วิจารณ์ศศิน เฉลิมลาภเรื่องจิตสำนึกสาธารณะ



นี่เป็นข้อเขียนที่วิจารณ์ความคิดของศศิน เฉลิมลาภ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ค่อนข้างยาวนะครับ ถ้าปรินท์ออกมาก็ประมาณ 4 หน้าเอสี่

ในบทสัมภาษณ์ของโพสต์ทูเดย์ ศศิน เฉลิมลาภ พูดว่า

ตอนนี้แค่อยากให้วางรากฐานอะไรให้ดี ๆ ใช้ความรวดเร็วขณะที่บ้านเมืองยังไม่มีฝ่ายค้านสะสางปัญหาต่าง ๆ เช่น การปราบปรามขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง รีสอร์ทที่บุกรุกป่า จัดระเบียบชายหาด ที่ทำอยู่นี้เป็นเรื่องน่าชื่นชม หรือการออกกฎหมายที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม แต่คิดว่าคงไม่มีใครชงเข้าไปหรอก เพราะยุคนี้เป็นยุคของการพัฒนา ไม่ใช่ยุคของสิ่งแวดล้อม

และ

“...คนไม่เคยมีจิตสำนึกเรื่องป่าอยู่แล้ว เพราะคนจนก็มีข้ออ้างว่าทำเพื่อความยากจน คนรวยก็เป็นธรรมชาติของเขาที่จะต้องแสวงหาผืนดินสวย ๆ ไว้เป็นบ้านพักตากอากาศ ไอ้จิตสำนึกตรงนี้ไม่ต้องไปเรียกร้องหรอก เพียงแต่ว่าจะทำยังไงให้คนที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลทำงานอย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า ทำยังไงไม่ให้ป่าสงวนโดนรุก ต้องแค้นให้ถูกเป้า เฝ้าให้ถูกศาล ป่าสงวนหมดแน่ภายใน 5 ปี ถ้าหน่วยป้องกันรักษาป่ายังไม่ทำงานเต็มที่


จริง ๆ ในมุมมองของการรักษาสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นเรื่อง จิตสำนึกไม่สำคัญ หรือเป็นปัญหาที่แก้ไม่มีวันได้ แบบที่ศศินพูดว่า ไม่ต้องไปเรียกร้องหรอก เพียงแต่ว่าจะทำยังไงให้คนมีหน้าที่ควบคุมดูแลทำงาน...ก็เพราะมองปัญหาโดยมุ่งเอา ธงหรือ วาระของตัวเองเป็นเป้าหมายหลัก และให้คุณค่าเป็นอันดับแรก โดยเกือบจะเพิกเฉยหรือมองไม่เห็นประเด็นอื่นเลย และคาดหวังว่า ถ้าจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยจิตสำนึกก็จะต้องทำให้ผู้คนมีจิตสำนึก (เรื่องป่า) เช่นเดียวกับตน หรือเหมือนกับตน ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดธรรมชาติ และเป็นไปไม่ได้ที่คนจะคิดเหมือนกันหมด พอเป็นไปไม่ได้ก็ทำให้คนอย่างศศินรู้สึกว่าเรื่องจิตสำนึกเป็นเรื่องยากเย็น แม้กระทั่งเป็นเรืองลม ๆ แล้ง ๆ แล้วก็หันไปมุ่งแก้ปัญหาที่ ปลายเหตุคือการพยายามป้องกันอย่างเข้มงวด และคิดว่านี่แหละคือหนทางที่แท้จริงอันเดียว และคือการ แค้นถูกเป้า เฝ้าถูกศาลแล้ว

ถ้าศศินไม่หลอกตัวเอง ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมมาจนหนวดหงอกแล้ว น่าจะรู้ตัวว่าสิ่งที่ตัวเองพูดมานั้น โดยเฉพาะที่ผมยกมา เช่นเรื่องป่า คือการแก้ปัญหาที่ ปลายเหตุและเป็นการ รบกับปัญหาไม่จบสิ้นแน่ ๆ เพราะยังไงก็จะต้องมีคนบุกรุกป่าอยู่ตลอดเวลา (ทั้งคนรวยและคนจน) ไม่ว่าจะป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด (ไม่ได้หมายความว่าการแก้ปัญหาปลายเหตุ หรือเฉพาะหน้านี้ไม่สำคัญนะครับ)

แต่หากต้องการแก้ปัญหา ในระยะยาวอย่างถาวร คำถามที่ควรจะต้องถามก่อนคืออะไร?

คือคำถามว่าทำยังไงไม่ให้คนรุกป่า?

หรือคำถามว่า ทำไมคนถึงรุกป่า?

และ คำตอบจากคำถามดังกล่าวนี่แหละที่สะท้อน วุฒิภาวะและ วิสัยทัศน์ของการค้นหาคำตอบว่ามีแค่ไหน ตื้นแคบหรือลึกกว้างอย่างไร

จากคำพูดของศศินในย่อหน้าแรกที่ผมยกมา บวกกับความเห็นเรื่อง จิตสำนึกของเขา ทำให้ผมรู้สึกว่าเขามีความคิดที่ตื้นและแคบ กระทั่งมองไม่เห็นรากของปัญหาที่ตัวเองต่อสู้มายาวนาน

เหตุที่การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาเป็นเหมือนเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ มาตลอดนั้น ก็เกิดจากการ แค้นผิดเป้า เฝ้าผิดศาลของนักอนุรักษ์ที่มีวิธีคิดแบบศศินนั่นแหละ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา การบุกรุกธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องการรุกป่านั้น เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะผู้คนไม่รักป่า ไม่รักสิ่งแวดล้อม ไม่มีจิตสำนึกในเรื่องการรักษาป่า เป็นประเด็นหลัก อาจจะมีบ้าง แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักแน่ ๆ

แต่สาเหตุหลักก็คือต่อให้คนมีจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์ป่า เขาก็ไม่สามารถที่จะเห็นว่าการอนุรักษ์ป่าคือ ปัญหาเร่งด่วนอันดับแรกของชีวิต

นี่คือสัจธรรมสำหรับมนุษย์ทุกคนไม่เว้นแม้แต่นายศศิน เฉลิมลาภ หรือแม้แต่สืบ นาคะเสถียร (ขออนุญาตยกตัวอย่างสุดโต่ง เพื่อ กระแทกตรรกะ เช่น ถ้าสืบเห็นแม่ของตนและเลียงผากำลังจมน้ำอยู่พร้อมกัน ผมก็เชื่อว่าสืบต้องช่วยแม่ของเขาก่อน แล้วจึงค่อยช่วยเลียงผาทีหลัง)

เคยสังเกตหรือตั้งคำถามไหมว่า ทำไมกราฟการรุกป่าของประเทศพัฒนาแล้ว เช่นยุโรป กับประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาอย่างเอเชียหรืออาฟริกาหรืออเมริกาใต้ ถึงมักจะสวนทางกันเสมอ โดยกลุ่มแรกนั้นกราฟมักจะดิ่งลงในขณะที่กลุ่มหลังนั้น กราฟจะพุ่งขึ้น

คิดว่าที่กราฟออกมาเป็นแบบนี้เป็นเพราะคนยุโรปหรือประเทศพัฒนาแล้วรักป่าหรือมีจิตสำนึกในเรื่องป่ามากกว่าประเทศเอเชีย อาฟริกา หรือละตินอเมริกา?

สาเหตุที่ประเทศพัฒนาแล้วสามารถป้องกันการทำลายป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ไม่ใช่เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาเก่งกว่า ไม่ใช่เพราะประชาชนของเขามีจิตสำนึกในเรื่องการรักษาป่ามากกว่า แต่เป็นเพราะว่าประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้นสามารถที่จะสถาปนา จิตสำนึกสาธารณะขึ้นได้สำเร็จและลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง และเหตุที่คนในประเทศพัฒนาแล้วบุกรุกป่าน้อยกว่าก็เพราะว่าป่าไม้คือทรัพยากรของ ชาติและมันเป็น สาธารณะและเพราะเขารู้ว่า สาธารณะคืออะไร มีความหมายอย่างไร และการ ล่วงละเมิดสาธารณะคืออะไร ไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะคำว่า สาธารณะนั้น มีความหมายอย่างแท้จริงในชีวิตจริง ๆ ในโครงสร้างทางการเมืองจริง ๆ จิตสำนึกในเรื่องความเป็นสาธารณะ จึงสามารถที่จะเกิดขึ้นและจะต้องเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ส่วนประเทศด้อยพัฒนานั้น ไม่เคยมี จิตสำนึกสาธารณะอยู่จริง เพราะการสร้างจิตสำนึกสาธารณะที่แท้จริง ไม่สามารถทำได้ด้วยการรณรงค์ โฆษณาชวนเชื่อให้คนเชื่อ แล้วปฏิบัติตาม ก็จะเกิดได้ แต่ต้องตั้งอยู่บนฐานของ โครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่จริง ๆ ด้วย

หมายความว่า อำนาจสาธารณะก็ต้องเป็นสาธารณะจริง ๆ ก่อน ตั้งอยู่บนหลักการเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และ แหล่งอำนาจมาจาก สาธารณะหรือ ประชาชน” (ในความหมายนามธรรมซึ่งหมายถึงพลเมืองทุกคน แบ่งแยกไม่ได้) จริง ๆ และการใช้อำนาจอยู่ในกำกับของ สาธารณะคือมีความโปร่งใสจริง ๆ ก่อน ความหมายของคำว่า สาธารณะมันจึงจะเกิดขึ้น จึงจะศักดิ์สิทธิ์

สาธารณะคือสิ่งที่เป็น นามธรรมที่มีฐานมาจาก การมารวมกันซึ่งแบ่งแยกไม่ได้ คนจะมีจิตสำนึกสาธารณะได้ ชีวิตและสำนึกทางการเมืองของเขาจะต้องมารวมกันอยู่ภายใต้หลักการเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อย่างแท้จริงก่อน ไม่ใช่มาอยู่รวมกันเพราะ ใครบางคนหรือ อะไรบางอย่างเพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้น ใครบางคนนั้น หรืออะไรบางอย่างนั้น ก็จะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือและทำให้ความหมายของสาธารณะจริง ๆ ผุดเกิดไม่ได้

เพราะ การเมืองคือ อำนาจที่จะมากำหนดหรือกระทบต่อชีวิตของคนทุกคน ดังนั้น ถ้าการเมืองไม่ตั้งอยู่ในหลักการที่ทำให้คำว่า สาธารณะมีความหมายจริง คนที่อาศัยหรือต้องอยู่ภายใต้การเมืองนั้น ๆ ก็จะต้องปรับตัวและไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งที่มีอำนาจและมีจิตสำนึกต่อสิ่งที่มีอำนาจตามที่มันเป็นจริงๆ (ไม่ใช่ตามที่ใครมารณรงค์ให้เชื่อ)

เพราะ การดำรงชีวิตตามความเป็นจริงของสภาพแวดล้อมเป็น เรื่องแรกของมนุษย์ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่พวกนักอนุรักษ์ผู้สูงส่งทั้งหลาย ดังนั้น การที่ในประเทศด้อยพัฒนาอย่างไทย คนจนก็มีข้ออ้างว่าทำเพื่อความยากจน คนรวยก็เป็นธรรมชาติของเขาที่จะต้องแสวงหาผืนดินสวย ๆ ไว้เป็นบ้านพักตากอากาศ” – ไอ้ที่บอกว่า ธรรมชาติของเขาน่ะ แท้จริงแล้วไม่ใช่ธรรมชาติของคน แต่เป็นธรรมชาติของ ชีวิตภายใต้ระบบการเมืองดังกล่าวที่ โครงสร้างอำนาจของประเทศที่เป็นอยู่ทำให้หลักการเรื่องความเป็นสาธารณะไม่มีความหมายอย่างแท้จริง แต่เป็นโครงสร้างอำนาจที่สร้างสำนึกของ ความเป็นเจ้าของที่ตรงข้ามกับ ความเป็นสาธารณะเพราะประเทศนี้ มี ใครบางคนหรือ อะไรบางอย่างเป็นเจ้าของ อะไรที่ มีเจ้าของดูแล ก็จะอยู่ในสภาพที่ดี (หรือไม่แล้วแต่เจ้าของ) ส่วนไอ้ที่ไม่มีเจ้าของ (สาธารณะ) นั้น ล้วนไม่มีความหมาย และสามารถที่จะถูก รุกล้ำหรือ จับจองได้ตลอด เพราะความสาธารณะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ทางเท้าจึงไม่มีความหมายและสามารถเป็นแหล่งผลประโยชน์ ได้ และป่าไม้หรือทรัพยากรอื่น ๆ ก็ย่อมไม่ต่างกัน

นักอนุรักษ์ที่ต้องการฉวยโอกาสเผด็จการผลักดัน วาระของตนให้ได้ เพราะเชื่อว่าภายใต้ระบอบเผด็จการนั้นง่ายกว่าเนื่องจาก พูดกับคนไม่กี่คนถ้าเห็นด้วยก็คงจะผลักดันได้สำเร็จ ควรจะรู้ตัวไว้ด้วยว่านั่นคือการยิ่งทำลายหลักการที่จะให้กำเนิด จิตสำนึกสาธารณะและมันคือ ระบอบอุปถัมภ์

คนอย่างศศินควรจะรู้ข้อมูลพื้น ๆ ว่า ในประเทศ ทุนนิยมที่พัฒนาแล้วอย่าง ยุโรป และอีกหลายประเทศ ล้วนแต่มี อัตราการทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ น้อยลง สวนทางกับประเทศด้อยพัฒนาในเอเชีย และรวมถึงประเทศไทย

ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการรุกรานทรัพยากรธรรมชาติ การบุกรุกป่า นั้น สาเหตุเป็นเพราะ ทุนนิยม” (จะสามานย์หรือไม่ก็ตาม) หรือ เป็นเพราะ โครงสร้างอำนาจที่เอื้ออำนวยระบบอุปถัมภ์ และทำให้คำว่า สาธารณะไม่มีความหมาย ?

คงต้องขอความกรุณาบุคลากรทางสิ่งแวดล้อมอย่างคุณศศิน เฉลิมลาภลองตรึกตรองและหาคำตอบดู

30 สิงหาคม 2557


Comments