บทสัมภาษณ์ อนุสรณ์ ติปยานนท์ กับจุงกิง เซ็กซ์เพรส ฉบับเต็ม




เรื่องและภาพ กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไชน์

หมายเหตุ - การพูดคุยเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน (ไม่เยอะ)



ส่วนผสมของการเริ่มต้น

เหตุการณ์มันเล็กมากเลยก็คือมันเริ่มจากการที่ผมไปอ่านหนังสือของอาจารย์พวงทิพย์ที่พูดถึงทางรถไฟอาทิตย์อุทัยในสยาม ก็มีบันทึกในบทที่ 5 เรื่องการเปิดสถานที่หย่อนใจทหารญี่ปุ่น พูดง่ายๆ ต้องมีการผ่อนคลาย รัฐบาลไทยจะต้องให้บริการทางเพศ ก็ดีลกันกับเจ้าของโรงแรม มีฉากที่ไปเรียกเจ้าของโรงแรมมาคุย เจ้าของโรงแรมเป็นคนจีน ทีนี้ตัวโรงแรมในบันทึกนี่มันชื่อโรงแรมจุงกิง แต่ว่าเขาเขียนภาษาแบบโบราณนะว่า ยุงฮิง ผมก็แบบ เฮ้ย แม่งเท่ว่ะ โรงแรมจุงกิง ในฐานะที่เราเคยชมภาพยนตร์ของหว่องกาไวเรื่อง จุงกิง เอ็กซ์เพรส เราก็คิดตอนนั้นว่า เออ เราน่าจะเขียนอะไรสักนิดหนึ่งมั้ย ตอนนั้นก็คิดว่าอาจจะเป็นแค่เรื่องสั้นสักเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องผู้หญิงที่ถูกจับมาขายบริการในลำปาง ไปๆ มาๆ ก็ได้ชื่อว่า “จุงกิง เซ็กซ์เพรส” ก็เอาชื่อนี้เขียนติดไว้ที่โต๊ะทำงานอยู่หลายเดือน เพราะผมก็ยังไม่มีความรู้สึกว่าจะเริ่มต้นเรื่องยังไง ก็คิดกับมันและเริ่มต้นหาข้อมูล มันก็มีข้อมูลบางส่วนอยู่แล้วตอนที่เราเขียนเรื่อง 8 ½ ริกเตอร์ ซึ่งมันเป็นเรื่องทหารญี่ปุ่นในกาญจนบุรี พอเริ่มต้นอ่านไปเรื่อยๆ มันก็ไปเจอหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล อยู่ในบทที่ 1 บันทึกการประชุมของคณะรัฐมนตรี ตอนที่เล่าเรื่องเกียวกับจอมพล ป. กับสงครามโลก พอเล่าเสร็จปุ๊ปก็เลยรู้สึกว่า เออ ถ้างั้นเราเขียนในกรอบแบบนี้มั้ย ว่าเราพูดถึงกรอบใหญ่ก่อน ก็คือตัวสงครามโลก แล้วมันต่อมาจนถึงประเด็นที่ว่า มันมากระทบตัวปัจเจกบุคคลตัวเล็กๆ คือเรื่องคอมฟอร์ทวูเมน 



คอมฟอร์ทวูเมน

คือคอมฟอร์ทวูเมน หรือเรียกว่าผู้หญิงปลอบประโลม หรือผู้หญิงที่ถูกจับมาบังคับให้บริการ มันเป็นเรื่องแบบ- คนก็รู้ ผมก็เห็นข่าว ซึ่งตอนที่ญี่ปุ่นไปเกาหลีเนี่ย รัฐบาลเกาหลีก็ขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นขอโทษอย่างเป็นทางการ เป็นประเด็นใหญ่อยู่ เราก็เลยรู้สึกว่า โอเค เดี๋ยวเรามองซิว่า แสดงว่าประเทศไทย แม้จะเป็นเมืองพุทธมาก่อน เราก็ยังทำเรื่องนี้ พูดง่ายๆ ก็หาผู้หญิงมาบริการให้กับกองทัพญี่ปุ่น ก็เริ่มต้น เสร็จแล้วก็ไปเจอบันทึก น่าจะเป็นของทูต อาซาดะ ชุนสุเกะ เรื่องคุณวนิช ก็เอามาโยงว่า เอ้ย มันเหตุการณ์เยอะนี่หว่า คิดไปคิดมาก็ เอางี้ดีกว่า เราได้ข้อมูลระดับหนึ่งแล้ว ลงพื้นที่จริง ผมก็ไปลำปาง ไปอยู่โรงแรมริมแม่น้ำวัง เกสต์เฮาส์เล็กๆ กลางวันก็เดิน เดินเช้าเดินเย็น ก็ไปเจอคนที่เขาทำเรื่องประวัติศาสตร์ลำปาง ก็เลยได้มีโอกาสไปนั่งคุยกับเขา แกก็อายุมากแล้วนะ ก็ไปดูตรงพื้นที่ที่แกบอกว่ามันมีผู้หญิงมาขายบริการอยู่ ผู้หญิงบริการตรงนี้ซึ่งก็เป็นพื้นที่เดียวกับที่โรงแรมจุงกิงตั้ง ซึ่งตอนนี้ก็เป็นห้างสรรพสินค้า เป็นร้านขายแว่นตาไปแล้ว พอเราเห็นพื้นที่จริงแล้วก็กลับมานั่งสเก็ต ออกแบบความคิด ว่าเราจะพูดเรื่องนี้ยังไง จริงๆ มันก็เป็นรีเลทของจุงกิง เซ็กซ์เพรสกับ จุงกิง เอ็กซ์เพรส ไปจนถึงหนังหว่องกาไวอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องนักฆ่าตาชั้นเดียว ก็เอาตัวละครที่เป็นนักฆ่ามา มีตัวละครที่เป็นนักฆ่าละ มีตัวละครที่เป็นคอมฟอร์ทวูเมนละ ตัวละครอีกตัวนี่มันมาจากบันทึกของ ทามายามา อันนี้อยู่ใน บทที่ 7 เป็นหนังสือเล่มใหญ่ ปกแข็ง ชื่อว่า “เรื่องเล่าของทหารญี่ปุ่น” หรือ Tales By Japanese Soldiers คือในเล่มนั้นเนี่ย มันจะเล่าตั้งแต่ตอนเริ่มต้นสงคราม เล่าว่าไปเกณฑ์คนมาจากไหน จากโรงเรียนไฮสคูล เอาเด็กไปรบในฟิลิปปินส์ รบในไต้หวัน จนท้ายๆ เรื่องมันจะเป็นบันทึกหลังจากพ่ายสงคราม คือหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้ที่อิมพาล อินเดีย ต้องถอนทัพกลับมา เดินเท้ากลับมาเมืองไทย ทางแม่ฮ่องสอน ซึ่งฉากนี้ผมก็พบว่า เออ มันมีฉากที่ผมเขียนอยู่ ตอนที่ผู้พันพาคนไปตกเขา จริงๆ อันนี้อยู่ในเรื่องเล่าของทหารญี่ปุ่น แต่ว่าไม่ได้เป็นแบบในนิยาย คือฮิโนดะนำกองทัพทั้งหมดกลับมามอบตัว 


เรื่องนี้น่าสนใจ คือมันมีประวัติศาสตร์อยู่นิดหนึ่ง ก็คือตอนที่กองทัพญี่ปุ่นตั้งทางเหนือไม่ได้ตั้งที่เชียงใหม่ กองทัพญี่ปุ่นตั้งที่ลำปาง เพราะลำปางน่าจะเป็นเส้นทางที่เครื่องบินบินตรงที่สุด จากลำปางเข้าตากแล้วไปถล่มพม่า แล้วหลังจากที่แพ้ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นที่ลำปาง ซึ่งดูแลกองทัพญี่ปุ่นที่ลำปาง ก็ฮาราคีรีที่ลำปาง บ้านพักที่แกอยู่น่าจะเป็นหนึ่งในเรือนของเจ้าบุญวาทย์ ตอนที่อ่านเอกสารนั่นก็คิดว่า เออ ฮิโนดะ ก็คงมาเตรียมตัวตายที่ลำปาง 




เสียงของผู้ที่ไม่อยากถูกบันทึก

ผมใช้วิธีเขียนแบบเอาเกร็ดตรงนั้นตรงนี้มาแทรกกับเรื่องแต่งของตัวเอง แล้วก็ให้มันมีเสียงหลายเสียงอยู่ในนั้น เสียงของผู้หญิง เสียงของผู้ชาย เสียงของนักฆ่า ตัวคนเล่าเรื่องก็เหมือนกับตอนที่ผมไปค้นหาโรงแรมจุงกิง ก็เดินไปตามพื้นที่ที่เขาบอก แถวถนนเจริญเมือง ตำแหน่งของวัด ตำแหน่งของอะไรอย่างนี้ เสร็จแล้วก็เห็นว่ามีตึกอยู่สองชั้นเป็นอาคารตรงหัวมุม ก็คิดว่าตรงนั้นน่าจะเป็นโรงแรมจุงกิง พอเราเห็นฟิลลิ่งนั้น เป็นร้านข้าวต้มก็เข้าไปนั่งแล้วแหงนมองเพดาน ก็ได้พล็อต เราก็มีทั้งคนที่เข้าไปเสาะหาประวัติศาสตร์ จะเป็นในฐานะที่ตัวเองกลับชาติมาเกิดใหม่มั้ย ก็เป็นการสร้างพล็อตที่ทวิสต์ขึ้น กับคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์จริงๆ กับคนที่หายสาบสูญไปจริงๆ คือคนที่หายสาบสูญมันน่าเศร้า แม้แต่ฮิโนดะหรือหลายคน ถูกจดจำในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์ แต่พวกคอมฟอร์ทวูเมน ผู้หญิงที่ถูกบังคับให้มาขายบริการทางเพศ ไม่มีใครจดจำในฐานะประวัติศาสตร์ สิ่งที่เขาจำก็เป็นบาดแผลของเขา เขาถูกบังคับให้มาให้บริการทางเพศ แต่ตัวเขาเองไม่มีชื่อ ไม่มีใครอยากมีชื่อ ไม่มีใครอยากถูกบันทึก 


ถามว่าจริงๆ แล้วเมืองไทยมีมั้ย หลังจากเขียนหนังสือไปประมาณสักปีสองปี ผมก็ไปเจอหนังสือของคุณดำริห์ เรืองสุธรรม ชื่อว่า ขบวนการแรงงานไทยในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น พิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ เล่มนี้ดีมากเลย น่าจะเอามาพิมพ์ใหม่ คุณดำริห์แกเป็นผู้นำกรรมกร ซึ่งตอนนั้นเวลาเรามองความจริงว่า เอ๊ะ คนต่อต้านญี่ปุ่นมันคือเสรีไทยเนาะ จริงๆ มันมีหลายกลุ่มนะ มันมีกลุ่มแรงงานกรรมกรจีน ซึ่งก็โคกับรัฐบาลของจีนตอนนั้น ก็มีความพยายามจะต่อต้านญี่ปุ่น ในลักษณะที่เป็นเหมือนแพนเอเชีย คือทั่วเอเชีย 


คุณดำริห์ก็เล่าฉากหนึ่งน่าสนใจมากเลย แกเล่าว่า มันมีแคมป์ของทหารอยู่ตรงคลองแสนแสบ ตรงประตูน้ำ บริเวณที่ตอนนี้เป็น เวิล์ดเทรด เซ็นเตอร์ เป็นอิเซตัน เป็นอะไร ตอนนี้เป็นบิ๊กซี ตรงนั้นน่ะฮะ ตรงเฉลิมโลก แล้วก็มีผู้หญิงเกาหลีกับผู้หญิงจีนถูกบังคับมาขายบริการทางเพศ แล้วก็กรรมกรจีนตัดสินใจว่าจะบุกไปช่วย ก็เอาเรือไปเทียบที่คลองแสนแสบ บุกเข้าไปในค่าย เอาผู้หญิงออกมาได้ โห เป็นวีกรรมที่ห้าวหาญพอสมควรนะ คือค่ายของทหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ จะอยู่เป็นจุดๆ จุดใหญ่จุดหนึ่งคือที่สวนลุม โรงเรียนเตรียมอุดม อันนี้ผมเขียนไว้ใน 8 ½ ริกเตอร์ จุฬาลงกรณ์ พวกนี้ เป็นแคมป์ทหารญี่ปุ่น ส่วนศูนย์บัญชาการจะอยู่ตรงสาทร ที่ตอนนี้เป็นร้านอาหารชื่อว่าบลูเอเลเฟน เส้นทางที่มันวิ่งตั้งแต่ราชประสงค์มา พญาไท พวกนี้มันคือพื้นที่ของกลุ่มทหารญี่ปุ่น การที่กรรมกรแรงงานจีนไปทำอย่างนั้นถือว่าอาจหาญมาก แล้วก็เป็นหลักฐานว่ามีคอมฟอร์ทวูเมนอยู่ในไทยจริง นอกจากที่ลำปาง ย่านนั้นก็เป็นย่าน เรียกว่าโคมแดงก็ได้ แถวเจริญเมือง 



โครงสร้าง

จริงๆ มันคือการพยายามเขียนสิ่งที่เรียกว่าพื้นที่ขึ้นมาใหม่ เรารีคอนสตรัคสเปซของลำปางขึ้นมา วันนั้นก็คุยกับ โย คนออกแบบปก คุณกิตติพล สรัคคานนท์ มันมีคนที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามีเรื่องของสถาปัตยากรรมอยู่เยอะ ส่วนหนึ่งก็เพราะผมคิดว่ามันคือการคอนสตรัค คือการสร้างพื้นที่ขึ้นมาใหม่ การสร้างพื้นที่ใหม่ในทางสถาปัตยากรรมมันมีรูทบางอย่างอยู่ แล้วเราพยายามที่จะตีความไอ้ตัวรากเหง้าของพื้นที่อันนั้นขึ้นมา มันคือความคิดแบบสถาปนิก ที่มองว่าทุกอย่างมันมีรหัสลับของพื้นที่ว่างอยู่ ก็เลยเอามารวมกับตรงนี้ 


มันจะเป็นเรื่องที่พูดถึง ความตาย ที่ว่าง ประวัติศาสตร์ จริงๆ มันเป็นหนังสือที่แบบ -ก็ทะเยอทะยานนะ ในเล่มบางๆ เนี่ย อะไรก็ไม่รู้ของมันเต็มไปหมด ตอนเขียนเสร็จก็เหนื่อยนะ แม้ว่าจะบาง เพราะว่ามันมีข้อมูลประวัติศาสตร์เยอะ ตอนพิมพ์ใหม่ก็ได้อีดิทเพิ่ม แก้ไขตามคำแนะนำของคุณวาด รวี ที่เป็น บก. จริงๆ ฉบับที่สองนี่เราจะรู้สึกว่ามันมีความสมูทขึ้นในการอ่าน มันมีความกระชับ มันมีความ precisely คือแม่นยำขึ้นเนาะในทางประวัติศาสตร์ 




ทำไมเลือกเปิดเรื่องด้วยเอกสารบันทึกการประชุมรัฐบาล

บันทึกการประชุมมันน่าสนใจ คนแรกที่พูดคือหลวงอดุล หลวงอดุลตอนหลังก็เป็นตัวละครสำคัญ เพราะแกตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในประเด็นที่ว่าคุณวนิชเสียชีวิตยังไง หลวงอดุลมีชื่อเสียงว่าเป็นนายพลตาดุ เป็นประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงความน่าเคลือบแคลงของการเข้ามาของกองทัพญี่ปุ่น ถ้าคุณอ่าน อยู่ดีๆ เนี่ย ในวันที่ญี่ปุ่นบุก เราติดต่อนายกรัฐมนตรีเราไม่ได้ จอมพล ป. หายไปไหนวะ หายไปจากซีนน่ะ คือแบบ โห เขารบกันอุตลุด ตั้งแต่ปากน้ำมาถึงพระขโนง ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามาคนก็รบ ที่ภาคใต้ด้วยนะ ที่มีอนุสาวรีย์จ่าดำอยู่แถวสงขลา คือไม่ยอม เพราะว่ามันไม่มีคำสั่งจากส่วนกลางว่าจะสู้หรือจะยอม เพิ่งมาประชุมกันตอนกี่โมง ตอนเช้า เขารบกันไปแล้วเมื่อคืน แล้วนายกรัฐมนตรีหายไปไหน มันก็มีนักประวัติศาสตร์หลายคนตั้งข้อสันนิษฐานว่าจริงๆ จอมพล ป. อาจจะรู้ตั้งนานแล้วว่าญี่ปุ่นจะบุก แต่ถ้าปล่อยให้ญี่ปุ่นเข้ามาแบบ ไม่สู้ ก็ดูไม่ดี เพราะเคยประกาศว่าเราเป็นประเทศเอกราช เพราะฉะนั้นก็ต้องสู้ แต่ว่าจะสู้ถึงจุดไหน สู้พอสมควรแก่เหตุก็โผล่ออกมา ก็มาประชุมกัน ครั้งที่ 2 อยู่ดีๆ จอมพล ป. เข้ามาพร้อมกับ วนิช ปานะนนท์ บอกว่าโอเค จะให้เขาผ่าน ทำข้อตกลงที่รุกรานกัน ก็อยู่ในหนังสือนายพลชาวพุทธที่มติชนพิมพ์ อันนั้นก็มีบันทึกที่น่าสนใจ ไทยนี่น่าจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีความขัดแย้ง ความขัดแย้งใหญ่ที่สุดของกองทัพญี่ปุ่นกับคนไทยน่าจะอยู่ในเหตุการณ์บ้านโป่ง ซึ่งผมไปอ่านในหนังสือเรื่องแม่ของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มันเป็นเรื่องของชาวบ้านเอาอาหารไปให้เชลยศึก แล้วทหารญี่ปุ่นไม่พอใจ ก็เลยเกิดการทุบตีชาวบ้าน ชาวบ้านก็ลุกฮือขึ้นมา เป็นเรื่องใหญ่มาก กองทัพญี่ปุ่นถึงกับต้องถอยกรูด แล้วขอโทษขอโพย ถ้าเทียบกับสิ่งที่ญี่ปุ่นทำในจีน อย่างกรณีที่นานกิง ญี่ปุ่นไม่ได้ขอโทษอะไรเลย เป็นเคสที่เรียกว่าญี่ปุ่นค่อนข้างเกรงอกเกรงใจ หรืออยู่กับไทยแบบประนีประนอมมาก ก็เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจ 



การตัดสินใจของจอมพล ป.

มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนนะ จะว่าเราไม่ตรงไปตรงมาก็ได้ คือจอมพล ป. ก็ตกลง เราต้องยอมรับว่า จอมพล ป. มีลักษณะฟาสต์ซิสอยู่สูงนะ งานประวัติศาสตร์หลายอันที่เห็นว่าแกเป็นคนที่ชื่นชมเยอรมัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่รอบๆ ตัวแก ไม่ว่าจะเป็นหลวงวิจิตร หรือใครต่อใคร คือกรณีที่แกไปยึดอินโดจีนคืน ตั้งแต่ พระตะบอง เสียมเรียบ ไปจนถึง จำปาสัก ต้องยอมรับว่าตอนที่ตีฝรั่งเศสแตกแล้วไปทำแผนที่ใหม่ ญี่ปุ่นเป็นคนเข้ามาใกล่เกลี่ย ก็ไปที่ญี่ปุ่น ไปทำหนังสือกันที่โตเกียว ตอนนั้นจอมพล ป.ก็มีสัมพันธไมตรีอันดีกับกองทัพญี่ปุ่นในระดับที่ลึกแล้ว แต่การเมืองไทยมันมีอาการแบบ -ลับลมคมนัย พูดง่ายๆ ก็คือว่าคนที่โปรญี่ปุ่นแล้วถล่มฝรั่งเศส คือ จอมพล ป. ทั้งที่จอมพล ป.ก็เป็นศิษย์เก่าฝรั่งเศส ในขณะที่คนโปรฝรั่งเศสในรัฐบาลจอมพล ป. คือคุณปรีดี อาจจะไม่แฮปปี้นะ คือในสงครามโลกฝรั่งเศสถูกเยอรมันเล่นซะน่วมใช่ไหม ในที่สุดก็มีขบวนการต่อต้านของฝรั่งเศส มันก็เป็นเรื่องที่กระอักกระอ่วนกันพอสมควรว่าสุดท้ายเราไม่ใช่ผู้แพ้ เราก็เล่นดับเบิลเฟซ ตีสองหน้า จนจบสงคราม สมมติว่าจอมพล ป. รู้เห็นเป็นใจกับอาจารย์ปรีดี ตั้งแต่ต้น มันก็คลาสสิกมากเลย ไม่ว่าการตัดสินใจของจอมพล ป.จะเป็นยังไง มันไม่มีเอฟเฟค ชนะเราก็ได้ แพ้เราก็ได้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ผมคิดว่าในการชำระประวัติศาสตร์ตอนนั้น แม้กระทั่งตอนที่แพ้ เหมือนกับว่า คุณเสนีย์ ปราโมช เป็นคนที่ไปเคลียกับอเมริกาให้ ซึ่งก็ยังเป็นข้อที่ถกเถียง เรื่องนี้คงต้องฝากอาจารย์ณัฐพล ใจจริง เขียนอีกสัก 4-5 เล่ม 



เป็นคนที่ชอบค้นข้อมูลจากหนังสือเก่า

จริงๆ เดี๋ยวนี้ผมเริ่มเป็น มาริเอะ คนโด แล้วนะ เริ่มทิ้งข้อมูลแล้ว เริ่มเป็นมินิมอลลิสต์ ยุคหนึ่งเดินตลาดหนังสือเก่าเนาะ เพื่อเก็บข้อมูลบางอันมาใช้ เยอะ เป็นตั้งๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกว่า มันทำให้เราเข้าใจพัฒนาการเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองในไทยมากขึ้น ยุคนั้นเวลามีชุมนุมทางการเมืองก็จะมีแผงหนังสือเล็กๆ มาวางขายตามมุมนั้นมุมนี้ ก็จะมีหนังสือดีๆ มา ก็จะได้ซื้อกันแล้วก็เก็บ ก็ยังมีเอกสารที่ร้านขายของเก่าที่ผมไปเจอมา ก็เอามาใช้ เป็นคนที่เก็บข้อมูลอย่างนี้อยู่ตลอด มีความสุขเนาะ ในฐานะนักเขียน มันเหมือนกับว่า เรื่องเล็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจ มันจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเราเสมอ



จะเขียนแล้วจึงไปค้น หรือใช้ข้อมูลที่มีเก็บไว้ 

ต้องทำทั้งสองอย่างนะ อย่างตอนนี้ จะเขียนเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเขมร ก็อ่านไปเรื่อยๆ ก็สะสมไป แต่ว่าพอเริ่มต้นลงมือเขียน จะเห็นแล้วว่ามีช่องว่างตรงไหน เราก็ไปหาข้อมูลเพิ่ม อย่างลงไปใต้ครั้งนี้ก็ได้ข้อมูลมาเพิ่มเกี่ยวกับกองทัพญี่ปุ่นในภาคใต้ ตอนหลังผมมาสนใจเรื่องอาหาร มันก็มีอาหารอันหนึ่ง ซึ่งก็คุยกันตลอด ก็คือปลาหมึกที่ยัดไส้ด้วยข้าวเหนียวในภาคใต้ ยัดไส้ข้าวเหนียวดำ ยัดไส้ข้าวเหนียวโน่นนี่ มีคนก็บอกว่าส่วนหนึ่งมันเป็นผลิตผลจากอาหารที่ญี่ปุ่นมาสอนคนใต้ ซึ่งจริงเท็จเดี๋ยวว่ากันอีกที แต่ว่ามุมมองแบบนี้ทำให้เราได้เห็นอะไรบางอย่าง การผสมผสานเรื่องเล่าในพื้นที่ กับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในฐานะนักเขียนเนี่ย มันมีคำหนึ่ง เราใช้คำว่าโบรวอัพ ก็คือ การขยาย เหมือนกับว่า เอาไอ้เหตุการณ์เล็กๆ นี่แหละ ขยายขึ้นไป บางคนก็โบรวอัพจากเรื่องราวจิตใจของตัวละคร อย่างดอสโตเยฟสกีอย่างนี้ คือขยายจิตใจของตัวละคร ให้เหมือนเราเดินเข้าไปในจิตใจของตัวละคร แต่บางคนก็โบรวอัพในเรื่องของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ อย่างนักเขียนที่ทำงานประวัติศาสตร์อย่างปีเตอร์ แครี เรื่องหนึ่งที่เขาทำดีมากก็คือ เอาเรื่องจอมโจรที่ชื่อว่า เนด เคลลี มาเขียนใหม่ ก็คืออย่างนี้ คุณก็ต้องโบรวอัพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ขึ้นมา 




ทำไมเรื่องนี้มันต้องเล่าด้วยวิธีแบบนี้ 

ก็เริ่มต้นเขียนแบบธรรมดา เขียนบทที่สองแหละ ผมฝันถึงโรงแรมจุงกิงบ่อยครั้ง... เขียนไปแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยชอบถ้ามันจะดูซ้ำๆ ก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า เราเขียนหนังสือแบบรีคอนสตรัคดีไหม ก็เป็นความคิดแบบง่ายๆ เหมือนกับตอนที่ผมไปเห็นโรงแรมจุงกิง ถ้างั้นเรารีโนเวทมันได้ไหม สมมติผมมีไม้อยู่ คุณมีปูน คุณเอาปูนให้ผม ผมเอาไม้ให้คุณ เรามาผสมกันเป็นอาคารใหม่ได้ไหม โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเริ่มจากการหล่อปูน คุณมีสังกะสี ผมมีกระเบื้อง มามุงหลังคาด้วยกัน ผมก็เลยคิดว่า มันมีข้อมูลเก่าแล้ว เอามาผสม มารีคอนสตรัคกับที่ผมเขียนดีไหม แล้วสร้างอันหนึ่งที่เรียกว่าแพทเทิร์นของการรับรู้ของคนอ่าน กระโดดไปมา บทเลขคี่เป็นข้อมูล บทเลขคู่เป็นเรื่องแต่ง ไปจนถึงระดับหนึ่ง สักสิบกว่าบทได้มั้ย พอให้คนอ่านจับแพทเทิร์นนี้ได้ แล้วเราค่อยลุยเข้าไปสู่เรื่องเล่า เป็นการทดลองเนาะ ผมก็เขียนไปเรื่อยๆ จนในที่สุดมันก็กลายเป็นเหมือนกับแบบ -ประมาณบทที่ 27.. หลังบทที่ 30 ท้ายๆ แล้ว มันไม่มีการจัมพ์อีกต่อไปแล้ว มันเป็นเรื่องเล่าไปแล้ว เนื่องจากเรื่องเล่ามันมีหลายเสียง พอมันจัมพ์มันกลับมาอยู่ตรงนี้ปุ๊ปคนอ่านก็จะไม่มีปัญหาแล้ว เพราะมันมีหลายเสียงอยู่ในนั้น เริ่มชิน อันนี้ก็เป็นแท็กติกที่ผมใช้เหมือน- จริงๆ ก็เหมือนหนังสั้นนะ เล่าจากแฟ็ก เล่าจากเสียงพูด เราก็เริ่มเบลนด์ไปเรื่อยๆ 


บางส่วนในจุงกิงมันมีลักษณะของบทกวี ในหลายๆ ตอนมันมีลักษณะที่ผมเขียนในเชิงบทกวี ถ้อยคำในจุงกิงหลายถ้อยคำเป็นการใช้คำแบบบทกวี เอาจริงๆ มันก็มีเอฟเฟคจาก เมืองเย็น บางส่วน “การฆ่านั้นเป็นงาน แต่การฆ่าอย่างสมบูรณ์นั้นเป็นศิลปะ...” หลายถ้อยคำเป็นบทกวีนะ เหมือนกลอนเปล่าสั้นๆ แล้วก็ขยายความ ผมรู้สึกว่ากวีมันคือการตกอยู่ในพื้นที่จำกัดที่ร่างกายมันออกไปนอกพื้นที่นั้นไม่ได้ แบบเดียวกับตัวเอกที่เป็นคอมฟอร์ทวูแมน ทางเดียวที่จะออกไป ทางเดียวที่จะมีเสรีภาพ คือในจินตนาการของตัวเอง ฉะนั้นคำพูดของตัวละครผู้หญิงเนี่ยมันถึงมีลักษณะเป็นบทกวี มากๆ เลย “...ฉันตื่นขึ้นในเวลาบ่าย ข้างนอกนั้นมีฝนตกเบาบาง ละอองฝนไหลผ่านบานหน้าต่างเข้ามาจนรู้สึกได้ถึงความเปียกชื้น ผู้พันคนนั้นไม่อยู่แล้ว...” แบบนี้ มันเป็นอะไรบางอย่างที่รู้สึกลึกซึ้ง ฉันเฝ้ารอการกลับมาของเขา และแล้วเสียงเคาะประตูก็ดังขึ้น ดังขึ้นตามความคาดหวังของฉัน ผมคิดว่าเออ อันนี้เป็นประเด็นที่ไม่ค่อยได้คุย


มันเป็นการประสานเสียงสามอย่างเข้าด้วยกัน เสียงแรกของนางเอก เป็นเสียงการอ่านบทกวี เสียงของพันเอกฮิโนดะ ที่เล่าชีวิตของพันเอกฮิโนดะเนี่ย มันคือเสียงของ fact เสียงของผมเนี่ย คือเสียงของผู้สังเกตการณ์ มันเป็นเสียงสามแบบที่อยู่ในเรื่องเดียวกัน เสียงของผมมันเป็นเสียงแบบ กูเห็นอะไรกูก็บันทึก เห็นอะไรกูก็เขียนลงไป ผมตื่นขึ้นในเวลาบ่ายข้างนอกนั้นฝนตกหนักอย่างยิ่ง ละอองความชื้นของมันถ่ายเทเข้ามาในห้อง ชายเจ้าของอาคารจากไปแล้ว คือเล่าเหมือนชีวิตประจำวัน แต่ส่วนตอนของฮิโนดะ มันเป็นตอนที่เหมือนกับ fact ตอนของฮิโนดะ และตอนของนักฆ่ามันเป็นตอนของ fact เขาเดินไปตามท้องถนน เข้าเดินผ่านรถม้าจำนวนมาก เขารู้ดีว่าเขากำลังจะไปที่ไหน นี่ไม่ใช่การเดินที่ไร้จุดหมาย เขาท่องบทกวีของมิตซึฮารุ คาเนโกะที่ชื่อว่าเซ็นเม็นได ที่ว่าตราบเท่าชีวิตของฉันที่ต้องดำเนินต่อไป จงฟังเสียงนั้นสิ เสียงอันเปล่าเปลี่ยวจากกระโถนปัสสาวะใบหนึ่ง คือชีวิตของนักฆ่า ของฮิโนดะนี่มันคือชีวิตของอุดมการณ์ มันแน่วแน่ มันชัดเจน มันไม่มีอะไรเบี่ยงเบน ส่วนชีวิตของผมที่เป็นคนเล่าเรื่องนี่มันเหมือนกับเด็กที่มองว่าโลกมันเป็นอย่างนี้นะ กูตื่น กูฝัน กูเห็น อะไรอย่างนี้ เล่าเป็นเชิงไดอารี่ ฉะนั้นในน้ำเสียงบของจุงกิงมันเป็นน้ำเสียงของการถักทออะไรหลายอย่างด้วยกัน เหมือนกับที่เราเอาตัวบทไปสลับกับเรื่องที่เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์




คือบทกวี

ผมโตมากับการแปลบทกวี ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นนักเขียนนะ ชีวิตตอนต้นๆ นี่ผมแปลหนังสืออย่างเดียวเลย แปลบทกวีของ รพินนารถ ตากอร์ แปลบทกวีของบาโช บทกวีไฮกุของอิสะ ผมมากับการเป็นนักแปล ตอนที่ผมเป็นวัยรุ่น ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นกวี ผมชอบคีตาญชลี ผมชอบงานของยิบบราน ไม่ว่าจะเป็นคำครู หรือบทกวีของปาโปล เนรูด้า บทกวีที่มันสะเทือนจิตใจ เรารู้สึกว่าเรารักการเขียนหนังสือ เรารักภาษาที่มันงามแบบบทกวี แต่ตอนหลังพอมาเขียนนิยายก็พยายามเอาบางอย่างมาใช้ ผมแทบไม่ได้เขียนบทกวีอีกเลย 


ปีที่แล้วเพิ่งมีงานหนึ่ง ญี่ปุ่นเขามาขอให้เขียนบทกวี ซึ่งเป็นงานแสดงศิลปะ ผมก็ไปทำกับเขา เป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นงานแสดงภาพเขียนของทหารญี่ปุ่นคนหนึ่ง ซึ่งมาอยู่ในเอเชีย และวาดภาพเป็นกองทัพขณะกำลังเดินผ่านเจดีย์ แล้วเขาแสดงงานที่วอลล์มิวเซียม เขาให้ผมเขียนบทกวีอันหนึ่งไปประกอบ แล้วเขาไปทำซับ แล้วโชเป็นคนแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น 



ความไม่โรแมนติกของสงคราม

ตอนที่ผมอ่านเจอบันทึกเรื่องการให้จัดหาผู้หญิงผมก็สะอึกไปเหมือนกันนะ จริงๆ รัฐบาลไทยน่าจะปฏิเสธนะ เอ้ย ฉันไม่ยุ่งนะ มึงไปหากันเอง แต่ว่า มันมีบางอย่งที่ลำบากอยู่พอสมควร ผมเข้าใจว่าอาจารย์พวงทิพย์น่าจะสอนในโรงเรียนนายร้อย เพราะฉะนั้นไอ้ตัวเอกสารเก่าของทหาร มันจะถูกเก็บไว้อีกที่หนึ่ง ไม่ใช่อยู่ที่หอจดหมายเหตุ ถ้าคุณไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่คนซึ่งอยู่ในระบบทหาร คุณไปค้นไม่ได้นะ เอกสารเก่าเกี่ยวกับทหารไทย อาจารย์พวงทิพย์น่าจะทำงานอยู่กับกองทัพ เป็นอาจารย์สอน ผมค้นไม่ได้นะแบบนี้ ตอนที่ทหารไทยบุกเข้าไปในอินโดจีนเราทำบันทึกอะไรบ้าง ผมค้นไม่ได้นะ หอจดหมายเหตุไม่มีเรื่องเกี่ยวกับทหารนะ นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับความจริงว่าเรายังมีลำดับชั้นของคลาสิฟายอยู่ จะเขียนเรื่องแบบนี้จริงๆ มันก็ยากนะ เขียนเรื่องความผิดพลาดของกองทัพ กรณี... สมมติผมอยากเขียนนะ ความผิดพลาดของกองทัพไทยในกรณีร่มเกล้า เขียนไม่ได้ มันไม่มีเอกสาร เราก็จะมีแต่ข่าวจากหนังสือพิมพ์ สำเนาบันทึกการสั่งการเป็นยังไง การบุกเป็นยังไง จำนวนทหารที่ตายจริงๆ มันมีบันทึกหมดแหละ แต่เราไม่มีข้อมูล ขอไม่ได้ 


ในหนังสือของคุณดำริห์ เรืองสุธรรม ขบวนการแรงงานกรรมกร ชัดเจนว่ามันมีคอมฟอร์ทวูเมนอยู่ที่คลองแสนแสบ ตรงประตูน้ำ เพราะกรรมกรเป็นคนไปช่วยออกมา จริงๆ เรื่องนี้ก็น่าเขียน ช่วยแล้วส่งคืนกลับประเทศจีนไหม หรือว่าคนเหล่านั้นตกหล่นอยู่ตรงไหนในประเทศไทย เพราะคุณดำริห์ไม่ได้เล่าต่อ แล้วคุณดำริห์ก็เสียชีวิตไปแล้ว ไม่รู้จะไปคุยยังไง ไปๆ มาๆ ปีนี้ 2565 เหตุการณ์ทั้งหมดมันก็ 80 ปีแล้ว คนที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้นที่มีอายุแบบเป็นทหาร เป็นคนหนุ่มสาวเนี่ย ถ้าจะอยู่จนถึงวันนี้ก็คือคนอายุร้อยกว่าปีนะ ซึ่งไม่มีแล้ว คุณก็ต้องดูจากบันทึกเอกสาร คนที่เคยเห็นทหารญี่ปุ่นจริงๆ กับตาตอนนี้ อย่างต่ำก็ต้องอายุ 85 ปีขึ้นไป เพราะเหตุการณ์มันเกิดปี 2484 จนถึง 2488 





Comments