วิจารณ์ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า



เสวนา ดนตรี กวี วัฒนธรรม จังหวัดอยุธยา วันที่ 23 มีนาคม 2555
จัดโดย กลุ่มเสียงสตรีร่วมกับศรีรามเรดิโอ



สวัสดีเพื่อนร่วมชาติ ประชาชน ชาวอยุธยาแล้วก็ท่าน สส. นะครับ ผมมาในฐานะของตัวแทน ครก.112 หรือว่าคณะรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ก่อนจะกล่าวถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ผมขอกล่าวถึงสิ่งที่เกิดเมื่อเร็วๆนี้ก่อน เมื่อวันก่อนมีการประชุมกรรมการปรองดองที่มีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน ในที่ประชุม พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ถามพลเอกสนธิว่า ใครสั่งทำรัฐประหาร พลเอกสนธิตอบว่า ถึงตายก็บอกไม่ได้

ย้อนดูเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยา 2549  มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มีการอ้างมาตรา 7 เพื่อขอนายกพระราชทาน หลังจากนั้นก่อนการรัฐประหารไม่นาน ประธานองคมนตรี คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินสายตามค่ายทหาร บอกกับทหารว่า ทหารเป็นม้า รัฐบาลเป็นจ๊อกกี้ ไม่ใช่เจ้าของม้า พลเอกเปรมกล่าวปราศรัยเหมือนยุยงให้ทหารทำรัฐประหารในช่วงเวลานั้นนะครับ ต่อมาก็เกิดการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ขึ้น รัฐประหารเสร็จ องคมนตรีอีกคนนึง ก็คือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ใครเลือกพลเอกสุรยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกสนธิหรือว่าไอ้โม่งที่สั่งทำรัฐประหารเป็นคนเลือก ใครเป็นคนเลือก?  คณะกรรมการปรองดองของพลเอกสนธิประชุมกันเรื่องข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า

ข้อเสนอปรองดองของสถาบันพระปกเกล้ามีสาระสำคัญคืออะไรบ้าง ผมขอแยกเป็น 2 ส่วน  ก็คือส่วนของนักการเมือง กับส่วนของประชาชน ส่วนของนักการเมืองคือคดีเกี่ยวกับ คตส. ที่ตั้งขึ้นมาโดย  คมช.  คณะรัฐประหารนี่แหละ มีทางเลือกให้ 3 ทาง สำหรับนักการเมืองที่ติดคดีจาก คตส. 

1 ยกเลิกคดีที่ยังไม่มีการตัดสิน คือ คตส. จะทำหลายคดีมาก จะมีทั้งคดีที่ตัดสินไปแล้ว อย่างเช่นคดีที่ดินรัชดาของนายกทักษิณ และคดีที่ยังดำเนินการอยู่ ที่ยังไม่มีการตัดสินออกมา ข้อเสนอที่ 1 เสนอให้ยกเลิกคดีที่ยังไม่มีการตัดสิน ส่วนที่ตัดสินไปแล้วก็เหมือนเดิม นี่คือข้อเสนอที่ 1

ทางเลือกที่ 2 เลิกคดีที่ คตส. ทำทั้งหมด รวมถึงคดีที่ตัดสินไปแล้ว เช่น คดีที่ดินรัชดา คดีกล้ายาง ก็คือเลิกทั้งหมด แล้วให้เริ่มดำเนินคดีใหม่ อันนี้คือทางเลือกที่ 2 ที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอ ทางเลือกที่ 3 คือยกเลิก ถือว่าเป็นโมฆะทั้งหมดเลย คดีที่เกิดจาก คตส ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารให้เป็นโมฆะทั้งหมด และไม่มีการนำมาดำเนินคดีใหม่อีกต่อไป พูดง่ายข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารที่มีต่อนักการเมืองนั้น รวมถึงที่มีต่อนายกทักษิณ ชินวัตรเลิกไปหมดเลย ไม่มีการนำมาดำเนินคดีใหม่ นี่คือข้อเสนอสำหรับนักการเมืองของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอมา

ที่นี้มาดูข้อเสนอที่เกี่ยวพันกับประชาชน มี 2 ทางเลือก ไล่จากทางเลือกแคบไปสู่ทางเลือกกว้าง ทางเลือกที่ 1 ให้นิรโทษกรรมเฉพาะคดีที่มาจาก พรก. ฉุกเฉิน คดีที่เกียวกับ พรก. ฉุกเฉิน ก็คือคดีที่เกี่ยวกับการเผาต่าง ๆ ไม่นิรโทษกรรม แต่ถ้าเป็นเกี่ยวกับ พรก. ฉุกเฉิน  กรณีคนสั่งฆ่าประชาชนอันนี้คือนิรโทษกรรม นี่คือทางเลือกที่ 1

ทางเลือกที่ 2 คือนิรโทษกรรมทั้งหมด รวมถึงคดีเผาต่าง ๆ ด้วย พูดง่าย ๆ คือ ทั้งคนโดนฆ่า ทั้งคนเผา คนสั่งฆ่า นิรโทษกรรมทั้งหมด นี่คือทางเลือกที่ 2 ของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอในกรณีที่เกี่ยวกับพันกับประชาชน มีแค่ 2 ทางเลือกและไม่นับรวมถึงคดีที่มาจากกฎหมายอาญา มาตรา112 หรือว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนะครับ

ทีนี้ผมจะพูดถึงปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อน เริ่มแนะนำง่าย ๆ  กฎหมายอาญามาตรา 112 รู้จักกันในชื่อ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีข้อความสั้น ๆ แค่นั้นเองว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี

ปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112  ผมแบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับแรกเป็นระดับของบทกฎหมายและการบังคับใช้

ตัวบทของกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อแรกที่มีปัญหา คืออัตราโทษ โทษขั้นต่ำ 3 ปี ลงโทษต่ำกว่า 3 ปีไม่ได้ สูงสุดคือ 15 ปี การกระทำผิดนี้คือการกระทำผิดด้วยวาจานะครับ การหมิ่นประมาท การอาฆาตมาดร้ายคือการกระทำผิดด้วยวาจา แต่โทษ 3 ปีถึง 15 ปี หากนำกฎหมายในลักษณะเดียวกันไปเทียบกันกับประเทศอื่น อัตราโทษนี้ถือว่าไม่ได้สัดส่วน เนื่องจากการกระทำผิดเป็นการกระทำผิดโดยวาจาเท่านั้น ไม่มีประเทศไหนที่ลงโทษคนที่กระทำผิดโดยวาจาสูงขนาดนี้ 

ข้อที่ 2  ในเรื่องของบทกฎหมาย ไม่มีเหตุยกเว้นโทษและเหตุยกเว้นความผิด ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์นี้วิจารณ์ไม่ได้เลย

ข้อที่ 3 ใครก็กล่าวโทษได้  ใครก็สามารถที่จะไปกล่าวโทษใครก็ได้  ไปแจ้งความที่ไหนก็ได้ ถ้าเกิดเห็นช่องนิดหนึ่ง ไม่พอใจ  ก็ไปแจ้งความ เป็นที่มาของการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112  ในการกลั่นแกล้งกัน ทั้งในทางส่วนตัวและทางการเมือง

ส่วนเรื่องการบังคับใช้ ข้อแรก คดีที่เกิดจากกฎหมายอาญามาตรา 112 มักจะไม่ให้ประกันตัว ซึ่งการประกันตัวนี้เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายอาญา มาตรา 112  มักจะไม่ให้ประกันตัว 

ข้อต่อมา มักจะปิดลับคดี ดำเนินการไต่สวนโดยปิดลับ ซึ่งก็ผิดรัฐธรรมนูญ

ข้อต่อมา แนวทางการตัดสินของศาลที่เป็นลักษณะเฉพาะของกฎหมายอาญา มาตรา 112  คือมักจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด ซึ่งผิดหลักการพิจารณาคดีอาญาที่ต้องให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันนี้คือปัญหาของกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในแง่ของตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ ซึ่งละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วก็ละเมิดรัฐธรรมนูญ  

ปัญหาในระดับที่ 2 คือ ปัญหาของความเป็นธรรมทางการเมืองนะครับ ในกรณีของคดีที่เป็นคดี 112 ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการเมือง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถ้าเกิดย้อนดูอย่างที่ผมเท้าความไปตั้งแต่ตอนแรก ว่าตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร จะเห็นว่ามีการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มากล่าวอ้าง  เข้ามาดำเนินการทางการเมือง อ้างมาตรา 7 ขอนายกพระราชทาน จะปลดนายกของประชาชนออก และจะขอนายกพระราชทาน นี่คืออ้างอำนาจกษัตริย์ อ้างมาตรา 7 

ประธานองคมนตรี พลเอกเปรม เดินสายคุยกับกองทัพ บอกว่า ทหารเป็นม้า รัฐบาลเป็นจ๊อกกี้ เสร็จแล้วก็มีการรัฐประหารกันเกิดขึ้น แล้วองคมนตรีอีกคนก็เป็นนายก

หลังจากเลือกตั้งที่ได้รัฐบาลสมัครมา มีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาล โดยอ้างการสนับสนุนจากสถาบันกษัตริย์  ยึดทำเนียบ ยึดสนามบินดอนเมือง สถานีโทรทัศน์ NBT จนกระทั่งสนามบินสุวรรณภูมิ เสร็จแล้วรัฐบาลก็ล้มไปในที่สุด จากนั้นทหารเรียกนักการเมืองเข้าไปคุยในค่ายทหารล็อบบี้นักการเมือง จนกระทั่งเกิดการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นมาในค่ายทหาร

ถ้าไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดเหตุการณ์เมษา 52 ไหม ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้จะเกิดคนเสื้อแดงไหม และจะเกิดเหตุการณ์มีนา เมษา พฤษภา 53 ไหม ถ้าเกิดว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้ จะเกิดการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไหม  จะเกิดคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างที่ผ่านมารึเปล่า

ประเด็นของเรื่องความเป็นธรรมในวันนี้  จะเห็นได้ว่าในช่วงเหตุการณ์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการอ้างสถาบันกษัตริย์อยู่อย่างนี้ มีการใช้อยู่อย่างนี้ แม้แต่การรัฐประหารก็อ้าง แล้วก็มีกฎหมายอาญา มาตรา 112 ห้ามวิจารณ์ ห้ามพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้วจะรู้ได้ยังไง ในเมื่อห้ามวิจารณ์ ในเมื่อห้ามพิสูจน์จะรู้ได้อย่างไรว่าที่อ้างสถาบันกษัตริย์มาระเมิดกฎหมาย ละเมิดรัฐธรรมนูญนี้เป็นความจริงแค่ไหน  เสร็จแล้วพอมีคนวิจารณ์ก็จับด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112

สถิติของผู้ถูกกล่าวหาด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปี 2553 ปีเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ที่ราชประสงค์นั้นมีถึง 478 คำฟ้อง  สถาบันพระปกเกล้าเสนอให้นิรโทษกรรมโดยไม่นับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่นับคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญา มาตรา 112  และแม้แต่แก้ไขกฎหมายก็ไม่แก้ สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งอ้างว่าเป็นกลางทางการเมืองนี้ ถามว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ที่อยู่สถาบันพระปกเกล้าที่ร่างข้อเสนอนี้เป็นกลางไหม นายบวรศักดิ์ นี่คือเนติบริกรหรือนักกฎหมาย ที่เข้าไปรับใช้คณะรัฐประหาร ออกแบบกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง ให้กับ คปค. หรือ คมช. อยู่ในมาตรา 36,  37 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 เสร็จแล้วก็ไปซุกต่อในมาตรา 309  ของรัฐธรรมนูญ 2550  เข้าไปรับใช้คณะรัฐประหาร รับผลประโยชน์  ผลตอบแทนจากคณะรัฐประหาร นอกจากนี้ระหว่างที่เป็น สนช. คือ สภาของคณะรัฐประหาร ถ้ายังจำกันได้  นายบวรศักดิ์คนนี้ยังเป็นคนร่าง พรบ. จดแจ้งการพิมพ์ 2550  ซึ่งเป็นการเอากฎหมายอาญามาตรา 112 ไป สอดใส้อยู่ใน พรบ. จดแจ้งการพิมพ์ สะท้อนให้เห็นว่านายบวรศักดิ์คนนี้ไม่ได้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่มีความสำนึกในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่มีอุดมการณ์แบบกษัตริย์นิยม ต้องการการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีสภา หรือระบอบกษัตริย์ที่มีสภา ข้อเสนอของนายบวรศักดิ์จึงไม่มีสำนึกในเรื่องประชาธิปไตย  ไม่มีสำนึกในเรื่องสิทธิ เสรีภาพและไม่มีสำนึกในเรื่องของความยุติธรรม ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า-ตัวของนายบวรศักดิ์ นี่คือการเสนอให้ปรองดองเฉพาะอำมาตย์กับนักการเมือง แต่ไม่ปรองดองกับประชาชน ไม่นับประชาชนและไม่เห็นหัวประชาชน คือจะปรองดองกันเองในหมู่ชนชั้นนำ 

เขาเสนออย่างนี้นะครับ ผมขอทบทวนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ที่เสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112  ใน 4 เรื่องสำคัญ 4

เรื่องแรก ยกเลิกออกจากหมวดความมั่นคง ขณะนี้กฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง ยกเลิกและบัญญัติใหม่ เอาออกจากหมวดความมั่นคงเพราะการหมิ่นประมุขไม่เกี่ยวกับความมั่นคง ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกนี้ถือว่าการหมิ่นประมาทประมุข การกระทำผิดโดยวาจาต่อประมุขของรัฐกระทบถึงการดำรงอยู่ของรัฐ ไม่มีนักนิติศาสตร์ที่ไหนคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นยกเลิกออกจากหมวดความมั่นคง

ประเด็นที่ 2 นะครับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราโทษ จาก 3 ปี ถึง 15 ปี ให้ไม่เกิน 3 ปี ในกรณีของกษัตริย์ การแก้ไขโครงสร้างอัตราโทษนี้เปรียบเทียบกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปที่ใช้กับประชาชนนี่แหละ ของประชาชนไม่เกิน 2 ปีนะครับ เพราะฉะนั้นในกรณีของพระมหากษัตริย์มากกว่าประชาชน 1 ปี คือไม่เกิน 3 ปี นะครับ

ประเด็นที่ 3 เพิ่มเหตุยกเว้นโทษและเหตุยกเว้นความผิด ให้เหมือนกับกฎหมายที่ใช้กับประชาชนทั่วไป เพื่อให้การวิจารณ์นั้นทำได้

ประเด็นที่ 4 ให้ราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษ ห้ามมิให้ผู้อื่นเป็นผู้กล่าวโทษ  ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ใครก็กล่าวโทษได้ ใครก็ไปแจ้งความได้ เปลี่ยนให้ราชเลธิการเท่านั้นเป็นผู้กล่าวโทษ

ข้อเสนอของนิติราษฎร์ตามที่ผมกล่าวมานี้นะครับ ถึงที่สุดแล้ว ยังไม่ใช่แม้แต่การนับหนึ่งของการเริ่มต้นแก้ปัญหาการเมือง ยังไม่ใช่นะครับ เพราะถ้าเกิดเราไม่สามารถแก้ปัญหาที่แวดล้อมสถาบันกษัตริย์อยู่ได้ ปัญหาการเมืองจะไม่มีวันคลี่คลาย การแก้ตามที่เสนอของนิติราษฎร์นี้เป็นเพียงความพยายามที่จะทำให้การแก้ปัญหา การสร้างความเป็นธรรมทางการเมืองเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เท่านั้น ให้เป็นสิ่งที่สามารถจะพูดถึงได้อย่างทุกแง่มุม ไม่มีหมกเม็ด ปัญหาที่สำคัญที่สุดในวันนี้คือเราไม่มีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคทางการเมือง นี่คือปัญหาของทุกวันนี้ สิทธิ เสรีภาพ คือ สำนึกใจกลางของระบอบประชาธิปไตย คือสิ่งที่ทำให้คนเป็นคน

เมื่อก่อนไม่มีคำว่าสิทธิ เสรีภาพ ในสมัยที่ยังปกครองในระบอบเก่า ระบอบกษัตริย์ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีนะครับ แต่เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิ เสรีภาพแล้วมันคือการเปลี่ยนราษฎรให้เป็นคน เปลี่ยนราษฎรให้เป็นประชาชน ไม่ใช่ฝุ่นใต้ตีนใครอีกต่อไป สมัยก่อนระบอบกษัตริย์ราษฎรคือสมบัตินะ เป็นทรัพยากร เป็นไพร่ เป็นทาส การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475  คือการเปลี่ยนทาส เปลี่ยนไพร่ เปลี่ยนฝุ่นใต้ตีนเนี่ยให้เป็นประชาชนที่มีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เป็นคนเหมือน ๆ กัน มีสิทธิเท่า ๆ กันในเรื่องส่วนรวม ไม่ใช่ฝุ่นละอองใต้พระบาทของใครที่ไม่มีปากเสียง

แต่วันนี้สิทธิเสรีภาพที่ถูกสถาปนาขึ้นตั้งแต่ปี 2475 ถูกย่ำยีด้วยการรัฐประหาร ด้วยการล้อมฆ่า ด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือ ระบบโกหก ตอแหล หลอกว่ามีประชาธิปไตย หลอกว่ามีสิทธิ หลอกว่ามีเสรีภาพ

ถ้าเกิดประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพจะมีการล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือกด้วยการรัฐประหารหรือ  ถ้าหากประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพจริง จะมีการยิงคนกลางถนนหรือ ถ้าหากว่าประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพจริง จะมีกฎหมายแบบกฎหมายอาญามาตรา 112 บังคับใช้อยู่ได้อีกหรือ

ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าคือ ข้อเสนอที่ดูถูกประชาชน คิดฝันว่าจะตอแหล โกหกต่อไป โดยหวังว่าประชาชนจะเชื่อระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ระบบการเมืองที่เป็นอยู่นี้ อำนาจที่แท้ยังมิได้เป็นของประชาชนชาวไทย เหมือนที่รัฐธรรมนูญระบุ แต่เป็นระบบที่มีอำนาจนอกระบบมาแทรกแซงการเมืองอยู่ตลอด มีผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ มีเจ้าของคอกม้าที่จะล้มล้างอำนาจของประชาชนได้ตลอด

ทุกครั้งที่รัฐประหารก็จะอ้างคอรัปชั่น อ้างคอรัปชั่นแต่ไม่ยอมตรวจสอบศาล ทหาร องคมนตรีไม่เคยเปิดบัญชีให้ตรวจสอบ โครงการหลวงต่าง ๆ ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินตรวจสอบได้ไหม แม้แต่วิจารณ์ยังวิจารณ์ไม่ได้ แม้แต่จะแก้กฎหมายให้แค่พูดได้ยังไม่ให้แก้ การอ้างใช้สถาบันกษัตริย์  การแอบอิงสถาบันกษัตริย์ เพื่อแทรกแซงทางการเมืองเพื่อปกปิดการตรวจสอบ และที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ เพราะสถานภาพของสถาบันกษัตริย์ ที่เป็นประหนึ่งว่ายังปกครองด้วยระบอบเก่าคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สถาบันกษัตริย์แตะต้องไม่ได้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสยามเทวาธิราช เป็นเทวดา นี่คือความเชื่อแบบเก่า นี่คือความเชื่อของระบอบเก่า ความเชื่อเก่าที่เชื่อว่ามีคนดี ที่ได้รับโองการสวรรค์ วิเศษกว่าคนอื่นมีสิทธิ์มีอำนาจ มีความชอบธรรมมากกว่าคนอื่น

การให้ความเคารพประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่แตกต่างจากการเคารพกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วันนี้เราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ด้วยความคิดสมัยใหม่ที่เชื่อว่าคนทุกคนเท่ากัน ไม่มีใครวิเศษกว่าใคร ดีไม่ดี ทุกคนตัดสินเองได้ คิดเองได้ ไม่ต้องมายุ่ง นี่คือความหมายของสิทธิ เสรีภาพ นี่คือความหมายของความเป็นคนในรัฐสมัยใหม่ นี่คือสิทธิพื้นฐาน คือรากฐานของประชาธิปไตย และสังคมต้องมีสำนึกในเรื่องนี้ ต้องมีความเชื่อในเรื่องนี้เป็นอันดับแรก ใครจะจงรักภักดี เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ความดีงาม เชื่อได้แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิพื้นฐาน ต้องไม่ละเมิดความเป็นคน ขอบคุณครับ

Comments