ผลงานของนักเขียนถนัดซ้ายผู้ด้อยพัฒนา






ปัญหาหนึ่งในศิลปะการเขียนเรื่องสั้นที่ดำรงอยู่ในทุกสมัยก็คือ จะทำให้ สิ่งที่ไม่ได้เขียนนั้น ปรากฏขึ้นได้อย่างไร

ผู้เขียนเรื่องสั้นจะต้องแสวงหาหนทางในการทำให้ผู้อ่านรู้ในสิ่งที่ตนอยากจะบอกแต่บอกไม่ได้ เพราะการบอกนั้นจะลดทอนเนื้อหาของสิ่งที่จะบอก หรือแม้แต่ทำลายความเป็นศิลปะในเรื่องสั้นลงให้กลายเป็นเพียงนิทานสอนใจ (อันที่จริง แม้แต่นิทานสอนใจ ก็ยังแสวงหาชั้นเชิงในการบอกเล่าเพื่อให้ผู้อ่านรู้สิ่งที่ต้องการ สอนเพียงแต่มีการเฉลยในตอนจบเพื่อประกันว่าสิ่งที่ผู้อ่านหรือผู้ฟังจะต้อง รู้นั้นคือสิ่งเดียวกัน)

รวมเรื่องสั้น ผลงานของนักเขียนถนัดซ้ายผู้ด้อยพัฒนา ของ วรวิช ทรัพย์ทวีแสง ได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะ ไม่บอกผู้อ่าน จนดูเหมือนจะข้ามเส้นไปสู่การ ไม่มีอะไรจะบอก

คำถามแรกจากผู้อ่านที่จะผู้เขียนจะต้องเผชิญจึงคือ เขียนมาให้อ่านทำไม?” เพราะข้อตกลงข้อแรกในการอ่านเรื่องสั้นระหว่างผู้อ่านและผู้เขียนก็คือ ผู้เขียนเขียนเรื่องออกมาให้ผู้อ่าน ๆ ก็เพื่อจะ บอกอะไรสักอย่าง ถ้าไม่มีอะไรจะบอก แล้วจะเขียนมาให้อ่านทำไม (วะ) ?

ผมไม่ได้เขียนรหัสมาให้ถอด ถึงต้องมีเฉลยว่าสิ่งที่ผมจะบอกคืออะไรอย่างไร แล้วบอกว่าถูกต้อง

ข้างต้นเป็นบางส่วนจากบทสัมภาษณ์วรวิช ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 มกราคม 2554  คำกล่าวนี้มักได้ยินได้ฟังจากนักเขียนอยู่บ่อยครั้ง แต่มันก็เป็นเพียง ท่าทีหรือ การแสดงออกอย่างหนึ่ง เพราะไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า ถ้าไม่มีอะไรจะบอก (จริง ๆ) แล้วเขียนมาให้อ่านทำไม? เพราะงานเขียนในกรณีที่เป็นงานเขียนสาธารณะนั้น ผู้เขียนย่อมคาดหวังการตอบสนองจากผู้อื่น อย่างน้อยก็คือ การอ่านผู้เขียนไม่ได้เขียนออกมาเฉย ๆ ไม่ได้เขียนเสร็จก็เผาทิ้ง หรือเก็บไว้ในลิ้นชัก แต่ได้ทำการเผยแพร่ และแม้แต่ใช้พลังอย่างมากมายเพื่อจะเผยแพร่ข้อเขียนออกไปสู่สาธารณะ ความเป็นไปของกิจกรรมเหล่านี้ทั้งหมด ล้วนตั้งอยู่บนข้อตกลงระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านว่า ผู้เขียนต้องการเสนออะไรบางอย่างซึ่งมากไปกว่าแค่กระดาษสี่เหลี่ยมเอามาเย็บติดกันเป็นเล่ม อย่างไรก็ตามในบทสัมภาษณ์ชิ้นเดียวกันนี้ วรวิชก็ได้ขยายความเพิ่มว่า

ผมอยากให้ผู้อ่านถามตัวเองมากกว่า ว่าอ่านแล้วคิดอย่างไร หรือได้รับอะไรไป นั่นก็คงเป็นสิ่งที่เรื่องสั้นของผมทำหน้าที่ คือสื่อความนั้นๆไปถึงผู้อ่าน ซึ่งบางทีผมไม่ได้คิดถึงตรงนั้นด้วยซ้ำ ถ้าคนอ่านอ่านงานผมแล้วเห็นความคิดตัวเองนั่นผมถือว่างานผมได้ทำหน้าที่ได้อย่างดีแล้ว

จากคำตอบข้างต้น ทำให้เห็นว่า อะไรบางอย่างที่วรวิชต้องการเสนอกับผู้อ่านนั้น ไม่สามารถ บอกได้ เพราะสิ่งที่ผู้เขียนต้องการเสนอจริง ๆ คือ กระบวนในการขบคิด (โดยตัวของผู้อ่านเอง)

เงื่อนไขของการ มีอะไรบางอย่างจะบอกนั้น กล่าวได้ว่าเป็นพันธกรณีระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน โดยเฉพาะในกรณีของเรื่องสั้น พันธกรณีนี้ยังมีความพิเศษขึ้นไปอีก กล่าวคือ นอกจากผู้อ่านจะคาดหวัง อะไรบางอย่างที่ผู้เขียนจะบอกแล้ว ผู้อ่านยังคาดหวังอีกด้วยว่า อะไรบางอย่างนั้นจะถูกบอกเล่า อย่างไร  และสิ่งนี้ก็ขับเคลื่อนพัฒนาการของศิลปะการเขียนเรื่องสั้นให้มีความเปลี่ยนแปลงในส่วนของชั้นเชิงการเล่าเรื่องมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดการสั่นสะเทือนในแวดวงทางปัญญาครั้งใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปรัชญาความคิดเกี่ยวกับ ความจริงที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวหรือ ความจริงแท้ได้ถูกสั่นคลอนละส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์หนึ่งในแวดวงการเขียนเรื่องสั้น ก็คือ การเขียนในสิ่งที่ไม่มีอะไรจะบอก

แต่แม้ว่าการเขียนในสิ่งที่ไม่มีอะไรจะบอกได้สะท้อนให้เห็นการแตกสลายของความจริงสูงสุดในทางปรัชญา แต่เนื้อหาสาระของสิ่งนี้โดยตัวของมันเองก็อนุญาตให้กระทำได้เพียง ครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น (original)  เพราะการเขียน สิ่งที่ไม่มีอะไรจะบอกซ้ำ ๆ ซาก ๆ โดยไม่ก่อให้เกิดความหมายอะไรใหม่ คือการผลิตซ้ำที่ไร้ความหมายและต่อต้านปรัชญาของตัวมันเอง (กลายเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่มันโจมตี) และคนอ่านก็อาจตอบว่า กูรู้แล้วโว้ย (ว่ามึงไม่มีอะไรจะบอก) บอกครั้งเดียวก็พอดังนั้นผลสะเทือนของกระบวนการสร้างสรรค์นี้จึงส่งให้องค์ประธานของการเฉลยกระดอนจาก ผู้เขียนมาเป็น ผู้อ่านโดยผู้เขียนลดทอนฐานะในพิธีกรรมการอ่านจากการเป็นผู้ให้ความหมายมาสู่การเป็นเพียง ผู้ตระเตียมตัวบทและเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่ของกระบวนการสร้างความหมายให้กับผู้อ่านเท่านั้น

ทว่า ผลงานของนักเขียนถนัดซ้ายผู้ด้อยพัฒนา ไม่มีอะไรจะบอกจริง ๆ หรือ?

สังเกตได้ว่า แม้แต่นัยของชื่อหนังสือ ก็แสดงให้เห็นว่ามี อะไรบางอย่างที่จะบอก และผู้อ่านก็สามารถรู้โดยนัยได้ในทันที อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องรู้ว่า เรื่องสั้นเล่มนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง หรืออย่างน้อยก็จะต้องมีความเชื่อมโยงอย่างใดอย่างหนึ่งกับการเมือง

สิ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจที่สุดในการอ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ก็คือ มันเป็นรวมเรื่องสั้นที่มีลีลาการเขียนที่ ไม่บอกหรือเขียนโดยลดทอนสิ่งที่จะบอกลงให้น้อยที่สุด ในบริบทการเมืองไทยแบบยุคกลางที่เต็มไปด้วยสิ่งที่ ไม่สามารถจะเขียนได้   ดังนั้น การลดทอนสิ่งที่เขียนได้ตามปรกติมาสู่การ ไม่เขียนจึงทำให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่าง สิ่งที่เขียนได้ตามปรกติกับ สิ่งที่ไม่สามารถเขียนได้เป็นอันขาดไม่ว่ามันจะเป็นความบังเอิญหรือความจงใจทางศิลปะ แต่มันก็ยังคงเป็นการประจวบเหมาะที่น่าอัศจรรย์อยู่ดีสำหรับการเขียน-อ่านเรื่องสั้น ณ ขณะนี้ และอำนาจย่อมขึ้นอยู่กับผู้อ่านว่าจะทำให้ สิ่งที่เขียนไม่ได้เปล่งความหมายออกมาหรือไม่ในท่ามกลางสิ่งที่เขียนได้แต่ไม่ได้เขียน
               

Comments