รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี






หนังสือ รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยีเป็นสารนิยายจากปลายปากกาของ สมบูรณ์ วรพงษ์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา 

รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยีได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สยามสมัยรายสัปดาห์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2495  ในฐานะ สารคดีประกอบจินตนาการ   ต่อมาได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มอีกหลายครั้ง 

ฉบับพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2537  โดยสำนักพิมพ์ ปัจจุบัน  เนื้อหาในเล่มแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคหนึ่ง รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยีและเพิ่มเติมจากต้นฉบับที่พิมพ์ใน สยามสมัย คือ  ภาคสอง บนฝั่งน้ำสาละวิน  กระทั่ง เมื่อเดือนกันยายนของปี 2549 ที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ มติชน  ได้นำกลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้ง และในการพิมพ์เป็นหนังสือเล่มครั้งล่าสุดนี้ นอกจาก ภาค 1 และ ภาค 2 แล้ว ยังได้เพิ่มเติม  ภาค 3อาทิตย์ดับ...เหนือมัณฑะเลย์ซึ่งเขียนโดย บวร รัตนสิน อีกนามปากกาหนึ่งของ สมบูรณ์ วรพงษ์ เข้ามา

เมื่อครั้งที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ ปัจจุบัน ได้เสนอคำโปรยปก รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยีไว้ว่า เป็น สารนิยายซึ่งเป็นแขนงบัญญัติใหม่ของข้อเขียนสารคดี ที่วางโครงสร้างงานเขียนอย่างสลับซับซ้อน และมีตัวละครเช่นเดียวกับ นวนิยาย   คำนิยาม หรือคำแนะนำหนังสือเล็ก ๆ ตรงส่วนนี้ ทำให้เห็นพัฒนาการของการเขียน และการให้นิยามข้อเขียน ตั้งแต่ ณ เวลาซึ่งตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร สยามสมัย ว่า สารคดีประกอบจินตนาการมาสู่ สารนิยายเมื่อ 40 กว่าปีต่อมา  บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ขั้นตอนพัฒนาการของการเขียนข้อเขียนที่มาจากการเดินทางในบรรณพิภพของไทยได้ว่า มีความเป็นมาอย่างไร  ก่อนที่จะมีหนังสือเดินทางท่องเที่ยวออกมามากมายหลากหลายประเภท ดังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้ง หนังสือเกี่ยวกับการเดินทาง, สารคดีการเดินทาง, คู่มือเดินทางท่องเที่ยว, บันทึกการเดินทาง  และกระทั่งหนังสือบางเล่ม นักเขียนบางคน ก็ยังนำเสนอว่า ผลงานของตนเป็นทั้งนิยายและสารคดีการเดินทางท่องเที่ยว ผสมผสานกัน นักเขียนนักอ่านรุ่นใหม่บางคนก็พากันเปิดประเด็นว่าเป็น ความใหม่ของหนังสือเกี่ยวกับการเดินทาง

สมบูรณ์ วรพงษ์ เขียน รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยีตั้งแต่ครั้งยังหนุ่ม คือเมื่อราว ปี พ.ศ. 2492  เนื้อหาของภาคแรกที่เขียนขึ้นนั้น เป็นคล้ายบทบันทึกการเดินทางซึ่งเสนอภาพชีวิตของผู้คนในประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงเวลาจลาจลวุ่นวาย และยังอยู่ในสงคราม แม้จะสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว

บทแรกของหนังสือเปิดเรื่องที่ เมืองหาง ซึ่งผู้เขียนบรรยายไว้ว่า

เมืองหางนี้ ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้าจากรัฐเมืองพาน เมืองสาด และเชียงตุง ตลอดถึงเป็นย่านกลางที่จีนฮ่อเมืองซู่ เมืองว้อง นำสินค้ามาขาย จึงมีพ่อค้าเกือบทุกชาติทุกภาษามารวมกันที่นี่ สินค้าที่นำมาขายก็มีสินค้าจากมณฑลยูนนานบ้าง ซึ่งรวมทั้งหม้อทองเหลือง ตะกั่ว ผ้า เจี๋ยน มันฮ่อ (มันชนิดหนึ่งมีขายในจังหวัดเชียงใหม่) แต่สินค้าที่สำคัญที่สุดก็คือฝิ่น...

แรกเริ่มเดิมที จุดหมายของการเดินทางครั้งนี้ อยู่ที่ มัณฑะเลย์ เมืองหลวงของรัฐฉานในเวลานั้น  มัณฑะเลย์เป็นเมืองใหญ่ที่เชื่อมต่อกับศูนย์กลางอย่างร่างกุ้งด้วยเส้นทางรถไฟ ผู้เขียนออกจากชายแดนไทยด้านเชียงใหม่ ไม่ได้ระบุตำบลที่แน่ชัด เดินทางเข้าสู่เมืองหางซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหน้าด่าน เป็นจุดพักของบรรดาพ่อค้าที่นำสินค้าจากเมืองไทยไปขายในรัฐฉาน  โดยสินค้าส่วนใหญ่ ก็มีเป้าหมายอยู่ที่ตองยี หรือไม่ก็มัณฑะเลย์

การเดินทางสู่มัณฑะเลย์ตามเส้นทางนี้ ต้องเดินเท้าจากเมืองหางสู่เมืองพาน จากเมืองพานจึงจะมีรถไปยัง ตองยี   และ มัณฑะเลย์  ตามลำดับ

ผู้เขียนออกเดินทางมุ่งสู่มัณฑะเลย์พร้อมกับคณะพ่อค้า ซึ่งประกอบไปด้วยชาวอินเดีย ชาวไทยใหญ่ และชาวพม่า  เดินกันเป็นขบวนคาราวาน มีม้าต่าง วัวต่าง วันหนึ่งเดินได้ราว 20 กิโลเมตร ผ่านเส้นทางป่าเขา ต้องฝ่าทั้งแม่น้ำลำธาร และทางชันเลาะเลียบผา

จัดม้าเป็น 3 พวกที่บรรทุกของหนักเดินข้างหน้ามีคนไล่คอยติดตาม พวกที่บรรทุกของไม่ค่อยหนักตามหลัง ถัดมาก็ที่บรรทุกสัมภาระต่าง ๆ  พวกเราเดินตามหลังม้าที่บรรทุกข้าวของเครื่องใช้สำหรับม้าที่เดินทางไกล เขาต้องคอยดูไม่ให้เดินรีบร้อนนัก เพราะจะเหนื่อยเร็ว คอยชะลอให้เดินตามทันกัน นอกจากนี้จะต้องคอยดูว่าม้าตัวไหนไม่สบาย ก็แบ่งของไปบรรทุกหลังม้าตัวอื่น มิฉะนั้นแล้วม้าอาจล้มตายกลางทาง...

ช่วงเส้นทางจาก เมืองหาง ถึง เมืองพาน นับเป็นช่วงการเดินทางที่มีสีสันมากที่สุด เพราะต้องเดินเท้าเป็นกองคาราวานไปตามเส้นทางเดินเท้าโบราณ ผ่านเมืองเล็กเมืองน้อย ผ่านทั้งป่าเขา หน้าผาชัน และด่านช้าง ในช่วงที่ไม่มีเมืองหรือหมู่บ้านก็ต้องพักกันตรงศาลาริมทางซึ่งสร้างไว้สำหรับผู้เดินทาง เดินจนถึงแม่น้ำสาละวินซึ่งต้องลำเลียงกองคาราวานข้ามกันไปด้วยแพ

เราหยุดม้าตรงหน้าผาชัน จัดแจงปลดต่างออกเพื่อจะลำเลียงม้าข้ามไปก่อน การข้ามก็อาศัยแพขนานซึ่งเขาใช้เรือขนาดใหญ่ คล้าย ๆ เรือชะล่าสองลำสานแตะพาดกลางระหว่างเรือทั้งสอง  กว้างประมาณ 5 เมตร  แพนี้เขาทำแข็งแรงพอที่จะทานน้ำหนักของม้า 10 ตัว และของซึ่งมีน้ำหนัก 700800 กิโลกรัม การข้ามฟากอาศัยชาวไทยใหญ่ซึ่งตั้งรกรากอยู่ฝั่งน้ำนี้เป็นผู้พาข้าม โดยคิดค่าข้ามฟากคนละ 3 รูปี ม้าตัวละ 5 รูปี ส่วนของหนัก คิดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมต่อ 1 รูปี เรารอสักครู่ชาวแพก็พายข้ามมารับเรา จะต้องเอาม้าข้ามก่อน ม้า 30 ตัว จะต้องขนไม่น้อยกว่า 5 เที่ยว เมื่อเรือขนานมาถึง ลูกน้องของสางคำก็ต้อนม้าลงไปทีละตัว...

เมื่อข้ามแม่น้ำสาละวินมาได้แล้ว ต้องเดินต่ออีก 3 วัน จึงถึงเมืองพาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าสำคัญอีกแห่งหนึ่งของแคว้นฉานใต้ ณ เวลานั้น

สมบูรณ์ วรพงษ์ เดินทางไปรัฐฉานเมื่อ ปี พ.ศ. 2492 นับย้อนจากตอนนี้ไปก็ 58 ปี  ในเวลานั้น เมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้  บนผืนแผ่นดินของชาวไทยใหญ่ได้มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายมหาศาล  เวลานั้น ประเทศพม่าเพิ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษได้ไม่นานนัก สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจะสิ้นสุด บรรดาชนชาติต่าง ๆ ในพม่ายังคงตกลงกันในเรื่องการเมืองการปกครองไม่ได้  ไทยใหญ่ซึ่งเป็นชาติหนึ่งในพม่า มีดินแดนอยู่เหนือประเทศไทย ในบริเวณที่รู้จักกันว่าเป็นรัฐฉานในปัจจุบัน  ตอนนั้น ชนชาติไทยใหญ่แม้ไม่ได้เข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะยังแบ่งเป็นเมืองเป็นรัฐ แต่ละรัฐก็ปกครองโดยเจ้าฟ้า หรือพ่อเมือง  แต่ก็ยังนับได้ว่าไทยใหญ่มีความเป็นปึกแผ่น มีความเป็นรัฐเป็นชาติของตนเองอย่างเต็มศักดิ์ศรีอยู่  ขณะที่ปัจจุบัน ชาวไทยใหญ่ถูกกระทำย่ำยีเสียจนแทบจะสูญสิ้นความเป็นชาติพันธุ์

ระหว่างเดินทาง ผู้เขียนได้พบและผูกพันกับเพื่อนร่วมทางจำนวนหนึ่ง ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ได้กลายมาเป็นตัวละครสำคัญของเรื่องราว นำผู้เขียนและผู้อ่านเข้าไปพัวพันกับความรู้สึกเบื้องลึกของชาวไทยใหญ่ผู้ต้องการกอบกู้ชนชาติของตนขึ้นจากการกดขี่และการมอมเมาด้วยการพนันของรัฐบาลกลาง

ภาคแรกจบลงตรงที่ผู้เขียนเดินทางกลับประเทศไทย ปิดท้ายด้วยจดหมายจากหญิงสาวไทยใหญ่ที่ผูกพันกันส่งมาถึงผู้เขียน ส่วนภาคที่สองเนื้อความส่วนใหญ่เป็นบันทึกของ อูขิ่น  ผู้ที่ผู้เขียนได้รู้จักระหว่างการเดินทาง บันทึกนี้บอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมา และความขัดแย้งของชาติพันธุ์ในพม่า และเรื่องราวของตัวละครที่ผู้เขียนได้เข้าไปพัวพันด้วยในภาคแรก

สำหรับภาคสุดท้ายเป็นส่วนที่มีความเป็นเรื่องแต่งมากที่สุด ตัวละครสมมติถูกสร้างขึ้นให้มาพบกับผู้เขียนในวัยชราที่มัณฑะเลย์ และนำไปสู่การตามหาตัวละครในอดีตซึ่งจากกันไปกว่า 50 ปี แต่ ผู้เขียน ซึ่งได้กลายเป็น ผู้ชรายังคงระลึกถึงอยู่เสมอมา

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในสมัยที่ยังการเดินทางและการท่องเที่ยวยังไม่ได้ถูกผนวกกันเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ผู้เดินทางไกลยังต้องอดทนต่อความยากลำบาก และความไม่แน่นอน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเช่นคู่มือเดินทางท่องเที่ยว จึงทำให้เห็นว่า จริง ๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการเดินทางคือผู้คน ผู้คนที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทาง ให้ความช่วยเหลือในฐานะที่ผู้เดินทางเป็นคนต่างถิ่น ทำให้เห็นความสัมพันธ์กันของผู้คนที่ไม่ได้มีพรมแดนประเทศมาขีดกั้น  และการที่ได้เข้าถึงและสัมผัสผู้คนแห่งผืนแผ่นดินรัฐฉานเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งมีวัฒนธรรมและภาษาใกล้เคียงกัน ก็ชวนให้รู้สึกผูกพัน และเป็นเดือดเป็นแค้นไปด้วยกับผู้คนที่ถูกกดขี่

ยิ่งเมื่ออ่าน รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี จบ และเหลียวมองความจริงที่เกิดขึ้นกับชนชาติไทยใหญ่ 50 ปีให้หลังมาจนถึงปัจจุบัน ก็จะยิ่งรู้สึกสะทกสะท้อนใจ

พิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร Travel Guide

Comments