โลกนี้มันช่างยิสต์
เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกของ แทนไท ประเสริฐกุล
ลูกชายคนโตของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ จิระนันท์ พิตรปรีชา
เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกของ
อดีตนักเรียนเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกวิชาการ นานาชาติ สาขา ชีววิทยา
เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกของชายหนุ่มนักเรียนทุน
ผู้จบปริญญาตรีด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล
เพราะเป็นหนังสือของนักศึกษาปริญญาโทผู้กำลังทำวิจัยเรื่องพฤติกรรมทางเพศของปลาหมึก
เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกของครูโรงเรียนมัธยมที่ย้อมผม
สูบบุหรี่ และบอกให้นักเรียนเรียกตัวเองว่า พี่
ไม่ว่าใครจะเลือกหยิบ โลกนี้มันช่างยีสต์
ขึ้นมาอ่านด้วยเหตุผลในข้อใด สำหรับผม
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ไร้สาระและเต็มไปด้วยคำผิด
ที่อ่านสนุกที่สุดในรอบหลายปี
สำหรับนักเขียน
การเขียนเรื่องไม่มีสาระได้ต่อเนื่องเป็นหน้า ๆ ต้องถือว่าเป็นความสามารถ
แต่แทนไทไม่เพียงเขียนเรื่องไม่มีสาระต่อเนื่องได้เป็นหน้า เขายังสามารถทำให้เรื่องเหล่านั้นอ่านสนุกจนวางไม่ลง
นับได้ว่านักเขียนหนุ่มคนนี้มีความสามารถที่ไม่ธรรมดาทีเดียว
แม้ว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้จะดำเนินไปเรื่อยเปื่อยตามแบบไดอารี่ออนไลน์
แต่บางช่วงตอนกลับเปิดเผยด้านที่เอาจริงเอาจังจู่โจมผู้อ่านอย่างไม่ให้ตั้งตัว ตั้งแต่เรื่อง
ความรัก ความฝันใฝ่ อุดมคติ จนถึงจิตสำนึกที่มีต่อสังคม
ทั้งเรื่องเป็นสาระและไม่เป็นสาระจึงได้รับการถ่ายทอดด้วยลีลาการเล่าเรื่องดุจเดียวกัน
เว้นแต่เรื่องความรักที่ผู้เขียนเปิดเผยด้านโรแมนติกออกมาซึ่งไม่ปรากฏเมื่อเล่าเรื่องราวอื่น
ๆ
เมื่ออ่านหนังสือทั้งเล่มจนจบ
ผ่านเรื่องราวเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ ตื่นสาย รถติด
เรื่องราวที่เป็นกิจกรรมบันเทิงอย่างการไปดูคอนเสิร์ต ความผูกพันกับศิลปินคนโปรด
ไปจนถึงเรื่องที่เริ่มมีท่าทีจริงจังอย่างความขัดแย้งระหว่างผู้เขียนในฐานะครูกับนักเรียน
กิจกรรมและความผูกพันระหว่างผู้เขียนกับลูกศิษย์ และจนถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
ซึ่งเปิดเผยให้เห็นความรู้สึกของผู้เขียนที่มีต่อสังคม สำนึกของความเป็นครู
ความผูกพันและความรักในวิชาชีววิทยา
จนสุดท้ายจบลงด้วยการเปิดเผยถึงความรู้สึกนึกคิดเบื้องลึก จินตนาการ
และความใฝ่ฝันของผู้เขียนที่มีต่อชีวิตและโลกรอบตัวไปจนถึงจักรวาล
หากจะให้นิยามหนังสือเล่มนี้อย่างสั้นและง่ายที่สุด
ผมจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้คือ Dead Poet Society ภาคพิศดาร
หรือถ้าแปลเป็นไทยในภาษาของผู้เขียนก็ต้องบอกว่าเป็น “คุณครูครับเราจะสู้เพื่อฝัน
ฉบับ นมดำ”
มีกลุ่มคำอยู่ 2 กลุ่มในหนังสือเล่มนี้
ที่ผมเห็นว่าทำหน้าที่บางประการได้อย่างน่าสนใจ
กลุ่มแรกเป็นคำที่อยู่ในชีวิตประจำวัน
แต่เป็นคำไม่อยู่ในภาษาสุภาพ เช่นคำว่า ขี้ ตูด นม คำเหล่านี้
โดยทั่วไปจะไม่ปรากฏอยู่ในภาษาที่เป็นทางการ หรือภาษาเขียนที่เป็นสาธารณะ
และหากปรากฏก็จะตกอยู่ในฐานะของความ “ไม่สุภาพ” โดยทันที
ผู้เขียนได้บอกกล่าวไว้ในคำนำว่า คำว่า ขี้ ตูด
นม จะเป็นคำที่พบเห็นได้ตลอดหนังสือเล่มนี้
สำหรับผู้อ่าน คำสามคำนี้จะเป็นเหมือนคนนำเที่ยว
ที่จะพาผู้อ่านท่องไปในอาณาเขตส่วนตัวของผู้เขียน
เป็นสิ่งที่จะพาผู้อ่านเข้าไปใกล้ชิดกิจวัตรประจำวันอันเป็นเรื่องเล่าของผู้เขียน
และเป็นผู้แนะนำผู้อ่านเข้าสู่อาณาจักรทางภาษาของผู้เขียน เราจะพบเห็นคำว่า ขี้
ตูด และ นม ไปตลอดเรื่องเล่าเหมือนกับพบเห็นไฟแดงทุก ๆ
สี่แยกเมื่อต้องเดินทางอยู่บนถนน คำเหล่ามีหน้าที่ในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านและเรื่องเล่า
เป็นเหมือนสัญญาณบอกและย้ำกับผู้อ่านถึงท่วงทีของเรื่องเล่า
เพื่อที่ผู้รับสัญญาณจะกำหนดท่าทีของตนต่อเรื่องเล่า
กลุ่มคำที่สองได้แก่คำเช่น “ยีสต์”
“บัดยี” “นวล” “เนียน” “นมดำ”
และคำที่มีความหมายผิดเพี้ยน หรือหาความหมายไม่ได้อีกมากมายหลายคำ
คำกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่ผู้อ่านจะพบเจออยู่ตลอดการอ่าน
คำทั้งหมดเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนภูเขา ทะเล ต้นไม้ ในภูมิประเทศทางภาษาของผู้เขียน
ผู้เขียนได้ใช้คำเฉพาะขึ้นปักอาณาเขตของความหมาย
เพื่อให้เกิดอาณาจักรภาษาของผู้เขียน และด้วยหนทางนี้
ตัวตนอันเข้มข้นในทางวรรณกรรมของแทนไทจึงถือกำเนิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้
คำทั้งสองกลุ่มนี้
เมื่อประกอบเข้ากับเรื่องเล่า นอกจากจะเป็นสิ่งที่คอยบิดเรื่องราวให้ผิดผัน
ก่อให้เกิดระยะห่างที่แน่นอนระหว่างผู้อ่านกับเรื่องเล่าแล้ว
ยังเป็นสิ่งที่คอยอำพลางสาระสำคัญของเรื่องเล่า
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ผู้เล่าต้องบิดผันอำพลางเรื่องเล่าของตน
และสำหรับ โลกนี้มันช่างยีสต์ ที่อยู่ในฐานะของ ไดอารี ออนไลน์ หรือบันทึกส่วนตัวที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว
ดูเหมือนการบิดผันทุกอย่างให้ผิดเพี้ยนจะเป็นสิ่งที่บรรเทาความกระดากอายระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านลงไป
นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งของความเพี้ยน
นอกจากนี้แล้วการเป็นทายาทของนักเขียนและกวีผู้ทรงอิทธิพลย่อมเป็นประหนึ่งปราการมหึมาที่ขวางกั้นผู้เขียนในการสร้างความเป็นตัวของตัวเองในทางวรรณกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย
ดังนั้น
ความเพี้ยนที่บรรจุอยู่ในคำและภาษาจึงเปรียบเสมือนสิ่งที่จะพาผู้เขียนข้ามปราการนั้นไปสู่ความเป็นตัวของตัวเอง ก็ในเมื่อเป็นเรื่องยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพบคำว่า
ยีสต์ ขี้ ยีบัด ในข้อเขียนของเสกสรรค์ หรือบทกวีของ จิระนันท์ ทำไม แทนไท
ถึงจะไม่ทำให้สิ่งเหล่านี้งอกงามขึ้นในข้อเขียนของเขาเล่า
นอกเหนือจากนี้หนังสือเล่มนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า
“ความเพี้ยน” เป็นเครื่องมืออันทรงพลังและใช้ได้ดีกับอัตลักษณ์ของแทนไท
เนิ่นนานมาแล้วที่ความเพี้ยนมักถูกจับคู่เข้ากับความเป็นอัจฉริยะ
และแทนไทในฐานะเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกวิชาการ
จึงดูเหมาะสมกับความเพี้ยนอย่างไม่ต้องสงสัย
สำหรับนักอ่านวรรณกรรม
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีความหมายอย่างแน่นอน
เพียงแต่อาจจะมีท่วงทีและรูปแบบที่ไม่ชวนไว้วางใจ แต่กลุ่มก้อนของความหมาย
ความดีและความงาม ความจริงและความลวง
ในยูนิฟอร์มของคนรุ่นใหม่จะให้รสชาติที่ไม่ผิดหวัง
และหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ คำว่า นมดำ
จะไม่เป็นสิ่งแปลกแยกและไร้สาระอีกต่อไป
พิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร IMAGE
Comments
Post a Comment