กบฏต่อราชอาณาจักร

  

หนึ่งในข้อหาที่รัฐตั้งให้กับบรรดาผู้ก่อการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาก็คือ "กบฏต่อราชอาณาจักร" ผมได้ยินถ้อยคำนี้จากข่าววิทยุ หลังจากจมสู่ห้วงคิดเป็นเวลาหนึ่ง ผมก็นึกถึง "เรา" ขึ้นมา

"เรา" หรือ "กระบวนการสร้างความเป็นเรา" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะทุกครั้งที่สังคมไทยเกิดกรณีปัญหาอันเนื่องมาจากความแตกแยกแตกต่าง และทุกครั้งที่รัฐใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับความแตกแยกแตกต่าง ตั้งแต่ 6 ตุลา จนถึง กรือเซะ ก็ล้วนมีกระบวนการของความเป็นเราเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอันหนึ่งของกรณีกรือเซะก็คือ ในขณะที่นายกฯ บอกว่าปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องของ ปัญหาเศรษฐกิจ ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น นักการเมือง และขบวนการค้ายาเสพติด แต่ข้อหาที่รัฐตั้งให้กับผู้ก่อการในกรณีกรือเซะกลับเป็น "กบฏต่อราชอาณาจักร"

แน่นอนว่าข้อหา "กบฏต่อราชอาณาจักร" เป็นข้อหาที่ไม่ได้ตั้งให้ผู้ทำผิดกฎหมายทั่วไปไม่ว่าจะทางแพ่งหรืออาญา ข้อหานี้จึงมีนัยพิเศษที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ความรู้สึกที่เกิดขึ้น (หรือถูกทำให้เกิดขึ้น) อันหนึ่งก็คือการทรยศ หรือเป็นผู้ทรยศ

ในสภาพปัจจุบันนี้ที่รัฐสมัยใหม่อ้างตัวหรือประกาศตนว่ายอมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา (ไม่รู้รวมอุดมการณ์ทางการเมืองด้วยหรือเปล่า)  โดยปราศจากอุดมการณ์ หรืออุดมคติที่เป็นเป้าหมายร่วมของคนในชาติ แล้วอะไรเล่าที่จะหมายถึงการทรยศต่อราชอาณาจักร

สังคมไทยมีการแสดงออกอันหนึ่งที่เป็นตัวแสดงความสัมพันธ์ หรือเป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดความเป็นชาติ ก็คือความเป็นพี่เป็นน้อง และความเป็นพี่เป็นน้องนี้เองที่พัฒนาไปสู่ความเป็นเพื่อนร่วมชาติร่วมแผ่นดิน ที่กล่าวได้ว่าเป็นกลไกหลักในการสร้างความเป็นเรา ดังนี้ความเป็นเราจึงคล้ายยืนอยู่ลอย ๆ บนความรู้สึกพี่น้องของคนไทยเท่านั้นเอง แต่ความเป็นเราแบบกลวง ๆ อันนี้กลับสามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ผมไม่ต้องการพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะมีความจำเป็นต้องปฏิบัติจริงหรือไม่ แต่ความรุนแรงที่พูดถึงนี้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นก่อนเหตุการณ์ เป็นสิ่งที่สะสมมา และเป็นสิ่งที่เป็นปฏิกิริยาหลังจากเกิดเหตุการณ์ด้วย และความรุนแรงตรงนี้ไม่ใช่เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นผลลัพธ์ของแรงผลักทั้งหมดในสังคม

สิ่งนี้เองที่ทำให้ผมนึกถึง ความเป็นเรา ในครั้งเหตุการณ์ณ์ 6 ตุลา สังคมไทยก็มีกระบวนการสร้าง ความเป็นเรา เช่นนี้ จนกระทั่งเห็นนักศึกษาและผู้ชุมนุมประท้วง เป็นอื่น และนำไปสู่ความรุนแรงแบบที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อน

ภายใต้สังคมที่แตกต่าง ความเป็นคนไทยด้วยกัน หรือ "ความเป็นเรา" ถูกทำให้เชื่อว่าจะทำลาย ความเป็นอื่น ลงไปได้ แต่ด้วยความแตกต่างหลากหลายที่ดำรงอยู่จริง น่าสงสัยว่าความเป็นอื่นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หรือเพียงถูกอำพรางด้วยความเป็นเรา

ความแปลกแยกต่อกันระหว่างคนต่างวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับสำหรับการอยู่ร่วมกัน เมื่อมีความแตกต่าง ความแปลกแยกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความแปลกแยกนี้จำเป็นต้องเป็นความเป็นอื่นหรือไม่ หรือมันกลายเป็นความเป็นอื่นได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องควรตั้งคำถามอย่างยิ่ง

ทุกครั้งที่รัฐใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการความแตกต่าง ความเป็นเรามักจะถูกหยิบขึ้นมาเพื่อผลักคนบางกลุ่มไปสู่ความเป็นอื่น และสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงนั้น ๆ  เรื่องนี้คนในรัฐบาลบางคนสมควรจะรู้ดีที่สุดว่า อุโมงค์ในธรรมศาสตร์ กับคอมมิวนิสต์สูบเลือดที่สนามหลวงหมายถึงอะไร

จากกรณี 6 ตุลา เราได้เห็นแล้วใช่ไหมว่ายิ่ง ความเป็นเรา รุนแรงเพียงใด ความเป็นอื่น ก็เข้มข้นขึ้นเพียงนั้น และสังคมไทยก็สามารถเห็นความป็นอื่น/คนอื่นไม่ใช่คนและใช้ความรุนแรงกับความเป็นอื่นได้อย่างผิดมนุษย์เพียงใด

จริง ๆ แล้ว ด้วยกระบวนการสร้างความเป็นเรานั่นแหละที่ทำให้เกิดความเป็นอื่นขึ้น และถ้าหากจะเรียกร้องความสมัครสมานสามัคคีขึ้นในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยุติกระบวนการสร้างความเป็นเรากันเสียที และหันมายอมรับความแตกต่าง เรียนรู้ความแปลกแยกเพื่อจัดการกับความแตกต่างได้อย่างเปิดใจ เป็นคำตอบเดียวที่จะทำให้ไม่ต้องเสียเลือดเสียน้ำตากันก่อนแล้วค่อยทำให้ "กบฏต่อราชอาณาจักร" กลับมาเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติ"

พิมพ์ครั้งแรก open 42, มิถุนายน 2547

Comments