บทสัมภาษณ์มาร์แซล บารัง (2549)




อยากรู้เรื่องวรรณกรรมไทย ไปถาม มาร์แซล บารัง

พิมพ์ครั้งแรก วารสารหนังสือใต้ดิน 9 โลกหนังสือในมือคนรุ่นใหม่ กันยายน 2549

เรื่อง กิตติพล สรัคคานนท์
ภาพ ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล



นี่เป็นบทสัมภาษณ์ที่จะไม่พิรี้พิไรแนะนำตัวผู้ให้สัมภาษณ์ให้ยืดยาวเสียเวลา มาร์แซล บารัง คือชาวฝรั่งเศสที่ทำงานวรรณกรรมไทยมากว่าสิบปี ฝรั่ง (เศส) คนนี้ เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในวงวรรณกรรมไทย สำหรับนักอ่าน เขาคือนักแปลคุณภาพ สำหรับบรรณาธิการ เขาคือบุคคลที่ต้องรับฟัง และสำหรับนักเขียน เขาคือ “ผีร้าย” ผู้ปากกล้าและตรงไปตรงมาที่สุด

ทำไมมาร์แซล บารังถึงมาที่เมืองไทย

พูดสั้นๆ ว่าในสมัยนั้น ตอนที่ผมเป็นนักข่าวซึ่งเชี่ยวชาญในด้านเอเชียอาคเนย์ แล้วมีไม่กี่ที่ที่มันจะใช้ได้ ก็มีที่สิงคโปร์ ผมก็ลองอยู่ที่นั่นดู 1 ปี แล้วก็ทนไม่ได้ ย้ายไปอยู่ที่ฮ่องกงอีก 1 ปี ทนไม่ได้ ย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย โอเค ความรักของผมเริ่มที่นี่ 25 ปีที่แล้ว แล้วก็ตามประสบการณ์ที่มีอยู่ การไปอยู่ที่เขมร 2 ปี ตอนนั้นแทนที่จะเป็นทหารก็มาเป็นครูสอนภาษา 2 ปี แล้วประสบการณ์ที่มีอยู่ก็พบว่า เรารู้ภาษาเขมรสัก 50 คำมั้ง เพื่อที่จะไปตลาด หรือเพื่อที่จะสั่งอะไรกับคนรับใช้ ตอนที่เรามีความสัมพันธ์กับใครที่เป็นเขมรนั้นก็จะต้องเป็นคนที่เป็นอีลิท (elite) อย่างเดียว คือสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้ หรือภาษาอังกฤษได้ อ้าว! อันนี้ไม่ถูกต้องแล้ว เราไม่มีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับประชาชนโดยทั่วไป ก็เลยทำให้ผมตัดสินว่าถ้าได้ไปอยู่ประเทศใดประเทศหนึ่ง สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือเรียนภาษา แล้วผมทำตามที่ตัดสินใจ พอมาถึงประเทศไทย สิ่งแรกที่ผมทำ 2-3 ปีนั้น คือเรียนภาษาอย่างหนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากในชีวิตของผม ทำให้ผมสามารถที่จะมีความสัมพันธ์กับใครต่อใคร จากคนข้างถนนถึงระดับสูงก็ได้ แล้วก็ดูสิ มาแปลหนังสือ แปลนวนิยาย แล้วผมก็พอใจมาก ผมมีความสุขจริงๆ ในการแปล

ได้สนใจวรรณกรรมไทยตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาไทยเลยหรือเปล่า

แปลกก็อยู่ที่ว่าก่อนที่จะเริ่มทำโครงการไทยโมเดิร์นคลาสสิค (TMC)[1] ผมไม่เคยอ่านนวนิยายไทยจบสักเล่ม หลังจากที่ได้นำเสนอรายชื่อต่างๆ แล้วจำนวน 99 เล่ม ไม่ใช่ 100 นะ ที่แท้จริงผมไปพิสูจน์ผลงานจำพวกนี้หรือมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะเมื่อชอบนักเขียนคนหนึ่งก็ต้องไปดูผลงานอื่นๆ ของเขาด้วย ไปดูสิว่าทำไมเล่มนี้มันวิเศษ ปรากฏว่าภายใน 2-3 ปีนั้น ผมได้อ่านนวนิยายจำนวน 200 กว่าเล่ม ไม่ใช่อ่านจบทุกเล่มนะ กฎของผมคืออ่าน 50-100 หน้า ถ้าไม่ได้เรื่องผมทิ้ง ก็เลยมีผลงานตั้งหลายเล่มที่ผมเห็นว่าใช้ไม่ได้ อ่านไม่จบ หรือบางทีอ่านนวนิยายจนจบให้รู้ว่ามันจบยังไง ก็รู้ว่าใช้ไม่ได้อีก

วรรณกรรมดอทคอม เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

วรรณกรรมดอทคอมเริ่มต้นขึ้นด้วยความบังเอิญ มันมาจากการที่ได้คุยกับคุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) แล้วก็บอกเขาว่า เราน่าจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมโลก เพราะว่าผลงานวรรณกรรมโลกนั้นมีให้ใช้ฟรีๆ บนอินเตอร์เน็ตตั้งเยอะ เมื่อคืนนี้เองผมไปดูงานของคนนี้ ทำไมเราไม่แปลเป็นภาษาไทย งานชิ้นดีๆ มันจะช่วยคนไทยได้ตั้งเยอะ คุณสนธิก็เห็นด้วยทันทีเลย ก็เลยปล่อยให้ผมสร้างโครงการวรรณกรรมดอทคอมขึ้น ซึ่งวรรณกรรมดอทคอมนี้มันมีคนทำงานสองคนคือนายมาร์แซล บารังหนึ่ง แล้วนายมนตรี ภู่มีสอง มาร์แซลก็ใช้ด้านภาษาอังกฤษ มนตรีก็ใช้ด้านภาษาไทย แล้วเป็นคู่ทำงานกันได้ดี แล้วก็เราจ้างคนมาแปลเป็นชิ้นๆ ให้ค่าจ้างเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะฝีมือดีหรือไม่ดีก็เหมือนกัน

ทั้งหมดภายในสองปีที่ผ่านมา เราได้ใช้ฝีมือของนักแปลจำนวน 40 กว่าคนแน่ๆ แต่เราก็เก็บไว้ประมาณ 20 คนเท่านั้น เพราะว่าเราเก็บคนที่ฝีมือดีกว่า ใน 20 คนนี้ผมภูมิใจที่มี 4-5 คนที่ฝีมือดีมาก เป็นมืออาชีพเมื่อไรก็ได้ แล้วเราก็...การที่เราจะแก้ต้นฉบับ ด้านหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ด้านหนึ่งเป็นภาษาไทย ตรวจดูว่ามันถูกต้องหรือเปล่า มันก็ช่วยสอนวิธีแปล จำพวกนี้แหละ ใช่ไหม ซึ่งอันนี้มันมีประโยชน์ และประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่เห็นก็คือการเอาผลงานดีๆ ของโลกมาแปลเป็นภาษาไทย มันเป็นตัวอย่างที่ดี ดีที่สุดสำหรับนักเขียนไทย หรือผู้อ่านไทย ให้รู้ว่าวรรณกรรมมันมีอะไรหลายอย่าง มันวิเศษแค่ไหน

แล้วทำไมโครงการนี้ถึงหยุดไป

เราตัดสินใจกันแล้ว คือหนึ่งสรุปแล้วว่าการที่คุณมนตรีลาออกอย่างกะทันหัน ทำให้โครงการพังอย่างน้อยก็ชั่วคราว ข้อที่สองก็คือเราไม่สามารถที่จะหาคนขึ้นมาแทนเขา ที่คุณภาพสูงเท่ากับเขา ต้องยอมรับว่าคุณมนตรีเป็นคนที่วิเศษทางด้านภาษา ซึ่งทำให้ผมเสียดายมาก

เห็นว่าจะมีการตีพิมพ์ผลงานออกมาด้วย ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกว่าจะเป็น ไต้ฝุ่น ของ โจเซฟ คอนราด

คือราวสองเดือนที่แล้ว เพื่อที่จะมีอะไรที่มันทำให้ดูคึกคักหน่อยนะ ผมเสนอความคิดว่า ต่อไปนี้เราจะมีงานที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือ แล้วคุณสนธิก็ตกลงกับเรื่องนี้ อนุญาตให้เราพิมพ์ 2 เล่ม พอดีอันนั้นเป็น 1 เดือนก่อนที่คุณมนตรีจะลาออก

ตอนนั้นผมมีความคิดสองอย่าง เสนอไว้สองแนวทางด้วยกันคือ หนึ่งเราจะลองผลิตหนังสือดู เริ่มจาก 2 เล่ม ไต้ฝุ่น ของคอนราด และอีกเล่มมาจากภาษาฝรั่งเศส ให้พิสูจน์ตลาดดูสิว่าเราสามารถที่จะผลิตหนังสือจากวรรณกรรมดอทคอมได้ต่อไปหรือเปล่า นี่คือความคิดหนึ่ง

แล้วอีกความคิดหนึ่งที่ได้เสนอบนเว็บไซต์ของเราคือว่า เราจะพยายามเป็นตัวกลางในการนำเสนอผลงานดีๆ ผลงานในปัจจุบันของวรรณกรรมโลก ให้สำนักพิมพ์ไทยสนใจเผยแพร่ต่อ โดยเราจะทำอย่างไร เพราะเรามีจัดประกวดอยู่ทุกเดือน คือถ้าสมมติว่าเราจะสนับสนุนเล่มหนึ่ง วรรณกรรมดีๆ นวนิยายดีๆ เล่มหนึ่ง ผมจะเอาตัวบทไม่กี่บรรทัดให้คนทุกคนแปล ผู้ชนะก็จะมีโอกาสได้แปล 20 หรือ 30 หน้าแรกของเล่มนั้น แล้วเราจะควักกระเป๋าเองเหมือนเดิม แล้วลงผลงานบนเว็บไซต์ของเรา ในเวลาเดียวกัน ผมกับมนตรีจะทำเรื่องย่อเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทย จะทำบทวิเคราะห์ว่ามันเป็นอย่างไร ทำไมต้องสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ จุดอ่อนของเรื่องนี้อยู่ที่ไหน แล้วเอาทั้งหมดนี้ไปเสนอกับสำนักพิมพ์ 2-3 ราย แล้วให้เขาตัดสินใจ ถ้าใครสนใจก็จะตกลงกับสำนักพิมพ์ที่ตัดสินใจก่อน ถ้าคุณอยากจ้างคนที่ชนะการประกวดก็ยิ่งดี ถ้าอยากหานักแปลอีกคนก็เป็นเรื่องของคุณ ถ้าสมมติว่าอยากจ้างเราให้พิสูจน์ผลงานแปล เราก็ทำได้ พอเสนอแล้วคุณมนตรีลาออก หนังสือสองเล่มก็ยังไม่ได้ข้ามถนนไปผลิต ถึงแม้ว่าอยู่ในคอมพิวเตอร์อยู่แล้วนะ แล้วก็วางกำหนดไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็เลยหายไป เสียไป

แม้แต่สิ่งที่ได้แปลไปแล้ว

คือทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังอยู่บนเว็บไซต์ ส่วนเว็บไซต์ก็อยู่ในอากาศจะหายไปเมื่อไรผมก็ไม่ทราบ

แล้วมีโครงการที่จะส่งงานเหล่านั้นไปเป็นหนังสือบ้างไหม อย่างงานบางชิ้นที่เป็นนวนิยายขนาดสั้นก็รู้สึกว่าจะมีแปลกันออกมาด้วย

อย่างหลายชิ้นที่ได้แปลแล้วเป็นนวนิยายสั้นๆ ในช่วงเวลานั้นผมมีรายชื่อของนวนิยายเล่มต่างๆ ที่เราสามารถจะผลิตจำนวน 13-14 เล่ม ทำได้สบาย รับรองว่าทุกเล่มจะมีคุณภาพสูง

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างของวรรณกรรมดอทคอมเป็นของคุณสนธิ พวกเราเป็นลูกจ้างเขา เขาเป็นคนควักกระเป๋าให้เรา โครงการนี้ผมคิดนะ ทั้งหมด 2 ปีครึ่ง เพราะเราใช้เวลา 6 เดือนกว่าโครงการจะพร้อม คุณสนธิต้องควักกระเป๋า 1.5 ล้านบาท โดยไม่รวมค่าจ้าง เป็นงบประมาณสำหรับวรรณกรรมดอทคอมอย่างเดียวที่เราจ้างคนมาแปลเป็นชิ้นๆ อย่างนี้ และในช่วงเดือนมิถุนายนที่โครงการมันพัง ผมจำเป็นต้องเซ็นเช็คให้ผู้แปลทั้งหลาย เพราะผมสั่งงานไปแล้ว คือบอกให้พวกเขารีบส่งผลงานกลับมา ผมจะจ่ายเงินให้ ถ้าคุณแปลยังไม่จบไม่เป็นไรผมจะจ่ายส่วนที่คุณส่งมา ในอัตราปัจจุบัน เหมือนเดิม เสร็จแล้ววันที่ 15 ผมเซ็นเช็คมา 12 ราย หลังจากนั้นก็กลับไปดูสิว่าภายใน 2 ปีที่ผ่านมาเราได้เงินเดือนต่อเดือนเท่าไร ตกมาเป็น 1.5 ล้าน อันนี้เป็นการควักกระเป๋าของคุณสนธิเอง โดยไม่มีกำไรมาจากตรงนี้ มีแค่บารมี เราพยายามฝึกฝนนักแปลจำนวนได้โหล แล้วให้โอกาส ให้คนไทยทั่วๆ ไปได้อ่านวรรณกรรมดีๆ ก็แค่นี้ละ

หลังจากวรรณกรรมดอมคอมแล้วจะทำอะไรต่อไป

หลังจากนั้น เขาก็เลยถามว่า มาร์แซลอยากจะทำอะไรจริงๆ ผมก็ตอบว่า คุณก็รู้ว่าหลายปีมาแล้วที่ผมบอกว่าอยากแปลวรรณกรรมต่อไป เอายังงั้นก็ทำไปเถอะ เพียงแต่ต้องไปปรึกษากับคุณวิทยา (นามสกุลไม่ทราบ) ทางฝั่งโน้นที่พิมพ์หนังสือ เอ่อ เพราะว่าคนนั้นเขาจะรับผิดชอบเรื่องการผลิต แล้วเขาก็ถามว่าตกลงผมต้องควักกระเป๋าสักเท่าไรกับโครงการนี้ ซึ่งในขณะนี้บังเอิญว่าคุณวิทยายังยุ่งอยู่กับการผลิตหนังสือสำหรับในหลวง ก็เลยยังไม่มีเวลาจะคิดเรื่องของการผลิตไทยโมเดิร์นคลาสสิกส์ (TMC) ว่าต้องเสียเท่าไร เมื่อไร หรือกี่เล่มต่อปี ยังไงๆ ในด้านผม ผมก็ได้เริ่มแปลแล้ว แล้วภายในอาทิตย์หน้าหรือสองอาทิตย์ข้างหน้านั้น เราสองคนก็ต้องไปคุยกับคุณสนธิอย่างเป็นทางการ โครงการนี้ต่อไปก็จะมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือการผลิตหนังสืออีกครั้งหนึ่ง หนังสือเก่าจำนวน 11 เล่ม ถ้ารวม Anthology ของผมด้วยนะ อีกด้านก็แปลหนังสือต่อไป แล้วก็ผลิตหนังสือพวกนั้น คือโครงการ TMC นี้มีอายุได้ประมาณ 9-10 ปีเห็นจะได้ ปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสแปลหนังสือที่อยู่ใน 20 เล่มของผมเพิ่มเติม 2-3 เล่ม ก็เลยมีหนังสือที่พร้อมที่จะผลิตแล้วจำนวนมากกว่า 11 เล่ม เป็น 14-15 เล่ม แล้วในด้านการแปล ผมตั้งต้นเดือนที่แล้ว ผมกำลังแปลนวนิยายเล่มหนึ่งในรายชื่อ 20 เล่มที่ดีที่สุดในประเทศไทย นั้นคือ ทุติยาวิเศษ ของ บุญเหลือ 775 หน้าภาษาไทย

พูดถึงหนังสือเล่มนี้ผมก็กลุ้มใจ เพราะว่ามันเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่าสภาพของวรรณกรรมไทยมันเป็นยังไง ใครๆ ก็บอกว่าเล่มนี้มันเป็นผลงานชิ้นเอกเล่มหนึ่งของวรรณกรรมไทยตามประวัติศาสตร์ทั้งหมด แต่ว่าไม่มีขาย ไม่มีขายเลย ต้นฉบับที่ผมมีอยู่ได้ใช้คือถ่ายเอกสารจากเมื่อสิบปีที่แล้วจากผู้ช่วยเก่าของผมคือคุณพงษ์เดช ไปถ่ายเอกสารที่หอสมุดกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะว่าที่นั่นก็มีเล่มหนึ่ง มีคนไทยคนหนึ่งที่จะมาช่วยตรวจการแปลของผม ผมจำเป็นต้องไปถ่ายเอกสารสำเนาชิ้นนี้ปึกนี้ นี่ละจะเห็นได้ชัดว่าวรรณกรรมไทยมันเป็นโจ๊กชนิดหนึ่ง ทำไมหนังสือที่มีคุณค่าสูงอย่างนี้ไม่ได้วางตลาด ไม่ได้พิมพ์ หลายครั้งต่อหลายครั้ง ทำไมพวกเด็กๆ ไม่สามารถที่จะอ่านได้ หรือผู้ใหญ่ก็ตาม น่าเสียดายมาก แต่นี่คือสภาพของสังคมไทย หรือวรรณกรรมไทยนั่นละ คือถึงขนาดที่พวกเราควรจะควักกระเป๋ามาพิมพ์เป็นภาษาไทยกันอีกรอบหนึ่ง เพราะว่าเล่มนี้มันออกมาในปี ค.ศ. 1966 สี่สิบปีที่แล้ว แล้วก็ไม่มีขายเลย คือเล่มอื่นๆ โชคดีที่ยังไม่มีปัญหาแบบนี้หรอก แม้กระทั่ง ดอกไม้สด, ผู้ดี ก็ยังเห็นมีขาย หน้าปกเป็นดอกไม้ หรือเล่มอื่นก็ยังมีขาย แต่ทำไมเล่มนี้ไม่ได้พิมพ์ใหม่สักครั้งเดียว คือสมัยสิบปีที่แล้วก็ไม่มีขายเช่นกันนะ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้เห็น แล้วพอพูดถึง ทุติยาวิเศษ บางคนก็จะ เอ๊ะ! ไม่เคยได้ยิน คืออะไรละ อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นนิยายที่เอียงทางด้านการเมือง เกี่ยวข้องกับระบบเผด็จการ แล้วเรื่องนี้มันสนุกมาก เป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นว่าสภาพของสังคมไทยสมัยหนึ่งเคยเป็นอย่างไรกัน







เปรียบเทียบกับผลงานเรื่องอื่นของบุญเหลือแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

อีกเล่มหนึ่งของบุญเหลือที่ผมชอบมากคือนิยายที่ชื่อว่า สุรัตนารี ผมชอบมากแต่แปลไม่ได้ เพราะว่าเป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม (culture specific) คือความสนุกของเรื่องอยู่ที่การเล่นภาษา การเล่นสำนวน สุรัตนารี นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกาะแห่งหนึ่งทางใต้ ที่ไหนก็ไม่รู้ ที่พวกผู้หญิงมีอำนาจ ไม่ใช่ผู้ชาย ทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ในมือของผู้หญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียดสีสังคม และสนุกมาก แต่ถ้าจะแปล สำหรับฝรั่งฟังก็ต้องงง เพราะว่าพูดถึงแบบละเอียดมาก พูดถึงวิธีแต่งตัว เสื้อผ้าของคน ทั้งผู้ชายผู้หญิง ซึ่งเราจะเห็นว่ามันตลกมาก ตามสังคมไทย ตามยุคสมัยปัจจุบัน แต่ถ้าฝรั่งมาเห็นก็คงเฉย

จริงๆ ทุติยาวิเศษ เองก็มีส่วนหนึ่งที่น่ารำคาญมาก แต่ว่าสนุกมากคือการเล่นเรื่องยศศักดิ์กรมเก่ากับสมัยใหม่ ชื่อตำแน่ง เช่นมันจะมีคุณ คุณนาย มันต่างกันอยู่แล้ว ต่อไปก็มีคุณหญิง บังเอิญก็นางเอกก็เป็นท่านผู้หญิง ทีแรกผมตั้งใจว่าจะแปลเป็น มิสเตอร์ มิส มิสซิส และเลดี้ อ้าว! คุณหญิงก็เลดี้อยู่แล้ว จะต้องเป็นเลดี้-เลดี้อีกเหรอ ในที่สุดก็ต้องถอยผมก็เลยต้องปล่อยให้เป็นแบบนี้ แล้วก็จะมีอภิธานศัพท์ (glossary) ด้านหลัง คุณกับคุณนายต่างกันอย่างไร อะไรต่อมิอะไรอย่างนี้

เป็นไปได้ไหมที่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ในต่างประเทศ อย่างเพนกวิน หรือวินเทจจะนำเอาโครงการ TMC ไปพิจารณาเพื่อพิมพ์เผยแพร่ต่อ

คิดว่าเป็นไปได้ยากนะครับ จากประสบการณ์ที่มีมาจากสิบปีที่แล้ว และผมก็ยังแปลกใจอยู่ อย่างเช่นตอนที่ผมแปล อสรพิษ ของ เสน่ห์ (แดนอรัญ แสงทอง) เป็นภาษาฝรั่งเศสมันเป็นที่นิยม กระทั่งสำนวนแปลภาษาฝรั่งเศสของผมมีฝรั่งต่างชาติชาวยุโรปมาแปลเพิ่มเติมตั้ง 6 ราย จากภาษาฝรั่งเศสมาเป็นภาษาอื่นๆ แสดงว่ามันมีกลุ่มหนึ่งที่สนใจ แต่ด้านภาษาอังกฤษเงียบไปหมด จริงๆ แล้วมันเป็นกรณีพิเศษ ผมได้แปลเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว แล้วก็ได้ลงตีพิมพ์ในบางกอกโพสต์สมัยนั้น มิหนำซ้ำก็มาตีพิมพ์ที่นี่สองภาษา ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษควบคู่กัน หายไปจากตลาดหรือยังไม่รู้ แต่ว่าสำนักพิมพ์ที่อเมริกา ที่อังกฤษไม่เคยสนใจวรรณกรรมไทย นอกจากสำนักพิมพ์อ็อกซ์ฟอร์ดมาผลิตหนังสือ 2-3 เล่มที่บังเอิญก็อยู่ในรายชื่อ 20 เล่มของผม แต่เป็นคนอื่นที่แปลให้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานของ เดวิด สมิธ ซึ่งอยู่ที่ School of Oriental and Asian Study ที่ลอนดอน นั้นคือหนึ่งราย ที่แปลมาก็คือ ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา เออแล้วก็ คนชั่ว คิดว่าเขาแปลออกมาแล้วนะ ของ ก. สุรางคนางค์ อีกเล่มหนึ่งคืออะไรจำไม่ได้ แล้วก็อีกด้านหนึ่งจากออสเตรเลีย ก็คือ ตลิ่งสูงซุงหนัก ของ นิคม รายยวา อันนี้เป็นชาวออสเตรเลียแปล แล้วก็ไปพิมพ์ที่นั่น ก็มันเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของโรงเรียนบางโรงเรียนที่ออสเตรเลียอยู่แล้ว ก็แค่นี้ละ

ส่วนทางสำนักพิมพ์ฝรั่งเศสแต่ก่อนมีที่เดียว แต่เดี๋ยวนี้มี 2-3 ที่ ที่หันมาให้ความสำคัญเฉพาะกับทวีปเอเชีย แต่ว่าพวกนี้ก็ไม่ค่อยมีสตางค์ พวกนี้จะขี้เหนียวมากที่สุดเลย ถ้าคุณอยากแปลให้เขาก็จะต้องแปลฟรีๆ อะไรทำนองนั้น หรือไม่ก็ได้เงินน้อย จำพวกนี้มีความสนใจ แต่ไม่มีเงิน แต่ฝั่งอังกฤษไม่มีความสนใจเลย ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฟองสบู่พังไปแล้ว ปี 97 ผมก็ตกงานอยู่ ในช่วงนั้นผมตัดสินใจว่าจะเสนอผลงานไทยเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสทั้งสองด้าน ทำจดหมายไปถึงสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่อังกฤษ ที่อเมริกา ที่ออสเตรเลีย ที่ฝรั่งเศส ปรากฏว่าได้คำตอบจากฝรั่งเศส 2-3 ที่ ฝั่งอังกฤษเงียบ ไม่มีเลย

คืออนาคตของโครงการเราอาจจะมีบ้าง คุยกับคุณวิทยาแล้ว เขาก็เป็นคนที่เสนอว่าสมาคมนักเขียนกำลังจะสร้างโครงการที่จะช่วยวรรณกรรมไทย การที่เราจะเริ่มผลิตโครงการวรรณกรรมไทยในรูปแบบภาษาอังกฤษ ก็น่าที่จะมีความหมาย น่าจะมีประโยชน์ด้วย เพราะพวกเขาสามารถที่จะเสนอกับเทศกาลหนังสือต่างๆ กับสถานทูตต่างประเทศ ในที่สุดมันก็อาจเจาะตลาดบางตลาดได้ ไม่ใช่ตลาดฝรั่งในประเทศไทยอย่างเดียว







ภาพรวมของวรรณกรรมไทยในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร อะไรคือข้อจำกัดหรือข้อปัญหาส่วนใหญ่ที่วรรณกรรมไทยมีร่วมกัน

คือตามที่บอกแล้วว่าในรายชื่อ 20 เล่มที่เลือกมาสิบกว่าปีที่แล้วนั้น ผมไม่ได้เอาอะไรที่เป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมมากเกินไป ผมไม่อยากเขียนเชิงอรรถ เห็นว่ามันน่าเกลียด ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไทยๆ หรือเป็นไทยมากเกินไป เราสามารถที่จะสื่อความหมายให้ผู้อ่านอ่านได้สนุกเท่ากับนิยายญี่ปุ่นหรือนวนิยายละตินอเมริกาอะไรทำนองนั้น แต่ว่าจะบอกว่าบางเล่มดีกว่าบางเล่ม แม้กระทั่งใน 20 เล่ม พูดถึงการใช้ภาษา อยากจะบอกว่านวนิยายไทยบางเล่ม 4-5 เล่มนั้นวิเศษสุดยอดของวรรณกรรมทุกวรรณกรรมของโลก เอ่อ สู้กับวรรณกรรมฝรั่งได้สบาย

บางเล่มภาษาก็ง่ายๆ แต่ว่าเพราะ ซึ่งก็น่าสนใจเหมือนกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่หนังสือ แต่ปัญหาอยู่ที่สิ่งแวดล้อม คือสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยไม่อำนวยในการเขียนผลงานที่ดีๆ จำนวนเป็นหลายเล่ม คือต้องแปลกใจเหมือนกันว่า ทำไมผมถึงยังไม่รู้ว่าจะต้องเลือก 10 เล่ม 20 เล่ม หรือ 30 เล่ม ปรากฏว่าดูๆ แล้วผมขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ พวกอาจารย์ พวกนักวิจารณ์อะไรต่างๆ แล้วก็ได้รายชื่อต่างๆ มา ทั้งหมดที่พวกเขาเสนอเป็นจำนวน 99 เล่ม ซึ่งผมได้ดึงมาพิสูจน์เล่มต่อเล่ม แล้วในที่สุดผมก็เลือกแค่ 20 เล่ม คำถามก็คือว่าทำไมไม่ใช่ 30 คำตอบ หาไม่เจอครับ คือเห็นว่าคุณภาพไม่ถึง

คือถ้าจะเลือกแค่ 10 เล่มก็จะเห็นว่าแคบเกินไปอยู่แล้ว ตกลง 20 เล่ม และภายใน 20 เล่มนั้นมีบางชิ้นที่ถือว่าน่าสนใจจริงๆ สุดยอดจริงๆ แต่ทำไมพวกฝรั่งถึงยังไม่ได้รับทราบ อาจจะเป็นเพราะว่าสมัยก่อนเราก็ยังไม่สามารถที่จะไปติดต่อกับต่างประเทศ พอดีที่เริ่มมีการติดต่อกับอเมริกาโครงการของเราก็พัง ก็เลยไม่ได้ไปไหน อาจจะเป็นไปได้ที่ในอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้าเราจะไปร่วมมือกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศก็ได้ อาจจะเป็นได้

ดูอีกอย่างหนึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสแปลหนังสือของ วิมล ไทรนิ่มนวล ซึ่งมันมีเล่มหนึ่งอยู่ในรายชื่อของเราคือ งู เล่มต่อๆ ไปของเขาผมได้แปลมาครบทั้ง 4 เล่ม คือ คนทรงเจ้า, เจ้าแผ่นดิน แล้วก็ โคกพระนาง นั้นเป็น 4 เล่มติดต่อกัน บวก อมตะ ด้วยซ้ำ เพิ่งแปลเมื่อเดือนที่แล้ว ความคิดของเขา (วิมล) และคนที่สนิท คนที่สนับสนุนผลงานของเขาคือว่า อยากให้ผลงานของเขาเป็นภาษาอังกฤษออกมา เพื่อว่านำเอาทั้ง 4-5 เล่ม ไปเสนอกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศพร้อมกัน ดูซิว่าคุณสนใจไหม เพราะว่าบังเอิญเขาควักกระเป๋า สามารถที่จะจ่ายเงินสำหรับการแปลหนังสือ แต่ว่าไม่มีเงินที่จะผลิต น่าเสียดาย แล้วอาจจะมีปัญหาเดียวกัน คือแม้เรามีเงินที่จะผลิตหนังสือ แต่ว่าตลาดของประเทศไทยมันแคบเกินไป เพราะว่าส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นฝรั่งซื้อ อีกด้านหนึ่งผลงานเก่าที่มีอยู่ของ TMC ถ้าคุณอยากได้ คุณก็สามารถอ่านเอาบนอินเตอร์เน็ต เข้าเว็บไซต์ของผม ทุกเล่มอยู่ในนั้น จำนวน 13-14 เล่ม ภาษาอังกฤษ

แล้วเวลาหยิบหนังสือมาอ่าน เลือกวรรณกรรมไทยใหม่ๆ บ้างไหม

ไม่มีโอกาส ในช่วงหลังๆ นี้ผมมาสนใจวรรณกรรมฝรั่งมากกว่า เพราะว่าต้องทำงานวรรณกรรมดอทคอม คือต้องไปค้นคว้าทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมภาษาอังกฤษ –  ฝรั่งเศส จากอินเตอร์เน็ต แล้วได้ใช้โอกาสนี้อ่านนวนิยายฝรั่งมากกว่าเดิม ทั้งภาษาอังกฤษทั้งภาษาฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษ เพราะว่าผมสนใจวรรณกรรมโลกมาตั้งแต่แรก สมัยเป็นหนุ่ม แต่ตลอดในช่วงเวลา 25 ปีที่ผมเป็นนักข่าวนั้น ผมตัดสินใจว่าผมจะซื้อนวนิยายที่เกี่ยวข้องกับเอเชียอาคเนย์อย่างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะ ในที่สุดหลายปีมาแล้วก็ตัดสินใจว่าจะขาย จะเก็บไว้ก็เพียงส่วนหนึ่ง ช่วงเวลานั้น 1 ใน 4 ส่วนของศตวรรษ ไม่ใช่น้อยนะ ความรู้ในด้านวรรณกรรมโดยทั่วไปของผมก็น้อยมาก เพราะว่ามันเฉพาะทาง (specialize) มากเกินไป คือโดยเฉพาะเอเชียอาคเนย์ ผลงานดีๆ ที่ออกมาในช่วงเวลานั้น ผมไม่ได้อ่าน หมายถึง 4-5 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นที่ผมมาสนใจเรื่องนี้อีกรอบหนึ่ง แล้วก็มีโอกาสได้เห็นว่าวรรณกรรมโลกมีความเจริญก้าวหน้ามากขนาดไหน

มิหนำซ้ำในด้านภาษาไทยก็ไม่เห็นมีใครมาบอกว่าคุณควรจะอ่านนวนิยายเล่มนี้นะ ในช่วงหลังๆ นี่ผมแปลกใจนะ ผลงานดีๆ ไม่ค่อยจะมีเลย ผลงานอะไรสักอย่างหนึ่งที่เรียกว่าวรรณกรรมนั้น แทบจะไม่มีเลย ทุกๆ 3 ปีมันมีซีไรต์ที่เกี่ยวข้องกับนวนิยาย และครั้งเดียวภายใน 3 ปีนั้นก็จะรีบพิมพ์หนังสือออกเป็นโหลๆ เหมือนกับจะเป็นหนอนออกมาจากฝาผนังอะไรอย่างนั้น แล้วการที่จะรีบพิมพ์ในเวลาใกล้ๆ กันทำร้ายทุกเล่ม เพราะว่ายังไงก็ต้องเลือกสักไม่กี่เล่มก่อน 5-10 เล่ม หลังจากนั้นก็มาตัดสินใจว่าอันนี้คือผู้ชนะรางวัลซีไรต์นะ โอเค คนทั่วไปก็จะสนใจแต่เฉพาะคนที่ได้รางวัลอย่างเดียว เล่มอื่นๆ อาจจะมีอะไรที่น่าสนใจมาก แต่แน่ๆ เราคงต้องพิสูจน์ดูภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์ ตกกันหมด ผลงานดีๆ ที่ออกมาโดยไม่ได้สนใจเรื่องของซีไรต์นั้นมีน้อยมาก น้อยมากจริงๆ แล้วก็ดูสิว่าตั้งแต่ที่ผมได้เลือก เงาสีขาว ของคุณเสน่ห์ในปี 1994 คือ 12 ปีที่แล้ว ลองคิดดูสิว่าเล่มไหนที่ดีๆ ในช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา มีอะไรบ้างช่วยบอกสิ มันมีบางอย่าง อย่างเช่นผลงานต่อๆ มาของคุณเสน่ห์เองใช้ได้ จากปี 1994 เป็นปีที่ ชาติ กอบจิตติ ได้ซีไรต์กับเรื่อง เวลา แต่ตอนนั้นชาติก็ไม่ได้เขียนนวนิยาย ตอนนี้กำลังเขียนอยู่ ก็ลองดูสิว่าจะเป็นอย่างไร อันนี้คงจะเป็นความหวังที่จะได้อะไรดีๆ สักเล่มหนึ่ง แต่นอกจากนั้นมีอะไรบ้าง คือบังเอิญก็มีที่ผมได้มาสนใจก็คือผลงานของ อรุณวดี อรุณมาศ ผลงานชื่อยาวๆ การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา...อีกเล่มหนึ่งคือของ ประชาคม ลุนาชัย คนข้ามฝัน ก็เริ่มแปลแล้วมีงานอื่นที่จะต้องทำ ก็เลยแปลทิ้งไว้ 50-60 หน้า แล้วก็ยังอยู่ในลิ้นชักของผม คือนอกจากนั้นผลงานที่ได้แปลก็คือ อสรพิษ กับ เจ้าการะเกด ในช่วงหลังๆ คุณเสน่ห์เองก็เสนองานให้ผมอ่านและพิสูจน์ ผมอ่านแล้วก็เห็นว่า ไม่ได้เรื่องเลย 2-3 ชิ้นเล็กๆ นอกจากนั้นไม่ได้เห็นอะไรดีๆ ออกมา

คิดว่าอะไรคือสาเหตุ

ผมไม่ทราบ ทีแรกในช่วง 10 ปีที่แล้วผมคิดว่า โอเค วรรณกรรมไทยนะ มันมีคุณค่าอยู่พอสมควร แล้วก็มันอาจจะมีโอกาสขยายตัว แต่ในช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา เออ เกิดอะไรขึ้นละ ไม่มี แล้วก็ไม่รู้ว่ามันมาจากอะไรบ้าง มันมาจากสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป คือคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ โดยส่วนใหญ่ชอบดูทีวี เล่นวิดิโอเกม อะไรต่อมิอะไร และแม้กระทั่งอากาศก็ไม่อำนวยให้อ่านหนังสือได้อย่างสบายๆ ถ้าไม่มีห้องแอร์

หรือการที่เกือบทุกคนไปโฟกัสกับซีไรต์นี่ทำร้ายวรรณกรรม นวนิยาย ผมไม่ได้พูดถึงนวนิยายน้ำเน่านะ โรมานซ์อะไรพวกนี้นะ ซึ่งยังมีตลาดอยู่ เราไม่สนใจผลงานแบบนี้ แม้ว่าบางทีก็มีคุณค่าบ้างเหมือนกัน แต่มันเป็นระดับสอง แต่พูดถึงวรรณกรรมที่มีความหมายของเรานั้นมันแคบลงๆ

ได้ยินมาว่าล่าสุดมานี้ได้แปลผลงานของวินทร์ เลียววาริณเป็นภาษาฝรั่งเศส

ได้แปลไปลงในนิตยสารเป็นเรื่องสั้น ผมชอบผลงานของวินทร์แต่มีข้อแม้อยู่ที่ว่า วินทร์สามารถที่จะเขียนเรื่องสั้นได้ แต่พอมาถึงนวนิยายก็ยังไม่ได้เรื่องเท่าที่ควร คือถึงแม้ว่าได้ซีไรต์มาแล้วเพราะนวนิยาย ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน เห็นว่านวนิยายเล่มนี้ไม่สมบูรณ์ น่าสนใจ น่าอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเป็นคนไทย แต่ว่าดูลักษณะตามมาตรฐานของนวนิยายนั้น มันก็ยังขัดข้องอยู่

ในด้านการเขียนเรื่องสั้นนี้วินทร์เป็นคนวิเศษ เป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้า สามารถสอนฝรั่งได้เลย แล้วบังเอิญชิ้นล่าสุดที่ได้แปลตามคำขอของนิตยสารสำคัญของฝรั่งเศส ก็เป็นเรื่องนักสืบที่สนุก ฆาตกรรมกลางทะเลลึก ซึ่งตีพิมพ์แล้วในนิตยสารกูริเยร์ แอ็งแตร์นาซิอ็องนาล[2] ใครๆ ก็บอกว่า ดีมาก แต่นั่นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับนวนิยายนักสืบ

แล้วเปรียบกับวรรณกรรมร่วมสมัยที่ฝรั่งเศสเป็นอย่างไรบ้าง

ที่ฝรั่งเศสโดยเฉพาะวรรณกรรมในปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยดีสักเท่าไร ถ้าเปรียบเทียบกับวรรณกรรมอังกฤษ หรืออเมริกา นักเขียนฝีมือดีถึงดีเยี่ยมนั้นส่วนใหญ่ก็อยู่ในโลกภาษาอังกฤษ ผมไปฝรั่งเศสมาเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ไปร้านหนังสือที่มีชื่อเสียงในเมืองตูลูซทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ขอคำแนะนำจากคนที่มีความเชี่ยวชาญวรรณกรรมฝรั่งเศสโดยเฉพาะ ผมเล่าให้เขาฟังว่าผมอยู่ห่างไกลจากวรรณกรรมในช่วงเวลา 20-30 ปี อยากดูซิว่า นักเขียนดีๆ ของฝรั่งเศสมีอะไร ใครบ้าง แกก็ชี้ให้เห็น แล้วไปบนหิ้งนะ คนนี้ คนนี้ และคนนี้ ผมจดไว้ แล้วก็ซื้อหนังสือหลายเล่ม โชคร้ายหรืออะไรไม่รู้ ภายใน 2-3 ชั่วโมง ทิ้งหนังสือตั้ง 6 เล่ม อ่านไม่กี่หน้าก็รู้เลยว่าใช้ไม่ได้

ผลงานของนักเขียนที่น่านับถือมีคนหนึ่ง เขาชื่อ ฌี.เอ็ม.เฌ.เลอ เกลซิโอ[3]  ใครๆ ก็จะบอกว่า เลอ เกลซิโอเป็นคนที่เขียนภาษาฝรั่งเศสได้เพราะที่สุดในปัจจุบันนี้ แล้วก็จริงด้วย เขาเขียนเพราะมาก ปัญหาอยู่ที่ว่าสิ่งที่เขาเขียนในช่วงหลังๆ ผมรู้จักผลงานของเขาตั้งแต่แรกคือ 50 ปีที่แล้วเป็นเรื่องดีๆ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Escapism คือเป็นโลกที่ไม่ใช่โลกจริง เป็นเกาะในแปซิฟิคที่มีอะไรวิเศษ เป็นเรื่องของทะเล เป็นเรื่องของดินแดน เป็นเรื่องของต้นไม้ของใบไม้ ไพเราะมาก แต่มันเกี่ยวพันกับชีวิตของเราที่ไหนยังไง บอกไม่ได้ หรือบางทีมันเป็นเรื่องสนุก ด้านหนึ่งก็อ่านได้ เสพภาษาของเขา วิเศษจริงๆ อีกด้านหนึ่งก็อ่านแล้ว เอ๊ะ อ่านไปทำไม มันมีความหมายอะไร

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือในตอนที่เขาเป็นหนุ่ม ผมเป็นครูสอนที่เขมรในช่วงเวลานั้น เขาก็เป็นครูสอนที่กรุงเทพฯ ปีแรก แล้วก็ไปให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโดยด่ารัฐบาลสมัยนั้นคือถนอม กิตติขจร แล้วก็กลับมาปีที่สองไม่ได้ หลังจากนั้นจนถึงอายุ 30 ปี เขาก็เป็นนักเขียนไฟแรงมาก ด่า เป็นคนที่เขียนถึงโลก ชีวิตในเมือง โดยเอาคนจนมาเป็นเครื่องพิสูจน์ ตอนนั้นก็มีความรู้สึกว่าเขามีความโกรธมากกับสังคมฝรั่งเศส หรือสังคมโดยทั่วไป ในช่วงหลังๆ ส่วนนี้ก็หายไป แล้วก็มาเขียนแต่เรื่องดีๆ อย่างนั้น

พอจะเปรียบงานของเลอ เกลซิโอ กับโคล้ด ซิม็ง[4] นี่ได้ไหม

โคล้ด ซิม็งก็จะเป็นอีกคนหนึ่ง ปัญหาของเขาก็คือเขาเขียนอ่านยากมาก ผมได้อ่านซ้ำ สัก 1-2 เดือนที่แล้วนี่เอง เรื่อง La Route des Flandres ซึ่งใครๆ ก็ถือว่ามันเป็นชิ้นเอกของเขาชิ้นหนึ่ง อ่านได้จนจบ แต่ว่าบางทีตรงนี้เราก็ไม่รู้เรื่องว่าเขากำลังเขียนถึงใคร เขาใช้เทคนิคที่ทำให้ส่วนหนึ่งของเรื่องหนึ่งมาผสมกับอีกเรื่องหนึ่ง บางทีเราก็ไม่รู้ว่ากระโดดไปอีกเรื่องหนึ่งแล้ว เราก็งง เอ๊ะ! อะไรกัน มีม้าที่กำลังถูกฆ่าตายในสงครามนั้น ไปถึงเรื่องบนที่นอน ม้าก็กลับมาแล้ว หรือเป็นเรื่องของทหารคนหนึ่ง โอ้ย สนุก แต่ว่าอ่านยากจริงๆ คือโคล้ด ซิม็ง ซึ่งจริงๆ ก็ทั้งสองนะ คิดว่าอายุมากกว่าผมด้วยซ้ำไป โคล้ด ซิม็งน่าจะสัก 70-80

โคล้ด ซิม็งเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อต้นปีนี้เอง

เสียไปแล้วเหรอ เห็นไหม ต้องมาเรียนจากคนไทยว่าเขาเสีย น่าเสียดาย เขาเป็นนักเขียนรุ่นเก่า และนักเขียนรุ่นแบบนี้ในกลุ่มที่เรียกว่า นูโวโรม็อง (le nouveau roman) ผลงานของเขาก็ดีนะ แต่ว่าในช่วงหลังๆ ก็ไม่ค่อยได้เรื่อง ไปทำอะไรอย่างอื่นก็มี อย่างเช่น มิแชล บูตอร์[5], อแล็ง ร็อบบ์-กรีเยต์[6] สองคนนี้เป็นคนที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของวรรณกรรม

คือในกลุ่มนี้พอจะเปรียบเทียบได้กับงานของเวอร์จิเนีย วูลฟ์ ผลงานส่วนใหญ่ของเวอร์จิเนีย วูล์ฟอ่านยากพอสมควร คุณไปอ่าน The Waves หรืออย่าง วิลเลียม โฟล์คเนอร์ ก็บางเล่มเช่น Absalom! Absalom! โอ้โห ยากมากๆ แล้วที่ยากที่สุด ผมเกลียดกว่านี้มากก็คือ เฮ็นรี เจมส์ ผมพยายามอ่าน The Ambassador มาตั้ง 4 ครั้ง เริ่มอ่านซ้ำตั้ง 4 ครั้งในชีวิต ภายใน 20 ปีนะ พยายาม แต่ไม่ได้เรื่อง ผมได้อ่านในตำแหน่งที่ต้องทำคือในวรรณกรรมดอทคอม เอ่อ ผมบังคับตัวเองให้อ่านชิ้นที่ไม่ยาวของเขาหลายชิ้น อย่าง Daisy Miller ก็พอรับได้ สนุกดี แต่ที่แท้จริงผลงานยาวๆ ของเขาก็ปวดหัว ไม่เอา

แล้วอย่างมาร์แซล พรูสต์ละ

พรูสต์เองก็เป็นอีกคนหนึ่ง ปัญหาคือผู้อ่านของเขามี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน แน่ๆ เลยก็คือ คนที่เกลียด กับคนที่ชอบมาก เออ ผมอยู่ระหว่าง 2 กลุ่ม คือเห็นว่าภาษาฝรั่งเศสของเขา ถ้าเราสามารถที่จะเข้ากับดนตรีลีลาของเขา โอ้โห วิเศษจริงๆ แต่ถ้าบางทีก็เราเข้าไปไม่ได้ น่าเบื่อ ประโยคมันยาวแล้วก็ยังนี้ยังงั้น โอ้โห มีนักเขียนจำพวกนี้ที่เขียนอะไรง่ายๆ ไม่ได้เลย

ส่วนเกอทรูด สไตน์ ใช้ไม่ได้ ผมเคยอ่าน รับรองเลย ใช้ไม่ได้จริงๆ มันเป็นนักเขียนปลอมๆ ผมไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นกระเทย เป็นเกย์หรืออะไรนะ ผมไม่สน ดูผลงานอย่างเดียวของสไตน์นั้นใช้ไม่ได้แม้แต่คำเดียว

แล้วถึงจุดหนึ่งโครงการไทยโมเดิร์นคลาสสิกส์จะมีโอกาสขยับขยายเพิ่มเติมจากที่วางไว้ 20 เล่มหรือเปล่า

จะหาเล่มดีๆ ที่ไหนละ ผมไม่อยากแปลอะไรที่ไม่ดีเหมือนกัน นอกจากว่าถูกจ้างเป็นพิเศษ ในช่วงเวลาที่ผมจำเป็นต้องหาเงิน ผมได้แปลผลงานบางชิ้นที่...ไม่ใช่ไม่ชอบ...แต่เห็นว่ามันไม่ค่อยดี

แล้วตามความรู้สึกของมาร์แซลภาษาไทยเป็นภาษาที่ยุ่งยากไหมสำหรับการแปล

ไม่ยากเท่าที่คิด โดยทั่วไปมักจะพูดกันว่าการแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งมันต่างกัน ก็ไม่จริง ผมก็แปลกใจเหมือนกัน คือมันไม่จำเป็น แต่มันเป็นข้ออ้างของนักแปลขี้เกียจ จะบอกว่าเราก็ต้องเขียนใหม่หมด สิ่งที่จะต้องทำก็คือ ถ้าเป็นไปได้แปลคำต่อคำ ใช้โครงสร้างแต่ละประโยค แต่ละย่อหน้าแบบเดียวกัน ปรากฏว่าส่วนใหญ่ก็ทำกันได้ บางทีก็มีความจำเป็นที่จะต้องสลับสับเปลี่ยน แต่นั่นไม่ใช่ทำโดยอัตโนมัติ อันนี้ต้องทำแบบนี้เพราะอะไร ก็เพื่อที่จะเคารพสไตล์หรือลีลาของผู้เขียนโดยเฉพาะ ไม่ใช่เปลี่ยนจากลีลาของเขามาเป็นลีลาของเรา ซึ่งถ้าเราแปลหลายเจ้าออกมาเป็นสไตล์เดียวกัน คือสไตล์ของมาร์แซล บารังคนเดียวไม่ได้เลย

ผมจะแปลศรีบูรพา ต้องต่างกับการที่จะแปลชาติ กอบจิตติแน่นอน หรือบุญเหลือกับนิคม รายยวา ก็ต้องต่างกัน

แล้วของชาติ กอบจิตติในภาษาฝรั่งเศส พันธุ์หมาบ้า หรืออะไรได้รับการตอบรับอย่างไรบ้าง

พันธุ์หมาบ้า ไม่ได้แปล ที่ได้แปลก็คือ คำพิพากษา กับ เวลา ตกกันหมด แปลว่าขายไม่ดี

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ไม่ทราบ บอกไม่ได้เลย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมอยู่ๆ ชาวฝรั่งเศสก็หันมาสนใจผลงานของเสน่ห์ หลังจากนั้นเราก็ได้นำเสนอผลงานของชาติ โดยได้อธิบายให้ฟังด้วยซ้ำไปว่าเป็นนักเขียนนวนิยายที่ดีที่สุดในประเทศไทยคนหนึ่ง มันมีนักวิจารณ์บางคนชมหนังสือ คำพิพากษา ชมจริงๆ โดยอธิบายอย่างมีเหตุมีผล แต่ไม่ขาย เล่มที่สองก็เช่นกัน เวลา ปกสวยทั้งคู่เลย ไม่ใช่ว่าไม่ได้ดูผู้ซื้อนะ

ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างชาติ กอบจิตติกับเสน่ห์ สังข์สุข (แดนอรัญ แสงทอง)

คือที่จริงแล้วเปรียบเทียบกันไม่ได้ คือผมมักจะบอกว่าชาติเป็นนักเขียนนวนิยายแท้ๆ ส่วนเสน่ห์เป็สไตลิสต์แท้ๆ แต่บางทีก็พลาดเหมือนกัน บางเรื่องของเขาก็ใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้แน่นอน บางเรื่องก็วิเศษ แล้วเรื่อง เงาสีขาว นั้น มันก็เป็นนวนิยายที่มีคุณค่าสูง แต่มีจุดอ่อนให้เห็นชัดๆ อย่างน้อยก็เพราะว่ามันเป็น 1 ใน 3 ส่วนที่มาเป็นเล่มเดียว โดดเดี่ยวอย่างนี้ เห็นว่ามันมีอะไรที่ยังขาดอยู่ ผมก็ชวนเขามาเขียนใหม่ หรือให้ผมพิสูจน์ดูสิว่าเขียนมา 3 เล่มยังไง ผมจะตัดสินให้เขา จะเป็นบรรณาธิการให้เขา เขาก็ไม่ยอม พอมาเขียนใหม่ คือ คุณก็รู้แล้วว่าเล่มที่ออกมาเป็นเล่มที่ 2 ของเขา เพียงแต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าตอนที่เขาตัดสินใจว่าจะเอาเล่มที่ 2 ของเขาออกมาเป็นหนังสือ เขาเอาส่วนหนึ่งของเล่มแรกมาผสม ก็เลยเล่มแรกต้องเขียนใหม่ ผมบอกว่าโอเค เขียนใหม่ เขาก็เขียน ปรากฏว่าเขาก็ส่งต้นฉบับเป็นบทๆ ผมได้มาอ่านต่อๆ กัน คนละโลก คนละเรื่อง คนละสไตล์ ใช้ไม่ได้ แล้วมิหนำซ้ำ เขาก็ต้องเหนื่อยเปล่าๆ เพราะอะไรไม่รู้ มันมีส่วนที่ขัดแย้งอยู่ในเรื่องตั้งเยอะ แล้วในที่สุดเขาก็ตัดทิ้ง ไม่ได้ใช้เลย เขาก็มาเขียน อสรพิษ จากนั้นก็ เจ้าการะเกด

สุดท้ายมีนักเขียนไทยรุ่นใหม่ๆ ที่คิดว่าน่าสนใจบ้างไหม

รุ่นใหม่ๆ ก็ไม่เห็นมีใคร แล้วผมก็ไม่ได้สนใจถึงขนาดที่จะไปค้นคว้าผลงานที่ไม่มีใครเอ่ยถึง ถ้าโอเค มีใครมาบอกว่า คุณก็น่าจะอ่านนวนิยายเล่มนี้ ผมก็จะลองดู แต่ไม่เห็นมีใครมาบอก


[1] Thai Modern Classics เป็นโครงการแปลและจัดพิมพ์วรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษของสำนักพิมพ์ผู้จัดการ
[2] Courrier International ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม ปี 2005
[3] J.M.G. Le Clezio (1940- ) นักเขียนฝรั่งเศสที่ตีพิมพ์นิยายเล่มแรกของเขาเมื่อมีอายุได้ 23 ปี เลอ เกลซิโอเป็นหนึ่งในนักเขียนรุ่นใหม่ของฝรั่งเศสที่งานของเขาได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอื่นๆ มากที่สุดคนหนึ่ง ใครที่สนใจสามารถอ่านงานของเขาที่มีชื่อว่า ทะเลทราย ได้ที่ www.wanakam.com
[4] Claude Simon (1913-2005) นักเขียนฝรั่งเศสที่ได้รับรางวัลโนเบลปี ค.ศ. 1985 ที่งานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสงคราม แต่กระนั้นโคล้ด ซิม็งกลับสามารถบรรยายภาพเหตุการณ์ที่ดูโหดร้ายรุนแรงได้งดงามและน่าตื่นตะลึงได้ราวกับภาพจิตรกรรม
[5] Michel Butor (1926- ) นักเขียนฝรั่งเศสที่เป็นหนึ่งในแกนนำของนูโวโรม็อง กลุ่มวรรณกรรมหัวก้าวหน้าที่หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นรุ่งอรุณของนวนิยายรูปแบบใหม่ของฝรั่งเศสที่มีพลังในการสร้างสรรค์มากที่สุด ในช่วงทศวรรษที่ 50
[6] Alain Robbe-Grillet (1922- ) นักเขียนในกลุ่มนูโวโรม็องอีกคนที่ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่ง ผลงานของร็อบบ์-กริเยต์ประเภทเรื่องสั้นเคยมีแปลออกมาเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ในช่วง 5-6 ปีที่แล้ว หลายต่อหลายชิ้น

Comments