จดหมายเปิดผนึกถึง นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา



วันที่ 25 มกราคม 2556

หลังจากที่ได้มีการอ่านคำพิพากษาคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข คุณทวีได้แสดงความคิดเห็นสองครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มกราคม มีความบางตอนตามการรายงานของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ดังนี้

ส่วนที่ต่างประเทศจะมองว่าที่ต่างประเทศไม่มีกฎหมายลักษณะเเบบนี้เลย ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสภาพขนบธรรมเนียมของ เเต่ละประเทศย่อมต่างกัน เช่น มาเลเซีย ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับเพศซึ่งประเทศเราไม่มี การที่จะมองหรือวิจารณ์องค์กรตุลาการสามารถกระทำได้เเต่ต้องเป็นไปอย่างสุจริต อย่ามีอคติ เป็นการเเสดงความเห็นทางวิชาการ ศาลก็จะไม่ถือความ เเต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง มีอคติโจมตีสถาบันตุลาการอย่างไม่เป็นธรรม ศาลก็จะออกหมายเรียกมาไต่สวนเพราะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเเต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจอีกทีว่าจะดำเนินการขั้นไหน ตอนนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลทางเวบไซต์อยู่ในเรื่องนี้

สำหรับที่มีการนำไปเทียบกับคดีของ นายยศวริศ ชูกล่อมหรือเจ๋ง ดอกจิก นั้นทั้งเรื่องการตัดสินเเละการให้ประกันตัวนั้นต้องบอกว่าไม่เหมือนกันเพราะการปราศรัยของเจ๋ง ดอกจิกนั้นมีความกระทบกระเทือนน้อยกว่าของนายสมยศซึ่ง รายละเอียดในสำนวนนำมาพูดไม่ได้ เพราะมาตรา112 ถือว่าเป็นมาตราที่สำคัญมีผลกระทบความมั่นคง เป็นมาตราที่ประชาชนละเมิดไม่ได้ ศาลจะพิจารณาอย่างรอบคอบ ความหนักเบา ของพฤติการณ์ เเละปล่อยชั่วคราวไปเเล้วจะมีการหลบหนีหรือไม่อย่างของ นายยศวริศ มีคดีที่ร้ายเเรงกว่าอย่างก่อการร้ายเเละได้รับการประกันตัว ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เเม้จะเป็นข้อหาเดียวกัน เเต่ของนายสมยศ เท่าที่ทราบมีการจับกุมได้บริเวณชายเเดนไทย -  กัมพูชา กำลังเตรียมออกนอกประเทศเเละระหว่างคุมขังเจ้าพนักงานสอบสวนก็คัดค้านการประกันตัวมาตลอด มูลเหตุในการพิจารณาจึงต้องเเตกต่างกันออกไป ทั้งนี้กรณีของนายสมยศไม่เพียงเเต่ศาลอาญาไม่ให้ประกันเท่านั้น มีการร้องขอไปศาลอุทธรณ์ที่สูงขึ้นไปอีก ก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันเช่นเดียวกับชั้นต้น เเต่จำเลยก็สามารถยื่นไปศาลที่สูงยิ่งขึ้นกว่าอีกได้เป็นสิทธิของจำเลย

"ในเรื่องนี้ ก็มีการพูด เเละวิจารณ์ ศาลเพียงด้านเดียว ว่าป่าเถื่อน ตัดสินมากเกินไป การที่ศาลไทยตัดสินลงโทษจำคุกนายสมยศ กระทงละ  5 ปีนั้น รวม 2 กระทงถือว่าเหมาะสมแล้ว เพราะอยู่ระหว่างกลางระหว่างอัตราโทษต่ำสุดของมตราคือ 3 ปี และสูงสุดคือ 15 ปี  ศาลตัดสินตามตัวบทบัญญัติกฎหมายที่มีในประเทศ" นายทวีกล่าว ตอนท้าย..

http://www.dailynews.co.th/crime/180391

ขอถามว่า ที่กล่าวว่า ส่วนที่ต่างประเทศมองว่าที่ต่างประเทศไม่มีกฎหมายลักษณะแบบนี้เลย ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสภาพขนบธรรมเนียมของ แต่ละประเทศย่อมต่างกันและกล่าวอีกในตอนท้ายว่า ศาลไทยตัดสินลงโทษจำคุกนายสมยศกระทงละ 5 ปี นั้นรวม 2 กระทงถือว่าเหมาะสมแล้ว..  นี้

ศาลได้คำนึงถึงความได้สัดส่วนระหว่างโทษและการกระทำผิดหรือไม่?  หรือเพียงแต่มองว่า กฎหมายระบุโทษสูงสุดเท่านี้ ๆ  ตัดสินเท่านี้ ๆ ก็ถือว่าไม่มาก โดยไม่ใช้สามัญสำนึกตรองดูเลยว่า สัดส่วนของการกระทำซึ่งเป็นการตีพิมพ์บทความสองชิ้นที่ตนไม่ได้เขียน กับโทษจำคุก 10 ปีนั้น โดยสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่มีมนุษยธรรมทั่วไปนั้น เห็นว่ามากไปหรือไม่

และที่กล่าวว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ศาลก็จะไม่ถือความ...  นี้

หมายความว่า ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์ ไม่สามารถแสดงความเห็นทางวิชาการ ก็ไม่สมควรวิพากษ์วิจารณ์ใช่หรือไม่?

มีแต่นักวิชาการเท่านั้นจึงมีสิทธิ์วิจารณ์ได้ ประชาชนชาวบ้านทั่วไปอย่าวิจารณ์เพราะถ้าวิจารณ์ผิดศาลก็จะใช้อำนาจดำเนินการใช่ไหม?

ขอถามต่อว่า นี่เป็นคำขู่ประชาชนที่วิจารณ์และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาใช่ไหม?

ตกลงจะให้ประชาชนเข้าใจว่าศาลไทยวิจารณ์หรือแสดงความเห็นที่ไม่เป็นวิชาการไม่ได้ใช่ไหมหากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา?  จากคำถามก่อนหน้าจึงขอถามว่า ศาลไทยนี้เป็นสถาบันอิสระที่มีอำนาจเหนือประชาชนแตะต้องไม่ได้ใช่ไหม?

และที่กล่าวว่า แต่ของนายสมยศ มีการจับกุมได้บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา กำลังเตรียมออกนอกประเทศ..ทราบจากอะไร?

ในเมื่อ ข้อเท็จจริงคือ นายสมยศถูกจับที่ ด่านตรวจคนเข้าเมือง อรัญประเทศ ซึ่งก็คือถูกจับระหว่างกำลังเดินทาง เข้าประเทศ ไม่ใช่ เตรียมออกนอกประเทศ

และปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า นายสมยศเดินทางเข้าออกประเทศไทยและกัมพูชาเป็นปรกติ เพราะมีธุรกิจเกี่ยวข้องอยู่ที่กัมพูชา และตามคำแถลงปิดคดีของจำเลย ก็ระบุสอดคล้องกันว่า นอกจากทำทัวร์เที่ยวประเทศกัมพูชาแล้ว นายสมยศยังต้องนำหนังสือไปพิมพ์ที่ประเทศกัมพูชา สอดคล้องกับพฤติการณ์เข้าออกประเทศไทยและกัมพูชาเป็นปรกติ

ในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ข้ออ้างในเรื่องการหลบหนีจะมีมูลเหตุจากอะไร? 

แล้วเหตุใดคุณทวีจึงได้รับทราบข้อมูลที่ผิดข้อเท็จจริง และให้สัมภาษณ์ไปในทางกล่าวหาจำเลยอย่างไม่เป็นธรรมดังนี้?

หรือจะให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นเพียงคำให้สัมภาษณ์ผัดผ่อนภาระให้พ้นตัว สักแต่ว่าอธิบายไปเช่นนั้น? และขอถามต่อว่า ในเมื่อแม้แต่ผู้ต้องหาฆ่าคนตายยังได้รับการประกันตัว เหตุใดนายสมยศซึ่งเพียงแต่พิมพ์บทความสองชิ้นที่ตนไม่ได้เขียน จึงถูกปฏิเสธการประกันตัวมาตลอด? 

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็มักไม่ให้ประกันตัวเป็นส่วนใหญ่ใช่หรือไม่ เมื่อครั้งกรณีนายอำพล หรือที่รู้จักกันว่าอากง ก็ปฏิเสธการประกันตัวจนนายอำพลต้องเสียชีวิตในเรือนจำใช่หรือไม่   ในเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏเป็นเช่นนี้ จะให้ประชาชนมองศาลไทยอย่างไร นอกจากท่าทีที่ไม่มเคารพสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดี/ผู้ถูกกล่าวหา ในคดีอันเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 มาโดยส่วนใหญ่?

และต่อมาคุณทวีได้ให้สัมภาษณ์ต่อมาในวันที่ 25 มกราคม ตามการรายงานของเว็บไซต์มติชนออนไลน์ว่า

"เเต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือคนบางกลุ่มมีการปลุกระดมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโดยการดึงต่างประเทศ เช่นสหภาพยุโรป(อียู)เข้ามา ซึ่งก็ไม่เเน่ใจว่าทางต่างประเทศจะมีความเข้าใจในวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมของประเทศไทยหรือไม่เเต่ที่ตนเชื่อว่าจะไม่บานปลายเพราะกระบวนการยุติธรรมเรามีบทบัญญัติชัดเจนเเละตรวจสอบได้" อธิบดีศาลอาญาระบุ

จึงขอถามว่าที่กล่าวว่า น่าเป็นห่วงก็คือคนบางกลุ่มมีการปลุกระดมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโดยการดึงต่างประเทศ..นี้หมายความว่าอย่างไร?

หมายความว่า ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะต้องเป็นการปลุกระดมใช่หรือไม่?

และส่วนที่กล่าวอ้างถึงต่างประเทศทั้งสองครั้ง ขอถามว่า คุณทวีได้อ่านคำแถลงการณ์ของสหภาพยุโรปหรือไม่?

คำแถลงดังกล่าวมีใจความเพียงสั้นดังที่ปรากฏในข่าวทั่วไปดังนี้

กรุงเทพฯ วันที่ 23 ม.ค. 2556สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยและคณะเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยมีมติร่วมกันออกแถลงการณ์ดังต่อไปนี้

"คณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ มีความเป็นห่วงต่อคำพิพากษาของศาลในการตัดสินจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลา 10 ปี โดยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

คำพิพากษาดังกล่าว มีผลอย่างมากต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน ในขณะเดียวกันคำตัดสินดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นสังคมแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย ทางสหภาพยุโรปขอเรียกร้องให้ทางการไทยกำหนดข้อจำกัดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วยมาตรการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการรักษาไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนสากล" [1]

จะเห็นได้ว่า ประเด็นสำคัญของคำแถลงคือ คำพิพากษาดังกล่าว มีผลอย่างมากต่อสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยทั่วไป และมีประชาชนไทยเป็นจำนวนมากรู้สึกเช่นเดียวกับคำแถลงนี้ คือรู้สึกว่าตนกำลังถูกคุกคามสิทธิ เสรีภาพ ด้วยคำพิพากษาดังกล่าว

มาบัดนี้คุณทวีนอกจากไม่สามารถตอบคำถามเรื่องการคุกคามเสรีภาพได้แล้ว ยังแสดงคำพูดที่อาจทำให้เข้าใจไปได้อีกว่า ห้ามวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสิน (ถ้าไม่เป็นวิชาการ) และการวิพากษ์วิจารณ์คือการปลุกระดม

จึงขอแสดงความเศร้าใจและเสียใจมายังประชาชนคนไทยทั้งสังคม ที่มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเช่นนี้

รวี สิริอิสสระนันท์
(วาด รวี)
บรรณาธิการวารสารหนังสือใต้ดิน

[1]
STATEMENT OF THE EUROPEAN UNION
ON THE SENTENCING OF MR SOMYOT PRUKSAKASEMSUK

Bangkok, 23 January 2013– The European Union Delegation issues the following statement in agreement with the EU Heads of Mission in Thailand:

The EU Delegation to Thailand is deeply concerned by the court's decision to sentence Mr. Somyot Pruksakasemsuk for 10 years imprisonment for violating the Article 112 of the Criminal Code.

The verdict seriously undermines the right to freedom of expression and press freedom. At the same time, it affects Thailand’s image as a free and democratic society. The EU urges the Thai authorities to ensure that any limitation of fundamental rights is applied in a proportional manner consistent with upholding universal human rights.



Comments