ทิ่มแทง บทรีวิว Piercing ปมซ่อนฆ่า นิยายโดย รีว มุระกะมิ
ความโดดเด่นที่สุดของ Piercing นิยายขนาดสั้นของนักเขียนญี่ปุ่น รีว มุระกะมิ ก็คือ ความสามารถในการพรรณนาความเจ็บป่วยทางจิตใจของตัวละครซึ่งตอบโต้กันไปมาในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างคิดเอาเอง
ตัวละครชายที่อยากทำร้ายลูกวัยแบเบาะของตนด้วยการเอาเหล็กเจาะน้ำแข็งแทงใส่ทารก โคจรมาพบกับตัวละครหญิงที่เจาะหัวนมตัวเอง ติดยานอนหลับ และทุกข์ทนกับความรู้สึกตายด้าน ฝ่ายหนึ่งปรารถนาจะฆ่าในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะถูกปลุกเร้า รูปแบบความป่วยไข้ของคนทั้งสองไม่ใช่สิ่งที่เข้ากันได้ดีในแบบโรแมนติก แต่มันกระตุ้นกันและขุดคุ้ยเปิดเผยสิ่งที่อยู่ลึกลงไปได้อย่างน่าสนใจต่างหาก
“เด็ก ๆ ไร้พลังต่อสู้ขัดขืน คาวาชิมะพึมพำกับตัวเอง หยาดน้ำตาร่วงหล่นบนแก้มทำให้เขาประหลาดใจ แล้วเขาก็ดื่มวิสกี้ในแก้วหมดภายในอึกเดียว ไม่ว่าพวกเขาจะถูกตีอย่างโหดร้ายเพียงใด พวกเด็ก ๆ ก็อับจนหนทางที่จะทำอะไร ถึงแม้ว่าแม่จะตีพวกเขาด้วยที่ซ้อนรองเท้า ท่อยางของเครื่องดูดฝุ่น หรือด้ามมีดทำครัว หรือบีบคอพวกเขา หรือราดน้ำเดือดใส่พวกเขา พวกเขาไม่อาจหลบเลี่ยงแม่ พวกเขาไม่อาจกระทั่งเกลียดชังแม่ได้อย่างแท้จริง พวกเด็ก ๆ จะต่อสู้อย่างสิ้นหวังเพื่อรู้สึกรักพ่อแม่ อันที่จริงแล้ว แทนที่จะเกลียดชังพ่อแม่ พวกเขาเลือกที่จะเกลียดชังตนเอง ความรักและความรุนแรงกลายเป็นสิ่งที่สานเข้าด้วยกัน...” (หน้า 59)
ความปรารถนาที่จะฆ่าอันเกิดจากแรงขับดันจากความกลัวที่จะถูกตัดขาด และความปรารถนาที่จะตายด้าน ไร้ความรู้สึกซึ่งเกิดขึ้นอย่างนอกเหนือการควบคุมของความคิดจิตใจ การพัวพันกันของความป่วยไข้สองรูปแบบนี้ดำเนินไปบนฉากของความรุนแรงซึ่งก่อตัว ล้นทะลัก สงบลง และกลับก่อตัวขึ้นใหม่
มันไม่ใช่การบำบัด ห่างไกลจากการเยียวยา และไม่เกียวกับความเข้าอกเข้าใจ แต่มันคือภาพเหมือนของจิตใจที่บิดเบี้ยว ซึ่งถูกวาดขึ้นอย่างบรรจง ประณีตกับทุกรายละเอียดราวกับต้องการสร้างต้นแบบของงานศึกษาจิตใจของมนุษย์
คำว่า “ทิ่มแทง” ควรจะเป็นชื่อที่ถูกต้องของ Piercing ฉบับภาษาไทย แต่หนังสือเล่มนี้ก็แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “ปมซ่อนฆ่า” (พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ earnest ปี 2554) สำนวนภาษาไทยอ่านได้ไหลรื่น แม้ชื่อเรื่องจะห่างไกลจากเนื้อเรื่องและต้นฉบับเดิม
แม้จะไม่ถึงกับผิดพลาดเสียทีเดียวหากจะจัด Piercing ไว้ในหมวดนิยายสยองขวัญสั่นประสาท แต่มันคงไม่ต้องตรงกับความจริงนัก และยิ่งไม่ถูกต้องหากจัด รีว มุระกะมิ ให้เป็นนักเขียนแนวเบสเซลเลอร์สยองขวัญ เพราะเรื่องของรีว มุระกะมินั้น ห่างไกลจาก “ตลาด” ดังกล่าวอย่างยิ่ง และมีความเอาจริงเอาจังในแบบที่ตลาดมักไม่เอาด้วยอยู่อย่างเข้มข้น
Piercing เป็นนิยายเรื่องที่ 19 ของ รีว มุระกะมิ เขียนในปี 1994 แปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษโดย Ralph F. McCarthy เมื่อมกราคม 2007 ในชื่อ Piercing (ชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ ピアッシング - Piasshingu – ซึ่งก็คือคำว่า piercing ภาษาอังกฤษที่เขียนด้วยตัวคะตะกะนะ) รีว มุระกะมิเป็นนักเขียนที่โดดเด่น Almost Transparent Blue นิยายเล่มแรกของเขาในปี 1976 (วัย 24 ปี) ได้รับรางวัลอะคุตะงะวะ และประสบความสำเร็จอย่างสูง ผลงานสำคัญอีกเล่มหนึ่งของเขาที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยผู้แปลคนเดียวกันคือ In the Miso Soup
Comments
Post a Comment