นักเขียนหนุ่มไม่มีวันตาย
ภาพโดย
วิโชติ ไกรเทพ, ธาตรี แสงมีอานุภาพ
ขึ้น
15 ค่ำ เดือน 3, เช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์
2549 อันเป็นวันมาฆบูชาวันซึ่งจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์
พระสงฆ์ผู้ได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทาจำนวน 1,250 รูป
มาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย และทั้งหมดนั้นเป็นพระอรหันต์
ราวแปดโมงครึ่งของเช้าวันนี้
ผู้ชายคนหนึ่งกำลังรวบรวมพละกำลังทั้งหมดนำลมหายใจเข้าปอด
ต่อสู้กับอวัยวะซึ่งถูกทำลายเพราะเชื้อโรคและความชื้น
เหนี่ยวรั้งธาตุลมไว้จนกำลังสุดท้าย
ก่อนที่ปราณแห่งชีวิตจะวายลงต่อหน้าหญิงสาวคนหนึ่ง
ลมธาตุได้ลอยขึ้นสู่เบื้องสูงทิ้งไว้ซึ่งธาตุไฟอันหล่อเลี้ยง นอกอ และ นากา
ทว่าค่อยหรี่ลง ๆ จนสุดท้ายไฟธาตุย่อมละจาก นอกอ และ นากา ไปเยี่ยงเดียวกับลม
กลับคืนสู่แห่งหนต้นธารของมัน
นอกอนากา
เล่าแหละขานเอ ขานให้โนเนโนไน
ขานมาชาต้อง
ทำนองเหมือนวัวชักไถ
“นอกอ
เป็นคำย่อภาษาโบราณ หมายถึงธาตุน้ำของแม่ นากา เป็นคำย่อเช่นกัน
มีความหมายถึงธาตุดินของพ่อ
คนเราจะเกิดมีตัวตนขึ้นมาได้ก็ด้วยธาตุทั้งสองนี้ผสมกัน
นั่นคือวินาทีซึ่งทารกจุติลงในครรภ์
ส่วนธาตุไฟและธาตุลมเป็นธาตุผสมตามธรรมชาติซึ่งเกิดมีขึ้นภายหลัง
ประจักษ์พยานแห่งความเข้าใจเช่นนี้ต้องเดินไปพิจารณาที่จุดหมายปลายทางของชีวิต
คือเมื่อคนเราถึงแก่ความตาย ธาตุซึ่งมาหลังสุดคือธาตุลมจะหมดก่อน
ขณะร่างยังอุ่นอยู่ ต่อเมื่อปล่อยผ่านไปอีกพัก ธาตุไฟก็ค่อยหมดไป
เหลือเพียงธาตุเดิมคือ นอกอ กับ นากา เท่านั้น แต่ไม่นานมันก็ผุพังลงสู่ดินสู่น้ำ
หามีอันใดซึ่งเป็นตัวตนของเราที่แท้ให้ควรยึดควรกุมอยู่ไม่” (บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร น. 149, ฉ. พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ, 2544)
อรุณรุ่งของปีพุทธศักราช
2549 ณ
ตำบลห่างไกลในหุบเขาหลวงของจังหวัดนครศรีธรรมราช
นักเขียนสองคนอาศัยอยู่ในเรือนไม้ปั้นหยา ล้อมรอบด้วยสวนผลไม้ เงาะ ทุเรียน มังคุดยืนต้นอยู่รายรอบ
จากทางเข้าบ้านซึ่งต้องผ่านลั่นทมสามสี่ต้นยืนเรียงแถว
ไม้ดอกหลากสีสันกำลังรอเรียวมือของฤดูกาลคลี่ดอกออกกลีบ
สนามหญ้าเขียวสดทอดตัวจรดเรือนปั้นหยา ซึ่งหันหน้าต่างคู่ให้สนามหญ้า
หน้าประตูมีมุมเล็ก ๆ ประกอบด้วยโต๊ะกระจกและเก้าอี้ไม้มีพนักนั่งสบาย
เป็นมุมที่ล้อมรอบด้วยพันธุ์ไม้ประดับ โมบาย และรูปเขียนแขวนอยู่บนฝาผนัง
จากมุมนี้สามารถนั่งทอดสายตาไปสู่สนามหญ้าเขียวสด
และดอกไม้หลากสีสันในวันเวลาแห่งฤดูใบไม้ผลิ
หากเดินอ้อมตัวบ้าน
ผ่านหน้าโรงรถซึ่งเป็นเพิงง่าย ๆ มุงด้วยใบจากตั้งอยู่บนลานทราย เพียงพ้นแนวผนังและหน้าต่างด้านหน้าของบ้าน
จะพบลานทรายเล็ก ๆ คลี่ตัวอยู่ระหว่างบ้านและสวน
ลานทรายทอดตัวลึกเข้าไปจนจรดครัวด้านหลังที่ตั้งอยู่นอกตัวบ้าน
กลางลานทรายแห่งนี้มีกระบะใหญ่สำหรับก่อฟืน ขอนไม้สำหรับนั่งรูปทรงต่าง ๆ
เรียงรายรอบกระบะ เปลสองตัวแขวนอยู่ตรงต้นทุเรียนและด้านขวาของกระบะ
ตรงไม้ต้นใหญ่กลางลานมีโต๊ะหินเล็ก ๆ และเก้าอี้กลม ๆ ถัดไปก่อนถึงครัวมีโต๊ะไม้ตัวยาวและม้านั่ง
หากใครสักคนหนึ่งพลัดหลงเข้ามาในลานทรายแห่งนี้
ห้วงคิดของเขาย่อมผุดพรายขึ้นด้วยเปลวไฟชวนฝันกลางกระบะใหญ่
ซึ่งสุมไฟฟอนก่อสะเก็ดไฟลอยลิ่วขึ้นพ้นยอดไม้ สู่ดวงดาวพราวพร่างกลางหุบเขา
แสงไฟสะท้อนวับแวมอยู่บนกำแพงบ้านที่ประดับประดาด้วยรูปวาดหลากสีบนผนัง
เทียนไขสุกปลั่งอยู่ตามมุมต่าง ๆ ทั้งโต๊ะหินตัวเล็ก ข้างเปล และบนโต๊ะยาว
หนุ่มสาวกระจายกันอยู่บนลานทราย บ้างนอนเปลเหม่อมองดวงดาว บ้างสนทนาอยู่ตรงโต๊ะหิน
และจับกลุ่มกันรอบกองไฟ บางคนอาจถือแก้วเครื่องดื่มยืนคุยกันข้างหน้าต่างบ้าน
และอีกบางคนก็นั่งเท้าคางชันเข่าอยู่ในกรอบหน้าต่างซึ่งบานของมันถูกผลักเปิดออกจนสุด
มองเห็นภายในบ้านซึ่งเต็มไปด้วยชั้นหนังสือ แผ่นหนัง และตลับเพลง
จักรเย็บผ้าโบราณตัวหนึ่งตั้งอยู่ใต้บันไดไม้ซึ่งทอดตัวสู่ชั้นบน อาหารป่าและบาบีคิวเรียงรายเต็มโต๊ะยาว
บทสนทนาพึมพำขึ้นจากลานทราย
ก่อตัวขึ้นเป็นสุ้มเสียงอันล่องลอยขึ้นจากหุบเขาอันห่างไกล
คือสุ้มเสียงของหนุ่มสาวแห่งวัยสร้างสรรค์ซึ่งมุ่งมาดปรารถนาคว้าความใฝ่ฝันที่อยู่ไกลสุดขอบฟ้า
ภาพดังกล่าวคล้ายดังโลกในนิทานซึ่งก่อร่างขึ้นในห้วงคิดของใครสักคนที่อาจพลัดหลงเข้ามาในลานทรายริมเรือนปั้นหยาแห่งนี้
ทว่าโลกในนิทานนี้กลับเป็นโลกซึ่งเคยเกิดขึ้นจริง เคยดำรงอยู่จริง
หรืออย่างน้อยก็เป็นภาพฝันซึ่งดำรงอยู่จริง ณ ที่ซึ่งนักเขียนหนุ่มคนหนึ่งสมัครใจเรียกมันว่า
หุบเขาฝนโปรยไพร
ย้อนกลับไป
6 ปี นักเขียนหนุ่มวัย 34 เหยียบยืนอยู่บนผืนดินของตำบลที่เขาเคยผูกพันอีกครั้ง
เขาผ่านช่วงแห่งความรุ่งโรจน์ของชีวิตการเขียนมาเมื่อ 5 ปีก่อน
จากวันแห่งความรุ่งโรจน์นั้น
เขาได้เสวยรสหอมของความสำเร็จโดยละทิ้งวิถีทางแห่งการเขียนไปถึง 5 ปี บัดนี้เขาได้ตระหนักและโหยหาการกลับสู่วิถีทางนั้นอีกครั้ง
จึงเลือกกลับมายืนเหยียบอยู่บนผืนแผ่นดินเดิมที่ซึ่งเขาเคยดำรงครรลองดังกล่าวโดยเคร่งครัด
และในที่สุดนักเขียนหนุ่มก็ได้พบกับเรือนปั้นหยาเก่าแก่ในสวนผลไม้
บนเส้นทางไปสู่น้ำตกเล็ก ๆ ณ ตำบลหนึ่งของหุบเขาฝนโปรยไพร
เขาหมายให้มันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งใหม่ที่เขาจะบรรจุครรลองแห่งการงานอันเป็นสิ่งที่เขารักยิ่งกว่าชีวิตเอาไว้
แม้เขาจะหวั่นไหวไม่น้อยว่าจะทำมันได้สำเร็จหรือไม่
นักเขียนหนุ่มได้ตระหนักถึงความตกต่ำของตนเองอย่างแท้จริงเมื่อพบว่าเขาไม่สามารถเขียนหนังสือได้เหมือนเดิม
การปวารณาตัวเป็นนักเขียนเพื่อชีวิตคนสุดท้ายของเขาได้ขับต้อนเขาเข้าสู่มุมอับของการสร้างสรรค์
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของวรรณกรรมสร้างสรรค์ซึ่งแปรเปลี่ยน
วิถีทางแห่งงานวรรณกรรมเปิดกว้าง วรรณกรรมหลากหลายรูปแบบเบ่งบานขึ้นทั่วท้องทุ่งแห่งวรรณกรรม
ในขณะที่กระแสธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตต้องผจญกับวิกฤตินานัปการ
โดยเฉพาะวิกฤติในเรื่องวิธีคิด ซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งอุดมคติของงานเขียนแขนงนี้
การมองโลกด้วยสายตาแบบเดิมไม่สามารถทำให้เขาก้าวไปข้างหน้าได้ นักเขียนหนุ่มรู้
และเขาหยิ่งยโสเกินกว่าที่จะผลิตงานซ้ำ ๆ
และหลอกตัวเองต่อไปด้วยคำนิยมฉาบฉวยจากคนรายรอบ
ความหวานหอมจากชื่อเสียงเกียรติยศล่อลวงเขาไม่ได้อีกแล้ว
ในเมื่อจิตวิญญาณแห่งการเขียนภายในได้บอกกับเขาแล้วว่าเขาได้มาถึงปลายสุดแห่งหนทาง
เขาได้ไต่ปีนจนมาถึงจุดที่ชนเข้ากับผนังอันแข็งแกร่งของเพดานแห่งศักยภาพของเขาเอง
นักเขียนหนุ่มเต็มไปด้วยความมืดมน และมองไม่เห็นหนทางเบื้องหน้า แต่ด้วยความทระนง
เขาเดินฝ่าเข้าไปในความมืดมิดนั้น
ฝัน- ฉันจะฝ่า ในฝน
คน- จะต้องสร้าง ยุคใหม่
ฝน- ฉันจะฝ่า ข้ามไป
ใจ- จะต้องเหนือ เวลา
(ท่ามกลางลมฝน, ป่าน้ำค้าง 2532)
กนกพงศ์
สงสมพันธุ์ เกิดตอนเช้าในช่วงเวลาประมาณ 8 – 9 นาฬิกา
เขาเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2509 ที่ตำบลดอนทราย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เด็กชายอารมณ์ดี ใจเย็น
และชอบร้องเพลงคนนี้เป็นลูกคนที่สี่ของครอบครัวสงสมพันธุ์ พ่อชื่อวนิช เป็นครู
ส่วนแม่ชื่อยุพาเป็นแม่ค้า
กนกพงศ์เป็นคนกลางพอดีในบรรดาพี่น้องทั้งหมดนับรวมตัวเขาด้วย 7 คน มีพี่ 3 คน คือนางจุฑาภรณ์ โสตถิโยธิน (จิม), นายเจน สงสมพันธุ์ (เจน),
นายนิยุติ สงสมพันธุ์ (ยุติ) และมีน้อง 3 คน คือ นายวัชรพล สงสมพันธุ์ (น้อย), หนูปุ๊ (น้องชายที่เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก),
นาวสาวกนกภรณ์ สงสมพันธุ์ (สาว)
กนกพงศ์เริ่มต้นเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเป็นเด็กชาย
ผลงานชิ้นแรกที่ได้รับการตีพิมพ์คือบทกวี ชื่อ ความจริงที่เป็นไป พิมพ์ใน สยามใหม่
(2523)
ขณะนั้นยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น เรื่องสั้นเรื่องแรก ดุจตะวันอันเจิดจ้า
ได้รับการตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ (2527)
หลังจากการตายของกนกพงศ์
เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 มีนาคม 2549 สิงห์สนามหลวง
ได้นำบทกวีชิ้นหนึ่งของเขา พร้อมจดหมายที่แนบมากับบทกวี บทกวีชื่อ บันทึกถึงคนเดินทาง
เขียนเมื่อ พ.ศ. 2524 เป็นบทกวีที่ให้กำลังใจผู้กลับออกจากป่าหลังนโยบาย
66/2523 ท้ายจดหมายเขียนไว้ว่า
ป.ล. ช่วงนี้คนป่าคืนเมืองกันมาก
ทำให้สงสัยอยู่ครามครันว่า เขาละทิ้งอุดมการณ์ หรือเพียงเพื่อหาเส้นทางสายใหม่
จึงส่ง บันทึกถึงคนเดินทาง มาให้พิจารณาด้วย
ความหมายจากทั้งหลักฐานการตีพิมพ์ครั้งแรก
ข้อเขียน ผลงาน และจดหมายดังกล่าวทำให้เห็นว่า เด็กชายคนที่อารมณ์ดี ใจเย็น
และชอบร้องเพลงคนนี้ ได้สร้าง “โลกใบเล็ก” ขึ้นตั้งแต่ก่อนที่เขาจะอายุ
14 โลกซึ่งประกอบไปด้วย จิตสำนึกทางสังคม การเขียนหนังสือ
และสังคมนิยม
โลกใบเล็กของกนกพงศ์เติบใหญ่ขึ้นตามวันเวลา
จนในที่สุดโลกใบนี้ได้ตกผลึกมาเป็นโลกแห่งการเขียน
ความต้องการกระโจนลงสู่วิถีทางแห่งการเขียนอย่างบ้าคลั่งนี้เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นเมื่อกนกพงศ์ย่างเข้าสู่วัยรุ่น
หนังสือ ถนนนักเขียน ของ เออร์สกิน คอลด์เวลล์
กลายเป็นหนังสือแห่งแรงบันดาลใจอันแรงกล้า
ซึ่งฉุดให้เขาต้องหนีออกจากบ้านครั้งแรกเมื่ออยู่ ม. 5
กนกพงศ์หนีออกจากบ้านทั้งหมด
2 ครั้ง ครั้งแรกตอน ม.5 เขากุเรื่องขึ้นว่าตนเองถูกฝังไมโครชิปในสมอง
และเขียนจดหมายเรียกค่าไถ่ตัวเองเพื่อจะหนีออกจากบ้าน สุดท้ายไปได้แค่ทุ่งสง
ความที่หนีไปทั้งชุดนักเรียนทำให้ตำรวจสงสัยเมื่อเขานำกล้องถ่ายรูปไปจำนำ
ในที่สุดตำรวจก็ส่งเขากลับบ้าน ครั้งที่ 2 ตอนเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว
เขาเดินทางขึ้นมาหา เวียง-วชิระ บัวสนธ์ เพื่อนของพี่ชาย (เจน สงสมพันธ์) ที่กองบรรณาธิการถนนหนังสือ บอกจุดประสงค์ว่าต้องการหาที่เขียนหนังสือ
เวียง-วชิระติดต่อเพื่อนที่จังหวัดน่านเตรียมที่ทางให้เป็นที่เรียบร้อย
พร้อมมอบเงินค่ารถไฟให้ แต่เมื่อกนกพงศ์ไปถึงหัวลำโพงกลับขึ้นรถกลับบ้านแทน
“ผมมาถึงหัวลำโพง จะเดินทางไปเชียงใหม่ มานั่งรอรถที่หัวลำโพง
แล้วที่หัวลำโพง รถมันวิ่งเข้าวิ่งออก แล้วมันมีรถด่วนสายใต้วิ่งออกไป
ตรงนั้นแหละผมก็คิดถึงแม่ขึ้นมา” คือคำบอกเล่าถึงชีวิตในช่วงตอนนั้นที่เขากล่าวไว้ครั้งให้สัมภาษณ์นิตยสารไฮคลาส
ในที่สุดกนกพงศ์ก็ได้เข้าสู่วิถีทางของการเขียนหนังสือสมใจเมื่อเขาถูกรีไทร์อย่างเป็นทางการจากมหาวิทยาลัย
เป็นสิ่งที่เขาบอกว่า “คือการรีไทร์ตัวเองเพื่อที่จะได้เขียนหนังสือ” นักเขียนหนุ่มแบกเป้ขึ้นหลัง
เดินทางสู่อำเภอพรหมคีรีจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปหาพี่ชายที่ชื่อ สมใจ สมคิด
“พี่ใจ ผมออกจากมหาวิทยาลัยแล้ว…”
ผมรู้ว่าเวลาที่เขาเรียนยังเหลือเพียงเทอมเดียวก็จะจบ
ผมพูดอะไรไม่ออก แต่ความคิดกลับแล่นเตลิด
ไหน..อนาคตของเขา ไหน…ทางบ้านเขาจะต่อว่า ไหน…ๆ..ๆ..ๆ..จิปาถะ
จำได้ว่า
ผมแอบเช็ดน้ำตาตัวเองที่หลังบ้าน
ผมไม่อาจปฏิเสธพ่อแม่ของเขาได้ว่า
ผมเองมีส่วนชักชวนให้ลูกเขาเดินสู่เส้นทางที่ชาวบ้านไม่อาจเข้าใจ
สมใจ สมคิด
เล่าถึงช่วงตอนนี้ไว้ใน คืนสู่แผ่นดิน หนังสืองานศพของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์
หลังจากนั้น
ปี พ.ศ. 2532 หนังสือเล่มแรกในชีวิตของกนกพงศ์ สงสมพันธ์
บทกวี ป่าน้ำค้าง ก็ตีพิมพ์ออกมาโดยสำนักพิมพ์นาคร
เป็นปีเดียวกับเรื่องสั้น สะพานขาด ได้รับการประดับช่อการะเกด จาก สุชาติ
สวัสดิ์ศรี และถัดมาปี 2533 เรื่องสั้น โลกใบเล็กของซัลมาน
ได้รับการประดับช่อการะเกดอีกครั้ง และถัดมาปี 2534 รวมเรื่องสั้นเล่มแรกในชีวิต
สะพานขาด ก็ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นกสีเหลือง ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้
กนกพงศ์ได้แสดงเจตนาไว้ใน “จากผู้เขียน” ว่า ‘คนหนุ่มควรจะเป็นผู้เฝ้ามองคนหนุ่มด้วยกันเอง’
ซึ่งเป็นวาทะที่เขาหยิบยืมจาก สตีเฟน สเปนเดอร์
และเขาได้ขอใช้เรื่องสั้น นักเขียนใหม่ เป็นเสมือนหนึ่งบทพูดคุยกับผู้อ่านแทน
ข้าพเจ้าเหวี่ยงตัวเองจากเมืองหลวงมาอยู่เสียที่นี่เมื่อต้นฤดูแล้งที่ผ่านมา
ทั้งหมดนั้นเป็นคำตอบได้ดีถึงจิตใจอันมุ่งมั่นต่อการเขียนหนังสือของข้าพเจ้า
แม้ใครจะค่อนแคะว่าข้าพเจ้าหวังบรรลุผลสำเร็จทางงานเขียนหนังสือเพียงเพราะเลียนแบบการดำเนินชีวิตของเออร์สกิน
คอลด์เวลล์ก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็เชื่อในคำกล่าวของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้พบความสำเร็จเพราะเหตุบังเอิญ
ข้าพเจ้าพบความสำเร็จเพราะทนทำงานหนัก” นั้น
คือคำกล่าวที่ถูกต้องและเป็นจริงเช่นกัน (นักเขียนใหม่,
สะพานขาด 2534)
และถัดมาในปี
2535 รวมเรื่องสั้น คนใบเลี้ยงเดี่ยว
รวมเรื่องสั้นเล่มที่สองได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นกสีเหลือง
เขาได้ใช้เรื่องสั้น บ่ายบัดซบ แทนคำนำอีกครั้ง
เพื่อนของเขาเป็นกวี
ตอนนี้มันอาจเดินอยู่ที่ไหนสักแห่งในประเทศนี้ หรือนอนอยู่ใต้ร่มไม้
แต่มันไม่ออกไปจากประเทศนี้หรอก กวีไม่มีโอกาสเดินทางออกนอกประเทศ
และไม่ใช่เรื่องน่าห่วงว่ามันจะตาย กวีสามารถอดได้เป็นเดือนหรือมากกว่า—มันอาจตายได้หากถูกรถชน แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าห่วง, น่าตกใจ หรือน่าเสียดาย กวีไม่มีค่าอะไร (บ่ายบัดซบ,
คนใบเลี้ยงเดี่ยว 2535)
ช่วงเวลาดังกล่าว
นับเป็นช่วงอันหอมหวนแห่งนักเขียนหนุ่ม ความเป็นนักเขียนดาวรุ่งเปล่งประกาย
นามกนกพงศ์ สงสมพันธุ์เป็นที่จับตามอง
และดูเหมือนนักเขียนหนุ่มจะย่างก้าวบนสะพานรุ้งนี้อย่างระมัดระวัง พร้อม ๆ
กับประคับประคองความฮึกเหิมในการทำงาน
นักเขียนหนุ่มถอยตัวออกจากการท่องบรรณพิภพในกรุงเทพฯ
ไปสู่บ้านเช่าในหุบเขาของอำเภอพรหมคีรี ฐานที่มั่นทางการเขียนของเขา ครั้งนี้เขาเช่าบ้านอยู่ทางขึ้นน้ำตกพรหมโลก
และบ้านหลังนี้ได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งแรกของเขา
บ้านร้างกลางสวนหลังนั้นผมเอ่ยปากขอเช่าจากเจ้าของในอัตราห้าร้อยบาทต่อเดือน
ถูกมากในความรู้สึกคำนวณ กระนั้นชาวหมู่บ้านกลับบอกว่ามันน่าจะสักสองหรือสามร้อย
ขณะบางคนไปไกลถึงขึ้นว่าน่าจะให้อยู่ฟรีไปเลย
แลกกับการช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลสวนและบ้าน
อย่างไรก็ตาม
นั่นคือห้วงเวลาซึ่งเศรษฐกิจของประเทศตูมเต่งเพื่อไปสู่ภาวะฟองสบู่
หมู่บ้านยังคงความโรแมนติก สายคลองยังคงลึกท่วมหัวช้าง และผืนป่ายังคงเขียวขจี
ครรลองของนักเขียนเองก็โรแมนติกมิใช่น้อย ยังคงใช้ดินสอหรือพิมพ์ดีดละเลียด
สร้างแต่ละตัวอักษร ไม่รู้จักคอมพิวเตอร์ ไม่มีโลกเสมือนจริง
ไม่มีทั้งการแช็ทหรือการเช็ด
ไม่มีพวกโรคจิตที่ไม่รู้จักหน้ามาตั้งหรือตอบกระทู้ก่อกวนวงการ
ไม่มีทั้งโพสต์โมเดิร์นหรือพาสต์โมเดิร์น มีก็แต่การก้าวเดินไปสู่สิ่งฝันและศรัทธา (บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร
น.10, บ้านหนังสือ พิมพ์ครั้งแรก 2544)
ด้วยภาพเสนอของนักเขียนหนุ่มผู้ทุ่มเททำงานหนักด้วยความรักและศรัทธา
นักเขียนหนุ่มดาวรุ่งซึ่งเป็นที่จับตามอง ปี พ.ศ. 3539 รวมเรื่องสั้น
แผ่นดินอื่น ก็ได้ชัยชนะในเวทีซีไรต์อย่างสง่างาม
พร้อมกับเสียงปรบมืออันกึกก้อง
นักเขียนหนุ่มก้าวขึ้นสู่แท่นเกียรติยศของช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์
หนังสือรวมเรื่องสั้น “แผ่นดินอื่น”
ประกอบด้วยเรื่องสั้น 8 เรื่อง
ที่สะท้อนปัญหาของชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว
และสังคม นำเสนอชีวิตหลากหลายด้วยแนวธรรมชาตินิยม สะท้อนความคิด ความเชื่อ
คุณค่าและคตินิยมพื้นถิ่นอย่างลึกซึ้งและแหลมคม
ให้เห็นว่าแม้ในสังคมที่ต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ
มนุษย์ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยไมตรีสัมพันธ์ (คำประกาศของคณะกรรมการตัดสิน
รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2539)
ตาบอกว่า
การรำนั้นหาได้กระทำลงไปด้วยเพียงแค่เลือดเนื้อหรือชีวิต
ทว่ายังหมายผนึกเอาถึงขั้นวิญญาณ ดั่งนี้แล้วขณะร่ายรำ ตาจึงไม่ใช่ตาของหลาน
แต่เป็นรูปนามอีกมิติหนึ่งซึ่งอยู่ในโลกอันเร้นลับ ณ
ที่ซึ่งความเป็นชีวิตได้ผนึกแนบแน่นอยู่กับดวงวิญญาณ
สถานที่แห่งนั้นเองที่มอบมวลพลังมหาศาลให้แก่ตา
ทั้งตายังบอกอีกว่าพลังในโลกซึ่งกล่าวถึงนี้มีเหลือเฟือ
พร้อมจะมอบให้แก่ทุกชีวิตและทุกสรรพสิ่ง ขอเพียงแต่เรา “เป็น”
สิ่งใดสักอย่างให้จริง เป็นด้วยศรัทธาสมาธิ ด้วยชีวิต
และด้วยจิตวิญญาณ (คืนนั้นจันทร์ฉาย น.147, บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร 2544)
“ขานเอ” เป็นคำเรียกหัวใจคนในทางไสยศาสตร์
“เอ” นั้นเป็นคำย่อมาจากตัวตน คือ “เอกะ” ขณะ “โนเน” คือคำย่อของ “มโน” ในความหมายถึงจิตใจของตน “โนไน” คือจิตใจของคนอื่น ตาอรรถาธิบายให้ฟังว่า การที่เราจะประกอบการงานหรือทำกิจสิ่งใด
ชั้นแรกสุดต้องเอา “โนเน” เป็นหลักก่อน
ตัวเองต้องมีจิตใจบริสุทธิ์ เป็นสมาธิ เป็นหนึ่ง เมื่อใจเราเป็นหนึ่งเดียว
ตั้งแน่วอยู่ในสมาธิแล้ว จึงเรียกขาน “โนไน” หรือใจของผู้อื่นต่อไป
ดั่งนี้แล้วการรำโนราจึงคือลักษณ์ปฏิบัติแห่งการฝึกสมาธิ บังคับใจให้อยู่ในอิริยาบทซึ่งกำลังกระทำ
นั่นเองที่สายตาของโนราขณะรำจึงถูกกำหนดให้จับอยู่ที่ปลายนิ้วเรียวตลอดเวลา
สิ่งนี้คล้ายหนึ่งเวทมนตร์ ดึงสายตาผู้คนให้จ้องมองไปที่เรียวนิ้วเป็นหนึ่งเดียว
สายตานับร้อย ๆ คู่จึงรวมศูนย์สู่สมาธิ เช่นนี้เองที่เรียกว่า “ขานเอ” คือการร่ายมนต์เพรียกขานหัวใจคนด้วยนาฏลีลา
ก่อเกิดความหมายของคำว่า “มโนห์รา” –การนำมาซึ่งใจ
ใต้ครอบฟ้าคืนจันทร์ฉายในหมู่บ้านการเกษตรอันห่างไกลเยี่ยงนั้น
ทันทีที่โนราตวัดนิ้วเรียวขึ้น ก็คือการ “ขานมาชาต้อง
ทำนองเหมือนวัวชักไถ” ในความหมายเชิงเปรียบเทียบที่ว่า โนราได้เรียก
(ขาน) เชิญ (ชา)
เอาจิตใจของผู้คนนับร้อย ๆ ตรงหน้ามาอยู่กับจิตใจของตัวเอง
และคล้อยตามไปเสมือนรอยไถซึ่งย่อมต้องตามรอยวัว เช่นนี้แล้วอีก 6 – 7 ชั่วโมงนับแต่นั้น
ก็ขึ้นอยู่กับพันธกิจแห่งนาฏลีลาว่าจะนำไปในทิศทางใด
(คืนนั้นจันทร์ฉาย น. 149,
บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร 2544)
หลังจากได้รับรางวัลซีไรต์
กนกพงศ์กลายเป็นภาพสะท้อนของตัวตนของนักเขียนหนุ่มอันหอมหวนชวนฝัน
ภาพของนักเขียนหนุ่มผู้มีจิตสำนึกทางสังคมอย่างเข้มข้น
ใช้วรรณกรรมเป็นตัวสื่อสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม
นักเขียนหนุ่มผู้ต่อสู้กับการทำงานหนักจนก้าวสู่ความสำเร็จด้วยการได้รางวัลซีไรต์ในที่สุด
ด้วยความเชื่อว่าสำนึกทางสังคมอันเข้มข้นและการทุ่มเทให้กับการฝึกฝนทักษะนี้
เปรียบได้กับการที่โนราได้ขานชาเอาจิตใจของผู้คนนับร้อย ๆ
ตรงหน้ามาอยู่กับจิตใจของตัวเอง และคล้อยตามไปเสมือนรอยไถซึ่งย่อมต้องตามรอยวัว และหลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับพันธกิจแห่งนาฏลีลาว่าจะนำไปในทิศทางใด
ทำให้เกิดวาทกรรม “วรรณกรรมต้องแก้ปัญหาสังคม” นั่นเอง
สิ่งที่กล่าวมาได้กลายเป็นภาพสำเร็จและบทสรุปของนักเขียนหนุ่มผู้นี้
และเป็นภาพฝันที่นักเขียนหนุ่มอีกหลายคนต้อยตาม กนกพงศ์กลายเป็นต้นแบบของนักเขียนหนุ่มที่มุ่งมั่นและอุทิศตัวให้กับวิถีทางของการเขียนงานวรรณกรรม
และการ “เป็น” นักเขียนก็ได้กลายเป็นสภาวะอันพิเศษซึ่งควบแน่นด้วยศรัทธา
ช่วงเวลาก่อนที่เขาจะเป็นนักเขียนซีไรต์
เรามี “โลก” ใบเดียวกัน คือโลกแห่งความใฝ่ฝันมุ่งมั่น-โลกวรรณกรรม 10 ปี หลังซีไรต์เรามีโลกคนละ 2 ใบที่แตกต่าง เขามี “โลกใบเล็ก”
หรือ “โลกวาทกรรม” หรือ “โลกแห่งมายาคติ” (ตามที่ผมเชื่อ) เขาเขียนวรรณกรรมเพื่อเป้าหมายสูงสุดและมีความใฝ่ฝันทะเยอทะยานเป็นอาภรณ์ประดับกาย
ผมเขียนวรรณกรรมเพื่อปรับดุลย์อารมณ์ความรู้สึก โลกของเรายิ่งต่างกัน เขามองความสงบเป็นความล้มเหลว
ผมมองความสำเร็จเป็นไฟตัณหา
ว่ากันด้วยชีวิตแล้ว เหมือนเขาเป็น “คน 2
โลก” เขาเลือกจะอธิบายตัวตนของเขาจากโลกธรรมชาติ
(หรือโลกใบใหญ่ที่เขาเรียก) แต่แสวงหาการยอมรับจากโลกทางสังคม
(หรือโลกทางมายาคติหรือโลกแห่งวาทกรรมที่เขาเรียก) ผมไม่เชื่อเขา เราขัดแย้งกัน
ผมบอกผมอยากเอาความสงบไปสยบความเคลื่อนไหวและยืนต้านพายุอยู่ใน “โลกย์” คือโลกทางสังคมที่เป็น “โลกแห่งความจริง” เขาว่าผมเฉื่อยเนือยและกำลังใช้ชีวิตตามแบบอย่างของตัวละครที่ผมเขียน
ผมชื่นชมความสำเร็จ ผมชื่นมื่นความล้มเหลว
ผมเคยบอกเขา หากรางวัลซีไรต์คือความสำเร็จ
และถูกพิจารณาโดยคางคกกิ้งก่า ผมจะเชื่อว่าเขาอยู่ในโลกใบใหญ่ที่เขาเชื่อ
และไม่ได้ข้องเกี่ยวกับโลกทางมายาคติ
(โลก ชีวิต และวรรณกรรม, คืนสู่แผ่นดิน น. 31 – บุรุษนิรนาม - ไม่ระบุชื่อผู้เขียน)
พบกันครั้งที่แล้ว ผมรู้สึกอ้างว้าง
โหยหาอะไรบางอย่าง จริง ๆ แล้วอาจจะถึงขึ้นเรียกได้ว่าเศร้านะครับ
ออกจากสวนผมขับรถดูวิวไปเรื่อย ๆ ผ่านไปทางป่าประ ยอดมันเริ่มแตก
เขาเลยยังไม่ทาสีแดง…..
..…พี่ครับ..ความจริงแล้ว หลังจากแยกกันผมก็คิดถึงพี่
คิดถึงในแง่ที่เรายังไม่ได้คุยอะไรกัน ไม่รู้สิครับ ผมรู้สึกได้ว่าพี่ยังคงมีอะไร
ๆ ที่อยากคุยกับผมอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ไม่มีจังหวะและโอกาส
อีกทั้งผมก็รู้สึกว่ายังคงคุยอะไรต่าง ๆ
กับพี่ได้อยู่ในฐานะพี่เป็นผู้ใหญ่เปี่ยมลักษณะรับฟังและร่วมคิดวิจารณ์
ผมก็อยากคุยกับพี่นะครับ คุยเรื่องสนุก ๆ เรื่องแซงแต็กซูเปรีอะไรประมาณนั้น
หรือเรื่องที่ผมเดินเข้าสู่โลกอีกโลกหนึ่งอันเกิดจากการใช้ชีวิตนักเขียนของผม
เรื่องที่ผมไปพบแปลงผักบุ้งอยู่ในดงผักกูดอะไรประมาณนี้ มันไม่ใช่เรื่องข้อมูล
ไม่ใช่เรื่องวิชาการ มันเป็นเพียง ‘ความจริง’ ผมรู้สึกได้นะครับว่าพี่ยังอยากคุยเรื่องเหล่านี้อยู่ ผมก็อยากคุยอย่างน้อยก็เพื่อเช็กตัวเองว่า
ผมได้ล่วงล้ำไปไกลขนาดไหน เป็นภาวะที่ควรยินดีหรือน่าเป็นห่วง จริง ๆ นะครับ
เพราะทุกวันนี้ผมเหมือนอยู่ในโลกอันโดดเดี่ยวใบหนึ่ง
หาคนคุยเพื่อเช็คว่าผมยังปกติอยู่หรือไม่ยากยิ่ง
(จดหมายถึง-บรุษนิรนาม-ลงวันที่ 23 ก.พ. 47 / หุบเขา)
…..ผมจะไปเข้าใจซาบซึ้งอะไรได้อย่างไรในเมื่อผมเป็นเพียง
“นักศึกษา” เขาสิ เขาเป็นชาวบ้าน
ความรู้สึกเช่นนี้จึงทำให้เขาหยามหมิ่นผมว่า ผมไม่อาจเป็นชาวบ้านได้
น่าหัวเราะจริง ๆ ผมไม่เคยบอกใครว่าผมเป็นชาวบ้าน
ผมเพียงแต่เขียนถึงชาวบ้านในแง่มุมค้นหาสาระคุณค่าจากรูปแบบชีวิตของพวกเขา-แค่นั้น เพราะผมเชื่อในโลกที่เป็นจริง
เชื่อในโลกใบใหญ่และชาวบ้านในวิถีเกษตร สัมผัสและวางชีวิตไว้ในโลกใบนั้น
ผมไม่ได้อยากเป็นชาวบ้านนะครับ ไม่ได้อยากเป็น เพราะผมรู้ว่าตัวเองไม่ใช่
ผมรู้ว่าผมเป็นใคร ผมเป็นชนชั้นกลางในหมู่บ้านเกษตรกร ตั้งแต่เด็กแล้วผมเป็นชนชั้นกลางด้วยการเสพอะไรต่าง
ๆ ที่ต่างจากวิถีชาวบ้าน
การที่ผมมีวิถีชีวิตเยี่ยงนี้
ไม่มีลูกเสมือนไม่มีครอบครัว ไม่ได้ปะทะสัมพันธ์อยู่กับนานาปัญหาที่คนทั่วไปประสบ
ผมจึงถูกเหมาว่าหาได้มีชีวิตที่เป็นจริงไม่
จึงมองไม่เห็นโลกที่เป็นจริงไปกระทั่งไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักชีวิต
แต่พี่ครับชีวิตคนเรามีรูปแบบตายตัวเช่นนั้นด้วยหรือ
นอกหรือเหนือไปกว่านั้นไม่อาจทำความเข้าใจอะไรได้แล้วกระนั้นหรือ เปล่าเลย
พี่ต้องไม่ลืมว่าผมคือวรรณกรรม ผมมีสายตาวรรณกรรม มีนานาชีวิตทั้งชีวิตคนจริง ๆ
และชีวิตวรรณกรรมให้ผมเพ่งพินิจ ศึกษา ผมก็ศึกษามันอยู่ตลอดมาและตลอดเวลา
จริงอยู่แม้บางเรื่องผมอาจยากที่จะซาบซึ้ง อาทิความรู้สึกของคนเราที่มีต่อลูก
แต่ผมก็พอทำความเข้าใจได้คร่าว ๆ จากตัวอย่างที่มีให้เห็นเยอะแยะ
ทว่าโลกหนึ่งที่คนปกติไม่อาจสัมผัส ไม่อาจมองเห็น ไม่อาจเข้าถึง ผมแล่นตะบึงเข้าไปในมัน
ผมไปมองจากอีกที่หนึ่ง ผมเริ่มมั่นใจ ผมมองเห็นโลกใบนี้ตามที่มัน “เป็นจริง”
คือทั้งโลกแห่งมายาคติ โลกแห่งวาทกรรม และโลกใบใหญ่ที่ผมกล่าวถึง
(จดหมายถึง-บรุษนิรนาม-ลงวันที่ 18 กันยา 46/หุบเขา)
ผมบอกพี่ว่าวรรณกรรมตกอันดับลงไป
มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและมีผลทำให้ผมหวั่นไหวอย่างไม่อาจปฏิเสธ
แม้ผมจะพยายามทำใจ ทำความเข้าใจ
และสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเองว่าวรรณกรรมยังเป็นสิ่งสำคัญในสังคม
มันทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกในยุคสมัยของเรา
แต่ความพยายามดังกล่าวก็เหมือนเจอแรงเสียดทานมหาศาล ผมรู้ว่าเราต้องแข็งแกร่งอย่างยิ่ง
ถึงจะเมินเฉย หรือไม่ใส่ใจกับสิ่งที่ดำรงและดำเนินไปนั้นได้
มันก็เหมือนกับการมีชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะ
ในยุคซึ่งวัตถุนิยมครอบงำความคิดคนไว้อย่างเบ็ดเสร็จเช่นนั้นแหละครับ…..
.….ถึงวันนี้ผมได้ค้นพบนะครับ
หรือจะพูดให้ถูกผมยิ่งเชื่อมั่นว่าวรรณกรรมคือศาสนา
การปฏิบัติธรรมก็คือการทำให้เราอยู่กับสมาธิและการที่เราอยู่กับสมาธิก็เพราะเราศรัทธา….
(จดหมายถึง-บุรุษนิรนาม-ลงวันที่ 4 ก.ค. 48/หุบเขา
ปี 2540 – 2541 กนกพงศ์รับไม้ต่อจากขจรฤทธิ์ รักษา ทำนิตยสารไรเตอร์
ปี
2544 บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร
พิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ
ปี 2546 ยามเช้าของชีวิต พิมพ์โดยสำนักพิมพ์นาคร
..ขณะผมนั่งเบื้องหน้ากองไฟ
พยายามหวนระลึกถึงจินตนาการซึ่งทำให้เกิดความใฝ่ฝันอยากเขียนหนังสือ
นั่นเป็นสิ่งซึ่งผมพยายามมาตลอดในห้วงปีสองปีมานี้
ทว่าไม้ขีดก้านน้อยของผมโดนเผาผลาญเป็นเถ้าถ่านในกองไฟแห่งความใฝ่ฝันเสียแล้ว
เศร้าทุกครั้งเมื่อเกิดสำนึกตระหนักว่า
ผมลืมสิ่งสำคัญเยี่ยงนั้นไปได้เช่นไร!
(คืนที่ 1 เจ้าใบตองอ่อนจะนอนไหน?
น.72, ยามเช้าของชีวิต 2546)
หกปีก่อน
เบื้องหน้าเรือนปั้นหยาเก่าแก่ บ้านร้างอันทรุดโทรมในสวนผลไม้ตั้งอยู่เบื้องหน้านักเขียนหนุ่ม
ณ สถานที่แห่งใหม่ในอาณาจักรของหุบเขาฝนโปรยไพร
นักเขียนหนุ่มเลือกเรือนปั้นหยาเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ระหว่างทางขึ้นน้ำตกอ้ายเขียว
เขาเลือกมันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งใหม่ในการประกอบพิธีกรรมแห่งการเขียนของเขา
สมรภูมิในการยื้อแย่งถ้อยคำจากอากาศธาตุครั้งใหม่ทอดรออยู่
แม้หนทางเบื้องหน้าจะเต็มไปด้วยความมืดมน
แต่นักเขียนหนุ่มก็ตัดสินใจก้าวออกไปด้วยแรงศรัทธา
ครั้งแรกที่นักเขียนสาวได้เห็นเรือนไม้ปั้นหยา
เธอรู้สึกว่ามันมืดมนราวกับโลงศพ นักเขียนหนุ่มเก็บตัวอยู่ในโลกอันมืดมิดของเขา
ต่อสู้ฟาดฟันกับความทะยานอยากทางศิลปะ
โขกหน้าผากกระแทกใส่สิ่งที่จำกัดความสามารถของเขา
หลังจากที่เธอได้รับการเชื้อเชิญจากนักเขียนหนุ่มผู้มีใบหน้าซูบซีดให้ก้าวเข้ามายังโลกใบนี้
เธอก็เริ่มปลูกดอกไม้…
มันเหนื่อยบ้างหรือเปล่า? หรือมันเหนื่อย?
การดำเนินไปของชีวิตเป็นความเหนื่อยอย่างหนึ่ง?…
เราเล่า? ตระหนักถึงการมีชีวิตหรือเปล่า
มีสมาธิชนิดนั้นหรือไม่? มุ่งตรงสู่จุดมุ่งหมายโดยไม่วอกแวกหรือยัง?
คุณค่าของชีวิตอยู่ที่คำตอบของคำถามเหล่านี้เอง
หนึ่งชั่วชีวิตคน ดูเหมือนาน
แต่ความจริงแล้วไม่นานเลย คนหลายคนตายไปโดยไม่ทันเฉียดกรายเข้าใกล้ความหมายของ “ชีวิต”
เลยด้วยซ้ำ ตายไปโดยที่ไม่ทันมีชีวิตด้วยซ้ำ!
หนึ่งชั่วชีวิตคน
ดูเหมือนน้อยสำหรับการค้นหาความหมายของ “ชีวิต” แต่หากเราเริ่มต้นค้นหาแต่วันนี้ วินาทีนี้ ในขณะลมหายใจนี้
เวลาเท่าไหร่ก็ไม่น้อยเลย เพราะ “ชีวิต” สามารถค้นพบได้ในแวบใดแวบหนึ่ง ขณะใดขณะหนึ่ง
แท้แล้วเราสามารถค้นพบ “ชีวิต”
ได้ในทุกขณะ
เสมือนการขยับปีกของผีเสื้อ แต่ละแวบ
แต่ละหน แต่ละครั้ง ล้วนเปี่ยมอยู่ด้วยคำว่า “ชีวิต”
(สมุดบันทึกนักเขียน, ยามเช้าของชีวิต 2546)
จากการต่อสู้ของนักเขียนหนุ่มในการหวนกลับสู่วิถีทางของการเขียนหนังสืออีกครั้ง
ดูเหมือนว่านักเขียนหนุ่มจะค้นพบชีวิตและการเขียนหนังสือในความหมายที่ยั่งยืน
การเขียนหนังสือสำหรับเขาได้กลายจากหนทางในการแสดงสำนึกและตัวตนมาเป็น “ลมหายใจ”
เขารู้สึกต้องตอบคำถามนี้ ตอบมันให้ได้
ตอบเพื่อปลุกเร้าตัวเอง เรียกความมั่นใจคืนมา ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปรไปเช่นไร
หากเขายังมีชีวิตอยู่จริง เขาต้องยืนยันมันได้ด้วยจินตนาการ
พลันนั้นที่เขาเกิดตระหนักขึ้นมา การยังคงมีจินตนาการ คือคำตอบของการมีชีวิตอยู่…
(โลกในนิทาน น. 201, โลกหมุนรอบตัวเอง 2548)
ใช่… เรายังคงเขียน
เราจึงยังคงมีชีวิต
ต้องมีเหตุผล! อะไรสักอย่างทำให้เราเกิดมาเป็นชีวิตในดวงดาวสีน้ำเงินดวงนี้
หาใช่เหตุบังเอิญที่เราเกิดมา ชีวิตช่างเป็นเรื่องจริงเหลือเกิน
ประกอบขึ้นด้วยเซลล์ เลือด เนื้อ ลมหายใจ ความรู้สึกนึกคิดและวิญญาณ
สามารถเคลื่อนไหว รับรู้ และเติบโต นี่นับเป็นสิ่งมหัสจรรย์ ทั้งเกิดขึ้นครั้งเดียว,
เพียงชั่วขณะหนึ่งอันยาวนานของจักรวาล ดับสูญไปแล้วไม่อาจมีได้ใหม่
ต้องมีเหตุผลที่อะไรสักอย่างกำหนดให้ “ชีวิต” เป็นแบบนี้
หาใช่เหตุบังเอิญที่เราพบตัวเองอยู่ที่นี่ ปัญหาอยู่ที่ว่า
เราตระหนักต่อชีวิตซึ่ง “เป็น” อยู่นี้หรือไม่?
(โลกหมุนรอบตัวผม, โลกหมุนรอบตัวเอง 2548)
ในที่สุด
หลังจาก 6
ปีผ่านไปในเรือนปั้นหยา หลังจาก 10 ปีผ่านไป
นับจากช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของนักเขียนหนุ่ม
เขาได้ต่อสู้จนสามารถคืนกลับสู่ครรลองแห่งวิถีอันศักดิ์สิทธิ์ของตนอีกครั้ง
เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของนักเขียนวัย 40 ปี ที่เขียนหนังสือมานานกว่า
20 ปี ด้วยผลงานเล่มใหม่ โลกหมุนรอบตัวเอง ซึ่งตีพิมพ์ออกมาในปี
2548 กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ได้กลับมาเป็นนักเขียนหนุ่มอีกครั้ง
แม้มิใช่หนังสืออันเลอเลิศประเสริฐศรีดังที่เขาก็เคยกล่าวเอาไว้
แต่ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ก็ได้ปรากฏขึ้นแล้ว เป็นชัยชนะอันเงียบเชียบในสังคมอันแห้งแล้งแห่งนี้
เป็นชัยชนะอันหงอยเหงาในช่วงเวลาอันเหี่ยวเฉาของวรรณกรรมไทย
ทว่าเป็นชัยชนะอันทรงความหมาย และอึงคนึงกึกก้องในเรือนไม้ปั้นหยาอันเก่าแก่
ทั้งดอกไม้ ต้นหญ้า ทุเรียน เงาะ มังคุด
ต่างเป็นประจักษ์พยานและร่วมร้องเพลงสรรเสริญ
และที่สำคัญนักเขียนสาวผู้ร่วมชีวิตอยู่ในโลกใบเล็กของเขา
ซึ่งได้ร่วมเป็นประจักษ์พยายานการต่อสู้ของนักเขียนหนุ่ม
รับรู้การดิ้นรนจากความตายในนามของนักเขียนที่ไม่สามารถเขียน
คืนกลับสู่การหายใจอีกครั้ง และอีกครั้ง
นักเขียนผู้กลับมามีชีวิตในฐานะนักเขียนหนุ่มอีกครั้ง เขาผู้ซึ่งก้าวข้ามการตายมาแล้ว
รุ่งอรุณของพุทธศักราช
2549 ณ ตำบลห่างไกลในหุบเขาหลวงของจังหวัดนครศรีธรรมราช
นักเขียนสองคนอาศัยอยู่ในเรือนไม้ปั้นหยา
ทั้งสองได้ต้อนรับผู้มาเยือนทั้งจากถิ่นเดียวกัน และจากต่างถิ่น
เมื่อเดือนที่ผ่านมาการเขียนหนังสือไหลลื่นอย่างน่าพึงพอใจ นักเขียนหนุ่มและนักเขียนสาวเขียนเรื่องสั้นได้ถึง
5 เรื่อง นักเขียนหนุ่มเขียนได้ 4 และใน
4 เรื่องนี้ เขาได้เรื่องที่พอใจอย่างยิ่ง 2 เรื่อง
นับเป็นสัญญาณแห่งชีวิตอันน่าปลาบปลื้มที่เขาสามารถเขียนได้ไหลลื่นหลังจากเพิ่งออกรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่หมาดไปไม่กี่เดือน
ช่วงเวลาหลังปีใหม่จึงเป็นช่วงแห่งการพักผ่อน
และเฉลิมฉลอง
กระนั้นการเฉลิมฉลองกับผู้มาเยือนกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าก็พาให้เจ้าบ้านสนุกสนานจนอ่อนเพลีย
ในที่สุดนักเขียนสาวก็ล้มป่วยด้วยไข้หวัด
อาทิตย์ถัดมาเมื่อเธอฟื้นไข้กลับเป็นนักเขียนหนุ่มที่ล้มป่วยแทน
กนกพงศ์
สงสมพันธุ์ ล้มป่วยลงด้วยไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม
ในตอนแรกที่เขาไปหาหมอคลินิก
ทั้งนักเขียนหนุ่มและนักเขียนสาวเพียงแต่คิดว่ามันเป็นอาการป่วยที่ไม่ร้ายแรง
กระทั่งหมอคลินิกเอ็กซเรย์ปอดให้เขาและพบว่าปอดชื้น ทั้งสองจึงเริ่มวิตกกังวล
วันอังคารที่
7 กุมภาพันธ์
นักเขียนสาวพานักเขียนหนุ่มเข้าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในตัวเมืองนครศรีธรรมราช
ตลอดสามคืนในโรงพยาบาลนักเขียนหนุ่มอาการฟื้นคืนอย่างรวดเร็ว
จนกระทั่งหมอบอกว่ากลับบ้านได้และจ่ายยามาให้
นักเขียนหนุ่มผ่านพ้นวันเกิดของตนที่โรงพยาบาล ฉลองกับเงียบ ๆ กันนักเขียนสาวบนเตียงผู้ป่วย
วันศุกร์ที่
10 ทั้งสองออกจากโรงพยาบาลกลับเข้าสู่หุบเขาฝนโปรยไพร
พวกเขาต้องการฟื้นสู่สภาพปรกติให้เร็วที่สุด เพื่อกลับมาเขียนหนังสือ
คืนนั้นเมื่อกลับถึงเรือนปั้นหยาทั้งสองพบว่าฝนตกหนัก
สายฝนแห่งหุบเขากระหน่ำตกตลอดวันเสาร์ที่
11 นักเขียนหนุ่มเริ่มอ่อนเพลีย และอาการทรุดลงด้วยความชื้นจากสายฝน
11.00
นาฬิกาของวันอาทิตย์ที่ 12 นักเขียนสาวพานักเขียนหนุ่มออกจากหุบเขาฝนโปรยไพร
เดินทางสู่โรงพยาบาลเดิมอีกครั้ง
14.00
นาฬิกา ทั้งสองมาถึงโรงพยาบาล
และพบว่าหมอผู้รับผิดชอบอาการป่วยของนักเขียนหนุ่มไม่เข้าโรงพยาบาลในวันอาทิตย์
นักเขียนหนุ่มและนักเขียนสาวยังคงมีกำลังใจที่ดี
และทั้งสองไม่ได้คิดถึงความตายแม้แต่น้อย
ช่วงหัวค่ำ
นักเขียนหนุ่มมีไข้สูง สูงถึง 40 องศา เขาเริ่มมองไม่เห็น
รู้สึกว่ารายรอบมืดมิด เขาถามนักเขียนสาวว่าเธอเปิดไฟหรือเปล่า
เขามองเห็นความสว่างแค่ 10 แรงเทียน
ทั้งที่ห้องทั้งห้องขาวโพลนด้วยแสงนีออน
เที่ยงคืนของวันอาทิตย์
พยาบาลนำนักเขียนหนุ่มเข้าห้อง ICU นักเขียนสาวอยู่กับนักเขียนหนุ่มในห้อง ICU
จนถึงตีหนึ่งและต้องออกมา
นักเขียนหนุ่มนอนไม่หลับเขาน่าจะตื่นอยู่ตลอดทั้งคืนนั้น
แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าคืนนั้นทั้งคืนนักเขียนหนุ่มคิดถึงอะไรบ้าง
7.00
นาฬิกา ของวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธุ์
นักเขียนสาวกลับเข้ามาหาคนรักของเธออีกครั้งที่ห้อง ICU เธอพบว่าเขาตื่นอยู่
และเธอเองก็ไม่ได้หลับทั้งคืน
ระดับออกซิเจนในเลือดของเขาลดลงจากเมื่อคืนอย่างฮวบอาบ เธอกลัวและวิตกกังวล แต่บอกกับตัวเองว่าจะต้องให้กำลังใจเขาอย่างดีที่สุด
เธอมีความหวังเต็มเปี่ยมว่าเขาจะหายดีกลับมาเป็นปรกติ ทันทีที่เธอกลับเข้ามาในห้อง
นักเขียนหนุ่มมองเธอด้วยสายตาวิตกกังวล และมีคำถามอยู่ในแววตา
นักเขียนสาวบอกให้เขาสู้ เธอบอกเพียงแค่นั้น และเขาพยักหน้า
8.00
นาฬิกา นางพยาบาลนำเธอออกจากห้อง ICU ทางโรงพยาบาลยังไม่สามารถติดต่อหมอเจ้าของไข้ของนักเขียนหนุ่มได้
หมอเวรซึ่งเข้ามาดูแลไม่ได้บอกอะไรเธอแม้แต่น้อย
เมื่อคืนเธอได้โทรแจ้งญาติสนิทที่นักเขียนหนุ่มไว้วางใจทุกคนแล้ว
เธอบอกพวกเขาว่าไม่ต้องกังวล
8.15
นาฬิกา นางพยาบาลมาตามเธอกลับเข้าห้อง ICU หมอบอกเธอว่าเขากำลังจะตาย
เธอตกตะลึงและไม่เชื่อในสิ่งที่ได้ยิน เธอบอกหมอให้ทำทุกอย่างที่จะช่วยชีวิตเขาได้
8.30
นาฬิกา หมอบอกเธอว่าต้องเปลี่ยนเครื่องช่วยหายใจเป็นแบบต่อท่อ
แต่ก็คงช่วยอะไรเขาไม่ได้ นักเขียนหนุ่มกำลังดิ้นรนที่จะหายใจเต็มกำลังเธอบีบมือเขา
เธอต้องการหายใจแทนเขา เธออยากจะต่อท่อจากปอดของเขามาสู่ปอดของเธอ
นางพยาบาลอาวุโสบอกเธอว่าเขาต้องตายอย่างแน่นอนแม้ว่าจะเปลี่ยนเครื่องช่วยหายใจ
นางพยาบาลบอกให้เธอขอคำสั่งเสียจากเขา เธอปฏิเสธที่จะถามคำสั่งเสียใด ๆ ทั้งสิ้น
เธอต้องการให้เขามีชีวิตอยู่เท่านั้น เธอบอกให้หมอทำอย่างไรก็ได้
รวมถึงการเปลี่ยนเครื่องช่วยหายใจ ทำอย่างไรก็ได้ให้เขา “หายใจได้”
ทันทีที่ถอดฝาครอบและกำลังจะสอดเครื่องช่วยหายใจ
ร่างของนักเขียนหนุ่มก็กระตุก เขาพยายามหายใจอีกสามสี่ครั้งในที่สุดเขาก็หยุดหายใจ
หมอและพยาบาลพยายามปั๊มหัวใจ แต่ไม่มีผลอันใดเกิดขึ้น
ศพของนักเขียนหนุ่มถูกนำไปยังวัดพิกุลทอง
จังหวัดพัทลุง บ้านเกิดของนักเขียนหนุ่ม ตั้งสวดเป็นเวลา 12 วัน
และเผาในวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์
หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์รายงานข่าวการตายของนักเขียนหนุ่มโดยทันที
กระทู้ข่าวการตายของนักเขียนหนุ่มบนอินเตอร์เน็ตมีผู้คนมาแสดงความอาลัยกันมากกว่า 400 ความคิดเห็น
นักอ่านนักเขียนจำนวนมากหลั่งไหลกันมาเคารพศพของนักเขียนหนุ่ม
นักเขียนจำนวนมากร่วมเขียนข้อความไว้อาลัยใน คืนสู่แผ่นดิน
หนังสืองานศพของนักเขียนหนุ่ม ซึ่งเป็นหนังสือเล่มใหญ่ หนาถึง 327 หน้า
หลังการวายปราณของกนกพงศ์
สงสมพันธุ์ เขายังมีรวมเรื่องสั้นที่รวบรวมไว้แล้วรอการตีพิมพ์อีกสองเล่ม
บทกวีซึ่งรวบรวมไว้แล้วกว่าร้อยชิ้นรอคอยการคัดสรรเพื่อตีพิมพ์เป็นบทกวีอีกหนึ่งเล่ม
บทกวีและเรื่องสั้นอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้วางแผนการรวมเล่มเอาไว้ และนิยายอีกสามเรื่องที่ยังเขียนไม่เสร็จ 2 เรื่อง เขียนไปแล้ว 80 หน้า และ 1 เรื่อง เขียนไว้แล้ว 40 หน้า
พี่ชายและเพื่อนของเขาร่วมกันก่อตั้ง
กองทุนกนกพงศ์ ดำเนินการพิมพ์นิตยสารเรื่องสั้นรายฤดูกาลชื่อ ราหูอมจันทร์
และตั้งรางวัลเรื่องสั้นกนกพงศ์ สงสมพันธุ์
เพื่อนพ้องกลุ่มนาคร
นำโดย เกษม จันทร์ดำ และอัตถากร บำรุง
ระดมความคิดวางโครงการเพื่อระดมทุนก่อตั้งมูลนิธิกนกพงศ์เพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุนวรรณกรรมและศิลปะแขนงต่าง
ๆ
นักเขียนสาวคู่ชีวิตของเขายังเก็บรักษาเรือนปั้นหยาหลังนั้นไว้
เธอวาดหวังไว้ให้มันเป็น “บ้านของนักเขียนหนุ่ม”
นอกอนากาเล่าแหละขานเอ ขานให้โนเนโนไน
ขานมาชาต้อง ทำนองเหมือนวัวชักไถ
ฝน
สายฝนแห่งหุบเขาฝนโปรยไพรได้พรากลมธาตุไปจากเขา ได้พรากไฟธาตุไปจากเขา
และได้พรากเขาจากนอกอและนากา
เช่นเดียวกับที่มันได้ชุบชูชีวิตของนักเขียนหนุ่มขึ้นอีกครั้ง
สายฝนแห่งหุบเขาฝนโปรยไพรได้ขานชาเรียกเชิญกนกพงศ์ สงสมพันธุ์
ไว้ด้วยนามของนักเขียนหนุ่มตลอดกาล
มึงบาดใจกูลึก
กูเศร้า-โศกนี้ละลาย
พิราบบินร่อนลงจิกดอกไม้
สีแดงกระจายทั่วอากาศ
กูจะเหลวด้วยรัก
บัดนี้มึงจากไป
เหตุนี้แสนอาลัยยิ่ง
(อารักษ์ อาภากาศ, คืนสู่แผ่นดิน 2549)
Comments
Post a Comment