วิจารณ์กระบี่ไม้ไผ่



บทความ "ความรู้ของคนพาล" ของ กระบี่ไม้ไผ่ ในนิตยสารเวย์เล่มล่าสุด เปิดเรื่องว่า "หากเอาเสรีภาพไปวางคู่กับการปกครองด้วยเผด็จการ เสรีภาพย่อมโดดเด่นกว่าเสมอ แต่ก็น่าคิดว่า หากปราศจากขอบเขต เสรีภาพนั้นควรได้รับการเชิดชูหรือไม่.."

บทความพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการว่า "..มีแง่มุมต้องพิจารณาให้ลึกซึ้ง ก่อนที่จะลงใจไปกับทางใดทางหนึ่ง...." จากนั้นก็ยกเรื่องของไอน์สไตน์ขึ้นมาเล่าว่า ไอน์สไตน์รู้สึกผิดที่ได้คิดทฤษฎีที่นำไปสู่การสร้างระเบิดปรมณูอย่างไร และยกคำพูด (ที่อ้างว่าเป็นของ) ไอน์สไตน์มากล่าวว่า "ถ้าข้าพเจ้ารู้ว่าทฤษฎีที่ข้าพเจ้าค้นพบจะนำมาซึ่งการทำลายล้างเช่นนี้ ข้าพเจ้าขอเป็นช่างทำนาฬิกาเสียดีกว่า"

ผู้เขียนสรุปใจความตรงส่วนนี้ว่า เสรีภาพที่ปราศจากความรับผิดชอบจะก่อให้เกิดความเสียหายเดือนร้อน และสรุปว่าขอบเขตสำคัญที่สุด (ของเสรีภาพ) คือ "เมตตาธรรม"

เสร็จแล้วผู้เขียนก็ไปพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการ และว่าเสรีภาพทางวิชาการถ้าตกอยู่ในมือของคนพาลก็ทำความเสียหายหรือทำลายโลกได้

จากนั้นผู้เขียนก็ยกนิทาน (ที่อ้างว่า) มีอยู่ในพระไตรปิฎก เรื่อง สัฏฐิกูฏเปรต มาเล่า นิทานเป็นเรื่องของชายขาพิการมีความเชี่ยวชาญในการดีดกรวด วันหนึ่งพระราชามาเชิญชายคนนี้ไปช่วยดีดกรวดใส่ปุโรหิตคนหนึ่ง เพราะเป็นคนพูดมาก พูดไม่หยุด ในเวลาว่าราชการ พระราชาต้องการให้ชายขาพิการช่วยไปดีดของเข้าปากปุโรหิตคนนี้ เพื่อทำให้เขา "พูดน้อยลง" ชายขาพิการก็ไป เมื่อปุโรหิตเริ่มพูด ชายขาพิการก็ดีดขี้แพะใส่ปาก แต่ปุโรหิตก็พูดต่อจนขี้แพะหมดไปทั้งทะนาน พระราชาจึงพูดว่า "พอเถิดท่านปุโรหิต มีผู้ดีดขี้แพะเข้าปากท่านตั้งทะนานหนึ่งแล้วยังไม่ยอมหยุดอีก" ปุโรหิตจึงปิดปากและพูดน้อยลงนับแต่นั้น และ "พระราชาก็มีความสุขยิ่ง" เลยประทานภาษี 4 ตำบลให้ชายขาพิการเก็บกิน

ต่อมามีมาณพหนุ่มมาเรียนวิชาจากชายขาพิการ จากกนั้นก็ไปดีดกรวดใส่หูพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่าเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตาย เหล่าศิษย์ของพระพุทธเจ้าจึง "รุมตื้บมาณพผู้นี้จนขาดใจตาย" และผู้เขียนก็ยกคำของพระพุทธเจ้าขึ้นมาสอนว่า ความรู้เกิดจากคนพาล เพียงเพื่อความพินาศของคนพาลนั้น.....เพราะฉะนั้นการให้ความรู้แก่คน จึงจำเป็นต้องให้ความดีหรือคุณธรรมควบคู่ไปด้วย........ฯลฯ

แล้วผู้เขียนก็สรุปในย่อหน้าสุดท้ายว่า

"ยุคสมัยนี้ คนจำนวนไม่น้อยเชิดชูเสรีภาพแต่ไม่พูดถึงเรื่องความรับผิดชอบ เรื่องคุณธรรมกลายเป็นเรื่องตลก ความดีกลายเป็นคำเสียดสีและกำหนดชนชั้น ความรู้จึงทวีความคม ผู้คนไม่น้อยคว้าศาสตราได้ก็กวัดแกว่งทิ่มแทงกันวุ่นวายไปทั้งสังคม เมื่อความฉิบหายยังไม่พอ จึงยังไม่ได้มีใครรำพึงว่า "Now.. I am become Death, the destroyer of worlds."

อ่านบทความของ กระบี่ไม้ไผ่ จบ ถ้าวันหนึ่งมีใครมาชี้ใครสักคนในกลุ่มคนในรูปเหตการณ์ 6 ตุลา ข้างล่างนี่ และบอกว่า นี่แหละ กระบี่ไม้ไผ่! ผมจะไม่แปลกใจเลย





บทความ "ความรู้ของคนพาล" ของ กระบี่ไม้ไผ่ เขียนขึ้นภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นเผด็จการ ปกครองโดยคณะทหารที่ยึดอำนาจ และมีการบังคับใช้กฎหมายอาญา 112 อย่างเกินเลยบทบัญญัติไปมาก มีความขัดแย้งทางการเมือง และในความขัดแย้งนั้นมีการตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์และมีการจัดตั้งองค์กรตามล่าผู้ที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มีการริดรอนสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแม้แต่ในมหาวิทยาลัย

ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้เอง ที่กระบี่ไม้ไผ่เสนอว่า เสรีภาพจะต้องมีขอบเขต และยกภาษิตพุทธที่มีเรื่องพระราชาทำให้คนพูดน้อยลง และมีเรื่องการรุมประชาทัณฑ์คนให้ถึงตาย มาสั่งสอนคนอ่าน พร้อมกับกล่าวโจมตีคนที่เชิดชูเสรีภาพ

ผู้เขียนเปิดประเด็นว่า เสรีภาพ จะต้องมีขอบเขต และ "ความรับผิดชอบ" ผู้เขียนเสนอว่า "ขอบเขตที่สำคัญ" ควรจะเป็น "เมตตาธรรม" จากนั้นผู้เขียนก็สรุปว่า เสรีภาพทางวิชาการ ถ้าตกอยู่ในมือของคนพาล ก็อาจจะทำลายโลก

ผมเห็นว่าการยกเรื่องไอสไตน์ของผู้เขียนมากล่าวดังข้างต้นเป็นการจับแพะชนแกะที่น่าเศร้า พูดเหมือนกับว่าการสร้างระเบิดปรมณูเป็นเรื่องของเสรีภาพ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมหาอำนาจ และรัฐที่สามารถสร้างระเบิดปรมณูก็มีทั้งรัฐที่มีเสรีภาพ และรัฐที่เป็นเผด็จการ ปราศจากเสรีภาพอย่างสิ้นเชิง

ไม่ใช่เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการอภิปรายมิติในด้านลบของเสรีภาพ แต่การเปรียบเทียบแบบนี้ฉาบฉวยจนน่าตกใจ เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และระเบิดปรมณูมีเรื่องราวจำนวนมาก เสรีภาพมีบทบาทในการยับยั้งหรือส่งเสริมการใช้ระเบิดปรมณูเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเหตุการณ์ให้ละเอียดก่อนที่จะอภิปราย ไม่ใช่พูดเอาชุ่ย ๆ แบบนี้ ถ้าเปลี่ยนระเบิดปรมณู (ซึ่งแม้ไอสไตน์จะไม่คิดก็มีคนอื่นกำลังคิดอยู่ดี) ให้ไปอยู่กับรัฐเผด็จการที่ปราศจากเสรีภาพอย่างสิ้นเชิง เหตุการจะเปลี่ยนแปลงไปไหม? จะมีผู้คนออกมาประท้วงคัดค้านรัฐบาลของตนไม่ให้ใช้ระเบิดร้ายแรงนี้ไหมถ้าไม่มีเสรีภาพ? คำถามจำนวนมากไม่ถูกถาม แต่ถูกข้ามไปอยากมักง่ายในการยกตัวอย่างเพื่อสนองจุดประสงค์ของตนเองของผู้เขียน

แล้วผู้เขียนก็ยกนิทานชาดกเรื่องพระราชาทำให้ปุโรหิต "พูดน้อยลง" ด้วยการดีดของเข้าปาก และต่อมาก็มีคนเรียน "วิชาดีดของ" ไปดีดของใส่หูพระพุทธเจ้าตาย เหล่าศิษย์ของพระพุทธเจ้าจึง "รุมตื้บ" คนผู้นั้นจนขาดใจตาย

สำหรับโลกสมัยใหม่ที่ความคิดขับเคลื่อนด้วยเหตุผลและตรรกะ ย่อมจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งถึง "ความขัดแย้งทางศีลธรรม" ที่ผู้เขียนยกมาจากนิทานในโลกเก่า คำถามสำคัญคือ ในเมื่อ "การฆ่า" เป็นบาป เหล่าศิษย์ของพระพุทธเจ้ามีสิทธิ์ "รุมตื้บ" คนจนขาดใจตายดังในเรื่องเล่าหรือไม่? แม้ว่าคน ๆ นั้นจะทำผิดอย่างเห็นได้ชัด แต่การรุมกระทืบคน ๆ นั้นจนตายเป็นความถูกต้องหรือ? ไม่ผิดศีลหรือ? และอะไรคือ "ความรับผิดชอบ" ของคนที่ไปรุมกระทืบเหล่านั้น?

ผู้เขียนยกคำพระพุทธเจ้ามาสรุปว่า ความรู้ความสามารถและความเป็นใหญ่เมื่ออยู่กับคนดีก็มีคุณ เมื่ออยู่กับคนพาลก็ให้โทษ การให้ความรู้คนจึงต้องให้ความดีหรือคุณธรรมควบคู่ไปด้วย แล้วก็สรุปว่า คนไม่น้อยเชิดชูเสรีภาพแต่ไม่พูดเรื่องความรับผิดชอบ คุณธรรมจึงกลายเป็นเรื่องตลก ความดีกลายเป็นคำเสียดสีและกำหนดชนชั้น ความรู้จึงทวีความคมและเป็นอาวุธให้คนทิ่มแทงกัน

ผมไม่แน่ใจว่า กระบี่ไม้ไผ่ได้ฟังมาไม่ครบ หรือเลือกที่จะฟังไม่ครบ หรือเป็นเพราะว่าระบบคิดและระบบการทำงานของสมองเป็นแบบ "ก่อนสมัยใหม่" จนไม่สามารถพัฒนาได้อีกแล้ว จึงไม่ได้ยินเวลาคนที่เรียกร้องเรื่องสิทธิ เสรีภาพ พูดเรื่อง accountability หรือ ความรับผิดชอบ

ในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ฝ่ายที่พูดถึงเรื่อง "ความรับผิดชอบ" (accountability) มากที่สุด กว้างที่สุด และลึกที่สุด คือฝ่ายที่เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยครับ ไม่ใช่ฝ่ายที่สนับสนุนการรัฐประหารและสนับสนุนการริดรอนสิทธิ เสรีภาพ

พวกที่ชอบพูดเรื่อง "คุณธรรม" เรื่อง "ความดี" เรื่องเสรีภาพต้องมี "ขอบเขต" ต่างหากที่ไม่เคยพูดถึงเรื่อง "ความรับผิดชอบ" อย่างซีเรียสจริง ๆ เลย นอกจากยกมาโต้แบบขอไปทีเวลาที่พูดเรื่องเสรีภาพอย่างที่กระบี่ไม้ไผ่กำลังทำ

คนดีต้องมีความรับผิดชอบไหม?
ความดีต้องมีความรับผิดชอบไหม?
คุณธรรมต้องมีความรับผิดชอบไหม?
ความรับผิดชอบนั้น รับผิดกับใคร ตรวจสอบโดยใคร มีความโปร่งใสอย่างไร?

ขอกระบี่ไม้ไผ่ได้โปรดถามใจตัวเองเถิดว่า ระบอบเผด็จการนั้น ศาลทหารนั้น มีความรับผิดชอบ "โดยระบบ" หรือไม่ ตรวจสอบได้จริงหรือไม่ โปร่งใสหรือไม่ และการที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้เลยนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสาธารณะ สามารถเรียกได้ว่าสถาบันกษัตริย์ มี accountability หรือไม่?

ใครกันแน่ที่ทำให้ "ความดี" ไม่มีความหมาย จนกลายเป็น "คำเสียดสี"?

ไม่ใช่คนดีจอมปลอม หรือความดีจอมปลอม ที่ไม่เคารพเสรีภาพ ไม่มีความรับผิดชอบ หลอกลวง โกหก กลับดำให้เป็นขาว แม้กระทั่งตรรกะวิบัติแล้ววิบัติอีกแบบที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียนของกระบี่ไม้ไผ่หรอกหรือครับ?

5-11-14




Comments