คุณสงคราม: เดือนวาด พิมวนา
หนังสือ คุณสงคราม
ผู้เขียน เดือนวาด พิมวนา
สำนักพิมพ์ สามัญชน
หนา 240 หน้า
พิมพ์เมื่อ ปี 2547
ราคา 170 บาท
“เมื่อเขากำลังคิดฉงนด้วยเหตุการณ์นั้น
ดูเถิดมีชายสองคน ยืนอยู่ใกล้เขา
เครื่องนุ่งห่มแพรวพราวจนพร่าตา”
ลูกา 24 : 4
เทวดาและทูตสวรรค์ปรากฏขึ้นในเรื่องเล่า
ตำนานมากมาย ตั้งแต่โบราณกาล แต่การปรากฏตัวขึ้นของเทวดาแต่ครั้งก่อนเก่านั้น
โดยมากมักจะปราศจากรายละเอียด เทวดามักจะมาพร้อมกับพันธกิจบางอย่าง
หรือหน้าที่บางประการเสมอ เรื่องเล่ามักไม่บอกว่าเทวดารูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร
ความคิดจิตใจเป็นเช่นไร รู้แต่ว่าเทวดาคือผู้รับใช้พระเจ้า
และปรากฏขึ้นเพื่อทำหน้าที่บางอย่างตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า
นั่นคือภาพพจน์ของเทวดาฝรั่ง ซึ่งเป็นรากเหง้าของเทวดาส่วนใหญ่ในวรรณกรรมสมัยใหม่
ในเรื่องแต่งปัจจุบัน
เทวดาปรากฏกายให้เราเห็น มีรูปร่างหน้าตาจับต้องได้ชัดเจน ตั้งแต่หน้ายาว ๆ
มีเคราอย่างนิโคลัส เคจน์ ไปจนเทวดาหน้าตี๋ในภาพยนตร์ฮ่องกง
เทวดาในเรื่อง
คุณสงคราม มีลักษณะอย่างเทวดาฝรั่ง ไม่คล้ายเทวดาอารักษ์ของไทย
ไม่มีหน้าที่เก็บขวานให้คนตัดฟืน แต่มีพันธกิจที่ใหญ่โตสลับซับซ้อน มีอายุ 600 ปี แต่นอนหลับไป 100 ปี
เลยไม่ค่อยทันโลก
นอกจากเทวดาฝรั่งแล้ว
ท่วงทีของเรื่องราวในคุณสงคราม ก็เป็นท่วงทีอย่างวรรณกรรมฝรั่งเต็มรูป
เพียงเปลี่ยนตัวละคร สถานที่เป็นไทย แต่จิตวิญญาณ กิริยาอาการ คำพูดคำจา
การสนทนาพาที เป็นไปอย่างวรรณกรรมฝรั่งอย่างถอดออกมาเลยทีเดียว
เรื่องสั้นขนาดยาว
คุณสงคราม ไม่ใช่เรื่องสั้นแนวสมจริง
แต่เป็นเรื่องราวที่อยู่ภายใต้โครงสร้างของการปะทะทางความคิด เรื่องทั้งเรื่องตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย
เป็นไปเพื่อรับใช้เป้าประสงค์ของการปะทะทางความคิด
มีแต่ความคิดและความคิดและการปะทะทางความคิด ไม่มีเรื่องอื่นปนแม้แต่น้อย
ตัวความคิดนั้นคือ
มนุษย์ควรมีสงครามเพื่อความเจริญก้าวหน้าหรือไม่
นอกจากความคิดหลักนี้
ยังมีกลุ่มความคิดย่อยที่สอดแทรกเข้ามา หลายกลุ่มความคิดมีความน่าสนใจไม่น้อย
วิธีเดียวที่จะอ่านเรื่อง
คุณสงคราม ให้สนุกก็คือ ต้องสนุกไปกับตัวประเด็นความคิดเท่านั้น
เพราะเรื่องนี้แต่งมาเพื่อการนั้นเท่านั้น ถ้าไม่สนุกกับความคิดเมื่อไร
ก็จะรู้สึกนึกเบื่อรำคาญ พานไม่อยากอ่าน และเห็นเป็นวรรณกรรมที่ใช้ไม่ได้ไปทันที
แม้เป็นเรื่องของการปะทะทางความคิด
แต่ความคิดอย่างเดียวก็ไม่สามารถดำเนินเรื่องไปได้
จึงต้องมีเวลาที่ตัวละครต้องอยู่ในอิริยาบทอื่น อาการอื่น ๆ
อันไม่เกี่ยวกับความคิด ไม่ว่าจะเดินเหินพูดคุย กินข้าว ทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อให้เรื่องดำเนินไป
กิริยาอาการเหล่านั้น
เมื่อปราศจากความคิดแล้ว น่าเบื่อที่สุด
สำหรับผู้อ่านที่ไม่สนใจความคิดที่อยู่ในเรื่อง
ตัวละครหลัก-เทวดาหนุ่มจะไม่สามารถโน้มน้าวใจเขาได้เลย
สำหรับผู้ที่สนใจในเบื้องต้น
ติดตามไปสักพัก ก็เริ่มเห็นว่าเทวดาหนุ่มและตัวละครอื่น ๆ ค่อย ๆ
น่าเบื่อขึ้นทีละน้อย เพราะมีอยู่แต่มิติเดียว
นอกจากนี้แล้ว
เทวดาในเรื่อง ล้วนไม่น่าเชื่อถือ
อ่านอย่างไรก็เชื่อไม่ได้ว่าเป็นเทวดาที่เดินเหินบนโลกมาเป็นร้อย ๆ ปี
อ่านเรื่องนี้ให้สนุก
จึงต้องจับตาดูอยู่แต่เรื่องความคิด
ความคิดในเรื่อง
มีเรื่องสองเรื่องมีบทบาทสำคัญ หนึ่งคือ เรื่อง “จอห์นนี่ไปรบ”
ของดอลตัน ทรัมโบ สอง เรื่องราวของ “มาเรีย
เปเดนโค”
เปรียบเทียบกับประเด็นความคิดหลักที่ว่า
“มนุษย์ควรทำสงครามเพื่อความเจริญก้าวหน้าหรือไม่” เรื่องอ้างอิงทั้งสองน้อยเกินไป
เบาเกินไป
ส่วนตัวรายละเอียดทางความคิดที่เกิดขึ้นในเรื่องอันนอกเหนือไปจากเรื่องอ้างอิง
ก็ยังน้อยเกินไป เบาเกินไป และเลื่อนลอยเกินไป
เรื่องเกี่ยวกับสงครามหลัก
ๆ ที่บรรจุข้อเท็จจริง ข้อถกเถียงของมนุษย์เกี่ยวแก่สงครามอีกมากมายมหาศาล
ไม่ได้ถูกรวบรวมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นสงครามนโปเลียน สงครามและสันติภาพ ของ ตอลสตอย
สงครามในแง่มุมแบบด็อกเตอร์ชิวาโก และสงครามในแง่มุมแบบ อิงลิช แพเชียน สงครามศาสนา สงครามครูเสด สงครามก่อการร้าย
และสงครามกองโจร สงครามในแง่มุมของตะวันตก สงครามในแง่มุมของตะวันออก
สงครามในแง่มุมของสามก๊ก สงครามในแง่มุมของจิ๋นซีฮ่องเต้ สงครามในแง่มุมของบูชิโด
สงครามในแง่มุมของพระเจ้าตากสินมหาราช ข้อเท็จจริงมากมายมหาศาล
ความจริงและแง่มุมเกี่ยวแก่สงครามมากมายมหาศาล
ประสบการณ์เกี่ยวแก่สงครามมากมายมหาศาล ถูกขว้างทิ้ง เพิกเฉย เหมือนไม่เคยดำรงอยู่
ถ้าหากนี่คือความจงใจของผู้เขียน
ก็นับเป็นความจงใจที่แทบสูญเปล่า เพราะประเด็นความคิดที่ตั้งเอาไว้ กว้างใหญ่มาก
กว้างใหญ่จนเกินไป กว้างใหญ่ราวกับผิวทะเลทั้งหมดบนโลก
การหยิบปลาจะระเม็ดกับเต่าทะเลมาศึกษาถกเถียงเพียงสองตัว
เพื่ออธิบายระบบนิเวศวิทยาของทะเลทั้งหมด เป็นการพยายามที่สูญเปล่าและเบาโหวง
ประสบการณ์สงครามของมนุษย์นั้นกว้างใหญ่ไพศาล เท่าที่ข้าพเจ้าเห็นมา
การรวบรวมประสบการณ์อันกว้างใหญ่ไพศาล
กระทำได้ภายใต้โครงสร้างเดียวคือโครงสร้างอย่างมหากาพย์
และสำหรับวรรณกรรมภายใต้โครงสร้างอย่างมหากาพย์ ที่กล่าวถึงประสบการณ์สงครามแล้ว เท่าที่ประสบพบมา
มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่โดดเด่นเป็นสง่า คือเรื่อง The
Lord of the Rings ในเรื่อง
The Lord of the Rings นี้ แม้ไม่มีเทวดา แต่ก็มีเอลฟ์
และเอลฟ์ก็เดินเหินบนโลกมาหลายร้อยปี ตัวละครหลักหลายตัวในเรื่อง The Lord
of the Rings ก็เดินเหินบนโลกมาหลายร้อยปี ตัวละครเหล่านั้น
ล้วนติดตรึง เข้มข้น มีเสน่ห์ และน่าเชื่อถือที่สุด
นางเอกของเรื่องก็เดินเหินบนโลกมา 600 ปี (ถ้าจำไม่ผิด) นางเอกของเรื่อง
น่าเชื่อถือ น่าประทับใจ และติดตรึงใจที่สุด โทลเคียน ทำได้อย่างไร
สิ่งใดที่โทลเคียนทำ สิ่งใดที่โทลเคียนไม่ทำ ใครที่เห็นว่า The Lord of the
Rings เป็นเรื่องเด็กเล่น ต้องเบิกตาดูให้ดี
ต้องทุบฝาโรงตัวเองออกมาดูให้ได้
น่าเสียดายคนหลายคนหลงนึกว่ามหากาพย์เรื่องนี้เป็นเรื่องเด็กเล่น
ทั้งที่มันคือชิ้นงานวรรณกรรมที่หมดจดงดงามที่สุดเรื่องหนึ่ง
ชิ้นเอกที่สุดเรื่องหนึ่ง และไม่สามารถเขียนโดยใครก็ได้
หากแต่ต้องเป็นนักประวัติศาสตร์ชั้นยอดและนักนิรุกติศาสตร์ชั้นเยี่ยม
ต้องมีทั้งสองคุณสมบัติ จึงจะเขียนได้
ถ้าจะมีนักเขียนไทยคนใดจะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ โทลเคียน ผู้เขียน The
Lord of the Ring ก็เห็นจะมีแต่ จิตร ภูมิศักดิ์เพียงคนเดียว
น่าเสียดาย… น่าเสียดาย… จิตร
ภูมิศักดิ์ไม่อยู่เสียแล้ว
วรรณกรรมเล่มนี้มีความทะเยอทะยานอันน่าประทับใจ
มีท่วงทีทางความคิดอันน่าประทับใจ และมีความมุ่งมั่นอันน่าประทับใจยิ่ง
แต่ทั้งหมดนี้ได้ล้มเหลวลง เพียงเพราะโครงสร้างใหญ่โตเกินไป
ใหญ่โตเกินกว่าตรรกะของเรื่องจะรับไหว
ข้อสังเกตสุดท้าย
ภาษาสนทนาในเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องนี้ เป็นภาษาในอดีต
เป็นท่วงทีของภาษาที่เกิดจากการอ่าน ไม่ใช่ภาษาที่คนใช้พูดจริง ๆ โดยเฉพาะคนไทย
และโดยเฉพาะการเจรจาพาทีของตัวละครชื่อ วิไล
การใช้ภาษาผิดธรรมชาติ
ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ ภาษาผิดธรรมชาติเหล่านี้ หลายบทหลายตอนว่างเปล่า
มีเพื่อจะดำเนินเรื่องไปข้างหน้าเท่านั้น
จึงยิ่งทำให้ความผิดธรรมชาติของมันชวนให้อึดอัดรำคาญ
หากบทสนทนานำไปสู่สิ่งที่น่าสนใจ ต่อให้ผิดธรรมชาติ ก็ยังเป็นสิ่งน่าติดตาม
ถึงอย่างนั้น
คุณสงคราม ก็ต้องนับเป็นชิ้นงานสำคัญชิ้นหนึ่งของวรรณกรรมร่วมสมัย
เพราะความเอาจริงเอาจังอย่างยิ่งของผู้เขียน
เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างยิ่งของผู้เขียน
เพราะความทะเยอทะยานอย่างยิ่งของผู้เขียน ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว
วรรณกรรมเล่มนี้คือชิ้นงานที่คนวรรณกรรมร่วมสมัยต้องศึกษา!
พิมพ์ครั้งแรก วารสารหนังสือใต้ดิน
Comments
Post a Comment