วิจารณ์ธีรยุทธ บุญมี



กำลังจะโพสต์โต้ธีรยุทธก็เจอข่าวระเบิด... ครับ คงจะสมใจธีรยุทธ บุญมีแล้วที่ประกาศยอมตายเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง เพียงแต่คนโดนระเบิดไม่ใช่ธีรยุทธ... คิดว่าเดี๋ยวสุเทพ แกนนำ กปปส. ที่ขึ้นหลังเสือแล้วไม่รู้จะลงยังไงก็คงจะไปลงที่รัฐบาล แล้วก็บีบให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นอีก ทั้งที่รู้อยู่ว่าเกมนี้ใครกำลังสู้กับใคร ก็ยังพาคนไปตายเป็นกบเป็นเขียดกัน

การแสดงความเห็นของธีรยุทธ บุญมี เมื่อวันที่ 15 เป็นการแสดงความเห็นที่ ไม่มีคุณภาพ, กะล่อน (glib), กลับกลอก (sly), วิตถาร (bitzer) และมีลักษณะ โรแมนติกนิยม” (romanticism)

ผมอ้างอิงถ้อยคำของธีรยุทธจาก 2 แหล่งคือ กรุงเทพธุรกิจ กับ โพสต์ทูเดย์ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบว่าเหมือนกัน แต่ของกรุงเทพธุรกิจ (ตามลิงก์) นั้น ครบถ้วนกว่า ส่วนของโพสต์ทูเดย์ แม้จะพาดหัวว่า คำต่อคำแต่จริง ๆ แล้ว ไม่ครบและมีการ เน้นสีแดง

ผมจะวิจารณ์โดยแบ่งเป็น 4 ส่วนดังนี้


(ส่วนแรก)
ธีรยุทธ กล่าวหาอย่างไม่มีคุณภาพ และแสดงความรู้แบบ กะล่อน” (glib)

ธีรยุทธเริ่มด้วยการไล่เลียงปัญหาโดยอ้าง ระบอบทักษิณ” (เป็น อนาธิปไตยจะรื้อเส้นแบ่งอธิปไตย, โยกย้ายข้าราชการ, ซื้อความจงรักภักดี, ทำลายห่วงโซ่ระบบยุติธรรม, ทำลายวินัยการเงินการคลัง, ทำลายการตรวจสอบของสังคม ฯลฯ)

ข้อกล่าวหาเหล่านี้มีลักษณะเลื่อนลอย และ fluent และ voluble คือพูดพล่ามอย่างคล่องแคล่ว แต่ไม่มี ข้อเท็จจริงหรือ กระบวนการได้มาซึ่งความรู้รองรับ

เหตุที่ความเห็นจากนักวิชาการมีคนฟังและน่าเชื่อถือ ก็เพราะคนคาดหวังว่าจะเป็นสิ่งที่ผ่าน กระบวนการ” (process) ของการได้มาซึ่งความรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ความเห็นธีรยุทธไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวเลย

เป็นที่ทราบดีว่าการประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ เริ่มต้นจากกรณีนิรโทษกรรม ซึ่งรัฐบาลยอมถอนร่างกฎหมายออกจากสภาแล้ว และถอยต่อด้วยการยอมยุบสภา แต่ธียุทธไม่เอ่ยถึงข้อเท็จจริงนี้   ข้ามไปสมอ้างเลยว่า ต้นเหตุของการเกิดกระแสปฏิรูปบลา ๆ ๆ ๆ  มาจาก หนึ่ง สอง สาม บลา ๆ ๆ ๆ.... ทั้งที่ตลอดการประท้วงไม่ได้มีการยกกรณีที่เป็นข้อเท็จจริงในเรื่องที่ธีรยุทธอ้างขึ้นมาประท้วง  มีแต่ กปปส. จะเอาสภาประชาชน โดยไม่มีเหตุผลอะไร นอกจาก ทักษิณ ๆ ๆ

ธีรยุทธอ้างว่าทักษิณทำลายเส้นแบ่งระหว่างบุคคลและพรรค บริหารและนิติบัญญัติ และกล่าวว่า การเลือกตั้งคือกระบวนการเปลี่ยนบุคคลในครอบครัวทักษิณขึ้นมาครองอำนาจ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ ฟังได้แต่เป็นข้อเท็จจริงที่พูดแบบ หลับตาข้างเดียวคือไม่พิจารณาประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับทักษิณทั้งหมด

ปัญหาเรื่องทักษิณนั้นเกี่ยวพันกับโครงสร้างอำนาจของประเทศนี้ การพูดถึงปัญหาทักษิณ ต้องพูดถึงเหตุการณ์รัฐประหารปี 49  และต้องพูดต่อไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองก่อนหน้า และบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง  แต่ที่ติดขัดไม่สามารถนำข้อเท็จจริงออกมาพูดได้เพราะอะไร?  ไม่ใช่เพราะมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่พูดไม่ได้หรือ?

การที่ธีรยุทธกล่าวข้ามข้อเท็จจริงต่าง ๆ แล้วเคลมเอาดื้อ ๆ ว่าทุกอย่างเป็นเพราะทักษิณ ๆ ๆ ๆ โดยไม่พยายามเข้าถึงความจริงให้ครบถ้วนแบบนี้คือความกะล่อนทางวิชาการ  เรื่องคอร์รัปชั่นที่ธีรยุทธยกอ้างขึ้นมาจึงไม่มีความหมายอะไร นอกจากเป็นแค่การปิดตาข้างหนึ่ง โยนขี้ทุกก้อนไปที่ทักษิณเสียเพื่อจะให้สังคมจบปัญหา ล้มฝ่ายทักษิณได้แล้วทุกอย่างจะดี (ไม่เป็นความจริงแน่ในขณะนี้ กรุณาอ่านสเตตัสก่อนหน้าเรื่องใครจะมีบารมีพอจะเป็นคนกลาง)


(ส่วนที่ 2)
ธีรยุทธวิเคราะห์วิจารณ์และโต้แย้งด้วยการกลับกลอกทางความคิด

การวิเคราะห์เพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงว่าเป็น เสรีนิยมแบบคลาสสิกนี้เป็นอะไรที่นอกจากน่าหัวร่อแล้ว ยังเป็นอะไรที่น่าสมเพชในองค์ความรู้

จริง ๆ พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. มีอะไรให้วิจารณ์มากมาย แต่ธีรยุทธกลับไปบอกว่าพวกนี้เป็น เสรีนิยมคลาสสิก (Classical liberalism) ทั้งที่กรณีสำคัญ (นิรโทษกรรม) ที่ทำให้พวกนี้ต้องถอยไม่เป็นท่า ก็เพราะปัญหาความไม่เข้าใจหลักการเรื่องสิทธิที่เป็นสาระสำคัญหนึ่งของเสรีนิยมแบบคลาสสิก (และเสรีนิยมแบบอื่น) และทั้งที่ไม่กี่นาทีก่อนธีรยุทธเพิ่งกล่าวหาพวกนี้ไปหยก ๆ ว่า โยกย้ายข้าราชการ” “ทำลายการตรวจสอบของสังคม” “ซื้อความจงรักภักดีก็ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงมันจะเป็น “Anarchism” และเป็น “Classical liberalism” ได้ยังไง?

นี่สะท้อนว่า ธีรยุทธ บุญมีกำลังจับแพะชนแกะ มั่วพล่ามไปอย่างกลับกลอก (sly)  บอก parliamentary supremacy คือ ช้างออกลูกเป็นลิงบอก หลักศีลธรรมสำคัญน้อยกว่า สิทธิและหลักความเท่าเทียมแล้วยัง บิดข้อเท็จจริงว่า พรรคเพื่อไทยไม่ยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบกรณี นิรโทษกรรมสุดซอย 

เรื่องนิรโทษกรรมมันเกี่ยวอะไรกับกรณีศาลรัฐธรรมนูญครับ? มันไม่เกี่ยวเลย เพราะมันถอนร่างไปแล้ว เรื่องที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญและเป็นปัญหาเรื่องระบบสภาคือเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแทรกแซงการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นเรื่องของ constitutional supremacy ไม่ใช่ parliamentary supremacy แบบที่ธีรยุทธอ้างงู ๆ ปลา ๆ และระบบของอังกฤษก็ไม่เกี่ยวกับ ช้างออกลูกเป็นลิงแต่ระบบกฎหมายของอังกฤษเป็น common law ซึ่งมีที่มาจาก King’s Court  และเหตุที่อังกฤษเป็นระบบ parliamentary supremacy ก็เพราะภูมิหลังของประวัติศาสตร์เป็นการสู้กันระหว่างอำนาจของกษัตริย์กับอำนาจของสภา และสภาเป็นฝ่ายกำกับและจำกัดอำนาจของกษัตริย์ให้อยู่ในกรอบประชาธิปไตย

ธีรยุทธยังพูดขัดกับตัวเองด้วยการบอกว่า มีประชาธิปไตยกระแสหลังๆ (ซึ่งมีนักคิดตั้งแต่ John Locke, .... ฯลฯ) ที่เรียกว่าเสรีนิยมแบบพหุนิยม..    ธีรยุทธยก John Locke มาอ้างเป็นประชาธิปไตยกระแสหลัง ๆ โดยที่ก่อนหน้านี้กำลังเอ่ยถึง เสรีนิยมแบบคลาสสิก จึงกลายเป็น John Locke คือ นักประชาธิปไตยกระแสหลังเสรีนิยมแบบคลาสสิก

สิ่งที่ธีรยุทธพูดมานี้ ไม่ทราบว่ารู้ตัวหรือไม่ว่าสะท้อนให้เห็นความน่าสมเพชในองค์ความรู้ขนาดไหน เพราะ John Locke ก็คือบิดาของ Classical liberalism คนหนึ่ง แล้วพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับพัฒนาการของแนวคิดเสรีนิยมแบบที่สามารถจะเอามาพูดเหมากันได้แบบนี้

ขอเรียนชัด ๆ ว่า อุดมการณ์ของค่ายทักษิณ ของแกนนำ นปช. ส่วนใหญ่ ไม่ได้ต่างจากสุเทพ ประชาธิปัตย์ และราษฎรม็อบนกหวีดหรอกครับ มันก็คือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือน ๆ กัน (ทักษิณไม่ได้แสดงให้เห็นหรอกหรือว่าเขา โหมรณรงค์ความนิยมให้กับสถาบันกษัตริย์อย่างไร พรรคเพื่อไทยยอมแก้หรือเลิก 112 หรือ)

ทั้งฝ่ายทักษิณและฝ่ายต้านทักษิณนั้นมีอุดมการณ์เดียวกัน  ไม่ได้มี หลักการอะไรต่างกันเลย ไม่ได้มีเสรีนิยมอะไรทั้งในค่ายทักษิณและฝ่ายต้านทักษิณ ภาพรวมของความขัดแย้งของสองขั้วนี้ไม่ได้แย้งหลักการอะไรกันเลย (ถ้าแย้งก็ไม่เกิดกรณีนิรโทษกรรมหรอก) แต่ทะเลาะกันเรื่อง ตัวบุคคล  ฝ่ายหนึ่งเกลียดทักษิณ กลัวเปลี่ยนรัชกาล  อีกฝ่ายหนึ่งก็กำลังพยายามพิสูจน์ความจงรักภักดีของตัวเอง (ถังเช่า) เพื่อไม่ให้ถูกถีบกระเด็นออกไป ไม่มีหลักการอะไรทั้งสิ้น ต่างก็มีอุดมการณ์แบบ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เหมือนกัน เพียงแต่ช่วงชิงอำนาจกันอยู่ในอุดมการณ์เดียวกันนี้


(ส่วนที่ 3)
ธีรยุทธ แก้ต่างให้ กปปส. โดยวิตถาร

ธีรยุทธบอกว่า มวลมหาประชาชนมองปัญหา ได้ลึกกว่ายิ่งลักษณ์...พวกเขาแยกชีวิตการเมืองของเขาเป็น 2 ระดับ ระดับแรกคือ กลไกการเมือง ... และระดับแก่น...จิตวิญญาณ..

ธีรยุทธยังโต้ต่อไปว่า พวกเขาไม่อาจเชื่อนักวิชาการเพื่อไทยที่มาย้ำเรื่องการเลือกตั้งและการปฏิรูปกฎหมายในปัจจุบัน เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาพวกเขาไม่เคยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเพื่อไทยปฏิรูประเทศ..

ส่วนนี้ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เห็นกันอยู่ตรงหน้า  ข้อเท็จจริงก็คือ ม็อบนกหวีดไม่เคย เรียกร้องการปฏิรูปอะไรเลย จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ จนบัดนี้แม้แต่ เนื้อหาของการปฏิรูปก็ไม่มี สิ่งที่สุเทพพูดก็เป็นการพูดแบบสะเปะสะปะ เพิ่งคิดเอาเฉพาะหน้า ที่ผ่านมาสมัยตัวเองเป็นรัฐบาลก็ไม่เคยคิดจะปฏิรูปอะไรอยู่แล้ว ประเด็นที่หมกมุ่นกันมาตลอดก็มีแต่เรื่องทักษิณ ๆ ๆ ๆ อยู่ ๆ ธีรยุทธก็จะมาบอกว่า สุเทพและม็อบนกหวีด ซาโตริข้ามคืน มองเห็นระดับแก่นซึ่งเป็นชีวิตหรือจิตวิญญาณของการเมือง..... แปลว่าอะไรไม่ทราบครับ?

ถามว่า ที่เรียกว่า จิตวิญญาณของการเมืองไทยนี่ มีเรื่องสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวหรือเปล่า?  แล้วเรื่องสถาบันกษัตริย์นี่เป็นเรื่อง ใจกลางของการเมืองไทยไหม?

ที่ผ่านมานักคิดฝ่ายใดที่เสนอให้แก้ 112 ? (แล้วธีรยุทธออกมาค้าน - ตลกสิ้นดี)  ฝ่ายใดเสนอแนวคิดปฏิรูปสถาบันกษัตริย์? 

แล้วถามว่า ถ้าสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง หรือใจกลาง ของเรื่องทางการเมือง ปฏิรูปประเทศ โดย ข้ามหรือไม่ปฏิรูปเรื่องสถาบันกษัตริย์ ไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาเลย ได้ไหม?

ธีรยุทธพูดว่า การที่มวลมหาประชาชนจะประกาศคัดค้านการเลือกตั้งก็เป็นสิทธิ ถ้าจะรณรงค์ให้คน Vote No หรือไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็เป็นสิทธิ แต่ถ้าบางส่วนอดทนไม่ไหวต่อความเลวของนักการเมืองโดยรวมทั้งหมด ถึงขั้นออกมาขัดขวางไม่ให้คนไปเลือกตั้งก็ย่อมทำได้ แต่พวกเขาก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ทำเป็นการละเมิดกฎหมายด้วย

สังเกตว่าธีรยุทธ ไม่กล้ายืนยันนะครับว่าการขัดขวางการเลือกตั้งเป็น สิทธิแต่ก็ยังอุตส่าห์บอกว่า ย่อมทำได้  ท่าทีแบบนี้คือการ prevaricate คือ หลบเลี่ยงพูดแบบไม่ชัดเจน  เสร็จแล้วยังตีฝีปากด้วยการถามกลับว่า “Do you respect your vote?”  “Have you respected your vote?” 

ฟังดูชวนคิดนะครับ แต่ก็ตอบกลับได้ง่าย ๆ ว่า มาถามกันทำไมว่าเคารพสิทธิ์ของตัวเองหรือไม่ ในเมื่อไม่ยอมให้มีสิทธิในการออกเสียง? สิทธิพื้นฐานที่ให้เสียงของคนเท่ากันยังไม่ยอมรับเลย แต่จะมาถามว่าเคารพเสียงของตัวเองหรือไม่

ก็ถ้าที่ผ่านมามันเคารพสิทธิพื้นฐานกัน มันฟังเสียงกัน เรื่องมันก็จบไปตั้งแต่ทักษิณยุบสภาครั้งแรกแล้ว ไอ้ที่มีรัฐประหาร 49  มีพันธมิตรไล่สมชาย-สมัคร มีรัฐบาลอภิสิทธิ์ จนกระทั่งมีม็อบนกหวีดไม่เอาเลือกตั้งตอนนี้คืออะไร? 

ขอเรียนว่า ก็เพราะคนเขามีความเคารพตัวเอง เคารพเสียงตัวเองนั่นแหละเขาถึงไม่ยอมให้พวกคุณมาเหยียดหยาม กดขี่เสียงของเขาครั้งแล้วครั้งเล่า เขาถึงมี ความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากคุณ  การที่เขา เห็นต่างจากคุณไม่ได้มองทักษิณ และปัญหาเกี่ยวกับทักษิณ เหมือนกับคุณมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการที่เขาไม่เคารพเสียงตัวเอง แต่มันเกี่ยวกับการที่ คุณไม่เคยเคารพเสียงเขาเลยต่างหาก

ธีรยุทธ บุญมีนอกจาก กลับกลอกแล้วยัง วิตถารจนถึงกับยกคำพูดของ เนลสัน แมนเดลา และมาร์ติน ลูเธอร์ คิงมาบอกว่า อารยะขัดขืนก็คือการที่สมาชิกประชาคมบางส่วนไม่สามารถยอมรับนโยบายรัฐ จึงใช้อำนาจอธิปไตยของตนแข็งขืนโดยสงบ โดยสันติวิธี ไปจนถึงขั้นการไม่ยอมรับข้อตกลงกับเสียงส่วนใหญ่...แต่พวกเขาก็ยอมเพื่อประกาศความคิด การต่อสู้และแบบวิถีชีวิตที่ดีงามที่พวกเขาเชื่อมั่น ดังคำปราศรัยของ เนลสัน แมนเดลา ปราศรัยต่อหน้าศาลสูง ผมพร้อมจะตาย”..”

ถึงกับประกาศว่าจะยอมตายเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง...

การไปใช้สิทธิเลือกตั้งคือการที่คนเดินไปที่คูหา กาเบอร์ แล้วก็หย่อนบัตร ไม่มีอะไรที่จะเป็นความรุนแรงไปคุกคามใครให้ถึงตายได้ จึงสงสัยว่าม็อบนกหวีดจะตายยังไง? แล้วที่ว่า สันติภิวัฒน์แล้วยังจะขัดขวางการเลือกตั้งคืออะไร?  จะไปนอนขวางหน้าคูหา ถ้าคนเขาไม่มีที่เหยียบแล้วต้องเหยียบตัวเข้าไปเลือกตั้งแล้วจะยอมนอนเฉย ๆ?

โวหารของธีรยุทธในส่วนนี้ คือ สิ่งวิตถาร ที่เรียกว่า Bitzer เอาอะไรที่ไม่เกี่ยวกัน ที่ไม่ใช่ของกัน มา ต่อหรือ ประกอบเข้าด้วยกัน (a thing that is made from parts that originally did not belong together)  เอาการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของต่างประเทศมาสร้างความชอบธรรมให้กับการ ปิดกั้นสิทธิความเท่าเทียม 

การ เลือกตั้งโดยตัวกระบวนการไม่คุกคาม หรือมีอะไรรุนแรงอยู่แล้ว ไม่มีใครสามารถตายได้เพราะการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นการขัดขวางการเลือกตั้งอย่างสันติไม่มีวันเป็นไปได้ มีแต่คุณต้องไปใช้ความรุนแรงขัดขวางเขาไม่ให้จัดการเลือกตั้งได้ หรือไม่ให้ออกไปเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกตั้งได้เท่านั้น (ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้วอยู่เห็น ๆ ในเขตที่รับสมัครไม่ได้)

การที่ธีรยุทธประกาศจะยอมตายเพื่อขัดขวางการเลือกตั้งแบบนี้ อีกความหมายหนึ่งก็คือ ถึงตายกูก็จะไม่ยอมให้มึงมีสิทธิเท่ากูซึ่งวิตถารจนไม่ต่างกับการทำลามกจกเปรตแบบหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือ ธีรยุทธไปประกาศแทนผู้ชุมนุม แล้วเวลาเกิดเหตุรุนแรง (เช่น ระเบิดที่เกิดขึ้นวันนี้) ใครรับผิดชอบ ธีรยุทธจะรับผิดชอบการประกาศยอมตายที่ไร้สาระแบบนี้ยังไง?


(ส่วนที่ 4)
ธีรยุทธ ทำนาย-แนะนำ แบบ romanticism

คำทำนายของธีรยุทธในส่วนสุดท้ายนั้นเพ้อเจ้อเพ้อฝัน  บอกว่าถ้าเลือกตั้งแล้ว จะนำไปสู่ระบอบทักษิณโดยสมบูรณ์  ยังไง? ก็เห็น ๆ อยู่ว่ารัฐบาลประกาศว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นวาระปฏิรูปที่ไม่อยู่ครบวาระ แล้วต่อให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ ก็ยากมากที่รัฐบาลจะมีอำนาจมากไปกว่าที่เคยมี เพราะแม้แต่การแก้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็เข้ามาแทรกแซง

รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง น่าจะเป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ เพราะรัฐสภาไม่มีฝ่ายค้านสำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์ นี่คือการมองแบบ realistic

สิ่งที่นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยพยายามทำมาตลอด ทำอยู่ และจะทำต่อไปในอนาคตก็คือการพยายามรณรงค์เรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เรื่องประชาธิปไตย รักษากลไกประชาธิปไตย เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย และหวังว่าโครงสร้างอำนาจของประเทศจะเปลี่ยนเข้ามาอยู่ในกรอบประชาธิปไตยได้มากที่สุด เพราะเป็นวิธีที่ ปลอดภัยที่สุด

ที่ผ่านมาในการต่อสู้ขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งปีกคายทักษิณตกเป็นฝ่ายถูกรุกไล่ด้วยอำนาจนอกระบบ หรือการกระทำที่ผิดหลักการ นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยก็พยายามที่จะชี้นำความคิดที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ฟังกันบ้างไม่ฟังบ้าง เรื่องแค่นี้ธีรยุทธไม่เข้าใจ ยังพยายามหาความชอบธรรมให้กับความไม่ชอบธรรม มองการเมืองแบบไม่ realistic ไม่เห็นอันตรายของช่วงเปลี่ยนผ่านจริง ๆ และยังประกาศยอมตายแบบไร้สาระ เสียสติ นี่คือโรแมนติกนิยม


มกราคม 2557

Comments