คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า






ชินเมน มุซาชิ หรือ มิยาโมโต มุซาชิ เป็นนักดาบที่มีชีวิตอยู่เมื่อสี่ร้อยปีก่อน

ประเทศญี่ปุ่นเวลานั้น นักดาบเป็นชนชั้นหนึ่งที่มีบทบาทอย่างสูง มีวัฒนธรรม และ "วิถีทาง" เฉพาะที่แน่นอน และถูกนับเป็นหนึ่งในเจ็ดอาชีพหลักของชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้น

ในอาชีพนักดาบด้วยกันยังแบ่งระดับชนชั้น ตั้งแต่ "โรนิน" (นักดาบเร่ร่อน) ไปจนถึง "ซามูไร" ที่มียศถาบรรดาศักดิ์  บรรดา "โชกุน" และ "ไดเมียว" ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง และอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของสังคมก็ถือว่าเป็นชนชั้นนักดาบด้วยเช่นกัน

แม้ว่าจะมีนักดาบหลายลักษณะ แต่ทั้งหมดนั้นจะยึดถือหลักการเดียวกัน ก็คือ "บูชิโด" ซึ่งก็แปลได้ว่า วิถีทางของผู้ชายนักรบ

ระดับของนักดาบที่ยึดถือในวิถีทางของบูชิโดนี้ นอกจากระดับภายนอกที่แบ่งได้จากยศถาบรรดาศักดิ์แล้ว ก็ยังมีระดับภายในอีก ระดับภายในนี้ยึดถือ การบรรลุความสูงสุดในวิถีของบูชิโดเป็นสำคัญ และสภาวะสูงสุดของบุชิโดนั้น เรียกกันว่า "ซาโตริ" ซึ่งเทียบได้กับสภาวะ "อรหันต์" สำหรับนักบวช

มุซาชิเริ่มประดาบครั้งแรกเมื่ออายุสิบสาม และผ่านการประลองยุทธมากกว่าหกสิบครั้งก่อนอายุสามสิบ มุซาชิพิชิตยอดฝีมือเจ้าสำนักดาบต่าง ๆ จนเป็นที่เลื่องลือ ช่วงก่อนอายุสามสิบจึงเป็นช่วงที่ชื่อเสียงของเขาขจรขจายในหมู่นักดาบ หลังจากนั้น เขาหายไปจากยุทธจักร ไม่มีใครรู้ชีวิตในช่วงสามสิบถึงห้าสิบปีของเขานัก มีแต่คัมภีร์เล่มหนึ่งที่เขาเขียนให้แก่ศิษย์ในสำนัก ที่ตกทอดต่อมา

จากคัมภีร์เล่มนี้ทำให้รู้ว่าเวลาในช่วงนั้นเขาได้ใช้ไปกับการใคร่ครวญวิถีชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด เขาได้เขียนไว้ในคัมภีร์ว่าเขาใช้ช่วงเวลาตั้งแต่ยี่สิบเก้าปี หลังจากผ่านการประลองยุทธนับครั้งไม่ถ้วน ฝึกฝนเพื่อค้นหาคำตอบว่าเหตุใดเขาจึงไม่เคยปราชัย จนกระทั่งอายุห้าสิบเขาจึงค้นพบบางสิ่งบางอย่างดังที่เขากล่าวว่า "ข้าก็ได้เผชิญกับหนทางที่แท้ของ เฮอิโฮ"

มุซาชิก่อตั้งสำนักดาบของตนเองขึ้น ตั้งชื่อว่า "นิเตน อิจิริว" เรียกว่า สวรรค์สองชั้นถือเป็นหนึ่งสำนัก บางครั้งเรียกว่า นิโต อิจิริว หรือ ดาบคู่ถือเป็นหนึ่งสำนัก เมื่ออายุหกสิบเขาได้เขียนสาระสำคัญทั้งหมดในวิชาของเขาลงในคัมภีร์เล่มหนึ่ง สาระสำคัญนั้นเขาเรียกมันว่า วิถีทางแห่ง "เฮอิโฮ"

มุซาชิ เป็นนักดาบที่ฝึกฝนตนเองตั้งแต่เด็ก ปราศจากครูหรือสำนักที่แน่นอน เขายอมรับว่าตนเองเป็นชนชั้นนักรบเช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ในวิถีของบูชิโด หากแต่เขาก็บัญญัติคำว่า "เฮอิโฮ" ขึ้นเพื่ออธิบายวิถีทางของเขาแทนคำว่า บูชิโด  และในวิถีแห่งเฮอิโฮ มุซาชิไม่เคยเอ่ยคำว่า "ซาโตริ"  เขาไม่ยอมรับวิชาของสำนักดาบที่ฝึกกันในโรงฝึก ไม่ยอมรับการขายวิชาหากิน การไต่เต้าไปสู่ยศถาบรรดาศักดิ์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาระสำคัญของเฮอิโฮ และบิดเบือนให้ห่างไกลจากหนทางของเฮอิโฮ

เฮอิโฮคือการต่อสู้ คือการรบในทุกที่ทุกสถานการณ์ และไม่จำกัดว่าเป็นการรบขนาดใหญ่ (สงคราม) หรือการรบตัวต่อตัว แต่หลักของเฮอิโฮ คือหลักการของการเป็นผู้พิชิต

ในเฮอิโฮ มุซาชิยังคงอ้างอิงหลักการของบูชิโด แต่บูชิโดเป็นเพียงเฮอิโฮในวิถีทางหนึ่ง

มุซาชิ แบ่งส่วนหลัก ๆ ของคัมภีร์เป็นห้าส่วน คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และ ความว่าง ส่วนต่าง ๆ มีความสำคัญตามสารัตถะของมัน ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งบนวิถีทางของเฮอิโฮ มุซาชิไม่ได้บอกว่าอะไรคือสิ่งสูงสุด แต่ทั้งหมดเป็นธรรมชาติของการต่อสู้กันถึงชีวิต

การสู้กันจริง ๆ ที่มีชีวิตเป็นเดิมพันเป็นสิ่งที่ไม่มีกฏเกณฑ์อันใดทั้งสิ้น นอกจากวิถีทางของเฮอิโฮ วิชาที่ใช้สำหรับ "ขาย" จึงเป็นสิ่งที่มุซาชิปฏิเสธ ในบางตอนของคัมภีร์เล่มนี้ เขากล่าวว่า

"แต่ละสำนักเหล่านี้ เห็นว่า เฮอิโฮ เป็นเพียงศิลปะแขนงหนึ่งเท่านั้น  พวกนั้นเดินห่างจากหนทางที่แท้จริงไปโดยการตกแต่งขัดเกลาเพื่อให้วิชาของตนเป็นสินค้าที่สามารถนำออกขายได้  ที่เป็นดังนั้นก็เพราะว่าพวกนั้นมองผลงานของตนในฐานะเครื่องมือยังชีพ วิชาเหล่านั้นจำกัดอยู่แค่การฝึกกลยุทธดาบ พยายามที่จะหาวิธีพิชิตชัยโดยเพียงแต่ฝึกฝนการกวัดแกว่งดาบยาวให้ร่างกายอยู่ในสภาพดี และขัดเกลากลยุทธของพวกตน ซึ่งมิใช่หนทางที่แท้"

ภูมิปัญญาของมุซาชิ เป็นภูมิปัญญาของนักรบ ในช่วงเวลาที่ดาบยังเป็นวัฒนธรรมของสังคม เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นจากการนำชีวิตเข้าไปอยู่ในวงจรของการสู้รบอย่างแท้จริง ปัญญาเหล่านี้จึงไม่ได้เกิดจากการ "สังเกต" หรือ "สมมุติ"  แต่เกิดจากตกอยู่ในสถานการณ์ที่ครบถ้วนด้วยปัจจัยที่จะดับชีวิตของคน ๆ หนึ่งลง ไม่ได้มีสิ่งล้อเล่นอันใด และไม่สามารถ "restart" ได้ เช่นในเกมเคาเตอร์สไตรค์  และคัมภีร์เล่มนี้ก็ไม่ใช่งานวรรณกรรมหรืองานปรัชญา มันไม่ได้ถูกเขียนขึ้นให้ยอกย้อน วิธีที่จะสื่อสารกับมันต้องใช้ความตรงไปตรงมา ถึงแม้เราจะสามารถอ่านมันด้วยจุดมุ่งหมายอื่น แต่มันจะต่างอะไรกับการอ่านตำราทำอาหาร การอ่านมันตรง ๆ จึงเป็นสิ่งที่สมควรกว่า

คัมภีร์ของมุซาชิตกทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นคัมภีร์สำคัญเล่มหนึ่งของญี่ปุ่น เป็นภูมิปัญญาโบราณ ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ  สำหรับภาษาไทย สุริยฉัตร ชัยมงคล นักแปลซึ่งสิ้นชีพไปแล้วได้แปลไว้เป็นเวลานานแล้ว หนังสือขาดตลาดไปช่วงเวลาหนึ่ง ปัจจุบันเพิ่งได้รับการพิมพ์ซ้ำในชื่อ "คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า"

พิมพ์ครั้งแรก a day weekly 2-8 มิถุนายน 2548

Comments