The Power of Now
นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เดคาร์ทส์
เชื่อว่าเขาค้นพบความจริงพื้นฐานดังที่เขาได้ประกาศก้องไว้ว่า “ฉันคิด
ฉันจึงเป็น” แท้จริงแล้วพื้นฐานความจริงข้อนี้นั้นเป็นความความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเพราะเขาทำให้
“การคิดเกี่ยวกับชีวิต” เท่ากับ
“ตัวชีวิต” และเกิดการยึดติดอยู่กับความคิด
เอ็กค์ฮาร์ท โทลเลอ, พลังจิตปัจจุบัน
: 2546
The Power of Now เป็นหนังสือคู่มือการฝึกจิตเขียนโดย
เอ็กค์ฮาร์ท โทลเลอ (Eckhart Tolle) แปลเป็นภาษาไทยโดย พรรณี ชูจิรวงศ์
ในชื่อเต็มว่า พลังแห่งจิตปัจจุบัน หนทางสู่แสงแห่งปัญญา
หนังสือเล่มนี้มี 10 บท แต่ละบทดำเนินด้วยคำถาม
โดยระหว่างคำถามเป็นการอรรถาธิบายคำตอบ เริ่มจากคำถามแรก “แสงสว่างทางปัญญาคืออะไร”
จนไปสู่คำถามสุดท้าย “แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันยอมจำนนแล้ว”
เนื้อหาของหนังสือกล่าวถึงความทุกข์และเหตุแห่งความทุกข์ของคน
แนะนำกระบวนการฝึกจิตเพื่อออกจากความทุกข์
ซึ่งมีเพียงหนทางเดียวคือการอยู่กับปัจจุบัน
เหตุใดการอยู่กับปัจจุบันจึงเป็นหนทางในการพ้นทุกข์
นั่นก็เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นคือ อดีต และ อนาคต ซึ่งเป็น “เวลาในจิตใจ”
ความทุกข์เกิดจากใจที่พัวพันกับเวลาซึ่งจิตได้สร้างขึ้น อย่างเช่น
อดีตในรูปของความทรงจำเรื่องราวที่ฝังใจและย้อนกลับไปปลาบปลื้มหรือทุกข์ทนครั้งแล้วครั้งเล่า
ขณะที่อนาคตอาจจะมาในรูปของความวิตกกังวลต่อความเป็นไปภายหน้า สัญญาที่ได้ทำไว้
หรือผลของสิ่งที่ได้กระทำ
ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้คือมิติเวลาภายในที่จิตใจได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของ
“ตัวทุกข์”
ความทุกข์ หรือ ตัวทุกข์ คือ “ความคิด”
ที่เกิดขึ้นในเวลาทางใจ ความคิดไม่ใช่ “อารมณ์”
แต่เป็นเหตุของอารมณ์ เป็นสิ่งที่สร้างอารมณ์ให้เกิดขึ้น
เมื่ออารมณ์ได้เกิดมีขึ้นมันทำหน้าที่เป็นกำลังให้กับความคิด
ทั้งความคิดและอารมณ์ต่างทำงานร่วมกันและป้อนพลังงานให้แก่กัน
คอยผลักดันและขับเคลื่อนเราไปในมิติเวลาของจิตใจ
จิตใจที่ถูกความคิดและอารมณ์ลากจูงไปยังที่ต่าง
ๆ
ภายในมิติเวลาที่ตัวมันเองได้สร้างขึ้นนี้จึงเป็นจิตใจที่มีแต่ความเหนื่อยล้าและเป็นทุกข์ทรมาน
แม้ในความคิดและอารมณ์ที่ปลาบปลื้มยินดีก็ยังคงเป็นความทุกข์
ทุกข์เพราะตกเป็นทาสความคิดจนเหนื่อยอ่อน
การยอมตัวให้กับความคิดที่ปลาบปลื้มแม้จะให้ความสุขชั่วคราวแต่ก็ทำให้จิตใจไร้กำลัง
การอยู่กับปัจจุบันคือการออกจากมิติเวลาทางใจ
เป็นการขจัดที่อยู่อาศัยของความทุกข์ “ปัจจุบัน” ในที่นี้หมายถึงชั่วขณะเฉพาะหน้าในความหมายที่เล็กที่สุด
อย่างที่มักเรียกกันว่า “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” การอยู่กับปัจจุบันจะทำให้เห็นว่ามิติเวลาทางใจเป็นเพียงภาพลวง
แท้จริงแล้วอดีตและอนาคตไม่มีอยู่จริง มีแต่ปัจจุบันกับปัจจุบัน
เป็นปัจจุบันที่ต่อเนื่องกันไปไม่รู้จบ เป็นสิ่งซึ่งปราศจากเวลา
จิตใจของคนคุ้นเคยกับเวลาที่ใจได้สร้างขึ้น
ดังนั้นการอยู่กับปัจจุบันจึงต้องฝึกฝน สิ่งที่จะทำให้เราอยู่กับปัจจุบันได้ก็คือ
สติ
สติที่แข็งแรงจะทำให้เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้
ดังที่บรรพบุรุษของเราได้พูดกันมาว่า “ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว” นี่คือรูปแบบของสติที่สามัญมาก
เป็นสิ่งธรรมดาและเป็นหนทางเดียวในการอยู่กับปัจจุบัน
แม้ว่าจะมีสติแล้ว ก็ไม่ได้หมายถึงการปราศจากความคิดและอารมณ์โดยเด็ดขาด
และอันที่จริงความคิดก็ยังคงเกิดมีได้
เรายังคงมีความสามารถที่จะคิดได้ในขณะที่มีสติ
เพียงแต่แทนที่เราจะถูกความคิดบงการหรือฉุดลากไป
เราจะเป็นอิสระจากมันและสามารถปล่อยวางมันได้เมื่อเราต้องการ ลักษณะดังกล่าวนี้
พูดในภาษาเจริญสติของเราได้ว่า เห็นรูป เห็นนาม เมื่อเห็นก็คือรู้
เมื่อรู้ก็ไม่คิด การรู้กับการคิดไม่สามารถดำรงอยู่พร้อมกันได้
ดังที่ในหนังสือเล่มนี้ก็กล่าวไว้เช่นกันว่า เราไม่สามารถที่จะมีสติไปพร้อม ๆ
กับมีทุกข์ได้ ลักษณาการดังกล่าวนี้ หลวงพ่อคำเขียนเคยพูดไว้สั้น ๆ ว่า “เป็นผู้ดู
อย่าเป็นผู้อยู่” เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นก็ดู
เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้นก็ดู เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นก็ดู ดูเฉย ๆ
ไม่ต้องไปอยู่กับมัน การคิดโดยมีสติไม่ได้หมายถึงการที่เราอยู่กับสติไปพร้อม ๆ
กับความคิด แต่เป็นการที่เรา “เห็น” ความคิดของเราโดยตลอด
ซึ่งโดยทั่วไปส่วนใหญ่แล้วคนจะนึกว่าตัวเองรู้ความคิดตัวเองอยู่ตลอดซึ่งไม่จริง
เรารู้เพียงนาน ๆ ครั้งเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วเราถูกความคิดพาไปโดยไม่รู้มากกว่า
หนังสือ The Power of Now คือประสบการณ์การจัดการความทุกข์ของชาวตะวันตกที่เรียนรู้จากตะวันออกและนำไปผสมผสาน
แก่นแท้นหรือหลักการอยู่กับปัจจุบันก็เป็นหลักเดียวกับศาสนาพุทธ
หนังสือนี้เป็นคู่มือที่ดีสำหรับผู้ที่กำลังฝึกฝนจิตใจตนเองหรือเจริญสติ
โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการศึกษาและคุ้นเคยกับการอรรถาธิบายแบบความรู้สมัยใหม่
อย่างไรก็ดี
การฝึกจิตที่แท้จริงคือการปฏิบัติ
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการมีครูจะเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้มาก
ศาสนาพุทธในประเทศไทยมีพัฒนาการมายาวไกล และสำนักปฏิบัติธรรมที่เน้นการเจริญสติในเมืองไทยก็มีไม่น้อย
คนที่ต้องการฝึกฝนจิตใจอย่างแท้จริงย่อมสามารถพบครูของตนได้โดยไม่ลำบาก
พิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร way
Comments
Post a Comment