หลับตาตื่น อ่านบทกวี ภายในอุโมงค์เจิดจ้า ของ แก้วตา ธัมอิน


 


โถ่.. ที่นี่เอง

ที่ฉันติดตามมายาวไกล

เพื่อสักวันพบแสงสว่าง

เป็นเพียงภายในอุโมงค์ หากแต่เจิดจ้าจนไม่อาจลืมตา

ความมืดมิด

เป็นความมืดมิดเคลือบคลุมจากภายใน

สยายปีกที่ไม่อาจโบยบิน

ออกประดับประดาฝันร้ายของความตื่น


ข้างต้นเป็นบางส่วนของบทกวี ภายในอุโมงค์เจิดจ้า จากหนังสือกวีนิพนธ์ชื่อเดียวกันโดย แก้วตา ธัมอิน กวีสาวรุ่นใหม่ หากเข้าใจไม่ผิด หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นผลงานเล่มแรกของเธอ  คำว่า “โถ่” ในบทกวีไม่แน่ใจว่าเป็นความจงใจจะเล่นกับอักขระหรือเป็นการสะกดคำผิดโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามคำนี้สามารถตีความให้สอดรับกับเนื้อหาของบทกวีชิ้นนี้ได้ คำว่า “โธ่” เป็นคำไทยที่กร่อนคำมาจากคำว่า “พุทโธ” เป็นคำอุทานที่แสดงให้เห็นถึงการค้นพบความจริงบางอย่าง เช่นเดียวกับคำว่า “โถ” ซึ่งมีรากเดียวกัน เพียงแต่เล่นระดับเสียงต่างกันเพื่อแสดงอารมณ์ที่ต่างกัน คำว่า “โธ่” เป็นคำอุทานที่แสดงให้เห็นการค้นพบความจริง แต่แฝงนัยอารมณ์ “ขุ่นเคือง” เอาไว้ บางครั้งก็มี “เว้ย” หรือ “เอ๋ย” เป็นคำสร้อย เช่น “โธ่เว้ย!” หรือ “โธ่เอ๋ย” ส่วนคำว่า “โถ” นั้นให้ความหมายเดียวกัน แต่แฝงนัยอารมณ์ที่แตกต่าง คือเป็นการแสดงความ “สมเพช” หรือเวทนาเสียมากกว่าจะขุ่นเคือง การเล่นอักขระ “โถ่” ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีในภาษาไทยนั้น จึงอาจต้องการแสดงนัยความหมายถึงการค้นพบความจริงบางอย่างที่ก่อให้เกิดทั้งความ “ขุ่นเคือง” และ “สมเพช” ขึ้นพร้อมกัน

เนื้อหาของบทกวีชิ้นนี้สำแดงให้เห็นภาวะที่ขัดแย้งเกี่ยวกับการตระหนักถึงความจริง เริ่มต้นด้วยการหลงวนหาทางออกไม่ได้และพบว่าการ “หลงทาง” นั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากทั้งตนเองและผู้อื่น (และนั่น ฉันหลับใหลในความฝันของผู้อื่น, ความฝันซึ่งเบ่งบานด้วยน้ำเนื้อหัวใจฉันเอง) และบทกวีก็นำไปสู่การค้นพบความจริงโดยเริ่มจากคำว่า “โถ่” ซึ่งสภาวะของความจริงนี้มีลักษณะขัดแย้ง คือ เป็นการพบว่าอยู่ในอุโมงค์ที่มี “แสงจ้า” ส่วนความมืดนั้นอยู่ “ข้างใน” ซึ่งเป็นความเปรียบถึงสถานการณ์ที่ขัดแย้งกับความ “เคยชิน” ทั่วไปที่อุโมงค์จะต้องกลุ้มรุมด้วยความมืด นอกจากนี้ ต้นเหตุของการ “หลง” หรือทำให้ “ไม่เห็น” ก็คือ “แสง” (เจิดจ้าจนไม่อาจลืมตา) การค้นพบความจริงนี้จึงเป็นการ “ตื่น” ที่ไม่อาจลืมตาได้

หนังสือบทกวีเล่มนี้มีบทกวีทั้งหมด 48 ชิ้น แต่ละชิ้นมีขนาดสั้น ส่วนมากยาวไม่เกินหนึ่งหรือสองหน้าหนังสือ แบ่งเป็นสี่บรรพ แต่ละบรรพเปิดด้วยบทกวีขนาดสั้นไม่กี่บรรทัด คือ บางเบาบาง, สำหรับการคลาดเคลื่อน, ไร้น้ำหนัก และ หมอกเช้า  บทกวีทั้งหมดเป็นกลอนเปล่าท่วงทำนองโรแมนติก เป็นลักษณะกระแสสำนึก หรือการตอบโต้กับกระแสสำนึกในมุมมองแบบทวิลักษณ์ มักจะเป็นเสียงพูดระหว่าง “ฉัน-คุณ” หรือ “ฉัน-เธอ” ซึ่งแสดงอารมณ์ตัดกันแบบแสงเงา (คอนทราส) คล้ายคลึงกับในงานกวีของเสี้ยวจันทร์ แรมไพร กวีผู้โดดเด่นในแนวทางนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อน

สิ่งที่น่าสนใจคือหากอ่านบทกวีเล่มนี้ในฐานะของสำนึกต่อสังคมการเมืองไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่าสำนึกที่ปรากฏในบทกวีจะเคลื่อนไหวและมีพัฒนาการ จากท่วงทำนองอ้อนวอน, เคืองแค้น, เสียดสี, มีความหวัง, สองจิตสองใจ, ทักท้วง, เย้ยหยัน จนกระทั่งมาสู่ความอึดอัด แตกหัก และแสดงออกอย่างแจ่มแจ้งในที่สุด


กลางดึกฉันเคาะคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์

วรรคต่อวรรคบรรยาย

ถึงความเบาหวิวของคำว่า ประชาชน

สำหรับบ้านนี้เมืองนี้

อ่านทวนซ้ำแล้วซ้ำอีก

ฉันช่างเขียนได้แต่คำสบถโง่เง่า

จะมีใครสักคนกันรู้สึกถึงมันบ้าง

แม้ภาพที่เห็นคือการรวมเอาผู้คนทั้งหมดที่มี

ก็ไม่แม้แต่จะเขยื้อนตาชั่ง

ที่อีกฟากถ่วงด้วยฝุ่นผงละอองเดียว


(จากบทกวี เท่าที่ฉันเขียนได้, เล่มเดียวกัน)


ภายในอุโมงค์เจิดจ้า ผลงานเล่มแรกของกวีสาวรุ่นใหม่ พิมพ์เป็นจำนวนไม่มาก อาจหาซื้อตามร้านหนังสือทั่วไปไม่ได้ แต่สามารถสั่งซื้อได้ที่เฟซบุค แก้วตา ธัมอิน หรือ kaewtat@gmail.com


Comments