สินค้าชายขอบ



1. ธาตุของทุน และการหลงขายผิดของ
"เราจะเป็นไทม์เมืองไทย" คือคำประกาศก้องของนายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้บริหารบริษัท เด-โพ-เอ็ด ในเครือสื่อตลาดหุ้นมหาชนคนไทยนามทราฟฟิก คอร์นเนอร์  เป็นการประกาศก้องเพราะห้องโถงไม่ซับเสียงในงานเปิดตัว a day weekly นิตยสารวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ เมื่อปีก่อน

กล่าวกันว่างานอลังการโอฬาริกนั้น จัดขึ้นเพื่อบรรดาเอเยนซี่ซี้เก่าโดยเฉพาะ

และแล้วเช้าวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 ยายเมี้ยนคนขายข้าวแกงก็ได้พบว่า มีวัตถุรูปร่างสี่เหลี่ยมพื้นผิวเรียบมันซ้อนกันหลายชั้น ขนาด 9 นิ้วครึ่งคูณ 12 นิ้วครึ่ง วางแหมะอยู่บนแผงหนังสือของไอ้เดี๊ยกลูกแป๊ะหลง ที่เปิดแผงอยู่หน้าตลาดซอยครกน้อย คลองส้มตำ

นั่นคือการก่อเกิดขึ้นของ a day weekly ซึ่งว่ากันว่าเป็นนิตยสารวิเคราะห์ข่าวเล่มใหม่ของเมืองไทย ที่คมมากจนบาดหน้าคนอ่านให้เห็นอยู่ตามทีวี วิทยุ และโรงหนังทั่วกรุงเทพฯ และปริมณทล และหนังสือรายสัปดาห์เล่มใหม่ก็ได้นายอธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการหน้าหยกจากเสาร์สวัสดีมาจับพวงมาลัยรถสปอร์ตยอดแรงคันนี้

นายอธิคมคนหนองคาย ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกเข้าควบขี่ a day weekly ได้ 54 สัปดาห์ นายทุนก็หยุดเติมน้ำมันเอาดื้อ ๆ รถสปอร์ตยอดแรงจึงถึงกาลอวสานในบัดดล

ไอ้เดี๊ยกซอยครกน้อยให้ความเห็นว่า จากดรรชนีตลาดขายปลาสเตอร์ปิดแผล ระบุว่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้วจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดขายยังคงตกต่ำอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นมา  และตัวชี้วัดนี้เองอาจจะเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจของนายทุน เนื่องจากปริมาณยอดขายของปลาสเตอร์ปิดแผลย่อมบ่งชี้ความนิยมของหนังสือที่แม่นยำยิ่งกว่ายอดขายจริง เพราะยอดขายที่แท้จริงนั้นบอกได้เพียงยอดซื้อ แต่ในเมืองที่ผู้คนนิยมยืมกันอ่าน หรือเช่าอ่านนั้น ปริมาณยอดขายปลาสเตอร์ย่อมเที่ยงตรงกว่า "เพราะถ้ามีคนโดนหนังสือ a day weekly บาดหน้ามากเท่าไร เซนโซพลาสจะต้องขายดีตาม" ไอ้เดี๊ยกสรุปข้อสังเกตอันแหลมคม (แต่ไม่บาด) เอาไว้

ขอรับ นั่นเป็นเรื่องราวย่อ ๆ จากมุมมองของซอยส้มตำน้อย ซึ่งถึงแม้จะมีเหตุผลแต่ไม่จำเป็นต้องเชื่อ ทีนี้เรามาลองค้นไปในวันเวลา 54 สัปดาห์กันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

a day weekly ปรากฏกายขึ้นบนขนาด 8 หน้ายก หนา 12.5 ยก หรือ 100 หน้า กระดาษอาร์ตมัน ใช้เพลท 4 สี ทั้งเล่ม เป็นการเริ่มต้นหนังสือวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์ที่มีเนื้อหาหนักกว่าครกอ่างศิลา ด้วยสเป็กที่ต้องใช้ต้นทุนสูงสวนทางกับจำนวนผู้อ่าน เป็นสิ่งที่ทำให้คนในซอยส้มตำน้อยต่างทำนายถึงหายนะกันทันทีที่เห็น สิ่งที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งจึงคือ "ทำไม" และ "อะไร" ที่ทำให้นายทุนมั่นใจหรือกล้าทำหนังสือเล่มนี้

คำตอบก็ดูท่าจะออกเลขสองแบบไม่ต้องขูดก็คือ หนึ่ง ทำด้วยอุดมการณ์อะไรบางอย่าง กับ สอง ทำเพราะมองเห็นหนทางที่จะทำกำไร คำว่า "เราจะเป็นไทม์เมืองไทย" นั้นก็ไม่ได้ตอบคำถามในสองข้อนี้มากไปกว่า ถ้าจะมีอุดมการณ์ก็คือ "อยากเป็นไทม์เมืองไทย" ถ้าจะมองเห็นหนทางที่จะทำกำไรก็คือ "เป็นไทม์เมืองไทยแล้วก็คงจะกำไร"

ละจากฝ่ายนายทุนมาดูขุนพลหลัก พวกเขามองเห็นอะไรบ้างในการเริ่มต้น 54 สัปดาห์มหาโหดนี้

"ถ้าเราเข้าไปในหนังสือเหล่านี้ที่เขามีอยู่ ถ้าเราปั้นมันขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนได้ อย่างเก่ง อย่างทะเยอทะยานที่สุด นี่เอาโดยข้อเท็จจริงนะ อย่างมาก เราก็เป็นได้แค่เบอร์สอง แล้วทำไมเราไม่ทำแบบใหม่ ด้วย look ด้วยหน้าตามัน ด้วยวิธีคิดและจุดยืน ด้วยวิธีการนำเสนอ เสร็จแล้วเราก็สร้างอันใหม่ขึ้นมา เป็นเบอร์หนึ่งในพื้นที่นี้" เป็นคำตอบของอธิคม คุณาวุฒิ เมื่อถูกถามว่า a day weekly จะเข้าไปอยู่แถวเดียวกับหนังสือการเมืองรายสัปดาห์อย่าง มติชนสุดสัปดาห์ เนชั่นสุดสัปดาห์ และสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์หรือไม่ "ผมคิดว่าคนบริโภคสื่อของเราไม่โง่ แต่เขาต้องการความจริงใจ และความจริงใจนั้นต้องพิสูจน์ด้วยเวลา ผมคิดว่าถ้าสายป่านเรายาวพอ มันจะพิสูจน์ตัวมันเอง ถ้ามีคนอย่างเรา และเราก็ไม่ได้ดูถูกคนอ่าน เราจึงรู้ว่ามี มันมีคนแบบนี้ มันมีคนที่ต้องการสื่อที่เป็นเนื้อเป็นหนัง" เป็นคำตอบของชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร เมื่อถูกถามว่ากังวลเรื่องการขายมั้ย "เราจะไม่มองระดับปรากฏการณ์ผิวเผิน จะชวนให้คนอ่านคิดไปกับเรา" พรเทพ เฮง หนึ่งในกองบรรณาธิการ อธิบายแนวทางของนิตยสารให้ฟัง ทั้งหมดเป็นคำตอบที่ทั้งสามให้ไว้ในการสัมภาษณ์ลงนิตยสาร open ฉบับ 42

a day weekly ออกมาได้ 26 สัปดาห์ ก็มีการปรับปรุงครั้งแรก โดยเพิ่มเซคชั่นพิเศษ weekly living ที่เป็นคล้ายหนังสือเล่มเล็กอีกเล่มหนึ่งเข้ามา เริ่มปรับโทนหนังสือให้เบาลง และเพิ่มส่วนที่เป็นวาไรตี้เป็นสีสัน กระทั่งถึงสัปดาห์ที่ 42  a day weekly ก็ปรับขนานใหญ่ ปลดคอลัมน์หลาย ๆ คอลัมน์ออก รวมถึงเซ็กชั่นพิเศษ และเรื่องสั้น ปรับขนาดหนังสือมาเป็นไซส์ 8 นิ้ว คูณ 10 นิ้วครึ่ง ใช้เพลทสีเดียวและสองสี สลับสี่สี ความหนา 12.5 ยก เท่าเดิม เป็นการปรับที่ขึ้นปกว่า minor change  ในขณะที่คนในซอยส้มตำน้อยหลายคนให้ความเห็นว่า นี่เป็นสัญญาณของการขาดทุน  ในที่สุด a day weekly ในรูปลักษณ์ minor change ก็ออกมาจนถึงเล่มที่ 54 เป็นเล่มสุดท้าย

เป็นการปิดที่เงียบและนิ่ง แต่ก็เป็นการเงียบและนิ่งที่มีต้นทุนแพงลิบลิ่ว กับคำถามเรื่องนายทุนว่า "ทำไม" และ "อะไร" แม้ว่า "เราจะเป็นไทม์เมืองไทย" จะไม่ได้บอกอะไรเรามากนัก แต่วิธีการปิด a day weekly ก็บอกเราชัดเสียยิ่งกว่าชัด

ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ไม่มีการปรึกษาหารือ ไม่มีการค้นหาวิธีที่จะดำรงหนังสือต่อไป ไม่มีการดิ้นรนต่อสู้บนจุดยืนที่ชัดเจน ไม่มีวี่แววของการต่อสู้ขัดขืนกับฝ่ายทุน ไม่มีอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่สามารถกระทำได้เพื่อต่อสู้ให้หนังสือได้อยู่ต่อไป การปรับเล็ก ๆ เพียงครั้งสองครั้งนั้น ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงศรัทธาต่ออะไรเลย เพราะแม้ว่า a day weekly จะขาดทุนและขาดทุนเยอะมาก แต่ปัจจัยหลักของการขาดทุนก็คือต้นทุนที่สูงจนเกินไป  a day weekly ไม่ได้เป็นหนังสือที่ถูกก่นด่าว่าไม่ได้เรื่อง  a day weekly ไม่ได้เป็นหนังสือที่ไร้คนอ่าน ตรงกันข้าม หนังสือเล่มนี้ได้สร้างผู้อ่านกลุ่มใหม่ตามที่คนหนองคายกล่าวไว้ด้วยซ้ำ หนังสือเล่มนี้ ได้รับเสียงตอบรับ และการจับจ้องที่มีเกียรติ หนังสือเล่มนี้ได้รักษาท่าทีและจุดยืนที่น่าชื่นชมไม่น้อยในตลอด 54 สัปดาห์ ทั้งนักวิชาการที่เป็นที่นับถือหลายคนซึ่งยอมมาเป็นคอลัมนิสต์ก็ออกปากกันว่าไม่ผิดหวัง ซึ่งหากมีศรัทธาต่อการทำหนังสืออย่างแท้จริง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นไทม์เมืองไทย แต่ถ้ามีจุดยืนในเชิงอุดมการณ์ที่จะทำหนังสืออย่างแท้จริงแล้ว  a day weekly สามารถปรับปรุงต้นทุนลงมาให้กระชับและคล่องตัวกว่านี้ได้อีกมาก จะลงมาจนสุดอย่าง อาทิตย์วิเคราะห์ ของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ก็ไม่เห็นจะเสียหาย ถ้าเนื้อหายังคงเข้มข้น และมีความตั้งใจจะทำหนังสือวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์อย่างแท้จริง ความถี่ก็ยังสามารถลดลงมาเป็นรายปักษ์ได้อีก แต่ดูเหมือนสิ่งที่สมควรให้หวงแหนที่สุดก็คือ "ฟอร์ม" ยอมตายยอมเลิกดีกว่าเสียฟอร์ม เพราะฟอร์มนั้นอาจจะสำคัญเสียยิ่งกว่าศรัทธาและการตั้งใจในการทำหนังสือ หรือว่ายังมี "สิ่งอื่น" ที่นอกเหนือไปจากฟอร์มอีก

2. คนอ่านชายขอบ สินค้าที่ตลาดหนังสือไม่ต้องการ

"สินค้าของนิตยสารแท้จริงแล้วคือ "คนอ่าน" ไม่ใช่ "หนังสือ"" เป็นสิ่งที่ นอม ชอมสกี นายนิรุกติศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซ็ทส์ ประเทศนกหัวขาว เคยกล่าวไว้ หมายความว่า สิ่งที่คนทำหนังสือขายน่ะ แม้ไม่ใช่เต้าฮวยแต่ก็ไม่ใช่ "หนังสือ" อย่างแน่นอน นายนอมบอกว่าสิ่งที่นิตยสารขายก็คือ "คนที่อ่านหนังสือของตัวเอง" ต่างหาก เพราะฉะนั้น "ลูกค้า" จึงไม่ใช่ "คนอ่าน" แต่เป็น "คนซื้อโฆษณา" และ "คนอ่าน" ก็คือ "สินค้า" ที่เราต้องการจะขายให้แก่เอเยนซี่ทั้งหลาย เราจึงไม่ได้กำลังทำหนังสือ แต่เรากำลังทำตลาดบริโภคสำหรับคนซื้อโฆษณา  "เราจะเป็นไทม์เมืองไทย" จึงเป็นคำกล่าวที่ต้องการมอบให้แก่เอเยนซี่โดยเฉพาะ  เป็นข่าวสารจากพระเจ้าสำหรับ "ตลาดโฆษณา" ว่านี่แน่ะ ท่านไม่ต้องการ "ผู้อ่าน" ไทม์เมืองไทยหรือ มันมีคนอ่านจำนวนระดับโลกเชียวนา

ดังนั้นสิ่งที่นอกเหนือไปจาก "ฟอร์ม" ก็คือ "ลูกค้า" ของ a day weekly ซึ่งเป็นลูกค้าในความหมายที่ไม่ได้เป็น "ผู้อ่าน" เพราะไม่ว่าผู้อ่านจะมากขนาดไหนก็ไม่มีปัญญาแบกรับต้นทุนที่แพงครกแตกของหนังสือเล่มนี้ เพราะคำว่ามากสำหรับตลาดหนังสือแนวนี้ ในประเทศนี้นั้น แม้ว่าจะเป็นจำนวนที่ให้คนทำหนังสือยาจกที่มีศรัทธามาทำแล้ว เชื่อข้าวแกงยายแม้นกินได้เลยว่า เขาจะอยู่ได้ และไอ้เดี๊ยกก็ได้ร่วมยืนยันว่า ในอาณาเขตของซอยครกน้อยตลอดสองฝั่งคลองส้มตำนั้น มีผู้อ่าน a day weekly อย่างแน่นอน ไม่งั้นมันจะเอามาขายให้เตี่ยด่าทำไม เพียงแต่ว่าบรรดาผู้อ่าน a day weekly นั้น มี "จำนวน" และ "คุณภาพ" ไม่ผ่าน iso ของ "ท่านลูกค้า" นั่นเอง ดังนั้น เมื่อสินค้าไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า เพราะได้มีการเข้าใจสินค้าผิด หรือมองเห็นดอกบัวเป็นถั่วงอก พอไม่ได้กินถั่วงอกอย่างที่อยากจะกินแล้วก็เลยพานไม่กิน เพราะไม่ชอบกินดอกบัว แล้วก็ไม่อยากจะได้ดอกบัวเป็น "ลูกค้า" จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องขายผิดของอีกต่อไป

ถ้าเราจะว่ากันตามคุณนอม ชอมสกี นายนิรุกติศาสตร์คนนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ที่คนทำหนังสือบางประเภทต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่ในตลาดหนังสือมาตลอดปีตลอดชาติ คนแล้วคนเล่า จนเหมือนเป็นสัจจะที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล ตั้งแต่ อาทิตย์วิเคราะห์ ของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์  โลกหนังสือ, ช่อการะเกด, และบานไม่รู้โรย ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ในยุค รุ่งเรือง ปรีชากุล  open ของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา  scale ของ กฤษณะพล วัฒนวันยู จนถึง a day weekly ภายใต้การบริหารของมือปืนรับจ้างจากหนองคายคนนี้  ทั้งที่หนังสือเหล่านั้นต่างล้วนมีกลุ่มผู้อ่านที่เหนียวแน่นทั้งสิ้น เหตุผลที่แท้จริงของปรากฏการณ์อันลี้ลับผิดธรรมชาติ คำตอบเรียบง่ายเพียงประการเดียวก็คือ ผู้อ่านเหล่านั้น รวมถึง เรา ๆ ท่าน ๆ วารสารหนังสือใต้ดินเล่มอะนี้ด้วย เราต่างล้วนเป็นผู้อ่านชายขอบ ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นเพราะว่าเรามีน้อยเกินไป เราหลอกยากเกินไป เราหัวแข็งเกินไป สรุปรวมแล้ว เราล้วนเป็นลูกค้าที่ไม่น่ารักของตลาดบริโภค เราจึงเป็นสินค้าที่ไม่น่าปรารถนาของตลาดโฆษณา ซึ่งเป็นลูกค้าที่แท้จริงของกระบวนการทำนิตยสารในปัจจุบัน

3. ส่งท้ายเหล่าขุนพล

ไม่ว่าสังคมหนังสือและวรรณกรรมจะมองกรณีการปิดตัวของ a day weekly อย่างไร การต่อสู้ของคนทำหนังสือกลุ่มนี้จะเป็นอีกมรณะกรณีหนึ่งที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์หนังสือยุคดิจิตอล และนายทุนยุคดิจิตอลนี้ ก็รวดเร็วชึบชับฉับไวโดยแท้ แม้ไม่มีอะไรเชย ๆ อย่างกรณีในอดีต ก็เป็นการตัดที่ "ทันสมัย" ขึ้นเท่านั้นเอง

การถูกลอยแพของอธิคม คุณาวุฒิและกองบรรณาธิการ a day weekly นั้น โดยเนื้อหาแล้ว ย่อมไม่ต่างกับการเดินตบเท้าออกของบรรณาธิการและคอลัมนิสต์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ในยุคของรุ่งเรือง ปรีชากุล ขุนพลคนทำหนังสือเหล่านี้ได้ต่อสู้อย่างสมศักดิ์ศรีแล้ว และในวาระครบรอบร้อยปีชาตกาลของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ขอให้เราร่วมรำลึกถึงกุหลาบและคณะนักเขียนสุภาพบุรุษ ผู้เคยบุกเบิกทั้งการตบเท้าและการถูกลอยแพ ผู้ขับเคี่ยวกับนายทุนเป็นหนทางให้เหล่าคนทำและคนอ่านหนังสือชายขอบตั้งแต่ครั้งกระนั้น

73 ปีผ่านไป เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง!

มิถุนายน 2548

Comments