หนึ่งร้อยปีแห่งความโหดเหี่ยว



บ้านหลังหนึ่ง มีสมาชิกอยู่มากมายหลายคน มีทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ และคนแก่ วันหนึ่งคนแก่คนหนึ่งในบ้านก็ป่วยเป็นโรคประหลาด ลุกขึ้นเต้นแร้งเต้นกา อาละวาดจนสมาชิกคนอื่นพากันหวาดกลัว ผู้เป็นใหญ่ในบ้านเข้ามาดูอาการ เรียกคนอื่น ๆ ในบ้านมาช่วยกันดูอาการ ก็ไม่มีใครบอกสาเหตุของโรคประหลาดได้ ในช่วงแรกคนป่วยยังเป็นที่สนใจของคนในบ้าน สมาชิกต่างเวียนกันมาเยี่ยมดู บางคนก็ดูด้วยความสังเวช บางคนดูด้วยความสงสาร บางคนพับนกกระดาษมาให้ บางคนดูด้วยความรำคาญ และบางคนก็ดูด้วยความรังเกียจชิงชัง  ผู้เป็นใหญ่ในบ้านเข้ามาทำทีเอาใจใส่ดูแล แต่คนป่วยก็ไม่มีทีท่าว่าจะหาย ยังคงอาละวาดอย่างไม่รู้สาเหตุ ผู้เป็นใหญ่ยังคงอดทน บอกแม่บ้านให้ป้อนข้าวป้อนน้ำให้คนป่วย แม่บ้านมองคนป่วยซึ่งเป็นภาระอย่างอิดหนาระอาใจ แม่บ้านทำใจเย็น ประคบประหงม จนคนป่วยปัดข้าวปัดน้ำหกเรี่ยราด แม่บ้านโมโหจัด จิกหัวคนป่วย กระชากแล้วทิ่มลงไปในกองอาหารที่อยู่บนพื้น คนป่วยยังดิ้นอาละวาด แม่บ้านกอบอาหารจากพื้นยัดใส่ปากคนป่วย คนป่วยส่ายหน้าดิ้นรน แม่บ้านบีบกราม ง้างปาก ยัดอาหารที่กอบจากพื้นลงไปในปากที่เทิ้มสั่น ยัดลงไป.. ยัดลงไป..

อาการป่วยกลายเป็นเรื่องปรกติ จนทุกคนไม่มีใครสนใจ แม่บ้านขังคนป่วยไว้ในห้อง คนในบ้านต่างทำกิจวัตรของตัว ห้องรับแขกเป็นที่ที่ครื้นเครงที่สุด มีแขกมากหน้าหลายตาพากันมาเยี่ยมเยือน คนในบ้านต้อนรับขับสู้แขกเหรื่อด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม จนวันหนึ่งมีคลื่นยักษ์ลูกหนึ่งซัดเข้ามาในห้องรับแขก ทำเอาคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก คนในบ้านต่างกุลีกุจอกันเข้าช่วยเหลือ แม่บ้านทำงานหนักที่สุด ดูแลแขกทุกคนอย่างลืมเหน็ดลืมเหนื่อย บรรดาแขกต่างประทับใจในน้ำจิตน้ำใจของคนในบ้าน ไม่เคยพบเห็นบ้านไหนมีน้ำใจเท่านี้มาก่อน ก่อนกลับออกไป ทุกคนสัญญาว่าจะกลับมาเยือนอีก คนในบ้านทุกคนแม้เหน็ดเหนื่อย แต่ก็ปลาบปลื้มใจที่ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน ทุกคนต่างให้กำลังใจต่อกัน รู้สึกรักใคร่กลมเกลียวกันยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา เมื่อเสียงอาละวาดยังคงดังจากห้องคนป่วย ทุกคนหันไปจ้องมองห้องที่ขังคนป่วยไว้ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทุกคนก็บอกว่าพวกเขาต้องทำอะไรสักอย่าง...


ข้างบนนี้เป็นเรื่องย่อของวรรณกรรมเชย ๆ เรื่องหนึ่งที่ผมไม่มีแรงบันดาลใจจะเขียน  หากเป็นสัก 20 ปีที่แล้วผมอาจจะเขียนเป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตในฐานะงานวรรณกรรมชิ้นเอกก็ได้ แต่ในเวลานี้ ผมรู้สึกเหี่ยวแห้งกับเรื่องดังกล่าวจนเกินกว่าจะทำให้มันเป็นงานวรรณกรรมขึ้นมาได้ ทำไมเรื่องข้างบนถึงไม่ดลใจให้ผมเขียนมันในสภาพแวดล้อมของวรรณกรรมสร้างสรรค์ในสมัยนี้ จะตอบคำถามนี้ผมคงต้องเขียนเป็นบทความขนาดยาวอีกชิ้น แต่ไม่ใช่สำหรับบทความชิ้นนี้ ในบทความชิ้นนี้ผมจะใช้มันเป็นเรื่องเล่าเพื่อพูดถึงอีกประเด็นหนึ่ง

ปี 2547 ที่ผ่านมานับเป็นปีแห่งหายนะปีหนึ่งของสังคมไทย เพราะมีแต่เรื่องร้าย ๆ ตั้งแต่ต้นปี ตั้งแต่ไข้หวัดนก ปล้นปืน มาจนถึงกรือเซะ ตากใบ และส่งท้ายปีเก่าด้วยสึนามิ

ก่อนเขียนบทความชิ้นนี้ ผมนั่งนิ่งเป็นเวลาเกือบสิบห้านาที นั่งนิ่งเพื่อรวบรวมสมาธิ รวบรวมความรำลึกทั้งหมด เพราะรู้ว่าจะต้องใช้พละกำลังอย่างมากเพื่อที่จะเขียน เขียนถึงอะไรบางอย่าง

ผมเป็นคนหนึ่งที่ตกตะลึงเมื่อเห็นข่าวสึนามิ ผมเชื่อว่าตัวเองสะเทือนใจ และเวลานั้นผมก็ไม่มีความสงสัยใด ๆ เลยต่อมาตรการความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่หลากไหลลงไป ต่อเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อผมเริ่มสังเกตเห็นบางสิ่งบางอย่าง ก่อนที่จะได้ร่วมไปในกระแสน้ำใจอันหลั่งล้นนั้น คำว่า เรา-ต้อง-ทำ-อะ-ไร-สัก-อย่าง ก็ดังขึ้นรอบ ๆ ตัว เรา-ต้อง-ทำ-อะ-ไร-สัก-อย่าง เหมือนเป็นสิ่งที่เดือดปุด ๆ อยู่ภายในคนที่ผมได้พบเจอ เรา เรา เรา เรา เรา คำว่า เรา เป็นดังมวลพลังที่ผนึกแน่นขึ้นมาอย่างฉับพลัน เราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเราเรา แล้วคำว่าเรานับล้าน ๆ คำ ก็คล้ายก่อตัวขึ้นเป็นคลื่นยักษ์อีกลูกสาดซัดผมให้ไหลกระเด็นไป

สมมุติว่าผมเป็นคนที่อยู่ในบ้านหลังนั้น สิ่งที่ผมจะต้องสงสัยอย่างแน่แท้ก็คืออะไรที่ทำให้คนในบ้านแสดงน้ำใจอย่างเปี่ยมล้นขนาดนั้น เหมือนกับถูกท้าทายด้วยอะไรบางอย่าง เหมือนกับมีอะไรไปท้าทายคำว่า "เราต้องทำอะไรสักอย่าง" เหมือนกับคำว่า "เราต้องทำอะไรสักอย่าง" เป็นสิ่งที่เดือดรออยู่แล้วภายในผู้คน กระทั่งมีคลื่นสึนามิซัดเข้ามามันจึงได้ฉีดพุ่งทะลักล้นออกมาอย่างรุนแรง

สังคมไทยเริ่มต้นปี 2547 ด้วยเหตุการณ์ปล้นปืนและไข้หวัดนก และก็ตามมาด้วยหายนะอื่น ๆ  จนกระทั่งถึงคลื่นยักษ์ส่งท้าย ถ้าโชคร้ายที่เกิดขึ้นทั้งปีจะทำให้ความเป็น "เรา" มันเข้มข้นขนาดนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมเข้าใจได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมต้องการกล่าวถึงที่สุดคือกรณีของสามจังหวัดภาคใต้

กล่าวถึงกรณีนี้อย่างตรงไปตรงมา เริ่มต้นที่กรือเซะ ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยมีคำว่า "เราต้องทำอะไรสักอย่าง" อยู่ในใจสำหรับกรณีนี้โดยเฉพาะ แต่จนถึงขณะนี้ ปัญหานี้ก็ยังเป็นสิ่งที่มืดมน ไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ เหมือนกับเราได้เผชิญหน้ากับโรคประหลาดที่เราไม่รู้จักมันเลยแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่เรารู้สึกว่าถูกคุกคาม แต่เราก็ไม่สามารถจับต้องสิ่งที่คุกคามนั้นได้ ไม่สามารถแม้แต่จะมองเห็นใบหน้าของมัน ในฐานะคน ๆ หนึ่งที่อยู่ในสังคมนี้ เราจะจัดการกับสิ่งนี้อย่างไร เราจะจัดการกับความรู้สึกนี้อย่างไร เราจะจัดการกับข่าวสารที่ประเดประดังเข้ามาอย่างไร เราจะจัดการกับมันอย่างไร กรือเซะ...

ในเช้าวันหนึ่งของยุคสมัยใหม่อันรุ่งโรจน์ เมื่อใครสักคนตื่นขึ้นมาพบกับข่าวสารบางอย่างที่สั่นคลอนการดำรงอยู่ของสังคมที่แวดล้อมเขาทั้งหมด ใครคนหนึ่งคนนั้นจะทำอย่างไร คนที่มีสำนึกทางสังคมโดยปรกติทั่วไปย่อมต้องหาทางทำอะไรสักอย่าง อะไรสักอย่างที่จะสร้างความสัมพันธ์ของเขากับสิ่งที่กำลังคลอนแคลนนั้นได้ การทำอะไรสักอย่างคือการเริ่มต้นสร้างความหมายให้กับการดำรงอยู่ของตน กับสิ่งที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป เป็นกระบวนการทางสังคมที่ทั้งต่อต้านและติดตามอำนาจจากภายนอกที่เข้ามากระทบสังคม

กรณีของคลื่นยักษ์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ซับซ้อน และไม่ต้องตั้งข้อสงสัย แม้สังคมมนุษย์จะพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่จนห่างไกลกับธรรมชาติ แต่ภัยธรรมชาติก็ยังเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และมีความหมายที่มั่นคงอยู่ในสังคม เป็นความหมายที่ไม่ต้องถกเถียง และเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ทิศทางของการแสดงออกของสังคมเพื่อต่อต้านและติดตามภัยธรรมชาติจึงมีความแน่นอน และไม่รวนเร การแสดงพลังน้ำใจจึงเป็นสิ่งที่กระทำได้อย่างปลอดโปร่ง

ทว่า กรณีของกรือเซะนั้นแตกต่างออกไป ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภัยคุกคามที่ชัดเจน หากแต่มีความหมายที่เงียบเชียบมาโดยตลอด ความเงียบของมันเปรียบเหมือนกับศัตรูที่เราไม่รู้จัก และเดินเข้ามาฟาดฟันเราโดยไม่พูดอะไรสักคำ การฟาดฟันพร้อมกับความเงียบทำให้การต่อต้านและติดตามการคุกคามนั้นเป็นไปอย่างรวนเรไร้ทิศทาง เพราะเราไม่สามารถหาความหมายของการคุกคามนั้นได้ เราไม่สามารถให้ความหมายกับสิ่งใด เราก็ไม่อาจสร้างเจตจำนงอันหนักแน่นในการกระทำการของเราต่อสิ่งนั้น การต่อต้านและติดตามของเราต่อการคุกคามนี้จึงเป็นไปอย่างอ่อนแอและปวกเปียก ยิ่งเราอ่อนแอและปวกเปียก เรากลับยิ่งหงุดหงิดและกร้าวร้าว เราโมโหโกรธาอยู่กับความไม่รู้ ความไม่สามารถอธิบายของตนเอง แต่ความกราดเกรี้ยวกร้าวร้าวของเราก็เป็นไปอย่างไร้พลังและมืดบอดอยู่ในความไม่รู้

สภาพของการไม่สามารถอธิบาย ไม่สามารถให้ความหมาย และตกอยู่ในความไม่รู้ เป็นสิ่งที่ทำให้พลังของสังคมถดถอยและล่มจมอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ในครั้งที่มนุษย์ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้ไม่เข้าใจตั้งแต่บรรพกาล บรรพบุรุษเหล่านั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบหาคำอธิบาย หาความหมายให้กับ ฝนตก ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว พระอาทิตย์ขึ้นและตก ฯลฯ เพื่อที่ความหมายเหล่านั้นจะเป็นรากฐานให้กับการกำหนดเจตจำนงแห่งการกระทำการต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้คนดำรงชีวิต ดำรงสังคมสืบทอดกันต่อมาได้ถึงปัจจุบัน พลังของการให้ความหมายจึงเป็นสิ่งที่มากไปกว่าการให้ข้อเท็จจริง อย่างที่โลกสมัยใหม่เข้าใจ

การให้ความหมายต่ออาณาเขตของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ พึ่งพาสิ่งสำคัญสองประการคือ "รัฐ" และ "ชาติ"  แม้ว่า "รัฐ" จะเป็นสิ่งชั่วคราวและมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด และแม้ว่า "ชาติ" อย่างที่เห็นและเป็นอยู่เพิ่งมีการก่อสร้างมาเพียงร้อยปี แต่สังคมไทยก็ใช้สอยรัฐและชาติที่เป็นอยู่อย่างไม่ตั้งข้อสงสัยอะไรนัก

"...พรมแดนของประวัติศาสตร์ไทย คือเขตแดนของดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ภายในพรมแดนนี้ ความสำคัญของสถานที่ต่าง ๆ ไม่เท่ากัน  สถานที่ต่าง ๆ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างกัน แต่ถือเอาดินแดนประเทศไทยปัจจุบันเป็นพรมแดนอันชอบธรรมของความรู้ประวัติศาสตร์ ...ดินแดนนอกประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์มายาวนานกับสยามจึงอาจถูกมองข้าม เพราะปัจจุบันไม่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เช่น ทวาย ไทรบุรี พระตะบอง  ในขณะที่อารยธรรมดั้งเดิมถูกละเลยหรือแยกเป็นเสี่ยงตามเขตแดนสมัยใหม่ เช่น สองฝั่งโขง เป็นต้น

"นอกจากนี้ขอบข่ายและพรมแดนประวัติศาสตร์แห่งชาติยังเป็นฐานของระบบเหตุผลนิยมของชาตินิยม ก่อให้เกิดอคติและ double standard

"องค์ประธาน (subject) ของประวัติศาสตร์ คือรัฐเอกภาพบนผิวโลก เป็นรัฐสมัยใหม่ มีตัวตนตามแบบภูมิศาสตร์สมัยใหม่ (geobody) ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกมาไม่เกิน 300 ปี มานี้เอง เฉพาะของไทยก็ไม่เกิน 100 ปี เศษแค่นั้น

"ในเมื่อถือว่าเป็นรัฐเอกภาพจึงมีราชธานีหนึ่ง ๆ เพียงแห่งเดียว ราวกับเป็นเมืองหลวงของรัฐชาติสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยถือเอาสุโขทัย อยุธยา กรุงเทพฯ เรียงลำดับมาเป็นเค้าโครง (plot) ของประวัติศาสตร์ไทย ไม่เห็นหรือไม่เน้นศูนย์อำนาจหลากหลายที่แข่งขันชิงความเป็นใหญ่กันแทบตลอดเวลา เช่น เชียงใหม่กับสุโขทัยและอยุธยาแข่งกันในปลายศตวรรษที่ 13-14 พิษณุโลกกับอยุธยาในปลายศตวรรษที่ 16 และอีกมากมายจนถึงต้นศตวรรษที่ 19"

ข้างต้นคือบางส่วนจากบทนำเกียรติยศ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ในหนังสือ รัฐปัตตานี ใน "ศรีวิชัย"
บทนำข้างต้นน่าจะเป็นสิ่งที่เปิดโปงให้เห็น "รัฐ" และ "ชาติ" ที่เราใช้สอยกันอยู่ได้เป็นอย่างดี ในทางกลับกัน วาทกรรมจากอีกซีกหนึ่งก็เปิดเผยให้เห็น "รัฐ" และ "ชาติ" ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

"ผมฟังแล้วผมเศร้าใจมาก ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นในแผ่นดินไทยสมัยนี้เหตุการณ์นี้มันเหมือนกับว่า เหตุการณ์ในครั้ง พ.ศ. 2310 ที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าครั้งที่ 2 ที่จะยิงปืนใหญ่ยังต้องขออนุญาตทั้ง ๆ ที่ข้าศึกบุกเข้ามาประชิดกำแพงเมืองแล้ว...แผ่นดินผืนนี้บรรพบุรุษของเราเอาเลือดเอาเนื้อ และเอาชีวิตเข้าแลกเอาไว้เป็นมรดกตกทอดมาสู่พวกเราเป็นเวลามาถึง 700 ปีแล้ว ในสมัยราชการที่ 1 เจ้าเมืองปัตตานีก่อกบฏก็ทรงใช้กรมพระราชวังบวรฯ ทรงทัพรอนแรมด้วยความยากลำบากเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ จึงถึงเมืองปัตตานี และใช้เวลาปราบปรามกบฏอยู่ถึง 3 ปี จึงสามารถปราบปรามได้ แต่ในปัจจุบันเราเดินทางแค่ 1 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว จะยอมเสียแผ่นดินที่เป็นมรดกของบรรพบุรุษหรือ?...

"...ส่วนข้อสรุปที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ญาติของกลุ่มโจรก่อการร้ายที่เสียชีวิตนั้น ผมไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะโจรก่อการร้ายพวกนี้กบฏต่อชาติ และราชบัลลังก์ โทษสูงสุดประหารชีวิตอยู่แล้ว ถ้าเป็นสมัยโบราณก็ต้องประหารชีวิตถึง 7 ชั่วโคตร ถ้าพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สำหรับผมแล้ว เรื่องนี้ต้องมาทีหลังชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์!...ถ้าทางคณะกรรมการคิดแบบนี้ และทำหน้าที่ถือว่าเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อไปคงไม่มีใครกล้าเสี่ยงชีวิตเข้าปฏิบัติการอย่างแน่นอน! ธงชาติไทยที่คลุมร่างทหารกล้าคลุมหีบศพทหารหาญเยี่ยงวีรบุรุษที่เสียสละเพื่อชาติ คงจะไม่มีความหมาย ทำไมคณะกรรมการจึงไม่เสนอให้เอาธงชาติไทยคลุมหีบศพของโจรก่อการร้ายด้วยละครับ?

"...คุณต้องเข้าใจว่าโจรแบ่งแยกดินแดนมันเป็นกบฏต่อชาติ ราชบัลลังก์ เพราะประเทศไทยจะแบ่งแยกไม่ได้

"ถ้าวันไหนที่อำนาจรัฐอ่อนแอ ปัญหามันก็เกิด เรื่องนี้มีมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว  ในสมัยรัชการที่ 1 พระองค์ก็ใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าในการปราบปราม พอมาสมัยรัชการที่ 7 ก็ใช้เวลา 3 ปี

"ตอนผมลงไปในปี 2520-2524 ก็ 4 ปี มาตรการที่บอกว่าจะปราบภายใน 6 เดือน ผมว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะมันเป็นแนวคิด เป็นขบวนการและเป็นการเอาศาสนานำหน้า โดยเฉพาะในทุกวันนี้สถานการณ์โลกมันเอื้ออำนวยด้วย และเขาก็เปลี่ยนวิธีการหลายอย่าง ส่วนประเด็นหลักที่เกิดปัญหาขึ้นเป็นเพราะต้องการแบ่งแยกดินแดนตั้งเป็นรัฐปัตตานี
"เพราะภาคใต้ทุกวันนี้มันไม่มีเอกภาพในการทำงาน ภาคใต้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยประมาณ 700 ปีมาแล้ว อันนี้เราได้จากหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งในศิลาจารึกบอกเอาไว้ว่า เขตของราชอาณาจักรไทย ทางทิศใต้จรดแหลมมาลายู คือเลย 3 จังหวัดลงไปอีก และเมื่อก่อนนี้ปีนังก็เป็นของเรา

"เมื่อ พ.ศ. 1837 ได้เรียกหัวเมืองชายแดนภาคใต้ว่า หัวเมืองมาลายู ซึ่งประกอบด้วยเมืองไทรบุรี กลันตันและเมืองปัตตานี"

ข้างต้นคือสิ่งที่พลเอกพัลลภ ปิ่นมณีกล่าวไว้ในหนังสือ ผมผิดหรือ? ที่ยึดกรือเซะ!

ทั้งบทนำของดร.ธงชัย และคำอธิบายของพลเอกพัลลภไม่เพียงแต่ตีแผ่ให้เราเห็นตัวตนของ "รัฐ" และ "ชาติ" ที่เราใช้สอยอยู่ มากกว่านั้น เราจะเห็นว่า ทั้งสองสิ่งนี้ไม่เพียงอยู่ในฐานะของสิ่งที่เราใช้สอย แต่พวกมันยังเป็นสิ่งที่บงการและใช้สอยเราอีกด้วย!
               
เมื่อใดก็ตามที่เราเอ่ยปากอธิบายสิ่งที่เรียกว่า "ประเทศไทย" เราก็ตกอยู่ภายใต้การใช้สอยของ "รัฐ" และ "ชาติ" เนื่องจากความรู้สองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ครอบคลุมความเป็นรูปร่างหน้าตาทั้งหมดของประเทศไทย พวกมันเหมือนเป็นเพียงสิ่งเดียวด้วยซ้ำที่เรามี เป็นความรู้เพียงหนึ่งเดียวที่เรามี และความรู้เพียงหนึ่งเดียวนี้ก็ได้กลายมาเป็นคำอธิบายและการให้ความหมายเพียงหนึ่งเดียวในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งที่เรียกว่า "ประเทศไทย"

"เรา" กับ "ประเทศไทย" "เรา" ในที่นี้มิได้หมายถึงประชากรไทยทุกคน หรือมนุษย์ทุกคนที่มีบ้านอยู่ในเส้นขอบขวานทองบนแผนที่ แต่ "เรา" ในที่นี้หมายถึง คนจำนวนหนึ่ง สถาบันจำนวนหนึ่ง และโดยมากเป็นจำนวนที่เข้มข้นและมีอำนาจ โดยกระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์กลาง  "เรา" มีความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย เพียงแค่นี้ แค่นี้จริง ๆ

อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าในกรณีที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับ "ประเทศไทย" ในฐานะของสิ่งที่นอกเหนือไปจากความรู้ที่เรามีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเราจะตกอยู่ในความมืดบอด มืดบอดก็เพราะ "ประเทศไทย" ในความหมายของปมปัญหากรณีของกรือเซะนั้น มีรากเหง้าความเป็นมาของปัญหาที่เป็นประวัติศาสตร์จากอีกอาณาเขต เป็นปมปัญหาที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณาเขตของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในความหมายของพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี เพราะแม้นว่า "จังหวัดปัตตานี" จะอยู่ในแผนที่ "ประเทศไทย" แต่ "ความเป็นปัตตานี" ที่แท้จริงมีความหมายอีกมากมายที่อยู่นอกแผนที่ประเทศไทย

คำว่า "ปัญหาแบ่งแยกดินแดน" นั้น ถ้าเรามองจากความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยที่เรามีอยู่อันเดียวจริง ๆ นี้ มันจึงดูเป็นปัญหาที่ไม่มีความสลับซับซ้อนอันใดทั้งสิ้น เพราะ "ประเทศไทยแบ่งแยกไม่ได้!" แต่ "ประเทศไทยแบ่งแยกไม่ได้!" นี้ ก็ไม่เคยแก้ปัญหาในระยะยาวได้เลย มันไม่เคยแสดงให้เห็นว่ามันเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพแม้แต่น้อย ไม่เพียงไม่มีประสิทธิภาพ มันยังล่อลวงบิดเบือนหลายสิ่งหลายอย่าง กระทั่งการจดจำเรื่องราวที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ระยะไกลอะไรอย่าง "ดุซงญอ" ก็ถูกมือของความรู้ที่มีอยู่อันเดียวจับบิดให้เป็น "กบฏดุซงญอ" ทั้งที่ประชาชนจัดตั้งกองกำลังขึ้นต่อต้านโจรจีนคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาปล้นสะดม แต่ด้วยความหวาดระแวงของรัฐจึงใช้ทหารจู่โจมชาวบ้าน จนมีคนล้มตายหลายร้อยคน ถัดมากรณีของหะยีสุหลง ก็ยังคงถูกจดจำในฐานะ "กบฎ" ทั้งที่หะยีสุหลงยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐโดยตรงและเปิดเผย และฝ่ายรัฐด้วยซ้ำที่เปิดโอกาสให้หะยีสุหลงเสนอข้อเรียกร้องขึ้นไปเอง แต่ภายหลังหะยีสุหลงกลับถูกจับด้วยข้อหา "กบฎ" และ "ต้องการแบ่งแยกดินแดน" ซ้ำหมดโทษถูกปล่อยตัวมาสอนหนังสืออยู่ในปอเนาะ ยังถูกตำรวจอุ้มฆ่าถ่วงน้ำ

การถูกกระทำของชาวบ้านและหะยีสุหลงทั้งสองกรณี ล้วนถูก "จดจำ" ในฐานะของ "กบฎ" และ "แบ่งแยกดินแดน" เนื่องจากเป็นสิ่งเดียวที่ความรู้เกี่ยวกับ "รัฐ" และ "ชาติ" ที่มีอยู่มีปัญญาอธิบายออกมาเท่านั้นเอง

ความเงียบที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งจึงเป็นความเงียบที่มาจากข้อจำกัดของหูที่มีอยู่ เป็นความมืดบอดบื้อไบ้ภายใต้บงการของวาทกรรม "รัฐ" และ "ชาติ" ที่ใช้สอยเราอยู่  การเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจเท่านั้น จึงจะทำให้เราสามารถก้าวพ้นไปจากสภาวะของความไม่รู้/ไม่สามารถอธิบายได้ จำเป็นจะต้องเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ และไม่ตกไหลไปตามกระแสการขายข่าวของสื่อ ต้องฟังเสียงที่แผ่วเบาแต่อยู่นอกเหนือไปจากเสียงอันก้องกังวาลของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  เสียงซึ่งสะท้อนจากชายขอบของความเป็นไทย

ในการสร้างความรู้ความหมายขึ้นต่อต้านสิ่งที่เข้ามาปะทะกับ "รัฐ" และ "ชาติ" ที่ใช้สอยบงการเรานั้น เรามีความจำเป็นที่จะต้องมองหาตัวตนของรัฐและชาติในมุมมองอื่น ๆ  และบางครั้งอาจต้องมองมุมเดียวกับสิ่งที่เข้ามาปะทะคุกคาม และถึงที่สุดแล้ว ในกรณีของกรือเซะ เรามีความจำเป็นต้องรื้อความเป็น "รัฐ" และ "ชาติ" ที่บงการเราอยู่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในระยะใกล้และไกล ถ้าเรามองดูให้ดีก็จะเห็นว่า "รัฐ" และ "ชาติ" ในมโนภาพที่ผ่านมานั่นแหละเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา และเป็นตัวที่ก่อให้เกิดความรู้สึกถูกคุกคามขึ้นมาเสียยิ่งกว่าตัวสิ่งที่เข้ามาคุกคามด้วยซ้ำ

เราเคยเชื่อว่าแผ่นดินไหวเพราะปลาอานน ฟ้าผ่าเพราะนางนพมาศล่อแก้ว ก่อนที่เราจะอธิบายมันใหม่ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ถ้ามันจะเป็นกระบวนการสร้างความหมายใหม่ที่จะทำให้สังคมไทยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขขึ้น จะเป็นไร ถ้าเราจะมาสร้าง "รัฐ" และ "ชาติ" กันใหม่...ก่อนที่ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของ "เรา" จะ "ฆ่า" คนป่วยตาย โดยที่เราจะไม่มีความเข้าใจโรคประหลาดนี้แม้แต่น้อย

เขียน มิถุนายน 2548


Comments