ร่างพระร่วง






ร่างพระร่วง เป็นนิยายอันมีความยาวขนาดกลาง แบ่งเป็นสองภาค ภาคละเจ็ดบท ดำเนินเรื่องด้วยการเล่าในลีลาของมุขปาฐะ ใช้เสียงเล่าอย่างชาวบ้าน มีสีสันภาษาอย่างพื้นบ้านซึ่งอลังการขึ้นด้วยสำบัดสำนวนของผู้เขียน ข้ออันน่าสังเกตเกี่ยวแก่เสียงเล่าของนิยายเรื่องนี้คือ มีลีลาการเล่าที่ใช้จังหวะจะโคน ลงสัมผัสเป็นช่วง ๆ แต่มิได้มากเกินจนพาภาษาเล่าให้เป็นเจ้าบทเจ้ากลอนไป นิยายเรื่องนี้จึงได้กลายเป็นหนังสือที่ใช้อ่านเงียบ ๆ ก็ได้ หรือจะอ่านเล่าเอาเสียงให้ผู้อื่นฟังก็ลื่นไหลอย่างมีลีลา

เนื้อความเป็นเรื่องราวของเซียนพระคนหนึ่ง ว่าด้วยวิถีแห่งไสยและพุทธ  ยกฉากเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองให้เห็นเป็นช่วง ส่วนเรื่องราวของท่านพุทธทาสที่หน้าปกประกาศว่าเป็น นิยายร้อยปีท่านพุทธทาสนั้น ขึงหัวขึงท้ายไว้เสียอย่างนั้น ยกความเล่าอ้างถึงท่านพุทธทาสอยู่บ้าง แต่รายละเอียดยังตำไม่ถึงพริก

เรื่องราวเปิดด้วยฉากเมืองไทยปี 2519 ซึ่งฉายภาพผ่านรถคอกหมูคันหนึ่ง จากนั้นค่อยดึงภาพเข้าหาตัวละครหลัก แล้วตัดกลับไปไล่เรียงชีวิตของตัวละครตั้งแต่เกิด จนวนกลับมาสู่ช่วงเวลาตอนเปิดฉาก แล้วดำเนินต่อไปจนถึงบั้นปลาย เรื่องราวเกาะติดตัวละครหลักเป็นส่วนใหญ่ในภาคแรก  พอภาคสองเริ่มมีการตัดไปหาตัวละครอื่น ในช่วงสำคัญสุดท้ายของเรื่องก็เล่าอย่างเว้นเหตุการณ์ ตัดกลับไปมาให้ผู้อ่านโยงใยเอาเอง แต่ทั้งหมดก็คลี่คลายเมื่อกลับไปสู่ตัวละครหลักในตอนสุดท้าย

การดำเนินเรื่องชวนติดตาม ตัวเรื่องเข้มข้น ตัวละครมีชีวิตชีวา รุ่มรวยสีสันและจินตนาการ สำคัญยิ่งคือฉายภาพความเป็นสังคมไสยของไทยได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังสืบสาวโยงใยวัตถุนิยมแบบไสยในสังคมเก่าที่พัฒนามาสู่บริโภคนิยมในสังคมทุนสมัยใหม่ไว้อย่างแยบคาย เสียแต่ตอนท้ายรวบรัดไปหน่อย การพยายามโยงไสยสู่พุทธเพื่อฉลองท่านพุทธทาสยังไม่โน้มน้าวกินใจ ตัวละครเกือบจะเข้ม มีพัฒนาการ แต่การโน้มนำตัวละครไปสู่ท่านพุทธทาสไม่ค่อยน่าเชื่อถือ

นิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องอย่างเหนือจริง มีบ้างที่อ่านแล้วนึกถึงนิยายตระกูลสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) ของลาตินอเมริกา โดยเฉพาะงานของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ  แต่ไม่มาก โดยรวมต้องกล่าวว่า ร่างพระร่วงมีความเป็นตัวของตัวเอง มีลีลาของวรรณกรรมไทยอย่างเต็มภาคภูมิ

กล่าวถึงนิยายสัจนิยมมหัศจรรย์อย่างของลาตินอเมริกา นับเป็นวรรณกรรมแนวหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อนักเขียนไทยรุ่นใหม่ นักเขียนจำนวนไม่น้อยพยายามเลียนท่วงทีของวรรณกรรมแนวนี้ เพื่อสถาปนาความเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์ขึ้นในวรรณกรรมไทย เมื่อเกิดความพยายามเช่นนั้น ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเมืองไทยไม่มีสัจนิยมมหัศจรรย์  อีกฝ่ายก็โต้ว่าไม่มีสัจนิยมมหัศจรรย์ได้อย่างไร ในเมื่อเมืองไทยเต็มไปด้วยเรื่องเล่าแบบเหนือจริง ก็เป็นหัวข้อประเด็นทางวรรณกรรมที่เคยถกเถียงกันมาไม่ช้าไม่นานนี้

เมื่อมองดูจากผลงานวรรณกรรมไทยที่เสนออ้างตัวเองขึ้นเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ผ่านมา ก็กล่าวได้ว่านักเขียนไทยเหล่านั้นต่างล้มเหลวในการพยายามสถาปนาวรรณกรรมตระกูลนี้ขึ้นในวรรณกรรมไทย งานวรรณกรรมที่อ้างตัวเป็นสัจจนิยมมหัศจรรย์ที่ผ่านมาล้วนมีลักษณะลักลั่น ผิดฝาผิดตัว และมองเห็นอิทธิพลของวรรณกรรมลาตินอเมริกาอย่างเข้มข้น ขาดซึ่งความเป็นตัวของตัวเองโดยสิ้นเชิง

ทว่า บัดนี้เมื่อเทพศิริ สุขโสภา ได้รังสรรค์ ร่างพระร่วง ขึ้นในบรรณพิภพของไทย ผสมผสานความเหนือจริงเข้ากับความสมจริงได้อย่างกลมกล่อม ทั้งหาได้มีกลิ่นอายอิทธิพลของวรรณกรรมลาตินอเมริกาเช่นงานเล่มอื่น ๆ หากแต่กลับกลมกลืนด้วยมโนทัศน์ของไทยอย่างวรรณกรรมไทยและอย่างภาษาไทยโดยเกลี้ยงเกลา การสถาปนาภาพพจน์เหนือจริงขึ้นในโลกของวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ จึงคลี่คลายหนทางออกมาอย่างสง่างาม

ส่วนที่เป็นแก่นสาระของนิยายเรื่องนี้คือความเป็นไสยและความเป็นพุทธที่ปีนเกลียวกันอยู่ในสังคมไทย และวิถีทางหลุดพ้นอย่างพุทธที่แท้ ซึ่งในนิยายเรื่องนี้ได้ยึดคำสอนของท่านพุทธทาสเป็นสารัตถะ โดยแก่นสาระนี้ นิยายเรื่อง ร่างพระร่วง สามารถคั้นเอาเนื้อออกมาได้อย่างดี

ร่างพระร่วง เขียนขึ้นด้วยวัตถุดิบชั้นยอด ผู้เขียนได้สั่งสมวัตถุดิบมาอย่างพรั่งพร้อม อันที่จริงก็เกือบจะสามารถนับเป็นงานชั้นครูได้ เสียดายที่ดูเหมือนว่าครูจะใจร้อนไปเสียหน่อย ส่วนที่ควรนวลเนียนละเอียดลอออย่างผ้าทอชั้นดีจึงเห็นรอยฝีรอยตะเข็บ

แต่สำหรับนักเขียนไทยผู้สนใจการใช้สภาวะเหนือจริงถ่ายสะท้อนความจริงในวรรณกรรมสมัยใหม่ หรือผู้นิยมแนวทางสัจนิยมมหัศจรรย์ หนังสือเล่มนี้จะเป็นครูได้เป็นอย่างดี

พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2549, วารสารหนังสือใต้ดิน เล่ม 8

Comments