Soul of a Nation และการได้รู้ความจริงเกี่ยวกับความไม่รู้


บน: ภาพสารคดี Soul of a Nation ตอนที่ 1 นาทีที่ 41.27 ในหลวงภูมิพลกำลังตอบคำถามเรื่องความตายของพี่ชาย


ข้างล่างนี่เป็นภาพที่ผม cap จากสเตตัสของคนรักเจ้า และน่าจะเชียร์ม็อบ กปปส. ด้วย



รูปสองรูปในภาพนี้สะดุดตาผมทันทีที่เห็นในแวบแรก


เมื่ออ่านข้อความในภาพ และสเตตัสแล้วก็รู้สึกบอกไม่ถูก มันเป็นความรู้สึกที่ทั้งสงสารและอยากหัวเราะในเวลาเดียวกัน เพราะ “ความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นในภาพและสเตตัส ให้ความรู้สึกแหลมคมอย่างที่พวกสเตตัสล้อหรือภาพปลอมที่จงใจทำออกมาดักคนทั้งหลาย (เช่นรูปรัฐบาลอภิสิทธิ์ประชุม ครม.ผ่านงบประมาณทิ้งทวนที่เอามาหลอกให้เข้าใจว่าเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์) ที่ผ่านมาเทียบไม่ติดเลย 


และผมค่อนข้างเชื่อว่า “ความขัดแย้ง” นี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ คือคนโพสต์เองก็ไม่ได้จงใจ  กระนั้น ใครก็ตามที่ “รู้” ที่มาซึ่งเป็น original จริงของรูปทั้ง 2 รูปในภาพนี้ ย่อมจะรู้สึกได้ทันทีถึงความขัดแย้งที่ในขณะเดียวกันก็ “ไปกันได้” ระหว่างรูปและคำ โดยเฉพาะคำว่า “...ลงไปดูข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง...” จนก่อให้เกิดความรู้สึกเสียดเย้ยที่แหลมคม 


ผู้เขียนเขียนข้อความประกอบรูปเอาไว้ตัวโต ๆ ในภาพว่า “วิธีการทรงงานของพระองค์ถือเป็นแบบอย่าง” และ “ลงไปดูข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง” 


และในสเตตัสก็เขียนบอกเล่าว่าภาพนี้ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับการทรงงาน (หนัก) ที่เคยได้ยินจากอาจารย์ สมัยเป็นนักเรียนช่างกรมชลประทานนั้นเป็นความจริง (ผู้เขียนอ้างว่าตอนแรกตนเองคิดว่าอาจารย์โกหก) แต่พอเห็นภาพทั้งสอง ซึ่งสภาพห้องตรงกับภาพในเรื่องเล่าของอาจารย์ จึงเชื่อว่าเป็นความจริง 


จริง ๆ แล้ว รูปทั้ง 2 รูปในภาพนี้ มาจากภาพยนตร์สารคดี Soul of a Nation, the Royal Family of Thailand ของ BBC ถ่ายทำระหว่างปี 1978-1979 และออกอากาศเมื่อปี 1980 (คือปี พ.ศ. 2522 – 2523) สารคดีนี้ คนไทยส่วนใหญ่ในเวลานั้น (แม้กระทั่งเวลานี้) ไม่มีใครได้ดู 


ปี 2012 (พ.ศ. 2555) มีการนำสารคดีนี้มาเผยแพร่อีกครั้ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ได้ขอไปยัง BBC เพื่อนำมาตัดต่อ พร้อมกับใส่คำบรรยายไทยและเผยแพร่อีกครั้ง (เข้าใจว่าใช้ชื่อ ดวงจิตของไทย ดวงใจของชาติ)


เนื้อหาของ Soul of a Nation ฉบับกองทัพบกนั้นสั้นกว่าฉบับของเดิม เพราะตัดเรื่อง กรณีสวรรคต, เหตุการณ์ 6 ตุลา และอีกบางส่วนออกไป (ผมไม่ได้ดูเทียบละเอียดนัก แต่ 2 กรณีนี้ชัดเจนว่าตัดออกไป)


และบังเอิญอย่างยิ่งที่ รูปทางด้านขวาซึ่งผู้เขียนเอามาจากสารคดีนี้ (ไม่แน่ใจว่าเอามาจากฉบับไหน) เป็นรูปในขณะที่ David Lomax นักข่าว BBC กำลังสัมภาษณ์ในหลวงและถามถึงเรื่องเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8  โดยระหว่างที่สารคดีดำเนินมาถึงภาพทางขวานั้น เป็นขณะเดียวกับที่เสียงของ Lomax ในสารคดีถามว่า “How’re you believe your brother died” และช็อทถัดไปก็คือภาพโฟกัสไปที่ในหลวงกำลังตอบคำถามนี้


เนื้อหาของสเตตัสนี้ กล่าวถึงเรื่อง “การได้รู้ความจริงเกี่ยวกับในหลวง” (เรื่องฉากในห้องยืนยันเรื่องเล่าเรื่องการทรงงาน) แต่นอกจากจะไม่ได้ยืนยันแล้ว มันกลับสะท้อนให้เห็น “การไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับในหลวงเอาเสียเลย” ไม่รู้แม้กระทั่ง “ความหมาย” หรือ “เหตุการณ์ที่แท้” ของภาพที่ตนนำมาใช้ประกอบการ “ยืนยันความรู้” ของตนเอง  และในขณะเดียวกัน “เหตุการณ์จริง” ของภาพ กลับนำไปสู่ “การเปิดเผยชิ้นส่วน” (ของ ภาพ/เหตุการณ์) ที่มีคนไม่ต้องการให้รู้ (อย่างน้อยก็กองทัพ) เพราะเป็นสารคดีส่วนที่ถูกตัดออกไปในเวอร์ชั่นของกองทัพบก





 สเตตัสวันที่ 2 – 5 – 14 

Comments