การเดินทางจากจักรวาลสู่เม็ดทรายของ ประกาย ปรัชญา




เรื่อง ภาคภูมิ คะเชสนันท์ สัมภาษณ์ เขี้ยว คาบจันทร์ ภาพ ชัยพร อินทุวิศาลกุล ภาพ cover วาด รวี

พิมพ์ครั้งแรก Underground Buleteen4 เจ้าสาวของกวี เมษายน-มิถุนายน 2548



พ.ศ. 2521 ท่ามกลางความเชี่ยวกรากของกระแสวรรณกรรมไทยเพื่อชีวิต บทกวี “ศรัทธาสีขาว” ของนักเรียนชายชั้น ม.ศ. 1 ได้รับการคัดเลือกตีพิมพ์ลงในนิตยสารการเมือง มาตุภูมิ (2522) นั่นคือการปรากฏตัวต่อโลกวรรณกรรมเป็นครั้งแรกของ “กวีรุ่นเยาว์” ผู้ซึ่งต่อมาไม่นานได้รับการชื่นชมกล่าวขวัญถึง จนกระทั่งถูกจับตามองและคาดหวังว่าจะเป็นอนาคตของวงการกวี ณ เวลานั้น


ล่วงสู่ปี พ.ศ. 2548 เกือบสามสิบปีผ่านไปกับการเดินทางยาวไกลในสายธารวรรณกรรม จากเด็กน้อยคนนั้นบัดนี้คือกวีหนุ่มใหญ่  ประกาย ปรัชญา ยังคงฉันทะต่อบทกวีอย่างไม่รู้เสื่อมคลาย ตัวเขาและบทกวีต่างเสาะแสวงและกล่อมเกลาซึ่งกันและกัน จากโลกภายในสู่โลกภายนอก สุขและทุกข์ งดงามและหม่นมัว สงบนิ่งและเปลี่ยนแปร ล้วนขัดเกลาจิตวิญญาณและตัวตนของกวีคนหนึ่งให้ชัดเจน...ให้ยิ่งชัดเจน


ชลบุรี แดดบ่ายเดือนเมษายนเริงแรงเมื่อเราเดินทางมาถึง บ้านของกวีหนุ่มตั้งอยู่ในทำเลเงียบสงบซึ่งไม่ห่างไกลจากถนนใหญ่นัก บ้านสองชั้นสีฟ้าอ่อนหลังนี้ดูอบอุ่นน่ารักเช่นเดียวกับรอยยิ้มและอัธยาศัยของเจ้าของซึ่งออกมาต้อนรับถึงหน้าบ้าน ลมทะเลโชยเฉื่อยติดตามเราเข้ามาภายในบ้าน จักรยานสองคันยืนหลบแดดเคียงกันอยู่ใต้เงาหลังคา ต้นไม้ใหญ่น้อยหลายต้นเพิ่งปลูกลงดิน ภายในบ้านตกแต่งอย่างเรียบง่าย ตู้ โต๊ะ เก้าอี้และเครื่องเรือนน้อยชิ้นพอเหมาะแก่ความจำเป็นในการดำรงชีวิต เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสมถะ สันโดษของผู้อยู่อาศัยได้อย่างชัดเจน 


ประกาย ปรัชญา เป็นชาวชลบุรีโดยกำเนิด เติบโตมาในครอบครัวชาวจีนซึ่งมีอาชีพทำการค้าและมีฐานะมั่นคง  แม้ว่าประกายจะเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน แต่ความสนใจในด้านกาพย์กลอนของเขาหาได้หลากไหลผ่านมาทางระบบการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย หากแต่เป็นเหตุการณ์บ้านเมืองที่มีคนทรราชใช้อำนาจอยุติธรรมล้อมปราบสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์เมื่อวันที่  6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังให้เกิดความโศกสลดสั่นไหวในหัวใจของคนไทยผู้รักความเป็นธรรมทุกคน และไม่เว้นแม้แต่กับเด็กชายปรัชญาในวัยเพียง 12 ปี หยาดเลือดผู้บริสุทธิ์ได้อาบชโลมหัวใจจุดดวงไฟแห่งการแสวงหาสัจธรรม จุดดวงไฟให้หัวใจกวีฉายประกายโชติช่วงขึ้นนับแต่นั้น...

      

ศรัทธาสีขาว

โชนไฟฝันอันเพริศพราวดับร้าวฉาน

เพื่อสิทธิ – สันติภาพนานตราบนาน

แย้มมุมม่าน ณ น่านฟ้าเหนือนาคร


ศรัทธาสีขาว/คืนจากพรากจากถนนสายนั้น/2526





วันหนึ่งเด็กชายปรัชญาได้อ่านบทกวีของ วิสา คัญทัพ โดยบังเอิญ  เขายังจำถ้อยวลีในบทกวีนั้นได้ว่า “คือดาวที่วาววามอันทอดดวงเอื้อปวงชน” ซึ่งต่อมาบทกวีชิ้นนี้ก็คือเพลงร้อยดาวของวงคาราวานนั่นเอง เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้พบได้เสพ หลังจากนั้นเขาจึงใฝ่หาบทกวีในแนวเดียวกันนี้มาอ่าน ได้อ่านผลงานของกวีอีกหลายคน เช่น รวี วีรตุลย์, สถาพร ศรีสัจจัง จนในที่สุดเขาก็รู้สึกอยากจะเขียน และในปี พ.ศ. 2522 บทกวีที่ชื่อ ศรัทธาสีขาว ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารมาตุภูมิ รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 (บรรณาธิการโดย ปรีชา สามัคคีธรรม) เป็นการได้ตีพิมพ์บทกวีครั้งแรกในชีวิตของเด็กชายปรัชญา


บรรยากาศวงวรรณกรรมในขณะนั้นมีกลุ่มมากมาย มีกวีเด่นๆ เช่น คมทวน คันธนู, คมสัน พงษ์สุธรรม (เสียชีวิตแล้ว), สำราญ รอดเพชร, ญิบ พันจันทร์ เป็นต้น เหล่านี้คือกลุ่มคนเขียนบทกวีที่เด็กชายปรัชญารู้สึกนับถือ ติดตามอ่านด้วยความหลงใหล ทำให้ภายในของเขาปั่นป่วน เป็นเวลาที่เขาไม่เคยสงสัยคุณค่าใดๆ ของวรรณกรรมเพื่อชีวิต เขาเขียนบทกวีเพื่อชีวิตจนกระทั่งสำราญ รอดเพชรเขียนจดหมายไปที่โรงเรียนเพื่อชี้แนะ  เนื่องจากมีภาพลักษณ์ของคนหัวรุนแรง ก้าวร้าวตั้งแต่เด็ก เขาคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายซ้ายในโรงเรียน และเวลาอยู่ในโรงเรียนเขาก็ได้รับฉายาว่า “ไอ้หัวแดง” 


เด็กชายปรัชญากลายเป็นเด็กที่โรงเรียนเอือมระอา แต่ขณะเดียวกันเขาก็มีบทกวีเป็นเครื่องคุ้มครอง เนื่องจากเป็นผู้เข้าร่วมในกิจกรรมระหว่างโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เช่น การแข่งขันกลอนสด การแข่งขันโต้วาที เขามักจะเป็นตัวยืนถูกส่งไปประกวด และก็มักจะชนะนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียนอยู่เสมอ นอกจากนี้แล้ว การที่สามารถตีพิมพ์บทกวีในนิตยสารการเมืองได้ตั้งแต่ยังเป็นเพียงนักเรียน ก็ทำให้ทางโรงเรียนภูมิอกภูมิใจถึงขนาดนำบทกวีของเขาขึ้นบอร์ดให้นักเรียนดู เด็กชายปรัชญาจึงเป็น “ไอ้หัวแดง” ที่สามารถอยู่รอดปลอดภัยในโรงเรียนจนกระทั่งจบการศึกษา พร้อมกับมีรวมบทกวีเล่มแรกกับสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ซึ่งก็คือ คืนจากพรากจากถนนสายนั้น เป็นบทกวีที่เขาเขียนระหว่างเรียน ม.ศ. 1 ถึงม.ศ. 5 


สำหรับ ประกาย ปรัชญา เหตุการณ์ 6 ตุลา มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อเขาอย่างยิ่ง เริ่มจากบทกวีเพียงบทเดียว นำเขาไปสู่การรู้เห็นการสังหารหมู่นักศึกษา ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และนำความสนใจของเขาไปสู่กระบวนการทางการเมืองในที่สุด ในชีวิตของเขามีอาจารย์คนสำคัญก็คือ ประเสริฐ  วีระกุล อาจารย์คนนี้ได้เปิดโลกทางการเมือง เปิดโลกการอ่านที่กว้างไกลให้กับเขา หลังจากนั้น การอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิต และการศึกษาทฤษฎีทางการเมืองและสังคมที่แพร่หลายในเวลานั้นก็กลายเป็นกิจกรรมหลักของเขา เป็นสิ่งที่ทำให้เขาผิดแปลกไปจากเด็กวัยรุ่นธรรมดา


ต่อมา ประกาย ปรัชญาได้ร่วมกับเพื่อนนักเขียนรุ่นเดียวกัน แก้ว ลายทอง, สมพงษ์ ทวี, รักษ์ มนันยา, วิมล ไทรนิ่มนวล และอีกหลายคน ก่อตั้งกลุ่มวรรณกรรม “เพลิงธรรม” ด้วยการเริ่มต้นจาก แก้ว ลายทอง เขียนจดหมายมาถึง เพราะได้อ่านบทกวีของเขาในนิตยสาร เมื่อติดต่อพบปะกันก็เริ่มคิดหาทางรวมตัวกัน ในเวลาเดียวกัน วงวรรณกรรมขณะนั้นก็ปรากฏกลุ่มวรรณกรรมของคนรุ่นใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทางใต้มีกลุ่มนาครนำโดย ประมวล มณีโรจน์ ทางอีสานมีกลุ่มลำมูล ทางเหนือมีลมเหนือ ดาวเหนือ กลุ่มวรรณกรรมต่างๆ เริ่มทำกิจกรรมร่วมกัน ทำนิตยสารร่วมกัน มีการเสวนาวรรณกรรมอย่างคึกคัก และจะมีการเสวนาใหญ่ปีละครั้ง เนื่องจากเวลานั้นเขาเป็นเด็กหัวที่ยังเกรียนอยู่ จึงได้รับฉายาว่า “กวีรุ่นเยาว์” 


“ในเวลานั้นที่ชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะมีวารสารโรเนียวชื่อ 'มุมกลับ' แม้จะเป็นโรเนียวนะ แต่มีความคึกคักมาก เนื้อหามีความเข้มข้นหลากหลาย มีเรื่องสั้น มีบทกวี มีสัมภาษณ์ นักเขียน กวี มีวิจารณ์หนังสือ มุมกลับ นี่จะเป็นแหล่งรวมกวี นักเขียนร่วมสมัยในยุคนั้น ตัวจักรสำคัญที่ทำนิตยสารเล่มนี้น่าจะเป็น นิรันดิ์ศักดิ์ บุญจันทร์ และที่นั้นก็คือแหล่งพบปะให้ได้รู้จักกันหลายคน แดนอรัญ แสงทองซึ่งในขณะนั้นคือมายา  มีปะการังซึ่งเป็นกวีโรแมนติก ถือว่าโดยภาพรวมสนุกสนานมาก มีความเป็นมิตรต่อกัน เริ่มต้นจากการอ่านเนื้องานซึ่งกันและกัน พอพบกันก็แทบจะโผเข้ากอดกัน ประกอบกับยุคนั้นจะมีการเสวนาวรรณกรรมครั้งใหญ่ เมื่อก่อนมักจัดที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ถนนราชดำเนิน ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็ดูว่าใครเป็นเจ้าภาพ อย่างที่พิษณุโลกก็เป็น เวียง วชิระ ทางเชียงใหม่ก็อ้ายแสงดาว ทางอีสานก็พวกฟอน (ฝ้าฟาง)  หรืออีกหลายๆ คน คือมีการอำนวยความสะดวกให้ได้พบกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน บรรยากาศการเขียน การลงตีพิมพ์ การอ่านมีความคึกคักสูง มีกลุ่มวรรณกรรมเป็นหลักอยู่ทุกภาคแล้วก็ประสานกัน มีกิจกรรม มีความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างคนเขียนหนังสือด้วยกัน”


เขาย้อนความเล่าบรรยากาศในยุคตื่นตัวทางการเมืองของคนวรรณกรรม





หลังจากจบชั้นมัธยม นายปรัชญาจึงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นการทำตามความต้องการของพ่อที่อยากให้ลูกเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ  ประกาย ปรัชญา เป็นเด็กที่มีความแปลกแยกกับครอบครัวตั้งแต่เด็กเล็ก ดังที่เขาเล่าให้ฟังว่า “เวลาครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกัน ผมมักไม่ค่อยอยู่ในจุดนั้น  อยู่กับครอบครัว เราก็แปลกแยก เราไม่มีความสุข เวลาไปโรงเรียน เราก็แปลกแยก ไม่มีความสุข เราต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร เป็นภาวะที่เราเคว้งคว้างหาหนทางบางอย่างอย่างทุกข์ระทม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ผมถึงโพล่งคำนั้นออกไปว่า ทันทีที่ศพแรกของผู้บริสุทธิ์ล้มคว่ำลง ผมก็เกิดขึ้น และนั่นเป็นภาวะหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่งกับชีวิตในขณะนั้น เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต่อมาชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ความกล้าที่จะปฏิเสธ กล้ามากพอที่จะเลือกบางสิ่งบางอย่างโดยที่มันมีการคัดค้านจากครอบครัว”


ประกาย ปรัชญา เข้าเรียนในคณะบริหารธุรกิจเพียงแต่ในนาม เขาใช้ชีวิตอยู่ในรามคำแหง และได้พบกับนักเขียนร่วมรุ่นอีกคน ซึ่งก็คือ เสี้ยวจันทร์ แรมไพร ประกายได้เช่าหอพักเล็กๆ อยู่แห่งเดียวกับเสี้ยวจันทร์ เวลาไม่มีเงินเขาจะหุงข้าวจากห้องพักไปนั่งกินกับน้ำซุปไก่ต้มฟัก (ฟรี) ที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัย 


“ก็หาถ้วยเตรียมไป ไปตักเอากระดูกไก่ให้มากที่สุด ตักฟักให้มากที่สุดแล้วมานั่งกิน แล้วเวลามีค่าเรื่องอย่างที่สยามนิกร, สยามใหม่ในยุคนั้นค่าบทกวีประมาณ  80 บาท ไปรับเงินทีก็ถือว่าโอ้โฮ! เราร่ำรวยมาก  แต่ผมมีประสบการณ์เจ็บปวดอยู่เรื่องหนึ่งกับการไปรับค่าเรื่อง มีอยู่ครั้งหนึ่งบทกวีตีพิมพ์ ก็ประมาณ 1-2 อาทิตย์ถึงจะไปรับค่าเรื่องได้ เช้าผมออกมาโดยไม่มีตังค์ติดตัวเลย ก็ใช้วิธีโหนรถเมล์ป้ายเดียวแล้วลงก่อนที่กระเป๋ารถเมล์จะมาเก็บเงิน ใช้วิธีต่ออย่างนี้หลายชั่วโมงจนไปถึงสำนักงานของนิตยสารสยามใหม่ ใกล้ๆ ราชดำเนิน พอเข้าไปที่ฝ่ายบัญชีปรากฏว่ามีลายเซ็นใครก็ไม่ทราบไปรับค่าเรื่องของเราแล้ว...คงจะเป็นเพื่อนที่แสนดีคนใดคนหนึ่ง” เป็นสีสันชีวิตที่เขาเล่าให้ฟัง


“มีรายได้จากการเขียนบทกวีมาตลอด เป็นบทกวีที่...สมมุติเราผ่านไปเห็นไฟไหม้ เราก็คิดแล้ว...นี่เผาไล่ที่ คนจนจะไปอยู่ที่ไหน เห็นคนตกยากนอนอยู่ที่สนามหลวงก็คิด...นี่รัฐไม่ดูแล ช่วงเวลาอย่างนั้นบทกวีเพื่อชีวิตมันไม่ยากที่จะผลิตออกมา เพราะมันไม่ได้เกิดการตั้งคำถาม ไม่เกิดการเสาะค้นให้ลึกซึ้งลงไปจากภาพผิวเหล่านั้น ช่วงเวลาอย่างนั้นผมเขียนบทกวีได้สม่ำเสมอ ค่าบทกวีล้วนๆ นี่ก็พออยู่ได้นะอาจเพราะผมไม่ใช่คนที่ใช้เงินมากมายอะไร”


นอกจากบทกวีแล้ว เวลานั้นประกายยังมีรายได้จากการเขียนบทวิจารณ์ดนตรี และจากการเขียนเพลง 


“ผมเคยเขียนเพลงอยู่ช่วงหนึ่งถ้าเป็นเพลงเพื่อชีวิตก็จะร่วมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน ทำเป็นเมโลดี้ไกด์เพื่อไปเสนอบริษัทเทป แต่ส่วนตัวผมเองแต่งเพลงค่อนข้างเป็นป๊อป ป๊อปในสมัยนั้นนะ เช้านี่ก็ออกไปแล้ว ไปไหนดี อีเอ็มไอ อโซน่า เพลงละ 2 พันบาท ขายได้ 3 เพลงก็ไปเลย...เชียงใหม่”


ประกาย ปรัชญา ยังชีพจากงานเขียนที่หลากหลาย แม้แต่เรื่องสั้นเขาก็เคยส่งไปลงนิตยสารการเมืองชื่อ เศรษฐกิจ ในช่วงที่ฝืดเคืองจริงๆ ก็ได้ฝากท้องไว้กับเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงวรรณกรรม ซึ่งทำให้เราได้เห็นภาพของการอยู่แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันของสังคมวรรณกรรมเวลานั้น 


“เราเช่าหอพักเดือนละไม่กี่ร้อย เรื่องการกินอยู่เราไม่ต้องห่วง เราไปฝากท้องกับเพื่อนกับมิตรผู้ใหญ่ เช่นไปหาพี่ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ไปหาพี่หน่อย-คมทวน คันธนู แกรู้เลยเราไม่มีตังค์ ก็พาเราไปกิน พี่หน่อยก็ไม่มีตังค์แต่แกมีเครดิตไง แกก็บอกเจ้าของร้าน...เซ็นไว้ พี่หน่อยเป็นคนที่น่ารักมาก แล้วถามว่ามีความกังวลกับอนาคต กับการมีชีวิตอยู่ในวันข้างหน้ามั้ย บังเอิญจริงๆ ที่ไม่ได้คิดเรื่องอย่างนี้ ผมพอใจอย่างนี้ก็ดำเนินชีวิตไปจนวันนี้อายุ 40 ผมก็คิดว่าก็อยู่รอดมาได้ หรือถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนจริงๆ ถ้าไม่มีจริงๆ ก็จะมีเพื่อนฝูงจุนเจือ ให้เบิกค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้า ซึ่งคนที่คอยดูแลคอยเอื้อเฟื้อสิ่งนี้มาอย่างยาวนานก็คือ เวียง วชิระ บัวสนธ์” 


ประกาย ปรัชญา มีผลงานรวมเล่มมาแล้วทั้งสิ้น 6 เล่มได้แก่ คืนจากพรากจากถนนสายนั้น (2525)โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า, สวนดอกเมฆ (2530)โดยสำนักพิมพ์คำเฉลียว, มหาคีตาลัย (2534) และแสงเงาและเปลือกหอย (2535)โดยสำนักพิมพ์นกสีเหลือง, แม่น้ำของละอองฝน (2539)โดย แพรวสำนักพิมพ์ และสองทศวรรษ (2542)โดย สำนักพิมพ์สามัญชน 


ถ้าบทกวีเป็นสภาวะหนึ่งซึ่งอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หากใครคนนั้นจะเปิดจิตใจรับรู้ถึงความงดงามอันละเอียดอ่อนซึ่งเร้นอยู่ในปรากฏการณ์สามัญแห่งชีวิต กวีก็คือผู้มองเห็น ผู้จดจารบันทึก ผู้เผื่อแผ่มวลภาวะอันงดงามนั้นแด่คนอื่น บทกวีแต่ละบทล้วนเกิดจากการใส่ใจอย่างแรงกล้า สั่งสมบ่มเพาะ สงสัยใคร่ครวญ ไตร่ตรองพิจารณาจนกระทั่งตกผลึกความคิดความรู้สึกออกมาเป็นเนื้อหาอันเปี่ยมด้วยพลังเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา บทกวีของประกาย ปรัชญาเองก็เช่นกัน บทกวีที่ถูกเขียนขึ้นแต่ละบทในแต่ละช่วงกาลสถานย่อมมีที่มาจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่แตกต่างกัน เช่นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การดำรงชีวิต การเสพซับวรรณกรรมของนักเขียนคนอื่น การเคลื่อนผ่านทางความคิด และที่สำคัญคือการเป็นผู้เสาะแสวงหาสิ่งจริงแท้อยู่ตลอดเวลา 


ด้วยรักแหละโลกจะลุอุษา

ณ ทิวาอันลาวัณย์

ผ่านพ้นอนารยอธรรม์

เพราะโลกร่วมฤดีเดียว


ด้วยรักจักมอบแด่มวลมนุษย์/สวนดอกเมฆ/2530



บทกวีเล่มที่สอง สวนดอกเมฆ นับเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อหนึ่งที่สำคัญจุดหนึ่งของประกาย ปรัชญา ในเวลาที่บทกวีมียอดขายไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่าเรื่องสั้น หรือนิยาย และประกายก็ถูกหมายตาให้เป็น “กวีเพื่อชีวิต” รุ่นใหม่ที่มีอนาคตไกล หากวันนั้นประกาย ปรัชญาได้เพียงแต่ลุ่มหลงในคำสรรเสริญเยินยอ และคำว่า “กวีเพื่อชีวิตอนาคตไกล” วันนี้ย่อมไม่มีประกาย ปรัชญาอย่างที่เราเห็น


ในเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มพลิกเปลี่ยน อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มถดถอย ผู้คนทยอยออกจากป่ากลับคืนมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” สังคมวรรณกรรมเริ่มตั้งคำถามกับวรรณกรรมเพื่อชีวิต โดยมี โลกหนังสือ ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นป้อมปราการสำคัญ ประกาย ปรัชญา ก็ตื่นขึ้นอีกครั้ง


“มันคือช่วงเปลี่ยนผ่านอีกช่วงหนึ่ง จากที่พบว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตคือหนทางที่ถูกต้อง  6 ตุลา คือคำตอบของสัจจะ สวนดอกเมฆ ก็เหมือนการฉุกใจ คิดขึ้นมาเล็กน้อยว่ามันอาจจะไม่ใช่  หรือแม้มันใช่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของโลกนี้ มันยังมีสงครามภายในตัวตนของมนุษย์ด้วย  ไม่เพียงแต่ความเหลื่อมล้ำจากอำนาจรัฐ มันยังมีสภาวะอลหม่านมโหฬารอยู่ในตัวคนๆ หนึ่งด้วย เป็นรัก โลภ โกรธ หลง อะไรก็ตาม คือมันจะมีอีกมิติหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นจริงน้อยไปกว่าสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมือง การเรียกร้องความถูกต้องชอบธรรม มันเหมือนเราได้มองเห็นไปในอีกอาณาเขตหนึ่ง พ้นจากนี้ยังมีสิ่งอื่น”


นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักให้ “กวีเพื่อชีวิตดาวรุ่ง” ได้พบกับเส้นทางอื่น จากวันนั้นเขาตั้งต้นเดินไปบนทางเส้นใหม่นี้ด้วย สวนดอกเมฆ เดินเท้าทางไกล ผ่าน มหาคีตาลัย ผ่าน แสงเงาและเปลือกหอย จนมาถึงอีกซีกโลกที่ แม่น้ำของละอองฝน 


ยิ่งเมื่อย้อนไปสำรวจร่องรอยทางความคิดของเขาระเรื่อยมา ก็จะเห็นชัดเจนว่าประกายมีปรารถนาอันแรงกล้ามาแต่แรกที่จะเห็นผู้คนส่วนใหญ่ในแดนดินถิ่นนี้มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้จะเชื่อมั่นในตอนนั้นอยู่มากว่าอำนาจรัฐเป็นตัวแปรสำคัญยิ่งที่จะเกื้อกูล-กีดกันในกรณีนี้ แต่ต่อมาเขาก็เรียนรู้เพิ่มเติมว่ายังมีปัจจัยอื่นอีกไม่น้อย ที่ทรงความสลักสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากันในอันจะส่งผลให้มนุษย์มีชีวิตที่ดี กระทั่งมากกรณีก็มิได้ตกอยู่ภายใต้อาณัติทางการเมืองด้วยซ้ำ ทว่าขึ้นอยู่กับหนทางอย่าศึกสงครามในใจให้ได้ข้อยุติถาวรเป็นการสำคัญนั่นต่างหาก


“จึงไม่แปลกใจแต่ประการใดที่จะได้พบว่าประกาย ปรัชญาหันมาใส่ใจต่อปัญหาในเชิงปัจเจกนิยมมากขึ้น นับตั้งแต่เกิดกรณี 'ป่าแตก' อันถือว่าเขาได้แสดงระบบคิดที่มีความเป็นตัวของตัวเองให้เห็นเด่นชัดเป็นก้าวแรกๆ... 


“...เขาคล้ายกำลังหาวิธีส่งคืนเสรีภาพทางความคิดให้เป็นสิทธิของผู้อ่านอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เห็นจากการเฉลี่ยน้ำหนักระหว่างสารสองชั้นแบบไม่เน้นด้านใดเป็นพิเศษเหมือนที่ผ่านมา นั่นย่อมขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของผู้เสพที่จะพบกับสารัตถะของสารชั้นใด กระทั่งว่ามิได้มีความสลักสำคัญเหนือกว่ากัน หรือจะพูดว่าเขาหาทางลดทอนฐานะมัคคุเทศก์ของตนลงก็คงไม่ผิด” เป็นบางส่วนจากคำนำของวชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการผู้พิมพ์หนังสือ สองทศวรรษ ต่อการก้าวย่างของประกาย ปรัญา ในท้ายที่สุด


เกือบสามสิบปีที่ ประกาย ปรัชญาเขียนบทกวี และได้ใช้การเขียนบทกวีนี้เป็นหนทางในการดำเนินชีวิตของตน เวลาเกือบสามสิบปีคงทำให้ประกายได้ผ่านช่วงเวลาทางวรรณกรรมที่หลายหลาก ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลง ทั้งกับสังคมวรรณกรรม และบทกวีของเขาเอง


ประกาย ปรัชญา เป็นกวีที่ทำงานต่อเนื่องมาตลอดจนถึงวันนี้ และบทกวีของเขาก็ได้รับความนิยมไม่น้อยในหมู่กวีรุ่นหลัง  จาก “กวีเพื่อชีวิต” ในวันนั้น จนเมื่อสภาพแวดล้อมของสังคมวรรณกรรมคลี่คลายไป ประกาย ปรัชญาในวันนี้กลับกลายเป็นผู้ถูกวิจารณ์ว่า “เป็นหัวขบวนของปัจเจกนิยมพาฝัน” ซึ่งแทบจะเป็นสิ่งที่อยู่คนละขั้วกับฐานะแรกเริ่ม อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเขาจะถูกขนานนามใด สิ่งที่ควรสนใจก็คือประกาย ปรัชญายังคง “เขียน” และ “อ่าน” บทกวีมาโดยตลอด และในความเห็นของผู้ที่ยัง “อ่าน” บทกวี (เน้นว่า “อ่าน” ไม่ใช่ “ดู” หรือ “มอง”) บทกวีของประกาย ปรัชญายังคงมี “ลมหายใจอยู่” และหายใจอย่าง “มีชีวิต” ยิ่ง

          

ซวดเซ ซูบโซ โกโรโกโรค

คงยืนคงโยกสะโผกผาย

ผายเพียงโครงผ่ายผอม! ยอมตาย!

เหยียดยั่วเหยียดย้าย ส่ายซากส่ายซ้ำ


กร้าวกระไรเลย กะเทยเฒ่า

แกร่งกระไรเล่า กายเก่าคร่ำ

กับชุดสาวชาวเกาะ โอ้เคราะห์กรรม

กลับซุกหัวลงต่ำ ซ่อนน้ำตา


ลานฝุ่นลม / สองทศวรรษ / สิงหาคม พ.ศ. 2540





จุดเริ่มต้นที่ทำให้เดินออกจากเส้นทางของ “เพื่อชีวิต”

ช่วงนั้น โลกหนังสือ เขาจะตั้งคำถามกับวรรณกรรมเพื่อชีวิตสูงมาก เข้มข้นมาก แล้วเริ่มจะมีปัญญาชนทยอยออกจากป่าซึ่งก็ทำให้เราคลอนแคลนไป การตั้งคำถามต่อ พคท. หรือกระทั่งทฤษฎีมาร์กซิสม์มันก็เริ่มมาแล้ว เต๋า-เซนก็เริ่มมาเหมือนกัน ขณะเดียวกันการอ่านก็ทำให้เราไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ทางความคิด พื้นที่ใหม่ๆ ของการตั้งคำถาม ช่วงนั้นงานผมจะลดน้อยลง จนกระทั่งมาเป็นบทกวีในรวมเล่ม สวนดอกเมฆ มันเริ่มจะมาพูดถึงภาวะปัจเจกมากขึ้น พูดถึงความคลุมเครือบางอย่าง มันคือช่วงเปลี่ยนผ่านอีกช่วงหนึ่ง


จากที่ผมพบว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตคือหนทางที่ถูกต้อง สวนดอกเมฆ ก็เหมือนกับการฉุกคิดว่ามันอาจไม่ใช่ หรือแม้มันใช่ก็คงไม่ใช่ทั้งหมดของโลกนี้  มันยังมีสงครามในตัวตนของมนุษย์ด้วย มันมีสภาวการณ์อลหม่านมโหฬารอยู่ในตัวคนคนหนึ่งด้วย เป็นรัก โลภ โกรธ หลง หรืออะไรก็ตาม มันเป็นผลมาจากการที่เราเริ่มสงสัยคุณค่าดั้งเดิม คือแทบจะไปอยู่อีกด้านหนึ่งของความเชื่อดั้งเดิม ผมก็จะเป็นพวกอภิปรัชญา พวกเชื่อในปัจเจกบุคคล พวกที่เชื่อว่าความรักแก้ปัญหา ไม่ใช่ลัทธิหรือกระบวนการความคิดใดๆ  เป็นช่วงที่ลุ่มหลงบทกวีของฐากูร สังเกตกลอนเปล่าใน สวนดอกเมฆ จะมีอิทธิพลการเขียนในท่วงทำนองแบบฐากูรเยอะมาก ในแง่ของการเสพวรรณกรรมหรือบทกวี ผมเปลี่ยนไป ถือได้ว่าออกห่างมาจากบทกวีเพื่อชีวิต ปรัชญาของกฤษณามูรติมีอิทธิพลต่อผม เรียกว่ามันเหมือนกับการสั่นสะเทือนชีวิตมากกว่า เพราะผมว่าผมก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะว่าผมไม่เชื่อแล้วไง เราไม่เชื่อสิ่งไหนมันก็โรยราไปเอง


ผมเชื่อว่าด้านในนั้นเป็นจริงกว่า เพราะเหตุว่ามันไม่ถูกผูกเงื่อนอยู่กับกระแสกับสถานการณ์ พรรคคอมมิวนิสต์อาจมาประเดี๋ยวประด๋าว กระแสสังคมนิยมในยุโรปก็ล่มสลายกันเห็นๆ ในขณะเดียวกันผมพบว่าด้านในของคน คุณภาพจิตใจ คุณภาพของอารมณ์ความรู้สึกและกระทั่งความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ในระนาบที่มันมากขึ้น มันจะจริงแท้กว่า มันยั่งยืนกว่า และท้ายสุดมันจะส่งผลต่อการอยู่ร่วม เพราะผมมองว่าสังคมคือความสัมพันธ์ ถ้าเราเป็นผู้ให้ความสัมพันธ์ที่ดีมันไม่เพียงแก้ไข แต่มันยังหยั่งรากบางอย่างที่จะทำให้เกิดความสร้างสรรค์งอกงามในความสัมพันธ์ซึ่งก็คือสังคม ในขณะที่การต่อสู้ทุกรูปแบบผมมองว่ามันก็มีผลประโยชน์ของฝักฝ่าย ยังมีการแสวงหาอำนาจ เหมือนกับสังคมของจีนถูกปฏิวัติโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต่อต้านอำนาจรัฐเก่า แต่ต่อมาก็มีกลุ่มที่มาต่อต้านอำนาจรัฐซ้อนเข้าไป แล้วเขาก็ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง ผมมองว่ามันเป็นวัฏจักรที่ท้ายที่สุดมันจะเคลื่อนอยู่อย่างนี้ แล้วมันไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง


จากนั้นก็หันมาสนใจปรากฏการณ์เล็กๆ ?

มันเริ่มจะเห็นเค้าลางจาก สวนดอกเมฆ เริ่มจะเขียนถึงปัจเจกบุคคล แต่อาจจะเป็นชนชั้นที่เสียเปรียบในสังคมอยู่ ณ วันนี้ผมเขียนถึงใครก็ได้ โดยไม่มีภูมิหลัง ไม่มีชนชั้นสังกัดหรือว่าปมปัญหาภายนอกชีวิตของเขามากำหนด ผมเขียนถึง...เรียกว่าปัจเจกบุคคลแล้วกัน ตอนที่เขียนบทกวีเพื่อสังคมเพื่อการเมืองในยุคเริ่มต้นนั้นต้องยอมรับว่า เนื่องจากว่าผมไม่เกิดความสงสัย คิดว่าครรลองนั้นถูกต้องถ่องแท้ ทีนี้พอเราเริ่มสงสัย ก็คิดว่าเมื่อสิ่งหนึ่งมันรั่วมันไหลออกไป เราก็เติมอีกสิ่งหนึ่งเข้าไป ผมคิดว่าด้านกลับของมวลชนของมวลรวมก็คืออนุภาค คือปัจเจกบุคคล  ผมคิดว่ามันเป็นเหตุผลในกันและกันเลย พอไม่เขียนถึงสิ่งที่เป็นภาพรวม ผมก็เข้าหาเรื่องราวจำเพาะ


จริงๆ แล้วเลิกให้ความสนใจกับเรื่องใหญ่หรือเลือกที่จะไม่เขียนถึง แต่ยังคงให้ความสนใจกับเรื่องใหญ่อยู่

ผมคิดว่าเรื่องของมนุษย์ คนๆ เดียวนะ มันบอกถึงมนุษย์โดยรวม เรื่องใหญ่ของผมในวันนี้ไม่ใช่การเมือง เรื่องของคนๆ หนึ่งก็คือเรื่องของมนุษยชาติด้วย ผมคิดว่าผมกำลังตั้งข้อสังเกตต่อสภาวะของมนุษย์ แล้วคิดว่าที่ผมเขียนถึงแม่บ้านสักคนหนึ่งคือผมกำลังพูดถึงสภาวะของมนุษย์ด้วย ผมคิดว่างานของผมอยู่ในจุดนี้ ในขณะนี้


ครามฟ้า! ถลาแตะมิติคราม

ปะเหลาะตามเกาะครามเที่ยว

เขียวใบ!  ไถลแผละระดะเขียว

จิตกรำเสาะสำราญ


เร่งเข็น มิเห็น ณ ระยะฟ้า

เถอะจ้ะช้า... พยาบาล

ช่างหมอจะรอ จะอวสาน

สติพัง และทั้งเพ


บนเตียงเข็น – กลางสายระโยงระยาง / ปัจจุบัน



หมายความว่าทุกวันนี้หมดความสนใจโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่อยู่ข้างนอก

ไม่นะ ผมก็ยังติดตามดูอยู่ รัฐบาลของเราหรือกระทั่งฝ่ายค้าน หรือปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโลกนี้ จลาจลที่อิรัก สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภัยธรรมชาติ ผมคิดว่าเราต้องอยู่ร่วมโดยความจำเป็นกับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด แล้วมันเชื่อมโยงกัน ศพหนึ่งที่อิรักมันก็สั่นสะเทือนมาถึงเรา เพราะว่าเราอยู่ร่วมโลกนะ แต่ผมอาจคาดหวังมากกว่านั้น แล้วสิ่งที่ผมคาดหวังมันไม่อาจแก้ไขได้ด้วยอเมริกา ด้วยรัฐบาลอิรัก หรือรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย มันเลยก้ำกึ่งอยู่ที่ว่าไม่สนใจหรือโดยแท้แล้วผมได้มองข้ามไอ้กลไกการแก้ไขอย่างนี้ไปแล้ว ผมไม่เห็นว่ามันจะนำไปสู่การแก้ไขที่แท้จริง คือไม่ใช่ว่าผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของหน่วยใหญ่ของโครงสร้างใหญ่มันไม่มีผลนะ มันมีสิ อย่างน้อยเราก็เห็นว่าการเมืองในบ้านเรามันก็พัฒนาขึ้น ชาวบ้านตาดำๆ อาจมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสวัสดิการใหม่ๆ ผมเห็นแล้วก็ไม่อาจปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ แต่ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่อาจเป็นคำตอบหรือปลายทางที่สวยสดงดงามโดยตัวมันเองได้





ทุกวันนี้เขียนบทกวีเพราะอะไร

เพราะเห็นว่ากวีนิพนธ์ เป็นความงามสูงสุดประการหนึ่งของมนุษย์ ความงามซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหาในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบด้วย เพราะผมเชื่อในอำนาจกล่อมเกลาของบทกวี เชื่อว่ามันมีอำนาจที่ดีงาม ผมเองไม่เพียงเขียน ผมอ่าน ผมเสพ เพราะฉะนั้นผมมีชีวิตอยู่กับกวีนิพนธ์ไม่เพียงในฐานะคนสร้างงาน แต่ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งได้มองเห็น ซึ่งได้เคารพต่อคุณค่าความงามสูงสุดประการนี้


หวั่นไหวสั่นคลอนบ้างไหมต่อการเขียนบทกวีในขณะที่แทบไม่มีคนอ่านบทกวีอีกแล้ว

เมื่อช่วงวัยเด็กหนุ่ม ช่วงนั้นผมมาในลักษณะที่ถูกกล่าวขวัญถึง กวีรุ่นพี่ที่เราให้ความเคารพนับถือก็มีสุ้มเสียงในทางบวกกับผม มองว่าเป็นความหวังของวงการกวี ผมก็เริ่มมีอัตตา มีอหังการแล้ว แต่ต่อมาสิ่งเหล่านี้คลี่คลายไป เราก็เขียนกวีไป อ่านกวีไป เพราะผมเป็นคนนอกนะ ไม่ใช่คนในวงวรรณกรรมเสียทีเดียว ช่วงที่ผมเขียนบทกวีอยู่ใน ไรเตอร์ ผมไม่มีสังคมวรรณกรรม ผมอาจมีเพื่อนบางคนอย่าง เวียง วชิระ, สุทธิพงศ์ ธรรมวุฒิ แต่ก็คือในมิติของความเป็นเพื่อน แต่กับลมหายใจของแวดวงวรรณกรรมผมอยู่ห่าง คิดแต่ว่าชิ้นนี้เราไม่พอใจ ชิ้นนี้เราค่อนข้างชอบนะ มันก็ไม่มีอัตตา แต่จะบอกว่าเรารู้สึกด้อยค่า มันก็ไม่ใช่ เราก็รู้สึกว่าอยากตั้งใจทำงานที่ดี แต่มันจะไม่เหมือนกับช่วงวัยรุ่นที่เรารู้สึก เฮ้ย! เราคือใคร...มันไม่มี  ก็ดำเนินสภาวการณ์อย่างนี้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งเดือนวาดได้ซีไรต์แล้วเราก็เป็นผู้ช่วยคอยติดตามไปอำนวยความสะดวก เป็นธุระต่างๆ นานา ให้เขา ตามสถาบันการศึกษา ช่วงปีที่ผ่านมาผมได้พบความจริงจากการออกไปพบปะโลกภายนอก ผมพบว่าเออ ผมเขียนลงใน มติชน (สุดสัปดาห์) สม่ำเสมอ เคยมีบทกวีตีพิมพ์ประจำในไรเตอร์ มีรวมเล่มมาหลายเล่ม คิดว่ามีมวลรวมความเป็นกวีนิพนธ์ของตัวเองอยู่ในระดับหนึ่ง มีที่ทางในแวดวงวรรณกรรม แต่ในโลกภายนอกที่เป็นจริงแล้ว ผมไม่มีอยู่ ประกาย ปรัชญา ไม่มีตัวตน มันก็มีแต่ซีไรต์ใหม่ ซีไรต์เก่า ก็ว่ากันไป


การเสพซับวรรณกรรมกว้างไกลแค่ไหนผมไม่รู้นะ แต่รู้ว่าบทกวีของ ประกาย ปรัชญา นี่มันคงถูกเสพซับโดยปัจเจกบุคคลไม่กี่คน และแน่นอนมันไม่ได้ก้องกังวานออกไป มันไม่ได้แพร่ขยายออกไปในกลุ่มคนที่เขาก็อ่านหนังสือไง อย่างน้อยเขาก็อ่านวรรณกรรมซีไรต์ เขาก็จัดกิจกรรมการเขียนการอ่าน เชิญนักเขียนมาพูด นักเรียน นักศึกษาก็มาเล็คเชอร์ อาจารย์ภาษาไทย บรรณารักษ์ห้องสมุด หรืออาจารย์ที่สอนวิชาวรรณกรรมก็มาร่วมพูดคุย แต่มันไม่ปรากฏว่ามี ประกาย ปรัชญา อยู่ในความรับรู้ของเขา ผมคลอนแคลนคล้ายๆ กับว่า เฮ้ย!เขียนอะไรอยู่ มันมีคนอ่านมั้ย แล้วก็รู้สึกว่าเขียนหนังสือมา 20 กว่าปี 26-27 ปี มันไม่มีแรงกระเพื่อมใดๆ กับโลกใบนั้นนะ แต่ยังไงก็ตามผมพบความงามอย่างยิ่ง ผมพบผู้อ่านของผมเอง เป็นผู้อ่านที่ซื้อหนังสือของผมไว้แล้ว โดยมันไม่ได้ถูกกำกับด้วยจุดขายใดๆ เลย ในขณะที่ความสนใจทั้งหมดพุ่งไปที่เดือนวาดก็มีนักศึกษาเข้ามาทักทาย มาแนะนำตัว แล้วสามารถท่องบทกวีของเราได้อย่างซาบซึ้ง หลายบทเราจำไม่ได้แล้ว แต่เขาก็ยังคงท่อง ยังคงตามงานของเราอยู่ ในผู้คนที่สับสนอลหม่านผมพบว่าสองคนก็พอ...แม้นไม่มีสักคนผมก็ยังเขียน ถามถึงความคลอนแคลน ผมมีนะ เพราะว่าพอไปอยู่ในความอลหม่าน สถานะตัวเองมันก็ซวดเซไปเลย


ประสบการณ์จากที่คนใกล้ตัวได้รางวัลซีไรต์เป็นอย่างไรบ้าง

มันทำให้เกิดการเสพวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลนี้เพียงเล่มเดียวต่อปี ในหมู่นักอ่านทั่วๆ ไป คือ ถ้ามองในแง่อุดมคติแล้วนี่เป็นสถานการณ์ที่น่าเศร้า แต่ในความเป็นจริงนะ เหมือนกับที่พูดกันตลอดว่าซีไรต์มันทำให้คนอ่านหนังสือเล่มเดียวต่อปี ผมพูดจากประสบการณ์ที่ไปคลุกคลีนะ ไม่ได้พูดจากโลกส่วนตัวแล้ว ผมว่าก็ยังดีกว่าไม่ได้อ่านสักเล่ม


ครั้งหนึ่งผมก็เคยรู้สึกว่า โอ้โฮ เลวร้ายนะ มันบิดเบี้ยวทำให้เกิดการอ่านหนังสือเล่มเดียว ขณะที่วรรณกรรมคุณภาพที่ไม่ได้รางวัลซีไรต์หรือไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับรางวัลซีไรต์ ก็ถูกนำเสนอออกมาให้ศึกษาให้อ่านให้เสพซับ แต่มันถูกปฏิเสธไป เพราะฉะนั้นมันบิดเบือนมันเลวร้าย แต่หลังจากที่ไปอยู่ในบรรยากาศใกล้ชิดผมพบว่ามันจะเลวร้ายกว่านี้อีกถ้าไม่ได้ถูกส่งออกไปสักเล่มหนึ่ง นี่ข้อเท็จจริงนะ ไม่ใช่ว่ามันควรจะเป็น ยืนยันว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนี้หรอก...แต่มันเป็นไปแล้ว





ถ้าสมมุติเราค้นพบอีกครั้งว่า บทกวีของเราไม่มีใครอ่านอีกแล้ว ยังจะเขียนอยู่ไหม

แน่นอน ผมเขียน เพราะเข้าใจแล้วว่าโลกภายนอกคืออะไร คือเราเข้าใจหลังจากที่เราเคยคิดว่าเราเข้าใจไง เมื่อก่อนเราตีความมันไปต่างๆ นานา เป็นทฤษฎีในความคิดของเรา เราก็คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่หลังจากที่เราก้าวเข้าไปในปริมณฑลของความสับสนอลหม่านของสิ่งต่างๆ ที่โดยแท้มันไม่ใช่อย่างที่เราคิดทั้งหมด มันเป็นอะไรที่น่าตะลึงมาก แต่ก็นั่นแหละ มันก็ดีที่เราได้ออกไปสักครั้งหนึ่ง เมื่อเราถอยห่างออกมา แน่นอนมันไม่ใช่ทฤษฎีแล้ว


คุณค่าที่เราบอกกับตัวเอง ที่ทำให้เราเขียนบทกวีมันอยู่ตรงไหน

ประการแรกเลย สำหรับผมนะ ผมเองแหละ ผมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเลือกแล้วซึ่งวิถีบางอย่าง  สอง เพื่อผู้อ่านซึ่งโชคดีที่ผมยังมีโดยที่ไม่มีจุดขายไม่มีเหตุปัจจัยใดๆ เลยที่จะนำไปเสนอกับกระแส เขาติดตามเนื้องานของเรา และแน่นอนมันเป็นเหตุผลจากเนื้องานจากบทกวีของเราประการเดียว เป็นบทกวีของเราซึ่งมันควรค่าแก่ความใส่ใจของเขา ประการที่สาม ก็คือในฐานะที่เป็นผู้สร้างงานกวีนิพนธ์ ผมยังยืนยันว่าโลกนี้จำต้องมีกวีนิพนธ์อยู่ เพราะกวีนิพนธ์เป็นภาวะความงามสูงสุดประการหนึ่งของมนุษย์


อะไรที่ทำให้คิดว่ามนุษย์ควรจะมีบทกวี

เรามักพูดกันว่ากวีนิพนธ์ตายแล้ว เราไม่เคยมองมุมกลับว่า “คนก็ตายไปจากกวีนิพนธ์”  ในฐานะที่เป็นคนเสพกวีนิพนธ์ ผมพบว่ามันสวยงาม มันทรงคุณค่ายิ่งแล้วสำหรับดวงชีวิตดวงหนึ่ง ผมยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง บทกวีมีอำนาจมหาศาลต่อผมและถ้าจะมีอำนาจรูปแบบใดต่อคนอื่นๆ ผมคิดว่ามันก็คงไม่ห่างไกลกันนักในการเข้าถึงภาวะความงามสูงสุดประการหนึ่งเหมือนกัน 


ผมคิดว่าชีวิตเราไม่ได้อยู่เพียงอาหารซึ่งกรอกลงไปในท้อง แต่เรามีสุนทรียะด้วย เรามีความอิ่มเอิบ เรามีความแช่มชื่น เรามีสภาวะใดๆ ก็ตามที่เป็นความปีติยินดีหรือไม่เช่นนั้นก็เป็นสภาวะที่ปวดร้าวอย่างสูงสุด เป็นความทุกข์ทนหม่นไหม้อย่างที่สุดก็ได้ แต่โดยแท้แล้วผมมองว่านี่คือสภาวะอันเป็นพิเศษของมนุษย์ซึ่งกวีนิพนธ์สามารถเสนอสิ่งนี้แก่เราได้


ถ้ามีใครสักคนพูดว่าโลกนี้ไม่จำเป็นต้องมีบทกวีก็ได้

ทันทีที่เขาพูดคำว่าโลกนี้ไม่จำเป็นต้องมีบทกวี มันก็ไม่ได้มีสำหรับเขาอยู่แล้ว มันมีความหมายตรงตามนั้นจริงๆ เลย คือโลกไม่มีบทกวีแล้วสำหรับเขา มันก็อาจจะไม่มีกับทุกคนก็ได้ แต่ในสถานการณ์ที่เป็นจริง ผมพบว่า มันยังคงมีกวีนิพนธ์สำหรับโลกของคนบางคนอยู่


ถ้าอย่างนั้นเราพูดได้หรือเปล่าว่า บทกวีเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในโลกสำหรับคนบางคนเท่านั้น

ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่รอเราอยู่นะ เป็นสิ่งที่รอผม แล้วพอผมเข้าหา ผมก็พบปีติงดงามลึกซึ้งของห้วงชีวิต แต่แน่นอนล่ะ ในความเป็นจริงคือ หนังสือกวีขายได้กี่เล่ม? เพราะฉะนั้นมันก็เป็นความปีติงดงามของคนบางคน ของปัจเจกบุคคลจำนวนน้อยอยู่แล้ว ขณะเดียวกันคนที่ไม่เคยเสพบทกวีคนที่ไม่เคยให้ความสนใจ หรือในความหมายก็คือไม่มีบทกวีสำหรับเขา เขาก็อยู่ได้ เขาอาจมีความงอกงามกับสื่ออื่นๆ กับความหมายอื่นๆ กับเพลง กับโทรทัศน์ กับหนังหรือกับความสัมพันธ์ต่างๆ นานา ในฐานะที่เป็นคนเสพกวีนิพนธ์ ถ้าถามผม ผมบอกว่ากวีนิพนธ์คือความงามสูงสุดประการหนึ่ง...ประการหนึ่งนะ ไม่ใช่ประการเดียว แต่ถ้าใครคนหนึ่งจะบอกว่าไม่จำเป็นเลย มันก็ไม่ใช่ความงามสูงสุดของเขาไง โลกนี้เปิดกว้างมาก


ชอบฟังเพลง และชอบอ่านบทกวีด้วย ในความรู้สึกของคุณมันแตกต่างกันตรงไหน

มองว่ามันเป็นศิลปะที่ใกล้เคียงกัน คืออย่างเรื่องสั้น นวนิยาย ผมว่าระยะความสัมพันธ์ค่อนข้างห่างจากบทกวี แต่พอเป็นดนตรีแล้วมันใกล้กว่า ทั้งที่มันก็คนละรูปแบบการนำเสนอนะ ฟิคชั่นกับบทกวีใช้ตัวอักษร ในขณะที่ดนตรีมันเป็นเสียง แต่ผมกลับพบว่าโดยอรรถรสหรือกระบวนการนำเสนอของมันนำไปสู่สิ่งที่ใกล้เคียงกับบทกวี อย่างน้อยที่สุดในประการแรกคือสุนทรียภาพไง จากนั้นมันก็เกิดเนื้อสารให้เสพซับ ให้ตีความให้แตกหน่อต่อยอดทางปัญญาออกไป ที่นี้มันก็เป็นเรื่องของรสนิยมแล้ว





โดยส่วนตัวหลงใหลฉันทลักษณ์ไหม

หลงใหลสิ ก็เหมือนกับหลงใหลท่วงทำนองเพลง สัมผัสนี่ยังเป็นรองนะ เสียงของมัน...ท่วงทำนองที่มันให้ความรู้สึกงดงาม คือเนื่องมาจากว่าผมฟังดนตรี แล้วผมมหัศจรรย์ใจกับท่วงทำนองของดนตรี บางบทบางเพลงผมรู้สึกว่า คีตกวีผู้แต่งน่ะไปถึงความงามสูงสุด อย่างเพลงคลาสสิกบางเพลง ชูเบิร์ตหรือใครก็ตาม ผมคิดว่ามันเป็นอิทธิพลที่ทำให้เราอยากเสาะแสวงให้พบความงามสูงสุดของท่วงทำนองเช่นเดียวกับที่คีตกวีเขาค้นพบ 


เขียวใน

หุบหลบใบ, ร่มบัง

เขียวนอก

สะท้อนแสงเที่ยง, สดสะพรั่ง


บุตรธิดาผลิบานจิตวิญญาณที่ดี

สัมผัสของสามีอบอุ่นอ่อนโยน

รุ่มรวยแง่งามในหน้าที่การงาน

บ้านซึ่งมีรั้วรอบ

ความหวังส่งมอบดอกผลเป็นคำตอบ

คำตอบสืบต่อเป็นความหวัง


ที่เขียวชอุ่ม / ปัจจุบัน



คิดยังไงกับกลอนเปล่า

รับได้สิ ผมหลงใหลฉันทลักษณ์นั่นเรื่องส่วนตัวนะ คือในฐานะผู้สร้าง มีกลอนเปล่าหลายชิ้นที่ผมยอมรับนับถือ ขณะที่บทกวีฉันทลักษณ์หลายชิ้นผมไม่ชอบเลย ผมไม่ได้มีปัญหาเรื่องรูปแบบ ก็เขียนกลอนเปล่าเป็นระยะ ไม่ได้ทิ้งกลอนเปล่านะ แต่แน่นอนผมเป็นคนที่ชอบเรื่องจังหวะทำนอง เสียงและสัมผัส


ถ้ามีคนบอกว่า โจอี้บอยคือกวีรุ่นใหม่ เพลงแรพของโจอี้บอยคือบทกวี คิดว่าอย่างไร

ได้ ถ้าคนๆ หนึ่งเห็นว่าโจอี้บอยเป็นกวีรุ่นใหม่ โจอี้บอยก็เป็นกวีรุ่นใหม่สำหรับคนๆ นั้น ถ้าพูดถึงรสนิยมผม ผมก็ไม่ฟังเพลงแรพ แต่มันก็อีกเรื่องหนึ่งนะ ผมมองว่านี่คือการเคลื่อนผ่านของยุคสมัย ของรสนิยม ของสิ่งใหม่ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้น เราไม่ได้อยู่กับสิ่งเก่านี่ แล้วผมมองว่ากวีมันไม่ได้อยู่แค่เป็นกลอนเปล่า เป็นฉันทลักษณ์ เป็นตัวหนังสือนะ  กวีคือความรู้สึกแรงกล้าที่จะใส่ใจต่อบางสิ่งบางอย่าง บนแนวระนาบของท่วงทำนองที่เหนือจริง ท่วงทำนองที่เหนือจริงก็คือความมีศิลปะ โอเค เมื่อเราพูดถึงกวีโดยบรรทัดฐานมันคือข้อเขียนประเภทหนึ่ง แต่ในความเข้าใจหรือในการยอมรับได้ของผมมันกว้างไกลกว่านั้น ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่นะ อย่าง รพินทรนาถ ฐากูร บอกว่าเขาเขียนบทกวีผ่านการทำโรงเรียนศานตินิเกตัน มันเป็นคำพูดในอดีตที่ยาวนานมากเลย เห็นมั้ยว่า ฐากูร โดยโลกทรรศน์เค้าไม่ได้คิดว่ากวีเป็นแค่ตัวหนังสือ เป็นรูปเล่มหนังสือ แต่มันคืออะไรก็ตามที่เป็นความเคลื่อนไหวของพลังชีวิต ของความใส่ใจแรงกล้าต่อสิ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้ากวีท่านหนึ่ง เป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ของโลก ปรกติก็เขียนบทกวีชั่วชีวิตอยู่แล้ว แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งของชีวิตเขาบอกว่า ฉันจะขอเขียนบทกวีผ่านการสร้างโรงเรียน ก็เคารพเขาเถิดว่าการสร้างโรงเรียนก็เป็นบทกวี


ยังเชื่อว่าตัวตนกับผลงานควรจะเป็นเนื้อเดียวกันอยู่อีกไหม

ผมเรียกร้องนะ คือเชื่อนี่ไม่เชื่ออยู่แล้วล่ะ แต่เรียกร้องว่า ถ้าไม่เชื่ออย่าเทศนา ถ้าเทศนาต้องเชื่อ เออ...ทุกวันนี้ผมคลี่คลายนะ ในแง่ที่ว่าต้องยอมรับสภาพว่ามันเป็นการเรียกร้องที่มากไป เนื้องานก็ส่วนหนึ่ง ตัวตนคนสร้างงานก็ส่วนหนึ่ง แต่ผมไม่ได้อยู่เหนือข้อขัดแย้งนี้จนกระทั่งรับได้ทุกสถานการณ์นะ สมมุติรู้มาว่าคนคนหนึ่งเลวร้ายมาก แต่ทำงานในแนวทางสร้างสรรค์อย่างยิ่ง คือถ้าผมอยู่เหนือได้ ผมก็จะพบว่าไม่เป็นไร ตัวตนของเค้าก็เป็นเรื่องในโลกของเค้า แต่เนื้องานที่มันสื่อออกมา มันเป็นศิลปะที่มาจรรงโลงโลก จรรโลงจิตใจมนุษย์ มันมายกระดับจิตวิญญาณ ผมก็จะเสพแต่งานเค้า คืออาจมีบางคนที่ไปถึงระนาบนั้น แต่ผมเองนี่ ถ้าไม่รู้ก็แล้วไป ถ้าบังเอิญรู้ขึ้นมาผมก็มีข้อแม้ ผมจะไม่อยากอ่าน เพราะว่ามันเทศนาแล้วมันไม่เพียงไม่เชื่อมันกระทำตรงข้าม แต่ถ้าหากในอีกแง่หนึ่งนะ ผมพบว่าแม้งานที่เค้าสร้างออกมานี่ผมไม่เห็นด้วยหรอก เนื้อหามันเริ่มจะเก่าไปแล้วแต่ตราบใดที่ผมเห็นว่ามันคือหนึ่งเดียวกับชีวิตของเขา ผมก็ให้ความเคารพนับถือ เพราะฉะนั้นพูดได้ว่าผมมีปัญหาเรื่องตัวตนกับผลงาน แต่คิดว่าไม่ได้เข้มงวดหรือเรียกร้องหรือล้มกระดานทั้งหมด ขอแค่ว่าอย่าให้ถึงขั้นเป็นโมฆะมนุษย์ เพราะผมคิดว่าชีวิตมันมีความเคลื่อนไหว ชีวิตมันมีเสรีภาพส่วนบุคคล แล้วถ้าเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์วรรณกรรม ผมคิดว่าคนอย่าง โมปัสซังก์ คงไม่ใช่คนดีนักในยุคสมัยของเขา คนอย่าง ฟีโอดอร์ซึ่งลุ่มหลงการพนัน แน่นอนถ้าใช้บรรทัดฐานทางศีลธรรมไปจับ คนเหล่านี้ไม่ใช่คนที่ดีงามอะไร ผมมองว่าความเป็นคนดีของคนๆ หนึ่งมันสำคัญสำหรับตัวเขา มันสำคัญสำหรับกระบวนการชีวิตของเขา แต่งานศิลปะมันไม่หยุดอยู่แค่นั้น เราพบว่าคนดีอีกมากมายตายไปอย่างว่างเปล่า แต่คนที่ก้ำกึ่งว่าดีหรือเลว หรือมีข้อแม้มากมายกลับสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ให้เราได้เสพซับจนวันนี้


ถ้าเลือกได้ อยากเป็นคนที่สร้างงานศิลปะแล้วอยู่ยาวนานมากกว่าเป็นคนดี หรืออยากเป็นคนดีมากกว่า

เคยได้ยินว่า คุณประมวล มณีโรจน์ บอกว่า การเป็นคนดีสำคัญกว่าการเป็นคนสร้างงานวรรณกรรมที่ดี ผมพูดได้เพียงว่าผมไม่เคยฉ้อฉลบนถนนวรรณกรรมที่เดิน ส่วนผมเป็นคนดีหรือไม่ มันไม่อยู่ในวิสัยที่จะพูดถึงตัวเอง พอจะยืนยันได้ว่าไม่เคยฉ้อฉล คิดว่าซื่อสัตย์พอสมควร ส่วนอีกคำถามหนึ่ง ผมอยากให้งานบทกวีของผมดำรงคงอยู่สืบจากนี้ไปหรือเปล่า...แน่นอน ผมมีความปรารถนาอย่างนั้น แต่ในขณะที่มีชีวิตอยู่ผมจะให้ค่ากับการที่ผมจะไม่ฉ้อฉลมากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่ผมกำหนดได้ เลือกกระทำได้ มากกว่า ส่วนที่จะให้เนื้องานดำรงคงอยู่เรากำหนดไม่ได้


มองบรรยากาศวงการกวี บทกวี การเขียนการอ่านบทกวี ณ ปัจจุบันนี้อย่างไร

ถ้าใครมาบอกว่ากวีตายแล้ว ผมไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง ผมยืนยันว่ากวีหรือวงการกวีนิพนธ์ยังมีลมหายใจอยู่ เพราะเหตุว่ายังครบถ้วนด้วยองคาพยพที่จะประคับประคองให้เกิดดวงชีวิต ได้แก่ ผู้สร้าง ผู้เสพ และกระบวนการนำเสนอ ผู้สร้างก็คือเราๆ นี่แหละ ผู้เสพอาจมีส่วนหนึ่งเป็นเราๆ ก็ตาม และกระบวนการนำเสนอก็มีอยู่ มีสนามกวี มีการรวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ ถ้าเทียบกับยุค สยามใหม่ นะ ผมถือว่ายุคนั้นก็ไม่ได้มีสนามกวีมากไปกว่านี้สักเท่าไหร่เลย เพียงแต่ว่าบรรยากาศหรือการให้ความสำคัญ การปล่อยให้บทกวีนำเสนอตัวมันเองอย่างมีน้ำหนักในหน้านิตยสารมันน้อยลง พูดง่ายๆ คือมันกลายเป็นส่วนประกอบมากกว่าที่จะเป็นแก่นสารสาระสำคัญ





คุณค่าของบทกวีมีน้ำหนักอยู่ที่ไหน ระหว่างตัวบทกวีเอง ผู้เสพ หรือการนำเสนอ

ถ้าหากมันไม่มีคุณค่าในตัวมันเองแต่เดิม มันจะมีค่าในการรับรู้ของคนอื่นไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้น มันต้องมีคุณค่าในตัวบทกวีเองอย่างเป็นเอกเทศ ไม่จำกัดด้วยเงื่อนไขการรับรู้ แล้วต่อมามันถูกทำให้ก้องกังวานขึ้นจากการรับรู้ของกลุ่มคน เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน


ในฐานะคนอ่าน บทกวีในปัจจุบันเป็นยังไง มันเปลี่ยนแปลงไปจากยุคที่ผ่านมาอย่างไร สุ้มเสียงของมันคืออะไรในขณะนี้

ผมคิดว่างานในท่วงทำนองปัจเจกบุคคลแทบจะเป็นงานกระแสหลักนะ มองว่าบทกวีแนวทางปัจเจกนิยมยังคงมีสัดส่วนที่มากอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็มีบทกวีในแนวเพื่อชีวิตดั้งเดิมดำรงคงอยู่ บทกวีสะท้อนปัญหาคนยากจน บทกวีโจมตีการกระทำของอำนาจรัฐ บทกวีเรียกร้องความสมานฉันท์ คือข้อเรียกร้องดั้งเดิมในยุคเพื่อชีวิตทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่ในบทกวีร่วมสมัย ผมมองว่ามันก็ยังมีหลายๆ แนวทาง แต่ในแง่เนื้อหาแล้วยังไม่คลี่คลาย ยังไม่มีแนวไหนโดดเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ หรือว่าเป็นกระแสหลักค่อนข้างสิ้นเชิง ผมมองเห็นแนวโน้มอย่างหนึ่งนะ คนเขียนบทกวีปัจจุบันแสวงอัตลักษณ์มากกว่าเมื่อสมัยที่ผมยังเป็นเด็กหนุ่ม เมื่อก่อนมีจุดร่วมไง คือรูปแบบการนำเสนอท่วงทำนองรับใช้ความคิดทางการเมืองอย่างหนึ่ง เวลาพูดก็เหมือนเป็นสูตรสำเร็จเลย ใช้คำเดียวกัน แต่ขณะนี้เราเห็นว่ามันกระจัดกระจาย แต่ละคนแม้จะพูดเรื่องเดียวกัน ก็อาจต่างท่วงทีก็ได้


คิดว่าบทกวีจะยังมีพลังดึงดูดให้คนหนุ่มสาวจับปากกาขึ้นมาเขียนอยู่อีกไหม

ผมว่ายังมีอยู่นะ วรรณกรรมยังคงมีอำนาจ เป็นแรงดาลใจใหญ่หลวงของคนหนุ่มสาว ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ ถ้าเราสังเกตนะ หน้ากวีต่างๆ จะปรากฏชื่อใหม่ๆ อยู่ตลอด พอถึงจุดหนึ่งเราพบว่า เออ เขามีงานต่อเนื่อง เขาไม่ใช่คนใหม่เสียทีเดียวแล้ว ก็จะมีคนใหม่เข้ามาอีก


ท่องจำซีดจาง แม้รางเลือน

ไม้พลอง – ผองเพื่อนเหมือนยังอยู่

ทิวเขาฝน แคมป์ไฟ ใจฟ่องฟู

เป็น “รองนายหมู่” ดูเซ่อเซอะ!

เดินทางไกล ไม่ท้อมรสุม

เช้ามืด มืดคลุ้ม ตกหลุมเขลอะ

“เกาะลอย” “แหลมฝาน” คลุกคลานเลอะ

ลื่นเลนเปียกเปรอะเหนอะหนะคลาน


ไม่ “เสียชีพ” วันวัยได้ “เสียสัตย์”

สัตย์ถูกตระบัด – คนจัดจ้าน

“มีเกียรติเชื่อถือได้” เพียงไม่นาน

โยนเกียรติเพื่อถือกร้าน – ชาด้านกลืน

“ลูกเสือ” เติบกล้ามาเป็น “เสือ”?

ลูกเมียสิ้นเนื้อ... น่ะเหลือฝืน

“พลอง” พลัดจากมือ มาถือ “ปืน”

มาเผลอยืนเบื้องหน้า “วชิราวุธ”


“ลูกเสือ” สามัญ “เสือ” สำรอง / ปัจจุบัน



บทกวีของประกาย ปรัชญาในช่วงหลังนี้ส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงไหม

มันมีอยู่สองส่วนนะ ในระดับที่เป็นมุมมอง อย่างในชีวิตประจำวันผมก็เห็นมันด้วยตา อย่างบทกวีเฮียบไถ่ บทกวีลูกเสือนี่เป็นประเภทที่เห็นตัวละคร เกือบทั้งหมดมีอยู่จริง กะเทยเฒ่ามีจริง เขียนตามอิริยาบถเลย ฉากแวดล้อมต่างๆ นานา ฤดูกาลของมัน อากาศในวันนั้นก็ตามนั้นหมดเลย กับอีกแง่หนึ่งคือการดำเนินไปของสภาวะซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมีจุดสังเกตใดๆ ข้างนอก อย่างผมรู้สึกว่า ชีวิตคนเกิดมามันไม่จีรัง คลื่นสึนามิมา เดี๋ยวแผ่นดินไหว เดี๋ยวโคลนถล่ม ถ้าเราได้ดื่มด่ำกับทิวทัศน์ของดวงดาวสักครั้งหนึ่ง แม้เพียงสักครั้งเดียวในชีวิตคนนะ แล้วเราจะต้องพลัดพรากจากโลกนี้ไปด้วยเหตุใดก็ตาม ผมก็รู้สึกว่าชีวิตแบบนี้มันก็ยังคุ้มค่ากับการได้เกิดมา


สำหรับบทกวีวชิราวุธ ผมพบว่าถ้าเราใช้ปรัชญาลูกเสือ ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้ ผมพบว่าคนเรานี่ ไม่ยอมเสียชีพ เลือกเสียสัตย์ตลอด ปรัชญาลูกเสือนั้นโรแมนติกแต่ไม่ได้อยู่ในความเป็นจริง แล้วก็คิดว่ามีอดีตลูกเสือคนหนึ่งมันกำลังจะไปปล้น คือลูกเมียสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว แต่ว่าบังเอิญมันผ่านไปจุดที่มันเคยมีความผูกพันในวัยเยาว์ แล้วค่ายลูกเสือนี่ก็เหมือนกับฉุดรั้งมันไว้ เพื่อให้ทบทวน เพื่อให้เกิดความยับยั้งชั่งใจว่าจะเอายังไงต่อ ระหว่างปากท้องลูกเมียกับปรัชญาโรแมนติก



แฝงในแสงเนิบเศร้า – เสาซีดกว่า

สิงโตหินสิ้นท่า – ขาหน้าหัก

เธออิงศาลเจ้าร้างอ้างว้างนัก

แปรเป็น “ศาลเจ้ารัก” จักเรืองไร


เท้าเขี่ยดวงโคมแดง สิ้นแสงโคม

กายอันสิ้นสาวโทรม โถมใจใหม่

เลือนพลบหนาว, อุ่นเนื้อ, เอื้ออ้อมไอ

ชายจากตรอกเฮียบไถ่ มอบให้เธอ


นอกตรอกเฮียบไถ่, หลังสนธยา / ปัจจุบัน




อยากให้เล่าเบื้องหลัง บทกวีตรอกเฮียบไถ่

เคยเห็นศาลเจ้าร้าง แล้วผู้คนก็ไปเห่อกับศาลเจ้าใหม่ แล้วมีอากงอาม่า ผมคิดว่ามันเป็นภาพที่สวนทางกัน อาม่าแกไปเห่อศาลเจ้าใหม่ อากงดอดไปศาลเจ้าเก่า คือนอกศาลเจ้าเก่ามีหญิงบริการตกรุ่นยืนรอริมทาง คือผมจะได้ภาพผกผันอยู่สองภาพ คือหนึ่งสิงโตขาเป๋ถูกทิ้งร้าง ขณะที่ศาลเจ้าใหม่ฮือฮามาก กับหญิงบริการที่โดยแท้แล้วไม่ได้ต้องการขายตัวนะ ขายตัวน่ะเรื่องนึง แต่ต้องการมีความสมบูรณ์แบบของความสัมพันธ์ทางเพศกับชายที่ตัวหมายปอง แต่ถูกตีค่าว่าเป็นหญิงบริการต่ำชั้น ไอ้พวกช่างทองหนุ่ม ไอ้พ่อค้าหมูหน้ามันที่พอตกกลางคืนมันก็สำอาง มันก็ไม่มา มาแต่อากง ทีนี้ดันเป็นหญิงบริการก็ต้องรับแขกไง ก็เลยเป็นภาวะที่ฝืดฝืนกันอย่างนี้ไป แต่เดี๋ยวข่าวบัดสีแทรกมาหาอาม่า คือมีคนมาบอกล่ะ


ผมแย้งกันระหว่างศาลเจ้าซึ่งมันน่าจะบริสุทธิ์ มันเป็นภาวะที่สะอาดสะอ้าน แต่ศาลเจ้าร้างมันกลายเป็นปริมณฑลแห่งมณฑิลแล้ว ...มันมีเสน่ห์ คือแน่นอนมันพิกลพิการมันอัปลักษณ์จริง แต่ผมมองว่านี่ไง! คือเสน่ห์ของความสัมพันธ์มนุษย์ตามความเป็นจริง มันตอบคำถามได้ว่าผมสนใจเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องเล็ก ผมมองว่ามนุษย์มันพร่อง จากการที่มันไม่อาจกล่อมเกลา ยับยั้งชั่งใจหรือรั้งตัวเองไปในหนทางที่ใฝ่ดี นี่คือรูปธรรมหนึ่งของพื้นที่บริบทนั้นในเนื้องานของผมไง ว่าผมเขียนเรื่องเล็ก หรือโดยแท้แล้วผมก็ไม่ได้มองว่าเรื่องอย่างนี้มันเล็ก แต่ผมอาจจะสะท้อนหรือนำเสนอผ่านรูปการเล็กๆ ของคนต่ำๆ


ประกาย ปรัชญา ไม่ค่อยเขียนโคลง ไม่ชอบหรืออย่างไร

ตอบได้ว่าเวลาเขียนบทกวีนี่มักไม่คอยบ่ายหน้าไปหาโคลง คือระหว่างเนื้อหากับรูปแบบผมจะคิดมาพร้อมๆ กัน เช่นผมรู้เลยว่าบทนี้ต้องเป็นกลอน นี้ต้องเป็นฉันท์ แต่มักไม่ค่อยมีว่านี้ต้องเป็นโคลง ถือว่ามีระยะห่างกับโคลงมากจนกระทั่งผมก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร


ยากไหมกว่าจะต่อสู้จนถึงจุดที่อาจเรียกได้ว่าไม่มีปัญหาทางรูปแบบอีกต่อไป

เขียนบทกวีมาประมาณ 26-27 ปีแล้ว ก็เป็นแค่ช่วงสัก 5-6 ปี หลังนี้ที่รู้สึกว่าไม่มีปัญหา มันก็ใช้เวลานาน จะสั่งคำยังไง จะลงสัมผัสให้มันไม่เป็นกลอนพาไปได้ยังไง คือยังคงอยู่ในการคิดอยู่ มันไม่ได้เกิดขึ้น ณ เบื้องแรกนะ แต่ผมคิดว่าพอเรามีฉันทะ เรามีความรู้สึกรักชอบที่จะอยู่กับสิ่งนี้ โดยไม่ใช่ความอดทน ไม่ใช่การต้องหักหาญ ผมว่ามันก็กล่อมเกลาเราไปด้วย แล้วก็มีความสุข เออ...ตรงนี้เราใช้คำนี้นะ ใช้เสียงนี้นะ ใช้สระนี้ เอาไปลงกับอีกบรรทัดหนึ่งเป็นสระนี้ พอพบแล้ว...เออ มันเพราะ


ระวังอย่างไร ไม่ให้กลอนพาเราไป

เราหยุดสิ เราหยุดเลย ถ้าเรารู้ว่าในขณะเวลาที่เราเขียนนั้น เหลือสถานเดียวคือเราต้องให้มันพาเราไป เราจึงจะเขียนต่อได้ ผมจะหยุด อย่างน้อยไปด้วยตัวเองไม่ได้ก็ไม่ให้มันพาไป พักครึ่งทาง...พักร้อน แล้วท้ายสุดเราก็จะพบทางออกว่า เออ...มันมีคำหนึ่งนะ ซึ่งเราพาไปได้ขณะเดียวกันก็ยังคงเคารพต่อแบบแผนฉันทลักษณ์ได้เหมือนเดิม


บทกวีชิ้นที่ใช้เวลานานที่สุด นานเท่าไหร่

เป็นเดือน คืออยู่กับบทกวีชิ้นนั้นตั้งแต่ต้นจนจบนี่ก็เป็นเดือน


แล้วเร็วที่สุดละ ใช้เวลาเท่าไหร่

รวดเดียวจบ แต่มันไม่ใช่ข้อตัดสินหรือประเมินคุณภาพของงาน บางชิ้นนะแก้แล้วแก้อีก สรรแล้วสรรอีกจนจบแล้วยังต้องบ่น อือ...ไม่ชอบเลย แต่กับบางชิ้นนะมันเหมือนว่ามันไม่ยากเลย มันง่ายๆ แต่พอจบแล้วเรารู้สึกว่าชิ้นนี้เรายังชอบกว่าชิ้นที่เราเขียนด้วยความยากลำบาก


แล้วแต่โชคหรือเปล่า

เออ...เป็นไปได้









Comments