ก่อนความหมายจะหายลับ
สิ่งที่น่าสงสัยที่สุดในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ก็คือประโยคที่นำมาวางไว้ก่อนจะเข้าเรื่อง
ซึ่งคำตามระบุไว้ว่า “เป็นประโยคที่มีความหมาย
ชวนให้ขบคิดไปได้หลายนัยอย่างยิ่ง” หากพลิกกลับไปอ่านประโยคดังกล่าวซึ่งมีความว่า
“...เมื่อปรากฏรอยสัตว์ลงกินน้ำใหม่ ๆ เช่นนั้น
ท่านก็ควรจะเร่งติดตามรอยไป แต่พรานรบเร้าให้นั่งซุ้ม ยืนยันว่าอย่างไรเสียมันจะกลับมากินในไม่ช้าไม่นาน...”
ก็คงต้องตั้งคำถามว่า ประโยคนี้มีหลายนัยอย่างไร? เพราะอ่านแล้วความก็ชัดเจนอยู่ในตัวเองว่าเป็นความเห็นของพรานล่าสัตว์
ว่าสัตว์เจ้าของรอยจะต้องย้อนกลับมากินน้ำที่เดิม เพียงเท่านั้น
คำตามนอกจากจะไม่อธิบายประเด็นที่เปิดไว้เองว่า “หลายนัย”
แล้ว ยัง “โมเม” เอาประโยคดังกล่าวมาอธิบายรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ว่า “ชี้ชวนให้คนอ่านคิดไปได้ว่าตัวละครในเรื่องสั้นทั้งแปด
อาจเป็นคนที่ตามรอยสัตว์หรืออาจเป็นสัตว์ที่ตามรอยคน..” แล้วก็สรุปว่า
“ทำให้ความหมายของคนจึงไม่เป็นคน และความหมายของสัตว์ถึงไม่เป็นสัตว์..”
ทั้งที่ประโยคนี้มีความหมายชัดเจนและในบริบทเดิมของมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับรวมเรื่องสั้นเล่มนี้เลย
คำตามนี้จึงดูขัดแย้งกับชื่อ “ก่อนความหมายจะหายลับ” เพราะความหมายไม่มีตั้งแต่แรก
การพยายามให้ความหมายกลายเป็นการนำอะไรก็ได้ที่ประกอบเข้ามาแล้วดูเหมือนจะมีความหมาย
(สามารถสรรประโยคได้อีกร้อยแปดพันเก้าจากหนังสือนิยายบู๊, ตำราแพทย์,
คู่มือเตรียมสอบ, คำประกาศคณะปฏิวิติ, ใบปลิวโฆษณา
ฯลฯ แล้วเอามาเขียนเองให้เกิดความหมายแบบนี้)
เรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่องใน
ก่อนความหมายจะหายลับ โดยสมุด ทีทรรศน์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสูญเสียความเป็นคน,
การกีดกันความเป็นคน ความบกพร่องหรือแหว่งวิ่นของความเป็นคน
กระทั่งความอัปลักษณ์ของความเป็นคน ความเป็นคนถูกนำเสนอในหลากหลายมิติ
และเทียบเคียงกับสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งความตาย
เมื่อพิจารณาร่วมกับคำอุทิศที่มอบให้กับ “มนุษยภาพ” แล้ว
ก็พอจะเห็น “ธง” ที่เป็นประเด็นความคิดของผู้เขียนได้
ท่วงทำนองของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในหนังสือเล่มนี้
ใกล้เคียงกับสิ่งที่ฟริดริค ชเลเกล นักเขียนในขบวนการโรแมนติกนิยมของศตวรรษที่ 18
เรียกว่า ชิ้นส่วนวรรณกรรม (literary fragments) คือเป็นส่วนของวรรณกรรมที่ขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง
แต่แม้จะไม่สมบูรณ์มันก็ยังสะท้อนความหมายบางอย่างออกมา
สำหรับนักเขียนที่ต้องการรังสรรค์สิ่งใหม่
การพยายามหลีกเลี่ยงความสมบูรณ์แบบ และหมกมุ่นกับท่วงท่าของการเล่าเรื่อง
เป็นสิ่งที่สมควร กระนั้น มันก็ไม่ได้หมายความว่าการเขียนอะไรก็ตามบนพื้นฐานนี้จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่พยายามคิดกับประเด็นที่ตัวเองกำลังเขียนไปให้ตลอด
หากอ่านด้วยความคาดหวังว่าจะได้พบคำตอบอะไรสักอย่างเกี่ยวกับความเป็นคน
หลายเรื่องในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จะทำให้ผิดหวัง
เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่าผู้เขียนไม่ได้คิด หรือทำงานทางความคิดกับประเด็นที่กำลังนำเสนออย่างจริงจังเท่าที่ควร
หลายเรื่องเป็นได้แค่งานปฏิกิริยา มีเนื้อสารที่แคบ
หรือมีแต่คำถามที่ปราศจากการใคร่ครวญ
เรื่องสั้นใน ก่อนความหมายจะหายลับ
เป็นเหมือนงานทดลอง มากกว่างานที่ผ่านการครุ่นคิดและมีประเด็นแหลมคม เป็นการนำเสนอชิ้นส่วนที่แหว่งวิ่นให้ผู้อ่านพิจารณาความหมายที่อาจบรรจุอยู่ข้างใน
การเล่าเรื่องอืดเอื่อย ท่วงทำนองเป็นแบบแอนตี้พล็อต ต่อต้านการเร้าความสนใจคนอ่าน
โครงเรื่องหลวมจนถึงไม่มี ไม่เหมาะกับผู้อ่านที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบ
แต่เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนขั้นตอนพัฒนาการของเรื่องสั้นไทยได้อย่างน่าสนใจ
เพียงแต่ในกระบวนการสร้างสรรค์ยังให้น้ำหนักกับรูปแบบและท่วงทำนองเป็นหลัก
และความหมายที่อยู่ในแต่ละชิ้นส่วนขาดพลังขับเคลื่อน
Comments
Post a Comment