ในหุบเขา






สำหรับวรรณกรรมไทย ความหมายของกวีนิพนธ์ยังคงเป็นสิ่งที่คลุมเครือ และมีนิยามที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะยึดถือจากรูปแบบหรือความมุ่งหมายของชิ้นงาน ในโลกของวรรณกรรมสมัยใหม่ ชิ้นงานที่เรียกว่าบทกวีนั้น แยกแยะโดยท่วงท่าของความมุ่งหมายเป็นหลัก กวีนิพนธ์คือสิ่งที่มุ่งจับสิ่งที่มองไม่เห็น เหมือนไม่มีอยู่ ไร้ตัวตน สิ่งที่เล็ก สิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างยิ่ง ดูเหมือนว่าในโลกของวรรณกรรมสมัยใหม่ กวีนิพนธ์ได้รับเกียรติให้เป็นรูปแบบของงานเขียนที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดในการกระทำสิ่งดังกล่าวมา

วรรณกรรมไทยแต่เดิม ไม่มีคำว่าบทกวีหรือกวีนิพนธ์ มีแต่โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ฯลฯ  ซึ่งเป็นรูปแบบการเขียนที่ใช้ทำหน้าที่เดียวกับการเขียนร้อยแก้วในปัจจุบัน ต่อเมื่อการเขียนร้อยแก้วได้รับการพัฒนาขึ้น โดยรับอิทธิพลจากวรรณกรรมจีนและวรรณกรรมตะวันตกเป็นหลัก งานร้อยกรองจึงค่อยตกไปจากการทำหน้าที่เล่าเรื่องในสังคม และถ่ายเทไปสู่ความเป็นกวีนิพนธ์ในฐานะของรูปแบบงานเขียนที่ใช้ในการกล่าวถึงนามธรรม

โดยทั่วไปแล้ว มักนับให้งานประพันธ์ที่เขียนด้วยฉันทลักษณ์ต่าง ๆ เป็นบทกวี ส่วนงานที่ปราศจากรูปแบบที่แน่นอนแต่มีลักษณะเป็นกลุ่มคำสั้น ๆ ที่แตกต่างจากร้อยแก้ว ก็มักจะเรียกกันรวม ๆ ว่ากลอนเปล่า สำหรับวรรณกรรมไทยที่มีรากเหง้าทางการเขียนร้อยกรองเป็นแบบแผนฉันทลักษณ์ซึ่งกำหนดมาแต่กรุงศรีอยุทธยา เสียงและจังหวะคือสิ่งสำคัญยิ่งที่แยกแยะความเป็นบทกวีฉันทลักษณ์ออกจากกลอนเปล่า กลอนเปล่าในวรรณกรรมสมัยใหม่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นกลอนเงียบ หมายถึงเป็นบทกวีที่มิได้มุ่งเขียนให้อ่านออกเสียงเป็นหลัก มิได้ให้ความสำคัญต่อการจัดรูปแบบของเสียงและจังหวะ หรือหากมีการจัดรูปแบบของเสียงและจังหวะก็เป็นไปอย่างไม่ซับซ้อน และไม่มีแบบแผนหรือโครงสร้างตายตัวอย่างแบบแผนของบทกวีฉันทลักษณ์

กล่าวโดยนัยนี้ หนังสือบทกวี ในหุบเขา ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ จึงนับได้ว่าเป็นบทกวีเงียบ เข้าลักษณะของกลอนเปล่า ไม่มีแบบแผนโครงสร้างของเสียงและจังหวะที่ซับซ้อน มีการใช้เสียงและจังหวะในบทกวีชุดนี้ หากแต่เป็นไปอย่างไม่เคร่งครัด และไม่เจาะจง ออกจะเป็นการปล่อยไปตามธรรมชาติของคำ คล้ายการร้องเพลงพื้นบ้านโบราณ แต่อ่านได้โดยไม่ต้องออกเสียง

ด้วยไม่จำเป็นต้องจัดการกับเสียงและจังหวะ รูปแบบของการใช้คำจึงเป็นอิสระจากการนั้น ทว่าสิ่งที่เข้ามากำกับการใช้คำแทนเสียงและจังหวะกลับไปตกอยู่กับ ความอย่างเต็มที่

การที่ ความเป็นสิ่งเดียวหรือเป็นสิ่งหลักในการกำหนดคำในบทกวีเล่มนี้ จึงทำให้บทกวีมีลักษณะของการเล่นกับความ และมีการจัดจังหวะของความ (แทนคำและเสียง) เป็นบทกวีที่เหมาะกับการอ่านในใจ หรือจะอ่านออกเสียงก็ได้รสแบบเรื่องเล่า แต่จะไม่ได้ความไพเราะอย่างบทกวีฉันทลักษณ์

มองในแง่ของการจัดจังหวะและการสัมผัสความ บทกวีชุดในหุบเขามีความเคร่งครัดต่อความอยู่ไม่น้อย ทำให้ภาพรวมของกวีนิพนธ์ชุดนี้มีความนิ่ง มีความหนักแน่นในด้านเนื้อหา และให้ภาพพจน์ที่แจ่มกระจ่าง

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องของรูปแบบงานกวีนิพนธ์ของหนังสือ ในหุบเขา


โดยวันเวลาและสถานที่จากหมายเหตุการเขียน จะเห็นได้ว่าบทกวีเล่มนี้เขียนขึ้นในฐานะบันทึกชีวิตประจำวันในหุบเขาของผู้เขียน เป็นการเขียนบันทึกที่ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 – 2548 เท่ากับผู้เขียนคอยบันทึกอะไรบางอย่างเป็นระยะตลอดเวลาเกือบ 5 ปี และอะไรบางอย่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ณ สถานที่เดียวกัน คือ ในหุบเขา

ภาพปกและภาพประกอบของหนังสือในหุบเขา เป็นภาพถ่ายท้องฟ้าโดยกนกพงศ์ ทุกภาพเป็นภาพท้องฟ้าจากมุมเดียวกัน แตกต่างกันเพียงเวลาของการถ่าย แต่ภาพท้องฟ้าเหล่านั้นแม้จะถ่ายจากมุมเดียวกันกลับไม่มีภาพใดเหมือนกันเลยแม้เพียงภาพเดียว สีของฟ้า รูปร่างของก้อนเมฆ ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ และความเข้มจางของแสงล้วนแตกต่างกันทุกภาพ

จากคำนำของสำนักพิมพ์ ทำให้ทราบว่าการถ่ายภาพท้องฟ้า และการเขียนบทกวีชุดในหุบเขา เป็นกิจกรรมคู่ที่ผู้เขียนกระทำเป็นประจำตลอดช่วงเวลา 5 ปีสุดท้ายของชีวิต ในสถานที่ที่เขาเรียกว่า หุบเขาฝนโปรยไพร

เช่นเดียวกับภาพท้องฟ้า บทกวีแต่ละบทในหนังสือเล่มนี้ล้วนไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นอิสระต่อกัน แต่ขณะเดียวกัน ก็จะมีบางสิ่งที่ซ้ำ ๆ กันซึ่งทำให้เรารู้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบทกวีทุกบทนั้น เกิดขึ้นในสถานที่เดียวกัน

หญิงสาว, ตาลุกาโป และเมียของตาลุกาโป เป็นตัวละครที่จะพบได้ทั่วไปในบทกวีชุดนี้ ขณะเดียวกัน ท้องฟ้า เมฆ นก ไก่ งู ดอกไม้ ลูกมะพร้าว ต้นไม้ ลม ฝน กระรอก ค้างคาว และอีกหลายสิ่งหลายอย่างก็เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในบทกวีชุดนี้เช่นกัน สำหรับบทกวีชุดนี้ ทั้งคนและธรรมชาติ ตกอยู่ในฐานะของตัวละครในการแสดงนาฏลีลา และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังนาฏลีลานี้ คือสายตาที่ต้องการเสนอภาพของโลกใบหนึ่ง

มีความเป็นเรื่องเล่า ซุกซ่อนด้วยอารมณ์ขัน รุ่มรวยความอ่อนไหว คุณสมบัติทั้งหมดจะช่วยให้เราอ่านหนังสือเล่มนี้ได้โดยรวดเดียวจบ และสามารถอ่านแยกแต่ละบทซ้ำไปซ้ำมาได้อย่างเพลิดเพลิน

สำหรับสังคมสมัยใหม่ซึ่งห่างเหินจากโลกธรรมชาติแบบชีวิตในหุบเขา กวีนิพนธ์เล่มนี้จะทำความแห้งผากให้ชุ่มชื่นขึ้น จะทำความแล้งร้อนให้เยือกเย็นลง

กลวิธีในการเขียนบทกวีชุดนี้ของผู้เขียนเป็นกลวิธีที่เรียบง่าย เช่นเดียวกับการถ่ายภาพท้องฟ้าจากมุมเดียวกันทุกวัน ๆ  เป็นความเรียบง่ายที่ต้องการความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเป็นปรกติ เป็นการเกี่ยวร้อยปรากฏการณ์อันเป็นปรกติเข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยความเยือกเย็นและความสม่ำเสมอเท่านั้นจึงสามารถรังสรรค์ผลงานอันเรียบง่ายเช่นนี้

ความเป็นปรกติและ ความสามัญธรรมดาคือนัยสำคัญของบทกวีในหุบเขา ผู้เขียนไม่สามารถที่จะกำหนดโครงเรื่อง หรือเวลาการเขียนเช่นงานเขียนทั่วไป ทว่า ผู้เขียนต้องประพฤติตนประหนึ่งนักวิจัยที่อดทน สังเกตการณ์สิ่งเดิม ๆ เก็บตัวอย่าง ต่อเนื่องยาวนานนับเป็นปี ๆ ด้วยมรรควิถีเช่นนี้เท่านั้นจึงสามารถรังสรรค์ความปรกติธรรมดาขึ้นเป็นงานศิลปะ

และด้วยคุณสมบัตินี้ ทำให้กล่าวได้ว่า ในหุบเขา คืองานกวีนิพนธ์ที่สวนกระแสการสร้างงานศิลปะในปัจจุบันที่มุ่งเน้นแต่ความรวดเร็วรวบรัดและให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์อย่างบ้าคลั่ง เรียกร้องความสนใจด้วยรูปแบบและใช้เวลาเพียงเศษเสี้ยวสำหรับเนื้อหา กวีนิพนธ์ในหุบเขาเป็นทั้งการสวนกระแสดังกล่าว และเป็นทั้งการวิพากษ์กระแสดังกล่าว นี่คือความหมายทางวรรณกรรมที่มีต่อสังคมวรรณกรรมร่วมสมัยที่มีความสำคัญยิ่ง

เมื่อความหมายมุ่งจะไม่ซ้ำเป็นความซ้ำที่ซ้ำซาก เมื่อความพยายามจะเปลี่ยนคือการไม่เปลี่ยนอะไรเลย เมื่อความหมายเหล่านี้ถูกยอกย้อนกลับไปมา ความซ้ำกลายเป็นความไม่ซ้ำ ความไม่มุ่งหมายจะเปลี่ยนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คือเรื่องราว ความหมาย และพลังของปรากฏการณ์ซึ่งมนุษย์ยังต้องค้นต่อไป และในการผจญภัยนี้ ดูเหมือนวิถีของกวีนิพนธ์จะยังเป็นหนทางที่ตรงที่สุด และบทกวียังคงเป็นรูปแบบทางการเขียนที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุด


กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 40 ปี ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของปีนี้ ยังความเศร้าสลดอันใหญ่หลวงแก่วงวรรณกรรมไทย

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์เป็นนักเขียนที่กล้าประกาศตนเป็นนักเขียน เพื่อชีวิตในช่วงเวลาที่แนวทางศิลปะที่เรียกว่าเพื่อชีวิตเริ่มจะโรยรา งานเขียนที่โดดเด่นที่สุดของเขาคืองานประเภทเรื่องสั้น มีผลงานรวมเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์แล้วทั้งหมด 4 เล่ม (สะพานขาด (2534), คนใบเลี้ยงเดี่ยว (2535), แผ่นดินอื่น (2539), โลกหมุนรอบตัวเอง (2548)) และกำลังรอการตีพิมพ์อีก 2 เล่ม ผลงานเล่มสำคัญคือ สะพานขาด เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มแรก และ แผ่นดินอื่น เป็นรวมเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2539

นอกจากรวมเรื่องสั้น กนกพงศ์ยังมีผลงานรวมเล่มบทกวี 2 เล่ม (ป่าน้ำค้าง (2532), ในหุบเขา (2549)) และ ความเรียง อีก 2 เล่ม (บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร (2544), ยามเช้าของชีวิต (2546))   ป่าน้ำค้าง คือ บทกวีซึ่งเป็นผลงานเล่มแรกในชีวิต

กนกพงศ์เขียนหนังสือตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 14 ปี มีผลงานตีพิมพ์ครั้งแรกในขณะที่เรียนมัธยมต้น เป็นนักเขียนแนวสร้างสรรค์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้รับรางวัลช่อการะเกด 2 ครั้ง และได้รับเกียรติเป็นนักเขียนดีเด่นของอาเซียนโดยสถาบันวัฒนธรรมเดวานของมาเลเซีย

เรื่องสั้น สะพานขาด และเรื่องสั้น แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ เป็นเรื่องสั้นชิ้นสำคัญที่ส่งให้กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เป็นนักเขียนเพื่อสันติภาพของภาคใต้คนสำคัญ เรื่องสั้นแมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ ซึ่งอยู่ในรวมเรื่องสั้นแผ่นดินอื่น เป็นเรื่องสั้นที่เปิดโปงปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างลึกซึ้งคมคาย สำหรับวงการนักเขียนวรรณกรรมสะท้อนสังคม กนกพงศ์เป็นนักเขียนที่ได้รับการคาดหวังว่ามีศักยภาพสูงที่สุดในการเขียนวรรณกรรมเพื่อสันติภาพ เปิดโปงปัญหา และสร้างสำนึกความเข้าใจต่อปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังลุกเป็นไฟอยู่ในขณะนี้

หลังจากกนกพงศ์เสียชีวิต เขาทิ้งผลงานเรื่องสั้นและบทกวีที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ถึง 3 เล่ม นิยายที่ยังเขียนไม่เสร็จ 3 เรื่อง หนึ่งในสามเรื่องนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

กวีนิพนธ์ในหุบเขา คือ หนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นมรกดผลงานของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วสองเดือน

พิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร IMAGE

Comments