วิจารณ์บทความของพิเชฐ แสงทองเรื่องผีเพื่อชีวิต



บทความของพิเชฐที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร vote:

ผมเคยเสนอว่า ศัตรูที่ทำลายความเติบโตของวรรณกรรมสร้างสรรค์นั้นหาใช่ปัจจัยภายนอก อย่างสื่ออิเลกทรอนิกส์ หรือสังคมวัฒนธรรมในยุคทุนนิยมเสรีอย่างที่เคยเข้าใจกัน  แต่มันอาจเป็นปัจจัยภายในของตัววรรณกรรมสร้างสรรค์เองก็ได้

ที่ผมเริ่มเชื่ออย่างนี้ เพราะว่าเมื่อพิจารณาในเชิงประวัติ เราจะพบว่ายุคเฟื่องฟูของวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่เราเคยเชื่อกันว่าจบลงแล้วตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2520 นั้นแท้แล้วยังไม่จบจนทุกวันนี้ วรรณกรรมเพื่อชีวิตยังมีอำนาจเชิงวาทกรรมที่สามารถเข้ามาควบคุม กำหนด กีดกัน และสร้างสรรค์ตัวมันเองผ่านประเภทวรรณกรรมที่เกิดขึ้นใหม่อย่าง วรรณกรรมสร้างสรรค์

บนเส้นทางการเติบโตของวรรณกรรมสร้างสรรค์นั้น แนวคิดเพื่อชีวิตเข้ามามีอิทธิพลอย่างหนักแน่น เพื่อชีวิตสามารถรักษา หัวใจหรือ แผ่นดินใหญ่ที่ว่าวรรณกรรมต้องสะท้อน/ตีแผ่ และช่วยแก้ปัญหาสังคม (ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม) เอาไว้ได้บนพื้นที่ใหม่ที่เรียกว่า วรรณกรรมสร้างสรรค์อำนาจเชิงวาทกรรมของเพื่อชีวิต เข้ามากำหนดกฎเกณฑ์การสร้าง การเสพ และการประเมินค่าวรรณกรรม ด้วยการชี้นิ้วบอกแก่เราว่านักเขียนพึงต้องรับผิดชอบต่อสังคม ไม่อย่างนั้นคุณก็ไม่อาจเป็นนักเขียนสร้างสรรค์ได้

นักเขียน ตลอดจนนักอยากเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ในยุคทศวรรษที่ 2530-2540 เองก็ตกอยู่ในวังวนทางอุดมการณ์เหมือนที่นักเขียนยุคหลัง 6 ตุลาคมเป็น คือรู้สึกว่าเราไม่รู้จะเขียนไปทำไมถ้าไม่เพื่อสะท้อนปัญหาสังคม ลองตรองความรู้สึกของเราดูให้ดี จะพบว่าพวกเราที่ได้ชื่อว่ากลุ่มสร้างสรรค์จะตกอยู่ภายใต้ความวิตกกังวลนี้กันแทบทุกคน แม้ว่าเรากำลังเขียนถึง ความรู้สึกภายในของปัจเจกหรือเขียนถึง ความสัมพันธ์เชิงปัจเจกซึ่งดูผิวเผินไม่เป็นเพื่อชีวิตเลยก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ววาทกรรมเพื่อชีวิตจะทำให้เรามีคำอธิบายแก่ตัวเราเองว่า อ้อ...ก็ในเมื่อยุคนี้มันเป็นยุคปัจเจกนิยม ดังนั้นการสร้างสรรค์สังคมจึงย่อมต้องเริ่มต้นที่ปัจเจกแต่ละบุคคล ถ้าปัจเจกดีแล้ว สร้างสรรค์แล้ว มันก็เท่ากับสังคมดีสังคมสร้างสรรค์

สิ่งที่มีพลังบงการมากมายขนาดนี้โดยที่เราไม่เคยเห็นตัวเห็นตนเลยเขาเรียกว่า ผี

ผมจึงรู้สึกว่าผีเพื่อชีวิตนั้นแรงมากจริงๆ มันสามารถแปลงร่างกลายเป็นวรรณกรรมสร้าง สรรค์ ผลิตเครื่องมือหรือเทคโนโลยีขึ้นมารับใช้มันในรูปลักษณ์ต่างๆ มากมาย และทรงความสำคัญต่อประวัติศาสตร์และพัฒนาการวรรณกรรมไทยทั้งสิ้น โดยเฉพาะตำราเรียนวรรณกรรมปัจจุบัน  และรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์หลายรางวัล ผีเพื่อชีวิตในร่างทรงวรรณกรรมสร้างสรรค์สามารถเบียดขับให้ให้งานวรรณกรรมยอดนิยมกลายเป็นวรรณกรรมน้ำเน่ามาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 จนกระทั่งทุกวันนี้ ในหลักสูตรการเรียนการสอนวรรณกรรม และรางวัลที่ดังๆ วรรณกรรมประเภทนี้ก็ยังโงหัวไม่ขึ้น แม้ว่าในเชิงการตลาดกลุ่มนี้จะขายดิบขายดีเท่าไหร่ก็ตาม

บนเส้นทางของพัฒนาการจากเพื่อชีวิตมาสู่วรรณกรรมสร้างสรรค์นั้น ผมคิดว่าเราจะมองข้ามสุชาติ สวัสดิ์ศรีไม่ได้ แม้ว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2530 ในงานแถลงข่าวรางวัลรวี โดมพระจันทร์ (ซึ่งเป็นรางวัลที่มีเป้าหมายที่จะเข้ามาฟื้นฟูวรรณกรรมเพื่อชีวิตแบบดั้งเดิม แต่ก็ล้มเหลวเพราะรู้ไม่เท่าทันว่าเพื่อชีวิตได้เปลี่ยนตัวมันเองไปแล้ว) สุชาติบอกไว้อย่างชัดเจนว่าเขาไม่อยากเอ่ยคำว่า เพื่อชีวิตอีกต่อไป แต่สุชาติก็เป็นคนสำคัญที่นำเอาวิธีคิดเกี่ยวกับ การสร้างสรรค์วรรณกรรมในเชิงศิลปะเข้ามาใช้ จนยกระดับให้ วรรณกรรมสร้างสรรค์มีฐานะเป็น ประเภท” (genre) หนึ่งของวรรณกรรมไทย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สุชาติมีส่วนในการ เปลี่ยนเสื้อใหม่ให้วรรณกรรมเพื่อชีวิต กระทั่งกลายเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ในทุกวันนี้ แม้ว่าฝ่ายซ้ายที่เข้าป่าจะโจมตีเขา แต่ผมคิดว่าพวกที่โจมตีเหล่านี้คับแคบมากที่มองไม่ออกว่า สุชาติ ไม่ว่าจะในบทบาทบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ โลกหนังสือ หรือโลกหนังสือฉบับเรื่องสั้นนั้นเป็นคนสำคัญที่ทำหน้าที่ จัดตั้งซ้ายรุ่นใหม่หลัง 6 ตุลาคม ในเมืองและในแวดวงวรรณกรรม
สุชาติ เป็นกระแสเสียงสำคัญที่เรียกร้องให้การสร้างสรรค์สังคมของเพื่อชีวิตในยุคต้นทศวรรษที่ 2520 เป็นไปอย่างมีศิลปะมากขึ้น มีความเป็นสัจนิยมมากขึ้น แน่นอนว่าในเชิงศิลปะการเขียน สิ่งที่เขาเรียกร้องเป็นเรื่องสำคัญที่วรรณกรรมที่ดีจะขาดไม่ได้ แต่ผลของมันคือสุดท้ายวาทกรรมเพื่อชีวิตสามารถดูดกลืนกล่อมเกลาข้อเรียกร้องนี้เข้าหามันเอง ด้วยการบอกว่าวรรณกรรมที่ดีจะต้องเป็นวรรณกรรมที่สะท้อน (ปัญหา) สังคมที่เป็นจริง (สัจนิยม) อย่างมีศิลปะ (วรรณศิลป์)

คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้ววรรณกรรมแนวอื่นๆ ไม่สะท้อนสังคมหรืออย่างไร?  วรรณกรรมที่ได้รางวัลทมยันตีอะวอร์ด รางวัลนิตยสารบางกอก ไม่สะท้อนสังคมหรือไม่คิดที่จะสร้างสรรค์สังคมใช่หรือไม่?


พิเชฐ...

เมื่อหลายปีก่อนโน้นคุณควรจะรับโทรศัพท์เมื่อผมพยายามจะโทรกลับไปหาคุณ สิ่งที่ผมจะวิจารณ์บทความชิ้นนี้ของคุณ คือสิ่งเดียวกับที่ผมพยายามจะ เตือนคุณ เมื่อครั้งโน้น

ทีละประโยค

วรรณกรรมเพื่อชีวิตยังมีอำนาจเชิงวาทกรรมที่สามารถเข้ามาควบคุม กำหนด กีดกัน และสร้างสรรค์ตัวมันเองผ่านประเภทวรรณกรรมที่เกิดขึ้นใหม่อย่าง วรรณกรรมสร้างสรรค์

คุณเข้าใจผิดในประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง วรรณกรรมเพื่อชีวิตไม่ได้มีอำนาจในเชิงวาทกรรมอีกต่อไปแล้ว แต่เหตุที่มันยังเหลือรอดลมหายใจอันแผ่วเบามาจนขณะนี้ก็เพราะ พลังและ การไม่หลงประเด็นของนักเขียนบางคน โดยเฉพาะ กนกพงศ์ ซึ่ง กล้าประกาศว่าตัวเองเป็น เพื่อชีวิตคนสุดท้ายวาทกรรมของกนกพงศ์นี้ เมื่อมองย้อนดูจาก ณ เวลานี้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะแสดงความสืบเนื่องของ เพื่อชีวิตที่แท้แต่ขณะเดียวกัน กนกพงศ์ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาล จาก วาทกรรม วรรณกรรมสร้างสรรค์ที่คอยกดเหยียด เพื่อชีวิตเอาไว้

แนวคิดเพื่อชีวิตเข้ามามีอิทธิพลอย่างหนักแน่น เพื่อชีวิตสามารถรักษา หัวใจหรือ แผ่นดินใหญ่ที่ว่าวรรณกรรมต้องสะท้อน/ตีแผ่ และช่วยแก้ปัญหาสังคม (ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม)

ประโยคนี้คือคำอธิบายว่า ทำไมผมจึงวิจารณ์คุณว่า กินเป็ด แล้วก็ถ่ายออกมาเป็น หมู หมา กา ไก่ สารพัดสัตว์ แต่ไม่เคยเลยที่จะถ่ายออกมาเป็น เป็ด

หัวใจของเพื่อชีวิตคืออะไร? ไม่ใช่เรื่อง ชนชั้นหรอกหรือ? เรื่องนี้ผมพร้อมจะดีเบตกับใครก็ได้ เวทีไหนก็ได้ วิธีคิดที่มองว่า การวิพากษ์ สะท้อน ตีแผ่ หรือแม้แต่แก้ปัญหาสังคม เป็นสาระสำคัญของเพื่อชีวิต นั้น เป็นวิธีคิดที่วิบัติของพวก จารีตนิยมซึ่งผมได้อภิปรายไปแล้ว สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถเอามาพูดว่าเป็น หัวใจหรือ แผ่นดินใหญ่ของเพื่อชีวิตได้ แต่เป็น ผลงานและความสำเร็จอย่างสูงของฝ่ายจารีตนิยมในการ บิดเบือนเพื่อชีวิต เพื่อ ปกปิด” “ลบ” “ลืมประเด็น ชนชั้นออกไป

ตลอดจนนักอยากเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ในยุคทศวรรษที่ 2530-2540 เองก็ตกอยู่ในวังวนทางอุดมการณ์เหมือนที่นักเขียนยุคหลัง 6 ตุลาคมเป็น คือรู้สึกว่าเราไม่รู้จะเขียนไปทำไมถ้าไม่เพื่อสะท้อนปัญหาสังคม

ประโยคนี้ก็ไม่เป็นความจริง ความสนใจปัญหาสังคม ความรู้สึกอยากจะบรรเทาปัญหาสังคมในทางใดทางหนึ่ง เป็นสำนึกที่มีมานานแล้ว และมีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีเพื่อชีวิตสำนึกนี้ก็มีอยู่แล้วในหมู่นักเขียน เช่นบทสนทนาของนักเขียนในชมรมนักประพันธ์ในทศวรรษ 2490  หรือแม้แต่ในวรรณกรรมก่อนสมัยใหม่ สำนึกเหล่านี้ก็ปรากฏให้เห็นมาตลอด ทั้งวรรณคดีที่เป็นร้อยแก้ว และงานบันทึกซึ่งเป็นร้อยกรอง (ที่มักไม่ค่อยถูกสำรวจและเอ่ยถึง)

ผมเองในฐานะของนักเขียนที่กำเนิดหรือเริ่มทำงานในทศวรรษ 2530 ก็ยืนยันได้ว่า สำนึกในเรื่องปัญหาสังคมของผมไม่มีอะไรจะไปเกี่ยวข้องกับ เพื่อชีวิตหรือ แม้แต่ วงวรรณกรรม  พวกคุณหลายคนอาจจะเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ถ้าจะมองว่าผมเป็น เพื่อชีวิตสายตรง

ไม่ใช่!  เพื่อชีวิตนี่เป็นการ เลือกทีหลัง และหลังมาก ๆ ด้วย  ผมเป็นชนชั้นกลาง เป็นนักศึกษา ABAC และฟังเพลง ป๊อปมากกว่า เพลงเพื่อชีวิตแต่สำนึกทางสังคมของผมเกิดขึ้นก่อน ตั้งแต่สมัยมัธยม เพราะผมอ่าน สารคดีและผมชอบ สืบ นาคเสถียรหลังจากนั้นเมื่อเข้า ABAC ผมจึงเข้าชมรม อนุรักษ์ซึ่งทำให้มาพบพวกไอ้อู๊ด ไอ้ลือ ไอ้พวกนี้แหละที่เป็น เพื่อชีวิตตามขนบตัวจริง แต่ผมไม่ใช่  เพื่อชีวิตของผมมันเกิดขึ้นทีหลัง หลังจากผมทำงานเขียนมาสักพัก และเพราะว่าผมไม่ใช่เพื่อชีวิตสายตรงนั่นแหละ จึงทำให้ผมไม่ได้รับอิทธิพลของ วาทกรรมที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2520แต่ตีความเพื่อชีวิตตรง ๆ ตามตัวบทที่ได้อ่านมาเลย คือ มองว่าเพื่อชีวิตคือ วรรณกรรมที่เปิดโปงการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นและผมก็เข้าใจตามนี้มาตลอด โดยไม่ได้ไปอินกับ วาทกรรมเกี่ยวกับเพื่อชีวิตใน ทศวรรษ 2520แต่แน่นอนว่าความเป็นนักเขียนของผมเติบโตมาพร้อมกับ ปัจเจกนิยมโรแมนติกและได้รับอิทธิพลจากสิ่งเหล่านี้ วาทกรรมของเสกสรรค์, สุชาติ, พจนา ฯลฯ  แต่ผมก็ไม่เคยเอามา เหมารวมกับเพื่อชีวิต ข้อแตกต่างระหว่าง ผมกับพวกปัจเจกนิยมพาฝันที่ได้รับอิทธิพลจากวาทกรรมในทศวรรษ 2520 คือ ผม แยกแยะได้  สาเหตุที่ผมเห็นสิ่งเหล่านี้ชัดกว่าคนอื่นไม่ใช่เพราะผมฉลาดกว่า แต่เพราะว่าผมไม่ได้รับอิทธิพลของวาทกรรมในทศวรรษ 2520  แต่ผมมารับรู้สิ่งเหล่านี้ในภายหลังในฐานะของการศึกษาย้อนหลัง

และที่บอกว่า นักเขียนในทศวรรษ 2530 ตกอยู่ในวังวนเดียวกับ นักเขียนในช่วงหลัง 6 ตุลา ทศวรรษ 2520 นี่ ผมเห็นว่าไม่จริงเลยแม้แต่น้อย คนละเรื่องกันเลย สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ตุลา นั้นรุนแรงมาก แต่ในช่วงทศวรรษ 2530 ไม่มีภาวะช็อคแบบนั้น มีท่วงทำนองของการเคลื่อนไหวบางอย่างในทศวรรษ 2530 ที่พยายาม เลียนความเคลื่อนไหวในทศวรรษ 2520  แต่อย่าหลงเข้าใจผิดว่าเป็นอันเดียวกัน หรือเหมือนกันเป็นอันขาด

เพื่อชีวิตของนักเขียนในทศวรรษ 2520 ยังมีเรื่องชนชั้นอย่าง ชัดเจนและเกือบจะเรียกได้ว่า สุดขั้วด้วยซ้ำ  แต่ในทศวรรษ 2530 นั่น วาทกรรม วรรณกรรมสร้างสรรค์สถาปนาขึ้นแล้ว และเบียดขับเพื่อชีวิตไปแล้วในทางวรรณกรรม ขณะเดียวกัน วาทกรรม เพื่อชีวิตที่เกิดขึ้นในวงการอื่น ๆ เช่นวงการเพลง ก็ถูกทำให้กลายเป็นสัญญะของอุดมการณ์ที่กัดกินตัวเองไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นวาทกรรมเพื่อชีวิตแบบที่ไม่มี หัวใจของมันอยู่เลย วาทกรรมเพื่อชีวิตในทศวรรษ 2530 นี้ เป็นได้แค่เพียง สไตล์ตามที่สุชาติกล่าวไว้ หาได้มีความสลักสำคัญในการขับเคลื่อนอะไร แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนนักเขียนเพื่อชีวิตในทศวรรษ 2530 จริง ๆ ไม่ใช่วาทกรรมเพื่อชีวิตในทศวรรษ 2530  แต่เป็นวาทกรรมเพื่อชีวิตในช่วง 14 ตุลา ช่วงต้นทศวรรษ 2520 และช่วงทศวรรษ 2490  พร้อมกันนั้นก็มีวาทกรรม ปัจเจกนิยมโรแมนติกในช่วงหลังของทศวรรษ 2520 มาร่วมขับเคลื่อนไปด้วย

แต่ท้ายที่สุดแล้ววาทกรรมเพื่อชีวิตจะทำให้เรามีคำอธิบายแก่ตัวเราเองว่า อ้อ...ก็ในเมื่อยุคนี้มันเป็นยุคปัจเจกนิยม ดังนั้นการสร้างสรรค์สังคมจึงย่อมต้องเริ่มต้นที่ปัจเจกแต่ละบุคคล ถ้าปัจเจกดีแล้ว สร้างสรรค์แล้ว มันก็เท่ากับสังคมดีสังคมสร้างสรรค์

นี่คือความ สับสนของคุณ พิเชฐ วาทกรรม เพื่อชีวิตในประโยคข้างบนของคุณ คือ วาทกรรมเพื่อชีวิตที่ถูกผลิตขึ้นในทศวรรษ 2520 โดยฝ่ายจารีตนิยม-เสรีนิยม, มนุษย์นิยม (ตามความเห็นของ ชูศักดิ์, ส่วนตามความเห็นของผมคือ จารีตนิยม + ปัจเจกนิยมโรแมนติก)

วาทกรรมที่ขับเคลื่อนนักเขียนเพื่อชีวิตในทศวรรษ 2530 นั้นคือวาทกรรมที่ถูกผลิตสร้างในทศวรรษ 2520 ไม่ใช่วาทกรรมของเพื่อชีวิตจริง ๆ ที่กำเนิดในทศวรรษ 2490 และมีการสืบรับในช่วงทศวรรษ 2510 หรือช่วง 14 ตุลาคม

ผีเพื่อชีวิตในร่างทรงวรรณกรรมสร้างสรรค์สามารถเบียดขับให้ให้งานวรรณกรรมยอดนิยมกลายเป็นวรรณกรรมน้ำเน่ามาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490

ตรงนี้คือประเด็นสำคัญอันหนึ่ง ในข้อวิพากษ์ของผมที่มีต่อทัศนะของคุณ

ข้อแรก ผีเพื่อชีวิตในร่างทรงวรรณกรรมสร้างสรรค์ ในทศวรรษ 2490 คืออะไร

ทศวรรษ 2490 ไม่มีคำว่า วรรณกรรมสร้างสรรค์และ วาทกรรมเพื่อชีวิตในทศวรรษ 2490 ที่สถาปนาโดย อุดม, จิตร, นายผี นั้นก็ไม่ได้ เบียดขับวรรณกรรมน้ำเน่าแต่อย่างใด คุณต้องกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นใน ชมรมนักประพันธ์ใหม่ กลับไปดูเอกสารชั้นต้นใหม่  จินตนาการที่คุณมีเกี่ยวกับบรรยากาศวรรณกรรมในทศวรรษ 2490 ขณะนี้ คือ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างในทศวรรษ 2520ยังไม่มีข้อพิสูจน์อะไรเลยว่า วาทกรรมเพื่อชีวิต (ตามความหมายที่ถูกสถาปนาขึ้นในข้อเขียนอย่างเป็นทางการของ 3 คนที่กล่าวมา) จะไปมีศักยภาพในการเบียดขับสิ่งใด  สิ่งที่เกิดขึ้นก็เพียง หัวข้อ Art for art’s sake กับ Art for life’s sake ซึ่งเกิดขึ้นในโลกตะวันตกนั้น เข้ามาเป็นหัวข้อพูดคุยของนักเขียนในทศวรรษนี้เท่านั้นเอง  อิทธิพลของมาร์กซิสม์เข้ามา บวกเข้ากับบริบททางการเมืองที่ฝ่ายประชาธิปไตยกำลังเพลี่ยงพล้ำ และบรรยากาศเป็นเผด็จการ ก่อนที่ภายหลังฝ่ายกษัตริย์นิยม (หรือจารีตนิยม) จะเข้ามากินรวบ ทำให้นักเขียนจำนวนหนึ่งแสดงออกถึงอิทธิพลแบบสังคมนิยมในงานวรรณกรรมเท่านั้น ข้อถกเถียงของเหล่านักเขียน และบรรยากาศเหล่านี้ได้ขับให้นักเขียนจำนวนหนึ่ง (ไม่กี่คน) สถาปนาปรัชญา ศิลปะเพื่อชีวิตขึ้นมา แต่ก็ไม่ทันได้ขับเคลื่อนอะไร สฤษดิ์ก็ขึ้นมายึดอำนาจและตกเข้าสู่ยุคมืด วรรณกรรมน้ำเน่าไม่ได้ถูกสั่นสะเทือนอะไรแม้แต่น้อย ยังอยู่ดีมีสุข ทั้งในทศวรรษ 2490 และหลัง 2500  วรรณกรรมน้ำเน่ามาถูกสั่นสะเทือนจริง ๆ คือหลังเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และยุคแสวงหาในทศวรรษ 2510 ต่างหาก!!

แต่ก็ล้มเหลวเพราะรู้ไม่เท่าทันว่าเพื่อชีวิตได้เปลี่ยนตัวมันเองไปแล้ว)

เพื่อชีวิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองโว้ย!!! ไอ้เชฐ (ไอ้บ้า) คุณอ่านมาภาษาอะไรวะ กลับไปอ่านโลกหนังสือใหม่ โดยเฉพาะ จัตุรัสความคิดเล่มที่สัมภาษณ์วิสากับวัฒน์  เพื่อชีวิตถูก กดบังคับ ขืนใจ และบิดเบือน นั่นคือคำพูดที่ถูกต้องกว่า

แต่ผมคิดว่าพวกที่โจมตีเหล่านี้คับแคบมากที่มองไม่ออกว่า สุชาติ ไม่ว่าจะในบทบาทบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ โลกหนังสือ หรือโลกหนังสือฉบับเรื่องสั้นนั้นเป็นคนสำคัญที่ทำหน้าที่ จัดตั้งซ้ายรุ่นใหม่หลัง 6 ตุลาคม ในเมืองและในแวดวงวรรณกรรม

คุณมองอะไร กลับหัวกลับหางไปเสียหมดแล้ว พิเชฐ แสงทอง

ผมไม่ปฏิเสธ คุโณปการของสุชาติ และโลกหนังสือในการวิพากษ์ เพื่อชีวิตแม้แต่น้อย ซ้ำยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรทำด้วย  สุชาติและโลกหนังสือคือฝ่าย ก้าวหน้าเวลานั้น  แต่สิ่งที่สุชาติทำ และทำต่อมาอีก 30 ปี ต่างหากที่ผมวิพากษ์และจะวิพากษ์อย่างถึงที่สุด

วิพากษ์เพื่อชีวิตกับ บิดเบือนเพื่อชีวิตนี่คือคนละเรื่องกันโดยแท้  แน่นอนว่าการที่เพื่อชีวิตขึ้นมามีบทบาทนำและกดบังคับสุ้มเสียงอื่น ๆ นั้นเป็นสภาพที่ไม่สร้างสรรค์  แต่การที่สถาปนา สร้างสรรค์ขึ้นมา และกดบังคับ เพื่อชีวิตเอาไว้ โดยไม่ยอมให้หลุดคำว่า ชนชั้นออกมาแม้แต่แอะเดียว นั่นก็คือการคงท่วงทำนองการวิจารณ์แบบเดิมเอาไว้ เพียงแต่สลับบทบาทกันเท่านั้น ซึ่งก็เท่ากับว่า ตลอด 30 ปีนี่ วงวิจารณ์วรรณกรรมไม่ได้เขยิบไปไหนเลย นอกจากเล่นเก้าอี้ดนตรี สลับบทบาทกันขึ้นเป็นฝ่ายโขยกและกดข่มกันเท่านั้นเอง

แต่ผลของมันคือสุดท้ายวาทกรรมเพื่อชีวิตสามารถดูดกลืนกล่อมเกลาข้อเรียกร้องนี้เข้าหามันเอง ด้วยการบอกว่าวรรณกรรมที่ดีจะต้องเป็นวรรณกรรมที่สะท้อน (ปัญหา) สังคมที่เป็นจริง (สัจนิยม) อย่างมีศิลปะ (วรรณศิลป์)

นี่คือวิธีคิดที่ กลับหัวกลับหางเพราะคุณไปรับข้อมูลผิด ๆ มาจาก ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างเมื่อทศวรรษ 2520  เพื่อชีวิตไม่ได้ดูดไม่ได้กลืนอะไรเลย มันจะดูดกลืนอะไรได้อย่างไรในเมื่อ หัวใจสำคัญ คือเรื่อง ชนชั้นถูกกดเอาไว้ตลอดเวลาให้เป็นสัญญะของความล้าหลัง  ถ้าวรรณกรรมทุกประเภทหันมาพูดเรื่องชนชั้นกันหมด แล้วนักวิจารณ์ก็พากันมองเห็นประเด็นทางชนชั้นและนำมาวิพากษ์กันหมดนั่นต่างหากจึงจะเรียกว่าเพื่อชีวิตดูดกลืน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่

สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ คือ เพื่อชีวิตตัวจริง (ที่มีเรื่องชนชั้นเป็นหัวใจ) ถูกสะกดเอาไว้ โดยวาทกรรมที่คอยตอกย้ำว่า เรื่องชนชั้นคือความ ล้าหลังและเป็นต้นเหตุที่ทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิต ไม่พัฒนาส่วนเพื่อชีวิตใหม่ (ตัวปลอม - ไม่มีชนชั้น) ที่ถูกเชิดชักขึ้นมาในทศวรรษ 2520 นั่นก็ไม่ได้เป็นอะไรนอกจากจำอวดลวงตาว่าเพื่อชีวิตยังอยู่ (ยังไม่ตาย) ใช่ ยังไม่ตาย แต่ถูก สตั๊ฟเอาไว้เป็น สิ่งชำรุดทางประวัตศาสตร์สำหรับให้เด็กมาดูเล่นในวันเด็ก

วาทกรรมที่ว่า วรรณกรรมที่ดีจะต้องเป็นวรรณกรรมที่สะท้อน (ปัญหา) สังคมที่เป็นจริง (สัจนิยม) อย่างมีศิลปะ (วรรณศิลป์) นั้น คือความพยายามตะล่อม ชนชั้นออกไปจากเพื่อชีวิต และเอาวิธีคิดดาษ ๆ มาวางไว้แทน วิธีคิดแบบนี้อย่างที่บอกไปแล้ว วรรณกรรมประเภทไหน ๆ ก็มีได้ และแม้แต่นักเขียนในช่วงก่อนที่เพื่อชีวิตจะถือกำเนิด (วิลาศ มณีวัต และอีกหลายคน) ก็เคย ถกและแสดงทัศนะกันในเรื่องนี้มาแล้วทั้งนั้น วาทกรรมนี้เป็นผลพวงจากข้อโต้แย้งระหว่าง ขบวนการ Romanticism กับ Realism ในยุคของพวกตอลสตอย ที่ส่งผลไปทั่วโลก เป็นปัญหาเรื่องการต่อต้านระบบ rationality ของยุค modern ที่เกิดจากขบวนการ romanticism เป็นข้อถกเถียงอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกิดมาก่อนจะมี socialist realism และเพื่อชีวิต

คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้ววรรณกรรมแนวอื่นๆ ไม่สะท้อนสังคมหรืออย่างไร?  วรรณกรรมที่ได้รางวัลทมยันตีอะวอร์ด รางวัลนิตยสารบางกอก ไม่สะท้อนสังคมหรือไม่คิดที่จะสร้างสรรค์สังคมใช่หรือไม่?

ย่อหน้านี้คือข้อพิสูจน์วิธีคิดที่ กลับหัวกลับหางของคุณ สิ่งที่คุณตั้งคำถามในย่อหน้าสุดท้ายนี้ แท้จริงแล้วคือสิ่งที่ทำให้เห็นว่า ที่คุณพูดมาทั้งหมดนี้คือการ self refuting และคำถามนี้คือสิ่งที่จะย้อนกลับไปหักล้างเนื้อหาของบทความทั้งหมด สิ่งที่ผมประหลาดใจที่สุดก็คือ ในเมื่อคุณคิดได้มาจนถึงคำถามนี้แล้ว เหตุใดคุณจึงไม่ เฉลียวใจเอาเสียเลยในการนำย่อหน้าสุดท้ายนี้ ย้อนกลับไปตรวจสอบทุกข้อความที่คุณเขียนมา

 เผยแพร่ครั้งแรก เว็บไซตืไทยโพเอ็ทโซไซตี

Comments