My Name is Red - ข้าสั่งให้โลกมีชีวิต






หนังสือเล่มนี้โปรยปก (พิมพ์ครั้งแรก) ไว้ว่า ฆาตกรรมซ่อนเงื่อนลึกลับ ท่ามกลางมนตร์ขลังแห่งอำนาจและศาสนานอกจากนี้แล้ว ตัวเรื่องได้ท้าทายผู้อ่านตั้งแต่บทแรกให้ค้นหาว่า ใครคือฆาตกร

กระนั้น ผมไม่คิดว่านักอ่านวรรณกรรมแนวรหัสคดีจะพึงพอใจ  อันที่จริง หากพวกเขามีสมาธิก็จะสามารถเดาได้ว่าใครคือฆาตกรเมื่ออ่านไปเพียงเศษ 1 ส่วน 4 ของเล่มเท่านั้น  นิยายเรื่องนี้ไม่มีการหักมุม ร่องรอยของฆาตกรปรากฏขึ้นและสอดรับกันอย่างมีเหตุมีผล ผู้อ่านเพียงใช้วิธีพื้น ๆ เท่านั้นก็สามารถระบุตัวฆาตกรได้ไม่ยาก นอกจากจะเสียสมาธิ หรือหันไปติดตามเรื่องราวอื่นซึ่งน่าสนใจยิ่งกว่า

เมื่ออ่านจนจบผู้อ่านจะพบว่า คำถามว่า ใครคือฆาตกรนั้นน่าสนใจน้อยกว่าคำถามเกี่ยวกับชะตากรรมของฆาตกร จุดจบของฆาตกรคือสิ่งที่พัวพันกับแก่นเรื่องของนิยายยิ่งกว่า คือการแสดงให้เห็นลีลาคลี่คลายของเหตุการณ์ที่มีความสลักสำคัญอย่างแท้จริง คือปลายทางของปมซึ่งรัดรึงกันอย่างซับซ้อน เป็นลวดลายสุดท้ายของเหตุการณ์ที่ถักทอซึ่งกันและกันมาตั้งแต่ต้นเรื่อง

ขณะเดียวกัน ในส่วนปมรักของตัวละครหลัก  My Name is Red จบลงอย่างน้ำเน่าที่พยายามจะกลบเกลื่อนกลิ่นของตน

My Name is Red ประกอบด้วย 59 บท แต่ละบทดำเนินเรื่องด้วยมุมมองเอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง ตัวละครต่าง ๆ ผลัดเวียนกันมาเล่าเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟัง โดยตัวละครเหล่านั้นนอกจากคนแล้วยังประกอบไปด้วย ศพ, หมา, ต้นไม้, เหรียญทอง, มัจจุราช, สีแดง, ม้า, ซาตาน และรวมถึงตัวฆาตกรเองด้วย  ความชาญฉาดของวิธีการดำเนินเรื่องดังกล่าวคือ ผู้เขียนสามารถละเมิดความ สมจริงของเรื่องเล่าแบบสัจนิยม (Realism) ได้โดยที่ยังสามารถรักษาน้ำหนักของความสมจริงดังกล่าวเอาไว้ได้ด้วย

ในบรรดาตัวละครที่ละเมิดความสมจริงแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกผู้เขียนให้ตัวละครแสดงตัวตนผ่านเสียงเล่าของ  นักเล่านิทาน  ดังนั้น บรรดา หมา, ต้นไม้, เหรียญทอง, มัจจุราช, สีแดง, ม้า, ซาตาน เหล่านั้นหาได้พูดภาษาคนและพากันมาบอกเล่าเรื่องราวด้วยตัวเองไม่ แต่ผู้เขียนให้ตัวละครเหล่านั้นแสดงตัวตนผ่านเสียงเล่าของตัวละครอีกตัว ซึ่งมีความสมเหตุสมผล  และอันที่จริง ตัวละครเหล่านั้นก็ไม่ใช่ หมา, ต้นไม้ ฯลฯ จริง ๆ (ยกเว้น สีแดงเพียงตัวเดียว) แต่พวกมันล้วนเป็นเพียง ภาพวาดของสิ่งเหล่านี้ (นี่ก็เป็น ชั้นเชิงของผู้เขียนในการเล่นกับ ความสมจริงอีกเช่นกัน)

ตัวละครกลุ่มที่สองคือ คนตาย  ผู้เขียนกำหนดให้คนตายสามารถพูดจาสื่อสารกับผู้อ่านได้โดยใช้มโนทัศน์เรื่องชีวิตหลังความตายของศาสนาอิสลาม นี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การละเมิดกฎเรื่องความสมจริง แต่เป็นการประกาศสงครามกับกับกฎนี้เลยทีเดียว และที่กล่าวได้ว่าเป็นความชาญฉลาดของการออกแบบกลวิธีการเล่าเรื่องอย่างยิ่งก็คือ การประกาศสงครามนี้ แท้แล้วก็คือสิ่งเดียวกับแก่นเรื่องที่ผู้เขียนพยายามจะสำแดงผ่านนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนจงใจใช้กลวิธีการเล่าเรื่องเพื่อสำแดงถึงประเด็นสำคัญในเนื้อหาของเรื่อง

My Name is Red คือเรื่องราวของช่างวาดแห่งอาณาจักรออตโตมานในศตวรรษที่ 16 ซึ่งกำลังเผชิญความขัดแย้งจากอิทธิพลของศิลปะการวาดภาพเหมือนจากเวนิสอันจะนำไปสู่ความเสื่อมของศิลปะการวาดภาพแบบดั้งเดิมของตน มโนทัศน์ทางศิลปะที่สำคัญ 2 แบบซึ่งปะทะขัดแย้งกันนี้ มองเห็นได้ในคำกล่าว 2 ประโยค ประโยคแรกกล่าวว่า ภาพต้นไม้ที่ดีคือ เมื่อคนได้เห็นภาพนี้แล้วจะต้องสามารถแยกแยะต้นไม้ต้นนั้นจากต้นไม้ต้นอื่น ๆ ในป่าได้  ส่วนประโยคที่สองกล่าวว่า ข้าไม่ได้อยากเป็นต้นไม้ แต่ข้าอยากเป็นความหมายของมัน  ทั้ง 2 ประโยคสะท้อนสาระสำคัญของสองมโนทัศน์ ซึ่งปะทะขัดแย้งกันในเรื่อง เอกลักษณ์ตราบจนปัจจุบัน เป็นทั้งปัญหาปรัชญาทางศิลปะ การปะทะทางวัฒนธรรม และการตอบคำถามเรื่องการดำรงอยู่ของมนุษย์

อะไรคือความหมายของสีแดง สีแดงไม่ได้เป็นสีแดงเพราะมัน แตกต่างจากสีอื่น ๆ  แต่มันเป็นสีแดงเพราะความหมายของการดำรงอยู่ของมันมีอยู่จริง

นิยายเรื่องนี้บอกเล่าประเด็นสำคัญของความขัดแย้งดังกล่าวออกมาได้อย่างเรียบง่าย ขณะเดียวกันก็ใช้กลวิธีการประพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความขัดแย้งนี้ด้วย ผู้เขียนเลือกใช้วิธีการเล่าเรื่องที่เล่นล้อกับความเป็นสมัยใหม่พร้อม ๆ กับความเป็นวรรณกรรมรหัสคดี (คนตายไม่ดำรงอยู่, ฆาตกรจะต้องไม่เปิดเผยตัวกับผู้อ่าน) ดังนั้น ความเป็นรหัสคดี (ซึ่งแท้จริงแล้ว รากของมันคือวรรณกรรมที่ยึดโยงอยู่กับระบบเหตุผลของโลกสมัยใหม่) ในนิยายเรื่องนี้จึงเป็นเพียงภาพสะท้อนเพื่อล่อผู้อ่านให้เข้ามาสู่โลกของความขัดแย้งของสองมโนทัศน์ เกี่ยวกับ เอกลักษณ์

นิยายของ ออร์ฮาน ปามุก นักเขียนชาวตุรกีเล่มนี้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1998  พิมพ์ครั้งแรกในภาษาอังกฤษเมื่อปี 2001 และฉบับภาษาไทยเพิ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อกุมภาพันธ์ 2553 โดยสำนักพิมพ์บริสส์  แปลโดย นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์

My Name is Red ดำเนินเรื่องได้อย่างชาญฉลาด แต่ก็มีโครงเรื่องแบบกึ่งตลาด และมีกลิ่นอายของสูตรสำเร็จ เป็นวรรณกรรมที่นักปรัชญาหรือคนที่สนใจปรัชญาเชิงลึกอาจจะไม่ได้ตื่นเต้นนัก ขณะที่นักอ่านงานรหัสคดีที่ไม่มีความสนใจเรื่องปรัชญาและประวัติศาสตร์ก็อาจจะรู้สึกว่าจืดชืด สำหรับนักอ่านวรรณกรรมทั่วไปแล้ว นิยายเรื่องนี้ชวนติดตาม อ่านสนุก นำเสนอความรู้ทางปรัชญาและประวัติศาสตร์ได้อย่างมีเสน่ห์


3 มกราคม 2554, พิมพ์ครั้งแรก IMAGE

Comments