จับประเด็นภูเขาน้ำแข็งเรื่องการเปลี่ยนรัชกาล
หมายเหตุ -
บทความชิ้นนี้เป็นการวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นถกเถียงที่มีการพูดคุยกันในรายการตอบโจทย์เมื่อวันที่
14 ธันวาคม ที่ผ่านมา
และเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมไทยโดยทั่วไปตลอดช่วงวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมา
เพียงแต่ยังไม่มีใครนำมาประมวลเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ
ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะทำในบทความชิ้นนี้เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะในการทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจปัญหาสังคมการเมืองไทยที่ยืดเยื้อรุนแรงมาเป็นเวลากว่า
5 ปีแล้ว
บทความชิ้นนี้เป็นการวิเคราะห์และเสนอความเห็นของผู้เขียน
จากการติดตามการเมืองมาในระยะ 3 – 4 ปีที่ผ่านมา
ความเห็นในบทความที่อ้างถึงคำพูดในรายการ มีการตีความของผู้เขียนประกอบ โดยพิธีกร
และผู้ร่วมรายการอาจจะไม่จำเป็นต้องคิดเห็นในลักษณะเดียวกับที่ผู้เขียนตีความ
การกดไลค์บทความชิ้นนี้
ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้กดมีความสนใจในประเด็นพูดคุย
และมีความเป็นห่วงต่อปัญหาสังคมการเมืองไทย มีความปรารถนาจะคิดหาทางออก
ทำความเข้าใจ โดยมุ่งหวังให้สังคมไทยเดินออกจากความขัดแย้งได้โดยสันติ โดยผู้กดไลค์ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของผู้เขียน
การคอมเมนต์ท้ายบทความชิ้นนี้
ให้กระทำในกรอบของการใช้เหตุผล วิชาการ และไม่หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายบุคคลใด ๆ
ทั้งสิ้น หากพบข้อความหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายบุคคลใด
หรือมีข้อความที่อาจผิดกฎหมาย ผู้เขียนจะลบข้อความนั้นทิ้งทันที
พนัส ทัศนียานนท์
: ภูเขาน้ำแข็ง
หนึ่งก็คือความกลัวที่ผมพูดไว้แล้ว สองก็คือความรู้สึกว่ามันไม่มีความยุติธรรม
บ้านนี้เมืองนี้ ซึ่งนับวันมันยิ่งจะมากขึ้นไปเรื่อย ๆ นะครับ
ถ้าถอดชนวนของสองสิ่งนี้ออกไม่ได้นะครับ ผมก็เป็นห่วงนะครับ
ในอนาคตอันไม่ไกลนี่นะครับ
อาจจะเกิดปัญหาอะไรที่มันรุนแรงยิ่งขึ้นไปกว่าเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ภิญโญ
ไตรสุริยธรรมา: อาจารย์นิธิครับ เราอยู่ในรัฐนาวาไททานิค
ทำอย่างไรไม่ให้ไททานิคพุ่งเข้าไปชนภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งก็รู้ ๆ กันอยู่
เห็นก็เห็นกันอยู่ ว่ารอเราอยู่เบื้องหน้า
คำถามดังกล่าวของภิญโญ
ไตรสุริยธรรมาในรายการตอบโจทย์กรณีอากง ตอนที่ 3 คืนวันพุธที่ 14 ธันวาคม
2554
ดังที่ยกมาข้างต้นนี้เป็นการเปรียบเปรยของภิญโญที่ผู้ร่วมรายการทั้ง 3 คน
ต่างเข้าใจเป็นอย่างดี สังเกตได้จากการที่ไม่มีใครสงสัยหรือถามกลับหรือถกเถียงเลยว่า
ที่ว่า “ก็รู้ ๆ กันอยู่
เห็นก็เห็นกันอยู่” นี้คืออะไร
คำว่า “ภูเขาน้ำแข็ง” นี้ยังมีนัยยะต่อเนื่องจาก
“ความเป็นห่วง” ของพนัศ
ทัศนียานนท์ ซึ่งกล่าวว่า “ในอนาคตอันไม่ไกล
อาจจะเกิดปัญหาอะไรที่มันรุนแรงยิ่งขึ้นไปกว่าเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้”
“ความเป็นห่วง” ที่มีต่อ “ภูเขาน้ำแข็ง” ในความเปรียบนี้
ย่อมหมายถึงภาวะคับขันยากลำบากอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรออยู่เบื้องหน้า
และทุกคนทราบเป็นอย่างดีว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เมื่อพิจารณาบริบทของการพูดคุยของบุคคลทั้ง 4
ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 สถาบันกษัตริย์ และปัญหาในสังคมการเมืองไทย ณ
เวลานี้ ข้าพเจ้าตีความคำว่า “ภูเขาน้ำแข็ง” นี้ว่าหมายถึง
การเปลี่ยนรัชกาล
ในภาวะที่สังคมการเมืองแตกแยกเป็นฝักฝ่าย
ความขัดแย้งหยั่งรากลึก ทั้งในหน่วยราชการและเอกชน ทั้งในชุมชนและครัวเรือน
ท่ามกลางความไร้เสถียรภาพของสังคมการเมืองดังกล่าว
กลับเกิดปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งคู่ขัดแย้งหลัก ๆ ในเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่างล้วนแสดงออกอย่างสอดพ้องไปในทิศทางเดียวกัน
ก็คือการย้ำ-การพยายามแสดง และประกาศความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ขณะเดียวกันในท่ามกลางการแสดงออกไปในทิศทางเดียวกันของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกันนี้
ก็มีการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเข้มงวด รุนแรง และไร้เหตุผลขึ้นเรื่อย
ๆ ไม่ว่าฝ่ายใดจะขึ้นเป็นรัฐบาล
การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา
112 ในลักษณะดังกล่าว
เกิดขึ้นท่ามกลางการสนับสนุนของกลุ่มคนที่กล่าวอ้างความจงรักภักดี
และแสดงความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าไม่มีความจงรักภักดี
ตลอดจนมีการแสดงออกถึงความหวั่นเกรงว่าจะมีผู้ล้มราชบัลลังก์
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการใช้กฎหมายอาญามาตรา
112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อข่มขู่ คกคาม กดปราบ
และดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง
กรณีการร้องทุกข์กล่าวโทษจนกระทั่งมีการดำเนินคดีต่อนายสุรพศ
ทวีศักดิ์ ผู้ซึ่งอภิปรายความเห็นในกระทู้ท้ายบทความ “จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร?” ที่เว็บไซต์ประชาไท โดยมีนายวิพุธ
สุขประเสริฐ ผู้นิยมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งใช้นามแฝงว่า I-Pad เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
เป็นตัวอย่างล่าสุดที่สะท้อนถึงการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112
ในการเล่นงานผู้ที่แสดงทัศนะแตกต่างกันทางการเมืองในกรอบของเหตุผล
เป็นกรณีที่เกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างเหตุการณ์วิกฤตการเมืองที่ผ่านมา
ในอีกทางหนึ่ง
การกล่าวอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนจำนวนหนึ่ง
กลับสามารถกระทำได้อย่างเปิดเผย โจ่งแจ้ง
แม้ว่าการเคลื่อนไหวนั้นจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
กรณีทางการเมืองที่พัวพันถึงสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์สังคม-การเมืองไทย เฉพาะวิกฤตการเมืองรอบนี้
การพยายามบิดเบือนสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์เปิดฉากขึ้นครั้งแรกด้วยการพยายามเรียกร้องนายกรัฐมนตรีพระราชทาน
โดยการอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนการรัฐประหาร กันยายน
2549
แม้การกระทำดังกล่าวอาจจะมีความผิดร้ายแรงฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ
เพราะโดยรัฐธรรมนูญนั้น
บัญญัติให้กษัตริย์สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐสภาเท่านั้น
และแม้ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระราชดำรัสแสดงความเห็นต่อความเคลื่อนไหวเรียกร้องดังกล่าวว่า
“มั่ว” ก็ยังมีความพยายามที่จะเรียกร้องในทำนองเดียวกันในเวลาต่อมา
ไม่ว่าจะเป็น นายกฯ พระราชทาน, รัฐบาลพระราชทาน ฯลฯ
หรือแม้แต่เรียกร้องการรัฐประหาร
ซึ่งล้วนเป็นข้อเรียกร้องที่มีลักษณะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขทั้งสิ้น
และมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีผู้แสดงออกอย่างเปิดเผยได้โดยไม่มีความผิด
ความพัวพันระหว่างสถาบันกษัตริย์และปัญหาการเมืองเริ่มมีความซับซ้อนและลึกซึ้งขึ้น
เมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวอ้าง พระราชินีและพระมหากษัตริย์
ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย ตั้งแต่ ปิดล้อมและเข้ายึดพื้นที่ภายในทำเนียบรัฐบาล
กลุ่มนักรบศรีวิชัยเข้าบุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT แกนนำและผู้ชุมนุมเข้ายึดพื้นที่ในสนามบินดอนเมือง
และเข้าชุมนุมอยู่ในทั้งหน้าและในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ
ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นตัวอย่างของการพยายามใช้ความนิยมต่อสถาบันกษัตริย์ของประชาชนมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
แต่ความยากลำบากในการตัดสินกลุ่มพันธมิตรฯ
ดังกล่าวข้างต้น ก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ กลุ่มพันธมิตรฯ
เองก็ได้พยายามแสดงออกหลายครั้งว่า พวกตนกระทำไปตามความมุ่งหมายของสถาบันกษัตริย์
ไม่ว่าจะเป็นการนำผ้าพันคอสีฟ้าซึ่งกล่าวอ้างว่าได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ ขึ้นมาแสดงบนเวทีปราศรัยในที่ชุมนุม
หรือผูกผ้าดังกล่าวไว้ที่คอระหว่างการแถลงข่าว
นำเทปพระสุรเสียงของสมเด็จนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถขึ้นเปิดบนเวที
ตลอดจนกล่าวอ้างว่าได้รับเงินบริจาคจากบุคคลใกล้ชิดของพระองค์
หากเหตุการณ์เป็นการกล่าวอ้างเพียงฝ่ายเดียวของกลุ่มพันธมิตรฯ
ก็ยังไม่ยากลำบากในการวิเคราะห์ แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าว
เกิดขึ้นควบคู่กับการที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถได้ทรงแสดงสิ่งที่อาจจะทำให้สังคมคล้อยตามคำอ้างของกลุ่มพันธมิตร
เช่น การรับผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ 7 ตุลา เข้าเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์
โดยคืนวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นางสาวอัญชลี ไพรีรักษ์ ได้ประกาศบนเวทีปราศรัยว่า
ขณะนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งแสนบาท
เป็นค่ารักษาพร้อมรับผู้บาดเจ็บเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และวันต่อมา
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิรพยาบาลเปิดเผยว่า ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ
รองราชเลขานุการสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โทรศัพท์มาสอบถามสถานการณ์
พร้อมแจ้งว่า สมเด็จฯ ทรงห่วงใยพสกนิกรทุกคน ทรงสอบถามถึงผู้บาดเจ็บ
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับผู้บาดเจ็บไว้ในพระอุปถัมภ์ทั้งหมด
พร้อมกำชับให้ดูแลเป็นอย่างดี อีกทั้งพระราชทานเงินจำนวนหนึ่งแสนบาท
เป็นค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้น ซึ่งสอดรับกับคำกล่าวอ้างของนางสาวอัญชลี
ต่อมานายสนธิ
ลิ้มทองกุล ยังประกาศบนเวทีว่า ตนและพวกเป็นทหารเสือพระราชา
และกล่าวอ้างการพระราชทานเงินดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์กำลังสนับสนุนพวกตน
แม้ต่อมาจะมีการพระราชทานเงินช่วยเหลือตำรวจที่เข้าสลายการชุมนุม
ซึ่งเป็นคู่กรณีของกลุ่มพันธมิตรโดยตรงในการปะทะ ที่อาจแสดงให้เห็นว่าเป็นการช่วยเหลือโดยเท่าเทียม
ก็ไม่ได้ทำให้น้ำหนักคำกล่าวอ้างของนางสาวอัญชลี และนายสนธิ น้อยลงไป
โดยเฉพาะต่อมาเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ
พระราชทานเพลิงศพนางสางอังคนา ระดับปัญญาวุฒิ ผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตในเหตุการณ์
จากทำนองของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว
จึงไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า
ในบรรดาประชาชนนับแสนคนที่สวมเสื้อแดงออกมาชุมนุมที่ราชมังคลากีฬาสถานเพื่อแสดงการคัดค้านกลุ่มพันธมิตรฯ
ในเดือนถัดมานั้น มีกี่คนที่จะเข้าใจว่า พระราชินี และสถาบันกษัตริย์
กำลังสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ อยู่จริง ๆ ตามคำอ้างและการแสดงให้รู้โดยสัญลักษณ์ของแกนนำพันธมิตรฯ
สิ่งที่ยากลำบากยิ่งไปกว่าก็คือ
ภายใต้การนำกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
เราไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้เลยว่า คำกล่าวอ้างของกลุ่มพันธมิตรฯ
เป็นความจริงหรือไม่อย่างไร และความเชื่อดังกล่าวมีบทบาทอย่างไรแค่ไหนในการทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ
และแนวร่วม สามารถยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสถานีโทรทัศน์NBT ยึดสนามบินดอนเมือง และยึดสนามบินสุวรรณภูมิ
ได้โดยเจ้าหน้าที่ไม่อาจขัดขวาง
ทั้งนี้
ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว มีเพียงบทสัมภาษณ์ของสมเด็จฯ พระเทพรัตนราชสุดาฯ
ที่ตอบนักข่าวต่างประเทศที่ถามว่าทรงเห็นด้วยหรือไม่ที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ
กล่าวว่าพวกเขาทำเพื่อสถาบันกษัตริย์ ว่า “ไม่คิดเช่นนั้น” และทรงกล่าวต่อว่า
“พวกเขาทำเพื่อตัวเอง” ซึ่งรายงานในหนังสือพิมพ์ข่าวสด
โดยการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของสมเด็จฯ พระเทพฯ ดังกล่าว
สร้างความโกรธแค้นให้กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นอย่างมาก
จนถึงกับขู่จะปิดล้อมสำนักงานของเครือมติชน
และขู่จะห้ามไม่ให้ร้านหนังสือวางขายหนังสือพิมพ์ของเครือมติชน นอกจากนั้นแล้ว ไม่มีการปฏิเสธอย่างเป็นทางการจากสำนักราชวังแต่อย่างใด
ดังนั้น
เหตุการณ์เหล่านี้ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาสู่ความรุนแรงในเดือนเมษายน 2552 และเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553
จึงทำให้สถาบันกษัตริย์ถลำลึกลงสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ยิ่งเมื่อระหว่างเหตุการณ์รุนแรง
ทหารหน่วยที่เรียกว่า “ทหารเสือราชินี” เข้ามาปฏิบัติการเป็นกำลังหลักในการปราบคนเสื้อแดงที่สามเหลี่ยมดินแดงในปี
2552 มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 10 เมษายน
2553
และในเหตุการณ์ล้อมปราบเดือนถัดมาที่สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีการสังหารผู้ชุมนุมหน้าวัดปทุมวนารามอย่างโหดเหี้ยม
ในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ไทย
ราชวงศ์จักรีเริ่มต้นสถาปนาขึ้นด้วยการถอดพระเจ้าตากสินออกจากการเป็นกษัตริย์
ด้วยข้อกล่าวหาว่าสัญญาวิปลาส
ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชั้นนำจำนวนมากเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีความซับซ้อนกว่าเพียงกรณีสัญญาวิปลาส
และอาจมีการวางแผนรัฐประหารมาเป็นอย่างดี
เมื่อราชวงศ์จักรีขึ้นครองอำนาจ
ในการเปลี่ยนผ่านรัชกาลหลายครั้ง ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น เช่น
เมื่อครั้งเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่ 2 สู่รัชกาลที่ 3 ก็เต็มไปด้วยเสียงเล่าลือ
หรือที่เรียกกันในหมู่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ว่า “พงศาวดารกระซิบ” กล่าวกันว่ารัชกาลที่
2 ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยการวางยาพิษ
รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์
ในขณะที่ผู้มีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลขณะนั้นคือเจ้าฟ้ามงกุฎ
ซึ่งต้องทรงผนวชอยู่ตลอดรัชสมัยของพระองค์
และเมื่อถึงช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่ 3 มาสู่รัชกาลที่ 4 ก็มีปัญหาความไม่เป็นเอกฉันท์ในหมู่เสนาอำมาตย์ว่าใครควรขึ้นครองราชย์ระหว่างเจ้าฟ้ามงกุฎและเจ้าฟ้าจุฑามณี
จนในที่สุดก็ตกลงกันให้เจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าฟ้าจุฑามณีขึ้นเป็น “พระเจ้าอยู่หัวองค์ที่
2” เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
แม้หลังจากมีการปฏิรูปการปกครองเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อสยามเข้าสู่ช่วง
“สยามใหม่” และมีการตั้งตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร
การเปลี่ยนผ่านรัชกาลก็หาได้มีความราบรื่นไม่ จนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้วหลังปี
2475
และสถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่ในฐานะขององค์อธิปัตย์อีกต่อไป
แต่อยู่ในฐานะขององค์ประธานของระบอบประชาธิปไตย
แต่อำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของปวงชนชาวไทย
ซึ่งก็น่าจะทำให้การเปลี่ยนผ่านรัชกาลไม่ควรจะมีความยุ่งยากอีกต่อไป
เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ถือครองอำนาจทางการเมืองอย่างเช่นก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ที่อาจจะเป็นเหตุของการแย่งชิงอำนาจ แต่เหตุการณ์เสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 8
และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัชกาลที่ 9
กลับกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ทุกวันนี้ข้อเท็จจริงก็ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ในเวลานั้นประเด็นสถาบันกษัตริย์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเล่นงานผู้นำทางการเมืองคนสำคัญคือ
ปรีดี พนมยงค์ ให้ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
และส่งผลกระทบต่อการเมืองการปกครองไทยอย่างมีนัยสำคัญ
จนกระทั่งอำนาจการเมืองตกอยู่ไปอยู่ในมือของเผด็จการทหารในเวลาต่อมาเป็นช่วงเวลาหลายสิบปี
ปัจจุบัน
ในท่ามกลางความขัดแย้ง ไร้เสถียรภาพ ของสังคมการเมือง
จึงเป็นธรรมดาที่ผู้ที่มีความรู้และติดตามเหตุการณ์ทางการเมือง อย่างเช่น
แขกรับเชิญในรายการตอบโจทย์ทั้งสามท่าน
จะเล็งเห็นถึงภูเขาน้ำแข็งที่รอคอยสังคมไทยอยู่เบื้องหน้า
ภูเขาน้ำแข็งอันเป็นความคับขัน
ยากลำบาก และล่อแหลมของสังคมไทยที่รออยู่ก็คือ การเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่ 9
ไปสู่รัชกาลที่ 10 นั่นเอง
สำหรับผู้ที่มีจุดยืนสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น
ย่อมคาดหวังให้การเปลี่ยนผ่านรัชกาลเป็นไปโดยราบรื่น
แต่ทว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะที่สะท้อนออกมาในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา
ทำให้เห็นว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อย ทั้งบุคคลทั่วไป และที่เคลื่อนไหวเป็นขบวนการ
มีการแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดขั้วและเป็นการแสดงออกที่ทำให้เห็นลักษณะของการยึดติดกับตัวบุคคลอย่างคลั่งไคล้
คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
หากแต่ไม่สามารถที่จะมองเห็นมิติที่มิได้เป็นบุคคลของสถาบันพระมหากษัตริย์
มิติของสถาบันกษัตริย์ในฐานะของสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่ต้องสัมพันธ์กับหน่วยทางการเมืองอื่น
ๆ
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการเมืองและสัมพันธ์กับวิกฤตการเมืองในลักษณะที่ประหลาดคือ
ยิ่งวิกฤตการเมืองมีความรุนแรง และความขัดแย้งร้าวลึก กลับยิ่งมีการรณรงค์
จากทั้งหน่วยราชการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ปลุกระดม โน้มน้าว
ให้ประชาชนจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ในฐานะบุคคล เข้มข้นยิ่งขึ้น พร้อม ๆ
กับการกล่าวร้ายป้ายสีกันในเรื่องความจงรักภักดี และมีการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา
112 และกฎหมายอื่นอย่างเข้มงวดโหดร้ายขึ้น
ความเป็นไปทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันกันเสนอความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ในลักษณะของตัวบุคคล
เกิดขบวนการในลักษณะที่อานันท์ ปันยารชุน และกิตติศักดิ์ ปรกติ
ผู้ร่วมรายการตอบโจทย์เรียกว่า “ทำตัวเป็นราชายิ่งกว่าราชา” ซึ่งก็ยังเป็นที่สงสัยว่าในสายตาของอานันท์
และกิตติศักดิ์ นั้นหมายถึงใคร?
แนวโน้มซึ่งผลักและเร่งให้มีการบังคับความจงรักภักดีต่อตัวบุคคลอย่างไร้เหตุผลมากขึ้นเรื่อย
ๆ นี้ ไม่มีความตระหนักแม้แต่น้อยว่า
ยิ่งความรู้สึกต่อตัวบุคคลเข้มข้นมากขึ้นเท่าไร
ความสามารถในการทำความเข้าใจสถาบันกษัตริย์ในฐานะของสถาบันที่มีความสืบเนื่องจากบุคคลสู่บุคคล
และฐานะของสถาบันภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งต้องสัมพันธ์กับหน่วยทางการเมืองอื่น ๆ นั้น
ก็ยิ่งลดน้อยถอยลงเท่านั้น
เพราะความคลั่งไคล้ไหลหลงจนลืมเหตุลืมผลเหล่านั้น
แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะหยุดสถาบันกษัตริย์ไว้เพียงรัชกาลที่ 9 ไปชั่วกาล
ซึ่งแน่นอนว่าไม่อาจเป็นไปได้ในความเป็นจริง
ทว่าผู้ที่จงรักภักดีแบบยึดติดกับตัวบุคคลในลักษณะเหล่านั้น
ต่างล้วนไม่มีคำตอบ และหลีกเลี่ยงที่จะตอบอยู่ตลอดเวลาว่า
ถ้าไม่สามารถหยุดสถาบันกษัตริย์ หยุดกาลเวลา
ให้อยู่กับรัชกาลปัจจุบันไปชั่วกัลปาวสานแล้ว จะต้องทำอย่างไร
จึงเป็นผลดีกับสังคมไทย และตัวสถาบันกษัตริย์เอง อย่างที่สุด
ทั้งที่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยซึ่งสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
และมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
แต่ผู้คลั่งไคล้ไหลหลงต่อสถาบันกษัตริย์ในฐานะตัวบุคคลเหล่านั้น กลับปิดหูปิดตา
ไม่สนใจสถาบันกษัตริย์ในฐานะของสถาบัน และพร้อมที่จะละเมิดรัฐธรรมนูญ พร้อมที่จะลากดึงหรือยินยอมให้สถาบันกษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองเช่นผู้ที่ต้องการถวายคืนพระราชอำนาจ
หรือแม้แต่กลุ่มคลื่อนไหวปฏิบัติการทางการเมืองในนามของสถาบันกษัตริย์
ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของกลุ่มพันธมิตรฯ
กรณีของกลุ่มคนเสื้อน้ำเงิน
หรือกลุ่มอาสาปกป้องสถาบันกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มสำนักข่าวทีนิวส์
กลุ่มหมอตุลย์ และกลุ่มอื่น ๆ อีกมากมาย
ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่มีส่วนสั่นคลอนรากฐานของสถาบันกษัตริย์ในฐานะของสถาบันตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
หากไม่สามารถยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากไม่สามารถหยุดการล่าแม่มด
ไม่สามารถหยุดการแข่งกันแสดงความจงรักภักดีอย่างมืดบอด ไม่สามารถหันมามองสถาบันกษัตริย์ในฐานะสถาบันที่สัมพันธ์กับหน่วยทางการเมืองอื่น
ๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในกรอบของระบอบประชาธิปไตย
ไม่สามารถอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคมการเมือง
อย่างเปิดเผย โปร่งใส ภายใต้กรอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
และภายใต้การเคารพสิทธิ เสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นหน่วยอำนาจอธิปไตยได้ ภูเขาน้ำแข็งซึ่งรอคอยอยู่ข้างหน้าย่อมรอคอยที่จะกลายเป็นโศกนาฏกรรม
สิ่งที่ชวนขันขื่นอย่างยิ่งก็คือ
โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่นี้อาจจะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างเหลืองแดงหรือสีใด ๆ ด้วยซ้ำ
แต่กลับกลายเป็นการฆ่ากันเองในหมู่ผู้ที่อ้างความจงรักภักดีที่ยึดติดกับตัวบุคคลและไม่สามารถที่จะมองเห็นสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่สามารถจะดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างยั่งยืน
เมื่อเหล่าผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันในลักษณะบุคคลาธิษฐานกลายเป็นผู้ไม่มีความสามารถที่จะจงรักภักดีกับสถาบันกษัตริย์ในฐานะสถาบันในกรอบของรัฐธรรมนูญ
คนเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคของการดำรงอยู่ต่อไปของสถาบันกษัตริย์
Comments
Post a Comment