การต่อสู้ของสัตว์ประหลาดแห่ง Fat Story



Fat Story เป็นร้านขายเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงอ้วนโดยเฉพาะ ผมอ่านเจอเรื่องราวของร้านนี้จาก กรุงเทพวันอาทิตย์  ซึ่งเป็นแทบลอยด์ที่แถมมากับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2548

เจ้าของร้านเล่าว่าเธอไม่สามารถหาซื้อเสื้อผ้าไซส์ของตัวเองได้เมื่อกลับมาประเทศไทยใหม่ ๆ  ความที่เธอใช้ชีวิตในต่างประเทศมาก่อน และสามารถหาซื้อเสื้อผ้าไซส์ของเธอได้ไม่ยาก แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยเรื่องนี้กลับกลายเป็นปัญหา และเธอพบว่าไม่ใช่ปัญหาของเธอคนเดียว จึงทำให้เธอเริ่มมองหาหนทาง

คำบอกเล่าของเธอต่อมายังทำให้เรารู้ว่า ผู้หญิงอ้วนต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสื้อผ้าที่เธอต้องการสวมใส่ เนื่องจากบรรดาผู้กำหนดแฟชั่นจากปารีสต่างออกแบบเสื้อผ้ามาสำหรับนางแบบร่างเพรียว หญิงร่างใหญ่ทั่วโลกจึงมีทางเลือกอันแสนจำกัดจำเขี่ยในการเลือกหาเสื้อผ้า ผู้หญิงอ้วนในประเทศไทยทำได้เพียงใส่เสื้อเชิ้ต หรือเสื้อโปโลตัวใหญ่ ๆ ของผู้ชาย  การไม่มีทางเลือกกำหนดให้ผู้หญิงอ้วนในสังคมไทยต้องตกอยู่ภายใต้แฟชั่นสีดำ ๆ มืด ๆ  จืดและเชยมาตลอด

ในจอทีวีทุกวันนี้ เราเห็นโฆษณาส่งเสริมความผอมกันอยู่ตลอด ในสื่อสิ่งพิมพ์ และวิทยุก็เช่นกัน  คนเมื่อเจอหน้ากันก็มักจะทักกันว่า อ้วนขึ้นหรือไม่ก็ ผอมลงเป็นคำแรก  ความผอมถูกกำหนดให้เป็นสิ่งพึงปรารถนา และความอ้วนก็ กลายเป็นปมด้อย

ก่อนหน้านี้ ผมได้เห็นว่าเรื่องราวของความผอมความอ้วนเป็นมายาคติที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการค้า แต่เมื่อได้อ่านเรื่อง Fat Story จึงได้เห็นถึงการกดขี่ที่มีต่อคนอ้วน

การที่คนอ้วนไม่มีอิสระในการเลือกซื้อหาเสื้อผ้าสวย ๆ งาม ๆ ใส่นั้น มองได้สองแง่มุม  หนึ่ง คือ มันเป็นเรื่องของบริโภคนิยม ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจ ก็ในเมื่อแฟชั่นจากชาแนลไม่สามารถตอบสนองได้ จึงไม่เห็นว่าเรามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปวิ่งไล่ตามการบริโภคเหล่านั้น ถ้าเราคิดอย่างเป็นอิสระต่อการบริโภคแล้ว การไม่ต้องมองหาเสื้อผ้าเพื่อที่จะไปวิ่งไล่ตามกระแสการบริโภค ก็น่าจะทำให้เรามีภาระน้อยลงด้วยซ้ำ

แต่หากเรามองในแง่มุมที่สอง จะเห็นว่าบริโภคนิยมเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่นิ่ง แต่มีกระบวนการโน้มน้าวรุนแรงจนผมเห็นว่ากลายเป็นการ ข่มขืนให้ผู้คน ต้องบริโภค  ตัวอย่างโฆษณาทางทีวีที่เห็นจนเจนตาก็คือ ความอ้วนกลายเป็นปมด้อยที่เข้าใกล้อาชญากรรมเข้าไปถูกทีสป็อตโฆษณาช็อตแล้วช๊อตเล่าที่ยิงออกมาเพื่อให้ผู้หญิงอ้วนสำนึกถึง ความเป็นอื่นของตัวเอง

และการขับต้อนผู้ที่ไม่ยอมไล่กวดการบริโภคไปสู่ความเป็นอื่นนี้เอง ที่เปรียบได้กับการ ข่มขืนผู้คนให้ต้องมาบริโภค

จะเห็นได้ว่าการที่ผู้หญิงอ้วนไม่สามารถหาซื้อเสื้อผ้าที่สวยงามใส่ได้นั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งของความรุนแรงจากบริโภคนิยม และในสังคมที่คล้อยตามมายาคติของทุนจนสุดขั้วอย่างสังคมไทยก็ได้กดขี่คนอ้วนผ่านกระบวนการต่าง ๆ  และสิ่งที่เป็นรูปธรรมก็คือการไม่สามารถหาเสื้อผ้าที่เหมาะกับตนเองได้

แน่นอน เมื่อมีการกดขี่ก็ย่อมต้องมีการตอบโต้ นอกจากสป็อตโฆษณาที่ประณาม ความอ้วน” “ความดำและอื่น ๆ  เราก็ยังได้เห็นสป็อตโฆษณาที่ตอบโต้การกดขี่นั้น ดังเช่นโฆษณาของยาสีฟันตราดอกบัวคู่ (ที่ตอบโต้มายาคติเรื่องผิวสี) น่าเสียดายเพียงแต่ว่าโฆษณาแบบนี้มีน้อยเสียจนหายาก

กระนั้นก็ดี  สังคมก็ยังพัฒนากระบวนการอื่น ๆ ขึ้นมาตอบโต้ในเรื่องของความอ้วน อย่างเช่นการประกวด ราชินีช้าง  การประกวดราชินีช้างมีเนื้อหาและที่มาที่ไปแตกต่างกับการประกวดนางงามจักรวาลที่กำลังดำเนินอยู่อย่างคนละขั้วทีเดียว

การประกวดนางงามจักรวาลหรือการประกวดนางงามระดับชาติโดยทั่วไปนั้น  แท้จริงแล้วก็คือโครงข่ายของกิจกรรมทางพาณิชย์ แรกเริ่มเดิมทีนั้น กองประกวดต่าง ๆ ก็คือนายหน้าที่มีสินค้าคือ ชาติและมีลูกค้าคือ รัฐ  เนื่องจากประเทศที่เข้าร่วมการประกวด หรือรับเป็นเจ้าภาพต่างมองเห็นการประกวดเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ประเทศ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าบนเวทีโลก  อัตลักษณ์ของนางงามแต่ละประเทศจึงเป็นเหมือนสินค้าหลักในกิจกรรมนี้ และคำกล่าวอ้างที่ว่าการประกวดนี้คือการ เฟ้นหาหญิงงามก็เป็นเพียงหน้าฉากของพิธีกรรมทางการค้า  แต่เมื่อบริโภคนิยมพัฒนาจนถึงขั้นต่อมา ฐานะของรัฐก็เกิดการเปลี่ยนแปลง

จะเห็นได้ว่า แม้จะมีประเทศที่ไม่รับรองผู้เข้าประกวดเป็นตัวแทน ของ รัฐหรือ ชาติ” (เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย) มันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับผู้จัดการประกวดอีกต่อไป เพราะเหตุว่าเวลานี้ รัฐไม่ใช่ลูกค้าคนสำคัญอีกแล้ว และ อัตลักษณ์ของนางงามก็เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการการรับรองจากรัฐ ลูกค้าคนสำคัญของการประกวดนั้นได้เคลื่อนย้ายจาก รัฐไปสู่ บรรษัทข้ามชาติมาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว และเวลานี้ สินค้าก็ไม่ได้มีเพียงแค่ อัตลักษณ์ของ ชาติอีกต่อไป แต่การประกวดนางงามจักรวาลได้พัฒนาสินค้าตัวใหม่ ๆ ขึ้น และ รัฐก็ได้กลายเป็น สินค้าใหม่ที่ดิฉันภูมิใจเสนอ โดยมีแบรนด์ข้ามชาติต่าง ๆ เข้าคิวรอ ซื้อกันยาวเหยียด

หญิงงามในความหมายของนางงามจักรวาล จึงเป็นหญิงงามที่ต้องตอบสนองผลประโยชน์ของลูกค้ารายใหญ่  และลูกค้ารายใหญ่ตัวจริงก็คือ บริโภคนิยมที่ไม่มีกฏเกณฑ์แน่นอนตายตัวว่า การประกวดนางงามที่มีครีมทาหน้าให้ขาวเป็นผู้สนับสนุนหลัก นางงามที่ชนะการประกวดจะเป็นคนผิวดำไม่ได้ (การทำเช่นนี้เป็นการจำกัดตลาดจนเกินไป)  แต่ เราต้องทำให้เห็นแพ็คเก็จของ ความเป็นนางงาม จักรวาลทั้งหมด  ที่เป็นเหมือนช็อปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่ (มีสินค้าให้เลือกหลาก หลาย เช่น รัฐ, ชาติ, อัตลักษณ์, ความงาม, ความเซ็กซี่ ฯลฯ) เพื่อเถลิงอำนาจแห่ง การบริโภค

ดังนั้น การเลือกเฟ้นนางงามของการประกวดกวดนางงามจักรวาล แท้ที่จริงแล้ว ก็คือกระบวนการของบริโภคนิยมในการสรรหา หญิงงามผู้มีอำนาจที่จะโน้มน้าวผู้คนให้บริโภค  ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค ชาติ” (สัญชาติของผู้ประกวด) รัฐ” (ประเทศเจ้าภาพ) หรือ สาวงาม” (อัตลักษณ์ของผู้ประกวด)

ในทางกลับกัน ราชินีช้างคือการต่อต้านต่อแรงกดดันจากการโน้มน้าวที่ รุนแรง จากผู้ที่ถูกผลักดันให้ไปอยู่ชายขอบของการบริโภค  ร้านขายเสื้อสตรี Fat Story และราชินีช้าง จึงเป็นการต่อสู้กับการกดขี่จากบริโภคนิยม ด้วยบริโภคนิยม  คือสร้าง Model ของการบริโภคในแบบของตนขึ้นเพื่อต่อสู้ กับการกดขี่จากการบริโภคกระแสหลัก คติของราชินีช้างจึงมุ่งไปที่การทำให้ เห็นว่า คนอ้วนคือ คนธรรมดาไม่ใช่สัตว์ประหลาดในสังคมบริโภค ทั้งหมดคือวิวัฒนาการของสังคมที่บริโภคนิยมกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

เชื่อว่าต่อจากนี้ เราจะได้เห็นผู้ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับบริโภคนิยมด้วยบริโภคนิยมมากขึ้น ผู้คนอีกมากมายหลายกลุ่มที่ถูกผลักออกไปนอกการบริโภคกระแสหลัก คนเหล่านั้นจะทยอยกันลุกขึ้นต่อสู้จนสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง

พิมพ์ครั้งแรก วารสารหนังสือใต้ดิน เมษายน มิถุนายน 2548


Comments