ภาพวาดโดเรียน เกรย์, เมื่อจินตนาการบงการความจริง นิยายโดย ออสการ์ ไวลด์

 



“ไม่มีหรอก สิ่งที่เรียกว่า หนังสือที่มีศีลธรรม และหนังสือไร้ศีลธรรม จะมีก็แต่หนังสือที่เขียนดีและหนังสือที่เขียนเลวเท่านั้น”

คำให้การในศาลของ ออสการ์ ไวลด์ ในฐานะจำเลย


ภาพวาดโดเรียน เกรย์ คือผลงานนิยายเพียงเรื่องเดียวของออสการ์ ไวลด์ กวีและนักเขียนบทละครชาวไอริชผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 (1854-1900) ช่วงสมัยแห่งสังคม “วิกตอเรีย” (1837-1901) ยุคสมัยซึ่งภายใต้โฉมหน้าของความภาคภูมิแห่งอังกฤษ ความสงบสุข และวัฒนธรรมอันประณีตละเอียดอ่อน คือการเก็บกดทางเพศ หลีกหนีเหตุผล และขับเคลื่อนไปด้วยความโรแมนติก ศีลธรรมแห่งวิกตอเรียนั้นคือคุณธรรมของคนชั้นสูงที่จะต้องไม่มีวันแปดเปื้อน และ ออสการ์ ไวลด์ ได้สะท้อนความหน้าไหว้หลังหลอกของสังคมวิกตอเรียออกมาในประโยคที่เฉียบคมจำนวนมากในนิยายเรื่องนี้ เช่น “การพูดจาหยาบคายและความตาย เป็นสองสิ่งที่คนเราจะล้อเล่นไม่ได้” (หน้า 336) และโดยเฉพาะเมื่อโดเรียน เกรย์สารภาพกับลอร์ดเฮนรีว่าเขาเป็นคนฆ่าบาซิล และลอร์ดเฮนรีตอบว่า 

“..เจ้ากำลังแสดงละครบทที่ไม่เหมาะกับเจ้าอยู่น่ะสิเพื่อนรัก อาชญากรรมทุกประเภทเป็นความหยาบช้า เหมือนที่ความหยาบช้าทุกประเภทเป็นอาชญากรรม โดเรียน เจ้าไม่มีความกล้าพอที่จะฆ่าคนตายได้ ข้าต้องขอโทษด้วย หากการกล่าวเช่นนี้ทำให้เจ้าต้องสั่นคลอน แต่ข้าขอยืนยันว่านี่คือความจริง อาชญากรรมเป็นสมบัติของคนชั้นต่ำเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ข้าไม่โทษพวกเขาแม้แต่น้อย ข้าคิดว่าอาชญากรรมสำคัญต่อพวกเขาเหมือนกับที่ศิลปะสำคัญต่อชนชั้นเรา เพราะมันเป็นวิธีการที่ทำให้เราได้มาซึ่งความรู้สึกที่วิเศษกว่าใคร” (หน้า 337)

ภาพวาดโดเรียน เกรย์ นับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของศตวรรษที่ 19  ในยุคที่โรแมนติกนิยมทรงอิทธิพลและเป็นวรรณกรรมกระแสหลัก ออสการ์ ไวลด์ได้ผนวกความขัดแย้งทางศีลธรรมและจิตวิญญาณของผู้คนร่วมสมัยเข้าไว้กับโครงเรื่องที่ชวนสยดสยอง โดเรียน เกรย์ ชายหนุ่มรูปงามถูกโน้มนำด้วยวาทศิลป์ของลอร์ดเฮนรี ให้เข้าถึงและชื่นชมภาพเหมือนของตนเอง โดเรียนเกิดความเศร้าโศกสะเทือนใจเมื่อตระหนักว่าวันหนึ่งตัวเขาเองจะต้องชราภาพและตายไป แต่ภาพเหมือนของเขาจะยังคงงดงามและเยาว์วัยต่อไป เขาแสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าให้ตนเองคงความงดงามและอ่อนเยาว์ตลอดไปและให้ภาพเหมือนของเขาเป็นฝ่ายชราภาพและตายจากไปแทน และในวันที่โดเรียนได้สลัดทิ้งคนรักอย่างเลือดเย็น เขาก็พบว่าความปรารถนาของเขากลายเป็นความจริง

ออสการ์ ไวลด์ ได้แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างความงดงามของอุดมคติที่ใฝ่หากับความน่าสยดสยองของความจริงที่เป็นไป ความงามอันน่าชื่นชมซึ่งปรากฏให้เห็นกับความอัปลักษณ์ของความจริงที่ความงามได้เหยียบกดเอาไว้ ผ่านเรื่องราวสยองขวัญของโดเรียน เกรย์ ชายหนุ่มรูปงาม กับภาพเหมือนของเขา ลอร์ดเฮนรีผู้มีวาทศิลป์อันชั่วร้าย และบาซิล ฮอลวาร์ด จิตรกรผู้วาดภาพเหมือนนั้น และหลงรักโดเรียนเกรย์ผู้เป็นแบบให้เขาวาด นิยายเรื่อง ภาพวาดโดเรียน เกรย์ นี้จึงจัดเป็นนิยายโกธิก (Gotic fiction) ชิ้นสำคัญเรื่องหนึ่งในศตวรรษที่ 19

เมื่อ ภาพวาดโดเรียน เกรย์ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก นิยายเรื่องนี้ถูกประณามว่าไร้ศีลธรรมและแสดงให้เห็นถึงอารมณ์รักร่วมเพศ ต่อมาประโยคในนิยายยังถูกนำเป็นหลักฐานแสดงความรักร่วมเพศและความผิดศีลธรรมเพื่อกล่าวโทษเขาในศาล 


Comments