Underground Buleteen 18
Underground Buleteen under 'teen forever สั่งลาด้วยการไว้อาลัย ไม้หนึ่ง ก. กุนที กวีนักสู้ซึ่งถูกสังหารในการต่อสู้กับเผด็จการ เป็นการไว้อาลัยย้อนหลังในวันครบรอบ 1 ปีของการเสียชีวิต ส่วนที่ 2 เป็นเนื้อหาของวารสารฉบับส่งท้าย ในหัวข้อ Why Write? และส่วนที่ 3 เป็นพาร์ทพิเศษ คือรวมเรื่องสั้นในสถานการณ์ก่อนการรัฐประหารซึ่งสะท้อนให้เห็นบรรยากาศทางความคิดก่อนที่จะเกิดการยึดอำนาจ รวมเรื่องสั้นเหล่านี้เคยส่งเข้าประกวดรางวัลพานแว่นฟ้า บก.ในฐานะที่เป็นกรรมการซึ่งมีความเห็นแตกต่างจากกรรมการรอบตัดสินเห็นเรื่องสั้นเหล่านี้แล้วรู้สึกเสียดาย จึงนำมาพิมพ์อยู่ในส่วนพิเศษ not under 'teen forever หนังสือที่มาก่อนกาล 8 ปีให้หลังความหมายของประโยคนี้จึงเปล่งประกายออกมาในที่สุด
หนังสือ
Underground Buleteen 18 Under’teen forever
บรรณาธิการ
วาด รวี
ผู้เขียน
วรพจน์ พันธุ์พงศ์, คนขับรถ, คนมองหนัง, พิเชฐ แสงทอง, เวิ้ง หมาบ้า, เวฬุ เวสารัช, รชา พรมภวังค์, เดือนวาด พิมวนา, อุทิศ เหมะมูล, ปราบดา หยุ่น, ประกาย ปรัชญา, ซะการียา อมตยา, ไอดา อรุณวงศ์, กิตติ จินศิริวานิชย์, จารุพัฒน์ เพชราเวช, สมุด ทีทรรศน์, อติภพ ภัทรเดชไพศาล, เจริญพงศ์ พรหมศร, จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์, ก้าววิโรจน์ ดำจำนงค์, อนันต์ เกษตรสินสมบัติ, ผู้ป่วยโอพีดี, ชุติเดช ยารังษี, ดุสิต จักรศิวาทิตย์, เงาจันทร์
สำนักพิมพ์
Shine Publishing House
เวลาพิมพ์
พฤษภาคม 2015
ISBN 9786167939018
ขนาดรูปเล่ม: 143x210x26 มม.
เนื้อใน: กระดาษปอนด์ 100 แกรม
ปก: กระดาษทวีด พิมพ์สี่สี เคลื่อบสป็อตยูวี ปั๊มจม
จำนวนหน้า: 408 หน้า
ราคาปก: 339 บาท
สั่งซื้อ ร้านสำนักพิมพ์ไชน์
วารสารหนังสือใต้ดินฉบับสุดท้าย ประกอบด้วยสามส่วนหลัก ส่วนแรก รำลึกถึงไม้หนึ่ง ก. กุนที, ส่วนที่สอง Why write? รวมข้อเขียนว่าด้วยแรงบันดาลใจแห่งการเขียน พร้อมภาพเหมือนของนักเขียน และบทสัมภาษณ์อัลเทอเนทีฟ ไรเตอร์ และส่วนที่สาม 13 เรื่องสั้น ก่อนสถานการณ์รัฐประหาร
"ชีวิตและความตาย" ของศิลปกรรมประกอบเล่ม
ภาพปกหลังและหน้าเปิดส่วนเรื่องสั้น
ภาพ The Tree of Life, Stoclet Frieze หรือ L’Arbre de Vie, Stoclet Frieze ในภาษาฝรั่งเศส วาดโดยศิลปินสัญลักษณ์นิยมชาวออสเตรีย กุสตาฟ คลิมต์ (Gustav Klimt) วาดเสร็จในปี ค.ศ.1909 ถือเป็นศิลปะสมัยใหม่ (Art Nouveau) สกุลจิตรกรรมสัญลักษณ์นิยม (symbolic painting genre)
ภาพหน้าสารบัญและภาพประกอบเรื่องสั้น
ภาพสีนํ้ามัน โดย Pieter Bruegel the Elder วาดปี ค.ศ.1562 ชื่อภาพ The Triumph of Death หรือ ชัยชนะของความตาย
เป็นภาพกองทัพโครงกระดูกกำลังฆ่าล้างผู้คนท่ามกลางภูมิทัศน์อันสิ้นหวัง
ภาพปกหน้า
วันที่ 13 มีนาคม ปี ค.ศ.2013 (พ.ศ.2556) ไม้หนึ่ง ก.กุนที โพสต์ภาพถ่ายนี้พร้อมกับเขียนสเตตัสว่า
“เป็นลูกผสมครับ พ่อชาวนาแม่ชาวสวน, เกิดในป่ามะพร้าว แล้วไปเติบโตในทุ่งนาระยะหนึ่ง
จากนั้นก็คืนสู่สวนนํ้าตาล ฝึกคาดเอวและกระชับอุ้งมือกำมีดปาดตาลตั้งแต่ 7 ขวบ 9 ขวบ
ป่ายปีน จวบกระทั่งจบ ป.ตรี
“เรียนรู้การจับปากกามาหลายปี แต่ปากกามันคงเบาเกินไม่ถนัดมือ ที่สุดกลายเป็นคนกุม
ปังตอเฉือนเป็ด
“อดีตรื่นรมย์ที่ถวิลหาครับ ภาพนี้คงถ่ายราวปี 39 กับหมาชื่อศรีแพร เป็นหมาหมอนวด เลี้ยง
แล้วทิ้งไว้กับบ้านเช่าหลังใกล้กันที่เธอต้องอพยพฉุกเฉิน แล้วไม่กลับมารับชีวิตที่ตกค้าง”
เลือดสหายไหลลงรดแผ่นดิน
ไม้หนึ่งสิ้นหักโค่นขาดสะบั้น
ฝนชโลม แดดชะล้าง วันผ่านวัน
เมล็ดพันธุ์แห่งกวีไม่มีวันตาย
จาก วรพจน์ พันธุ์พงศ์, “อยู่ที่นี่.. เราไม่เคยสูญสลาย” ประชาไท 23 เมษายน 2558
กวีสายเหยี่ยว
คงกำลังโน้มน้าวพระเจ้าให้เป็นเสื้อแดง
หรืออาจทำงานจัดตั้งเทวดาชั้นล่างให้ลุกขึ้นสู้อยู่บนสวรรค์
บทกวีของเขาหายหน้าไปจากนิตยสารก่อนที่ตัวเขาจะตายเสียอีก
แต่ใครจะแคร์นํ้าในปลักควาย
ในเมื่อมันได้ไปแหวกว่ายอยู่กลางมหาสมุทรมาแล้ว
การตายที่ทั้งเป็นและไม่เป็นตำนาน
ว่ากันว่าเขาสูญเสียความเป็นตัวเองไปก่อนสิ้นชีพ
ก็ไม่แปลก เขาคงกลายเป็นใครต่อใครมากมายที่เขาประสบพบเจอ
กวีราษฎร
จบชีวิตแบบที่เขาเป็น
เป็นแบบที่เขาเลือก
กลางมหาสมุทร
เขากลายเป็นหนึ่งหยดนํ้า
ระเหยเป็นไอ กลายเป็นฝนในฤดูมรสุม
พัดปลิวตกลงสู่ความเวิ้งว้างของท้องทะเล
ทว่าเต็มไปด้วยชีวิตนับล้านกำลังขับเคลื่อนใต้ผืนนํ้า
23/4/58
ครบรอบวันเสียชีวิต ไม้หนึ่ง ก.กุนที
รชา พรมภวังค์
alternative writers
ผมมาคนเดียว ไม่รู้จักใครเลย วันหนึ่งพอไปงานช่อการะเกด เฮ้ย มันมีนักเขียนคนอื่นๆ ด้วย คนที่เราได้อ่านงานมาก่อน คนที่ส่งแล้วผ่านมาก่อน รู้สึกว่าเออ มีเพื่อนนะ มีคนแบบเดียวกันนะ มีนักเขียนรุ่นเดียวกันนะ อายุไล่เลี่ยกัน กำลังสร้างผลงานอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน พอมีงานช่างวรรณกรรมแล้วมันดูอบอุ่น ไม่เคว้งคว้างเกินไปนัก นึกถึงตอนที่ผมส่งงานไปสยามรัฐใหม่ๆ ผมแทบจะไม่มีความหวังอะไรเลย ถ้าโชคดีก็คงได้ลงแค่นั้นเอง ถ้าไม่มีช่อการะเกดผมก็อาจจะส่ง ได้ลงอีกเรื่องสองเรื่อง แล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีความปรารถนาจะทำมันต่อเนื่องหรือเปล่า
อัลเทอเนทีฟมันเหมือนตัวเราคนเดียวก็ไม่สามารถอยู่ได้ แต่รวมพวกเล็กๆ หลายอันด้วยกัน ตอนแรกเราก็คิดว่าจะเอาไว้ขายหนังสือสนามหญ้า เป็นพื้นที่ของคนเล็กๆ ไม่ใช่สำนักพิมพ์ที่จะมีบูทของตัวเอง ก่อนที่จะมีบูธก็มีหนังสือทำมือ ฝากขายที่ร้านก็โดนเบี้ยว เอาไปขายแล้วไม่คืนเงินให้ ฝากขายในระบบก็ไม่คุ้ม เขาแค่อยากแสดงงานออกมา
ออกพันเล่มกับห้าร้อยเล่มไม่ต่างกันเลย ถ้านักเขียนใหม่ระหว่างพันเล่มกับห้าร้อยเล่ม ไม่ต่างเลย นักเขียนที่ออกหนังสือเล่มแรก ขายได้ผมว่าพอๆ กัน ผมท้าให้นักเขียนใหม่ คนหนึ่งพิมพ์ 2,000 เล่ม วางขายทั่วประเทศ กับอีกคนพิมพ์ 500 เล่ม บอกได้เลยว่าผมทำให้คนที่พิมพ์ 500 เล่มได้กระจายชื่อเสียงในวิธีการที่มันไม่ต้องพิมพ์หนังสือเยอะ ผมมั่นใจ
Why Write?
แม้จะเขียนงานเพื่อชีวิตโดยพยายามหนีให้พ้นสูตรเก่าๆ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะประเภทของงานบังคับอยู่ หากต้องการคิดและสร้างสรรค์งานเขียนที่แปลกแตกต่างก็ต้องเขียนในแนวอื่น ประกอบกับหนังสือที่ข้าพเจ้าชอบส่วนใหญ่ก่ออิทธิพลให้หลงใหลติดตามความซับซ้อนภายในของมนุษย์ ข้าพเจ้าจึงเป็นนักเขียนที่สนใจแต่เรื่องของปัจเจกชน
***
ความทะเยอทะยาน อยากเป็นที่ยอมรับ แรงขับของการเขียนงานในวัยเริ่มต้นหนุ่มแน่น เพ่งจ้องไปที่ความสำเร็จบั้นปลาย ใจเร็วด่วนได้ ไม่ได้ปรารถนาจะห้อยโหนโบกี้สุดท้ายของวรรณกรรม แต่ต้องไปอยู่ที่หัวรถจักร โน่น ผมจะอยู่ที่หัวรถจักร!
***
ผมรู้ว่าคนล้มส่งเสียงและเจ็บปวดเพราะผมเป็นคน ผมรู้ว่างานเขียนอยู่ได้เพราะคนอ่าน เพราะผมเป็นคนอ่าน
***
ซี้ดเกียรติยศ ซดเกียรติยอ เหลือกตาล่าต่อ รางวงรางวัล รายวัน รายวง ระบบอุปถัมภ์คํ้าคง คํ้าคนหล่นลง วิญญาณ ภาวะ กระจอก กระจิ๊ด โพสต์ โพสต์ โมเดิร์น เพลิดเพลินจริต พลิกแพลงแห่งติสท์และเพื่อชีวิตติดเชย กูแล้ว มึงบ้าง ต่างเคย ยามลมอุปถัมภ์รำเพย ชูคอดิกดิกตาริกริกรื้น บ้านเมืองถอยหลัง พังครืน
***
กะพริบแสงส่งสัญญาณ ให้โลกรับรู้ถึงการมีอยู่ของคุณ และชีวิตหลังความตาย อาณาจักรอันนิรันดร์ที่ผู้คนใฝ่หา มันอาจมีหรือไม่มีก็ได้
เดือนวาด พิมวนา
มนุษย์ผู้หนึ่งมีโอกาสจะแปรเปลี่ยนกลับกลายได้อีกนับไม่ถ้วนครั้ง ตราบที่เขายังมีชีวิต แต่หนังสือเล่มหนึ่งหรือศิลปะชิ้นหนึ่งเมื่อแสดงตัวบนโลกใบนี้แล้ว ปรากฏขึ้นเช่นไรก็ต้องดำรงอยู่เช่นนั้นไม่แปรเปลี่ยน หากข้าพเจ้านิยมนับถือมนุษย์ผู้หนึ่งย่อมมีโอกาสจะผิดหวังนับครั้งไม่ถ้วน แต่หากข้าพเจ้าชมชอบหนังสือเล่มหนึ่ง สมควรที่ข้าพเจ้าจะรู้สึกผิดหวังต่อหนังสือเล่มนั้นในกาลต่อมาหรือ?
อุทิศ เหมะมูล
จะเรียกว่า ‘สปิริต’ ก็ไม่กล้าเรียก เรียกเป็นสัญชาตญาณติดตัวได้ไหม เจ้าความเลี้ยงไม่เชื่องนี้ มันเป็นลักษณะเฉพาะของบางคน บางพวกอยู่ และเมื่อมันสบโอกาสได้สบตากัน มันก็ส่งสัมผัสถึงกันได้นะ มันพูดเป็นนัยคล้ายว่า โอเค มันมีคนเทือกเถานี้อยู่ ไม่ปรารถนาจะทำให้กันและกันเชื่อง
ปราบดา หยุ่น
จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของความ “เป็นนักเขียน” ของผมเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดและเกิดขึ้นอย่างขัดแย้งกับความรู้สึกที่ผ่านมาก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง ความทรงจำเป็นสิ่งที่ไว้ใจไม่ได้ แต่นี่คือความทรงจำของผมเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นนั้น เท่าที่การหลอกตัวเองจะอนุญาตให้จดจำและ/หรือบิดเบือน
ซะการีย์ยา อมตยา
ฉันเฝ้ามองดวงดาวในคํ่าคืน
หวังว่าคุณจะสถิตอยู่บนนั้น
ไอดา อรุณวงศ์
งานเหล่านี้ก็คืองานที่อยู่บนฐานของความเป็นอื่นคนละชุด แลนี่เองที่ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าเราต้องมาทบทวนกันใหม่ ว่า “ตรรกะ” ของความเป็น “ภาษา” “วรรณศิลป์” “ฉันทลักษณ์” หรือกระทั่ง “การเมือง” และ “ประชาธิปไตย” แบบนี้ เราจะมีที่ทางให้เขาอย่างไร ดิฉันคนหนึ่งล่ะที่ยอมรับว่ายังไม่รู้จะ handle หรือรับมืออย่างไร และนี่คือความยุ่งยากใจที่ชวนให้ตาสว่างยิ่งกว่าคำเทศนาหรือการ show off ของปัญญาชนคนใด ความยุ่งยากใจที่ว่าเราจะให้ “เสียง” แบบนี้เข้ามาอยู่ในระบบที่เราคุ้นเคยได้อย่างไร
Comments
Post a Comment