โอลด์รอยัลลิสต์ดาย

 





รอยัลลิสต์รุ่นเก่ามักจะเล่าเรื่องของในหลวงภูมิพลด้วยน้ำเสียงของการเล่าเรื่องเทพนิยาย พวกเขาเป็นนักตัดต่อที่แนบเนียน มีพรสวรรค์ในการเบี่ยงประเด็น หรือลบเลือนเรื่องราวที่พวกเขาไม่ต้องการให้เป็นที่สนใจ ด้วยการบรรจงคัดสรรแง่มุมอันละเอียดอ่อน สิ่งละอันพันละน้อย ใช้มุมมองที่ใสซื่อและดูอ่อนเยาว์เมื่อต้องผ่านส่วนที่ไม่อยากกล่าวถึง พวกเขามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับในหลวงภูมิพลในด้านที่เป็นคนธรรมดาจำนวนมาก ละเอียดอ่อนต่อการนำเสนอ ทั้งเรื่องราวที่บอกเล่าอย่างไม่เป็นทางการและภาพเสนอจากราชสำนัก ในหลวงภูมิพลมีต้นทุนที่สำคัญคือประสบการณ์ก่อนจะขึ้นครองราชย์ โดยเฉพาะอิทธิพลจากแม่ที่ “ไม่ได้เป็นเจ้า” ซึ่งต่อมากลายเป็นลักษณะเด่นของภูมิหลังที่บรรดารอยัลลิสต์ใช้สร้างเรื่องราวที่อบอุ่น ใกล้ชิดกับชีวิตของคนธรรมดา ขัดเกลาความห่างเหินเย็นชาอันเป็นลักษณะเฉพาะของเจ้า มันไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์เพื่อการชวนเชื่ออันแห้งแล้ง ความประทับใจของพวกเขาเป็นของจริง พวกเขาแบ่งปันส่วนขยายของมัน และต่อเสริมเติมแต่งมาจากเรื่องราวต้นกำเนิดที่กระทบใจพวกเขา


หนังสือ โอลด์รอยัลลิสต์ดาย

ผู้เขียน วาด รวี

สำนักพิมพ์ Shine Publishing House

เวลาพิมพ์ กันยายน 2020

บาร์โค้ด 9786169101307

ขนาดรูปเล่ม กว้าง 142 มม. สูง 210 มม. หนา 16.5 มม.

เนื้อใน กระดาษถนอมสายตา พิมพ์ขาวดำ แทรกสี่สี

ปก สีน้ำเงิน ปั๊มฟอยล์เงิน

จำนวนหน้า 280 หน้า

ราคาปก 300 บาท


 

โปรยปกหน้า


Old soldiers never die
Old royalists die

จากฉันทามติภูมิพลถึงระบอบที่ยังไม่มีชื่อ
รวมบทความการเมืองผลงานของผู้เขียนการเมืองโมเบียส

 

โปรยปกหลัง


บทความแต่ละบทอภิปรายประเด็นปัญหาที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นปมเงื่อนการนิรโทษกรรม บทบาทของกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ อัตลักษณ์คนเสื้อแดง บทบาทของ พล.อ. เปรม พลวัตรของกลุ่มรอยัลลิสต์ กฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และการเปรียบเทียบพระราชอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในบรรดาบทความทั้งหมด ชิ้นที่สำคัญและผู้เขียนเขียนได้ดีเป็นพิเศษในสายตาของผู้เขียนคำนำ คือ บทที่ว่าด้วย ฉันทามติภูมิพล, จุดเริ่มต้นและการสิ้นสุด และ ระบอบที่ยังไม่มีชื่อ ซึ่งผู้เขียนสำรวจแนวคิดและข้อถกเถียงของนักคิดคนอื่นๆ ที่กล่าวถึงไปข้างต้นในคำนำนี้อย่างละเอียด ทั้งยังพยายามสังเคราะห์งานเหล่านั้น สกัดแก่นของข้อเสนอ จุดเหมือนและจุดต่างของแต่ละแนวคิด และที่สำคัญที่สุดคือ การวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเหล่านั้นอย่างมีเหตุมีผลและจริงจัง ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติทางปัญญาที่ดีที่สุด

ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

Hilighlight


จากความเห็นร่วมกันในเชิง “ยุทธศาสตร์” ตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ นำมาสู่ “ฉันทามติ” ในการกำหนดองค์ประกอบทางการเมืองที่ค้ำจุนอำนาจนำของในหลวงภูมิพล ทั้งหมดนี้คือที่มาของกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และนักการเมืองฉ้อฉล ในภาพปฏิมาแห่งอำนาจนำ

 

สารบาญ


หมายเหตุสำนักพิมพ์   08

คำนำ ประจักษ์ ก้องกีรติ  09

ชั่วขณะที่ความเท็จเป็นความจริง   15

กรณีนิรโทษกรรม: ทักษิณถูกหลอกให้มาหลอกคนเสื้อแดง?   23

กลุ่ม 3 ป.   35

เทคนิกการต่อสู้ก่อให้เกิดการแผ่ขยายอำนาจของวาทกรรม   45

การเมือง ก่อน-หลัง การนองเลือด 2553: การถือกำเนิดของอัตลักษณ์รวมหมู่คนเสื้อแดง    53

เปรมในฐานะเครื่องมือผลิตสร้างวาทกรรมนักการเมืองเลว   67

ฉันทามติภูมิพล, จุดเริ่มต้นและการสิ้นสุด    93

กฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฉบับใหม่และความเป็นมาโดยสังเขป   135

การเพิ่มพระราชอำนาจของรัชกาลที่ 10 ของรัฐบาล คสช.โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา   167

โอลด์รอยัลลิสต์ดาย   181

ระบอบที่ยังไม่มีชื่อ   205

หมายเหตุการตีพิมพ์   227

จากผู้เขียน   228

ภาคผนวก

คลิปเสียงสนทนาของชาย 2 คน ฉบับไม่เซ็นเซอร์   250

ประกาศไล่ออก เรียกคืนเครื่องราชฯ ดิสธร วัชโรทัย   267

กฎกระทรวง ยกเว้นภาษีการรับมรดก   269

กฎกระทรวง ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร   271

คำชี้แจง การเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   273

ประกาศ สถาปนาเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี   276

ประกาศ ถอดถอนเจ้าคุณพระสินีนาฏ   277

ประกาศ แต่งตั้งเจ้าคุณพระสินีนาฏ   279

 

บางส่วนจากหมายเหตุสำนักพิมพ์


โอลด์รอยัลลิสต์ดาย เป็นผลงานของ วาด รวี นักเขียนวรรณกรรมผู้ที่เริ่มวิพากษ์วิจารณ์การเมือง โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่ปี 2553 เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ออกจดหมายเปิดผนึกเชิญเพื่อนนักเขียนมาร่วมลงชื่อเพื่อเสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปี 2554 และต่อมาได้ตั้งเป็นคณะนักเขียนแสงสำนึกขึ้นรณรงค์ในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ต่อมาเขาเป็นส่วนหนึ่งในคณะรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปี 2555 ได้เดินทางไปรณรงค์ในภาคอีสานหลายจังหวัด และรวบรวมรายชื่อไปยื่นกับรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 หลังรัฐประหารปี 2557 เพียง 1 เดือนเขานำเพื่อนกวีออกมาอ่านบทกวีต่อต้านการยึดอำนาจที่หมุดคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน และตั้งกลุ่มกวีมันสูนขึ้นต่อต้าน คสช.

 

บางส่วนจาก คำนำ ประจักษ์ ก้องกีรติ


หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยบทความรวมทั้งสิ้น 10 ชิ้นครอบคลุมช่วงระยะเวลาตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งขบวนการต่อต้านรัฐบาลทักษิณในปี พ.ศ. 2548 จนมาถึงปัจจุบันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐประหารคสช. ประสบความสำเร็จในการสืบทอดอำนาจผ่านการ (ควบคุมบงการ) การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562

บทความแต่ละบทอภิปรายประเด็นปัญหาที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นปมเงื่อนการนิรโทษกรรม บทบาทของกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ อัตลักษณ์คนเสื้อแดง บทบาทของ พล.อ. เปรม พลวัตรของกลุ่มรอยัลลิสต์ กฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และการเปรียบเทียบพระราชอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในบรรดาบทความทั้งหมด ชิ้นที่สำคัญและผู้เขียนเขียนได้ดีเป็นพิเศษในสายตาของผู้เขียนคำนำ คือ บทที่ว่าด้วย ฉันทามติภูมิพลจุดเริ่มต้นและการสิ้นสุด และ ระบอบที่ยังไม่มีชื่อ ซึ่งผู้เขียนสำรวจแนวคิดและข้อถกเถียงของนักคิดคนอื่นๆ ที่กล่าวถึงไปข้างต้นในคำนำนี้อย่างละเอียด ทั้งยังพยายามสังเคราะห์งานเหล่านั้น สกัดแก่นของข้อเสนอ จุดเหมือนและจุดต่างของแต่ละแนวคิด และที่สำคัญที่สุดคือ การวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเหล่านั้นอย่างมีเหตุมีผลและจริงจัง ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติทางปัญญาที่ดีที่สุด

หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับผู้อ่านที่สนใจการเมืองไทยในเชิงลึก และแสวงหามุมมองเชิงวิพากษ์ หากใครไม่คุ้นเคยหรือได้อ่านงานของดันแคน เออเจนี นิธิ ธงชัย เกษียร สมศักดิ์ สมชาย วรเจตน์ ฯลฯ มาก่อน หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ท่านได้เดินทางทางความคิดผ่านข้อถกเถียงต่างๆ แบบไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยด้วยตนเอง สำหรับใครที่เคยอ่านงานวิชาการเหล่านั้นมาแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็จะช่วยให้ท่านได้เห็นข้อวิเคราะห์วิพากษ์ที่แหลมคมและท้าทาย ชวนให้ขบคิดต่อไม่ว่าจะเป็นข้อถกเถียงสำคัญว่า ฉันทามติภูมิพล เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535, การชุมนุมของ กปปส. สะท้อนถึงภาวะที่ไม่มีฉันทามติภูมิพลอีกต่อไปจริงหรือไม่, ระบอบประยุทธ์เป็นแค่ “ระบอบชั่วคราว” เพื่อประคับประคองภาวะเปลี่ยนผ่านที่เกิดสูญญากาศในหมู่ชนชั้นนำจริงหรือไม่, รวมถึงองค์ประกอบของฝ่ายอำนาจนำและฝ่ายต่อต้านอำนาจนำเปลี่ยนรูปโฉมไปอย่างไร รวมถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและสถาบันกษัตริย์ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน

 

บางส่วนจากคำนำ โดย ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล


ในทางประวัติศาสตร์ ความเชื่อของบางเผ่าพันธุ์ มีเพียงหนึ่ง ‘พระผู้เป็นเจ้า’ ที่เหลือคือ ‘มนุษย์’ และมนุษย์ไม่มีทางแต่งองค์ทรงเครื่องกลายร่างเป็นพระผู้เป็นเจ้าได้เป็นอันขาด มนุษย์ไม่มีใครเคยเห็นพระองค์จึงไม่รู้ว่าพระองค์มีรูปร่างหน้าตาแบบไหน ระนาบขนานสองฝั่งที่ไม่มีทางบรรจบกันแบ่งแยกชัดเจนระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ผู้มีบาปแต่กำเนิด!

‘ผู้คน’ ของพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีทางสวมบทบาทของพระองค์จนจินตนาการไม่ออกว่า ถ้าใครจะเลียนแบบและสร้างบารมีให้ใกล้เคียงกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ผู้คนของพระองค์คงพากันเบือนหน้าหนี ด้วยเพราะคนคนนั้นคงป่วยไข้แห่งตรรกะจนเกินเยียวยา 

เพราะมนุษย์ - - ผู้ที่ไม่มีใครสูงต่ำเตี้ยกว่าใครในความเป็นมนุษย์ จะมีก็แต่ความตายเท่านั้นที่จะนำมนุษย์ผู้นั้นในฐานะปัจเจกชนไปสู่ดินแดนสมมติของพระผู้เป็นเจ้า

ขณะที่ในอีกบางเผ่าพันธุ์ ประวัติศาสตร์ของคู่ขนานแบบที่ว่ากล่าวไปข้างต้น กลับตาลปัตรและสารพัดนึก คนธรรมดาต่างหากที่แสวงหาหนทางเฉพาะเพื่อการบรรลุสัจธรรมสูงสุดแห่งการเกิดและความตาย โดยปลายทางคือการสถาปนาจากความเป็นสามัญสู่การเป็นศาสดา และนั่นคือหนึ่งในเหตุปัจจัยอันหลากหลายที่ก่อให้เกิดเหตุอื่นๆ ตามมา

อย่างตรงไปตรงมา มันย่อมเป็นจริงแท้ จากเหตุหนึ่ง จะนำไปสู่ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง การประกาศสัจธรรมและความเป็นศาสดาจึงหาใช่ประเด็นในการโต้แย้งไม่ ประเด็นกลับอยู่ที่คนธรรมดาเสมอเหมือนกันต่างหากที่พยายามหาวิธีเข้าใกล้สัจธรรมอันสูงสุด โดยใช้วิธีธรรมดาสามานย์เพื่อหวังค้นพบและสร้างศรัทธาเทียมเลียนแบบความศักดิ์สิทธิ์ของศาสดาที่ค้นหาและค้นพบแล้วไซร้ในความจริงแท้!

Comments