วิจารณ์ไชยันต์ ไชยพร
สองประเด็นสำคัญในบทสัมภาษณ์ของ
ไชยันต์ ไชยพร ที่สะท้อนปัญหาทางวิธีคิดของรอยัลลิสต์
มีสองทัศนะในเรื่อง
สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
ในบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ไชยันต์ที่เผยแพร่ทางมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1325677865&grpid=01&catid&subcatid) ที่ผมคิดว่าสะท้อนวิธีคิดที่ก่อให้เกิดปัญหาพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย
ทั้งในหมู่นักการเมือง ปัญญาชน หรือแม้แต่กวีศิลปาธร
ประโยคดังกล่าวอยู่ตรงที่ขีดเส้นใต้ตัวเน้นในย่อหน้านี้
ฉะนั้น
การวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เกิดการปรับตัว
ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประชาชน
ในแนวที่ไม่ใช่เป็นแนวดิ่งถึงขนาดต้องรอการเชื่อฟัง แต่ถ้าแนวความสัมพันธ์บนลงล่างที่เอนลง
ลดความชันลงมาหน่อย ไม่ถึงขนาดเสมอภาคหรอก แต่พอสื่อสารกันได้
ไม่ได้อยู่ในระนาบสูงเกินไป ก็จะทำให้เกิดความมั่นคง ความปรับตัวขึ้น
เพราะมักมีข่าวลือ ที่ทำให้เราไม่สบายใจเกี่ยวข้องกับอนาคตสถาบันด้วย
ถ้าเราต้องการให้สถาบันมีความเข้มแข็ง ก็ต้องทำให้คนรอบข้างสถาบันไม่ทำอะไรที่กระทบกระเทือนการปกครองระบอบนี้
และย่อหน้านี้
ถ้าจะชกกันก็ชกกันอย่างแฟร์ๆ
การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง
รับได้ในเงื่อนไขเดียวคือต้องการให้ระบอบการปกครองนั้นเป็นระบอบที่ดีต่อประชาชน
แก้ปัญหาและตอบสนองประชาชนได้ ฉะนั้น คนที่มองว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญทำงานได้ไม่ดี
ก็ต้องแจกแจงมาสิ ว่าเป็นยังไง ไม่ใช่คิดแต่เรื่องความเสมอภาค
เพราะสิ่งที่เหนือกว่าความเสมอภาคเสรีภาพก็คือชีวิตที่ดี
ถ้ามีความเสมอภาคกันแล้วแต่ชีวิตไม่ดี ก็ไม่รู้จะมีไปทำไม
คำว่า สิทธิ
เสรีภาพ ความเสมอภาค คำสามคำนี้ แท้จริงแล้วเป็นคำเดียวกัน สื่อความหมายร่วมกัน
และให้มโนทัศน์ร่วมกันอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยเฉพาะในทางปรัชญาการเมืองแล้ว สามคำนี้ไม่สามารถแยกจากกันได้
แม้ว่าจะมีการพูดแยกออกมาโดด ๆ เพียงคำเดียว อย่างเช่น ความเสมอภาค
แต่ความหมายโดยนัยแล้วก็ต้องเกาะเกี่ยวเอาความหมายของคำว่า สิทธิ เสรีภาพ
เอาไว้ด้วย แม้จะไม่ได้พูดออกมา
หลังยุคของระบอบกษัตริย์
สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค คือ โลกทัศน์ใหม่ คือจักรวาลทัศน์ใหม่
หรือพูดให้ถูกต้องมันคือ “การเกิดใหม่” ของมนุษย์
ในแง่มุมของอำนาจทางสังคมการเมือง
มันคือการตื่นขึ้นมาเพื่อตระหนักว่า
คนทุกคนเกิดมาพร้อม สิทธิ เสรีภาพ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีข้อยกเว้น
(เสมอภาค) สิทธิ คือสิทธิทางการเมือง
(และต่อมาได้พัฒนามาเป็นสิทธิต่าง ๆ
แต่โดยพื้นฐานที่สุดแล้วคือ สิทธิที่จะทำหรือไม่ทำอะไร กล่าวคือ
เป็นผู้ถือครองอำนาจเหนือร่างกายของตนเองและสิ่งแวดล้อม) เสรีภาพ คือ
อิสระที่จะใช้สิทธินั้น อิสระที่จะใช้อำนาจเหนือร่างกายของตนเองและสิ่งแวดล้อม
เพื่อกระทำการต่าง ๆ ตาม “เจตจำนงของตน” (คือ เจตจำนงเสรี นั่นเอง)
ดังนั้น
เมื่อพูดคำว่า สิทธิ ในทางการเมือง ก็ต้องหมายรวมถึง เสรีภาพ และ ความเสมอภาค ด้วย เมื่อพูดถึง เสรีภาพ
ในทางการเมืองก็ต้องหมายรวมถึง สิทธิ และความเสมอภาคด้วย เมื่อพูดถึง ความเสมอภาค ก็ต้องหมายรวมถึง
สิทธิ และ เสรีภาพ ไปโดยปริยาย
ถ้าแนวความสัมพันธ์บนลงล่างที่เอนลง
ลดความชันลงมาหน่อย ไม่ถึงขนาดเสมอภาคหรอก แต่พอสื่อสารกันได้ ไม่ได้อยู่ในระนาบสูงเกินไป
แต่ทัศนะในเรื่อง
ความเสมอภาค ในประโยคข้างต้นของไชยันต์ เป็นการแปร “ความเสมอภาค” ที่หมายถึง สิทธิ
เสรีภาพ
ให้กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่คลุมเครือ
และเป็นการเข้าใจประเด็นผิดโดยสิ้นเชิง
เพราะถ้าคุณเชื่อในเรื่อง
สิทธิ เสรีภาพ แล้ว คุณต้องเชื่อในเรื่องความเสมอภาคด้วย อย่างไม่มีข้อกังขา จะ “ลด” จะ “เพิ่ม” ไม่ได้ทั้งสิ้น
เนื่องจากคนต้องเท่ากัน และความ “เท่ากัน” นี้
ก็ไม่ได้หมายถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น มารยาททางสังคม สัมมาคารวะ
ความเคารพนับถือ การให้เกียรติที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากบริบทหรือภาพลักษณ์ที่ห่อหุ้มคน
ๆ นั้นอยู่
ไม่ใช่คิดแต่เรื่องความเสมอภาค
เพราะสิ่งที่เหนือกว่าความเสมอภาคเสรีภาพก็คือชีวิตที่ดี
ถ้ามีความเสมอภาคกันแล้วแต่ชีวิตไม่ดี ก็ไม่รู้จะมีไปทำไม
ในประโยคนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า
ไชยันต์พูดถึงความเสมอภาคโดยไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ เสรีภาพ แม้แต่น้อย เพราะถ้าเข้าใจ และ “เชื่อ” ว่ามนุษย์ มี
สิทธิ เสรีภาพ โดยเสมอภาคกันแล้ว
คุณจะเชื่อว่าคุณจะมี “ชีวิตที่ดี” ไม่ได้เลย
ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จริง ๆ อย่าว่าแต่ “ชีวิตที่ดี” เลย ถ้าคุณไม่มีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค
ทั้งสามสิ่งนี้ แม้แต่เป็น “คน” คุณยังเป็นไม่ได้เลย ดังนั้น “ชีวิตที่ดี” ในทัศนะของไชยันต์ตามประโยคข้างต้น
ก็อาจจะเป็นได้อย่างมาก (ตามทัศนะของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค) คือ “สัตว์เลี้ยงที่มีความสุข” แค่นั้น
ดังนั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มี “ตำแหน่ง” ทางการเมือง
กับบุคคลทั่วไป เช่น ความสัมพันธ์ระหว่าง กษัตริย์ กับ พลเมือง ความสัมพันธ์ระหว่าง นายกรัฐมนตรี กับ พลเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับพลเมือง เหล่านี้ เป็นต้น ถ้าจะมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่บ้าง เช่น
ต้องให้เกียรติ ต้องเคารพเป็นพิเศษ นั้น
อย่าหมายเข้าใจผิดว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับคน” ที่ไม่เท่ากัน
แต่เหตุของความไม่เท่ากันที่ปรากฏอยู่ในความสัมพันธ์เหล่านั้น
เช่น ให้เกียรติประมุขมากกว่าพลเมืองทั่วไป ให้เกียรตินายกรัฐมนตรีมากกว่าพลเมืองทั่วไป
หรือ คุ้มครองประมุขพิเศษกว่าพลเมืองทั่วไป
คุ้มครองประธานธิบดีพิเศษกว่าพลเมืองทั่วไป
คุ้มครองนายกรัฐมนตรีพิเศษกว่าพลเมืองทั่วไป
เหล่านี้เนื่องจาก ในมุมมองของสังคมการเมือง คนเหล่านี้ “ไม่ใช่คน” เปล่า ๆ
แต่อยู่ในฐานะที่เป็น “ตัวแทน” อำนาจอธิปไตยของคนทั้งสังคม
หรือเป็นตัวแทน หรือสัญลักษณ์ของ สิทธิ เสรีภาพ ของคนทั้งสังคมที่มีความ “เสมอภาค” กันนั่นเอง เราไม่ได้ให้ความเคารพกษัตริย์หรือนายกฯ
เพราะกษัตริย์หรือนายกฯ เป็นคนดี นั่นเป็นทัศนะโบราณที่ยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ
เสรีภาพ แต่เราให้ความเคารพกษัตริย์หรือนายกฯ
เพราะเขาเป็น “สัญลักษณ์” ของ สิทธิ เสรีภาพ ของ “คนทั้งสังคม” ที่มีความเสมอภาคกัน ซึ่งเป็น สิทธิ เสรีภาพ
ที่ใหญ่กว่าคนเพียงคนเดียว ดังนั้น เมื่อเราสัมพันธ์กับกษัตริย์ หรือนายกฯ
เรากำลังสัมพันธ์กับ ผู้เป็นสัญลักษณ์ หรือผู้ใช้อำนาจแทนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงจำนวนมาก
แต่ การคุ้มครอง
หรือการให้เกียรติ ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ ประธานธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือ
เจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ
(เจ้าหน้าที่รัฐก็ถือเป็นผู้บังคับใช้อำนาจอธิปไตยแทนคนทั้งหมด) ต้องเป็นไปโดย “ไม่ละเมิด” สิทธิ เสรีภาพ
ความเสมอภาค ของคน
เพราะทันทีที่คุณละเมิด
คุณจะ “ขาด” จากอำนาจอธิปไตยทันที
เพราะทันทีที่ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคอยู่ ความชอบธรรมของ
สัญลักษณ์ก็ดี ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทน ก็ดี
เหล่านี้จะปราสนาการ หายไปโดยอัตโนมัติ กลายเป็นอำนาจเถื่อน และหมดความชอบธรรม
ไม่มีเหตุผลที่คนจะต้องให้เกียรติ เคารพ หรือยำเกรงคุณอีกต่อไป ถ้าไม่มีสิทธิ
เสรีภาพ ความเสมอภาค
Comments
Post a Comment