รักผัวคนอื่นดีกว่าเสียภาษี
"ไม่อยากเป็นคนดีที่ไม่มีความสุข"
เป็นประโยคที่อยู่ในเพลงเพลงหนึ่งในอัลบั้มชุดใหม่ของ ปนัดดา เรืองวุฒิ
และเป็นประโยคที่มีปัญหาขึ้นมาทันทีหลังจาก สมาชิกวุฒิสภา ระเบียบรัตน์
พงษ์พานิชออกมากล่าวโจมตีว่าเป็นการยั่วยุส่งเสริมให้คนผิดศีลธรรม หรือพูดภาษาชาวบ้านก็ว่า
ยุให้คนไปแย่งผัวชาวบ้านเขา
เนื่องจากเนื้อหาของเพลงเพลงนี้พูดถึงความทุกข์ทรมานของการไปรักคนที่มีเจ้าของอยู่แล้ว
ต้องถูกประณามว่าเป็นคนชั่วช้าสามานย์ ต้องต่อสู้กับศีลธรรมในใจตัวเอง
แต่สุดท้ายก็เลือกยอมที่จะเป็นคนเลว ผิดศีลธรรมเพื่อความรัก ดังนั้น จึงต้องถือว่าเป็นเนื้อหาที่บาดใจผู้นำสถาบันเมียหลวงอย่างคุณระเบียบรัตน์
และเป็นที่แน่นอนว่าคุณระเบียบรัตน์จะต้องออกมาประณามเนื้อเพลงเพลงนี้
เมื่อคุณระเบียบรัตน์ออกมากล่าวหาว่าเนื้อเพลงนี้ส่งเสริมยั่วยุให้คนทำผิดศีลธรรม
ทางฝ่ายนักร้องเจ้าของอัลบั้ม ซึ่งก็คือคุณปนัดดาก็โต้กลับมาว่า
เพลงเพียงแต่สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งก็หมายความว่า
ความผิดศีลธรรมทำนองนี้เป็นสิ่งที่ "เป็นปรกติ" ในสังคม
เพลงเพียงแต่สะท้อน "ความจริง" ของสังคม
ประเด็นการยั่วยุให้ผิดศีลธรรมกับการสะท้อนความจริงนี้
ถือเป็นวิวาทะคลาสสิก ระหว่าง ผู้จัดระเบียบ กับ ศิลปิน มาทุกยุคทุกสมัย
ผู้จัดระเบียบไม่ต้องการเห็นการแสดงออกที่ผิดไปจากระเบียบอันถูกต้องของสังคม
ในขณะที่ศิลปินต้องการอิสรภาพในการทำงาน ในบทความชิ้นนี้จะไม่กล่าวถึงในแง่มุมนี้
เนื่องจากเชื่อว่าต่อไปอีกกี่ปีกี่ชาติ
ตัวแทนของระเบียบในสังคมก็ยังคงจะต้องเป็นส่วนที่ปะทะขัดแย้งกับศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ
เป็นธรรมชาติของสังคมที่มีโมเมนตัม ทำให้สังคมนั้นเคลื่อนเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
เมื่อตัดประเด็นแรกออกไป มุ่งตรงเข้าสู่เนื้อหาของการปะทะ
"ไม่อยากเป็นคนดีที่ไม่มีความสุข"
นี้จะว่าไปแล้วก็เป็นความรู้สึกร่วมของสังคมที่คล้อยตามบริโภคนิยม
คือให้คุณค่ากับการบริโภค (ความสุข) มาก่อนศีลธรรม (ความดี) ไม่ว่าจะสิ่งที่บริโภคนั้นจะเป็น ผัว (ของคนอื่น)
หรือเป็น เงินภาษี (ของรัฐบาล) ก็ล้วนยั่วยวนให้ต้องครอบครองแม้จะละเมิดศีลธรรม
จากกรณีของการไปรักผัวคนอื่น จะเห็นได้ว่า
ความจริง ที่คุณระเบียบรัตน์และคุณปนัดดามองเห็นจากตัวปรากฏการณ์อันเดียวกันนี้
(การไปรักผัวคนอื่น) นั้น แตกต่างกันออกไปคนละทาง คุณระเบียบรัตน์มองเห็นเป็นความผิดศีลธรรมที่จะต้องควบคุม
ขจัดออกไป ส่วนคุณปนัดดามองเห็นเป็นความรักแบบหนึ่งของคนร่วมสมัย
เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอารมณ์อันเป็นศิลปะจากความขัดแย้งระหว่างความรักกับศีลธรรม
การมองปรากฏการณ์ใด ๆ
ก็ตามไม่ต่างกับการที่เราหยิบลูกบอลขึ้นมาวางไว้ใต้แสงไฟ
สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือ
พื้นผิวของลูกบอลจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนที่ได้รับแสงสว่างและส่วนที่เป็นเงามืด
หาก ความจริง
คือพื้นผิวรูปทรงทั้งหมดของปรากฏการณ์ทางสังคมที่ถูกนำมาไว้ใต้แสงสว่าง
เราย่อมไม่สามารถเข้าถึงความจริงของปรากฏการณ์นั้นได้อย่างสมบูรณ์โดยมองแต่ด้านที่ได้รับแสงเพียงด้านเดียว
นั่นเป็นสมมุติฐานที่ใช้ในการสืบเสาะความจริงจากตัวอย่างกรณีของลูกบอล
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมซับซ้อนกว่าลูกบอลหลายเท่า
สังคมในฐานะของสิ่งที่รองรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ประกอบไปด้วยมิติและเหลี่ยมมุมที่เก็บงำ สะท้อน หักเห
และถ่ายทอดความจริงจากปรากฏการณ์เดียวกันแตกต่างมากมายเหลือคณา
แล้วปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมก็ไม่เคยเกิดขึ้นตามลำพัง หากแต่มันโยงเกี่ยว
สัมพันธ์ (และไม่สัมพันธ์) ทั้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนมัน กับสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมมัน
และกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังมัน
กระนั้นก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่า
หากเราหยิบปรากฏการณ์ทางสังคมขึ้นมาส่องไฟ
พื้นผิวของมันก็ยังคงจะแบ่งออกเป็นสองด้านเช่นเดียวกับลูกบอล และจากความจริงง่าย ๆ
ข้อเดียวกันนี้ก็อธิบายได้ว่า การแสดงบทบาทและท่าทีของคุณระเบียบรัตน์ต่อเพลงของคุณปนัดดาก็เป็นเพียงการพยายามหมุนลูกบอลกลับเพื่อให้ด้านที่เคย
(และควร) อยู่ในเงามืดนั้น อยู่ในเงามืดต่อไป
หากเปรียบแสงแสว่างเท่ากับ
"ความสามารถในการเข้าถึงความจริง" ของสังคม (คนหลาย ๆ
คนรวมกัน-ไม่ใช่ปัจเจกชน)
ทิศทางและระดับของความสว่างนี้ย่อมมีข้อจำกัด
และพื้นที่ที่จะได้รับแสงสว่างนั้นก็ย่อมจำกัด
พื้นผิวของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมจึงถูกตัดแบ่งเป็นสองเสมอ
และกระบวนการทางสังคมในบางครั้ง การเคลื่อนไหว ขัดแย้ง
ต่อสู้กันของความจริงต่อปรากฏการณ์คือการแย่งชิงพื้นที่ในแสงสว่างเพียงเท่านั้น
หลายการต่อสู้จึงเป็นเพียงการหมุนลูกบอล ไม่ใช่การเพิ่มระดับของแสงสว่าง
นอกจากนี้แล้ว
การที่ปรากฏการณ์ในสังคมได้รับแสงสว่างไม่เท่ากัน ก็ได้ทำให้เกิดสภาพ
ความจริงในที่ลับ และ ความจริงในที่แจ้ง
ซึ่งมีความหมายมากไปกว่าการที่ว่ามันถูกแสงสว่างสาดส่องหรือไม่
สภาวะของการมีที่ลับที่แจ้งนี้เองที่ทำให้ “การประกาศ” มีบทบาทขึ้นมา
การประกาศความจริงหนึ่งเดียวต่อปรากฏการณ์ได้กลายเป็นกระบวนการวางเส้นแบ่งระหว่างที่ลับและที่แจ้งไปอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเปรียบเทียบกรณี
"ไม่อยากเป็นคนดีที่ไม่มีความสุข" กับ "การไม่เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย"
ก็จะมองเห็นตัวละครซึ่งประกอบไปด้วย คนดีที่ไม่มีความสุข (ไม่สามารถรักผัวคนอื่น, ต้องเสียภาษี)
กับ ความสุขของคนไม่ดี (รักผัวคนอื่น, หลีกเลี่ยงภาษี)
ซึ่งกล่าวได้ว่าตัวละครทั้งสองคือ สิ่งที่ปะทะขัดแย้งกันโดยมีนัยสำคัญอยู่ตรง
"ความจริงที่ถูกประกาศ" (อยู่ในที่แจ้ง) กับ
"ความจริงที่ไม่ถูกประกาศ" (อยู่ในที่ลับ)
การไปรักผัวคนอื่นนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่กล่าวได้ว่า
"มีอยู่จริง" และ "เป็นปรกติ" ในสังคมไทย
ดังที่นักร้องสาวกล่าวอ้าง
แม้กระนั้นคำกล่าวอ้างนี้ก็เป็นสิ่งที่นางระเบียบรัตน์ไม่ยอมรับอย่างแน่นอนเนื่องจาก
แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ มีอยู่จริง และ เป็นปรกติ แต่มันเป็น
"ความจริงที่จะต้องไม่ถูกประกาศ" กล่าวคือ
ตำแหน่งแห่งที่ของความจริงเกี่ยวกับการรักผัวคนอื่นนั้น
จำเป็นที่จะต้องอยู่ในฐานะของความจริงที่อยู่ในที่ลับ (ซึ่งโดยอุดมคติคุณระเบียบรัตน์ก็อาจจะคาดหวังถึงโลกพระศรีอารย์ในวันที่แสงสว่างได้สาดส่องทุกแห่งหน
ขับไล่ที่มืดไปพร้อมกับผีร้ายที่หลบซ่อนอยู่ในนั้น)
"ตำแหน่งแห่งที่"
ของความจริงในสังคมจึงมีความหมายยิ่งไปกว่าการที่ “มันเป็นความจริงทั้งหมดหรือไม่” และกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถือครองความจริงที่แตกต่างกันต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา
การรักผัวคนอื่นนั้น
เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม หากแต่เป็นความจริงที่จะต้องอยู่ในที่ลับ
แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้ และคนจำนวนหนึ่งก็ปฏิบัติ
นัยสำคัญของการอยู่ในที่แจ้งหรือที่ลับนั้น อยู่ตรงที่ "ความชอบธรรม" หมายถึงสำนึกหรือความหมายที่กำกับพื้นที่
(ที่ลับ/ที่แจ้ง) อยู่นั่นเอง
(เพื่ออย่างน้อยการอยู่ในที่ลับก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นได้ง่ายกว่าในวันที่โลกพระศรีอารย์ยังมาไม่ถึง)
ความจริงที่อยู่ในที่แจ้ง นั้นจึงหมายถึง
ความจริง ที่สามารถประกาศได้ มีความชอบธรรมที่จะเปิดเผย ไม่ต้องหลบซ่อน (แต่เป็น
ความจริง ที่ไม่เย้ายวน น่าเบื่อ และดูขัดแย้ง) ส่วน ความจริงในที่ลับ นั้น
ต้องตกอยู่ในฐานะของผู้ที่สำนึกบาป และแอบซ่อน (เย้ายวน
หากแต่อันตรายต่อการเปิดเผย)
เมื่อการรักผัวคนอื่นถูกทำให้เป็นเพลงโดยมีวรรคทอง
"ไม่อยากเป็นคนดีที่ไม่มีความสุข" ร้องกันทั่วบ้านทั่วเมือง
นั่นย่อมส่งผลต่อตำแหน่งแห่งที่ของมันในสังคม
และเป็นสิ่งที่แม่ทัพเมียหลวงจะต้องออกมากำกับถึงสำนึกในพื้นที่ของมัน
ว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง จำเป็นจะต้องลบมันออกไปจากพื้นที่สว่างและผลักดันกลับไปอยู่ในที่มืด
เช่นเดียวกับกรณีการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างถูกกฎหมายของนายกรัฐมนตรีทักษิณ
ชินวัตรและครอบครัว แม้ว่าจะเป็น "ความจริง"
ในสังคมที่นักธุรกิจส่วนใหญ่ประพฤติปฏิบัติกันเป็น "ปรกติ"
แต่การที่ผู้ประพฤติเป็น นายกรัฐมนตรี
ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นตัวแทนของรัฐที่หลีกเลี่ยงภาษีเสียเองและยืนยันความ
"ถูกต้อง" ของการไม่เสียภาษีโดยมีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายภาษีออกมาชี้แจง
แก้ต่าง พร้อมกับสาธิตวิธีการเลี่ยงภาษีในกรณีนี้ให้คนทั้งประเทศได้รับชม
จึงเท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการหลีกเลี่ยงภาษี
และเปลี่ยนตำแหน่งทางความจริงของการหลีกเลี่ยงภาษีจากที่ลับมาอยู่ในที่แจ้ง
"ภาษี" ที่นายกฯ และครอบครัวต้องเสีย
จึงไม่ต่างกับ "ผัวของคนอื่น" และนายกฯ ก็ยินยอมเป็น
"คนไม่ดีที่มีความสุข" มากกว่า เปรียบได้กับนายกฯ
ทักษิณเลือกที่จะรักผัวคนอื่นแม้จะผิด ดีกว่ายอมเป็นคนดีที่ไม่มีความสุข
(เพราะต้องเสียภาษี)
สำหรับสังคมไทยแล้ว การยอมให้
"การรักผัวคนอื่น"
อยู่ในที่แจ้งหรือไม่เป็นเรื่องท้าทายและยุ่งยากอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
เนื่องจากตัวแปรสำคัญในกรณีนี้คือ "ความรัก" ซึ่งมีอุดมคติที่หลากหลาย
และเป็นเรื่องที่เส้นของความเป็นส่วนรวมและส่วนตัวพลิกกลับไปมาได้อย่างแยบยล
เนื่องจากมองจากมุมมองของปัจเจกนิยมแล้ว ถือว่าความรักเป็นเรื่องส่วนตัว
และคำตอบแบบปัจเจกนิยมสุดขั้วนั้น ก็สามารถตอบแบบเอ็กซิสตองเชียลลิสต์ได้ว่า
ที่สุดแล้วคนต้องรับผิดชอบใน "การเลือก" ของตน ผลลัพธ์ของ
"การรักผัวคนอื่น" จึงเป็นเรื่องของ "การเลือก"
และการรับผิดชอบ "ผลจากการเลือก"
นอกจากนี้แล้ว ความรักยังเป็นเรื่องของความรู้สึก
ที่มีมิติมากกว่าการบริโภค คุณค่าแบบปัจเจกนิยมก็ทำให้ผู้ละเมิดศีลธรรมของสังคมสามารถให้คุณค่าในเชิงปัจเจกกับตัวเองได้มากมาย
ตั้งแต่การซื่อสัตย์ต่อ (ความรู้สึกของ) ตัวเอง (มากกว่าสังคม) ไปจนถึงสภาวะที่ไม่ต้องการเหตุผลใด ๆ ก็ได้
ส่วนกรณีของการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างถูกกฎหมายของผู้นำรัฐบาลนั้น
ไม่สามารถยกข้ออ้างแบบปัจเจกนิยม ทั้งไม่ซับซ้อนและง่ายดายกว่ามาก เพราะตัวแปรคือ
"ความโลภ" ซึ่งมีอุดมคติเพียงอย่างเดียวคือ "กอบโกย"
และเป็นเรื่องที่แม้เส้นของความชอบธรรมสามารถพลิกกลับไปมาได้แยบยลในทางกฎหมาย
แต่ไม่สามารถพลิกได้ในทางสังคม
การที่กรมสรรพากรประกาศว่า
นายกรัฐมนตรีและครอบครัวไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่สลึงเดียว
คือการพลิกความจริงในที่ลับออกมารับรอง (ขึ้นพานถวายเลยทีเดียว) ในที่แจ้ง
และการสาธิตวิธีการหลีกเลี่ยงภาษีโดยชอบด้วยกฎหมายของตัวแทนครอบครัวชินวัตรต่อประชาชนทั้งประเทศก็เท่ากับเป็นการเชิดชู
"ความโลภ" ขึ้นเป็นอุดมคติของสังคมอย่างเป็นทางการ
(ที่ผ่านมาก็เป็นอุดมคติของสังคมนี้อยู่แล้วเพียงแต่ไม่ถูกประกาศ)
เรื่องทั้งหมดนี้จึงเป็นอัลบั้มสุด hot ชุดใหม่ของนายกรัฐมนตรีทักษิณ
ชินวัตร ที่เสนอต่อสังคมไทย โดยมีกระทรวงการคลังเป็น producer กรมสรรพากรเขียนเนื้อร้องโดยบรรจง
มีเพลงเอกที่มีวรรคทองว่า "ไม่อยากเป็นคนดีที่ต้องเสียภาษี" อัลบั้มชุดนี้ขายสังคมไทยในราคา 25,000 ล้านบาท
เมื่อแสงสว่างส่องมายังที่มืด
และผีร้ายปรากฏให้เห็น (และมันไม่ได้หายตัวไปอย่างที่เราคาดหวัง)
ทางเลือกก็มีแต่จะหมุนลูกบอลให้ผีร้ายกลับไปอยู่ในที่ลับหรือไม่
(คงจะเป็นทางเลือกเดียวที่สังคมซึ่งอ่อนน้อมต่อการบริโภคสังคมนี้พอจะมีแรงกระทำได้)
ตอนจบของความจริงต้องห้ามนี้จึงเป็นว่าหลังจากที่ได้ฟังอัลบั้ม
hot hit ติดชาร์ทกันแล้ว
สังคมไทยจะยอมยกความโลภขึ้นเป็นใหญ่ทั้งในที่ลับและที่แจ้งหรือไม่
เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์ Onopen, 2549
Comments
Post a Comment