พิพิธภัณฑ์เสียง






ได้อ่านนิยาย พิพิธภัณฑ์เสียง แล้วก็เสียดาย ผู้เขียนหมดแรงเสียก่อน เหมือนวิ่งทางไกลไปจนถึงกิโลท้าย ๆ ก็หมดแรงไปเสียเฉย ๆ

นิยายเรื่องนี้อ่านสนุก ใช้เวลาไม่นาน มีการทิ้งสัญลักษณ์ให้ค้นหาตีความ นิยายแบ่งเป็นส่วน ๆ สั้น ๆ 65 ส่วน แต่ช่วงตั้งแต่ส่วนที่ 50 กว่า ๆ เป็นต้นไปเหมือนนักเขียนหมด ไปต่อไม่ได้ เรื่องก็เลยไม่มีแรง

หนังเรื่อง Mary is happy ก็มีปัญหาคล้าย ๆ กัน คือช่วงหลังของเรื่องสะเปะปะ แบบที่เขาพูดกันว่า เวิ่นเว้อ” (แปลว่าอะไรผมก็ไม่ทราบนะ) ผมรู้สึกว่ามันเป็นอาการ ไปไม่เป็นแบบเดียวกับที่เกิดในเรื่อง พิพิธภัณฑ์เสียง โดยเฉพาะการตายของตัวละครหลัก (คือ ซูริใน Mary is Happy กับ จ๊ะ ในพิพิธภัณฑ์เสียง) ทั้งสองกรณีเห็นได้ชัดว่าผู้เขียน / ผู้สร้าง ต้องการสะท้อน / แสดง ภาพเปรียบทางการเมือง แต่เดินเรื่องมาฟอร์มเดียวกัน แล้วก็ ไปไม่เป็นเหมือนกัน

ผมเห็นว่าเกิดจากความคิดของผู้เขียนหรือผู้สร้างงานนั้น ยังไม่ชัดคือมีแต่อารมณ์บางอย่าง, เรื่องที่อยากจะพูดบางเรื่อง, คำถามบางคำถาม แต่ไม่สามารถสังเคราะห์ออกมาเป็นความคิดหรือประเด็นหรืออารมณ์ความรู้สึกอะไรสักอย่างที่กระจ่างชัดในงาน เวลาพูดอย่างนี้ก็มักจะมีข้ออ้างว่า จำเป็นต้องชัดหรือ? ขอตอบว่า จำเป็นครับ โดยเฉพาะความไม่ชัดที่เกิดจากการที่ยังคิดไม่มากพอ คือ ความไม่ชัด ความคลุมเครือ ความงุนงง หรืออะไรต่าง ๆ ที่เกิดในงานศิลปะแล้วมีพลังจริง ๆ นั่นคือ ส่วนใหญ่ผู้สร้างงานเขา รู้ตัวและ ชัดนะครับ ว่าตัวเองกำลังจะพูดเรื่องอะไร หรืออย่างน้อยไอเดียของเขามันคืออะไร มันจึง ไม่ชัดแบบมีความหมายซึ่งแตกต่างกับการไปไม่ถูก หรือคิดอะไรไม่ออก หรือไม่รู้จะแสดงออกหรือสื่ออย่างไร

ศิลปะต่าง ๆ ที่พยายามจะสะท้อนหรือบอกเล่าหรือพูดถึงการเมืองที่ผ่านมา ผมมีข้อสังเกตอยากให้ลองพิจารณาดู (อันนี้โดยภาพรวมนะครับไม่ได้เจาะจง)

ข้อแรก เพดานของคนทำงาน ทั้ง หนัง, นิยาย, ละคร และเพลง เวลาเขียนถึงการเมือง จะมีแต่ ภาพอุปมาไปถึงเรื่อง ความรักเรื่องเดียว แทบไม่มีงานที่สามารถสร้าง ภาพอุปมาซึ่งพ้นผ่านเพดานเรื่องความรักไปได้เลย และเกือบทั้งหมดเป็นความรักแบบหนุ่มสาว เรื่อง พิพิธภัณฑ์เสียง กับ Mary is Happy มีความพยายามใส่เรื่อง ความรักเพศเดียวกันเข้ามา แต่ที่สุดแล้ว ก็ไปไม่พ้นเพดานของภาพอุปมาของความรักแบบหนุ่มสาว ซึ่งเป็นสภาพที่เรียกว่า ทั้ง ขาดแคลนจินตนาการและ อับจนความคิด

ปรากฏการณ์ใหญ่ๆ อย่างวิกฤตการเมืองไทยที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายปีนี้ ต้องการ ภาพอุปมาที่กินมิติไปมากกว่าแค่เรื่องความรักแน่ ๆ แต่ทำไมถึงเขียนออกมาได้แค่นี้

ข้อสอง งานส่วนใหญ่ ล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว บางกรณีไม่กี่เดือนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะงานวรรณกรรมที่ในแง่ อายุมันควรยาว ปรากฏว่า ล้าสมัยไปอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงปี เพราะตามไม่ทันปรากฏการณ์ทางการเมืองใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง

ปัญหาทั้ง 2 ข้อ นอกจากข้อจำกัดในเรื่อง ทักษะหรือ ฝีมือแล้ว ผมเห็นว่าเป็นปัญหาของความคิด ถ้าความคิด (ที่จะสร้างงาน) มันใช้อธิบาย หรือสร้างภาพอุปมาได้ ไม่ตลอดอยู่แบบนี้ มันแสดงให้เห็นว่า ความคิดแบบนั้น หรือฐานที่มาของความคิดแบบนั้น มัน ไม่มีกระดูกหมายถึง คุณเอาแต่คิด ตามสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เป็นเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ทางอารมณ์ คือคิดไล่หลังตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อย จึงไม่สามารถที่จะ "คิดผ่าน" ไปสู่ระดับของมุมมองที่อธิบาย หรือสร้างภาพอุปมาที่กว้างกว่า หรือใช้อธิบายได้ตลอดกว่า

ในเรื่อง ทักษะผมเห็นว่าเป็นเรื่องของการไร้ความสามารถที่จะเขียนหรือสร้างงานแบบ สัจนิยม ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องมาเขียนแนวสัจนิยม แต่สัจนิยมมันเป็น ทักษะที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อต้องการสะท้อนภาพปรากฏการณ์ คือไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนออกมาเป็นสัจนิยม แต่มันมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างงาน หรือการคลี่คลายงานออกไป และผมเห็นว่านักเขียนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างอ่อนกับงานสัจนิยม คือจะเขียนได้ต้องมี สไตล์มากำกับ แต่ถ้าให้เขียนแบบพื้น ๆ เรียบ ๆ นี่ไม่สามารถเขียนได้ ถ้าเป็นคนเขียนภาพก็คือ อานาโตมี่มั่วไปหมด เขียนวิว perspective ก็มั่วไปหมด บ้านเราอาจจะเคยชินกันว่า ทักษะแบบนี้ไม่ต้องมีก็สร้างงานที่น่าสนใจได้ แต่ผมอยากจะบอกว่า ถ้าคุณต้องมาทำงานที่ซีเรียสจริง ๆ และอยู่ในกรอบบังคับของปรากฏการณ์ การไม่มีทักษะแบบสัจนิยมเอาเสียเลยมันทำให้คุณมีปัญหาไม่สามารถคลี่คลายงานออกมาได้

2-1-14

Comments