วิจารณ์อรรถวิช สุวรรณภักดีเรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้าต้องไปจัดหลังการเลือกตั้งใหญ่



ประเด็นของคุณอรรถวิชเรื่องแทงหวยที่ออกไปแล้วนี่ ถ้าคู่โต้แย้งเป็นคุณพุฒิพงศ์ หรือ อ.ปิยบุตร ก็น่าจะหักล้างตรรกะของคุณอรรถวิชไปได้ไม่ยาก และยังอาจจะตั้งคำถามกลับที่ทำให้คุณอรรถวิชไม่สามารถตอบได้อีกด้วย

คุณอรรถวิชพยายามจะอธิบาย (ตามแนวทางของมีชัย ฤชุพันธุ์) ว่า การที่การเลือกตั้งล่วงหน้า ต้องไปจัดใหม่หลังการเลือกตั้งใหญ่ เหมือนกับการแทงหวยที่ออกไปแล้ว เป็นการผิดธรรมชาติ และผิดรัฐธรรมนูญที่ระบุให้จัดการเลือกตั้งในวันเดียว เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งนี้จะต้องเป็นโมฆะ และรัฐบาลจะผิดตามมาตรา 68

ประเด็นแรก คุณอรรถวิชมามุขเดิม คืออ้างมาตรา 68  ทั้งที่มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า

บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสอง ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว

จากประเด็นแรกนี้ มีสองประเด็นย่อยคือ

หนึ่ง การตัดสินใจว่าจะ เลื่อนเลือกตั้งหรือไม่ของนายกรัฐมนตรี เป็นการตัดสินใจของ นายกรัฐมนตรีในหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ ไม่ใช่การใช้ สิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือพรรคการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่เป็นการใช้ ดุลยพินิจของผู้มีอำนาจหน้าที่

สอง กรณี ดุลยพินิจของผู้มีอำนาจหน้าที่นี้ ยังมีปัญหาต่ออีกว่า จริง ๆ แล้ว นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ มีอำนาจเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าเลื่อนได้ โดยให้ นายกฯ กับประธาน กกต.หารือกัน แต่ในทางปฏิบัติ คนที่ต้องถวายพระราชกฤษฎีกา คือนายกฯ หมายความว่า accountability นี้ตกอยู่กับนายกฯ ถ้ามีการฟ้องร้องนายกฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจนายกฯ ในการเลื่อนการเลือกตั้งเอาไว้ ดังนั้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาบอก แต่ก็เป็นแค่การ ชี้ไม่ใช่เป็นการ สั่งเพราะถ้าเป็นอย่างหลัง accountability จะตกกับศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายจึงเป็นการใช้ ดุลยพินิจของผู้มีอำนาจหน้าที่ในกรณีที่ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเอาไว้


ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่พุฒิพงศ์เขียนสเตตัสอธิบายไปแล้ว คือคุณอรรถวิช ไม่แยกแยะระหว่าง การจัดให้มีการเลือกตั้งกับ การจัดให้มีการลงคะแนนและนำ 2 เรื่องนี้มาปะปนกัน การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่ (ให้เป็นหลังวันเลือกตั้ง) ในทางกฎหมายมันคือการ จัดให้มีการลงคะแนนใหม่ ไม่ใช่การจัดวันเลือกตั้งหลายวันดังที่คุณอรรถวิชเข้าใจ และจริง ๆ แล้ว กรณีการจัดวันลงคะแนนล่วงหน้าใหม่นี้ ไม่เป็นประเด็นเท่ากับ 27 เขตที่จัดการเลือกตั้งไม่ได้ด้วยซ้ำ จะเห็นได้ว่า แม้แต่มีชัย ฤชุพันธุ์ เจ้าของแนวคิดเรื่องการโมฆะนี้ ก็ยังมุ่งอธิบายไปที่ 27 เขต มากกว่า การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า


ประเด็นที่สาม เรื่องการแทงหวยที่ออกไปแล้ว และเรื่องการผิดธรรมชาติของการลงคะแนน

จำเป็นจะต้องดูไปถึง สาเหตุที่ก่อให้เกิดการผิดธรรมชาติของการลงคะแนนว่า เกิดจากทั้งการ บอยคอตการเลือกตั้ง และการ ขัดขวางการเลือกตั้ง ทั้งในกรณี 27 เขตภาคใต้ และกรณีการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่ชัดเจนว่ามีการขัดขวางการเลือกตั้งอย่างผิดกฎหมาย

ประกอบกับสัดส่วนของเขตที่จัดให้ลงคะแนนไม่ได้มีเพียง 11% ในขณะที่เขตที่สามารถลงคะแนนได้ตามปรกติมี 89%

ข้อพิจารณาต่อประเด็นนี้ก็คือ 11% ที่ ผิดธรรมชาติหรือแทงหวยที่ออกไปแล้วนั้น เป็นสัดส่วนที่สมควรแก่การที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่?

การให้ 11% ที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติสามารถที่จะโมฆะผลการเลือกตั้งของ 89% นั้นเป็นสิ่งที่มีเหตุมีผลหรือไม่ ?

ประกอบกับ 11% ที่ไม่สามารถลงคะแนนได้นี้ ยังเกิดจากมีผู้ จงใจขัดขวาง จนทำให้เกิด 11% นี้ขึ้น โดยมีพฤติการณ์ที่ผิดกฎหมาย หากให้เป็นโมฆะได้ในเงื่อนไขเช่นนี้

จะไม่เป็นการสนับสนุนการกระทำผิดตามมาตรา 68 เสียเองหรือ?

ต้องถามคุณอรรถวิชกลับว่า กระบวนการที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยที่มีสัดส่วนเพียง 11% ลงคะแนนไม่ได้   และ 11% ที่ลงคะแนนไม่ได้นี้ ยังเกิดจากมีผู้ จงใจใช้สิทธิ เสรีภาพ ขัดขวางการเลือกตั้งซึ่งเป็นกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ฝ่ายที่ขัดขวางการเลือกตั้งนั้น ประกาศแนวคิดที่ชัดเจนเรื่องสภาประชาชน ซึ่งเป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีการประกาศชัยชนะ ออกประกาศเรียกข้าราชการต่าง ๆ มารายงานตัว เข้ายึดสถานที่ราชการ บังคับข่มขื่นข้าราชการให้ปฏิบัติตาม

เช่นนี้แล้ว ฝ่ายใดที่มีความผิดตามมาตรา 68 กันแน่?

5-2-14 

Comments