วุฒิภาวะประชาธิปไตย
คนต้องการ เสรีภาพ เพราะเขาต้องการ “สนาม” ที่เปิด เพื่อบอกว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ต้องการให้ใครมาสั่งว่าเขาสมควรต้องได้อะไร
คนต้องการ ความเสมอภาค เพราะเขาต้องการ “ความยุติธรรม” ไม่ต้องการให้ใครมีอภิสิทธิ์มากกว่า ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องมีเหมือนกับที่คนอื่นมีทุกอย่าง แต่มีความจำเป็นที่เขาจะต้องเข้าถึง กฎหมาย บริการสาธารณะ และได้รับการปฏิบัติจากรัฐไม่แตกต่างกัน
คนต้องการ สิทธิ เพราะมันเป็นของเขา ไม่ใช่เพราะมันเป็นของที่ได้รับมาจากใครอื่น คนต้องการสิทธิที่จะตั้งคำถามกับการใช้อำนาจรัฐ ต้องการสิทธิที่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์สาธารณะ ต้องการสิทธิที่จะเสนอว่ารัฐควรทำอะไร สิทธิที่จะเลือกคนมาใช้อำนาจรัฐ ไม่ใช่ต้องการคนมาบอกว่าเขามีสิทธิทำอะไร ไม่ใช่ต้องการรัฐที่เลือกว่าเขามีสิทธิเป็นประชาชนหรือไม่
สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เป็นหลักการที่มีการ “คานดุล” อยู่ในตัวมันเอง เพราะทุกคนย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพ “เสมอ” กัน ดังนั้น สิทธิและเสรีภาพย่อมถูกจำกัดได้หากมันละเมิดสิทธิ เสรีภาพของคนอื่น
ประเด็นของการ “จำกัด” ต้องแยกให้ได้ว่าอะไรคือ “ส่วนตัว” อะไรคือ “สาธารณะ”
อำนาจรัฐ เป็นสาธารณะ
สถาบันกษัตริย์ เป็นสถาบันประมุขของรัฐ เป็นสาธารณะ ไม่ใช่ของส่วนตัว
และทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ ก็เป็นของรัฐ ไม่ใช่ของส่วนตัว (ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์) หรือของตระกูล
ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ต้องอาศัย “สำนึก” และ “ความรับผิดชอบ” ต่อพื้นฐานดังกล่าว ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนผ่าน “การกระทำทางการเมือง” ที่ค่อย ๆ ขัดเกลาสำนึกของคนให้เป็นประชาธิปไตยขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่ใช่มีคนกลุ่มหนึ่งมานั่งออกแบบประชาธิปไตยอยู่ในห้องประชุม และประกาศให้ทุกคนไปปฏิบัติ
บททดสอบประชาธิปไตยที่แท้จริง คือความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริง การกระทำทางการเมืองในความขัดแย้งนั้นต่างหากที่สร้าง “วุฒิภาวะ” ของประชาธิปไตยให้มากขึ้น หรือน้อยลง
19-11-14
Comments
Post a Comment