ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป

 




ในระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจกับความรับผิดชอบจากการใช้อำนาจนั้นเป็นของคู่กัน ผู้ใดมีอำนาจ ผู้นั้นก็ต้องมีความรับผิดชอบตามมา ความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจแสดงออกได้จาก การถูกฟ้องร้องดำเนินคดี การปลดออกจากตำแหน่ง การรับโทษอาญา สภาวะความรับผิดชอบเช่นนี้ เราต้องการให้เกิดขึ้นกับกษัตริย์หรือไม่? ถ้าคำตอบ คือ ไม่ ก็ต้องตัดความรับผิดชอบออก และจะตัดความรับผิดชอบออกได้ ก็ต้องไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีอำนาจ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อไม่ต้องรับผิดชอบ ก็หลุดพ้นจากการติฉิน ฟ้องร้อง ลงโทษ ปลดออก

 

 

หนังสือ ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป พิมพ์ครั้งที่ 3

ผู้เขียน ปิยบุตร แสงกนกกุล

สำนักพิมพ์ Shine Publishing House

เวลาพิมพ์ ธันวาคม 2020

ISBN 9786167939155

ขนาดรูปเล่ม กว้าง 145 มม. สูง 210 มม. หนา 21.5 มม.

เนื้อใน กระดาษถนอมสายตา พิมพ์ขาวดำ

ปก สี่สี กระดาษบริสก์

จำนวนหน้า 360 หน้า

ราคาปก 360 บาท

สั่งซื้อ ร้านสำนักพิมพ์ไชน์

 

 

 

โปรยปกหน้า

 

บทอภิปรายว่าด้วยรัฐธรรมนูญ สถาบันกษัตริย์ ตุลาการ และกองทัพ

 

 

 

โปรยปกหลัง

 

ในระบอบประชาธิปไตย กษัตริย์จึงไม่มีทางกระทำผิด (The King can do no wrong) เพราะ กษัตริย์ไม่ทำอะไรเลย (The King can do nothing) แต่เป็นผู้ลงนามรับสนองฯต่างหากที่เป็นผู้กระทำและเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น การอธิบายว่า The King เป็นมนุษย์ จึงสามารถ do wrong ได้นั้น แม้ฟังแล้ว อาจซาบซึ้งว่าเป็นกรณีที่กษัตริย์มีนํ้าใจและประกาศว่าตนอาจทำผิดพลาดได้เสมอเหมือนคนทั่วไป แต่คำพูดเช่นนี้ผิดหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะหากบอกว่ากษัตริย์ทำผิดได้ นั่นแสดงว่า กษัตริย์จะทำการเกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด จะทำการลำพังด้วยตนเอง โดยไม่มีผู้รับสนองฯ หากกล่าวอย่างเคร่งครัดแล้ว ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่มี The King ที่ can do wrong เพราะ ในระบอบประชาธิปไตย มีแต่ The King ที่ can do nothing

 

 

 

Hilighlight

 

อำนาจก่อตั้งสถาปนาระบบกฎหมาย-การเมือง (Pouvoir constituant) แสดงถึงการแผ่ขยายแบบปฏิวัติของความเป็นไปได้ของมนุษย์ในการสร้างประวัติศาสตร์และการกระทำพื้นฐานของการสรรสร้างสิ่งใหม่ ดังนั้นจึงเป็นกระบวนการสัมบูรณ์เด็ดขาดด้วย ขั้นตอนที่อำนาจก่อตั้งสถาปนาระบบกฎหมาย-การเมือง (Pouvoir constituant) ได้ดำเนินขึ้นจึงไม่มีทางหยุดได้ อำนาจก่อตั้งสถาปนาระบบกฎหมาย-การเมือง (Pouvoir constituant) ไม่มีขีดจำกัด แต่ตรงกันข้าม มันมอบความไร้ขีดจำกัดต่างหาก ข้อความคิดหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้ของรัฐธรรมนูญคือข้อความคิดหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้ของการปฏิวัติ อำนาจก่อตั้งสถาปนาระบบกฎหมาย-การเมือง (Pouvoir constituant) จึงเป็นกระบวนการสัมบูรณ์และไร้ข้อจำกัด 

 

 

 

 

 

สารบาญ

 

คำนำ  008

บทนำ  016

Coupd’Etat2.0  024

ศาลรัฐธรรมนูญล้ำแดนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ  028

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยว่าด้วยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ”  038

ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ขัดกับเสรีภาพฯ  052

การรักษาสถาบันกษัตริย์ด้วยการสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์สีหนุ  059

๔ปีรัฐประหาร๑๙กันยายน๒๕๔๙  072

กองทัพในระบอบประชาธิปไตย  085

มาตรา๑๑๒  093

ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์เรื่องการยุบศาลรัฐธรรมนูญฯ  113

สุพจน์ด่านตระกูลกับประวัติรัฐธรรมนูญ  126

การทำให้รัฐปลอดศาสนาในฝรั่งเศส  138

การลุกขึ้นสู้(L’insurrection):วัฒนธรรมการเมืองของฝรั่งเศสฯ  151

พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส  155

การสร้างคำอธิบายของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม  168

ประชาธิปไตยกับกษัตริย์  187

ศาลอาญาระหว่างประเทศ  211

บทวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีสมยศพฤกษาเกษมสุข   220

ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม๒๗มิถุนายน๒๔๗๕   234

พัฒนาการระบบรัฐสภาและกำเนิดระบบรัฐสภาไทย   246

เสรีประชาธิปไตยกับบทบาทขององค์กรตุลาการ   259

ประชาธิปไตยกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน   271

 

 

ภาคผนวก

 

ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา๑๑๒   280

บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา(ฉบับที่...)   287

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่...)   288

ข้อเสนอ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญและจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ   290

บันทึกหลักการและเหุตผล และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ  293

ประกาศนิติราษฎร์ฉบับ๒๙  300

การทำลายกฎหมายและคำพิพากษาในระบอบเผด็จการฯ  316

ประกาศนิติราษฎร์ฉบับ๓๓ เรื่องการสาบานตนของกษัตริย์ว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ   333

คำวินิจฉัยเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา๑๑๒ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา๓วรรคสองมาตรา๒๙และมาตรา๔๕วรรคหนึ่ง และวรรคสองหรือไม่   343

เอกสารเรื่องพระราชวงศ์กล่าวความอันเป็นเสี้ยนหนามแก่ความสงบ และคำปฏิญาณตนต่อคณะราษฎร   354

 

 

 

คำนำ

 

ในช่วงเวลาแห่งความสับสนนี้ นักกฎหมายหนุ่มอายุยังไม่ถึงสามสิบปีคนหนึ่ง ได้เขียนบทความแสดงทัศนะในทางกฎหมายและการเมืองในประเด็นต่าง ๆ ด้วยสำนวนที่ชวนอ่าน แหลมคมไปด้วยลีลาภาษาและการเปรียบเปรยที่กระทบใจยิ่ง ที่สำคัญนักกฎหมายหนุ่มคนนี้มีความ กล้าที่นับว่าหาได้ยาก แม้ในบรรดานักกฎหมายที่อาวุโสกว่าเขา โดยเฉพาะนักกฎหมายมหาชน นักกฎหมายผู้นี้ได้ตั้งประเด็นท้าทายบรรดานักกฎหมายมหาชนไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

 

ผมรู้จัก ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เขียนบทความซึ่งกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้มาหลายปีแล้ว ปิยบุตรเป็นลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ของผม ปัจจุบันเขาศึกษากฎหมายมหาชนในระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส ปิยบุตรตั้งใจจะเป็นอาจารย์ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือแล้ว และเมื่อตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่างลง เขาก็สอบผ่านเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสมความตั้งใจ เชื่อว่าไม่ช้าไม่นานนักเราจะได้ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายมหาชนระดับคุณภาพอีกคนหนึ่งมาประดับวงการกฎหมายไทย

 

แม้ปิยบุตรจะอายุยังไม่ถึงสามสิบปี แต่อายุดูจะไม่เป็นอุปสรรคต่อมุมมองและประเด็นทางกฎหมายของเขาเลย นับแต่ข้อเขียนของเขาปรากฏในเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ (www.onopen.com) และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ปิยบุตรถูกมองอยู่เงียบ ๆ อย่างชื่นชมจากบรรดาครูบาอาจารย์ของเขา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผู้อ่านจะได้รับคำตอบเมื่อพลิกไปอ่านหนังสือเล่มนี้ในหน้าถัดไป

 

ข้างต้นคือบางส่วนของคำนำหนังสือเล่มแรกของปิยบุตร แสงกนกกุล เขียนโดยวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เมื่อ 8 ปีก่อน ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2549

 

 

ในขณะนั้นเป็นเวลาที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์รัฐประหารไปเพียงสามเดือนกว่า ๆ เท่านั้น (และขณะที่ผมเขียนคำนำนี้ก็ผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาสามเดือนกว่า ๆ เช่นเดียวกัน!) และบทความในหนังสือเล่มนั้นก็เป็นเรื่องทางกฎหมายที่เป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองในขณะนั้น เช่น พระราชอำนาจ, นายกฯพระราชทาน, กรณีเลือกตั้ง 2 เมษายน รวมถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งปรากฏในรูปของบทสัมภาษณ์แสดงความไม่เห็นด้วย โดยก่อนหน้านั้น ปิยบุตรและอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีก 3 คน คือ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, รศ.ดร.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช และธีระ สุธีวรางกูร ได้ออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารและเรียกร้องให้กลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แถลงการณ์นี้ออกมาในเดือนกันยายน เดือนเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารนั่นเอง บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เผยแพร่ในโอเพ่นออนไลน์มาก่อน โดยมีบทนำสั้น ๆ ก่อนเข้าสู่คำถามแรกว่า

 

“26 กันยายน 2549 ขณะที่เนติบริกรหน้าเดิมกำลังทำหน้าที่รับใช้ผู้มีอำนาจตามถนัดของตน ขณะที่เนติ (อยาก) บริกรหน้าใหม่เริ่มวิ่งเข้าสู่ศูนย์อำนาจใหม่ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ยึดมั่นในนิติรัฐภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างคงเส้นคงวา 4 คน ออกแถลงการณ์ คัดค้านและ ประณามรัฐประหาร ที่ตรงไปตรงมา และจริงใจที่สุดฉบับหนึ่ง

 

“ ‘เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็เงียบลงภาษิตโรมันว่าไว้อย่างนั้น วันนี้ในสยามประเทศ แม้ควันปืนยังมิได้กรุ่นปากกระบอก แต่รถถังก็พร้อมพรักอยู่ทั่วกรุง... กฎหมายอาจเงียบลง แต่นักกฎหมายมหาชนคนหนึ่ง ยังไม่เงียบเสียง เขามีบางอย่างอยากจะคุยกับเราและท่าน

 

โอเพ่นออนไลน์ ต่อสายถึงฝรั่งเศส คุยทางไกลกับปิยบุตร แสงกนกกุล 1 ใน 4 อาจารย์ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนั้น นักกฎหมายมหาชนผู้ทำตามมโนสำนึกแห่งวิชาชีพอย่างสามัญธรรมดาคนหนึ่ง 

 

 

ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป เล่มนี้เป็นผลงานลำดับที่สามของปิยบุตร แสงกนกกุล  โดยผลงานเล่มแรกที่กล่าวถึงข้างต้นคือ พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ พิมพ์ออกมาเมื่อมกราคม 2550 เล่มที่สองคือ ในพระปรมาภิไธย ประชาธิปไตย และตุลาการ พิมพ์เมื่อกุมภาพันธ์ 2552 ทั้งสองเล่มจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ และเขียนขึ้นในระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส ในหนังสือเล่มที่สองปิยบุตรได้เขียนบทนำขนาดยาว วิจารณ์ปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์อย่างละเอียด จากปี 2549 ถึง ต้นปี 2552 มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น ซึ่งจำนวนมากเป็นคดีความทางการเมือง และเป็นประเด็นทางกฎหมายที่ถกเถียงกันในทางสาธารณะ บทความในหนังสือเล่มที่สองของปิยบุตรได้วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เป็นกรณีสำคัญทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น คดีสมัคร สุนทรเวช ชิมไปบ่นไป, กรณียุบพรรค, กรณี กกต. เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เสนอเหตุการณ์เปรียบเทียบของต่างประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งเศส และอภิปรายหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับการปกครอง ชี้ให้เห็นประวัติ ความเป็นมา และแสดงหลักการที่ถูกต้อง พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การบิดเบือนหลักกฎหมายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

จากปี 2549 ถึงปี 2552 การแสดงความเห็นของผู้เขียน มีความละเอียดและหนักแน่นชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาทิศทาง หลักการ และจุดยืนของตนเอาไว้ได้อย่างไม่แปรเปลี่ยน ข้อเขียนทั้งหมดของปิยบุตร สะท้อนให้เห็นถึงการติดตามเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็มีการศึกษา ค้นคว้า อย่างลงลึก เรื่องใดที่เป็นประเด็นทางกฎหมาย และเกิดเป็นปัญหาทางการเมืองขึ้น ผู้เขียนก็ได้ศึกษาทั้งเหตุการณ์แวดล้อม และรายละเอียดของแต่ละกรณีอย่างถี่ถ้วน อีกทั้งยังศึกษาหลักการและความเป็นมาของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีนั้น ๆ ทั้งจากเอกสารของไทยเอง และของต่างประเทศ และด้วยลักษณาการเช่นนี้เองที่จุดยืน อุดมการณ์ และความสามารถในการคิดและวิเคราะห์ของปิยบุตร ค่อย ๆ ถูกเหลาให้เฉียบแหลม หนักแน่น และเด็ดขาดมากขึ้นทุกขณะ ทั้งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและจากความใฝ่รู้และครุ่นคิดของตัวเขาเอง

 

ย้อนกลับไปดูหนังสือเล่มแรกของเขา จะเห็นได้ว่าในช่วงก่อนและหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นํ้าเสียงและท่าทีของปิยบุตรยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่อขั้วอำนาจฝ่ายทักษิณ ชินวัตร ทว่าในขณะเดียวกัน ก็ยืนยันในหลักการและความไม่ถูกต้องของฝ่ายต่อต้านทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นกรณีพระราชอำนาจ ที่เสนอโดยประมวล รุจนเสรี หรือกรณีรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

กล่าวสำหรับข้อโจมตีที่มีต่อทักษิณ ตัวผมเองปกติก็ไม่พิสมัยระบอบทักษิณเท่าไรนัก แต่งานนี้พูดได้เลยว่าผมสงสารทักษิณอย่างจับใจที่โดนศัตรูเล่นสกปรกแบบนี้ จะเล่นงานทักษิณ เกลียดขี้หน้ารัฐบาล (แม้บางคนจะเคยหลงรักมาก่อน เข้าทำนองเคยรักมาก ตอนนี้เลยเกลียดมาก) ก็ควรเล่นกันในกรอบ ทักษิณบริหารไม่ดีอย่างไร โกงอย่างไร ก็แจกแจงมา อย่าเอาเบื้องสูงมาแอบอ้างเพื่อยัดเยียดข้อหา ไม่จงรักภักดีให้กับทักษิณ ” (พระราชอำนาจ องคมนตรี และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ, หน้า 22-23)

 

 

ถ้าพระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะไม่ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งใครไปดำรงตำแหน่งจริง ต่อไปถ้าไม่ลงพระปรมาภิไธย แต่งตั้งนายกฯ แต่งตั้ง รมต. แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงได้ ถามว่าเราจะเอาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบนี้หรือ ถามว่าเราจะเรียกระบอบนี้ว่าประชาธิปไตยได้เต็มปากเต็มคำหรือ ถามว่าเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม ถามว่าเราจะยอมรับอีกหรือว่า ‘The king can do no wrong’ ” (เล่มเดิม, หน้า 23-24)

 

 

ข้างต้นคือบางข้อความจากบทความ พระราชอำนาจกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขซึ่งเป็นบทความแรกของหนังสือ

 

จากปี 2549 หากนับมาจนถึงขณะนี้ ก็มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ระยะเวลาเดินทางไกลมากว่า 8 ปีแล้ว แต่บทสนทนาบนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าเราไม่ได้เดินไปไหนเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

(ถาม) ถามจริง ๆ ว่าในใจลึก ๆ แอบรู้สึกโล่งใจเหมือนที่ผู้เห็นด้วยบอกว่ารัฐประหารครั้งนี้ช่วยทำให้วิกฤตการเมืองคลี่คลายหรือไม่ 

 

(ตอบ) ผมเคารพทุกความเห็น ทุกรสนิยม ใครจะเห็นดีเห็นงาม ใครจะนิยมชมชอบรัฐประหารก็เป็นรสนิยมของแต่ละคน แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมเชื่อเสมอว่าเราไม่จำเป็นต้องรัฐประหาร ถ้าไม่มีรัฐประหารครั้งนี้ ผมว่าประเทศก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ จะบอกว่ารัฐประหารเพื่อเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองและภาคประชาชนก็ยกประเด็นนี้มาแล้ว และจะลงมือทำกันแน่นอนหลังเลือกตั้ง

 

 

ส่วนที่บอกว่ารัฐประหารเพื่อทำให้ความแตกแยกในสังคมที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายจะคลี่คลายไป ผมคิดว่าไม่จริง อย่างน้อยที่สุด คนที่รักคุณทักษิณคงไม่ได้หมดรักคุณทักษิณทันทีที่ทหารออกมายึดอำนาจ เราอาจจะเห็นว่าที่ทะเลาะ ๆ กันมาปีกว่า เงียบหายไปหมด แต่พวกเขาถูก บังคับให้เงียบต่างหาก เชื้อของความขัดแย้งยังอยู่ ระบอบทักษิณอยู่มานานจนทำให้คนบาดหมาง แบ่งเป็นฝ่าย จะให้หายไปในพริบตาคงเป็นไปไม่ได้

 

ถ้ามองในแง่ร้าย รัฐประหารครั้งนี้อาจทำให้คนที่รักคุณทักษิณไม่พอใจ แต่จำต้องเก็บความไม่พอใจไว้ หรือผลักเอาคนที่ไม่รักคุณทักษิณแต่รับไม่ได้กับรัฐประหารไปอยู่กลุ่มเดียวกับพวกรักทักษิณก็ได้ การแบ่งฝ่ายมันไม่ได้จบง่าย ๆ เพียงแค่ทหารออกมาแล้วสั่งให้จบ สังคมประชาธิปไตยหลีกหนีความขัดแย้งไปไม่ได้ แต่เราควรมีวิธีจัดการความขัดแย้งที่งดงามกว่านี้ การกดขี่ การห้าม การปราบปราม ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งหายไป ตรงกันข้ามอาจทำให้ปะทุมากขึ้นด้วย

 

ต้องไม่ลืมว่าการใช้วิธีการนอกระบบหรือใช้กำลังยึดอำนาจ ต้องมีคนเสียหาย มีฝ่ายพ่ายแพ้ ซึ่งก็รอวันตีโต้กลับมา คนที่ขึ้นมาจากรัฐประหารก็ต้องนั่งเยียวยา แก้ไขผลที่ตามมา เร่งสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ไหนจะต้องระวังการตีโต้จากฝ่ายตรงข้ามอีก รัฐประหารก็เหมือนกับสงคราม เริ่มง่ายแต่จบยาก

 

พูดก็พูด ผมยังเชื่อว่ามาตรการที่งดงามคือการเลือกตั้ง จริงอยู่ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง เรายังมีการชุมนุม การแสดงความคิดเห็น การประท้วงอย่างสันติ การมีส่วนร่วมของพลเมือง การคุ้มครองเสียงข้างน้อย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง คุณจะมีวิธีวัดความนิยมทางการเมืองวิธีใดอีกที่เป็นธรรมกว่านี้ หรือจะให้คนมีการศึกษา คนมีหน้ามีตา ชนชั้นนำ ปัญญาชน หรือ เสาหลักจริยธรรมเท่านั้นหรือที่ออกมาบอกได้ว่าใครควรเป็นนายกฯ เราจะเอาอย่างนั้นหรือ

 

ผมคิดว่า ก่อนรัฐประหาร ทิศทางการเมืองกำลังไปได้สวย หลังเลือกตั้งทักษิณเว้นวรรคแน่นอน ไทยรักไทยไม่ได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ มีวาระแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านมีเสียงมากขึ้น องค์กรอิสระก็เปลี่ยนคนที่สังคมยอมรับเข้าไปเป็นมากขึ้น การชี้ขาดขององค์กรอิสระไม่ได้มีแนวโน้มไปทางทักษิณเหมือนก่อน พันธมิตรฯ ก็รณรงค์ต่อไป กดดันต่อไป มีมาตรการทางกฎหมายอะไรก็เอามาใช้ จะฟ้องศาล จะล่ารายชื่อถอดถอนก็ทำกัน นี่อะไร เริ่มแรกก็ว่า กกต. ไม่เป็นกลาง นี่เปลี่ยน กกต. แล้ว ซึ่งสังคมรับกันแล้วว่ากลางแน่ ๆ ทุกพรรคก็พร้อมไปเลือกตั้ง ประชาชนก็พร้อมไปเลือกตั้ง แต่พอคาดเดาว่าไทยรักไทยได้เสียงข้างมากอีก ก็เลยไม่อยากให้เลือกตั้ง นั่นก็หมายความว่า คุณไม่เอาทักษิณจนไม่มองกฎเกณฑ์เลย ทำไมไม่อดทนรอ มันไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง เพราะบอกว่าเลือกแล้วก็ได้ไทยรักไทยมาอีก บางทีผมยังคิดเลยว่าที่บอก ๆ ว่าวิกฤตไม่จบ เพราะไม่อยากให้มันจบหรือเปล่า ” (เล่มเดิม, หน้า 113-114)

 

 

ข้อความถามตอบข้างต้นกล่าวไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว แต่บทสนทนานี้ สามารถกลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง ในขณะนี้ รายละเอียดปลีกย่อยอาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่ตัวละครหลัก และส่วนที่เป็นหัวใจของความขัดแย้ง เหมือนเดิมทุกประการ และเชื่อว่าถ้าให้ปิยบุตรตอบคำถามอีกครั้ง ก็คงไม่ต่างไปจากนี้มากนัก เป็นเรื่องที่ตัวผมเอง และเชื่อว่าทั้งตัวปิยบุตร แสงกนกกุล และผู้คนอีกจำนวนมาก คงต่างนึกไม่ถึง หรือไม่คาดฝัน...

 

มันเป็นเรื่องที่ทั้งอึดอัดใจและน่าโมโหที่ประวัติศาสตร์ซํ้ารอยให้เห็นอยู่ตรงหน้า จับต้องได้ เป็นจริง และเป็นไปแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่มันเคยเกิดขึ้นแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ได้เห็นกันแล้วว่ามันเคยเกิดขึ้นแบบนี้ และทั้ง ๆ ที่สิ่งแย่ ๆ ทั้งหลายที่ทุกคนไม่ต้องการนั้น มันก็เกิดขึ้นมาแบบนี้แหละและทุกคนก็เห็นกันว่ามันเพิ่งจะเคยเกิดขึ้นไปแบบนี้ นี่คงเป็นระดับของความรู้สึกอันแตกต่างหากคนที่มีจุดยืนในหลักประชาธิปไตยจะต้องตอบคำถามเดิม ๆ เมื่อ 8 ปีก่อนนั้น ซึ่งก็ทำให้เราไม่อยากจะพูดอะไรเลยมากกว่า

 

ไม่มีแถลงการณ์ ไม่มีคำประณาม ไม่มีบทสัมภาษณ์ จากปิยบุตร หรือคณะนิติราษฎร์ หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ในขณะที่วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และนักวิชาการอีกหลายคนต้องลี้ภัยชั่วคราวในทันที ต่อมา ผู้ทำรัฐประหารเรียกตัววรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการ และนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งเข้ารายงานตัว ราวกับต้องการยํ้าว่าการที่คนเหล่านี้ลี้ภัยไปในตอนแรกนั้นเป็นความคิดที่ถูกต้องแล้ว เพราะคงจะถูกจัดการเป็นแน่ และก็คงเป็นเช่นนั้น หากประชาคมโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ไม่ได้คัดค้านการรัฐประหารอย่างแข็งกร้าวและจับตาดูอย่างใกล้ชิด

 

จากปี 2549 ถึง ปี 2557 หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป ปิยบุตรจบการศึกษาและกลับมาสอนหนังสือที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมความตั้งใจ กลุ่มอาจารย์สอนกฎหมายที่เคยออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหาร 2549 รวมกลุ่มกันเป็นคณะนิติราษฎร์ และกลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ มีทั้งผู้เคารพและชื่นชมอย่างสูง และผู้ที่หวาดระแวง และสบประมาทด้วยความเกลียดชัง

 

การแสดงความเห็นและแสดงจุดยืนทางการเมืองของนักกฎหมายกลุ่มนี้ ทำให้พวกเขากลายเป็นที่รักของคนจำนวนมาก มีอิทธิพลทางความคิด และกล่าวได้ว่ากลายเป็น มันสมองและเป็น ผู้นำทางความคิดของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในฝ่ายที่เรียกร้องต้องการประชาธิปไตย และฝ่ายที่สนับสนุนขั้วการเมืองฝ่ายทักษิณ นี่คือส่วนที่เปลี่ยนไป นิติราษฎร์เติบโตขึ้น และเสียงดังขึ้นจนกระทั่งขั้วการเมืองฝ่ายต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันอยู่ในสังคมต้องฟัง และหากเป็นฝ่ายตรงข้ามก็เห็นว่าไม่อาจปล่อยไว้

 

นิติราษฎร์ เป็นใครมาจากไหน ขึ้นมามีบทบาททางการเมืองได้อย่างไร นี่เป็นคำถามของคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยรู้เรื่องการเมืองโดยละเอียดมาก่อน และเป็นโอกาสของคนจำนวนหนึ่งที่สร้างคำอธิบายสูตรสำเร็จขึ้นใส่ร้ายและป้ายสีให้กับนักกฎหมายกลุ่มนี้  และคำพูดที่แม้จะไร้ข้อเท็จจริงและไร้สติปัญญาเพียงใด หากมันถูกพูดซํ้าแล้วซํ้าเล่า ๆ พูดโดยไม่หยุด และพูดอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดมันก็จะมีอิทธิพลกับคนจำนวนหนึ่งจนได้

 

แม้ว่าหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แต่บทสนทนาของความขัดแย้งทางการเมืองยังคงอยู่กับที่ ดังที่กล่าวไปข้างต้น และอีกสิ่งที่ยังคงอยู่กับที่ ยืนอยู่ ณ จุดเดิม ก็คือจุดยืนทางความคิดและหลักการของนักกฎหมายไม่กี่คนที่เคยออกแถลงการณ์ต่อต้านการรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน หลักการเคยแสดงไว้อย่างไร ก็ยังคงยืนหยัดยืนยันเช่นนั้น ในขณะเดียวกัน อีกสิ่งหนึ่งที่กล่าวได้ว่า ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก หรือแทบไม่เปลี่ยนเลย ก็คือสถานภาพของพวกเขา

 

วรเจตน์ ภาคีรัตน์เคยเป็นครูสอนหนังสืออย่างไร ปัจจุบันก็คงเป็นอย่างนั้น ปิยบุตรเรียนจบ และกลับมาสอนหนังสือตามความตั้งใจที่มีมาแต่เดิม พวกเขาไม่มีใครเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในอำนาจทางการเมืองโดยตรง ไม่มีใคร ได้ดิบได้ดีหรือเปี่ยมล้นไปด้วยอำนาจวาสนาแม้ในช่วงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความมั่นคงอย่างยิ่ง ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีโอกาสหยิบยื่นมาสู่ หลายครั้งหลายโอกาสเกิดขึ้น หรือมีหนทางนำไปสู่อำนาจวาสนาดังที่เนติบริกรทั้งหลายพึงปรารถนาเกิดขึ้น แต่นักกฎหมายกลุ่มนี้กลับไม่ยอมฉวยไว้ ยังคงพึงพอใจกับการเป็นครูสอนหนังสืออยู่เหมือนเช่นเดิม

 

ความแตกต่างระหว่างผู้ที่แสดงความคิดเห็นโดยยึดถือกับหลักการความถูกต้อง กับผู้ที่แสดงความคิดเห็นโดยยืนอยู่บนประโยชน์ของตนไม่มากก็น้อย ยืนอยู่บนสถานภาพในอนาคตของตน ไม่มากก็น้อย นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ยากเย็นที่จะมองเห็น หรือค้นข้อมูลเพื่อจะรู้ ในบรรดานักกฎหมายที่เคยแสดงความเห็นในระหว่างวิกฤตการเมือง 8-9 ปีมานี้ หากย้อนกลับไปดูให้ตลอด ก็ย่อมจะแยกแยะได้ว่าใครเป็นอย่างไร ใครเป็นประเภทใด แต่เรื่องแบบนี้ ต้องใช้ความพยายาม ก็คงจะต้องเหนื่อยกว่าการใส่ร้ายและเชื่อโดยมักง่ายอยู่เล็กน้อย แน่นอนว่าอย่างหลังนั้นคงสะดวกสบาย และสาแก่คติในใจของตนเองง่ายดายกว่ายิ่งนัก

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่ได้รู้ทุกอย่างมาตั้งแต่แรก แต่เขาได้หล่อหลอมความรู้ ความคิด ความรู้สึก และสิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย ผ่านเหตุการณ์วิกฤตการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในรอบหลาย ๆ สิบปี ของสังคมไทย ไปพร้อม ๆ กับคนอื่น ๆ ทุกคนในสังคมนี้

 

ความคิดอ่านของเขาผ่านการขัดเกลา ค้นคว้า ศึกษา จนหลายมิติตกผลึก ส่งประกายแวววาว โดยสิ่งที่เป็นแกนกลางซึ่งยังคงมั่นคงมาตลอดก็คือจิตวิญญาณที่กล้าหาญ ท้าทาย และยึดมั่นในหลักการ ประชาธิปไตย และเสรีภาพ

 

หากปิยบุตรมีความทะเยอทะยานในอำนาจ หรือมีความละโมบในลาภยศมากกว่านี้ เป็นไปได้ว่าสถานภาพในปัจจุบันของเขาอาจจะดีหรือแย่กว่านี้ แต่หากปิยบุตรมีจิตวิญญาณที่กล้าหาญและซื่อตรงน้อยกว่านี้ เป็นไปได้สูงว่าสถานภาพความเป็นอยู่ในชีวิตของเขาจะดีกว่าปัจจุบัน

 

แต่เขาก็ได้เลือกแล้ว เลือกอย่างมนุษย์ที่มีเสรีภาพเต็มเปี่ยมในจิตวิญญาณ เลือกที่จะยืนยันคุณค่า นามธรรมที่คนจำนวนมากมองไม่เห็น และนี่คือคนหนุ่มของยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงอันแหลมคม คงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่าสังคมไทยเวลานี้ ต้องการคนเช่นนี้เพื่อที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเติบโตไปในอีกวุฒิภาวะหนึ่ง

 

บทความที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ล้วนเคยได้รับการอภิปรายบนเวทีสาธารณะอันหลากหลาย ทุกชิ้นได้รับการขัดเกลา เรียบเรียงใหม่อีกครั้งโดยผู้เขียน ขอบคุณผู้สื่อข่าวอิสระ นักรบไซเบอร์ทุกคน ทุกท่าน ผู้ซึ่งได้อุทิศสละเวลาของตน ช่วยทำให้การพูดและการอภิปรายอันมีค่าของผู้เขียนไม่หายไปกับสายลม บันทึกการอภิปรายเหล่านั้นในรูปแบบต่าง ๆ และนำออกเผยแพร่ทางสื่ออินเตอร์เน็ต

 

 

วาด รวี

กันยายน 2557

 

 

 

บทนำ

(ที่ยังไม่สิ้นสุด)

 

 

- ๑ -

 

จาก ตุลาการภิวัตน์ภาคแรก ถึง Coup d’Etat ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

และจาก Coup d’Etat ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ถึง ตุลาการภิวัตน์ภาคสอง

 

xxxxx

 

xxxxx

 

xxxxx

 

 

- ๒ -

 

ผู้ทรงอำนาจตีความกฎหมาย คือ ผู้ทรงอำนาจที่แท้จริง

 

xxxxx

 

xxxxx

 

xxxxx

 

 

- ๓ -

 

ศาลไทยในฐานะกลไกของรัฐ

 

xxxxx

 

xxxxx

 

xxxxx

 

 

- ๔ -

 

Constitutional Monarchy คือ ระบอบที่สถาบันกษัตริย์อาศัยใน

ประชาธิปไตย และประชาธิปไตยเป็นผู้อนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ

 

xxxxx

 

xxxxx

 

xxxxx

 

 

- ๕ -

 

จาก Judicial Coup ถึง Coup d’Etat ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

และจาก Coup d’Etat ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ถึง ???

 

xxxxx

 

xxxxx

 

xxxxx

 

 

..........................................................

 

 

 

นับตั้งแต่ผมสำเร็จการศึกษาและกลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทยอย่างถาวรในกลางปี ๒๕๕๓ ผมมีโอกาสไปอภิปรายในที่สาธารณะหลายต่อหลายครั้ง บ้างก็มีผู้ให้เกียรติเชิญไป บ้างก็ร่วมอภิปรายในงานเสวนาที่คณะนิติราษฎร์จัดขึ้น รวมแล้วค่าเฉลี่ยปีละประมาณ ๖-๗ ครั้ง นอกจากนั้น ผมยังได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นกฎหมายและการเมืองที่เกิดขึ้น

 

ต่อเนื่องจากวิกฤติการเมืองไทย ไว้ในรูปแบบของ Note ในเฟสบุ๊คบ้าง Blog ในประชาไทบ้าง การบรรยายอภิปรายและบทบันทึกต่าง ๆ ที่อยู่ในโลกออนไลน์อาจสูญสลายหายไปได้ ไม่เพราะกาลเวลาพัดพาให้เลือนหายไป ก็อาจเป็นเพราะอำนาจเถื่อนที่คุกคามเสรีภาพ ตามปิดเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อไปให้พ้นจากข้อจำกัดดังกล่าว การรวบรวมเรื่องราวเหล่านี้ไว้ในรูปของหนังสือเล่มก็นับเป็นทางออกที่ดี

 

หนังสือเล่มนี้ คือ การรวบรวมการบรรยายอภิปรายของผมตั้งแต่กลางปี ๒๕๕๓ จนถึงสิ้นปี ๒๕๕๖ โดยคัดสรรเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล และกองทัพให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย และกรณีศึกษาจากประวัติศาสตร์ของต่างประเทศ

 

หนังสือเล่มนี้ ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากสื่ออิสระ ม้าเร็วและ พระอินทร์ที่ตามถ่ายทอดสดและบันทึกการอภิปรายวิชาการไว้ในโลกอินเตอร์เน็ต สื่ออิสระทั้งสองทีมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพลังทางความคิดของฝ่ายประชาธิปไตยในช่วงวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ผมเชื่อว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่มีสื่ออิสระตามถ่ายทอดสดและบันทึกการอภิปรายวิชาการบ่อยครั้งและสมํ่าเสมอติดอันดับต้น ๆ ของโลก การถ่ายทอดสดและบันทึกลงในโลกอินเตอร์เน็ตช่วยทำให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงความรู้ได้สะดวกและแพร่หลายไปในวงกว้าง กลไกเช่นนี้ช่วยทำให้ความรู้ไม่ถูกสงวนไว้ในพื้นที่สถาบันการศึกษา แวดวงชนชั้นนำ และกรุงเทพมหานคร ผมขอแสดงความเคารพสื่ออิสระสองทีมมา ณ ที่นี้

 

ขอบคุณ พี่เป้- วาด รวี บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์ที่เห็นคุณประโยชน์ของการแปรรูปเสียงและภาพให้กลายเป็นตัวอักษรในหนังสือเล่ม ที่สำคัญกว่านั้น พี่เป้พร้อมรับความเสี่ยง เสี่ยงทั้งในแง่การถูกคุกคามเสรีภาพ และเสี่ยงทั้งในแง่การขาดทุน นอกจากนั้น พี่เป้ยังช่วยคิดและตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ได้อย่างงดงาม หนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่ายล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม นั่นเป็นความผิดของผมแต่เพียงผู้เดียว

 

ขอบคุณ Wrong Design ที่ออกแบบปกหนังสือได้อย่างสวยงาม

 

ขอบคุณประชาไท สื่อฝ่ายประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่ให้กับข่าวสารและข้อมูลของการอภิปรายสาธารณะ ประชาไท คือ สื่อที่ยืนหยัดชูธงสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างมั่นคง

 

ขอบคุณสมาชิกคณะนิติราษฎร์ทุกท่านที่ร่วมหัวจมท้ายเผชิญหน้าในทุกสถานการณ์มาด้วยกัน

 

ขออภัยผู้อ่านที่บทนำของหนังสือเล่มนี้ ผมมีความสามารถเขียนได้เท่านี้ ความสามารถของผมในการคิด การเขียน การแสดงออก อาจเป็นไปตาม ความสุขที่ผมได้รับจากการ คืนความสุข” 

 

ในบางสถานการณ์ แถบดำ๓ บรรทัด อาจให้ความหมายมากกว่าตัวอักษรนับพัน

 

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล

๑๙ กันยายน ๒๕๕๗

๘ ปีรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

เกือบ ๔ เดือนรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

 

Comments