โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้
ถ้าจะมีคนหนุ่มสาวในเวลาหนึ่งเคยคลั่ง
เงาสีขาว คนหนุ่มสาวอีกเวลาหนึ่งหลง
ระบำเมถุน
แล้วเหตุใดคนหนุ่มสาวในเวลานี้จะมีสักจำนวนที่รู้สึกว่า
โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้ ของปรีดี หงส์ต้น “โดน” ไม่ได้
ท้าทาย ระบายออก ตั้งคำถามอย่างมาดมั่น
เต็มไปด้วยพลัง ทะเยอทะยาน หมกมุ่นในเรื่องเพศ มีอุดมคติ สำส่อน รักความเป็นธรรม
เฟื่องฝัน พลั่งพรู ฟุ้งกระจาย หยาบโลน กระหายที่จะแสดงออก
และอีกหลากหลายชาติสมบัติของวรรณกรรมคนหนุ่มสาวล้วนเป็นส่วนผสมของนิยายเรื่องนี้
นิยายเรื่องนี้มีความคมคาย ทะเยอทะยานทางความคิด
เต็มไปด้วยพลังที่ต้องการจะอรรถาธิบายปรากฏการณ์ร่วมสมัย
โดยเฉพาะปรากฏการณ์ทางการเมือง นิยายได้รวบรวมเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ในช่วงเวลา 7
– 8 ปี เข้ามาเป็นฉาก กระทั่งเป็นส่วนสำคัญของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น
ไข้หวัดนก, ม็อบพันธมิตร, เด็กนักเรียนหัวก้าวหน้าที่ฆ่าตัวตาย ฯลฯ
ฉายภาพอารมณ์และอุดมคติของคนหนุ่มสาวใน พ.ศ. นี้ท่ามกลางความสับสน
ขณะเดียวกันก็พยายามจะเชื่อมต่อกับวรรณกรรมและอุดมคติในอดีต พร้อมกันนั้น ก็เสนอข้อสรุป และบทวิพากษ์
ทั้งทางวรรณกรรม และการเมือง
ท่วงทำนองในบางช่วงตอนของโปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้มี
“กลิ่น” ของเงาสีขาวที่ “แรง”
จน ทำให้นิยายเล่มนี้ดำเนินตามรอยระบำเมถุนของอุทิศ เหมะมูล
เพื่อตอกย้ำวรรณกรรมหนุ่มสาวที่ยังไปไม่พ้นเงาของเงาสีขาว
นอกจากนี้ยังมีข้อบกพร่องที่เกี่ยวกับทั้งการดำเนินเรื่องและตัวละคร
ตัวละคร “เพื่อน
ๆ” และ คู่ขา ของ อัญชิสา กมลเกสรสมบัติ
ปรากฏขึ้นในฉากแรกแล้วค่อย ๆ หายศีรษะไปจนหมดสิ้น และไม่ปรากฏขึ้นมาอีก
เสมือนไม่เคยมีอยู่ในจักรวาลนี้
พ่อของอัญชิสา กับ พ่อของสุวิทย์
ซึ่งควรจะอยู่ในวัยเดียวกัน หรือแม้แต่เป็นคนเดียวกัน กลายเป็นตัวละครไม่สมประกอบ
บุคลิกภาพฟั่นเฟือน แม้จะอ่านด้วยความตระหนักว่าอัญชิสาเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็ยังไม่สมเหตุผลอยู่ดี
ความจำของอัญชิสาและสุวิทย์เกี่ยวกับพ่อในเหตุการณ์
6 ตุลา 19 และ เหตุการณ์ พฤษภา 35
ซึ่งตามโครงเรื่องที่เฉลยออกมาภายหลังควรจะมาจากสำนึกทรงจำของคน ๆ เดียวกัน
แต่กลับขัดกันอย่างน่าประหลาด
คำพูดของ พ่อกุญชร ถึงเหตุการณ์ “กรือแซะ”
(เดือนเมษายน ปี 2547) ชวนสะดุดอย่างยิ่ง
สะท้อนให้เห็นการขาดความแม่นยำในอารมณ์
จนเหมือนคล้ายกลายกลืนมึนมั่วเข้ากับเหตุการณ์ “ตากใบ”
(ตุลาคม ปีเดียวกัน) เพราะเขียนขึ้นโดยการมองย้อนหลังแล้วเอามาปนกัน
ถ้านี่เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ฉาก
เหตุการณ์ และอารมณ์ทางการเมือง ก็ปราศจากความแม่นยำ
พร่ามัวเหมือนคนถ่ายภาพจับโฟกัสไม่ถูก
อัญชิสา กมลเกสรสมบัติ
เป็นตัวละครหลักที่เหมือนสร้างขึ้นมาจากชิ้นส่วนของสิ่งที่ไม่ใช่ของกันและกัน นี่ไม่ใช่ศิลปกรรมที่เกิดขึ้นอย่างมีเจตนา แต่เป็นความไม่สามารถที่จะสร้างตัวละครขึ้นมาให้น่าเชื่อถือ
ไพล่ไปใช้วิธีฉาย “ภาพพจน์” เป็นส่วน
ๆ ไม่อาจแสดงบุคลิกภาพของอารมณ์
หรือเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวละคร
ตัวละครตัวนี้ไม่ได้มีบุคลิกภาพที่เข้าใจได้ยากหรอก
แต่มันเข้าใจไม่ได้เพราะสร้างขึ้นมาจากจินตนาการที่เข้าไม่ถึงตัวละคร
มีแต่ภาพพจน์ภายนอกแต่ไม่มี “วิญญาณ” หยิบยืมบุคลิกภายนอกที่เห็นจากที่ใดที่หนึ่ง
แต่ไม่สามารถตีความเนื้อหาที่ก่อร่างขึ้นเป็นบุคลิกภาพนั้นได้
และความคิดอ่านอันฉาดฉานที่ใส่เข้ามาก็ไม่ได้ช่วยอะไรแม้แต่น้อยในท่ามกลางโครงเรื่องที่ยุ่งเหยิง
แม้ตัวละครชนชั้นกลางหลัก ๆ
จะเต็มไปด้วยรายละเอียดจนฟุ้ง แต่ตัวละครชนชั้นล่างอย่าง ทนง กลับทำได้หยาบ
ขาดรายละเอียด ถูกทอดทิ้งจนแทบไม่มีบทบาทต่อเรื่อง
นิยายดำเนินเรื่องตัดไปตัดมา
เล่นกับมุมมองและการเล่าเรื่อง แต่โครงเรื่องกลับอ่อนยวบ
แน่ละว่าข้อบกพร่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ
กับพลังอารมณ์แห่งวัยหนุ่มสาว
เราควรจะเรียกร้องรสชาติอันสุขุมกว่านี้จากนักเขียนหนุ่มหรือไม่
หรือเราควรมองข้ามรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ
แล้วแสดงความชื่นชมกับแรงอารมณ์และการแสดงออกที่เต็มไปด้วยพลังความคิดสดใหม่
นิยายเรื่องนี้ต้องการพิชิตหลายสิ่งหลายอย่างเต็มไปหมด หลายเรื่องหลากประเด็น
แต่ความละเอียดอ่อนไม่เพียงพอ ขาดแคลนความรอบคอบ กำพร้าความสุขุม
มากด้วยสิ่งไม่รัดกุม กระนั้นมันก็ยังเป็นนิยายที่ชวนติดตาม รสชาติจัดจ้าน
ส่งกลิ่นยั่วเย้า
การดำเนินเรื่องได้รับอิทธิพลจากหนัง
ตัวละครอย่าง อุษณา กมลเกสรสมบัติ อ่านไปก็นึกถึงหน้านิโคล คิดแมน ในบทเวอร์จิเนีย
วูลฟ์ ในหนังเรื่อง The Hours ของ สตีเฟน ดันดรี ไป
ภาษาที่ใช้เล่าเรื่องอ่านได้ราบลื่นถ้าตัดกลิ่นแดนอรัญออก
แต่การใช้ภาษาตลอดเรื่องก็ไม่ใช่สิ่งที่โดดเด่นนัก
ส่วนที่โดดเด่นที่สุดในนิยายเรื่องนี้คือความคิดและองค์ประกอบทางสังคมต่าง
ๆ ที่ผู้เขียนรวบรวมเข้ามาอยู่ในโครงเรื่อง
แม้จะเต็มไปด้วยจุดอ่อนแต่ก็เป็นวรรณกรรมที่ได้บันทึกอารมณ์และอุดมคติของคนหนุ่มสาวในช่วงเวลาแห่งความอลหม่านซึ่งเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ต้องจารเอาไว้
และที่สำคัญนิยายเรื่องนี้ได้เสนอคำถามอันแหลมคมที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าถาม
จึงควรที่จะบันทึกไว้ว่ามันได้ธำรงรักษาชาติสมบัติอันควรสรรเสริญของคนหนุ่มสาวทุกสมัย
นั่นก็คือความกล้า แม้ว่าจะกล้าได้ไม่ถึงครึ่งของความกล้าท้าในเรื่องเพศ
แต่มันย่อมประเสริฐกว่าความไม่กล้าแม้แต่น้อยนิดในหมู่วรรณกรรมผู้ใหญ่ร่วมสมัยเดียวกับมันที่มีต้นทุน
วุฒิภาวะ ประสบการณ์ อันพอเพียงยิ่งกว่า
Comments
Post a Comment