นิทานประเทศ, ภาพเหมือนของความแตกสลาย ผลงานหลังความตายของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
นิทานประเทศ คือรวมเรื่องสั้นเล่มเขื่อง ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 11 เรื่อง บนความหนา 376 หน้าหนังสือเล่ม
หนังสือเปิดเล่มด้วยเรื่อง ชาวบ้านป่า เป็นเรื่องสั้นไม่ยาวนัก บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในวันเวลาที่ยังใช้ชีวิตสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับป่าเขา สะท้อนให้เห็นรากเหง้าของวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เคยดำรงอยู่ และค่อย ๆ เสื่อมหายกลายเป็นเพียงเรื่องเล่า ตามด้วยเรื่อง บ้านเมืองของเขา เรื่องเล่าที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคน 5 รุ่นผ่านการสนทนาระหว่างพ่อกับลูก และการรำลึกถึงเรื่องราวของปู่ทวด ฉายให้เห็นถึงการสืบทอดคุณค่าและความหมายของการดำรงอยู่จากรุ่นสู่รุ่นจนถึงรุ่นที่สิ้นสุดและไม่อาจสืบทอดได้อีกต่อไป เรื่อง คนขายโรตีจากศรีลังกา เรื่องเล่าที่เป็นดังสถานการณ์สมมติเพื่อเปิดโปงให้เห็นการแบ่งแยกซึ่งนำมาสู่ความไม่เท่าเทียมในสังคมมนุษย์ เรื่องสั้น บ้านเคยอยู่ (เพื่อชีวิต) สะท้อนถึงการเสื่อมลงและการถูกรุกรานของวิถีชีวิตท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้ผู้คนต้องแตกกระสานซ่านเซ็นออกจากวิถีชีวิตที่เป็นเหมือนรากเหง้าของตนเอง
ต่อด้วยเรื่องสั้น หมูขี้พร้า ซึ่งนับเป็นเรื่องเด่นเรื่องหนึ่งในเล่ม เล่าเรื่องราวผ่านชีวิตของหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง โดยอาศัยเรื่องของหมูขี้พร้ามาเป็นความเปรียบสอดแทรกอยู่เป็นระยะ นับเป็นเรื่องเล่าที่มีลีลาจัดจ้านที่สุดในเล่ม เรื่องสั้น เพื่อนบ้าน ยังคงฉากและสถานที่อยู่ละแวกหุบเขา แต่ตัวละครหลักมีลักษณะเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น เรื่องสั้น สมชายชาญ เรื่องของลิงที่สะท้อนมาถึงเรื่องของตัวตน เรื่องสั้น กลางป่าลึก เปรียบเสมือนการจำลองสถานการณ์เพื่อมุ่งค้นหา อรรถาธิบายสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องสั้น นาฬิกาของแม่ เรื่องราวของครอบครัวชนบทที่ผันชีวิตมาสู่การเป็นคนชั้นกลางสมัยใหม่ เรื่องสั้น ธรรมชาติของการตาย บรรยายฉาก เหตุการณ์ ในจังหวัดแถบชายฝั่งทะเลอันดามันหลังคลื่นสึนามิซัดถล่ม ปิดท้ายด้วยเรื่องสั้น น้ำตก (2547) เป็นเรื่องสั้นที่ค่อนข้างยาว เล่าผ่านมุมมองของตัวละครบุรุษที่หนึ่ง ผู้เขียนนำอัตลักษณ์ของเมือง เข้ามาปะทะกับความดิบเถื่อนของภัยธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความอีหลักอีเหลื่อของตัวตน หรืออัตลักษณ์ของเมือง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติ ซึ่งเครื่องมือสำคัญของกนกพงศ์ในเรื่องสั้นชิ้นนี้ก็ยังคงเป็นมโนทัศน์ปัจเจกนิยม
เมื่ออ่านนิทานประเทศจบทั้งเล่ม จะเห็นว่ารวมเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่องคือวรรณกรรมสะท้อนสังคมที่คลี่คลายออกจากรูปแบบของวรรณกรรมเพื่อชีวิตเมื่อสามทศวรรษก่อนอย่างชัดเจน มองจากแง่มุมของวรรณกรรมศึกษาก็กล่าวได้ว่า กนกพงศ์ สงสมพันธ์ ได้ถากถางพื้นที่ใหม่ให้กับวรรณกรรมสะท้อนสังคมด้วยรูปแบบการเขียนที่คลี่คลายและก้าวไปข้างหน้าต่อจากรวมเรื่องสั้น แผ่นดินอื่น
ใน 11 เรื่องสั้นนี้ เรื่องที่แสดงความพยายามของผู้เขียนที่จะดิ้นออกจากกรอบของขนบวรรณกรรมสะท้อนสังคมที่สุดได้แก่เรื่องสั้นน้ำตก (2547) ซึ่งสลัดทิ้งมโนทัศน์ของชนชั้นในแบบวรรณกรรมเพื่อชีวิต ไปสู่มุมมองที่ซับซ้อนกว่า อย่างเช่น ความไม่ลงรอย ปะทะขัดแย้ง และแปลกแยกต่อธรรมชาติของอัตลักษณ์เมือง
ส่วนเรื่องสั้นที่เด่นที่สุดคือเรื่อง หมูขี้พร้า นั้น มีลีลาการเล่าเรื่องจัดจ้าน หลากไหล ต่อเนื่อง เล่าเรื่องราวของครอบครัวชนบทครอบครัวหนึ่งซึ่งเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ผู้เขียนได้คว้าจับเอาตัวตน วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของชาวบ้านท้องถิ่น ออกมาตีแผ่บนความเปลี่ยนแปลงที่พัดโหมมาจากสัมคมสมัยใหม่ได้อย่างแจ่มกระจ่างอย่างที่น้อยครั้งจะมีผู้สามารถเขียนให้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมไทย บนความหมายมุ่งจะก้าวไปกับโลกสมัยใหม่ ตัวตนแห่งอดีตจึงต้องทนทุกข์ทรมาน ว่ายวนอยู่กับโศกนาฏกรรมซ้ำซากท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนผ่าน สำนึกและตัวตนที่ไม่อาจหมุนเปลี่ยนไปตามโลกได้ทำให้ตัวละครเปรียบเสมือนถูกจองจำอยู่ในเกาะแห่งอดีตซึ่งนับวันจะถูกกัดกินหดหายไปในท้องทะเลของยุคสมัยที่คืบเคลื่อนเข้ามา
เรื่องสั้น กลางป่าลึก สามารถนับเป็นเรื่องสั้นที่พยายามตีแผ่ให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อ่านที่เคยคาดหวังและรอคอยจะอ่านผลงานวรรณกรรมของกนกพงศ์ที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะไม่สามารถรออ่านนิยายของเขาได้แล้ว แต่การอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ยังทำให้มองเห็นความคิดรวบยอดของกนกพงศ์ที่มีต่อสถานการณ์ดังกล่าว
เรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นอย่างยิ่งคือ ธรรมชาติของการตาย กนกพงศ์บรรยายฉากและเหตุการณ์หลังคลื่นสึนามิละเอียดละออจนน่าทึ่ง เห็นได้ว่าผู้เขียนจงใจถ่ายภาพเหมือนด้วยเลนส์ที่ดีที่สุดและฟิล์มที่เนื้อละเอียดที่สุด โดยระวังอย่างยิ่งไม่ให้ทัศนคติใดขึ้นมามีบทบาท ในขณะเดียวกัน ช่วงท้ายเรื่อง ผู้เขียนกลับสร้างจุดพลิกผันขึ้นในเรื่องได้อย่างแนบเนียนทว่าส่งผลต่อการอ่านอย่างทรงพลังยิ่ง
หนังสือ นิทานประเทศ เปรียบได้กับหน้าต่างเปิดไปสู่ความเข้าใจต่อชีวิตในชนบทที่เคยดำรงวิถีสัมพันธ์แนบแน่นกับธรรมชาติ ไม่ใช่ความเข้าใจในแบบภาพฝันโรแมนติก แต่เป็นความเข้าใจที่ล่วงลึกไปถึงตัวตน สำนึก และรายละเอียดของชีวิต ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ก่อรวมกันขึ้นเป็นวัฒนธรรม เป็นสังคมแบบชนบทที่กำลังเสื่อมถอย เพราะไม่ลงรอยกับความเปลี่ยนแปลงที่แผ่ลามมาจากสังคมสมัยใหม่ ขัดแย้ง อิหลักอิเหลื่อ แต่ก็ไม่อาจหลีกหนี ไม่อาจปฏิเสธ ถดถอยและไร้เรี่ยวแรงรับมือต่อสิ่งที่ถาโถมเข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นจึงมีแต่เพียงการหักพัง ล่มสลาย และย่อยยับ…
ละม้ายผู้เขียนได้เก็บรวบรวมรายละเอียดอันยิบย่อยของชีวิตผู้คน ชาวบ้านในแถบถิ่นชนบท ประกอบกันขึ้นเป็นใบหน้าอันร่วงโรยของสังคมชนบท แม้รายละเอียดจำนวนมากจะชวนให้มองเห็นเป็นเรื่องราวเฉพาะของท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง ทว่ารายละเอียดทั้งหมดของชีวิตที่ประกอบขึ้นเป็นใบหน้าอันร่วงโรยก็คล้ายจะยืนยันถึงความเสื่อมทรุดที่มิได้จำกัดขอบเขต
เป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้นด้วยความอุตสาหะพยายาม ใช้ทั้งพลังของจินตนาการ และพลังของชีวิตที่ต้องลงไปสัมผัสจับต้องให้ถึงความจริงที่ดำรงอยู่ วาดขึ้นเป็นภาพเหมือนของความพินาศ หักพัง แตกสลายของมนุษย์จำนวนหนึ่ง และเป็นภาพที่เขียนขึ้นอย่างละเอียดลออเสียจนน่าทึ่ง
สำหรับผู้อ่านวรรณกรรม นิทานประเทศ คือวรรณกรรมสะท้อนสังคมที่ทรงพลัง และคุ้มค่าที่จะลงแรงอ่าน สำหรับผู้อ่านทั่วไป หากฝ่าฟันความหนัก ความเหนื่อย และความยาวของหนังสือเล่มนี้ไปได้ ย่อมจะพบกันการอ่านที่เต็มอิ่มในรสชาติที่แตกต่าง และความเข้าใจที่หาไม่ได้จากชีวิตปรกติ
ล้อมกรอบ
หลังการเสียชีวิตของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนหนุ่มผู้วายชนม์ไปก่อนเวลาอันควรเมื่อ วันที่ 13 กุมภาพันธุ์ 2549 สำนักพิมพ์นาครได้ทยอยตีพิมพ์ผลงานวรรณกรรมเล่มใหม่ซึ่งเป็นมรดกที่กนกพงศ์ทิ้งไว้อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากกวีนิพนธ์ ในหุบเขา และตามมาด้วย รวมเรื่องสั้น นิทานประเทศ, รอบบ้านทั้งสี่ทิศ และ กวีตาย ทั้งนี้ ตามประกาศของสำนักพิมพ์ ยังคงเหลือรวมเรื่องสั้นชุดใหม่ของกนกพงศ์ที่อยู่ระหว่างการจัดทำต้นฉบับอีก 1 เล่ม ก็คือ คนตัวเล็ก
ในบรรดาผลงานของกนกพงศ์ทั้งหมดที่ตีพิมพ์หลังจากการเสียชีวิต นิทานประเทศ คือเล่มที่ทั้งผู้พิมพ์และผู้อ่านมาดหมายที่สุดว่าจะเป็นผลงานชิ้นสำคัญต่อจาก แผ่นดินอื่น ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2539
Comments
Post a Comment