วิจารณ์นิตยสารเวย์และประจักษ์ ก้องกีรติ
ก่อนจะพูดถึงบทสัมภาษณ์ประจักษ์
ก้องกีรติใน เวย์ 37 จำเป็นต้องกล่าวถึงปฏิกิริยาอีกส่วนต่อกรณี เพื่อชีวิต
ในจดหมายของผมและคำตอบของสุชาติ สวัสดิ์ศรี คือ บทความ วรรณกรรมทดลองของวินทร์
กับการผลัดแผ่นดินของวรรณกรรมวิจารณ์ เขียนโดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ใน อ่าน
ฉบับ เมษายน - กันยายน 2552
ข้อแรกที่ผมอยากให้สังเกตก็คือ
อ่าน ฉบับนี้คือวาระของเดือน เมษายน - กันยายน 2552
ซึ่งแทบจะเป็นวาระเดียวกับช่อการะเกด 49 ซึ่งเป็นวาระของเดือน กรกฎาคม - กันยายน
2552
หมายความว่า
ชูศักดิ์ได้อ่านและเขียนใส่ลงในบทความเกือบจะทันที
เพราะต้องส่งพิมพ์ให้หนังสือออกในช่วงเดียวกัน หรือไม่อีกอย่างหนึ่งก็คือ
ชูศักดิ์จะต้องได้เห็นทั้งจดหมายของผมและคำตอบของสุชาติ
ก่อนที่ช่อการะเกดจะตีพิมพ์ ตรงนี้ผมตั้งเป็นข้อสังเกตไว้
บทความชิ้นนี้ชูศักดิ์บอกว่า
ปรับปรุงแก้ไขจากบทวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ นำเสนอในงานสัมนาเรื่อง
"การวิจารณ์วรรณกรรมของวินทร์ เลียววาริณ" จัดโดยโครงการวิจัย
"การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ร่วมสมัย
เพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์" วันที่ 6 มิถุนายน 2552 ศูนย์มานุษยวิทยาฯ
ตลิ่งชัน (แสดงว่า อ่าน ฉบับนี้ - วาระเมษา-กันยา -
จะต้องออกหลังหรืออย่างน้อยภายในเดือนมิถุนายน)
ในบทความชิ้นนี้ชูศักดิ์พูดถึงประเด็นสำคัญที่คาบเกี่ยวกับสิ่งที่ผมอภิปรายหลายเรื่อง
และมีการอ้างอิงคำตอบจดหมายของผมของสุชาตินี้ในฟุตโน้ตด้วย โดยเนื้อหาดังกล่าวอยู่ในหัวข้อ
วรรณกรรมและวรรณกรรมวิจารณ์หลัง 6 ตุลาคม 2519 (หน้า 44)
มีความตรงส่วนที่ใส่เชิงอรรถคำตอบของสุชาติดังนี้
นี่มิใช่ยุคของ
"สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย" อีกต่อไปแล้ว
เพราะสายธารดังว่าดูจะตื้นเขินและเหือดแห้งไปพร้อม ๆ กับ "สู่ฝันอันยิ่งใหญ่"
ของอุดมการณ์สังคมนิยม แต่นี่คือยุคของ
"ทางอันไม่รู้จบของวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์" ที่มาพร้อมกับ
"ความฝันอันสูงสุด" ของชนชั้นกลางเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมไทย
(ผู้เขียนขออนุญาต
"เปิดวงเล็บ"
เสนอคำอธิบายเพิ่มเติมที่ค่อนข้างยาวเกินกว่าจะใส่ไว้ในเชิงอรรถต่อประเด็นนี้ว่า
ในข้อเขียนหลายชิ้นเหล่านี้ ผู้เขียนได้ประเมินบทบาทของปัญญาชนหลัง 6
ตุลาคมเหล่านี้ว่ามีลักษณะเป็นเสรีนิยมกระฎุมพี
แต่ในปัจจุบันกลับรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะใช้คำนี้ เนื่องจากนักเขียน นักวิชาการ
และปัญญาชนในกลุ่มนี้มาจากพื้นฐานที่แตกต่างหลากหลายพอสมควร
จุดที่ร่วมกันของพวกเขาในขณะนั้นก็คือ
วิพากษ์วรรณกรรมเพื่อชีวิตควบคู่ไปกับการค้นหาและเสนอแนวทางใหม่ในการสร้างสรรค์และการวิจารณ์วรรณกรรม
การเหมารวมเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเสรีนิยม-มนุษยนิยมดูจะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
ที่สำคัญ เมื่อเวลาผ่านไป ลักษณะอนุรักษนิยมที่แอบซ่อนอยู่ในกลุ่มและในแนวคิดหลายแนวที่ซ้อนทับอยู่ในกลุ่มนี้*
(ตรงนี้ใส่ตัวเลขของเชิงอรรถที่อ้างคำตอบสุชาติประเด็นเพื่อชีวิตในจดหมายของผม)
ขณะเดียวกันผู้เขียนมีลางสังหรณ์ว่า
เมื่อเวลาทอดยาวออกไป และเรานำกรอบประวัติศาสตร์ช่วงยาว (longue duree) มาวิเคราะห์ความเคลื่อนไหววรรณกรรมในช่วงดังกล่าว
ข้อสรุปอาจเป็นไปได้สูงว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา
วรรณกรรมไทยถูกครอบงำโดยกระแสอนุรักษ์นิยมเป็นหลักมาโดยตลอด
และกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตในช่วงสั้น ๆ เพียงห้าปีคือราว 2515-20
เป็นเพียงอุบัติเหตุทางความคิดที่ทำให้กระแสอนุรักษ์นิยมต้องเฉไฉเปลี่ยนทิศไปชั่วขณะ
ก่อนจะหวนกลับมาด้วยกระแสที่ใหญ่กว่า กว้างขวางกว่า
และแผ่ซ่านซึมลึกไปทั่ววงการวรรณกรรมไทย ที่น่าคิดอีกประการหนึ่งคือ
เมื่อดูจากเส้นทางและพัฒนาการความคิดของนักเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตหลายคนในช่วงนั้นถึงปัจจุบัน
บางทีอาจจะถึงเวลาที่ต้องมาวิเคราะห์ประเมินวรรณกรรมเพื่อชีวิตในยุคนั้นใหม่หมด
ความเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตน้ำเน่าสำเร็จรูปที่เคยมองว่าเป็นเพียงปัญหาเชิงเทคนิคและความอับจนในการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่
แท้จริงแล้วอาจจะมีเหตุปัจจัยที่หยั่งรากลึกกว่านั้น กล่าวคือการใช้รูปแบบสำเร็จรูปแท้จริงแล้วแสดงให้เห็นถึงรากความคิดอนุรักษนิยมของผู้สร้างที่มิอาจสลัดตัวเองจากกรอบความคิดและความเคยชินเดิม
ๆ
คำอธิบายลักษณะนี้เท่านั้นจึงจะพอเข้าใจพฤติกรรมของนักเขียนและกวีหลายคนที่ในปัจจุบันดูจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
จากที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นแถวหน้าของกวีประชาชน
ปัจจุบันกลายมาเป็นแถวหน้าของกวีราชสำนัก นั่นคือพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนสีแปรธาตุ
ความเข้าใจของเราต่อสถานะของพวกเขาในอดีตต่างหากที่จะต้องเปลี่ยน
หากสมมติฐานที่ถูกต้อง
เราอาจจะต้องสังคายนาความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการวรรณกรรมและวรรณกรรมวิจารณ์ไทยในรอบ
50 ปีนี้กันใหม่หมด
(ตรงที่ผมขีดเส้นใต้นี้เดี๋ยวจะขยายความทีหลัง)
ส่วนตรงนี้เป็นข้อความตรงเชิงอรรถ
ดูเพิ่มตัวอย่างความเห็นต่อประเด็นเรื่องวรรณกรรมเพื่อชีวิต
ใน สุชาติ สวัสดิ์ศรี "วิจารณ์คำวิจารณ์ของบรรณาธิการ" ใน ช่อการะเกด
(ก.ค.-ก.ย.2552) หน้า 248-258.
ทัศนะของสุชาติในที่นี้น่าจะเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของปีกเสรีนิยม-มนุษยนิยมในกลุ่มที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามและวิพากษ์วรรณกรรมเพื่อชีวิตหลังเหตุการณ์
6 ตุลาคม
โดยแสดงให้เห็นถึงความพยายามของสุชาติที่ต้องการจะขยายนิยามของวรรณกรรมเพื่อชีวิตให้กว้างขวางขึ้น
ไม่ติดอยู่แต่ในกรอบของอุดมการณ์ทางการเมืองแต่กรอบเดียว
(ตรงที่ขีดเส้นใต้เดี๋ยวผมจะขยายความเพิ่ม)
ข้างล่างนี่เป็นส่วนที่กล่าวถึง
ซีไรต์
ซึ่งค่อนข้างสอดพ้องกับทัศนะของผมและสิ่งที่ผมได้เคยอภิปรายไปแล้วที่บอร์ดไทยโพเอ็ท
และบทความในวารสารหนังสือใต้ดิน 13 คือประเด็นว่า "วรรณกรรมสร้างสรรค์"
ที่ถูกสถาปนาขึ้นในทศวรรษ 2520 นั้น
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญมี 2 ฝ่ายคือ นิตยสารโลกหนังสือ และ รางวัลซีไรต์ หรือจะพูดอีกอย่าง ณ เวลานี้ก็คือ สุชาติ
สวัสดิ์ศรี และ ฝ่ายจารีตนิยม ณ ขณะนั้น (ซึ่งค่อนไปทางนิยมเจ้า) ทั้งนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความตรง ๆ ว่า สุชาติไปจับไม้จับมือกับพวกนิยมเจ้า
หรือเข้าไปเป็นกรรมการซีไรต์ แต่การ
"ร่วมมือ" ในที่นี้ (ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจ)
หมายถึงการที่จังหวะของสุชาติในการวิพากษ์เพื่อชีวิตนั้น ประจวบเข้ากับการที่ฝ่ายจารีตต้องการ
"ลบ" เพื่อชีวิต และ ชนชั้น ออกไปจากวัฒนธรรมการอ่านของประเทศนี้พอดี
(ข้อความของชูศักดิ์
น.46 หัวข้อ รางวัลวรรณกรรมกับการสร้างบรรทัดฐานใหม่)
รางวัลที่ถือว่าทรงอิทธิพลที่สุดคือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี
2522
มาตรฐานทางวรรณกรรมชุดใหม่ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
นั้นมีลักษณะประนีประนอมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตและวรรณกรรมแนวจารีตนิยม
ในแง่ที่ยอมรับแนวคิดเรื่องวรรณกรรมต้องทำหน้าที่สะท้อนชีวิตและสังคมของกระแสแนวเพื่อชีวิต
ขณะเดียวกันก็เชิดชูแนวคิดเรื่องความงามและความวิจิตรอลังการของภาษา
อันเป็นมรดกของกระแสแนวจารีตนิยม
ต่อไปนี้เป็นส่วนที่เป็นประเด็นซึ่งผมดึงออกมาจากหัวข้อ
วรรณกรรมและวรรณกรรมวิจารณ์ยุคหลัง 6 ตุลาคม 2519
(น.44)
แม้จะตั้งคำถามและถึงขั้นลุกขึ้นมาปฏิเสธวรรณกรรมเพื่อชีวิต
แต่นักเขียนสายวรรณกรรมเพื่อชีวิตในขณะนั้นมิได้ปฏิเสธภารกิจและพันธกิจทางสังคมของวรรณกรรมตามคตินิยมของวรรณกรรมเพื่อชีวิตแต่อย่างใด
พวกเขาต่างพยายามแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ
ที่จะนำเสนอประเด็นปัญหาทางสังคมอย่างซับซ้อนขึ้นกว่าคำตอบตายตัวเดิม ๆ
และอย่างมีชั้นเชิงมากขึ้น
(น.44)
ภาษาและสำเนียงของวรรณกรรมวิจารณ์ในช่วงนี้เริ่มแปร่งและแปลกไปจากการพูดถึงวรรณกรรมว่าคือการถ่ายสะท้อนความอัปลักษณ์ชั่วร้ายของการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น
ค่อย ๆ กลายมาเป็นวรรณกรรมคือการถ่ายทอดความเข้มข้นของประสบการณ์ชีวิต
จากการคาดหมายให้วรรณกรรมมีภารกิจปลุกจิตสำนึกทางชนชั้น ค่อยกลาย ๆ
มาเป็นวรรณกรรมมีบทบาทปลุกจิตสำนึกใฝ่ดี
จากการยกสถานะวรรณกรรมให้เป็นโคมทองส่องทางเพื่อติดอาวุธทางปัญญาปลดปล่อยมวลชนให้หลุดพ้นจากการมอมเมาและครอบงำทางความคิด
ค่อย ๆ กลายมาเป็นวรรณกรรมคือพลังทางปัญญาเพื่อเชิดชูคุณค่าความเป็นมนุษย์
(อ้างเจตนา)
ข้าพเจ้าไม่คิดว่าเราจะเอาทฤษฎีมาร์กซิสในเรื่องชนชั้นมาอธิบายปัญหานี้ได้
นวนิยายเรื่อง คำพิพากษา ผ่านเลยระดับของปรัชญาการเมืองไปสู่อภิปรัชญาเสียแล้ว
ในโลกวรรณกรรม เรื่องนี้ คำว่า "เพื่อนร่วมโลก" คำว่า
"เพื่อนมนุษย์" ไม่มีอยู่ในศัพทานุกรม โลกนี้เต็มไปด้วย
"คนอื่น" และเป็นดังที่นักปราชญ์ฝรั่งเศส ณอง ปอล ซาร์ตร์
เคยกล่าวเอาไว้ในละครเรื่องหนึ่งของเขาว่า "นรกคือผู้อื่น"
บทวิจารณ์
คำพิพากษา ของ เจตนา นาควัชระ ข้างต้น
เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นทิศทางที่เปลี่ยนไปของวรรณกรรมวิจารณ์ในช่วงหลังเหตุการณ์
6 ตุลา ที่เลือกมองวรรณกรรมด้วยมิติทางปรัชญาตามกรอบคิดมนุษยนิยม
(ตัวเน้นและขีดเส้นใต้ตรงคำพูดที่ชูศักดิ์อ้างเจตนามานี้เป็นของผม
จะเห็นได้ว่าเป็นการ “ยก” ระดับของ วรรณกรรมที่ก้าวหน้า
ให้พ้นไปจากเพื่อชีวิต และพร้อมกันนั้นก็ “กด” เพื่อชีวิตเอาไว้ ซึ่งจริง ๆ
แล้วเป็นสิ่งที่มีเหตุผลในทางวรรณกรรมวิจารณ์ แต่ขณะเดียวกัน
ก็ไปสอดพ้องเข้ากับความต้องการของฝ่ายจารึตนิยมที่ต้องการ “ลบ” คำว่าชนชั้นออกไปจากวัฒนธรรมการอ่าน)
- ดูตัวอย่างกรณีดังกล่าวในเรื่องประจำปก
"จัตุรัสความคิด วิสา คัญทัพ วัฒน์ วรรยางกูร" โลกหนังสือ 4:10
(ก.ค.2524)
- เจตนา นาควัชระ, ทางอันไม่รู้จบของวัฒนธรรมแหงการวิจารณ์
(กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ), หน้า 79
- ดู ชูศักดิ์
ภัทรกุลวณิชย์ "25ปี คำพิพากษา กับคำอุทธรณ์ของสมทรง ใน มติชนสุดสัปดาห์ 26:
1347-1350 (9-30 มิ.ย. 2549)
ตรงส่วนนี้อยู่ในหัวข้อ
จากวรรณกรรมเพื่อชีวิตสู่วรรณกรรมสร้างสรรค์
(น.47)
เกณฑ์การประเมินคุณค่ารางวัลวรรณกรรมระดับชาติ
และแนวทางการวิจารณ์วรรณกรรมในช่วงหลัง 6 ตุลาคมดังได้กล่าวมาข้างต้น
แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเกิดการผลัดแผ่นดินในวงวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย
สรุปรวบยอดได้จากการอุบัติขึ้นของคำว่า "วรรณกรรมสร้างสรรค์" ซึ่งเริ่มเข้ามาแทนที่คำว่า
"วรรณกรรมเพื่อชีวิต"
(น.47)
เช่นหนังสือรวมบทกวี
เพียงความเคลื่อนไหว ของเนาวรัตน์ และ ใบไม้ที่หายไป ของ จิระนันท์
บทกวีหลายชิ้นที่นำมารวมตีพิมพ์เขียนไว้ตั้งแต่ในยุควรรณกรรมเพื่อชีวิตเฟื่องฟูด้วยซ้ำไป
อาจกล่าวได้ว่าในช่วงสิบกว่าปีหลังเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อวันที่
6 ตุลาคม และก่อนหน้าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 นั้น วงการวรรณกรรมร่วมสมัยอยู่ในภาวะผิดฝาผิดตัว
หัวมังกุท้ายมังกร
นั่นคือในขณะที่แนวทางการวิจารณ์วรรณกรรมและมาตรฐานวรรณกรรมได้เปลี่ยนไปเป็น
"วรรณกรรมสร้างสรรค์" ภายใต้กรอบคิดเสรีนิยม-อนุรักษ์นิยมแล้ว
แต่นักเขียนและงานวรรณกรรมจำนวนมากที่เป็นผลผลิตของกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตช่วงก่อน
6 ตุลา ไม่อาจปรับเปลี่ยนตามกระแสใหม่ได้เต็มตัว
ยังตกอยู่ภายใต้แรงเฉื่อยของแนวคิดวรรณกรรมเพื่อชีวิต
งานของนักเขียนเหล่านี้ในช่วงนี้จึงล้วนมีกลิ่นอายของวรรณกรรมเพื่อชีวิตอยู่ไม่มากก็น้อย
ขณะที่นักเขียนรุ่นใหม่ที่ปลอดจากอิทธิพลความคิดของวรรณกรรมเพื่อชีวิต
ก็ยังไม่แก่กล้าพอที่จะสร้างงานตามแนวทาง "วรรณกรรมสร้างสรรค์"
ด้วยเหตุนี้นี่เองรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์จึงตกไปอยู่ในมือของนักเขียนแนววรรณกรรมเพื่อชีวิตหลายคน
เพราะดี ๆ ชั่ว ๆ งานเขียนเหล่านี้ก็ดูมีหน้ามีตา
สมราคามากกว่างานเขียนแนวพาฝันหรือแนวโรมานซ์ที่มีอยู่กลาดเกลื่อนในขณะนั้น
ตรงส่วนนี้กล่าวได้ว่าเป็นข้อสรุปรวบยอดของชูศักดิ์
ซึ่งผมถือว่าเป็นความ "คุ้มค่า"
อย่างยิ่งสำหรับตัวผมเองที่ลงทุนเปิดประเด็นเพื่อชีวิตและชนชั้นขึ้นมา
และสามารถดึงชูศักดิ์ลงมาเล่นได้ ซึ่งชูศักดิ์ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง
ข้อสรุปนี้แม้มุมมองในรายละเอียดหลายเรื่องจะแตกต่างจากข้ออนุมานของผม
แต่สำหรับประเด็นสำคัญแล้วกล่าวได้ว่า
ทั้งตรงใจและชัดเจนกว่าสิ่งที่ผมคิดอยู่ในหัวเสียอีก
ดูได้จากย่อหน้านี้ซึ่งพอจะเป็นคำสรุปได้
(น.48)
เพราะวรรณกรรมวิจารณ์ในยุคนี้ตกอยู่ใต้กระแสความคิดเสรีนิยม-อนุรักษนิยมโดยแทบจะสิ้นเชิง
วรรณกรรมเหล่านี้ถูกชำระล้างหรือถึงขั้นฟอกสีเพื่อลบร่องรอยของความเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตและได้รับการประทับตราใหม่ว่า
"วรรณกรรมสร้างสรรค์" ที่ไม่มีนัยยะเชิงอุดมการณ์หรือนัยยะเชิงปฏิบัติการทางการเมืองที่อาจคุกคามความคิดความเชื่อ
หรือสั่นคลอนอำนาจและสถาบันใด ๆ ในสังคม
อธิบายขีดเส้นใต้ที่
1
"ความเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตน้ำเน่าสำเร็จรูปที่เคยมองว่าเป็นเพียงปัญหาเชิงเทคนิคและความอับจนในการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่
แท้จริงแล้วอาจจะมีเหตุปัจจัยที่หยั่งรากลึกกว่านั้น กล่าวคือการใช้รูปแบบสำเร็จรูปแท้จริงแล้วแสดงให้เห็นถึงรากความคิดอนุรักษนิยมของผู้สร้างที่มิอาจสลัดตัวเองจากกรอบความคิดและความเคยชินเดิม
ๆ
คำอธิบายลักษณะนี้เท่านั้นจึงจะพอเข้าใจพฤติกรรมของนักเขียนและกวีหลายคนที่ในปัจจุบันดูจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
จากที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นแถวหน้าของกวีประชาชน
ปัจจุบันกลายมาเป็นแถวหน้าของกวีราชสำนัก นั่นคือพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนสีแปรธาตุ
ความเข้าใจของเราต่อสถานะของพวกเขาในอดีตต่างหากที่จะต้องเปลี่ยน"
ตรงนี้ผมเห็นต่างจากชูศักดิ์
ที่มองว่า "ดั้งเดิมแล้ว" พวกนี้อาจจะเป็นจารีตนิยมอยู่แล้ว ซึ่งใช้ได้กับบางคน (เช่น เนาวรัตน์)
แต่บางคนก็อาจจะใช้อธิบายไม่ได้ (เช่น สุรชัย)
ประเด็นสำคัญที่ผมเห็นต่างจากชูศักดิ์ยังมีประเด็นที่อยู่ในฟุตโน้ตนี้อีกด้วย
(ฟุตโน้ต 17 หน้า
47)
ทั้งคำว่า
"วรรณกรรมเพื่อชีวิต" และ "วรรณกรรมสร้างสรรค์"
เป็นผลผลิตของสิ่งที่พอจะเรียกกล้อมแกล้มได้ว่า "ภูมิปัญญาไทย"
หรือการทำให้เป็นไทยของแนวคิดด้านวรรณกรรม กล่าวคือ
คำว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตเป็นคำที่ฝ่ายซ้ายไทย (โดยเฉพาะจิตร
ภูมิศักดิ์ผู้มีบทบาททำให้คำคำนี้พูดกันติดปากในหมู่นักเขียนและนักวิจารณ์)
แปลงมาจากคำว่า "socialist realism" สัจนิยมสังคมนิยม
ของนักวรรณกรรมสายมาร์กซิสม์ ส่วนคำว่า "วรรณกรรมสร้างสรรค์"
เป็นคำที่นักวิจารณ์เสรีนิยม-อนุรักษนิยม ไทยสร้างขึ้นเอง
เพื่อให้แตกต่างจากวรรณกรรมเพื่อชีวิต มีนัยยะคล้ายคลึงกับคำว่า "serious literature" โดยตัวของมันเองคำว่า "วรรณกรรมสร้างสรรค์"
เป็นคำซ้ำความอยู่ในตัว เพราะวรรณกรรมโดยนิยามก็หมายถึงผลงานสร้างสรรค์อยู่ในตัวแล้ว
เพื่อชีวิต
ดัดแปลงมาจาก socialist realism ?
ตรงนี้ถ้า
อ.ชูศักดิ์ได้อ่านกระทู้นี้ ผมคงต้องขอให้อาจารย์อ่านกระทู้ ชำแหละคำตอบสุชาติ
สวัสดิ์ศรี กรณี เพื่อชีวิต ประเด็นต่อประด็น ด้วย
ดังที่ผมได้อภิปรายไว้แล้ว
จิตรไม่ได้แค่ได้รับอิทธิพลจากมาร์กซิสม์
แต่ได้รับอิทธิพลจากหลายทาง โดยเฉพาะ ตอลสตอย ซึ่งเป็น realism ผมค่อนข้างเชื่อด้วยซ้ำว่า ถ้าตัดประเด็น "ชนชั้น" ออก
อาจกล่าวได้ว่า จิตรและนักเขียนในช่วงเวลานั้นได้รับอิทธิพลของ realism หรือ สัจนิยมของรัสเซียมากกว่าสิ่งอื่นใด
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่
จิตรได้สถาปนาคำว่าเพื่อชีวิตขึ้นโดยผสมผสานแนวคิดต่าง ๆ ขึ้น ณ บริบทของสังคมไทย
ณ ทศวรรษที่ 2490 ซึ่งสถานการณ์การเมืองขณะนั้นคือ ฝ่ายประชาธิปไตยกำลังเพลี่ยงพล้ำฝ่ายกษัตริย์นิยม
หลังเกิดกรณี ร.8 สวรรคต
การที่คิดว่า
เพื่อชีวิต จะต้อง เชื่อมกับ socialist realism นั้น ก็เพราะว่าคิดติดอยู่กับเรื่อง
ชนชั้น และ มาร์กซิสม์
หรือคิดถึงทั้งสองสิ่งในฐานะเรื่องเดียวกัน แต่ผมขอถามว่า
นี่เป็นมุมมองเดียว และเป็นหนทางเดียวจริง ๆ
หรือครับในการมองการถือกำเนิดขึ้นของเพื่อชีวิตอันมีเรื่องชนชั้นเป็นสาระสำคัญ
อิทธิพลของมาร์กซิสม์
และ socialist realism นั้น ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว
แต่แน่ใจหรือครับว่า ประเด็น "ชนชั้น"
ไม่ได้เป็นไอเดียอยู่แล้วในหัวปัญญาชนไทย แม้กระทั่งก่อนมาร์กซิสม์จะเข้ามา (จริงๆ
เรื่องชนชั้นกับวรรณกรรมนี้สืบกลับไปได้ถึงสมัย ร.4 ด้วยซ้ำ)
อธิบายขีดเส้นใต้ที่
2
ความพยายามของสุชาติที่ต้องการจะขยายนิยามของวรรณกรรมเพื่อชีวิตให้กว้างขวางขึ้น
ไม่ติดอยู่แต่ในกรอบของอุดมการณ์ทางการเมืองแต่กรอบเดียว
ตรงนี้ก็เช่นกัน
ที่ต้องขอให้ดูกระทู้ชำแหละคำตอบสุชาติฯ
จริง ๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นใน คอลัมน์จตุรัสความคิด ในโลกหนังสือ ปีที่ 4 ฉบับที่ 10 กรกฎาคม
2524 ที่ผมเคยเขียนไว้แล้วในหนังสือ Fighting Publishers เมื่อหลายปีก่อน แล้วเอามาโพสต์ไว้ที่นี่ ค่อนข้างชัดเจนว่า สุชาติ และ โลกหนังสือ มีปัญหากับประเด็น
"ชนชั้น" เป็นพิเศษ และไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้เป็น "ลักษณะเฉพาะ"
ของวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่ง ณ ขณะที่วรรณกรรมเพื่อชีวิตมีบทบาทนำ และอาจจะมีลักษณะที่
เก็บกด-ปิดกั้น หรือพูดภาษาเพื่อชีวิตเองว่า "กดขี่"
วรรณกรรมประเภทอื่นนั้น ท่าทีของสุชาติและโลกหนังสือถือว่ายอมรับได้ และเป็นความ
"ก้าวหน้า"
แต่เวลาผ่านไป 30
ปี แล้วยัง เก็บกด-ปิดกั้น ประเด็น "ชนชั้น" ในเพื่อชีวิตอยู่ ผมคิดว่ามันสะท้อนปัญหาเรื่อง
"วิธีคิด" ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่แท้จริงมาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อนแล้ว
(ปัญหาวิธีคิดดูในกระทู้ที่ผมอภิปรายไปแล้ว)
คราวนี้มาดูสิ่งที่อยู่ใน
นิตยสารเวย์ 37
มีส่วนที่ผมคิดว่าน่าสนใจ
3 ส่วนดังต่อไปนี้
ส่วนแรก หน้า 40
ตรงส่วนนี้ถ้าเปิดตัวหนังสือดูจะเห็นคำว่า
"วรรณกรรมเพื่อชีวิต" แผ่หลาอยู่เต็มหน้า จากหน้า 40 - 41
(สงสัยกลัวไม่เห็น)
มีข้อความหนึ่งในคอลัมน์ที่
2 บนหน้า 40 เขียนว่า
มีการรวมกลุ่มก้อนทางความคิดของนักศึกษาหลายกลุ่ม
นักศึกษาและนักเขียนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่ม "วรรณกรรมเพื่อชีวิต"
และจัดตั้งสำนักพิมพ์หนังสือ เมื่อปี 2514 และวรรณกรรมก้าวหน้าก็ถูกเรียกใหม่ว่า
วรรณกรรมเพื่อชีวิต จนปัจจุบัน หนังสือ "ศิลปะเพื่อชีวิต
ศิลปะเพื่อประชาชน" ถูกใช้เป็นหลักการในการตัดสินว่างานนั้น "ดี"
หรือ "เลว" มีจุดมุ่งหมายเพื่อรับใช้ใคร
ดูตรงที่ขีดเส้นใต้ดี
ๆ นะครับ
“และวรรณกรรมก้าวหน้าก็ถูกเรียกใหม่ว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต
จนปัจจุบัน” !!
วรรณกรรมก้าวหน้าถูกเรียกใหม่ว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตจนปัจจุบัน
(คำเรียกเก่าคืออะไรวะ "ก้าวหน้า"? ตายห่า!! คำว่า
"ก้าวหน้า" กลายเป็น "ประเภท" ของงานวรรณกรรมไปแล้ว!!)
หรือเอาเผื่อให้คำว่า "จนปัจจุบัน" ไปขยายความประโยคหลังก็ได้ว่า
จนปัจจุบัน หนังสือ "ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน"
ถูกใช้เป็นหลักการในการตัดสินว่างานนั้น "ดี" หรือ "เลว"
มีจุดมุ่งหมายเพื่อรับใช้ใคร !!
จนปัจจุบัน!!!
?
พูดตรง ๆ
อ่านครั้งแรกผมหยุดกึกเลย
นึกไม่ออกว่าจะจินตนาการถึงคนเขียนข้อความนี้ว่าอย่างไร จะให้คิดว่าเป็นคนรุ่น 14 ตุลา, 6 ตุลา
ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ จะให้คิดว่าเป็น
"คนรุ่นใหม่" ณ พ.ศ.ปัจจุบันนี้ ก็ยิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ยิ่งให้เป็นคนที่เพิ่งอ่านหนังสือมาไม่เกิน 3-4
ปี ก็ยิ่งไม่น่าจะมีความรับรู้ที่วิปริตถึงเพียงนี้
เพื่อชีวิตเนี่ยนะถูกนับเป็นวรรณกรรม
"ก้าวหน้า" มาจนถึงปัจจุบัน!!
แล้วไอ้ที่ให้รางวัลกันโครม
ๆ ปีละครั้งที่โรงรงโรงแรมอะไรนั่น มันเรียกว่า "เพื่อชีวิต" หรือไง
(วะ)?
ไอ้ที่เป็นข่าวกันโครม
ๆ ไอ้ที่เป็นนักเขียนใหญ่ นักเขียนดัง นักเขียนที่มีอิทธิพล ทั้งหลายอยู่ ณ ขณะนี้
นี่มันเป็นเพื่อชีวิตกันหรือไง? (รงค์ วงษ์สวรรค์, ทมยันตี, กิ่งฉัตร, ชาติ กอบจิตติ, แดนอรัญ แสงทอง, วินทร์
เลียววาริณ, ปราบดา หยุ่น, ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, อธิคม คุณาวุฒิ, เอื้อ อัญชลี, นิวัติ พุทธประสาท, คำ ผกา, วงทนงค์
ชัยณรงสิงห์, นิ้วกลม, โตมร ศุขปรีชา อุทิศ เหมะมูล ฯลฯ)
ชื่อที่พูดมานี่เครดิตในวงวรรณกรรมถือได้ว่าเป็นนักเขียน
“ก้าวหน้า” หรืออย่างน้อยก็ทรงอิทธิพล
ได้ทั้งนั้น
เฮ้ย! ผมฝันไปหรือเปล่าว่า
พวกนี้เป็นเพื่อชีวิตว่ะ!!
เฮ้ย คุ่น
เขาบอกว่า คุณเป็นเพื่อชีวิตว่ะ!! เฮ้ย!
อุทิศ เขาบอกว่าคุณเป็นเพื่อชีวิตว่ะ!!
พี่เฟิ้ม พวกเวย์เขาว่าพี่เป็นเพื่อชีวิตว่ะ!!
ถ้าให้รางวัลได้ผมอยากจะให้ประโยคของนิตยสารเวย์
“...และวรรณกรรมก้าวหน้าก็ถูกเรียกใหม่ว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต
จนปัจจุบัน” !! ประโยคนี้เป็นประโยคแห่งปีจริง ๆ
เพื่อรับประกันว่าไม่ใช่ความเข้าใจผิด
หรือเป็นความผิดพลาดตกหล่นของการเรียบเรียง บทความชิ้นเดียวกันนี้ก็
ตบท้ายโดยยกประโยคของสุชาติ สวัสดิ์ศรี (อันเดียวกับที่ผมเอามาชำแหละนั่นแหละ!!)
ว่า
ในความหมายที่กว้างที่สุดในทัศนะของผม
จึงลดระดับจาก Movement มาเป็นเพียง Style รูปแบบหนึ่งเท่านั้น
และอยู่ในแง่มุมของการ Critical ที่จะมีคำว่า "ชนชั้น"
เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่บริบทของเรื่องที่เขียน
คำว่า เพื่อชีวิต
ตามความเข้าใจของผมจึงไม่จำกัดว่าจะต้องอนุรักษ์อยู่กับประเด็นชนชั้นอย่างตื้น ๆ
และหรือถ้าจะเป็นประเด็นชนชั้นประเภทที่เรียกว่า Red Now ก็ต้องชัดเจนในหลักการของ Marxism ที่ต้องขอดูกันไปนาน ๆ และอีกหลายชั้นเชิงว่า "ของจริง"
หรือ "ของปลอม" หรือเป็นแค่กลไกของพวกชอบ
"เทศนาในสิ่งที่ตนไม่เชื่อ" เช่น ปากพูดว่า
"ทุนนิยมจักถูกทำลาย..." แต่กลับหากินอยู่กับทุนนิยมเสียเอง"
เพื่อย้ำว่า
"เพื่อชีวิต" ยังหมายถึง "ก้าวหน้า" และ เพื่อความก้าวหน้า
"ต้องไม่ติดกับเรื่องชนชั้น" (ขอโทษครับ ทีอย่างนี้เอาคำว่า
"สร้างสรรค์" กับ "สร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน"
ไปซุกไว้ในรูไหนหรือครับ)
ส่วนที่ 2
อยู่ที่หน้า 57
เป็นบทสัมภาษณ์ประจักษ์
ก้องกีรติ (คนสัมภาษณ์คือ สันติสุข กาญจนประกร คนเดียวกับที่เป็นบรรณาธิการนั่นแหละ!!)
คำถาม:
คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ผ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดบาป
คำตอบ: ไม่ผิด
ต้องอย่าลืมว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิตไทยนี่น่าเบื่อที่สุด
อันนี้พูดด้วยความเคารพอีกเช่นกัน งานของนักเขียนดัง ๆ สมัยก่อนที่มีวรรณศิลป์ที่ดีเกือบทั้งหมดไม่ใช่งานการเมือง
ส่วนงานที่ต้องการปลูกฝังความคิดทางการเมือง อ่านแล้วจะหลับต้งแต่ 20 หน้าแรก
ถ้าผมไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ คงไม่ทนอ่านจนจบ
มันเป็นวรรณกรรมแบบที่ผมเรียกว่าเลคเชอร์ ตัวละครเทศนาอย่างเดียว
หาวรรณกรรมเพื่อชีวิตสนุก ๆ มีวรรณศิลป์ได้ยาก
สำหรับผม ขึ้นชื่อว่าวรรณกรรม
ต้องทำหน้าที่ต่างจากตำราวิชาการ ต้องมีความสวยงาม มีศิลปะ ไม่ใช่มาเทศนา
ผมเลยไม่แปลกใจว่าคนรุ่นหลังไม่อ่านงานเหล่านี้
เฉพาะตรงคำถามนี้จริง
ๆ ผมไม่ได้มีปัญหากับการบอกว่า "งานเพื่อชีวิตน่าเบื่อ" นะ
ผมคิดว่าประจักษ์น่าจะหมายถึงงานเพื่อชีวิตที่ผลิตออกมามากมายมหาศาลช่วงหลัง 14
ตุลา จนถึงช่วงแรก ๆ หลัง 6 ตุลา (แต่ไม่น่าจะใช้ได้กับ กนกพงษ์) ซึ่งก็แน่นอนว่างานพวกนั้นถูกพิสูจน์แล้วถึงความน่าเบื่อ
มันจึงถูกต่อต้านจนล้มไป แต่ก็อย่างที่ชูศักดิ์พูดไว้ในบทความที่ผมยกมา
ในแง่ของวรรณกรรมศึกษาแล้ว บางทีอาจจะต้อง "อ่านใหม่" ทั้งหมดว่า
สาเหตุของความน่าเบื่อ หรือไม่พัฒนานี้ แท้จริงแล้วเกิดจากอะไร (แน่ใจว่าเรื่อง
"ชนชั้น" คือจำเลย) แต่ทั้งนี้มันก็ไม่เกี่ยวกับว่า
ประเด็นทางชนชั้นคือสาระสำคัญของเพื่อชีวิตหรือไม่ (เพราะแน่นอน
ต้องเป็นอยู่แล้ว)
ตรงนี้ที่ยกมาเพื่อจะให้ดูความ "อ่อนหัด"
ในเรื่องวรรณกรรมของประจักษ์ ก้องกีรติ ที่สักแต่ว่าพูด ๆ ไป แต่สิ่งพูดกลับขัดแย้งกับสิ่งที่ตัวเองเพิ่งพูด
ดูที่ผมขีดเส้นใต้ และดูคำสัมภาษณ์อีกอัน ตรงหน้าก่อน คือหน้า 56
คำถาม:
คนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหว อาจารย์ว่าอย่างน้อย ๆ
พวกเขาต้องเคยผ่านตาเรื่องราวเดือนตุลามาหรือเปล่าถึงอยากออกมาบ้าง
คำตอบ:
ผมไม่แน่ใจว่าคนรุ่นหลังเหล่านี้อ่าน จิตร ภูมิศักดิ์ อ่านวรรณกรรมฝ่ายซ้าย
หรือกระทั่งอ่านงานอาจารย์เสกสรรค์ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี สักเท่าไหร่
แน่นอนอาจเคยเห็นเหตุการณ์ 14 ตุลาจากในภาพบ้าง ในห้องเรียนบ้าง เคยดูวิดิโอบ้าง
แต่คงไม่ใช่แรงบันดาลใจในแง่ดื่มด่ำ ซาบซึ้ง
อ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนเดือนตุลาแล้วต้องลุกขึ้นมามีบทบาท
คิดว่าตอนนี้แรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่มีที่มาหลากหลายมาก
อาจจะได้จากการอ่านงานอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปราบดา หยุ่น คำ ผกา
นิ้วกลม พุทธทาศ ติช นัท
ฮันห์
ยังไม่ต้องพูดถึงว่าบางคนอาจอ่านวรรณกรรมต่างประเทศ มิลาน คุนเดอรา ฮารูกิ มูราคามิ หรือปัญญาชนต่างประเทศ อย่าง นอม ชอมสกี นาโอมิ ไคลน์
สาทิศ กุมาร
หรือบางคนกลับไปอ่านกรัมชี ฟูโกต์ ฯลฯ
จนเกิดการตั้งคำถามกับสังคม กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
เรียนรู้จากเหตุการณ์เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ดูคำพูดของประจักษ์อันก่อนที่ผมขีดเส้นใต้นะ ที่บอกว่า
“มันเป็นวรรณกรรมแบบที่ผมเรียกว่าเลคเชอร์ ตัวละครเทศนาอย่างเดียว”
นี่คือพูดทีหลัง แต่ก่อนหน้านี้ยก มิลาน คุนเดอรา ขึ้นมา
ในฐานะของวรรณกรรมที่เป็นรสนิยมของคนรุ่นใหม่!
แต่พอมาวิจารณ์เพื่อชีวิตบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่อ่านหรอกมันน่าเบื่อเพราะ
มันเป็นวรรณกรรมแบบที่ผมเรียกว่าเลคเชอร์ ตัวละครเทศนาอย่างเดียว !!
งานของคุนเดอราไม่ใช่การเลคเชอร์เทศนาอย่างเดียวหรือ!!!??
งานของคุนเดอราน่ะ
แม่งโคตรจะเลคเชอร์เลย (เคยอ่านหรือเปล่า?)
ถ้างานของคุนเดอราคนรุ่นใหม่ยังอ่านสนุกได้
แปลว่าปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ "การเทศนา" หรือ "การเลคเชอร์"
แล้ว ต้องเป็นเรื่องอื่นแล้ว (พนันกันมั้ยว่าคนเหล่านี้จะตะโกนคำว่า
"ชนชั้น" กลับมาในใจโดยพร้อมเพรียง)
ที่กล่าวมานี่เป็นความเลื่อนเปื้อนเล็ก
ๆ น้อย ๆ
ในเรื่องวรรณกรรมของประจักษ์ซึ่งไม่เสียหายเพราะไม่ใช่สาขาที่เขาถนัด แต่ที่งี่เง่าจริง ๆ อยู่ตรงนี้
คำถาม:
ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรปล่อยให้ตายไป ไม่ควรตกทอดมาเป็นมรดก?
ตอบ: ไม่ใช่ ๆ
งานเขียนเหล่านั้นมันเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ในตัวเองไง จะสนุกหรือไม่
มันก็มีคุณค่าในแง่ประวัติศาสตร์ ถ้าคุณอยากรู้ความคิดของยุคสมัยว่า
คนสมัยนั้นคิดอย่างไร อ่านแล้วเราก็จะเห็น แต่อย่าไปเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ต้องมานั่งอ่าน
ไม่ใช่เรื่องผิดบาปที่เขาจะอ่าน ชาติ กอบจิตติ
ศุ บุญเลี้ยง โน้ต อุดม ปราบดา หยุ่น
นิ้วกลม หรือวรรณกรรมต่างประเทศ
อย่าไปตีกรอบวรรณกรรมเพื่อชีวิตเอาไว้ในกรอบแคบ ๆ
ว่าจะต้องเท่ากับวรรณกรรมฝ่ายซ้าย หรือวรรณกรรมเดือนตุลา วรรณกรรมทุกชิ้น
ผมว่าในความหมายกว้างที่สุด มันพูดถึงเรื่องชีวิตทั้งนั้น
ประจักษ์พูดว่า
อย่าไปตีกรอบวรรณกรรมเพื่อชีวิตเอาไว้ในกรอบแคบ ๆ
ว่าจะต้องเท่ากับวรรณกรรมฝ่ายซ้าย
ประจักษ์พูดว่า
วรรณกรรมทุกชิ้น ผมว่าในความหมายกว้างที่สุด มันพูดถึงเรื่องชีวิตทั้งนั้น
คน ๆ
นี้คือคนเดียวกับที่บทสัมภาษณ์แนะนำไว้อย่างหรูหราก่อนเข้าสู่ตัวบทสัมภาษณ์ว่า
ประจักษ์เขียนหนังสือเล่มหนา 600 หน้า และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:
การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาปัญญชาชนก่อน 14 ตุลา
ซึ่งพยายามอธิบายการก่อตัวทางความคิดของนักศึกษาปัญญาชนก่อนเกิดเหตุการณ์สำคัญ
ผนวกด้วยเชิงอรรถกว่า
500 เชิงอรรถ บรรณานุกรม และดรรชนีอีก 60 หน้า ซึ่งไม่อาจอธิบายเป็นอื่นใด
นอกจากความพยายามที่จะเข้าใจและเรียนรู้อดีตอย่างเป็นระบบ
ไม่แปลกที่ผู้คนในแวดวงวิชาการจะยอมรับกันว่าหนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นงานวิชาการเกี่ยวกับเหตุการณ์
14 ตุลา ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
และคน ๆ
นี้คือคนเดียวกับที่เพิ่งพูดก่อนหน้าคำถามนี้ไม่นานในบทสัมภาษณ์เดียวกันที่ผมยกมาก่อนว่า
"ถ้าผมไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ คงไม่ทนอ่านจนจบ"
(คือพูดเหมือนว่าอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตมาเยอะเพราะต้องทำวิทยานิพนธ์)
ในบทสัมภาษณ์เขาบอกว่า
ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัย วิสคอนซิน+เมดิสัน
สหรัฐอเมริกา
ผมคิดว่าเด็กอมมือทางวรรณกรรมก็ยังพอจะรู้เลยว่า
วรรณกรรมเพื่อชีวิต นั้น แยกไม่ออกจากการเคลื่อนไหวของปัญญาชนฝ่ายซ้ายของไทย ตั้งแต่การถือกำเนิด
การสถาปนา เนื้อหาของการสถาปนา และการรับสืบทอดในช่วง 14 ตุลา
แต่ประจักษ์นอกจากบอกให้
แยกวรรณกรรมเพื่อชีวิตออกจาก (ไม่เกี่ยวกับ) ขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายแล้ว
ยังบิดคำว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต ไปด้วยการ “เล่นคำ” อีกว่า
วรรณกรรมทุกชิ้น ผมว่าในความหมายกว้างที่สุด มันพูดถึงเรื่องชีวิตทั้งนั้น แหม ฟังดูเหมือนเท่จังเลย แต่จริง ๆ แล้ว
โคตรงี่เง่าเลย
ไอ้ที่บอกว่า
ต้องทนอ่านจนจบเพื่อทำวิทยานิพนธ์น่ะ ผมชักจะสงสัยแล้วว่า อ่านอะไร? (อ่านมาภาษาอะไร?) ไม่เข้าใจบริบทเลยหรือ? ไม่รู้จักแม้แต่คำว่า เพื่อชีวิต
ในฐานะของความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมที่ถูกสถาปนาขึ้นมาจริง ๆ หรือ
ขอโทษครับ
ท่านผู้อ่านทุกท่าน ผมไม่เคยอ่านงานของไอ้หมอนี่ ใครช่วยบอกผมทีว่าเขาฉลาดจริง ๆ
อย่างที่นิตยสารเวย์มันโฆษณาหรือเปล่า หรือว่าหลอกต้มกัน?
เพราะถ้าฉลาดจริง
ผมคงจะต้องขอให้ "ดีกรีปริญญาเอกนอก" อย่างประจักษ์ ช่วย
อรรถาธิบายขยายความ ถ้าเป็นไปได้ก็ช่วยเขียนบทความ แสดง "วิธีคิด" และ
"หลักฐานข้อมูล" มาหน่อยว่า การที่บอกว่า
"เพื่อชีวิตไม่เท่ากับวรรณกรรมฝ่ายซ้าย" น่ะ คืออะไร? (ใช้อะไรคิดไม่ทราบครับ)
และก็ช่วยอรรถาธิบายพร้อมกับแสดงหลักฐานข้อมูลว่า ในประวัติศาสตร์ไทย
ไม่เคยมีการเคลื่อนไหวในหมู่นักเขียนภายใต้ปรัชญาและชื่อที่เรียกเป็นการเฉพาะว่า “เพื่อชีวิต” ซึ่งสืบรับมาจากการสถาปนาปรัชญาเพื่อชีวิตในทศวรรษ
2490 ช่วยแสดงหลักฐานให้เห็นหน่อยเถอะว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีอยู่จริง
(ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงฝันไป?) ช่วยชี้แจงให้นักเขียนเพื่อชีวิตที่ไม่จบปริญญาสักปริญญาอย่างผม
"บรรลุ" หน่อยเถอะ
และก็ให้สังเกตที่คำถามของคนถาม
(สันติสุข) ด้วย
คำถาม:
ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรปล่อยให้ตายไป ไม่ควรตกทอดมาเป็นมรดก?
แหม
ถึงกับใช้คำว่า "พวกเรา" เชียวนะครับ "พวกเราก็ควรปล่อยให้ตายไป
ไม่ควรตกทอดมาเป็นมรดก"
ให้ความรู้สึกเหมือนฮีโร่นักอนุรักษ์เสือโคร่งกำลังคุยกันอยู่เชียว
"พวกคุณ"
จะปล่อยไม่ปล่อย "เพื่อชีวิต" มันก็เรื่องของพวกคุณ แต่กรุณาอย่ามา
"เบลอ" หรือ "ลบ" ประเด็น "ชนชั้น"
ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ทำให้เพื่อชีวิตเป็นเพื่อชีวิต เพราะ "พวกผม"
(พวกกู) จะไม่ปล่อยให้คุณทำอย่างนั้นตามอำเภอใจ จะไม่ปล่อยให้
เด็กเมื่อวานซืนกับผู้ใหญ่เมื่อวานเซ็งและวันนี้ก็ยังเซ็งอย่างสุชาติ สวัสดิ์ศรี
มา "ขโมย" หรือ "ปล้น" ประเด็น "ชนชั้น" ออกไปจาก
"เพื่อชีวิต" ดังที่ จิตร ภูมิศักดิ์ สถาปนาไว้ในหนังสือ
ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน
อยากจะ
"ก้าวหน้า" ก็กรุณากลับไปใช้คำว่า "สร้างสรรค์" กับ
"สร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน" ของพวกคุณ
น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์กว่า ว่าไหม?
เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์ไทยโพเอ็ทโซไซตี
Comments
Post a Comment