บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี

 




ป่าเถื่อน หรรษา บ้าคลั่ง และสะท้านสะเทือนต่อมปัญญา

การหักเหลี่ยมเฉือนคมกันระหว่างนักอนาธิปไตยและกองตำรวจนักปรัชญา ที่ลงเอยด้วยเหตุการณ์สุดประหลาด

ผลงานของนักเขียนผู้ส่งอิทธิพลต่อ สลาวอย ชิเชค และ ออร์สัน เวลล์ 

พร้อมบทความพิเศษโดย กิตติพล สรัคคานนท์



หนังสือ  บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี: ฝันร้าย

ผู้เขียน  จี. เค. เชสเตอร์ตัน

ผู้แปล  ไพรัช แสนสวัสดิ์

สำนักพิมพ์  Shine Publishing House

เวลาพิมพ์  มีนาคม 2022

ISBN  978 616 7939 18 6

ขนาดรูปเล่ม  กว้าง 105 มม. สูง 178 มม. หนา 17.5 มม.

เนื้อใน  กระดาษถนอมสายตา พิมพ์ขาวดำ

ปก  สี่สี เคลือบด้าน สปอตยูวี

จำนวนหน้า  312 หน้า

ราคาปก  300 บาท

สั่งซื้อ  ร้านสำนักพิมพ์ไชน์ คลิก

 


โปรยปกหลัง

ให้ผมบอกความลับของโลกทั้งใบนี้ไหม? นั่นคือเรารู้จักเพียงด้านหลังของโลกนี้เท่านั้น เราเห็นทุกอย่างจากด้านหลังและมันช่างดูโหดร้าย นั่นไม่ใช่ต้นไม้ แต่เป็นด้านหลังของต้นไม้ นั่นไม่ใช่ก้อนเมฆแต่เป็นด้านหลังของเมฆ คุณไม่เห็นหรือว่าทุกอย่างมันก้มตัวและซ่อนใบหน้า? ถ้าเราสามารถอ้อมไปข้างหน้า —


 

คำโปรยก่อนเข้าเรื่อง 1

ความระทมทุกข์ของพระเจ้าบ่งชี้ว่าพระองค์ทั้งเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากประวัติศาสตร์ พระเจ้าไม่ใช่เจ้านายที่มองไม่เห็นซึ่งคอยดึงเชือกจากเบื้องบน ความระทมทุกข์ของพระเจ้าหมายความว่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ไม่ใช่แค่โรงละครเงา แต่เป็นสถานที่ของการต่อสู้อันแท้จริง การต่อสู้ซึ่งแม้สิ่งสัมบูรณ์ในตัวเองก็ยังถูกดึงมาเกี่ยวข้องและถูกชี้ชะตา

สลาวอย ชิเชค


 

คำโปรยก่อนเข้าเรื่อง 2

นักปรัชญาบางคนอาจหลงใหลอนันตภาพ กวีมักรักสิ่งมีขอบเขตจำกัด สำหรับเขาช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่ไม่ใช่การสร้างแสงสว่าง แต่เป็นการสร้างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์



สารบัญ

1. สองกวีแห่งสวนซาฟฟรอน  17

2. ความลับของ เกเบรียล ไซม์  35

3. บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี  49

4. เรื่องราวของนักสืบ  68

5. ความน่ากลัวสารพัด  86

6. การเปิดโปง  101

7. การกระทำเหนือคำอธิบายของศาสตราจารย์เดอเวิร์มส์  115

8. ศาสตราจารย์อธิบาย  130

9. บุรุษผู้สวมแว่นตา  151

10. การดวล  175

11. ผู้ร้ายไล่ล่าตำรวจ  201

12. โลกในสภาพอนาธิปไตย  215

13. การไล่ล่าประธาน  240

14. นักปรัชญาทั้งหก  259

15. ผู้กล่าวหา  278


หมายเหตุการแปล  293

เกี่ยวกับผู้เขียนและ บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี  295

บทความพิเศษ: ชิเชคกับ บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี  305



เกี่ยวกับผู้เขียนและ บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี

จี. เค. เชสเตอร์ตัน (กิลเบิร์ต คีธ เชสเตอร์ตัน - Gilbert Keith Chesterton - 1874-1936) เป็นนักเขียนชาวอังกฤษผู้มีอิทธิพลในวงการขีดเขียนระดับหนึ่งระหว่างช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สร้างผลงานอันหลากหลายรวมถึง บทความหนังสือพิมพ์ บทวิจารณ์วรรณกรรม ปรัชญา กวีนิพนธ์ ชีวประวัติ งานปกป้องแก้ต่างให้แก่คริสต์ศาสนา แฟนตาซี เรื่องสั้น และนวนิยายสืบสวน


เชสเตอร์ตันเกิดที่เคนซิงตัน ลอนดอน ในครอบครัวชนชั้นกลาง ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนของเซนต์พอล เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนศิลปะสเลด เพื่อฝึกเป็นนักวาดภาพประกอบ ต่อมาเข้าเรียนวิชาวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน แต่ไม่ได้เรียนจนจบขั้นรับปริญญาบัตร


ปี 1896 เขาเริ่มทำงานให้กับสำนักพิมพ์เรดเวย์ และ ที. ฟิชเชอร์ อันวิน ในลอนดอน ซึ่งทำประจำอยู่จนถึงปี 1902 ระหว่างช่วงเวลานี้เขายังรับหน้าที่ทำงานหนังสือพิมพ์ครั้งแรกในฐานะศิลปินอิสระและนักวิจารณ์วรรณกรรมไปด้วย เขาเริ่มเขียนคอลัมน์ความคิดเห็นรายสัปดาห์ใน เดลินิวส์ ตามด้วยคอลัมน์รายสัปดาห์ใน เดอะ อิลัสเตรท ลอนดอน นิวส์ เมื่อปี 1905 ที่ซึ่งเขาทำงานเขียนให้กับทั้งสองแห่งตลอดสามสิบปีต่อมา เขายังเป็นบรรณาธิการนิตยสารของเขาเอง จี. เค. วีคลีย์ อีกด้วย และมีงานเขียนบทความให้แก่สารานุกรมบริเตนนิกาเป็นครั้งคราว


เชสเตอร์ตันรักการเขียนหนังสือไล่เลี่ยกับงานเขียนวิจารณ์วรรณกรรม สังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา และเทววิทยา แม้จะประสบความสำเร็จด้านวรรณกรรม แต่เขาก็ถือว่าตัวเองคือนักหนังสือพิมพ์เป็นหลักใหญ่


ตลอดชีวิตเชสเตอร์ตันมีผลงานพิมพ์เป็นหนังสือประมาณ 80 เล่ม บทกวีหลายร้อยบท บทละคร 5 เรื่อง นวนิยาย 5 เรื่อง และเรื่องสั้นอีกประมาณ 200 เรื่อง รวมถึงซีรีส์สืบสวนยอดนิยมของนักอ่านยุคนั้นคือ ชุด ‘คุณพ่อบราวน์’ (Father Brown) ผู้เป็นทั้งบาทหลวงคาทอลิกและนักสืบคดีในขณะเดียวกัน ซึ่งปรากฏตัวใน 50 เรื่องสั้น ตีพิมพ์ระหว่างปี 1910 ถึง 1936 ในขณะที่วงการวรรณกรรมถือกันว่า บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี  เป็นนวนิยายมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดของเขา


เชสเตอร์ตันได้รับขนานนาม ‘เจ้าชายแห่งปฏิทรรศน์’ เขาเขียนร้อยแก้วแบบแปลกแปร่ง ด้วยสูตรที่น่าฉงน ตัวอย่างเช่น: “หัวขโมยเคารพในทรัพย์สิน เพียงแต่เขาต้องการให้ทรัพย์สินนั้นกลายเป็นสมบัติของตนซึ่งเขาจะสามารถเคารพมันได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” โดยทั่วไปขณะที่แสดงความคิดเห็นอย่างจริงจังเกี่ยวกับโลก รัฐบาล การเมือง เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา เทววิทยา และหัวข้ออื่นอีกหลากหลาย เชสเตอร์ตันมักผสมผสานไหวพริบให้สอดคล้องกับประเด็นสำคัญ (บาปของมนุษย์) และการเล่นมุกตลกเชิงล้อเลียนตัวเอง เขาเป็นหนึ่งในนักคิดคริสเตียนเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการยกย่องและนำเอาคำพูดมาอ้างอิงโดยเท่าเทียมกันทั้งจากฟากชาวคริสต์เสรีนิยมและอนุรักษนิยม และตามความเป็นจริงจากผู้ที่ไม่ใช่คริสต์ด้วยอีกหลายครั้ง


หลังจากที่เคยทดลองกับลัทธิไสยศาสตร์อยู่ช่วงหนึ่งระหว่างเยาว์วัยแล้วเลิกราไปเนื่องจากสำนึกได้ว่าเป็นความหลงผิดตามคำบอกเล่าของตนเอง เขากลายมาเป็นชาวคริสต์ผู้เปี่ยมศรัทธาเชื่อมั่นยาวนานก่อนถึงปี 1922 ที่เขาเปลี่ยนสังกัดจากการเป็นชาวคริสต์ นิกายแองคลิกัน มาเป็น โรมันคาทอลิก แล้วหลังจากนั้นเขาได้เขียนผลงานที่เน้นด้านเทววิทยาหลายชิ้น รวมทั้งประวัติชีวิตของ นักบุญ ฟรานซิสแห่งอัสซีซี และ นักบุญ โธมัส อาคีนาส รูปแบบและสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนาปรากฏอยู่ในงานเขียนทุกประเภทจำนวนมาก บทกวีส่วนใหญ่ของเขาไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกว้างขวาง แม้ว่ามันสะท้อนความเชื่อและความคิดเห็นในตัวตนเขาได้เป็นอย่างดี


ทัศนะทางเทววิทยาและการเมืองของเชสเตอร์ตันนั้นแตกต่างกันมากเกินกว่าจะเข้ากันได้กับการขนานนามว่า ‘เสรีนิยม’ หรือ ‘อนุรักษนิยม’ อย่างใดอย่างหนึ่ง และในคำพูดของตนเองเขาแสดงความเห็นต่อการขนานนามเช่นนั้นว่า “โลกสมัยใหม่ทั้งหมดแบ่งตัวเองออกเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมและหัวก้าวหน้า ภารกิจหลักของพวก ‘ก้าวหน้า’ คือการทำอะไรต่อมิอะไรให้มันผิดพลาดอยู่เรื่อยไป ส่วนภารกิจสำคัญของพวก ‘อนุรักษนิยม’ ก็คือการปกป้องไม่ให้ความผิดพลาดเหล่านั้นได้รับแก้ไข” เขาเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คริสเตียนออร์ทอดอกซ์’ อยู่ตลอดมา


เชสเตอร์ตันเป็นคนร่างใหญ่หนาทึบ สูง 1.93 ม. และหนักประมาณ 134 กก. เคยมีเกร็ดเล่าขานกันมาว่าครั้งหนึ่งเขาได้ตั้งข้อสังเกตกับสหาย จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ ว่า “สภาพตัวตนของคุณแบบนี้ ทุกคนที่มาเห็นคงคิดว่ามีความอดอยากหิวโหยระบาดอยู่ในอังกฤษอย่างแน่แท้” ชอว์โต้กลับว่า “แล้วสภาพตัวตนของคุณล่ะ ทุกคนที่มาเห็นเข้าคงคิดว่าคุณเป็นต้นเหตุของความอดอยากนั่นเอง”


ตลอดชีวิต เชสเตอร์ตันเป็นหนึ่งในบรรดาบุคคลผู้มีสีสันแพรวพราวและเป็นที่รักอย่างมากแห่งวงการวรรณกรรมอังกฤษ มีปฏิสัมพันธ์เป็นมิตรไมตรีกับผู้คนด้วยความร่าเริง ไหวพริบเฉลียวฉลาด และมนุษยธรรมอันอบอุ่นซึ่งทำให้เขาได้รับความเมตตาและปรารถนาดีมาตลอดแม้กระทั่งจากฝ่ายที่ถือว่าตนเป็นศัตรู


เชสเตอร์ตันชอบการโต้แย้งในสารพัดประเด็น มักเข้ามีส่วนร่วมในข้อพิพาทสาธารณะอย่างเป็นกัลยาณมิตรกับบุคคลโด่งดังเช่น จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์, เฮช. จี. เวลส์, เบอร์ทรันด์ รัสเซล และ คลาเรนซ์ ดาร์รอว์ เขาเคยเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติว่า เขากับชอว์เคยร่วมกันแสดงบทบาทคาวบอยในภาพยนตร์เงียบเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยถูกนำออกฉาย


งานเขียนของเชสเตอร์ตันเคยได้รับการกล่าวถึงและยกย่องโดยเหล่านักเขียนผู้โด่งดังทั้งในยุคสมัยเดียวกันและต่อมา เช่น เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, เกรแฮม กรีน, เฟรดเดอริค บุชเนอร์, อีเวลีน โว, ฆอร์เก หลุยส์ บอเจส, กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, คาเร็ล ชาเป็ค, ปอล โคลเดล, โดโรธี แอล., เซเยอร์, อากาธา คริสตี้, แอนดรู กรีลีย์, คิงส์ลีย์ เอมิส, ดับเบิลยู. เฮช. ออเดน, แอนโธนี เบอร์เจสส์, อี. เอฟ. ชูมากเกอร์, ออร์สัน เวลล์, โดโรธี เดย์ และ ฟรันซ์ คาฟคา


งานส่วนใหญ่ของเชสเตอร์ตันยังคงมีการตีพิมพ์จำหน่ายมาตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน งานอมตะของเขานอกจาก The Man Who Was Thursday ยังมี The Napoleon of Notting Hill รวมทั้งคอลเล็กชั่นเรื่องราวของนักสืบ Father Brown ที่จัดทำโดยสำนักพิมพ์อิกนาทิอุส (Ignatius Press) ให้เป็นผลงานรวมเล่มที่สมบูรณ์


เชสเตอร์ตันแต่งงานกับ ฟรานเซส บล็อกก์ (Frances Blogg) ปี 1901 ซึ่งเป็นคู่สมรสตลอดชีวิต เขาได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอเรอะ แห่งดับลิน และ นอเตรอะดาม เชสเตอร์ตันถึงแก่กรรมเมื่อ 14 มิถุนายน 1936 ขณะอายุ 62 ปี ที่บ้านใน บีคอนส์ฟิลด์, นอตติงแฮมเชียร์ อังกฤษ


 

บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี – The Man Who Was Thursday – เป็นนวนิยายเรื่องที่สองของเชสเตอร์ตันซึ่งเขียนและตีพิมพ์ออกสู่ท้องตลาดอังกฤษเมื่อปี 1908 โดยไม่มีการชี้แนะจากตัวผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ เจ. ดับเบิลยู. แอร์โรว์สมิธ ว่าเป็นเรื่องประเภทใด แต่หลังจากนั้นได้รับการอธิบายและเสนอแนะไว้ในหมู่นักวรรณกรรมหลายท่านว่าเรื่องนี้น่าจะจัดได้ว่าเป็น ‘นวนิยายระทึกขวัญเชิงอภิปรัชญา’ (metaphysical thriller)


เชสเตอร์ตันเสนอภาพบรรยากาศของลอนดอนและจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยในยุโรประหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านของศตวรรษที่ 20 ด้วยร้อยแก้วที่สลักเสลาออกมาได้อย่างน่าพิศวง ขณะที่ในหลายประเทศพลพรรคของฝักฝ่ายทางการเมืองทั้งหลาย เช่น คอมมิวนิสต์ นักชาตินิยม และอนาธิปไตยร่วมกับสุญนิยม กำลังขยายตัวเติบใหญ่ผงาดขึ้นและเผยแพร่อุดมการณ์อย่างหนักหน่วงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาแต่เก่าก่อน รวมถึงการคุกคามบังคับและการโจมตีลักษณะก่อการร้ายของพวกหัวรุนแรงบ้างเป็นครั้งคราว ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วคือภายในเพียงไม่กี่ปีหลังจากการตีพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ก็เกิดเหตุการณ์ลอบสังหาร อาร์คดยุค ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ แห่งออสเตรีย ซึ่งเป็นชนวนเหตุทำให้โลกก้าวเข้าสู่มหาสงครามครั้งแรก


เป็นการยากมากที่จะจำแนก บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี ว่าแท้จริงแล้วเป็นวรรณกรรมประเภทใด นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่านี่คือหนังสือที่ยากต่อการปักหมุดบ่งชี้ให้ชัดเจน แม้ว่ามันได้ยืนหยัดผ่านบททดสอบของกาลเวลามาเกินกว่าศตวรรษ ขณะยังคงเป็นหนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของเชสเตอร์ตัน ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งยากสำหรับผู้อ่านยุคนี้ แต่ยังเคยก่อความสับสนแก่นักวิจารณ์ที่พยายามอธิบายและระบุประเภทในยุคก่อนโน้นเช่นกัน และแม้กระทั่งเชสเตอร์ตันเองในอัตชีวประวัติที่เขาเขียนก็ยังไม่มีคำอธิบายอย่างใดบอกไว้อย่างสมบูรณ์ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จัดอยู่ในแนวทางใดแน่นอน มันอาจเป็นการผสมผสานระหว่างบางส่วนของงานสืบสวน จารกรรม ความลึกลับอัศจรรย์ การเปรียบเทียบแฝงเร้นความหมายแบบอุปมานิทัศน์ เทววิทยา และรวมถึงกระทั่งบางส่วนของปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับสถานะของมนุษย์


แต่ด้วยการที่มีลักษณะเนื้อเรื่องซึ่งปรากฏความไร้สาระในหลายช่วงตอนอาจทำให้ผู้อ่านบางคนตีความเรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงชุดของความฝันภายใต้จินตนาการของตัวเอกผู้ดำเนินเรื่อง เกเบรียล ไซม์ และยังมีผู้อ่านสมัยใหม่หลายคนวิจารณ์ว่าวิธีที่ง่ายและสั้นที่สุดในการอธิบายนวนิยายที่มีชื่อเสียงเด่นสุดของเชสเตอร์ตันเรื่องนี้คือการระบุว่ามันเป็นเสมือน การผจญภัยของอลิซในแดนมหัศจรรย์ สำหรับผู้ใหญ่นั่นเอง เพราะว่าเรื่องราวของตัวละครนำนั้นดูน่าประหลาดพอกันกับเรื่องของอลิซตัวน้อย นอกจากนี้มันยังสะท้อนถึงฝันร้ายน่าหวาดหวั่นแนวเดียวกันกับงานของคาฟคา และโดสโตเยฟสกีในหลายต่อหลายด้าน


อาจมีผู้วิจารณ์บางคนระบุว่ามันคือเรื่องการผจญภัยของอาชญากรมือสังหารที่เผชิญกับตำรวจมือฉกาจ แต่คาดได้ว่าผู้เขียนที่มีผลงานหลากหลายคนนี้บอกเล่าเรื่องสืบสวนได้อย่างชนิดไม่มีใครเหมือน ในลักษณะนี้ถือได้ว่า บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมมาตลอดกาลนาน และหากไม่มีการเอ่ยอ้างถึงแง่มุมอื่นใดแล้วคนกลุ่มนี้ถือกันว่าเรื่องนี้นับเป็นการแสดงพลังฝีมืออันงดงามของการเขียนเรื่องแนวระทึกใจเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในไม่นานนักผู้อ่านจะพบว่ามันเป็นมากกว่าเรื่องสืบสวน เมื่อปล่อยจิตใจให้ไหลเลื่อนไปตามการบอกเล่าอย่างเร่งรีบด้วยสไตล์อันยอดเยี่ยม ในไม่ช้าผู้อ่านจะเห็นว่าตนกำลังถูกนำพาตัวดิ่งลงไปในนํ้าซึ่งลํ้าลึกกว่าที่เขาได้คาดคิดไว้


และข้อสรุปความตอนท้ายเรื่องซึ่งไม่อาจคาดเดาได้เลยจะเป็นสิ่งพิสูจน์ให้แก่ผู้รักวรรณกรรมในยุคสมัยใหม่เช่นเดียวกับที่เคยปรากฏต่อผู้อ่านนับพันนับหมื่นมาแล้วเมื่อครั้งที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก นั่นคือประสบการณ์ที่หลบเลี่ยงไม่ได้และน่าประทับใจขณะที่ ‘ประธานวันอาทิตย์’ ถูกเผยโฉมออกมาในที่สุดแบบที่ไม่มีใครคาดหมายได้ว่าจะเป็นอย่างนั้น


เช่นเดียวกับนิยายของเชสเตอร์ตันส่วนใหญ่ที่ตีพิมพ์ออกมาภายหลัง นักวิจารณ์บางท่านบอกว่าวรรณกรรมนี้คือเรื่องราวเปรียบเทียบเชิงอุปมานิทัศน์ (Allegory) เกี่ยวกับความเชื่อในคริสต์ศาสนาหลายบริบท เชสเตอร์ตันเคยประสบภาวะซึมเศร้าในช่วงสั้นระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย และเขาอ้างว่าหลังจากนั้นเขาเขียนเรื่องนี้เพื่อเป็นการยืนยันเป็นพิเศษว่าคุณความดีและความชอบธรรมเป็นหัวใจของทุกแง่มุมในหมู่มวลมนุษยชาติ


เชสเตอร์ตันเคยแย้มพรายเกี่ยวกับประเด็นสำคัญนี้ไว้เพียงเล็กน้อย เขาเคยบอกว่าสำหรับวรรณกรรมเรื่องนี้เขาไม่ได้พยายามจะแสดงออกเป็นงานเชิงอุปมานิทัศน์เท่านั้น หรืออธิบายความเชื่อทางเทววิทยาอย่างจริงจังตามแบบที่เขาเขียนไว้ในบทความ บทกวี หรือร้อยแก้วฉบับอื่น ที่ไม่ได้เป็นรูปแบบนวนิยาย


สิ่งน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ผู้อ่านน่าจะสามารถอ่านได้ด้วยหลากหลายระดับของความตระหนักรู้และยังคงสนุกสนานไปกับมัน อาจมองเห็นว่ามันเป็นเรื่องระทึกขวัญ เพ้อฝันเลื่อนลอย ประกอบด้วยช่วงขณะที่น่าตลกขำขัน หรือการประชดประชันทางการเมือง หรือเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ที่แสวงหาพระเจ้าในแต่ละสถานที่ซึ่งค่อนข้างผิดที่ผิดทางทั้งหมด หากมีส่วนตอนใดที่ไม่ค่อยมีเหตุผล ดูไร้สาระ หรือไม่น่าจะเข้าใจได้ง่ายก็อาจปล่อยผ่านไปก่อนในขั้นแรกก็ได้


ไม่นานก่อนเขาถึงแก่กรรมเมื่อปี 1936 เชสเตอร์ตันเขียนชี้แจงจุดยืนของเขาสำหรับเรื่องนี้ในบทความที่ เดอะ อิลลัสเตรท ลอนดอน นิวส์ โดยเน้นว่าแนวเรื่องหลักของนวนิยายนี้คือ ‘ฝันร้าย’ สอดคล้องกับชื่อรองของเรื่อง ก็แค่นั้นเอง และอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า:


“หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ตั้งใจบรรยายโลกแห่งความจริงอย่างที่มันเป็น หรืออย่างที่ผมคิด แม้ว่าความคิดของผมในช่วงนั้นไม่ค่อยสงบราบรื่นเหมือนที่ผมเป็นอยู่ตอนนี้ จุดประสงค์ของนวนิยายคือเพื่ออธิบายถึงโลกแห่งความสงสัยและความหมดอาลัยตายอยากซึ่งผู้มองโลกแง่ร้ายมักจะออกมาให้อรรถาธิบายกันมากในสมัยนั้น มีเพียงแสงริบหรี่แห่งความหวังในความหมายสองนัยบางประการของความสงสัยดังกล่าว ซึ่งแม้แต่ผู้มองโลกแง่ร้ายก็ยังอาจรู้สึกถึงมันได้บ้างอย่างไม่ค่อยปะติดปะต่อนัก”


 

เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับนิยาย:

- มีเรื่องเล่าขานกันมาว่า The Man Who Was Thursday เป็นแรงบันดาลใจแก่ ไมเคิล คอลลินส์ นักปฏิวัติและนักการเมืองแห่งพรรครีพับลิกันไอริชให้ก่อเกิดแนวคิด “ถ้าคุณไม่ได้พยายามหลบซ่อนตัวก็ไม่น่ามีใครออกตามไล่ล่าคุณหรอก” ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับพลพรรคของ ‘กองทัพสาธารณรัฐไอริชอิสระ’ (Irish Free State National Army) ในยุคนั้น


- ผู้รู้ทางวรรณกรรมเชื่อกันว่าวิธีที่เชสเตอร์ตันแปลงเรื่องสืบสวนลึกลับให้กลายเป็นภาพสะท้อนอันน่าเวียนหัวอย่างที่สุดเกี่ยวพันกับสัญลักษณ์ทางศาสนา เวทมนตร์ลึกลับ และธรรมชาติของความเป็นจริง วิธีการพรรณนาถึงสิ่งที่ดำรงอยู่ตามปกติแล้วบิดผันและเปลี่ยนแปรไปสู่ลักษณะที่แทบจะจำไม่ได้เสมือนอยู่กันคนละโลก แต่โดยทางใดทางหนึ่งยังแสดงถึงบางสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในนั้น มีส่วนก่อแรงบันดาลใจให้แก่พัฒนาการของขบวนการศิลปะและวรรณกรรมเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) อยู่บ้างพอควร และส่งอิทธิพลต่อสภาวะเหนือจริงในงานวรรณกรรมต่อมายังนักเขียนอเมริกันจำนวนหนึ่ง เช่น ฟิลิป เค. ดิค, เคิร์ต วอนเนกกัต, วิลเลียม เบอร์โรส์ หรือ โธมัส พินชอน และยังรวมถึงนักเขียนแนวทางสัจนิยมมหัศจรรย์ ชาวละตินอเมริกันบางคน โดยเฉพาะ ฆอเก หลุยส์ บอร์เจส กับ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ อีกด้วย


- เมื่อปี 1938 รายการ The Mercury Theatre on the Air สหรัฐอเมริกา นำเสนอเรื่องนี้ผ่านการดัดแปลงเป็นรายการวิทยุโดยย่อ ซึ่งเขียนบทโดย ออร์สัน เวลล์ ผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียนบทชื่อดังผู้ที่ชื่นชอบเชสเตอร์ตันอย่างมาก


- สถานีวิทยุบีบีซีออกอากาศบทดัดแปลงของวรรณกรรมนี้อย่างน้อยในสองช่วงยุคสมัยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ปี 1986 บีบีซีออกอากาศเป็นซีรีส์สี่ตอน ปี 2005 บีบีซีออกอากาศโดยมี จอฟฟรีย์ ปาล์มเมอร์ เป็นผู้อ่านตอนละครึ่งชั่วโมงรวมทั้งหมด 13 ตอน และต่อมาได้ออกอากาศซํ้าอีกหลายครั้งนับตั้งแต่นั้นมา รวมถึงปี 2008 (ครบรอบหนึ่งร้อยปีหลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรก) และออกซํ้าอีกปี 2016 และ 2020


- ชาวฮังการี บอลาซ ยูสต์ ลงมือเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน The Man Who Was Thursday (2016) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่องนี้ นำแสดงโดย ฟรังซัวส์ อาร์โนด์, อานา อูลารู และ จอร์ดี โมยา ซึ่งได้ออกฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อ 21 มิถุนายน 2016 ที่เทศกาลภาพยนตร์แห่งเอดินเบอเรอะ


- สลาวอย ชิเชค นักคิดนักปรัชญาชาวสโลวีเนียน เป็นผู้หนึ่งที่นำผลงาน บทความ และนวนิยายของเชสเตอร์ตันมากล่าวถึง ชิเชคเป็นผู้เขียนคำนำให้แก่ The Man Who Was Thursday ฉบับแปลเป็นภาษาสโลวีเนียน เขายังเขียนบทความถึงงานของเชสเตอร์ตันอีกหลายชิ้น ดูเหมือนว่าบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับศาสนาในงานของเชสเตอร์ตันจะกระตุ้นความคิดของเขาอย่างมาก


Comments