ฟอสซิลจัง: อนุกูล เหมาลา
หนังสือ รวมเรื่องสั้น ฟอสซิลจัง
ผู้เขียน อนุกูล เหมาลา
สำนักพิมพ์ เคหวัตถุ
พิมพ์เมื่อ กุมภาพันธ์ 2555
บรรณาธิการ อนุสรณ์ ติปยานนท์
หนา 132 หน้า
ราคา 155 บาท
ISBN 9789748258638
ชายคนหนึ่งสามารถเหาะได้ แต่ไม่ยอมบอกให้ใครรู้
ไม่ยอมแสดงความสามารถ “พิเศษ” นี้ออกมาให้ใครเห็น
เพราะกลัวความแปลกแยกกับคนอื่นในสังคม
อย่างไรก็ตามเขาก็แอบฝึกฝนการเหาะเงียบ ๆ จนกระทั่งเรียนจบ
แต่เมื่อจบออกมา ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ เขาก็ค่อย ๆ
หลงลืมวิธีการเหาะไปในที่สุด และกลายเป็นคนธรรมดาที่มีครอบครัว มีรถ มีเงินเก็บ
จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนแสดงความสามารถในการเหาะขึ้นมาในสังคม
เขานั่งดูทีวีกับลูกและเมียที่บ้าน เขาบอกลูกและเมียว่าเขาก็เคยเหาะได้ ไม่มีใครเชื่อ
ต่อมาการเหาะได้กลายเป็นเรื่อง “สามัญ” และเป็นความสามารถที่ได้รับการส่งเสริมในสังคม
กระทั่งเป็นความสามารถหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์และอำนาจ
ข้างต้นคือเรื่องย่อของเรื่องสั้นชื่อ “ความสามารถในการเหาะ”
รวมอยู่ในรวมเรื่องสั้น ฟอสซิลจัง ของ อนุกูล เหมาลา ความน่าสนใจของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือ
มันไม่ได้จบลงตามประเพณีของการเล่าเรื่องทำนองนี้
ซึ่งมักจะลงเอยที่ความรู้สึกเสียดายหรือหงอยเหงาของตัวละคร “ความสามารถในการเหาะ”
นี้อาจจะเป็นอะไรสักอย่างซึ่งเราเคยทำได้ เคยผูกพัน
ทอดทิ้งมันไป อาจจะเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย
ๆ หรือแม้แต่เป็นนามธรรมอย่างเช่น ความดี ความงาม ความยุติธรรม
ความผกผันของเรื่องอยู่ในส่วนสุดท้าย ซึ่ง “ความสามารถในการเหาะ”
กลับกลายมาเป็น “สิ่งสามัญ” ที่คนต้องไขว่คว้า เพื่อผลประโยชน์และอำนาจ ทำให้ความหมายของ “ความสามารถพิเศษ” นี้สมควรต้องทบทวนและตั้งคำถามต่อ
คำว่า “ความสามารถพิเศษ” ย่อมหมายถึงความสามารถที่
“คนทั่วไป” ทำไม่ได้
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีความสามารถพิเศษกับสังคมเป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเอง
เนื่องจาก แม้ความสามารถพิเศษจะทำให้คนโดดเด่นเป็นที่สนใจจากสังคม
แต่ก็ทำให้ผู้มีความสามารถพิเศษแปลกแยก
ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคมในเวลาเดียวกัน
เมื่อความสามารถพิเศษที่เราได้ทอดทิ้งไปถูกให้ความสำคัญขึ้นมาในสังคม
และเหตุที่เราทอดทิ้งมันไปก็เพราะเรากลัวว่าความ “พิเศษ” นี้จะทำให้เราแปลกแยกออกจากสังคม
ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความขัดแย้งในตัวเองจึงดูเหมือนจะคลี่คลายออก
เราอาจรู้สึกเสียดาย หรือโหยหา รู้สึกถึงโอกาสที่สูญเสียไป แต่เมื่อความพิเศษนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ความสามัญ” เป็นสิ่งที่คนไขว่คว้าเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ ความขัดแย้งในตัวเองก็เกิดขึ้นอีกครั้ง
ความหมายของ “การเหาะ” แปรเปลี่ยนไปถึงสามครั้งในเรื่องสั้นเรื่องนี้
จากแรกที่เป็นความสามารถ “พิเศษ” ที่ทำให้ตัวละครรู้สึกมีคุณค่า
(เพราะเป็นสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้)
แต่ก็ไม่กล้าแสดงออกเพราะกลัวว่าจะแปลกแยกจากสังคม
กลับกลายมาเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม (ไม่แปลกแยกอีกต่อไป) และสุดท้ายกลายมาเป็นสิ่งสามัญ
(ไม่พิเศษอีกต่อไป)
เรื่องสั้น ความสามารถในการเหาะ
เป็นหนึ่งในสิบห้าเรื่องสั้นในหนังสือรวมเรื่องสั้น ฟอสซิลจัง เขียนโดย อนุกูล
เหมาลา นักเขียนหนุ่ม
เรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องสั้น ๆ ยาวไม่กี่หน้า
เมื่ออ่านแล้วต้องขบคิด เพราะเล่าเรื่องด้วยมุมมองที่ผู้อ่านอาจไม่คุ้นเคย
อีกทั้งยังมีความหมายและแง่มุมให้ขบคิดอยู่หลายชั้น
เป็นเรื่องสั้นที่นักอ่านที่ชอบคิดไม่ควรพลาด
พิมพ์ครั้งแรก IMAGE
Comments
Post a Comment