ขัปปะ
ผลงานชิ้นสุดท้ายของผู้เขียน “ราโชมอน”
และ “ในป่าละเมาะ” เรื่องสั้นที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อ
ราโชมอน โดย อากิรา คุโรซาว่า
จนโด่งดังและถูกนำไปใช้เป็นคำนิยามปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตเหตุการณ์เดียวกันสามารถบอกเล่าเหตุการณ์ได้แตกต่างหลากหลายโดยทุกเหตุการณ์มีความเป็นไปได้เท่าเทียมกันว่า
“ปรากฏการณ์ราโชมอน” หรือ
“The Rashomon Effect”
เรื่อง ขัปปะ
ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดวงกมลเมื่อปี 2521
ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำและปรับปรุงสำนวนโดยผู้แปลคนเดิมคือ กัลยาณี
สีตสุวรรณ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมเมื่อปี
2545
จากคำนำของ เคนสุเกะ ทะมะอิ
ศาสตราจารย์ผู้ชำนาญการวิชาภาษาวัฒนธรรมและวรรณคดีญี่ปุ่น
กล่าวถึงตัวขัปปะไว้ว่า เป็นสัตว์ในจินตนาการที่อยู่ในน้ำก็ได้ บนบกก็ได้
ตัวโตเท่าเด็กอายุ 5-6 ขวบ ปากเป็นจะงอยแหลม หลังมีกระดองหรือเกล็ดมือและเท้ามีพังผืดไว้ใช้ว่ายน้ำ
บนหัวมีจานเป็นแผ่นแบนที่มีรอยบุ๋มลงไปขังน้ำได้เล็กน้อย เวลาที่มีน้ำขังอยู่นั้น
แม้จะขึ้นบกก็มีพละกำลังกล้าแข็ง แต่พอน้ำหมดก็จะตาย คำว่า ‘ขัปปะ’
ในภาษาญี่ปุ่นจะเขียนด้วยตัวจีนสองตัว ตัวแรกแปลว่า ‘แม่น้ำ’
ตัวหลังแปลว่า ‘เด็ก’ อักษรสองตัวนี้ผสมกันออกเสียงว่า
‘kappa’ (ขับ-ปะ)
สำหรับชาวญี่ปุ่น ขัปปะเป็นสัตว์ที่ทุกคนคุ้นเคยดีแต่โบราณกาล
มักจะปรากฏตัวในนิทาน นิยาย ตำนาน และคำพังเพยในแง่ขบขันเสมอ
อย่างเช่นขัปปะมักจะผายลมบ่อย ๆ ฉะนั้นอะไรก็ตามที่ทำสำเร็จได้โดยง่าย
คนญี่ปุ่นมักจะบอกว่า “นั่นมันตดขัปปะ” ถ้าคนเก่งกล้าเกิดทำอะไรพลาดพลั้ง
ก็จะถูกเปรียบเป็น “ขัปปะจมน้ำ” ขัปปะเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเก่งแต่ก็อาจจมน้ำได้...
เรื่องขัปปะของริวโนะสุเกะ
อะคุตะงะวะเป็นนิยายสั้น หรือเรื่องสั้นขนาดยาวก็ว่า เป็นลักษณะของนิยายสมัยใหม่
ไม่ใช่ตำนานปรัมปรา หรือนิทานพื้นบ้าน
อะคุตะงะวะใช้ขัปปะเป็นตัวละครในเรื่องราวที่เกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เป็นคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลโรคจิต
ลีลาของนิยายมีลักษณะล้อเลียนเสียดสี มีความขบขันขณะเดียวกันก็มีมุมลึกชวนตีความ
เรื่องราวเริ่มจากคนไข้ของโรงพยาบาลโรคจิตผู้นี้เล่าความย้อนหลังถึงครั้งที่ได้พบกับขัปปะ
และถูกนำลงรูไปสู่เมืองของขัปปะ จากนั้นท่วงทำนองของเรื่องก็เป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ
ในเมืองขัปปะที่เขาได้ไปรู้เห็นมา
เคนซุเกะ ทามาอิ เล่าไว้ว่า
อาคุตะงะวะได้เขียนจดหมายถึงเพื่อนสนิทว่าเขาได้เขียนเรื่องแบบ
การผจญภัยของกัลลิเวอร์ (Gulliver’s Travels) ของ
โจนาธาน สวิฟท์
และเนื่องจากเรื่องขัปปะนี้อะคุตะงะวะเขียนขึ้นก่อนเขาจะฆ่าตัวตายเพียง 4
เดือน จึงมีการนำนิยายเรื่องนี้มาเชื่อมโยงกับการตายของเขา
โดยเฉพาะตัวละครขัปปะที่ชื่อ ‘ทค’ ในเรื่องซึ่งมีความเห็นว่าระบบครอบครัวและเครือญาติเป็นเรื่องทุกข์ทรมาน
และในที่สุดทคก็ฆ่าตัวตาย
สำหรับชีวิตของนักเขียนหรือศิลปินที่ต้องการไปให้ถึงที่สุด
ครอบครัวหรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์กับมนุษย์อื่นบางครั้งก็เป็นเครื่องพันธนาการที่แสนจะทุกข์ทรมาน
ศิลปะกับชีวิตจึงขัดแย้งกันอยู่เสมอ
สถานการณ์ชีวิตของอะคุตะงะวะก่อนจะเสียชีวิตก็เป็นไปในลักษณะนี้ คือมีภาระหน้าที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัวและญาติพี่น้องจำนวนมาก
อีกทั้งยังวิตกจริตว่าตนเองจะเสียสติไปเช่นเดียวกับแม่และพี่ชาย
ขัปปะเป็นนิยายที่อ่านไม่ยาก
สามารถอ่านจบได้ในเวลาอันสั้น แต่ตีความได้หลากหลาย
การอ่านคำนำที่ให้ภูมิหลังโดยเฉพาะสภาพสังคมญี่ปุ่นในช่วงที่อะคุตะงะวะเขียนเรื่องขัปปะก่อนจะฆ่าตัวตายใน
4 เดือนไห้หลังจะทำให้การตีความมีความเชื่อมโยงกับความเป็นจริง
พิมพ์ครั้งแรก วารสารหนังสือใต้ดิน
Comments
Post a Comment