช้ศิลปะเพื่อที่จะนำเสนอสถานการณ์นี้อย่างไร


ถ้าจับเอาจากถ้อยคำเราไม่ได้พูดถึงสถานการณ์โดยตรงเลย เรากำลังพูดถึงภาวะอารมณ์ อารมณ์หนึ่งง่ายๆ เท่านั้นเอง คือความอิจฉาริษยา จับเอาอารมณ์นี้ขึ้นมาแล้วอุปมาซ้อนลงไปโดยอธิบายอารมณ์นี้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่จริงๆ ก็ไม่ได้พูดถึงมนุษย์ พูดถึงอารมณ์นี้เท่านั้น ถ้ามันเป็นคนคนหนึ่งการเดินทางของมันจะเป็นเช่นไร


ถ้างานชิ้นนี้ไปอ่านในอีก 10 ปีข้างหน้า สถานการณ์นี้คลี่คลายไปแล้ว คนอ่านไม่ต้องไปสนใจเรื่องสถานการณ์อะไรนั่นเลย เขาจะอ่านโดยรับรู้ต่อนัยยะเรื่องความอิจฉาริษยาเท่านั้นจริงๆ โดยที่ไม่ต้องคิดถึงอะไรอื่นๆ เลย มันก็จะสมบูรณ์ในตัวเองได้


คิดว่าคนที่อยู่ตรงนั้นเข้าใจบทกวีชิ้นนี้อย่างที่ต้องการจะสื่อไหม

เข้าใจแน่นอน  เขาเข้าใจในแง่อุปมา ความพิเศษอย่างหนึ่งของงานศิลปะก็คือว่า อุปมาสะท้อนภาพจริง  พูดถึงสิ่งหนึ่งแต่กำลังสะท้อนถึงอีกสิ่งหนึ่ง


ในสภาพการณ์ที่บอกว่าต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้ามีเด็กรุ่นใหม่ได้มาอ่าน เขาอาจเข้าใจในแง่ความอิจฉาริษยาเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านหรือคนเสื้อแดงที่อยู่ในสถานการณ์นี้ เขาเข้าใจเพราะเขาเป็นเจ้าของสถานการณ์  คือเขาไม่ต้องตีความ เพราะนี่มันมาจากสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญ และเรากำลังใช้สถานการณ์เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างศิลปะ


เพียงแต่ว่าเราใช้ศิลปะทำให้อุปมานั้นไม่จำเป็นที่จะต้องอิงกับสถานการณ์ตลอดไป ถ้าตัดสถานการณ์ออกไปแล้วตัวอุปมาก็ยังมีประเด็น ก็จะเป็นงานบทกวีชิ้นหนึ่งที่พูดถึงอารมณ์อิจฉาริษยา การเดินทางของมัน จุดจบของมัน จุดเริ่มต้นของมัน 


ด้วยความที่เขาเข้าใจในเรื่องสถานการณ์ ในมุมของฝ่ายเดียวกันมันเป็นการให้กำลังใจ แต่อีกฝ่ายมองว่าเป็นการเติมเชื้อเพื่อความสะใจ

เรากำลังช่วยเขาต่อสู้ เราพูดตามตรงว่าเราไม่ได้ทำเพราะว่าเราอยู่ตรงกลาง แล้วอยากให้คนหันมารักกัน เราไม่ได้อยู่เหนือสถานการณ์ที่จะคอยช่วยไกล่เกลี่ยว่าเลิกสู้ได้แล้ว สามัคคีกันเถอะ  เราเลือกฝ่าย  ถ้าเรื่องความยุติธรรมยังไม่คลี่คลายเราจะไม่ไปพูดเรื่องรักกันหรือสามัคคีกัน  เรายังไม่เชื่อว่าทุกอย่างผ่านไปแล้ว เราไม่เชื่ออย่างนั้น

จะอธิบายกับคนที่มองว่า การกระทำเหล่านั้นกำลังสร้างความขัดแย้งเพิ่มอย่างไร

ก็ต้องบอกว่าความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นแล้วคุณยังไม่ได้รับรู้ ความตายของประชาชนที่คุณรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาเกินไปในความรู้สึกของคุณ จนกระทั่งไม่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับเขา เรารู้สึกแบบนั้นไม่ได้  แต่ถ้าพูดถึงงานที่ผ่านมาก็ต้องบอกว่ามันเป็นไปตามสถานการณ์จริงในภาวะอารมณ์ในช่วงนั้นๆ ซึ่งก็ต้องไปดูกับช่วงเวลาที่เนื้องานออกมา 


คือทำงานตามสถานการณ์มันก็จะต้องอิงกับสภาพการณ์กับภาวะอารมณ์ของเรา ในขณะนั้นๆ ด้วย ถ้าถามถึงบทกวีในช่วงนั้น เราก็ต้องตอบแบบนี้ว่า ในช่วงนั้นเราไม่ได้รู้สึกไกล่เกลี่ย ในช่วงนั้นไม่ได้รู้สึกว่าทุกอย่างจบหรือว่าอะไร บทกวีชิ้นนี้เขียนขึ้นก่อนหน้าที่จะอ่าน เราเขียนในช่วงที่สถานการณ์ยังดำเนินอยู่ยังไม่ได้จบด้วยซ้ำไป การอ่านนั้นคือเอามาอ่านทีหลังแล้ว ตอนนั้นแน่นอนเราก็เขียนบทกวีเพื่อที่จะอัดคน เขียนเพื่อการต่อสู้


พอเลือกข้างแล้วมันจะมีผลต่อการตีความของผู้อ่าน ในงานชิ้นต่อๆ ไป ตรงนี้จะทำอย่างไร จะกลับไปเขียนงานเหมือนช่วงก่อนหน้าที่จะมีเรื่องการเมืองได้ไหม

ก็ให้สิทธิ์เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์เลย  ตีความยังไงก็ได้ เราไม่ค่อยกังวลกับคนอื่นนะ ไม่เป็นไรจริงๆ เพราะเราก็เป็นอย่างนั้นต่อคนอื่นอยู่แล้วเหมือนกัน ถ้าสมมุติว่าเราตีความคุณ เราก็มีสิทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน


ในขณะถ้าเราทำงาน เรากังวลเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นสิทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ของคนอ่านที่จะตีความ และมองในแง่มุมใดก็ตาม


แต่ถ้าพูดถึงสภาพการณ์ต่อจากนั้นในการสร้างงานหรืออะไร มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเป็นเรื่องสถานการณ์มันจะมีในเรื่องของระยะเวลา มีการคลี่คลาย และกลับไปสู่จุดหนึ่ง เราก็อาจจะกลับไปเขียนงานในแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้อิงกับสถานการณ์


กระทั่งเชื่อไหมในปัจจุบันนี้ ในขณะที่มีสถานการณ์แล้วเราคิดว่าเราใช้ศิลปะในการต่อสู้อยู่ เราก็มีบางช่วงที่ต้องเขียนงานในแบบที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง ก็ยังต้องเขียนในแบบนั้นอยู่ซึ่งแน่นอนเนื้อหามันก็จะบอกเองว่า ตัวประเด็นไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับการเมือง แต่ถ้างานที่เป็นสถานการณ์มันไม่ต้องหลบ มันบอกตัวเราอยู่แล้ว ก็ต้องยอมรับการตัดสิน ยอมรับคำวิจารณ์


คิดว่างานช่วงนั้นแสดงจุดยืนของตัวเองได้อย่างครบถ้วนหรือยัง

ไม่ครบถ้วนหรอก คือถ้าจะเอาให้ครบแล้วเขียน เขียนออกมา จะได้งานที่เยอะกว่านี้มาก จริงๆ เรายังคิดถึงเรื่องว่าถ้ามันไม่ดี ก็ป่วยการที่จะทำออกมา หรือถ้าคนอื่นพูดไปมากแล้วเราก็ไม่อยากพูด คือถ้าใครทำอะไรไปเยอะๆ แล้ว ทำออกไปมันก็จะเป็นอีกจำนวนหนึ่งซ้ำๆ กับเขา ก็ไม่เป็นไรก็ไม่ต้องทำ 


หลายชิ้นที่เขียนออกมาก็ด้วยอารมณ์ของสถานการณ์ที่อยากจะบันทึก แต่ว่าเขียนแล้วในทางศิลปะก็คือไม่ดี ยังใช้ไม่ได้ เราก็ไม่ปล่อย เราก็ไม่ได้งานเยอะอย่างที่ตัวเองต้องการ ก็เป็นข้อจำกัดไปโดยปริยาย


ในเรื่องสั้นทุกข์หฤหรรษ์มีตัวละครเป็นกวีที่รักบทกวีมากกว่าสิ่งที่เขาพูดในบทกวี ถ้าเขียนบทกวีถึงเหตุการณ์บ้านเมืองถึงสังคม แท้จริงไม่ได้รู้สึกต่อมันเท่าไหร่ แวบหนึ่งเคยคิดว่าตัวเองเป็นแบบนี้ด้วยไหม

อันนี้เราคงต้องมาคิดกับตัวเอง ไม่เคยคิดเลยจริงๆ เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ลืมๆ ไปแล้ว เออใช่ มันก็ก้ำกึ่งนะ คือพอพูดถึงสิ่งนี้เลยกลับมาพูดถึงเรื่องนี้อีกว่า ทำงานเพื่อประชาชน เพื่อสังคม จริงหรือเปล่า หรือจริงๆ คุณก็ทำเพื่อศิลปะ คิดเพื่อศิลปะเยอะ แล้วยิ่งเรามีวิธีคิดด้วยว่าเราก็ทิ้งศิลปะไม่ได้ เราคิดว่ามันต้องไปด้วยกัน ต้องคู่กัน 


แต่ในสภาพการณ์หนึ่งของการตัดสินใจ ในเรื่องของประชาชนเราว่ามันไม่ได้พิสูจน์ด้วยงานเขียนเท่านั้น ตัวน้ำเสียงของงานบอกถึงจุดยืนของคุณ บอกถึงความคิดของคุณ แต่มิติอื่นของชีวิตยังมีอีกหลายภาคส่วนที่คุณไปแสดงออกในรูปแบบอื่น นี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง 


ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าการเขียนหนังสือเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่เมื่อหนังสือไปตกอยู่ในมือผู้อ่านที่มีอำนาจอาจจะเปลี่ยนโลกได้ หมายความว่าอย่างไร

คือจะบอกว่า มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่ได้เสพ คือไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอำนาจของศิลปะได้หรือเปล่า ถ้ามันเรียกได้ เราก็อยากจะบอกว่ามันมี เพราะว่าตัวเราเองถ้าไม่ได้อ่านหนังสือ เราว่าเราแย่แน่เลย ตัวเราเองไม่มีโอกาสในชีวิตมากนัก เพราะครอบครัวเป็นชาวไร่จนๆ  เหลืออยู่อย่างเดียวที่เราทำได้คือการขวนขวายอ่านหนังสือ ซึ่งไม่ต้องใช้เงิน เข้าห้องสมุดได้


เราใช้ห้องสมุดเป็นที่เดินทางทางความคิดตลอดมา แน่นอนก็ต้องให้เครดิตว่า เรามีตัวตนแล้วก็ทำงานมาจนทุกวันนี้ได้ เพราะว่าหนังสือเพราะว่าการอ่าน ถ้าหากมันมีผลไปถึงวิธีคิด มันก็ต้องมีผลต่อชีวิตอยู่เยอะพอสมควร มันไม่ใช่แค่อ่านเพื่อความบันเทิงแล้วก็ทิ้งไป


จะว่ามันไม่มีอำนาจแต่มันมีกับเรามาก แต่ในทางหนึ่งถ้าหากว่า ถามถึงภาพรวมทั่วๆ ไปว่ามันมีอำนาจที่จะเปลี่ยนอะไรได้หรือเปล่า เราก็ยังไม่แน่ใจ  เพราะว่ามันก็เหมือนลิงได้แก้ว มันไร้ความหมายมากที่เอาวรรณกรรมดีๆ ไปให้คนที่เขาก็ไม่ได้สนใจใคร่รู้อ่านอะไรอย่างนี้ 


งานในช่วงหลังปี 49 คาดหวังให้ ใคร เปลี่ยนอะไร หรือสังคมไทยจะเปลี่ยนไปทางใดถ้ามันเกิดเปลี่ยนได้ขึ้นมา 

งานมันแค่แคบๆ สถานการณ์ยังอยู่ในขั้นตอนของการต่อสู้ ถ้าฝ่ายหนึ่งยังไม่ยอมหยุดกระทืบ เราก็จะต้องเข้าไปยื้อยุดอะไรอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่งอะไรอย่างนี้  


ที่เราเขียนมันเป็นจุดเล็กๆ มันไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ที่ทำเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ๆ โตๆ ได้ เราคิดอย่างนั้นนะ กับตัวงานไม่ได้หวังอะไรมากมายขนาดนั้น  ความหวังในเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันร่วมกับคนอื่น  เราไม่ใช่คนที่เก่งกาจหรือว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่ทำงานเพื่อเสรีภาพสูงส่งอะไรอย่างนั้น จริงๆ แล้วเราเล็กมาก แค่มนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิ์ มีเสรีภาพในการตัดสินใจ แล้วเราก็แสดงออกตามจุดยืนที่เลือก อาจจะมีผลดีหรือผลไม่ดี ซึ่งถ้ามันเกิดมีผลไม่ดีจริงๆ เราก็ต้องขอโทษ แต่ว่านี่คือสิทธิและเสรีภาพ นี่คือจุดยืนที่เราได้เลือกและกระทำอย่างไม่คลางแคลง คือชอบทำแต่ไม่ชอบคาดหวัง


งานชิ้นต่อ ๆ ไปจะลงลึกไปในเรื่องที่ผ่านมา หรือว่าจะมุ่งหน้าไปสู่สิ่งใหม่

ก็ต้องดูตามสถานการณ์เลย  ฉะนั้นในสภาพการณ์ที่เราอินกับอะไรอยู่ ถึงมีความรู้สึกอยากที่จะเขียน อยากที่จะถ่ายทอดออกมา มันเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะมีความรู้สึกลงลึกในอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะเราก็มีความเชื่อมั่นว่าถ้าทำแล้วเราจะไม่ทิ้งศิลปะ ก็แน่นอนว่าสิ่งนี้จะอยู่คู่กันไป เราก็จะทำในนามของศิลปะเท่านั้น ยิ่งมีสถานการณ์ที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจมากๆ ทำให้เรารู้สึกกับมันมากๆ ก็ยิ่งดี มันจะยิ่งทำงานเพิ่มขึ้นได้


จริงๆ เรารู้สึกหมดแรงบันดาลใจมานานพอสมควร คือว่ามันเนือย หมดความตื่นตัว แล้วเพิ่งจะมามีความตื่นตัวใหม่กับสถานการณ์ทางการเมือง ก็ทำให้ยังมีความหวังต่อสถานการณ์นี้ว่าเราจะยังลงลึกกับมันได้





ท่ามกลางความขัดแย้งได้วางตัวกับเพื่อนนักเขียนที่เห็นต่างอย่างไรบ้าง

มันไม่ค่อยได้เจอ มันก็เหมือนกับตัดปัญหา ถามว่าทำอย่างไรก็คือความพยายามที่จะไม่มีปัญหา อย่างเช่นว่าจะไปตั้งวงกับคนนี้ซะหน่อยเพื่อที่จะเถียงเรื่องการเมือง อย่างนี้เราจะไม่ทำ


ซึ่งจริงๆ เราก็จะให้เกียรติเขานะ เพราะเขามีสิทธิ์ที่จะคิดต่างจากเรา เรามีความรู้สึกว่าถ้าจะไปเถียงกันเพื่อจะเอาคำตอบเราจะไม่ทำ


เราไม่เคยทะเลาะกับใครเลย เอาอย่างนี้ดีกว่า เราเลี่ยงนะ ไม่คุยเรื่องการเมือง ถ้านั่งกันอยู่แล้วคนนี้คิดต่างขึ้นมา เราฟังได้เราจะฟังเขา ฟังไปเรื่อยๆ เราจะไม่ทะเลาะด้วย เก็บข้อมูลอย่างเดียว ฟังได้ แต่หลังจากนั้นเราอาจจะรู้สึกในใจแล้วแอบมาคุยกันเองกับพี่ประกาย แต่นั่นก็คือเก็บเอามาวิเคราะห์มาพูดอะไรทีหลัง เราจะไม่ทะเลาะด้วยในประเด็นทางการเมืองกันต่อหน้า ไม่ทะเลาะในวงเหล้า ตามอินเตอร์เน็ตอะไรอย่างนี้ เราไม่ชอบอารมณ์นั้นซึ่งไม่เป็นบวก ไม่มีประโยชน์ ไม่ไปสู่สิ่งที่รู้สึกว่าจะดีขึ้น แต่เมื่อคนอื่นพูดกันแล้วมีประเด็นที่เราควรจะตอบให้ได้จะเก็บมาตอบด้วยตัวของเราเอง


กับคนอื่นอาจจะไม่มีแล้วกับประกาย

กับพี่ประกายนั่นคุยทุกเรื่องอยู่แล้ว ถ้าขัดแย้งก็คุยกันทุกเรื่อง คุยกันจนกว่าที่จะเคลียร์ ส่วนใหญ่มันไม่มีปัญหาอะไรที่หนักหนา เพราะว่าเราไม่เคยทะเลาะกันเลย เราคุยกันเยอะมากๆ แต่เพราะว่าไม่เคยมีอารมณ์ที่ไม่ดีต่อกันเป็นพื้นฐาน อันนี้อาจจะช่วย มันก็เลยทำให้ไม่เป็นการทะเลาะกัน ก็คุย ก็ชอบคุยอยู่แล้ว มันไม่ค่อยมีเพื่อน ไม่ค่อยมีคนอื่น (หัวเราะ) 


เพราะว่านิสัยแบบนี้ การอยู่กันสองคนทำให้เราไม่ค่อยง้อคนอื่น ทำให้เราอยู่กับพี่ประกายด้วยสถานะของเพื่อน ไม่ค่อยจะอยู่กันแบบครอบครัว ลูกก็ไม่มีอยู่แล้ว มันเลยเป็นเพื่อนกันมากขึ้นๆ จนกระทั่งการพูดคุยหรือการเสพอะไร มันไม่มีลักษณะของคนที่เป็นครอบครัว แบบสามีภรรยา ไม่ได้ทะเลาะกันมาเป็นสิบปีแล้ว (หัวเราะ) เป็นเพราะคุยกันเยอะมาก พอไปเจอคนอื่นเราฟังได้หมด ไม่ค่อยอยากเถียง


ไม่มีความรู้สึกเมื่อได้ยินการพูดอย่างไม่เป็นธรรมแล้วอยากจะโต้แย้ง 

นั่นน่ะเชื่อไหม เราทนได้


หรืออย่างน้อยการพูดที่อาจจะขาดข้อมูลแล้วเขาอาจจะเข้าใจผิด

มีบ้างนะมีบ้าง เราจะน้อยกว่า แต่พี่ประกายจะเถียง จะแย้ง พี่ประกายเป็นคนที่มีอารมณ์มากกว่าเรา เราจะนิ่งกว่า ได้ ฟังได้ (หัวเราะ) ฟังได้ตลอด 


เรารู้สึกว่า คุณเชื่ออย่างนั้นอยู่แล้วล่ะ คุณมาเพื่อที่จะเถียง แล้วเราก็จะนั่งฟัง เรามีความคิดที่จะถอยจากสถานการณ์ตรงหน้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะอยู่ในระยะหนึ่ง แล้วเราจะเฝ้าดูเขาได้ แต่ถ้าไปร่วมเถียงมันเหมือนว่าเราจะตกอยู่ในอารมณ์หนึ่ง ซึ่งก็ไม่ค่อยทำแบบนั้นเพราะไม่ใช่นิสัย แต่มีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า คนเราจะมีน้อยมากที่พูดคุยกันเพื่อที่จะรับสารของคนอื่นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะฉะนั้นเราไม่เชื่อว่าคุณมาเพื่อรับฟังยอมรับและเปลี่ยนแปลง การที่เราไปโต้เถียงกับใครนี่น้อยมากเลย


แล้วถ้าเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยน

คุยได้ แต่ถ้าเกิดอารมณ์เราก็จะหยุดทันที ถ้าหากเป็นด้วยอารมณ์ที่ดีมาก ๆ แล้วเป็นการพูดคุยเฉย ๆ แบบนี้คุยถึงไหนก็ได้ แต่ถ้าหากว่าเป็นอารมณ์ขัดแย้งซึ่งสิ่งที่เขาพูดมาร้อยเปอร์เซ็นต์เรารับไม่ได้อยู่แล้ว แบบนี้เราจะเงียบนะ เพราะเรารู้ว่าถ้าเราพูดมันจะพูดด้วยการตีโต้ทั้งหมด


มันจะราบรื่นไปได้ถ้าหากว่าเราฟังคุณ แต่มันจะไม่ราบรื่นถ้าเราเป็นเหมือนคุณ เราก็ใส่คุณคุณก็ใส่เรา ถ้าคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ดีๆ มันงอกงามได้นะ การโต้เถียงจะทำให้งอกงาม แต่เราเป็นคนระวังเรื่องอารมณ์เยอะ และก็ไม่ค่อยเชื่อถือต่อมนุษย์ มีเยอะในเรื่องอารมณ์น่ะ ถ้าเราเห็นว่าคุณเริ่มมีอารมณ์แล้วไม่เป็นบวกแล้ว หยุด หยุดทันที


จากการศึกษาเรื่องของคนผ่านงานคิดว่าตัวเองได้ลงไปลึกแค่ไหน ระดับไหนแล้ว

ไม่รู้ (หัวเราะ) ประเมินตัวเองไม่ถูก เอาเป็นว่าเราแค่บอกถึงตัวเองได้ว่า ชอบ แล้วเราก็จะทำเรื่องนี้เพื่อความสนุกสนาน ด้วยความรู้สึกตื่นตัวที่จะเฝ้าดู เราว่าเราเป็นนักสังเกตการณ์ที่ดีนะ เราไม่เอาตัวเข้าไปยุ่งมาก การนั่งสังเกตทำให้เห็นได้มากขึ้น สมมติว่าเราร่วมทะเลาะอะไรกับคนหนึ่ง ตัวเราขณะที่แสดงออกจะหยุดสังเกตการณ์ จะเกิดภาวะคล้ายๆ การต่อสู้ เราก็จะมีฉันทคติกับตัวเอง  และเราก็จะอคติกับเขา แต่ถ้าเราไม่เข้าไปร่วมโต้เถียง ก็มองเขาเฉยๆ เชื่อไหมเรามีความรู้สึกว่า เราเป็นนักสังเกตการณ์ที่มีความเป็นธรรมพอสมควร ไม่ได้เพื่อความมีคุณธรรมอะไรหรอก แต่เพื่อว่าทุกอย่างที่เรามองจะชัดขึ้น


ผิดหวังกับการแสดงออกของวงการวรรณกรรมโดยภาพรวมไหม

เราไม่ค่อยหวังมาตั้งแต่แรกแล้วน่ะสิ  คือมีความรู้สึกไม่ค่อยดีกับแวดวงเป็นพื้นอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยผิดหวัง  เรามีความผิดหวังกับภาพรวมของสังคมไทยเลยมากกว่า


โดยภาพของสังคมที่เรามีความผิดหวัง เรียกรวมๆ ว่าปัญญาชน ซึ่งมันก็อยู่ในภาคของนักเขียนเยอะที่สุด แล้วเราก็ต้องบอกว่าส่วนมากในแวดวงนักเขียนของเรามันก็หนักเอาการกว่าแวดวงอื่นด้วยซ้ำ แต่อาจจะเพราะเราอยู่ในแวดวงนี้เราก็พูดอย่างนี้ เพราะไม่รู้ว่าแวดวงอื่นเขาแค่ไหนกันบ้าง 


แต่ในแวดวงนักเขียน ด้วยความที่เราเป็นนักเขียนและสัมพันธ์อยู่แล้ว มีจุดยืนมีความเป็นนักเขียนในแบบที่เลือกที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับแวดวงมากนักมาตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว คือไม่รู้ว่าระบบอุปถัมภ์ที่อื่นเขามีกันมากแค่ไหน เรารู้สึกไม่ดีต่อระบบอุปถัมภ์ในแวดวงวรรณกรรม เพราะเราเห็นได้ชัด เราเห็นตรงนี้ก่อนหน้าที่จะมีสถานการณ์การเมืองแล้ว  ก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งหรือทำอะไรในแวดวงมากนัก นี่ก็คือการตัดสินอย่างหนึ่งต่อแวดวงวรรณกรรมว่า เราก็มองแวดวงด้วยสายตาที่ไม่ค่อยดีนักมาตั้งแต่เริ่มแรกอยู่แล้ว ที่นี้พอมาบวกกับสถานการณ์ มันก็กลายเป็นว่า แวดวงวรรณกรรมในบ้านเราสามารถวางภาพซ้อนลงบนการเมืองระดับประเทศได้พอดีเลย ไม่เสียแรงที่มีระบบโซตัสแข็งแกร่งมานาน


ที่กระทบต่อจิตใจก็มีเป็นคนๆ บ้างเท่านั้น ที่เราไปหวังไปอะไรในตัวเขาอยู่บ้าง แต่ว่ามันก็ไม่ได้มากหรอก เราเป็นคนทำใจเก่ง (หัวเราะ) ฉะนั้นความผิดหวังโดยรวมต่อสังคมนั้นชัดเจนกว่า


Comments