รูปสลักของเสรีภาพ, อ่าน หมาป่า นิยายของ เจียงหรง




หลังปฏิวัติวัฒนธรรม เฉินเจิ้น นักศึกษาจากปักกิ่งถูกส่งตัวไปเป็นคนเลี้ยงแกะ ณ ทุ่งเลี้ยงสัตว์ในแถบมองโกเลียใน สถานที่ซึ่งเขาได้พบและผูกพันกับสิ่งที่เป็นต้นธารประวัติศาสตร์อารยธรรมมนุษย์ตามความเห็นของเขาในเวลาต่อมา


ชีวิตของคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนชาวมองโกลคือชีวิตที่ต้องรอนแรมไปในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไพศาล ปกป้องฝูงสัตว์และเผชิญกับภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นความหนาวเย็น ความแห้งแล้ง พายุ ยุง และที่สำคัญคือ หมาป่า


ในฐานะชาวเมืองที่ถูกส่งมาเป็นคนเลี้ยงแกะ เฉินเจิ้นได้กลายมาเป็นประจักษ์พยานในสงครามระหว่างคนและหมาป่าครั้งสุดท้ายของทุ่งหญ้ามองโกเลียใน บริเวณชายแดนระหว่างจีนกับมองโกเลีย ก่อนที่ทุ่งหญ้าจะถูกรุกรานด้วยแนวทางพัฒนาแบบเกษตรกรรม ซึ่งในที่สุดก็ทำลายทุ่งหญ้าให้กลายเป็นทะเลทรายในเวลาไม่นานและจบสิ้นทั้งชีวิตคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนและหมาป่า


ความแตกต่างระหว่างคนเลี้ยงสัตว์ในทุ่งกว้างกับคนเพาะปลูกซึ่งลงหลักปักฐานอยู่กับที่กลายมาเป็นสิ่งที่เฉินเจิ้นศึกษาครุ่นคิดตลอดทั้งชีวิต โดยมีหมาป่าเป็นดังหมุดฝังหัวใจ ตรึงจิตวิญญาณของเขาไว้กับท้องทุ่งดึกดำบรรพ์ 


ชีวิตของคนเลี้ยงสัตว์ต้องพาฝูงสัตว์ย้ายที่กินหญ้าไปเรื่อย คือชีวิตอันดิบเถื่อนที่อยู่ในสมรภูมิตลอดเวลา โดยมีหมาป่าเป็นคู่สงคราม เฉินเจิ้นหลากใจไปกับความโดดเด่นของสัตว์พันธุ์นี้ และพบว่าหมาป่านี่เองที่ได้หล่อหลอมวิญญาณอันแข็งแกร่งที่ไม่มีวันยอมจำนน


หากผืนฟ้าเต็มแผ่นแผ่ฟ้าโค้งจรดทุ่งหญ้าสุดลูกหูลูกตาจะทำให้ความหมายของเสรีภาพจับต้องได้ หมาป่าก็เหมือนวิญญาณแห่งเสรีภาพที่ทำให้สิ่งที่จับต้องได้นั้นมีชีวิต


นิยายเรื่อง หมาป่า เต็มไปด้วยฉากภาพและรายละเอียดอันตระการตา เต็มไปด้วยชีวิตชีวาที่อาจจะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว คือความทรงจำจากประสบการณ์จริงของเจียงหรง นามปากกาของนักเขียนชาวจีนซึ่งต้องปกปิดตัวตน จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลจีนหันหัวเรือเข้าสู่ตลาดเสรีนิยม เขาจึงสามารถเปิดเผยตัวออกมา


หมาป่า (Wolf Totem) กลายเป็นหนังสือขายดีทั้งในจีนและต่างประเทศ เป็นนิยายเรื่องแรกที่ได้รับรางวัล The Man Asian Literary Prize ปี 2007 และอีกหลายรางวัล สร้างเป็นภาพยนตร์ทุนสูงที่กำลังจะเข้าฉายในปีนี้ แปลเป็นไทยโดย สุภาณี ปิยสุนทรา พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ซิลค์วอร์ม


เป็นนิยายจริงจังที่มีท่วงทำนองผจญภัยและชวนฝัน อ่านสนุกจนวางไม่ลงเว้นแต่บทสุดท้ายซึ่งผู้เขียนสาธยายแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ยาวยืดจนหลับแล้วหลับอีก ในด้านรูปแบบวรรณกรรม หมาป่าไม่มีอะไรใหม่ที่ชวนตื่นเต้นนัก ส่วนเนื้อหา นอกจากอรรถรสที่ตรึงผู้อ่านจนติดหนึบแล้ว ภาพชีวิตจริงของท้องทุ่งมองโกเลียใน ในทศวรรษ 1960 คือบันทึกที่ทรงคุณค่า ผู้เขียนพยายามคลี่คลายงานให้มีความเข้มข้นจริงจังด้วยการฉายภาพบรรยากาศการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงทางความคิด หยอดลงไปอย่างเหมาะเจาะกับชีวิตของคนเลี้ยงสัตว์ที่กำลังยืนอยู่บนเส้นด้ายของทางเลือกสองทาง คือรักษาท้องทุ่งหญ้าด้วยการคงวิถีเลี้ยงสัตว์ดึกดำบรรพ์ หรือเปลี่ยนแปลงมันด้วยวิธีคิดแบบนักเพาะปลูก หยุดเร่ร่อนและลงหลักปักฐาน 


และสองหนทางนี้เองที่กลายเป็นการเลือกเส้นทางของจิตวิญญาณที่พัวพันกับสายธารอารยธรรมอันยาวนานของการเป็นหมาป่าและการเป็นแกะ หนทางของเสรีภาพและการยอมเป็นทาส 


สำหรับผู้ที่เลือกเสรีภาพ เรื่องราวของหมาป่าจะกลายเป็นภาพสลักบนหินหยกดึกดำบรรพ์ที่ดำรงอยู่ตลอดไป

Comments