"มีไว้เพื่อซาบ" ความขัดแย้งของตัวตนและพื้นที่ รวมเรื่องสั้นโดย อุรุดา โควินท์

 




มีไว้เพื่อซาบ เป็นรวมเรื่องสั้นที่เปิดโปงอารมณ์ของผู้หญิงได้อย่างเฉียบคม ผสมผสานความรักและเกลียด ความถวิลหาและความต้องการหลีกหนี ความปรารถนาและการตระหนักถึงความไม่สมบูรณ์เข้าไว้ด้วยกัน อย่างที่ไม่อาจพบได้บ่อยนักในวรรณกรรมไทย
รวมเรื่องสั้นเล่มนี้เป็นผลงานเล่มล่าสุดของ อุรุดา โควินท์ นักเขียนหญิงซึ่งทำงานมาร่วม 8 ปี  ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 10 เรื่อง ได้แก่ แค่เอื้อมมือ, จุดหมายข้างนอก, ต้นไม้ต้นใด, มีไว้เพื่อซาบ, เสียดายมือ, เมียไอ้บ่าวทำแพนเค้ก, เงาะเพื่อชีวิต, ช่างทำผม, โทรศัพท์สามสาย และ หัวใจที่ไม่ยอมช้าลง
แค่เอื้อมมือ เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาว เล่าเรื่องผ่านกระแสสำนึกของผู้เป็นแม่ เมื่อลูกสาวที่จากบ้านไปกลับมาเยี่ยมแม่พร้อมกับคนรัก สะท้อนถึงสายสัมพันธ์ห่วงหาอาทรระหว่างแม่และลูกสาว โดยขับเน้นแง่มุมของความเป็นผู้หญิงที่ผู้เป็นแม่มองลูกสาวตนเองได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
จุดหมายข้างนอก เป็นเรื่องราวการค้นหาตัวเองของผู้หญิงที่มีความรักเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต แต่ล้มเหลวในเรื่องความรักมาครั้งแล้วครั้งเล่า เธอหลบหนีความรักเก่าและวิถีชีวิตในเมืองมาอยู่ในชนบท ได้พบกับผู้ชายคนใหม่ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอเริ่มต้นวิถีชีวิตบนเส้นทางใหม่ พร้อมกับพลังใจในการชำระเรื่องราวในอดีตที่คั่งค้าง
ต้นไม้ต้นใด เป็นเรื่องราวการครองคู่ของชายหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งฝ่ายชายมีอุดมคติที่เชื่อมั่นในวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติของชนบทในฐานะชาวสวน ขณะที่ฝ่ายหญิงฝากชีวิตตนเองไว้กับอุดมคติของฝ่ายชายและการครองคู่ ทั้งสองต่างหลีกหนีชีวิตทันสมัยในเมือง เพื่อดำเนินชีวิตไปตามเส้นทางในความคิดฝัน  เรื่องราวดำเนินผ่านกระแสสำนึกของฝ่ายหญิง สะท้อนให้เห็นความไม่มั่นใจในชีวิตที่กำลังดำเนินไป สงสัยในความขัดแย้งระหว่างอุดมคติและการประพฤติตัวของฝ่ายชาย เรื่องราวคลี่คลายไปด้วยการที่ตัวละครหญิงแก้ไขความรู้สึกของตนเองโดยทุ่มเทความสนใจให้กับรายละเอียดของชีวิตที่เป็นรูปธรรมตรงหน้า ด้วยการให้ความหมายอย่างตรงไปตรงมาต่อสิ่งที่กำลังทำ
มีไว้เพื่อซาบ เป็นเรื่องราวจากเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดาในท้องถิ่นชนบทซึ่งเกิดขึ้นกับชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งที่ใช้ชีวิตแปลกแยกกับชีวิตของชาวบ้านทั่วไปในท้องถิ่น เหตุการณ์เล็ก ๆ นี้ได้ถูกขยับขยายโดยความรู้สึกสำนึกแบบคนเมือง ที่ไม่สามารถยอมรับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของท้องถิ่นได้ สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันของสำนึกและตัวตนแบบคนเมืองสมัยใหม่ กับคนชนบทที่ยังถือคุณค่าชีวิตในแบบเดิม
เสียดายมือ เป็นเรื่องราวการรุกคืบเข้ามาของวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่มีต่อครอบครัวหนุ่มสาวในชนบท แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งของค่านิยมสมัยใหม่ที่เข้าปะทะคุกคามชีวิตธรรมดาสามัญ ผ่านร่องรอยหยาบกร้านจากการกรำงานบนมือของฝ่ายหญิง
เมียไอ้บ่าวทำแพนเค๊ก ก็ยังคงเป็นเรื่องราวของการปะทะกันระหว่างวิถีชีวิตสมัยใหม่กับวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ผ่านเรื่องราวของการทำขนม โครงเรื่องยังคงเป็นตัวตนแบบเมืองของหญิงสาวที่ปะทะกับวัฒนธรรมและความเป็นไปในท้องถิ่น
เงาะเพื่อชีวิต เป็นเรื่องของหญิงสาวคนเหนือที่พลัดถิ่นไปอยู่กับครอบครัวของพี่ชายที่แต่งงานไปเป็นชาวสวนทางใต้ พยายามบอกเล่าสะท้อนให้เห็นความงดงามของการผสมผสานทางวัฒนธรรมผ่านการจัดแต่งพวงเงาะเพื่อส่งประกวดในงานประเพณีท้องถิ่นของชาวสวน
ช่างทำผม เล่าเรื่องความรู้สึกของผู้หญิงที่มีต่อทรงผมผ่านกระแสสำนึก มีลักษณะของการชี้แจงความหมายของทรงผมที่มีต่อความรู้สึกของผู้หญิง 
โทรศัพท์สามสาย เป็นเรื่องของผู้หญิงกับความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้ชายสามคน คนหนึ่งชอบยืมเงิน อีกคนหนึ่งเป็นแฟนของเพื่อนที่เธอลักลอบมีความสัมพันธ์ด้วย และอีกคนหนึ่งเป็นชายแปลกหน้าคนใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามา เรื่องราวสั้น ๆ ห้วน ๆ  จบลงตรงเธอต้องสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบตัว แต่ก่อนที่จะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ผู้ชายแปลกหน้าคนใหม่ก็เข้ามาพัฒนาความสัมพันธ์กับเธอ
หัวใจที่ไม่ยอมช้าลง เป็นเรื่องของผู้หญิงกร้านชีวิตสองคน มีงานขายหนังสือที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นฉาก ผู้เขียนค่อย ๆ ใช้ฉากและเหตุการณ์บอกเล่าร่องรอยชีวิตของตัวละครหญิงสองคน ซึ่งชีวิตถูกดึงเข้ามาเกี่ยวพันกับหนังสือเพราะความสัมพันธ์กับคนรักในอดีต ที่เป็นนักเขียนบ้าง กวีบ้าง พาชีวิตของทั้งสองให้ถลำลึกเข้ามาจนหนังสือกลายเป็นวิถีทางเดียวที่เหลืออยู่

จากเรื่องย่อที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเรื่องสั้นทั้ง 10 เรื่อง มีโครงเรื่อง ตัวละคร และประเด็น ซ้ำ ๆ กันไปมา โดยประเด็นสำคัญที่ปรากฏอยู่แทบจะทุกเรื่องพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก เป็นเรื่องของการค้นหาและให้ความหมายแก่ชีวิตของตัวละครหญิง ซึ่งส่วนใหญ่มีบุคลิกโอนเอนไปตามสภาพแวดล้อม สาระสำคัญที่ตัวเรื่องสะท้อนออกมาโดยส่วนใหญ่มักเผยให้เห็นถึงปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลเหนือตัวละครหลัก ดังนี้ ตัวละครหญิงในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จึงมักต้องว่ายวนอยู่กับการไล่คว้าความหมายที่อยู่ภายนอกตัวเอง
ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นทางสังคมที่มีแง่มุมน่าสนใจ หากแต่ไม่ถูกขับออกมาเท่าที่ควร คือเรื่องราวของการปะทะขัดแย้งกันระหว่าง "ตัวตน" และ "พื้นที่" ของการดำรงอยู่ ซึ่งก็คือสภาพแวดล้อมที่ห่อหุ้มไปด้วยคุณค่าและความหมายแบบท้องถิ่นของชนบท  เป็นการง่ายที่จะแทนค่าตัวตนดังกล่าวว่าเป็นตัวตนแบบ "ผู้หญิงเมืองสมัยใหม่" และแทนค่าสภาพแวดล้อมดังกล่าวว่าเป็น "วัฒนธรรมท้องถิ่นชนบท" แต่การแทนค่านี้ก็อาจจะเป็นสิ่งสมมติที่ทำให้คนอ่านต้องพลาดความหมายหลายประการไป  เนื่องจากว่าสังคมสมัยใหม่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว คุณค่าและความหมายทั้งเก่าใหม่ก็ล้วนผสมปนเปจนยากจะแยกแยะ "พื้นที่" ซึ่งห่อหุ้มความขัดแย้ง แม้ว่าจะปรากฏขึ้นในฉายาของ "ชนบท" ก็อาจจะไม่ใช่ชนบทที่เคยเป็นมาแต่ดั้งเดิมอย่างแท้จริง บางทีการพิจารณาความขัดแย้งนี้ ด้วยการละจากกรอบดังกล่าว ก็ทำให้เราได้เห็นว่า ในขณะที่ตัวละครหญิงส่วนใหญ่ของเรื่องรู้สึกผิดแผกแปลกแยกกับ “พื้นที่” ซึ่งดำรงอยู่รอบตัวของเธอ  “ตัวตน” ของเธอก็เป็นพาหะของสำนึกอีกแบบที่สามารถสร้างความปั่นป่วนให้กับพื้นที่รอบตัว ความขัดแย้งและการปะทะกันจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกตัวตนของคน เปรียบได้กับทุก ๆ ส่วนในสังคมกำลังบิดเบี้ยวและไร้ความสามารถที่จะไปด้วยกัน  หากเราเปรียบอย่างง่าย ๆ ว่าอุดมคติของตัวละครในเรื่องต่าง ๆ ของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ เท่ากับ “เศรษฐกิจพอเพียง” การดำเนินชีวิตไปตามปรัชญานี้ก็เป็นสิ่งที่หนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อวิถีบริโภคซึมลึกเข้าจนเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน กลมกลืนจนเป็นความหมายหนึ่งของชีวิต บางทีการละทิ้งวิถีบริโภคที่ขัดแย้งกับเศรษฐกิจพอเพียง ก็คล้ายจะมีความหมายเดียวกับการที่จะต้องตัดเฉือนส่วนหนึ่งส่วนใดของตนเองทิ้งไป ขณะเดียวกันเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งดูคล้ายว่าเป็นวิถีชีวิตอันเรียบง่าย กลับมีความซับซ้อนมากกว่าที่เห็นจากภายนอก
แต่ไม่ว่าจะอ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ด้วยท่วงทีทางการอ่านเช่นใด มีไว้เพื่อซาบ ก็นับเป็นรวมเรื่องสั้นที่มีความโดดเด่นในการสะท้อนตัวตนของผู้หญิง และ คุณค่าแบบปัจเจกนิยมของสังคมสมัยใหม่ที่ปะทะขัดแย้งอยู่กับวิถีชีวิตเรียบง่าย (ซึ่งแท้จริงแล้วประกอบไปด้วยคติ และการให้คุณค่าและความหมายที่ซับซ้อน) 
หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานวรรณกรรมเล่มที่ 3 ของผู้เขียน การที่ตัวละคร ประเด็น โครงเรื่อง และการดำเนินเรื่องซ้ำไปซ้ำมา เมื่อพิจารณาร่วมกับภูมิหลังของผู้เขียน แม้ว่าเรื่องสั้นส่วนใหญ่ในเล่มจะอ่านได้ราบรื่นและดำเนินเรื่องได้อย่างแพรวพราวมีสีสัน แต่ก็ทำให้เห็นถึงข้อจำกัดในเรื่องทักษะและจินตนาการของผู้เขียนที่ต้องพึ่งพาอาศัยวัตถุดิบใกล้ตัว และการเล่าเรื่องในแบบกระแสสำนึกเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะต้องรอดูผลงานของนักเขียนหญิงผู้นี้กันต่อไป


...........
อุรุดา โควินท์ เกิดที่เชียงราย เรียนจบปริญญาตรีสาขาบัญชีจากมหาวิทยาลัยพายัพ เป็นพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ 5 ปี ก่อนจะลาออกมาเพื่อเขียนหนังสือและใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เธอเริ่มต้นเขียนหนังสือราวปี 2542 มีผลงานเล่มแรกคือ รวมเรื่องสั้น มิตรภาพยังอยู่กับเรา ตีพิมพ์เมื่อมกราคม ปี 2544 และมีผลงานรวมเล่มลำดับสองในเดือนกันยายนปีเดียวกัน คือ ลูกสาวของดอกไม้ (ในคำนำหนังสือ มีไว้เพื่อซาบ ระบุปี พ.ศ. ที่ตีพิมพ์ของหนังสือดังกล่าวผิดทั้งสิ้น)
อุรุดาเดินทางไปพำนักและร่วมชีวิตกับกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนหนุ่มผู้วายชนม์ ที่อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ราวปี 2545 เธอได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดในปี 2548 จากเรื่องสั้น เสียดายมือ


Comments