ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ตรอมตรม






ภาณุ ตรัยเวช เขียน สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์พิมพ์เมื่อ มีนาคม 2551

รวมเรื่องสั้น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ตรอมตรม ของ ภาณุ ตรัยเวช ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 10 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้นไม่กี่หน้า ยกเว้นเรื่อง ผู้ไร้เหย้า ซึ่งยาวเป็นพิเศษ  และ เรื่อง บทสนทนาในร้านกาแฟ กับเรื่อง ปรากฏการณ์ที่ใครคนหนึ่งหายไปจากชีวิตของใครอีกคน มีความยาวขนาดย่อมลงมา คือประมาณ 15-18 หน้าหนังสือเล่ม

สำหรับเรื่องสั้นในเล่มนี้ ความเข้มของตัวเรื่องค่อนข้างจะสัมพันธ์กับความยาว โดยเรื่อง ผู้ไร้เหย้า ซึ่งยาวที่สุดนั้น ก็กล่าวได้ว่ามีเรื่องราวที่เข้มข้นโดดเด่นกว่าเรื่องอื่น ๆ

ผู้ไร้เหย้าเป็นเรื่องสั้นอิงประวัติศาสตร์สมมต ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของ ปักฉักปานา บันบาตอ หรือ นายพลเมฆคลั่ง แห่งลูแซง รัฐสมมตซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของรัฐไทยจดตอนใต้ของจีน ผืนแผ่นดินสหพันธรัฐลูแซงในขณะนั้น กินชายแดนไทยพม่า รัฐฉาน ถึงเทือกเขาอันนัม ลาว เวียดนาม  ด้านเหนือติดคุนหมิง ลุ่มแม่น้ำแยงซี ด้านใต้ติดล้านนา” (หน้า 100)

การสร้างประวัติศาสตร์สมมตนั้นกล่าวได้ว่าเป็นงานประกอบสร้างขนาดมหึมา ตัวอย่างของวรรณกรรมสมัยใหม่ที่เป็นงานชิ้นยักษ์ซึ่งบรรจงสร้างอย่างขึ้นอย่างประณีตละเอียดลออก็คือ The Lord of the Rings ของ J. R. R. Tolkien  ซึ่งออกแบบแม้แต่ภาษาและอักขระสมมต   เรื่อง ผู้ไร้เหย้า นี้ แม้จะเป็นเพียงเรื่องสั้น แต่เมื่อเป็นการสร้างประวัติศาสตร์สมมตขึ้นมาแล้ว ก็ยังถือได้ว่าเป็นงานประกอบสร้างขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดซับซ้อน

การเขียนประวัติศาสตร์สมมตินั้นก็เปรียบได้กับการสร้างเรื่องโกหกสมบูรณ์แบบ ความน่าเชื่อถือของเรื่องที่มีเค้าโครงครอบคลุมอาณาเขตกว้างใหญ่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์หรือตัวละครเพียงตัวใดตัวหนึ่ง หากแต่ทุกรายละเอียดของเรื่องจำเป็นต้องสมดุลกันตลอดเรื่อง หากมีเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดที่ขัดแย้ง หรือขาดความน่าเชื่อถือ ก็สามารถทำลายโครงเรื่องทั้งหมดลงได้ แม้ว่าจะเป็นเพียงเรื่องสั้นก็ตาม ในกรณีนี้ต้องกล่าวว่า ภาณุ ตรัยเวช เขียนเรื่องผู้ไร้เหย้าขึ้นโดยรอบคอบและแนบเนียนอย่างหาได้ยากในหมู่นักวรรณกรรมไทยร่วมสมัย

กลวิธีการประพันธ์ของผู้ไร้เหย้าใช้การผสมผสานวาทกรรมประวัติศาสตร์ วาทกรรมของงานเขียนชีวประวัติบุคคล และวาทกรรมสื่อสารมวลชน เข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อม ก่อให้เกิดท่วงทำนองการเล่าที่หลากไหลราบรื่นและชวนตื่นตาตื่นใจ  เรื่องราวชีวิตของ ปักฉักปานา เป็นส่วนผสมที่คละเคล้ากันของบุคคลในประวัติศาสตร์จริง โดยที่ฉายออกมาอย่างค่อนข้างจะเห็นชัดก็คือ นโปเลียน โบนาปาร์ต และ เช เกวารา  ขณะที่ฉากหลังที่ใช้รองเรื่องสมมตทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์จริงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองไล่มาจนถึงปัจจุบัน  และด้วยการใช้ประวัติศาสตร์จริงรองไว้เหมือนกับฉากเลือนรางที่อยู่ไกล ๆ นี้เองก็ทำให้ประวัติศาสตร์สมมตของลูแซงโดดเด่นขึ้นมา โดยเฉพาะความขัดแย้งของการเมืองภายในประเทศที่ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองในช่วงปลายเรื่อง ได้จับเอาประเด็นสำคัญในประวัติศาสตร์จริงระยะใกล้ขึ้นมาแสดงไว้อย่างแหลมคม

เรื่อง บทสนทนาในร้านกาแฟ เป็นเรื่องสั้นที่มีกลิ่นอายแบบเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ ดำเนินเรื่องฉับไว ตัวละครต่อบทสนทนากันอย่างฉะฉาน เรื่องราวเป็นการอภิปรายกันของตัวละครเกี่ยวกับการย้อนเวลา การแก้ไขประวัติศาสตร์ และการดำรงอยู่ของพระเจ้า

เรื่อง ปรากฏการณ์ที่ใครคนหนึ่งหายไปจากชีวิตของใครอีกคน เป็นเรื่องที่เข้าทำนอง รักระหว่างรบเป็นเรื่องราวของตัวละครและชะตากรรมความรักที่มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงบริเวณสนามหลวงหรือถนนราชดำเนินเป็นฉาก เรื่องสั้นในลักษณะนี้ พิสิฐ ภูศรี ก็เคยเขียนไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ข้าพเจ้าจำชื่อเรื่องไม่ได้เสียแล้ว

เรื่องสั้นที่เหลือเป็นเรื่องสั้นไม่กี่หน้า ในจำนวนเรื่องเหล่านี้ เรื่องที่โดดเด่นได้แก่เรื่อง สระว่ายน้ำ เป็นเรื่องเรียบ ๆ ดำเนินผ่านบทสนทนาของตัวละครสองตัว แต่เมื่ออ่านจบแล้วก็ให้ความรู้สึกที่น่าสนใจ ความหมายที่เกิดขึ้นจากการอ่านไม่ได้เป็นความคิดในลักษณะของเหตุผล แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มักทำให้คนถวิลถึงบางสิ่งบางอย่าง

เรื่องสั้น ประพจน์บอกไม่เป็นไร เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากต่อการให้ความหมายที่สุด เนื่องจากหากอ่านเพียงผิวเผินจะเหมือนว่าผู้เขียนไม่แสดงเจตนาของการสื่อสารใด ๆ ไว้  เรื่องสั้นในลักษณะนี้บางครั้งก็คล้ายกับนักเขียนเขียนอะไรได้ก็เขียนออกมา เป็นเหมือนการจัดระเบียบจิตสำนึกออกมาเป็นเรื่อง ๆ หนึ่ง โดยปราศจากเจตนาที่จะสื่อสาร  แต่ถ้าจะจับความหมายกันจริง ๆ ก็ยังเป็นสิ่งที่กระทำได้ โดยนัยสำคัญของตัวเรื่องก็อยู่ที่ชื่อเรื่องนั่นเอง เป็นประเด็นเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันที่แสดงถึงอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนระหว่างคน ตามความเห็นของข้าพเจ้าเรื่องนี้ยังมีรายเอียดที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ทำให้ความหมายของเรื่องค่อนข้างจะเลือนราง

เรื่อง อิรัสไชมะเซะ ก็มีบางอย่างพ้องพานกับเรื่อง ประพจน์บอกไม่เป็นไร เหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องเกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไม่มีที่มาที่ไป  จู่ ๆ ตัวละครก็ถูกลากไปพบกับหญิงชราที่เคยตัดชุดกิโมโนให้ปรีดี พนมยงค์ กับ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม  คำว่า อิรัสไชมะเซะ เป็นคำจากภาษาญี่ปุ่น แปล (ข้าพเจ้าเดาเอาเอง) เป็นทำนองได้ว่า ยินดีต้อนรับ หรืออะไรประมาณนั้น เป็นคำที่พนักงานใช้เรียกต้อนรับลูกค้าเวลาเดินเข้าร้าน และเป็นคำที่คนมักนำมาใช้เป็นชื่อร้านอาหารญี่ปุ่น (ในเมืองไทยมีร้านชื่อดังกล่าวอยู่หลายร้าน)  ท่วงทำนองของเรื่องไม่ได้มีนัยความหมายอะไรเป็นพิเศษ (อ่านแบบปรกติ ไม่ได้คาดคั้นหรือพยายามโหนให้เกิดความหมาย) การนำปรีดี พนมยงค์ กับ จอมพล ป. มาโยงกับหญิงชราในลักษณะของคู่แข่งหัวใจ (หรือเปล่า?) ก็ก่อให้เกิดความหมายที่เลือนรางเต็มที นัยของเรื่องนี้จึงเป็นไปได้ทั้ง กรณีที่ผู้เขียนไม่มีเจตนาจะสื่อสาร และมีเจตนาจะสื่อสารแต่เป็นเรื่องที่เฉพาะจนเกินไป

ส่วนเรื่องสั้นอื่น ๆ ที่เหลือก็ปนเปกันไประหว่างเรื่องเสียดสีที่มีท่วงทำนองอย่างนิยายวิทยาศาสตร์และเรื่องสั้นหักมุมนิ่ม ๆ  เช่นเรื่อง น้องน้อย และนวลนาง เปิดเรื่องขึ้นมาเหมือนกับเรื่องที่กำลังจะวิพากษ์วิจารณ์การกดขี่ข่มเหงทางเพศในสำนักงาน แต่ท้ายเรื่องกลายเป็นว่าตัวละครหลักกลับเป็นฝ่ายที่ปรารถนาจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ภาพรวมของเรื่องสั้น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ตรอมตรอม มีน้ำเสียงการเล่าเรื่องที่หลากหลาย ดำเนินเรื่องกระชับ ฉับไว ตัวละครต่อบทสนทนากันได้อย่างมีสีสันไม่น่าเบื่อ การใช้ภาษาไม่ได้มีความประณีตละเอียดอ่อนเป็นพิเศษแต่ก็ไม่ปรากฏข้อบกพร่องทางไวยากรณ์ทั้งในภาษาและการเล่า  ไม่ปรากฏอารมณ์โรแมนติก หรือลักษณะ สาธารณ์ดาษดื่นที่พบได้บ่อยในวรรณกรรมไทยร่วมสมัย  ผู้เขียนค่อนข้างสงวนท่าทีในการแสดงจุดประสงค์ของการสื่อสาร  เป็นรวมเรื่องสั้นที่มีท่วงทีการเล่าเรื่องแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับวรรณกรรมไทยในทศวรรษ 2530 ที่ผู้เขียนมีธงของการสื่อความที่ชัดเจน ในขณะเดียวกันก็คลี่คลายมากกว่าวรรณกรรมในทศวรรษ 2540 ที่ดูสับสนในเรื่องการสื่อความ  ไม่ปรากฏอิทธิพลของนักเขียนคนใดคนหนึ่งหรือวรรณกรรมตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นพิเศษ

เป็นรวมเรื่องสั้นที่น่าสนใจที่สุดเล่มหนึ่งในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา

4-6-2551

Comments