คำสารภาพของสาวแสบ
snob คือ สิ่งที่หนังสือชื่อ คำสารภาพ
ของ สาวแสบ ใช้อธิบายตนเอง snob แปลว่า คนหัวสูง ในพจนานุกรม อังกฤษ – ไทย ของ CHAMBERSให้คำแปลว่า “ชื่นชมคนที่มียศสูงหรือเหนือชั้นกว่า
และดูถูกคนที่ต่ำชั้นกว่า”
“ปมลูกเป็ดขี้เหร่ของหญิงสาวในยุคที่ทุกคนต้องพยายามสวยเก๋มีสไตล์
(แต่เหมือนกันไปหมด)…
“สาววัตถุนิยมผู้มีรถเพื่อการใช้งาน ไม่ได้มีหรือไม่มีเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง…
“อาการหลงเมืองที่สวนกระแสอินดี้ติดดินที่พยายามค้นหาความหมายของชีวิตจากการเดินทาง…”
ข้างบนนี้คือคำอธิบายจากบรรณาธิการ
เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ หรือ “ความเป็น snob
สาวแสบของผู้เขียน” เป็นการขยายความให้เห็น “คติ” หรือ “การต่อสู้กับคติ”
ของหนังสือเล่มนี้
ในส่วนของ “ปมลูกเป็ดขี้เหร่”
กับ “การมีรถเพื่อใช้งาน” นับเป็นตัวชี้วัดที่น่าสนใจทีเดียว สำหรับการศึกษาโลกในกระปุกลูกหมู
(คริสตัล สีชมพู ใสปิ๊ง)
ส่วนอาการ “หลงเมือง”
นั้น ถือเป็นการตอบโต้กับ “คติอื่น” อย่างชัดเจน น่าเสียดายเพียงว่าเป็นการตอบโต้ที่มาช้าไปเสียหน่อย
หนังสือระบุเวลาพิมพ์ว่าคือ กุมภาพันธ์
2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า “อินดี้ติดดินที่พยายามค้นหาความหมายของชีวิตจากการเดินทาง…”
ยังเป็น “คติ” ที่มีอยู่อย่างแข็งแรง
เป็นกลุ่มเป็นก้อนจนเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า “กระแส” ให้ใครมา “สวน” อยู่หรือไม่
คติที่หนังสือเล่มนี้ได้แสดงการตอบโต้
ต่อต้าน หรือกระทั่งรื้อถอนนั้น เมื่อนำมารวบรวมเข้าด้วยกัน ก็เห็นได้ว่า
คือกลุ่มของคติที่ใคร่จะเรียกในที่นี้ว่า “บ้านนอกโรแมนติก”
ซึ่งหากสำรวจย้อนยุคกันไปก็คืออันเดียวกับกลุ่มของคติยอดฮิตของวงวรรณกรรมในสมัย
“เพื่อชีวิต” และก็ยังฮิตต่อมาจนถึงช่วง
“หลังเพื่อชีวิต” ที่เรียกกันว่า “ปัจเจกนิยมพาฝัน” ซึ่งในที่นี้ก็ยังใคร่จะเรียกว่า “บ้านนอกโรแมนติก”
อันคติ “บ้านนอกโรแมนติก”
นี้ ในระยะเวลาต่อมาซึ่งก็คือ 10 ปี นับย้อนหลังมาจนถึงปัจจุบัน
ถือเป็นคติที่ถดถอย กระทั่งถูกนับเป็น “มายาคติ” ที่ “เชย” และ “ไม่เป็นที่นิยม” อีกต่อไป โดยเฉพาะในปี 2547
ที่หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมา ได้มีสิ่งที่เรียกว่า “เด็กแนว”
อันถือเป็นปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิด “กระแส”
ที่จะทำให้สามารถปฏิบัติสิ่งที่เรียกว่า “สวน”
ได้
การไป “สวน”
กระแส “บ้านนอกโรแมนติก” ในยุค “เด็กแนว” จึงเป็น..
เอ่อ…น่าจะพูดได้ว่าเป็นการ “สวน”
ที่ช้าไปสักหน่อย
อย่างไรก็ดี
หนังสือเล่มนี้มีสิ่งที่น่าสนใจมาก
โดยเฉพาะสิ่งที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดโลกในกระปุกลูกหมู (คริสตัล สีชมพู ใสปิ๊ง)
“คือฉันจะไม่เรียกมันว่าฟอร์มหรอกนะคะ…
ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม…แต่ฉันจะเรียกมันว่า
‘สไตล์’ “
บางตอนจากเรื่อง คนไม่มีสไตล์
เป็นเรื่องราวของเด็กสาวที่สารภาพรักกับเด็กหนุ่มต่างชาติ และถูกปฏิเสธ
ทำให้เกิดความรู้สึกอับอาย และได้ค้นพบถึงความจำเป็นของการมี “ฟอร์ม” และเธอก็เรียกมันว่า “สไตล์”
“เรียกฉันว่าพวกฉาบฉวยก็ได้ค่ะ
แต่ขอสารภาพว่ายังติดกับเรื่อง ‘รูปลักษณ์’ ภายนอกอยู่”
บางตอนจากเรื่อง WYSIWYG
ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเพื่อการปะทะกับวาทกรรม “อย่าติดสินคนจากภายนอก”
อย่างตรงไปตรงมา ในเรื่องนี้ยังได้กระแนะกระแหน
คนที่แสดงท่าทีเป็นศิลปิน ลุ่มลึก กระทบกระเทียบถึงคติของผู้ชายจำนวนหนึ่งซึ่ง “นิยมผู้หญิงที่มีสติปัญญา” (นับเป็นคติที่ระบาดอยู่ในหมู่นักเขียนนักวรรณกรรม
(ชาย/หญิง) เป็นเวลาหนึ่ง ซึ่งเวลามองหาแฟนก็จะมองหาผู้ที่ “อ่านหนังสือ”
หรือหาก “เข้าถึงบทกวี” ก็ยิ่งจะทำให้ดูลึก
ดี และมีสติปัญญามาก) ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึงความน่าเบื่อของผู้ชายประเภทนี้
และตบท้ายว่าการนั่งดูเอ็มทีวีอยู่กับบ้านและตัดสินคนจากภายนอกยังจะเป็นสิ่งที่น่าศรัทธาเสียยิ่งกว่า
“ฉันเริ่มหัดขับรถยนต์ตั้งแต่ตอนอยู่ ม.
3 ไม่ใช่ว่าพ่อรวย ซื้อรถให้ขับแต่เด็ก แต่ในบรรดากลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน
ฉันดูจะเป็นคนเดียวที่ไม่มีคนขับรถคอยรับส่ง”
บางตอนจากเรื่อง สาวรักล้อ ผู้เขียนได้แสดงถึงความสัมพันธ์ของเธอกับรถยนต์
พร้อมทั้งพยายามอธิบายว่า สำหรับเธอ รถก็คือรถ
ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือมีความหมายแฝงอะไร
คำอธิบายของเธอดูเหมือนเป็นการพยายามแก้ต่างให้กับข้อกล่าวหา “วัตถุนิยม” ซึ่งเธอนำมาโยงเข้ากับรถ
พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยว่าทำไมจึงไม่ควรมีรถ
“แต่แหม มันทุลักทุเลชอบกลนะคะ
เผื่อเขามามอเตอร์ไซคล์ เหงื่อซ่กมารับเราล่ะ แล้วเราแต่งตัวซะเลิศ”
จากการอธิบายของเธอ
ก็ทำให้เห็นว่าการมีรถหรือไม่มีรถเป็นปัญหาทาง “อัตลักษณ์”
เสียยิ่งกว่าปัญหาทาง “เศรษฐกิจ” และลงเอยด้วยการสรุปปัญหาเรื่องการ “มี” หรือ “ไม่มี” รถ
ไว้ว่าเป็นเพราะมนุษย์นำกรอบความคิด ค่านิยม
มาครอบวัตถุที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก จึงทำให้เกิดปัญหา
“ฉันกลับรู้สึกถึงแรงดึงดูดอย่างประหลาดจากบันไดขั้นที่
8 หน้าสยามเซ็นเตอร์ ทิวทัศน์ และแสงไฟจากตึกระฟ้า
เปรียบเสมือนสัญญาณชีวิตของฉันที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา”
บางส่วนจาก คน (หลง) เมือง
ซึ่งพยายามปะทะกับคติ “บ้านนอกโรแมนติก” ดังที่กล่าวมาข้างต้น
“ขี้เหร่เป็นคำที่ฉันกลัวรองลงมาจากคำว่าจน”
“ฉันคิดว่าสโนว์ไวท์ไม่ ‘สวย’ เลยสักนิด
เพราะเธอเป็นประเภทพวก ‘หลง’ ตัวเองอย่างหาตัวจับได้ยาก
เธอพยายามมองโลกด้วยสายตาที่บิดเบือน…”
จากเรื่อง Ugly beautiful กับเรื่อง คนหลงตัวเอง only เป็นเรื่องที่บอกเล่าถึงความไม่พอใจกับ
“คติของผู้หญิงดีและสวย” ประเภทต่าง
ๆ ผู้เขียนได้ตอบโต้และแสดงความอึดอัดคับข้องใจที่มีต่อคติเหล่านั้น
“บางทีฉันน่าจะปล่อยให้บรรดาป๊อปไอดอลเหล่านี้อยู่แต่ในจินตนาการส่วนตัวของฉัน
ให้พวกเขาเป็นชายในฝันในดินแดน Fantasy Forever ต่อไปจะดีกว่า มันคงทำให้ฉันรู้สึกดีมากกว่านี้
เพราะฉันเริ่มเรียนรู้แล้วว่า ‘แก่นแท้ที่สำคัญที่สุด‘
ของพวกเขาก็คือ
จินตนาการไม่รู้จบของฉันที่สร้างให้พวกเขาเป็นชายหนุ่มที่ดูดีที่สุด เจ๋งที่สุด
หล่อที่สุด และเก่งที่สุดนั่นเอง”
เป็นข้อสรุปจากเรื่อง F4 จินตนาการไม่รู้จบ ซึ่งผู้เขียนได้เล่าถึงอาการคลั่งไคล้ดาราของตนเอง
แต่เมื่อได้ไปพบเจอตัวจริงกลับทำให้ผิดหวังที่ดาราคนนั้นไม่ได้เป็นเหมือนที่ตนคิดจริง
ๆ
หากเรานำชิ้นส่วนต่าง ๆ จากแต่ละเรื่อง
มาประกอบเข้าด้วยกัน เราก็จะ ได้โลกใส ๆ
สีชมพูหนึ่งใบที่มีรูปทรงคล้ายกระปุกลูกหมู ในโลกนี้ ตัวตนเป็นสิ่งที่เปราะบาง
และง่ายต่อการแตกหักมาก จึงทำให้ต้องถูกห่อหุ้มไว้อย่างแข็งแรงด้วยสิ่งที่เรียกว่า
“ฟอร์ม” หรือ “สไตล์” โลกใบนี้อยู่พ้นไปจากการกดขี่ขูดรีดทั้งปวง ไร้ซึ่งปัญหาทางชนชั้น
จึงทำให้ปัญหาที่หนักหนาที่สุดคือปัญหาเรื่อง “อัตลักษณ์”
ดังที่ปรากฏขึ้นในหลายเรื่อง ตั้งแต่การ “มี”
หรือ “ไม่มี” รถยนต์
ซึ่งไม่เกี่ยวกับการได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
(สังเกตได้ว่าผู้เขียนตั้งคำถามว่า “ทำไมถึงต้องไม่มีรถ”
โดยเพิกเฉยโดยสิ้นเชิงกับคำถามว่า “ทำไมถึงต้องมีรถ”)
รถยนต์จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตมากกว่าจะเป็นสิ่งที่สมควรถูกตั้งคำถาม
ปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ ยังปรากฏต่อมาในเรื่อง “ความสวย”
“ความดี” “ความฉาบฉวย” และ
“ความเป็นคนเมือง”
ในการประท้วงคติบ้านนอกโรแมนติก
โลกในกระปุกลูกหมู (คริสตัล สีชมพู ใสปิ๊ง) ได้พยายามกอบกู้อัตลักษณ์และตัวตนของ “คนเมือง” ชี้ว่าความลุ่มลึกโอ่อ่าทางปัญญาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่หลงไหลเชียงใหม่
ผู้ชายที่ชอบท่องบทกวีของเช็กสเปียร์ การรังเกียจวัตถุนิยม เหล่านี้ ล้วนเป็น “มายาคติ” ไม่ต่างกัน ดังนั้น การ “ดูเอ็มทีวี” “หลงใหล F4”
“ขับรถยนต์” ฯลฯ
ที่เป็นกิจกรรมของโลกในกระปุกลูกหมู จึงเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม (กว่า)
อย่ามาว่าฉันนะ! อะไรทำนองนี้
ข้อสังเกตอีกประการก็คือ “สติปัญญา” หรือ ภาพพจน์ของ “สติปัญญา”
ของโลกในกระปุกลูกหมูนี้ ดูจะยึดโยงอยู่กับภาษาตะวันตกเป็นหลัก
การอ้างอิง หรืออ้างถึงงานวรรณกรรม ก็มักจะเป็นงานของนักเขียนตะวันตก
การแสดงภูมิปัญญาหรือความดื่มด่ำที่มีต่อบทกวี ก็อ้างถึงกวีตะวันตก แม้กระทั่งความรู้รอบตัวก็ยังอ้างอิงกับความรู้เกี่ยวกับตะวันตก
(ในเรื่อง F4 จินตนาการไม่รู้จบ ตัวละครได้แสดง “ความโง่” ในทัศนะของผู้เขียน
ด้วยการเขียนภาษาอังกฤษผิด และบอกชื่อเมืองหลวงของประเทศอเมริกาผิด) ดังนั้น
บรรทัดฐานทางภูมิปัญญาของโลกในกระปุกลูกหมู นั้น เกี่ยวพันกับภาษาอังกฤษและความรู้เกี่ยวกับตะวันตกอย่างสำคัญ
และบางครั้งการสะกดภาษาอังกฤษผิด ก็คล้ายการประกอบอาชญากรรมทีเดียว
ดังที่กล่าวมาข้างต้น ค่านิยม หรือ
คติบ้านนอกโรแมนติก นั้นได้ถดถอยไปมากแล้วในยุค “เด็กแนว” เด็กแนวจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับโลกในกระปุกลูกหมู
(คริสตัล สีชมพู ใสปิ๊ง) หรือไม่ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ
แต่การประท้วงปะทะของกระปุกลูกหมู ที่มีต่อ บ้านนอกโรแมนติก นี้ได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ
กับ “กระแส” ความเข้มแข็งของ “อัตลักษณ์เมือง” ที่เติบโตขึ้นสวนทางกับ
ค่านิยมบ้านนอกโรแมนติก และมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การสถาปนาเมืองขึ้นกดขี่บ้านนอก
ก่อให้เกิดสภาพเช่นเดียวกับในอดีตเพียงแต่กลับกัน (สมัยก่อนเราอาจจะกล่าวได้ว่า
บ้านนอกเป็นพระเอก เมืองเป็นผู้ร้าย
ซึ่งเป็นการกดขี่ของคติบ้านนอกโรแมนติกที่มีต่ออัตลักษณ์ของเมือง)
โลกในกระปุกลูกหมู
ได้อาศัยหลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะ “บริโภคนิยม”
มาตอบโต้ “บ้านนอกโรแมนติก” แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ “บริโภคนิยม” ไม่ได้ไร้เดียงสาอย่างที่เห็น ภายใต้หน้าตาอันใสซื่อไม่ว่าจะเป็น เอ็มทีวี
หรือ F4 รวมถึงคนอีกจำนวนหนึ่งที่ “ใช้สอย”
โลกในกระปุกลูกหมู ก็ไม่ได้ไร้เดียงสาดังที่เห็น ตรงกันข้าม
คนบางคนสามารถที่จะ “ใช้” อัตลักษณ์ของคนเมืองที่ผู้เขียนพยายามกอบกู้นั้น
เป็นเครื่องมือในการกอบโกยผลประโยชน์จำนวนมากเข้าสู่ตนเอง
คนเหล่านั้นเป็นคนที่ทำมาหากินอยู่กับ “ความรู้สึกดี ๆ “
ที่เด็กสาวจำนวนมากมีให้กับป๊อปไอดอล และเชื่อเถอะว่า…คนเหล่านี้พอใจกับการมีสาวกเป็นจำนวนมาก
ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยเห็นคุณค่าของความรู้สึกที่ได้มาง่าย ๆ เหล่านั้นเลย
และพร้อมจะทอดทิ้งความรู้สึกเหล่านั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์
หรือเพื่อไปสู่ผลประโยชน์ก้อนโตกว่า
พิมพ์ครั้งแรก วารสารหนังสือใต้ดิน
Comments
Post a Comment